วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

บ้านบำเพ็ญ













กว่าจะเป็น "บำเพ็ญ" บ้าน ก็ต้องผ่านการบำเพ็ญ

วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2552

ชีวิตคือ?














หากชีวิตคือความผิดพลาด เอาเถอะ..เริ่มใหม่
หากชีวิตคือเส้นชัย สักวันก็ถึง
หากชีวิตคือต้องเป็นหนึ่ง ใครละ..เคียงข้าง
หากชีวิตคือการเดินทาง ก้าวย่างไป
หากชีวิตคือรักอันสดใส ถนอมรักษา
หากชีวิตคือความเหนื่อยล้า ก็พักสักนิด
หากชีวิตคือพรหมลิขิต ขอบคุณฟ้า
หากชีวิตคือกาลเวลา อย่าหวั่นไหว
หากชีวิตคือความตาย ก็จบเกม


(อ่านต่อในคัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล)

วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

เรื่องสั้น : ซุนคังไต้ซือ



สายน้ำดุจแผ่นกระจงสะท้อนแสงอาทิตย์ยามอรุณระยิบระยับนับไม่ถ้วน
อาทิตย์ยิ่งสูงสีทองยิ่งเปลี่ยนไปเป็นสีเงินเจิดจ้างดงามยิ่งนัก
เรือน้อยของคนหาปลายังคงลอยอยู่ริมฝั่งห่างไกลออกไปมองเห็นคล้ายดั่งเป็นภาพจิตรกรรมธรรมชาติอันตราตรึง

น้ำไหลเอื่อยๆ ไม่เชี่ยวกราก
ภาคีรถีได้ชื่อว่า เป็นแม่แห่งนทีทั้งมวล หล่อเลี้ยงทุกๆ ชีวิตในกเนาช์ปุระอย่างไม่เคยเหือดแห้งมาเลย
ลานกว้างริมฝั่งทิศเหนือของกเนาช์บุรี บัดนี้กำลังมีการประดับธงทิวเป็นแนวยาว

เหล่าทหารตรวจดูความเรียบร้อยอยู่เป็นระยะ ผู้คนยังคงประดับตกแต่งเวทีและริมคงคาด้วยมวลพฤกษานานาพันธุ์ที่ตอนนี้กำลังเบ่งบานเต็มที่
อาทิตย์บ่ายคล้อยแล้ว แสงอาทิตย์ในยามชิวเทียนไม่ร้อนแรง ขณะที่ลมพัดโชยยิ่งทำให้อาทิตย์ยามนี้มีมนต์ขลังยิ่งนัก

เสียงธงทิวโบกสะบัดทำให้จิตใจคึกคักขึ้นมาได้
อาชาพ่วงพีสีขาวดุจเมฆคิมหันตฤดูเดินเหยาะย่างอย่างเป็นยังหวะผ่านหน้าเหล่าทหารที่สวมใส่ชุดนักรบโบราณออกมายืนเรียงรายตั้งเป็นกองแถวเกียรติยศและเหล่าคนงาน
ที่สะดุดตาและสง่างามยิ่งนักกลับเป็นผู้ที่นั่งอยู่บนหลังอาชาตัวนั้น เสื้อคลุมสีปีกทับเขียวสะท้อนแสงอาทิตย์ พอลมพัดต้องชายปลิวไสว เผยให้เห็นต่วนสีเงิน นี่จะเป็นผู้ใดไม่ได้นอกจากองค์ราชาแห่งกเนาช์บุรีนั่นเอง พระองค์พระนามว่า หรรษวรมัน
พระนลาฏกว้างใหญ่ หางคิ้วงอนขึ้นเบื้องบนเล็กน้อย พระเนตรดำสนิทมีประกายลึกซึ้ง ช่างเป็นพระพักตร์ของผุ้ที่เปี่ยมด้วยบุญญาธิการเสียนี่กระไร
“ทุกอย่างเรียบร้อยดีหรือ” พระองค์ตรัสถาม
“เหลือเพียงประดับดอกไม้อีกเพียงเล็กน้อยพระเจ้าข้า” ราชองค์รักษ์กราบทูลให้ทรงทราบ
อีกสองวันเท่านั้น สถานที่แห่งนี้ก็จะเป็นที่รองรับผุ้คนที่มาจากทุกสารทิศเพื่อมาร่วมงานที่พระองคืจัดขึ้นในโอกาสแห่งการแสดงธรรมของภิกษุชาวจุงโกวผู้เดินทางหมื่นลี้มา บัดนี้ท่านกลายเป็นที่รู้จักของชาวภารตะทั้งหลายไปแล้ว

[[[[[

เสียงเจรจาดังไปทั่วบริเวณ ผุ้คนเดินขวักไขว่อยู่รอบนอกรั้วล้อมรอบเป็นชั้นๆ ก่อนจะถึงเวที
ในแต่ละชั้นเป็นที่ๆ จัดไว้สำหรับคนในแต่ละระดับลดหลั่นกันลงไป ด้านในสุดทิศตะวันออกและทิศใต้เป็นที่สำหรับสมณะผู้ทรงภูมิความรู้ทั่วภารตะประเทศที่อยากจะชมการสนทนาธรรมครั้งนี้
ประตูด้านทิศอุดรเปิดอีกครั้ง
ผู้คนต่างมองไปยังลาดพระบาทที่ทอดไปจนถึงประตู
องค์ราชาได้ทรงราชดำเนินมาพร้อมกับพระมเหสีเปี่ยมด้วยราศี
ถัดไปด้านขวาซึ่งคลายดั่งเป็นเป้าสายตาของคนทั่วไปที่ใคร่เห็นก็คือ องค์หญิงราธนศรี
พระองค์ช่างงดงามดุจดังพระโพธิสัตว์จำแลงร่าง นัยน์พระเนตรที่สุกใสเปี่ยมเมตตา
เป็นพระเนตรที่ผู้คนได้เห็นแล้วไม่อาจลืมเลือนได้ตลอดกาล
หากแต่ผู้คนกลับไม่อาจละสายตาที่เพ่งไปยังบรรพชิตรูปหนึ่งที่เดินเฉียงอยู่ด้านหลัง
ทิ้งระยะห่างประมาณสี่เชี๊ยะสม่ำเสมอไม่มากไม่น้อย
ลูกประคำสีแดงคล้ำเม็ดโตเท่าไข่มุกเมืองหยางโจวพวกใหญ่คล้องอยู่ที่คอ
มือหนึ่งยกขึ้นตั้งฉากระหว่างอกไว้ ดวงตาของท่านทอดลงต่ำพอประมาณ แน่วแน่
ความแน่วแน่ที่เปี่ยวมด้วยสมาธิเช่นนี้
ย่อมไม่ใช่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแต่จะต้องผ่านการฝึกฝนมาเป็นเวลาอันนาน
เสียงประกาศดังขึ้นเมื่อทั้งหมดเข้าประจำที่นั่งที่จัดไว้
บัดนี้ถึงเวลาแสดงธรรมของท่านไต้ซือซุนคัง ผู้เดินทางหมื่นลี้จากดินแดนจุงโกว”


[[[[[
(อ่านต่อเรื่องสั้นปุ๊ซินเนี่ยน)

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๒)


มีแต่รูปให้ดู

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๒)

แสงจันทราข้างขึ้นดูงดงามแจ่มใส….สงบเย็น

เมืองราลโป ในยามค่ำคืนยิ่งดู ยิ่งสงบเงียบ
มีเสียงจิ้งหรีดและเสียงลมวิกาลดังคละเคล้ากันเป็นระยะ
ภูเขาหิมะสลับซับซ้อนล้อมรอบเมืองดุจกำแพงใหญ่ป้องกันผู้รุกราน และอีกทางก็คล้ายดั่งเป็นการคุ้มกันมิให้ผู้คนหลบหนี

เงาร่างสายหนึ่งปรากฏขึ้นท่ามกลางแสงจันทร์ มุ่งไปที่เชิงเขากาญชุ เงาร่างสายนั้นเร่งฝีเท้ายิ่งขึ้น
จิตใจที่มุ่งมั่นเป็นพลังขับเคลื่อนที่ดีที่สุด เพียงสองชั่วยาม เขาก็ขึ้นถึงกลางภูเขา
ก่อนที่มันจะขยับกายไป พลันรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกจ้องมอง พลังที่เพ่งมองนั้นตรึงมันให้หยุดนิ่ง
ไม่มีรังสีอำมหิต!
แต่กลับเป็นรังสีเมตตา!

ในขณะที่มันกำลังจะทำอะไรต่อไป เสียงหนึ่งจึงดังขึ้นแทรกความเงียบ
“จิตใจเจ้าเปี่ยมไปด้วยความหวัง แต่ใช่ว่าเจ้าจะได้มาอย่างง่ายดาย
บางครั้งเจ้าต้องแลกมาด้วยชีวิต เจ้ายอม!?”
“ผู้อื่นอาจไม่แน่ใจ แต่ย่อมไม่ใช่ข้าแน่นอน”
ทินเล่ เอ่ยตอบไปทั้งที่ยังไม่ทราบว่าผู้ที่เอ่ยคำเป็นผู้ใด
อาศัยเพียงเสียงที่เปล่งออกมาจากใจ
ปราชญ์ย่อมคาดคะเนถึงความจริงใจได้

บางครั้งคำกล่าว
ก็สามารถวัดตื้นลึกหนาบางของผู้คน
คนยิ่งกล่าวมากความ
ยิ่งทำให้ผู้อื่นทราบธาตุแท้ของตน

ลมวิกาลเริ่มพัดรุนแรง….
ร่างชายผู้หนึ่งปรากฏขึ้นฝ่าแนวขอบวิกาลเข้ามา ผ้าที่เขาคลุมร่างเป็นสีแดงคล้ำจนเกือบเป็นสีดำ กลิ่นอายแห่งธรรมชาติจากตัวของท่านปลิวมากระทบจมูก เป็นกลิ่นอายแห่งศานติที่อบอุ่นแม้อยู่บนเทือกเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ ชายผู้นี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ท่านโยคีมาราเรปะ
ทุกสัดส่วนของร่างกายท่าน คล้ายเบาสบายดุจปุยนุ่น แต่การเคลื่อนไหวกลับเต็มไปด้วยพลัง การเคลื่อนไหวไร้ความบกพร่อง ทั้งยังเปี่ยมไปด้วยขุมพลังแห่งศรัทธา
ทินเล่รู้สึกอบอุ่นคล้ายดั่งกับเด็กที่นอนอยู่ในอ้อมแขนของมารดา
ใบหน้าที่สลัวเลือนในความมืด ยังเปล่งประกายแห่งความสดใส ผมที่ดำสนิท ดวงตาที่ลุ่มลึกยากที่จะหาที่สุดพบ มันพลันคุกเข่าลงแล้วจึงเอ่ยวาจา

“วิถีชีวิตบนโลกนี้คับแคบยิ่งนัก วันนี้ได้พบกับวิถีแห่งชีวิตที่เป็นอิสระและยิ่งใหญ่ ก่อนนั้นข้าพเจ้าคิดว่า เป็นแต่เพียงคำเล่าลือ ตอนนี้จึงประจักษ์ว่ามีอยู่จริง ขอท่านได้โปรดช่วยชี้แนะทางสว่างให้ด้วยเถิด”

มันกล่าวเสร็จจึงก้มศีรษะทำความเคารพคารวะ
“บุรุษควรมีปณิธาณอันยิ่งใหญ่และแน่วแน่เสมอ ขอเพียงรักษาปณิธานยิ่งชีวิต จะมีสิ่งใดขัดขวางได้เล่า ?”
“บิดา มารดานั้นมีพระคุณดุจขุนเขา อีกทั้งยังมีความหวังของสตรีอีกนางหนึ่ง ความรู้สึกของคนทั้งหลาย ข้าจึงจะก้าวล่วงได้?!”
“หากปณิธานเจ้ายิ่งใหญ่ดั่งจักรวาล มีหรือท่านเหล่านั้นจะไม่สรรเสริญ” ท่านมาราเรปะเน้นคำ “ปณิธาน” ให้ดิ่งลงภายในจิตใจของมัน ก่อนที่จะตอกย้ำคำว่า “ยิ่งใหญ่” ให้ฝังแน่นลง
“ในทุกวิถีชีวิตย่อมมีทางของตน มีศิลปะที่ต้องฝึกฝนเดินทางไป ต้องเคี่ยวกรำกายและจิตเพื่อดำรงอยู่บนโลก

วิถีชีวิตที่เจ้ากำลังจะเลือกเป็นวิถีชีวิตอัน “โดดเดี่ยว”

แท้จริงแล้วชีวิตมนุษย์เป็นเอกีภาวะ
เขาเพียงผู้เดียวที่ต้องจัดการกับชีวิตของตน มนุษย์มากมายล้วนพยายามหลีกหนีภาวะแห่งสัจธรรมนี้
โดยแสวงหาใครต่อใครมากมายมาอยู่ร่วมด้วย ท้ายที่สุดมีเพียงตนเองเท่านั้นที่ต้องเลือกทางของตน
การอยู่ร่วมกันเฉกเช่นคนพบกันบนหนทาง มีหรือที่จะไม่แยกจากกัน

วิถีอันโดดเดี่ยวเป็นวิถีอันบริสุทธิ์
แต่กลับทำได้อยากที่สุด
อย่าได้กลัวความโดดเดี่ยว
แต่จงเรียนรู้จากมัน
การเดินบนวิถีที่โดดเดี่ยว
มิใช่ไม่เกี่ยวข้องกับสังคม
แต่กลับเป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคม
อย่างเป็นอิสระทั้งกายและใจ….

….ไปเถิด…หากเจ้ามั่นใจในปณิธานของตน สักวันเจ้าจะเป็นที่พึ่งของคนทั้งมวล เจ้ากำลังเดินตามทางที่องค์ศากยพุทธเคยกระทำไว้เมื่อพันสองร้อยปีก่อน….”
เสียงถ้อยคำสุดท้ายเลือนลางไปพร้อมกับร่างของท่านที่ลางเลือนลับไปสู่วิกาลเช่นเดิม

ความเงียบสงบกลับมาปกคลุมอีกครั้ง
พันธนาการใจมากมายถูกฟันกระจุยด้วยวาจาอันเฉียบคม
แสงสว่างเริ่มก่อขึ้นภายในใจของบุรุษหนุ่ม แม้จะเป็นจุดประกายแสงเล็ก ๆ แต่เขาก็พร้อมที่จะทำให้มันรุ่งโรจน์โชติช่วงต่อไป
เขาย่อมทราบดี การจะได้สิ่งใดมา ใยจะไม่ยอมสูญเสียอะไรไปได้??!
ต่อไปคือบทพิสูจน์ความมั่นคงของปณิธานผู้คน
ประตูแห่งบทเรียนกำลังเริ่ม

ความจริง : ความแตกต่างแบ่งขั้ว



ความจริง : ความแตกต่างแบ่งขั้ว





การดำรงชีวิตของมนุษย์ท่ามกลางความสัมพันธ์ กับสิ่งแวดล้อม นั้นเริ่มมีความยุ่งยากมากขึ้น ซับซ้อน มากขึ้น มนุษย์เริ่มมองสภาพแวดล้อมเหล่านี้ เป็น ความแตกต่าง (Differentiation) จึงกลายเป็นว่า มนุษย์อยู่ท่ามกลางความแตกต่าง เป็นความแตกต่าง ที่เป็นความจริงอันไม่อาจจะขจัดออกไปได้ ภายใต้ ความแตกต่างนี้การดำรงอยู่ของมนุษย์จึงมีแต่ความ ขัดแย้ง และเดือดร้อนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องจาก มนุษย์แต่ละคนมองความแตกต่างนั้นต่างกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะยินยอมสูญเสียอย่างไร พอพบว่าเป็นความ แตกต่างแล้วก็ยินยอมไม่ได้ เช่น ความแตกต่าง ทางอารมณ์ ความต้องการ ภาษา ภูมิอากาศ สถานที่ เผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ความเชื่อ ล้วนแล้วแต่เป็นความ แตกต่าง ที่นำมาสู่ชนวนแห่งความขัดแย้งทั้งสิ้น นักปรัชญาเรียกสภาวะเหล่านี้ว่า ภาวะแห่งการแบ่งขั้ว (Dichotomy) ในยุคก่อนความแตกต่างนั้นยังไม่ชัดเจน จึงทำให้มนุษย์ยังคงยินยอมให้แก่กันและอยู่ร่วมกันได้ แต่พอ มาในยุคนี้สภาวะเช่นนี้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเมื่อโลกแห่ง จิตวิญญาณกับโลกแห่งวัตถุถูกแบ่งกันชัดเจน ถ้าจะ พูดให้ชัดก็เมื่อโลกแห่งวิทยาศาสตร์ (วัตถุ) กำลังเข้ามา รุกล้ำโลกแห่งจิตวิญญาณ โลกแห่งการบริโภคเข้ามา มีบทบาทมากกว่าโลกแห่งความสันโดษพอเพียง มนุษย์จึง มองสิ่งแวดล้อมเป็นความแตกต่างโดยมีภาษา แห่งเหตุผลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยก

ทางออกที่มืดมน



การคิดหาทางแก้ไขปัญหาการดำรงชีวิตของมนุษย์ ในฐานะปัจเจกท่ามกลางความขัดแย้ง นี้จะทำได้ อย่างไร หนทางหนึ่งที่นักปรัชญาให้ความสนใจต่อการ ดำรงชีวิตภายใต้โลกแห่งความขัดแย้ง คือ ใช้ปรัชญาที่ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรง ชีวิตบนพื้นฐานของความรู้ (Knowledge Based life) สังคมบนพื้นฐานของความรู้ (Knowledge Based Society) การเมืองบนพื้นฐานของความรู้ (Knowledge Based Policy) เศรษฐกิจบนพื้นฐานของความรู้ (Knowledge Based Economy) เป็นต้น การมีชีวิตที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้นี้จะทำให้ภาวะ แห่งความขัดแย้งเบาลง อย่างน้อยก็สามารถแก้ ปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง
เมื่อพิจารณาอย่างแท้จริง ปรัชญาบนพื้น ฐานของความรู้ที่กำลังใช้กันอยู่ในขณะนี้ ยังเป็น ปรัชญาอันตรายสำหรับมนุษยชาติ แม้จะมีแนวคิด ทางปรัชญาที่ว่า “ศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน ของความรู้” (-Logy based on Knowledge) แต่หาก เป็นความรู้ที่ไม่ตั้งอยู่พื้นฐานแห่งปัญญาที่สมบูรณ์ (Knowledge without Insight) นั่นก็ยังมิใช่ทางออก ร่วมกันที่ปลอดภัย จะเห็นได้จากความรู้ที่กำลัง นำมาเป็นที่ตั้งนั้นอยู่บนพื้นฐานของความโลภ ความโกรธ และความหลง ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ความรู้อย่างนี้ก็แสดงผลออกมาเป็น กำไร /ขาดทุน มี/ไม่มี ได้/ไม่ได้ พวกเรา / พวกเขา ดี / ไม่ดี ทำลายล้าง /ดำรงอยู่ โกรธ/รัก เหมือนเดิม แน่นอนในระดับโลกีย์นี้ ไม่มุ่งหวังให้หลุดพ้นดั่งเช่นพระอริยะทั้งหลาย แต่สำหรับความรู้ที่นำมาเป็นพื้นฐานนั้นต้องเป็นความรู้ ระดับโลกียวิญญุฐานวิชชา คือ การดำรงอยู่บนโลก อย่างผู้รู้ (Enlightened Mundane)



ถามว่า ปรัชญาบนพื้นฐานของความรู้ (Knowledge Based Philosophy) ที่ใช้อยู่ นี้เป็น แนวทางที่ตั้งอยู่ บนโลกียวิญญุฐานวิชชาแล้วหรือไม่ ที่เห็นกันอยู่ยังเป็นความรู้แบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก ความรู้ ของผู้มีฐานะต่อรองกับผู้ไม่อยู่ในฐานะต่อรองได้ นั่น ก็เท่ากับว่าไม่สามารถอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง นั้นได้ อีกเช่นเดิม ที่ยังไม่เกิดปัญหาเพราะถูกบีบให้ยินยอม ถูกกำหนดให้ยินยอมอยู่ภายใต้ความขัดแย้งที่ไม่ สามารถโต้แย้งได้ เมื่อใดที่แรงบีบนั้นเบาบางลง สถานการณ์ก็คง กลับไปเป็นเช่นเดิม
(อ่านต่อวารสารบัณฑิตศาส์น มมร.เล่ม ๔)

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

ภาพพักสายตา


แอ๊คยังกะมืออาชีพแนะ














จังซี่มันมันต้องโชว์



ทุ่งมัสตาสใครจำได้บ้าง?



กะเรียนริมทาง


ไม่รู้เป็นคู่แฝดหรือเปล่า?







ทานตะวันข้างบ้าน







วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552

ปรัชญาการศึกษาโลกาภิวัฒน์





ดร.สุวิญ รักสัตย์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย


“โลภาภิวัฒน์” คือ อะไร การศึกษาที่เหมาะสมกับโลกแห่งความอภิวัฒน์นั้นควรเป็นอย่างไร เราควรทำความเข้าใจในคำทั้งสองนี้ให้กระจ่างชัดเพื่อที่จะได้ตั้งหลักให้ถูกต้อง จะได้ไม่หลงทางและเป็นการศึกษาที่ยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขอันยั่งยืน ฉบับก่อนเราได้แสดงให้เห็นถึงความผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวไปของการศึกษา ความบิดเบี้ยวนี้เกิดจากความไม่สมดุลของการเน้นไปข้างใดข้างหนึ่งทำให้เกิดความไม่สมดุล หากเน้นไปทางกาย ก็จะกลายเป็นบริโภคนิยม (Consumerism) คือ ถือทุกสิ่งเป็นเพียงสิ่งที่ต้องบริโภคเพื่อสนองเนื้อหนังมังสา สนองผัสสะทั้งห้า แม้แต่มนุษย์ด้วยกันเองก็กลายเป็นเพียงสิ่งสนองเท่านั้นไม่มีความหมายมากไปกว่านั้น แต่หากเน้นไปทางจิต (Idealism) ก็จะทำให้ละเลยความสำคัญทางกาย ถือเรื่องของกายเป็นเรื่องหยาบช้า ต่ำ เกิดการเหยียดหยาม ถือการสนองจิตวิญญาณเป็นเรื่องใหญ่ สิ่งสนองจิตวิญญาณก็คือ ทิฏฐิที่หยาบ แข็งกระด้าง นำไปสู่การล้มล้าง

“ความสมดุล” จึงกลายมาเป็นปรัชญาที่เหมาะกับโลกาภิวัฒน์ (Globalization Flow) แต่ความสมดุลมิใช่เรื่องที่จะปฏิบัติได้ง่าย เพราะมีองค์ประกอบจำนวนมากที่จะต้องรอบรู้ จึงกลายเป็นว่า การจะเข้าถึงปรัชญาความสมดุล (Middlelogy) ได้ต้องอาศัยเครื่องมือเพียงหนึ่งเดียวคือ ความรอบรู้ อันเกิดจากการพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) อันเป็นผลมาจากสัมมาปัญญา (Right Wisdom)

ความรอบด้านของทุกเรื่องโดยมากก็สรุปรวมอยู่ ๔ มิติ ได้แก่
๑. มิติมืด (Negative Dimension)
๒. มิติสว่าง (Positive Dimension)
๓. มิติเกือบมืด (Trend Negative Dimension)
๔. มิติเกือบสว่าง (Trend Positive Dimension)

ทุกเรื่องราวล้วนอยู่ในมิติทั้ง ๔ นี้ เมื่อจะมองอะไรก็ขอให้พิจารณาว่า สิ่งนั้นมีมิติใดและกำลังโน้มเอียงไปสู่มิติใด หลักการที่สามารถนำมาประกอบการพิจารณาในความโน้มเอียงนี้มีหลักดังนี้ การปฏิบัติหรือการคิดหรือสิ่งใดนำไปสู่ความไม่ลุ่มหลง ไม่มัวเมา ไม่ผูกมัด ไม่ละโมบ ไม่หยิ่งผยอง รู้จักเพียงพอ รู้จักประมาณ เพิ่มฉันทะ มีอิสระ ให้ถือว่า เป็นมิติสว่าง ให้ดำเนินการต่อไป สิ่งใดตรงกันข้ามคือ มิติมืด ให้ลด ละ เลิก หากทำได้ไม่ครบก็ค่อนข้างสว่าง และค่อนข้างมืด

ปรัชญาการศึกษาที่เหมาะสมกับโลกยุคโลกาภิวัตน์ต้องคำนึงถึงจุดสมดุลให้มาก และพยายามใช้วิจารณญาณให้มาก โลกยุคโลกาภิวัตน์เป็นยุคที่มีความไวสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันโดยการฉีดวัคซีน PHC (Proper Hermeneutic Contemplation) ได้แก่ การพิจารณาแยกแยะโดยแยบคายให้ทราบระดับมิติและจุดมุ่งหมายในข้อความ โดยตรวจทานกับหลักการที่นำไปสู่มิติดังกล่าวแล้ว เลือกปฏิบัติ หาทฤษฎีเสริมสร้างในมิติที่พึงประสงค์

ปรัชญาแห่งความสมดุลนี้ เป็นปรัชญาที่เหมาะสำหรับโลกยุคใหม่ และอยากจะบอกต่อไปว่า ความสมดุล มีถ้อยคำเรียกที่เหมือนกันอยู่หลายคำ ได้แก่ สายกลาง พอเพียง เหมาะสม พอดี ได้สัดส่วน พอประมาณ เป็นต้น หวังว่า ผู้ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศจะร่วมกันผลักดันปรัชญาการศึกษาแนวนี้ให้เป็นที่ประจักษ์ และเข้มแข็ง ไม่เพียงแต่จะช่วยให้คนในประเทศเข้มแข็งอย่างมีทิศทางเท่านั้น แต่ยังเป็นการศึกษาที่ตั้งอยู่บนปัญญาสากล (Universal Knowledge Based Education) เพียงหนทางนี้เท่านั้นที่จะทำให้การศึกษาไทยอยู่รอด และโลกก็อยู่รอด



(อ่านในหนังสือพิมพ์เพื่อนครู)

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

เรื่องสั้น เถระยุคสุดท้าย


มีแต่ต้องยอมรับจังจะทำให้ใจสงบลง
แต่จะมีสักกี่คนที่ทำได้อย่างสนิทใจ
คำ..ยอมรับ..
ที่ทำไดโดยไม่เสียน้ำตาเล่า!”
ขึ้นสิบค่ำเดือนสิบ
ดินแดนสารขันธ์กลายเป็นที่รู้จักกันทั่วเพราะมีสถานเริงรมย์ เหลาสุรา
โรงเตี๊ยมและนารี ผู้คนต่างพากันใฝ่ฝันอยากจะได้มาแวะชมสักครั้ง
แต่ผู้คนอดตั้งคำถามในใจตนไม่ได้ว่า
เหลาสุรานารีใยอยู่ใกล้อารามภิกษุยิ่งนัก
ป้ายอารามหมองมัว
แผ่นชื่อเหลาสุราสะดุดตา
น่าอาดูรต่อวิญญูชนอย่างยิ่ง
เสียงดนตรีประโคมดังผ่านช่องหน้าต่างเข้าสู่อารามในยามราตรี
สตรีสูงวัยสองนางกำลังทำความสะอาดเก็บเก้าอี้และโต๊ะอย่างเงียบๆ คล้ายไม่สนใจใยดีต่อเรื่องราวใดๆ
พลันประตูอารามเปิดออก สตรีชราสองนาง เงยหน้ามองว่าเป็นผู้ใด ใช่ว่านางไม่เคยเห็นผู้คนเข้าประตูนี้มา แต่มาเวลานี้นางก็อดดูไม่ได้


[[[[[



หนทางแผ่นศิลาเรียบสายหนึ่ง
สองข้างทางมีร้านค้าแบละเหลารุราเรียงเป็นแนวยาวดูเป็นระเบีรยบ
ผู้คนกำลังเดินไปบนเส้นทางที่มุ่งไปสู่ตึกหลังใหญ่หลังหนึ่ง
เอ้งฮวง เป็นภิกษุหนึ่งท่านหนึ่งที่เข้าไปสู่ห้องบรรยายธรรมที่ตึกใหญ่หลังนั้น
ตัวห้องปูพรมหสีแดงงดงาม บนโต้ะมีเครื่องรับภาพอันทันสมัยทุกตัว
ท่านยังใหม่ในธรรมวินัย นั่งลงที่เก้าอี้ตัวหนึ่งพร้อมกับดึงสมุดบันทึกขึ้นมาไว้บนตัก

สตรีนางหนึ่งเดินผ่านไป
กลิ่นน้ำหอมมีราคาปะทะจมูกจนทำให้มันต้องยกมือขึ้นลูกจมูกพร้อมกับเหลือมองด้วยหางตาแวบหนึ่ง
ชุดสีเท่าที่นางสวมใส่เป็นชุดที่ทันสมัยยิ่ง
ในยุคนี้ ตุ้มหูมุกส่องประกายจากติ่งหูทั้งสองข้างของนาง
ทรงผมสั้นเพียงบ่าคล้ายทรงผมสตรีแดนอาทิตย์อุทัย กระโปรงสีครีม่ยามคลุมมาถึงข้อเท้า รองเรท้สีน้ำตาลอ่อนที่รองรับเท้าที่เล็กเรียวดูปราดเปรียว
มันอดนึกชมนางในใจไม่ได้ว่า สตรีนางนี้ดูสง่างามภาคภูมิ
สองมือนางหอบหนังสือชุดหนึ่งแนบอกเดินผ่านไปเบื้องหน้า

ความสง่างามของบุคคลดูได้จากพฤติกรรม
ความสง่างามเกิดจากความเพียร
ความสง่างามเกิดจากความสุขุมคัมภีรภาพ
สง่างามด้วยอาการสงบ
สมาธิเป็นการรวมพลังความสง่างามให้แผ่ซ่านไป…

ในขณะที่มันกำลังปล่อยจิตให้คิดอย่างเป็นอิสระนั้น เอ้งฮวงต้องตกใจเมื่อมันได้ยินเสียงหนึ่งทักขึ้น
เป็นเสียงชายผู้มีอายุท่านหนึ่งยืนอยู่ข้างมันเมื่อไรไม่ทราบ
“ขอโทษ ข้ามารบกวนท่านหรือไม่?”
“หามิได้” มันผายมือไปยังม้านั่งที่ว่าง
“เชิญท่านอาวุโส”
“ข้ามิเคยพบเจ้ามาก่อน มิทราบมาแต่ที่ใด” อาวุโสท่านนั้นถามพร้อมกับแนะนำตนเอง
“ข้าแซ่ลี้ นางเอียงกอ”
“ข้ามาจากลุ่มอิรวดี” เอ้งฮวงตอบตามมารยาทสังคม “ข้าแซ่ซือ นามเอ้งฮวง”
“ท่านมาด้วยธุระใด?”
“ข้าเพียงต้องการทราบข่าวพระเถระท่านหนึ่งที่อยู่ ณ อารามแห่งนี้”
“ท่านรู้จักหรือ?”
“หามิได้”
“หากเจอแล้วจะรู้จักหรือ?”
“หากท่านพระเถระต้องการปกปิด ไหนเลยจะทราบได้”
“ถ้าเช่นนั้นหวังว่า ท่านจะได้พบในเร็ววัน” ผู้อาวุโสแซ่ลี้ให้ความหวัง นัยตาเป็นประกายวูบหนึ่ง
“ขอบคุณท่านผู้อาวุโส”

ไม่ว่าผู้ใด ในชีวิตหนึ่งย่องต้องพบกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปรกระทันหันมากมาย
เหตุการณ์เหล่านั้นมีทั้งน่ายินดีและทั้งเลวร้าย มีทั้งน่าปีติหรรษา
มีบ้างที่น้างความท้อแท้รันทดแก่ผู้คน
กระนั้นผู้คนก็ยากยิ่งจะบังคับให้ทุกสิ่งเป็นไปดังที่ผู้คนคาดหวัง
ทุกคนต่างมีปมของตนที่แก้ไม่ตกและไม่อาจแพร่งพราย

ผู้อาวุโสเดินจากไปด้วยท่าทางเฉื่อยชา คล้ายเบื่อหน่ายต่อชีวิตอย่างยิ่ง
เอ้งฮวงลอบคิดในใจ ผู้อาวุโสท่านนี้มาหลายส่วนน่าเลื่อมใส



(อ่านต่อในรวมเรื่องสั้น ปุ๊ซินเนี่ยน)

วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2552

ฤาจะถึงกาล












โอ…เชี๊ยะเทียนใบไม้ร่วงโรย
อาดูรนัก ยืนดูเดียวดาย
หล่นเกลื่อนกล่นยากยิ่งทัดทาน
เฉกเช่นชะตากรรมมนุษย์เมื่อถึงกาล
ฤา…
ผู้ใดเล่าห้ามได้!!



ฟาเหวินยืนบนเนินหินรำพึงพร้อมถอนหายใจเฮือกใหญ่

เชี๊ยะเทียนปีนี้ดูหม่นหมองกว่าทุกปี ต้นไม้ใบหญ้าเหี่ยวเฉาแห้งเกรียม



เปลวแดดต้นเชี๊ยะเทียนกระทบกายร้อนผะผ่าว

ในบางครั้งความร้อนนี้ยังน้อยกว่าความร้อนที่เกิดมาจากจิตใจของผู้คน

ลมพัดใบปังแห้งปลิวตกใกล้เท้าฟาเหวิน ดูเหมือนยิ่งทำให้จิตใจมันสลดหดหู่ยิ่งกว่าเดิม

จริงอยู่อีกไม่นานสถานที่แห่งนี้ก็จะเขียวชะอุ่มเช่นเดิม สองข้างทางจะสดเขียวไปด้วยต้นไม้ใบหญ้า เหล่าผีเสื้อหมู่แมลงก็จะบินโฉบเฉี่ยวล้อเล่นดอมดมเหล่าพฤกษา สรรพสิ่งกลับมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

แต่มีบางสิ่งบางเรื่องราว ก็ไม่อาจกลับคืนมาเหมือนเดิมเช่นกัน…ดุจดังผมที่หงอกขาว ไหนเลยจะกลายมาดำขลับได้อีกเล่า

ตอนนี้เป็นต้นฤดูกาล สภาพเช่นนี้จะสิ้นสุดเมื่อไร จะต้องรออีกนานเพียงไหน?!

เด็กเลี้ยงวัวกลุ่มหนึ่งวิ่งต้อนวัวไปตามท้องทุ่งอันแห้งแล้ง เหลือแต่ตอข้าวที่ถูกแดดแผดเผาทุกวัน ฝูงวัวเล็มตอข้าว พวกเด็กวิ่งหลบเข้าร่มไม้ริมทุ่ง

ฟาเหวินยืนมองธรรมชาติไปทำให้จิตใจพลอยคลายความกลัดกลุ้มไปบ้าง

ในขณะที่มันลังเลไม่รู้จะตัดสินใจเช่นไรและก็ไม่รู้จะกระทำประการใด มันพลันพบว่า มีสตรีนางหนึ่งกำลังมองดูตัวมันและกำลังเดินมา ณ ที่ ๆ มันยืนอยู่

นางคือ เวียวมู่หลา (วิมลา) สตรีน้อยสาวแรกรุ่นนางหนึ่ง เป็นสตรีนางเดียวที่มันถือว่าเป็นเพื่อนในช่วงที่มันอยู่ที่นี่ห้าเดือน

นางคือสตรีชาวบ้านที่สวมใส่เสื้อผ้าธรรมดา ทั้งมิใช่เสื้อผ้าที่ตัดมาจากร้านที่มีชื่อเสียงทั้งมิใช่ผ้าที่มาจากแคว้นกาสี เพียงแต่นางสวมใส่ชุดใดก็เหมาะสมกับนาง เนื่องเพราะความสมส่วนแห่งความเป็นสตรีอันสมบูรณ์เต็มที่ถูกปกปิดไว้ภายในแล้ว ผมที่ปล่อยยาวสลวยดำขลับสะท้อนกับแสงอาทิตย์บางครั้ง นางมีดวงตาที่บริสุทธิ์คู่หนึ่ง แววตานั้นลึกซึ้งไร้มารยาที่มากมายแอบแฝง

ลมร้อนปะทะผ้าคลุมไหล่นางปลิวพริ้วไป

“ข้ามองท่านอยู่เนิ่นนาน” นางกล่าวด้วยสีหน้าวิตก “ดูเหมือนท่านจะมีเรื่องยุ่งยากใจใช่หรือไม่”

“ข้าคงไม่ได้มายืนมองทุ่งนาแห่งนี้อีกต่อไปแล้ว” ฟาเหวินไม่กล้าที่จะสบตานางเอ่ยคำ “ท่านคุรุสัมภาดรให้ข้ากลับจุงโกวภายในห้าวัน” มันเพียงนึกคำเหล่านี้หาได้กล่าวออกไปไม่

นี่เป็นครั้งที่สามที่มันพบนาง และเป็นเดือนที่ห้าที่มันมาจากดินแดนของตนมา จากพ่อแม่และน้องสาว

ฟูเลียนต้า (นาลันทา) เป็นสถานที่ๆ เต็มไปด้วยสรรพวิชา เป็นสถานที่ใฝ่ฝันของผู้คนมากมายที่อยากจะศึกษาและสร้างชื่อเสียงที่นี่ แต่ช่างน่าเสียดายฟาเหวินมาในยามที่ฟูเลียนต้า กำลังประสบชะตากรรม

“หามิได้…เพียงแต่” มันพยายามที่จะเลี่ยงคำตอบของนาง

“ข้าพอทราบมาบ้าง และเข้าใจท่าน” นางชิงเอ่ยขึ้น ก่อนที่รอยยิ้มสุดท้ายบนใบหน้าของนางจะจางหายไป “ผู้คนภายในหมู่บ้านพากันพูดถึงชะตากรรมของฟูเลียนต้า พวกเขาบอกว่ายากที่จะต้านทานได้ ก็ที่ฟูสี่ต้ามีการป้องกันอย่างเข้มแข็งเพียงไรยังคงถูกทำลายไปแล้ว”

“ข้าคิดจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นป้องกันที่นี่” มันกำมือตนเองแน่นพลางกล่าวขึ้น

“ความคิดของท่านไม่ผิด” นางถอนหายใจกล่าว “เมื่อคราถึงกาลแล้วมีผู้ใดเล่าห้ามได้ ?!”



ดวงอาทิตย์เมื่อขึ้นสูงสุดแล้ว

มีผู้ใดห้ามมิให้อาทิตย์ตกได้

ที่สำคัญหาได้อยู่ที่การหายไปของดวงอาทิตย์ในยามค่ำคืน

หากแต่อยู่ที่ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรในยามไร้แสงอาทิตย์ได้



“ข้าจะไม่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนเห็นแก่ตัวหรือไร ?” ฟาเหวินมองดูนางตรงๆ สายตามันประสานกับดวงตาที่ใสบริสุทธิ์คู่นั้น “ในเมื่อผู้อื่นขอต่อสู้อยู่ที่นี่”

“ท่านทราบหรือไม่ที่ฟูสี่เลี่ยวต้า มีผู้เสียชีวิตไปเท่าไร”

“สิบหมื่นกว่าชีวิต”

“มีผู้ใดตำหนิผู้มีชีวิตรอดบ้าง?!”

“??!…….”

“ท่านไปจุงโกวเถิด ท่านยังมีสิ่งที่จะกระทำเพื่อชีวิตของท่านอยู่มาก”

“แล้วเจ้าละ…?” ฟาเหวินถามคำนี้ออกไปจริงๆ หรือนี่คือเรื่องหนึ่งที่มันหนักใจ

วู่มู่เหลียวใจหายกับคำถามนั้น นางบอกไม่ได้กับความรู้สึกของตน

ความรู้สึกของบุรุษสตรีที่เริ่มจะมีความรักมักมีความรู้สึกเช่นนี้

“ข้าอยู่ที่นี่ได้พบกับท่านนับเป็นวาสนาแล้ว” วาจานี้ใช่เป็นวาจาที่นางต้องการเอ่ยออกมาหรือไม่

“เจ้าไปจุงโกวกับข้าเถอะ” ประโยคนี้เป็นเพียงสิ่งที่มันคิดจะกล่าว “ข้าเองก็เช่นกันนับว่าเป็นวาสนายิ่งที่ได้พบเจ้า” มันกล่าวประโยคนี้ออกไป



(อ่านในเรื่องสั้น ปุ๊ซินเนี่ยน)

วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2552

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๑)





บทที่หนึ่ง
วิถีอันโดดเดี่ยว




ยอดเขาสูงตระหง่านเสียดขึ้นไปบนบนอากาศ แม้ไม่ต้องขึ้นไปพิสูจน์ก็สัมผัสได้กับความหนาวเหน็บได้ หรือนี่คือที่มา “ยิ่งสูงยิ่งหนาว”

แสงอรุณต้องยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะกลายเป็นสีชมพูดูคล้ายสิ่งมหัศจรรย์ของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ เมื่ออาทิตย์พ้นขอบฟ้าแล้วประกายเงินวูบวาบของหิมะก็ปรากฏขึ้นแทนที่

บุรุษหนุ่มผู้หนึ่งกำลังเหยียบย่ำลงบนพื้นหิมะตามเชิงเขาที่มีสนเหยียดลำต้นขึ้นท่ามกลางความเหน็บหนาวของกองหิมะที่ปกคลุมมันอยู่ รอยเท้าที่ประทับลงบนหิมะเป็นแนวยาวคล้ายดั่งปฏิมากรรมบางอย่าง

ดวงตาของเขายังคงมองไปเบื้องหน้า แววตาบ่งบอกถึงความหวังที่เปี่ยมด้วยความหมายอันยิ่งใหญ่ บัดนี้ใบหน้าของเขาซีดขาวเพราะต้องลมและละอองหิมะ แต่กระนั้นเค้าหน้าที่หล่อเหลาคมคายยังรักษาไว้ซึ่งความสง่างาม กุยเล้งสานใบหนึ่งยังคลุมปกปิดศีรษะ เสื้อปอขาวปนน้ำตาลบัดนี้มีรอยขาดหลายแห่งแล้ว

ลำธารเล็กสายหนึ่งเป็นเสมือนธารหิมะ เป็นลำธารที่เกิดจากน้ำแข็งละลายส่งเสียงไหลริน

เขายืนมองลำธารที่กำลังรินไหลพรางรำพึงกับตนเอง

“หลายวันแล้วสินะที่เราเดินทางมา หนทางเส้นนี้ยาวไกลจริง ๆ

วิถีชีวิตที่โดดเดี่ยวเช่นนี้มีให้บุรุษเช่นเราได้เรียนรู้รสชาด ?!

เรามิใช่คนเร่ร่อน เช่นขอทาน

คนเร่ร่อนเป็นคนปราศจากอุดมคติ แต่เราไม่ใช่” เขาย้ำในความคิด

ความแตกต่างแยกแยะสมณะผู้จาริกแสวงบุญออกจากขอทาน

ก็คือ จิตใจและอุดมคติเท่านั้น

“ความเหน็บหนาวที่ล้อมรอบตัวเรายังเทียบไม่ได้กับความหนาวภายในใจ

มันคือ ความโดดเดี่ยว มันคือความเงียบเหงา มันคือความถวิลหาความอบอุ่นจากผู้คน ที่เรายังรู้สึกเช่นนี้ ก็เพราะจิตใจยังตกผลึกฝึกฝนไม่เพียงพอ”

เขาหยิบชุปปี้ (นมที่แข็งเป็นก้อน) ออกมาจากถุงหนังที่เหน็บไว้ที่เอวใส่ปาก

“เหลือเพียงสองก้อนสุดท้ายแล้วนะ” เขาพูดกับตนเอง “ต้องไปให้ให้ถึงหมู่บ้านข้างหน้าก่อนที่จะสิ้นใจอยู่บนภูเขาหิมะแห่งนี้”


.....................................



คฤหาสถ์โบราณหลังหนึ่ง เป็นคฤหาสถ์ของตระกูลสรองกาปะ ตระกูลนี้ยิ่งใหญ่มาหลายชั่วอายุคนจึงเป็นที่รู้จักของทุกคน และยังเป็นที่ต้อนรับของแขกผู้มาเยือนของเมืองนี้

สิ่งที่ตระกูลสรองกาปะภาคภูมิใจที่สุดก็คือ การมีทายาทสืบสกุล และสิ่งที่พวกเขากำลังจะเตรียมการต่อไปก็คือการวิวาห์ของบุตรชาย

ขึ้นสิบค่ำ เดือนห้า

ทุ่งหญ้ากำลังเขียวขจี ฝูงจามรีสามสี่ตัวเล็มหญ้าอยู่ตามเชิงเขาซึ่งเป็นธรรมชาติ ณ ดินแดนแห่งขุนเขากลายเป็นที่อันลึกลับ น้อยคนนักจะได้มาย่างกราย ณ ดินแดนแห่งนี้ ผู้คนดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติอย่างธรรมดาที่สุด ชีวิตกับธรรมชาติคล้ายเป็นสิ่งเดียวกัน

อันที่จริงมนุษย์ก็เป็นส่วนของธรรมชาติ แต่มนุษย์กลับพยายามหลีกหนีจากมัน มีผู้คนมากมายดิ้นรนค้นคว้าหาแนวทางเปลี่ยนแปลงและเอาชนะธรรมชาติ แต่เขาหาทราบไม่ว่าหายนะอันใหญ่หลวงกำลังรออยู่เบื้องหน้า

อาชีพที่สามัญที่สุดของผู้คนที่นี่คือเลี้ยงจามรี นมจามรีถูกนำมาดัดแปลงเป็นอาหารนานาประการเพื่อเก็บไว้ในยามที่หิมะปกคลุมพื้นดิน นอกจากนั้นพวกเขายังแสวงหาสมุนไพรมาบำรุงร่างกายให้แข็งแรงเพื่อให้อยู่ได้กับธรรมชาติ

ณ หมู่บ้านแห่งนี้มีคำบอกเล่าถึงโยคีมาราเรปะ ท่านบำเพ็ญเพียรอยู่บนยอดเขากาญชุ ภายในถ้ำลึกลับบางแห่ง ชาวบ้านถกเถียงกันถึงเรื่องอายุของท่าน บ้างก็บอกว่าท่านมีอายุยาวนานนับร้อยปีมาแล้ว บ้างก็บอกว่าท่านยังเป็นโยคีหนุ่มมือหนึ่งถือดอร์เจ้ (สัญลักษณ์แห่งวัชระของธิเบต) อีกมือหนึ่งถือประคำลูกโต แต่ยังไม่มีผู้ใดได้เห็นท่านอย่างถนัดตาสักครั้ง ทั้งหมดก็ยังเป็นเพียงคำเล่าลืออยู่นั่นเอง

ทินเล่ ลอปซัง….บุรุษหนุ่มแห่งตระกูลสรองกาปะรู้สึกสนใจในวิถีชีวิตของท่านมาราเรปะโยคีเป็นอย่างยิ่ง เขาเพียงแต่คิด…. “ชีวิตอันโดดเดี่ยว วิถีชีวิตแห่งการบำเพ็ญตนเช่นนั้นคือ ชีวิตอันสูงสุด ?!”

ในบางครั้งความสงสัยคือ จุดกำเนิดแห่งขุมปัญญามากมาย

เนื่องจากมีความสงสัยจึงมีการคิดค้นหาคำตอบ

เพื่อต้องการคำตอบจึงต้องทดลองกระทำ

ในโบราณกาล ปราชญ์ในโลกบรรลุธรรม

ก็เพราะทำลายความสงสัยเสียได้…

“อีกเจ็ดวันเท่านั้นนะทินเล….ที่เจ้าจะต้องดูแล…ธากิณี…ภรรยาของเจ้าแล้ว” มิเกโส สรองกาปะ ผู้เป็นบิดา กล่าวกับบุตรของตนด้วยถ้อยคำที่เปี่ยมด้วยความหวัง

การได้เห็นบุตรของตนมีเนื้อคู่ ครอบครองคฤหาสถ์เก่าแก่หลังนี้ให้ยั่งยืนต่อไปเพื่อดำรงไว้ซึ่งวงศ์ตระกูลให้ยาวนานนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับบิดามารดาทุกคน

“ครับ…ท่านพ่อ” เขาตอบอย่างสงบ

คำตอบ “ครับ” ของเขาคล้ายดั่งทรายที่ผ่านลำคอ คำตอบของตนทำให้เขารู้สึกผิดมากขึ้นไปอีก เพราะแท้จริงแล้วเขายังสับสนในชีวิตที่ตนต้องการอย่างแท้จริง แต่ภายในใจอันบ่งบอกให้เขารับทราบได้ว่า มิใช่การดูแลธากิณี สตรีสาวแห่งตระกูลโทรกาปะแน่

มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความคิดซับซ้อน ซับซ้อนจนตนเองก็ไม่บอกไม่ได้ว่าสิ่งไหนจริง สิ่งไหนเท็จ แล้วฉะนี้ผู้อื่นใครเล่าจะมาเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้

การจะไปเข้าใจผู้อื่นมิใช่เป็นเรื่องกระทำได้ง่ายดายจริง ๆ

เขาถามใจตนเอง…. “แน่ใจหรือที่จะบอกแก่บิดาว่า ตนเองต้องการออกไปท่องโลกกว้าง แน่ใจหรือว่าโลกกว้างที่เขาต้องการท่องไปจะให้สิ่งที่เขาต้องการแสวงหาพบ…”

สภาวะสองสิ่งกำลังเข้าต่อสู้กันอย่างหนักหน่วง พลัดกันชนะ พลัดกันแพ้อยู่ภายในความคิด มิทราบเส้นทางไหนคือเส้นทางสว่างสำหรับชีวิต ถ้าหากสองสภาวะมีตัวตนจริงป่านนี้ร่างกายของเขาคงฉีกขาดไปแล้ว

คำ “อกตัญญู” เป็นคำที่หนักยิ่งกว่าหินผา

แล้ว..ธากิณี…เล่า! เธอกำลังหวังในตัวเขาอยู่

ดูเหมือนมิใช่แต่สองตระกูลเท่านั้น แต่กลับเป็นผู้คนทั้งเมืองที่กำลังรอคอยแสดงความยินดี เขากล้าหรือที่จะพังทลายความหวังทั้งมวลลง

ยิ่งคิด…ทินเลลอปซัง…กำลังพบว่าตนเองกำลังจะยอมรับชะตาฟ้า พันธนาการนี้แน่นหนาเหลือเกิน ตนเองกำลังพ่ายแพ้ที่จะคิดต่อสู้….

“ท่านมาราเรปะ”…เขาคิดถึงท่านโยคี ท่านคือที่พึ่งสุดท้ายของเขาในยามนี้

ผู้คนมักเป็นเช่นนี้ ท้ายสุดแล้วคนห้อมล้อมนับหมื่นนับพันก็หาได้เป็นบุคคลที่ตนเองสนิทได้อย่างแท้จริง และหาใช่ผู้ที่จะช่วยเหลือตนได้

“สหายคู่ใจ” จึงเป็นบุคคลที่ควรแสวงหาตลอดมา

การพบสหายคู่ใจ (กัลยาณมิตร) จึงนับเป็นวาสนาอย่างยิ่ง
............................

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552

พุทธยานมรรค : วิถีโปรดเวไนย์









ดร.สุวิญ รักสัตย์
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย
(ป.ธ.๗, พธ.บ., M.A., Ph.D.)



เกริ่นนำ



คำว่า “ชาวพุทธ” เป็นคำเรียกทุกคนที่นับถือพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะนับถือพระพุทธศาสนานิกายอะไร ไม่ว่าจะอยู่ที่ประเทศไหน ก็เป็นชาวพุทธได้ทั้งนั้น แต่การจะเป็นชาวพุทธได้อย่างสมบูรณ์ถูกต้องและประพฤติปฏิบัติตนเป็นพุทธได้อย่างไรบ้างนั้น ไม่แน่ว่าชาวพุทธทุกคนจะทราบ และไม่แน่ว่าจะทำได้ เมื่อพิจารณาดูความหมายของคำนี้ ชาวพุทธนอกเหนือจากคำเรียกผู้นับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ความหมายหนึ่งได้แก่การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพียงสามคำนี้ก็แทบจะเลิกบอกใครต่อใครว่าตนเองเป็นชาวพุทธ แม้เป็นคำง่ายๆ แต่ปฏิบัติได้ไม่ง่ายนัก อีกความหมายหนึ่ง หมายถึงผู้ที่บำเพ็ญตนตามแนวแห่งพุทธะ ตามความหมายนี้อาจมีผู้เข้าใจต่างกันเป็นสองนัยได้ กล่าวคือ นัยแรกหมายถึง การดำเนินตามคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ดีแล้ว ส่วนอีกนัยหนึ่ง หมายถึง การดำเนินตามแนวทางที่จะเข้าถึงความเป็นพระพุทธเจ้า แต่ไม่ว่าจะเข้าใจและปฏิบัติตามนัยไหน ผลก็เป็นเช่นเดียวกัน เพราะทางทั้งสองก็จะไปบรรจบที่จุดเดียวกัน คือ จุดแห่งการสิ้นสุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวล

จะเห็นได้ว่า แนวคิดแรกนั้น เป็นแนวคิดของพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งมุ่งไปที่การปฏิบัติตามคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว (สฺวากขาโต) ส่วนแนวคิดหลัง เป็นแนวคิดของพระพุทธศาสนามหายาน ซึ่งมุ่งปฏิบัติตนเพื่อให้เข้าถึงความเป็นพระพุทธเจ้า (โพธิสัตโต) ความแตกต่างกันของแนวปฏิบัติทั้งสองนี้อยู่ที่เส้นคั่นของกาลเวลา กล่าวคือ พระพุทธศาสนาเถรวาทถือปฏิบัติตามกาลที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ส่วนพระพุทธศาสนามหายานนั้น ถือตามกาลก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ด้วยเหตุนี้ แนวคิดเรื่องการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ จึงเป็นเรื่องแปลกสำหรับชาวพุทธเถรวาท แม้จะอ่าน จะศึกษาชาดก ซึ่งเป็นมรรควิถีที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญตนจนมาเป็นพระพุทธเจ้า แต่ชาวพุทธเถรวาทก็เป็นเพียงรับทราบไว้ ไม่ได้มุ่งหมายปรารถนาบำเพ็ญตาม สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเป็นพุทธะนั้นยิ่งใหญ่ ตนไม่อาจเอื้อมไขว่คว้า และอาจคำนึงถึงความยากและความยาวนานในการปฏิบัติบำเพ็ญ แต่ตรงกันข้ามความคิดเรื่องการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์นี้กลับเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่สำหรับชาวพุทธมหายาน ก็ด้วยเหตุว่า เพราะความยิ่งใหญ่แห่งความเป็นพระพุทธเจ้านั่นแหละ สมควรอย่างยิ่งที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามต้องตั้งจิตปณิธาน ปรารถนาบำเพ็ญ ส่วนในเรื่องของความยากและความยาวนานในการปฏิบัติ มหายานมองว่า แท้ที่จริงแล้วการบำเพ็ญโพธิสัตว์นั้นมิได้ยากแต่อย่างใด ก็ในเมื่อทุกสรรพสัตว์ต่างมีโพธิจิต มีเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะอยู่ภายในแล้ว เพียงแต่ทำให้เมล็ดพันธุ์นี้งอกงามเท่านั้น ส่วนความยาวนานในการปฏิบัติบำเพ็ญ ก็ไม่ควรไปคำนึงถึง เพราะเส้นทางเดินแห่งชีวิตอันหาที่สุดเบื้องต้นไม่ได้นี้ เป็นเรื่องเกินวิสัยธรรมดาสามัญที่สัตว์โลกที่เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบจักสิ้นนี้จะเข้าใจได้ คาดคะเน คำนวณได้ ตามทรรศนะของพระพุทธศาสนาโดยทั่วไปแล้ว ไม่ควรสนใจอดีตซึ่งไม่สามารถย้อนกลับมาได้ ไม่ควรกังวลในอนาคตที่ยังไม่มาถึง แต่ให้พิจารณาดูปัจจุบันว่าตนปฏิบัติบำเพ็ญอยู่เช่นไรดีกว่า

บทความนี้จึงต้องการเสนอแนวคิดเรื่องพุทธยานมรรคซึ่งเป็นมรรควิถีโปรดเวไนยสัตว์ ก้าวแรกแห่งการเดินตามเส้นทางสู่พุทธยาน กระบวนการขั้นตอน มหาอุปสรรค กุศโลบายที่แฝงในปรัชญา เพื่อจะได้เข้าใจว่า การดำเนินตามพุทธยานมรรค เป็นมรรคาเพื่อเวไนย์ มิใช่เรื่องคิดค้นขึ้นใหม่ มิใช่เรื่องที่เหลือวิสัย มิใช่เรื่องนอกพุทธศาสน์ มิใช่เรื่องนำมาอวดอ้าง มิใช่เรื่องขีดเส้นแบ่งแยก มิใช่เรื่องความใจกว้างหรือคับแคบ แต่เป็นเรื่องของการสิ้นสุดแห่งทุกข์ เป็นเรื่องของการเผยแผ่พุทธธรรมไปทั่วสากล เป็นเรื่องของการบำเพ็ญฝึกฝน เป็นเรื่องแห่งการช่วยกันหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดีลงในจิตแห่งเวไนยสัตว์ ไม่ว่าจะดำเนินตามคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือดำเนินตามโพธิสัตวธรรมเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า ยิ่งบำเพ็ญเหล่าเวไนย์ย่อมเป็นสุขถ้วนหน้า



บ่อเกิดแห่งพุทธยาน


การบำเพ็ญตามพุทธยานมรรคเพื่อให้เข้าถึงพุทธะ เมื่อพิจารณาดูโพธิสัตวจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่โปรดสรรพสัตว์มาแล้วในอดีต ก่อนอื่นก็ต้องปรารถนาในใจก่อน จากนั้นก็เปล่งวาจาว่า “เราจักเป็นพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่งให้ได้ในอนาคตกาล” จุดเริ่มแรกอยู่ที่จิตอธิษฐานปรารถนา เรียกว่า บำเพ็ญธรรมสโมธาน ดังนั้น “ปณิธาน” หรือ“อธิษฐาน” จึงนับได้ว่าเป็นกระแสแห่งพลังเจตนา

พลังแห่งเจตนากลายเป็นปณิธานอันแรงกล้า ซึ่งจะเป็นชนวนพลิกผันชีวิตทำให้เลือกเป็นอะไรได้ ภาษาที่ใช้กันทั่วไปก็คือ ความใฝ่ฝัน อาศัยความใฝ่ฝันเป็นแรงผลักดันให้มนุษย์ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหวัง เช่น ใฝ่ฝันอยากเป็นครู ใฝ่ฝันอยากเป็นทหาร ใฝ่ฝันอยากเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ใฝ่ฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ใฝ่ฝันอยากเป็นบวช แต่ก่อนที่จะได้เป็นอะไรตามที่ใฝ่ฝันนั้น หรือกว่าที่ฝันจะเป็นจริงนั้น ก็ต้องแสวงหาหนทาง แนวทาง ขั้นตอนที่จะเป็นตามที่ใฝ่ฝันนั้น

ช่วงเวลาแห่งความใฝ่ฝันจึงแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง คือ ช่วงแห่งการแสวงหาหนทางอย่างไร้ความแน่นอนกับช่วงแห่งการแสวงหาที่มีความเป็นไปได้แน่นอน เกณฑ์ที่ระบุไว้ตามหลักฐานในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาได้กำหนดดังนี้คือ

ช่วงที่ ๑ อนิยตโพธิสัตว์ หมายเอาระยะที่ผู้ปรารถนาความเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง เพียงตั้งใจปรารถนาที่จะเป็นพระโพธิสัตว์ เริ่มต้นบำเพ็ญตนตามโพธิสัตวธรรม ซึ่งเป็นพุทธยานมรรค จากระดับธรรมดาไปจนถึงระดับเข้มข้น ตราบใดที่ยังไม่มีพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งมาพยากรณ์ตราบนั้นก็ยังคงดำรงอยู่ในช่วงระยะแห่งอนิยตโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่ยังไม่แน่ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ ในขณะนี้ก็จะต้องปรารถนาสโมธานธรรมอยู่มิได้ขาด กล่าวคือ ปรารถนาความเป็นมนุษย์ เป็นบุรุษเพศ มีอุปนิสัยใฝ่บรรลุ ปรารถนาเกิดมาพบพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ถือบวชหลีกเร้นจากเรือน มีความถึงพร้อมด้วยฌานสมาบัติ เคยบำเพ็ญอธิการ คือ กระทำมหาปริจาคะมาก่อน หรือกระทำปรมัตถบารมีมาก่อน และปรารถนาพุทธภูมิอย่างแรงกล้า เมื่อครบองค์ประกอบดังกล่าว จึงชื่อว่าพร้อมที่จะได้รับพยากรณ์

ยกตัวอย่างเช่น ท่านปรารถนาอยากเป็นครู แต่ก็ยังคงเรียนอยู่ระดับชั้นประถมศึกษา หรือชั้นมัธยมศึกษา ในขณะนี้จะต้องบำเพ็ญสโมธานธรรม เตรียมตัวให้พร้อม ได้แก่ รักษาสภาพร่างกายให้สมบูรณ์ แข็งแรง ไม่มีนิสัยทางเพศกลับกลาย มีอุปนิสัยชอบถ่ายทอดสั่งสอน สนทนากับนักปราชญ์ราชบัณฑิต แสวงหาครูในอุดมคติ ยอมตนเป็นศิษย์ท่าน ศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจัง จดจำหลักการและกฎเกณฑ์ได้ดี เคยอุทิศตนเพื่อการเรียนการสอนอย่างยิ่งมาก่อน และไม่เบื่อหน่ายที่จะสั่งสอน ถึงกระนั้นก็ยังไม่ได้เป็นครูเสียทีเดียว แต่กระทำตนพร้อมที่จะเป็นครู เมื่อได้รับการแต่งตั้ง ตำแหน่งครูนั้นยังอีกหลายขั้นตอน ไม่ทราบว่าจะเป็นได้หรือไม่ จะมีเหตุปัจจัย มีกุศลสัมพันธ์อะไรที่จะส่งเสริมหรือขัดขวางอย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาพิสูจน์ อย่างน้อยบุคคลรอบข้างย่อมทราบว่า ท่านมีอุปนิสัยอยากเป็นครู และท่านก็เคยบอกใครต่อใครไว้ว่าอยากเป็นครู

เฉกเช่นเดียวกันการปรารถนาความเป็นพุทธะ เพียงแต่อธิษฐานหรือตั้งปณิธานไว้ และเปล่งวาจาต่อหน้าบุคคลที่เคารพนับถือ เพื่อจะได้ให้ท่านเหล่านั้นเป็นพยานและคอยช่วยเหลือดูแลปณิธานของท่านไปด้วย ดังนั้นในพระพุทธศาสนามหายาน จึงมีพิธีกรรมเข้ารับศีลพระโพธิสัตว์ เพื่อให้ผู้ที่มีจิตใจฝักใฝ่ปรารถนาอยากเข้าถึงพุทธะมาตั้งสัจจะอธิษฐาน เพียงเท่านี้ก็เท่ากับว่า ท่านได้ชื่อว่า เป็นอนิยตโพธิสัตว์ ดุจดังพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ เพื่อย้ำถึงการตั้งมั่นในความเป็นชาวพุทธ โดยต้องเปล่งวาจาถือพระรัตนไตรเป็นสรณะ รักษาเบญจศีล บำเพ็ญเบญจธรรม เมื่อเปล่งวาจา ตั้งสัจอธิษฐานเป็นพระโพธิสัตว์ หลักสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติตามหลักแห่งโพธิสัตวธรรมอย่างเคร่งครัด กาลเวลาจะเป็นบทพิสูจน์ต่อไป

ช่วงที่ ๒ นิยตโพธิสัตว์ หมายเอาพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญมาจนกุศลกรรมนั้นส่งผลให้ไปเกิดพบพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ได้ฟังธรรมต่อเบื้องพระพักตร์ของพระองค์ พร้อมทั้งตั้งสัจอธิษฐานปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรวจดูด้วยอนาคตังสญาณแล้วตรัสพยากรณ์ว่า ความปรารถนาของท่านจักสำเร็จในอนาคตกาล นับตั้งบัดนั้นเป็นต้นมา ก็นับกาลไปเพื่อเข้าถึงความเป็นพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง

สำหรับกฎเกณฑ์เรื่องกาลเวลาสำหรับการจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ท่านกำหนดไว้ตามลักษณะของพระพุทธเจ้า กล่าวคือ ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าประเภทปัญญาธิกะ ต้องบำเพ็ญ ๒๐ อสงไขย กับอีกแสนมหากัป ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าประเภทสัทธาธิกะ ต้องบำเพ็ญ ๔๐ อสงไขย กับอีกแสนมหากัป และถ้าเป็นพระพุทธเจ้าประเภทวิริยาธิกะ ต้องบำเพ็ญ ๘๐ อสงไขย กับอีกแสนมหากัป เปรียบเหมือนระยะเวลาที่จะได้เป็นครูจริงๆ ก็ต่อเมื่อได้เรียนในระดับอุดมศึกษาในคณะที่จะเป็นครูได้ และมีคณาจารย์บอกว่า ท่านสามารถจะเป็นครูได้ถ้าหากเรียนอย่างนี้ต่อไป เมื่อถึงตอนนี้ ท่านก็มีความมั่นใจที่จะเป็นครูได้จริงๆ ท่านอาจต้องใช้ระยะเวลา ๔ หรือ ๕ ปี หรือมากกว่านั้นหากต้องเป็นการที่จะเป็นครูที่ดีมีความสามารถ

ในเรื่องระยะเวลานี้ ก็เป็นเรื่องที่ยากจะบอกได้ว่า เมื่อไรที่ได้รับพยากรณ์แล้วและเมื่อใดคือระยะเวลาที่กำหนด เพราะโดยทั่วไปท่านก็ไม่ทราบอยู่ดีว่าตนเคยได้รับพยากรณ์แล้วหรือไม่ และไม่รู้ว่า ท่านได้บำเพ็ญมาถึงกาลที่กำหนดแล้วหรือยัง นอกจากจะระลึกชาติได้ได้ยาวนานจนถึงชาติที่ได้รับพยากรณ์ ซึ่งต้องอาศัยบุพเพนิวาสานุสติญาณ ท่าทีที่ควรพิจารณาในประเด็นนี้ก็คือ ควรคิดเสียว่า บัดนี้มิใช่หรือที่ควรจะเป็นเวลาที่ใกล้จะถึงแล้ว ชีวิตที่เวียนว่ายตายเกิดมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนที่ผ่านมาก็เพียงพอที่จะเป็นเวลาที่กำหนดไว้ ดังนั้น มีแต่ต้องตั้งปณิธานในขณะนี้ บำเพ็ญพุทธยานมรรคเดี๋ยวนี้ ประเมินตนว่าตนบำเพ็ญอยู่ในระดับไหน ระดับธรรมดา (ปกติบารมี) หรือระดับกลาง (อุปบารมี) หรือระดับเข้มข้น (ปรมัตถบารมี)

(อ่านต่อหนังสือวัดโฝวกวงซาน ฉบับสร้างพระไภษัตยคุรุ)

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2552

ตามรอยคันธาระ : เส้นทางแห่งพุทธศาสนา



ตามรอยคันธาระ : เส้นทางแห่งพุทธศาสนา
ดร.สุวิญ รักสัตย์

***********

ประเทศปากีสถาน พอเอ่ยคำนี้ก็เป็นที่ทราบว่า เป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ชาวพุทธจึงไม่ค่อยมีใครสนใจและไม่ทราบความยิ่งใหญ่ของประเทศนี้ในอดีต ซึ่งมีเจริญรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ทั้งทางด้านอารยธรรม ศิลปะ และการศึกษาพระพุทธศาสนา เพียงเอ่ยคำว่า มหาวิทยาลัยตักสิลา ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนามีหรือไม่รู้จักชื่อนี้ จนกระทั่งมาถึงกาลบัดนี้รัฐบาลปากีสถานโดยเฉพาะรัฐมนตรีการท่องเที่ยวกำลังจะเปิดเส้นทางนี้ให้ชาวพุทธได้ตามรอยอารยธรรมพุทธศาสนากันอีกครั้ง

วัตถุประสงค์ของการเดินทาง
เนื่องด้วยรัฐมนตรีการท่องเที่ยวแห่งประเทศปากีสถาน นางนิโลฟาร์ บัขเตียร์ (Mrs.Nilofar Bukhtiar) ได้จัดโครงการ “ความจริงบนเส้นทาง สัปดาห์แห่งอารยธรรมยุคคันธาระ” (The Truth of the Path, Gandhara Week Pakistan) เพื่อที่จะส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศปากีสถานให้ชาวโลกได้รู้จักอารยธรรมยุคคันธาระซึ่งเป็นมรดกโลกโดยการประกาศของ UNESCO รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอื่นๆ ของประเทศด้วย ด้วยเหตุนี้ทางสถานทูตปากีสถานประจำประเทศไทยจึงได้กราบอาราธนานิมนต์พระภิกษุสงฆ์ไทย อาจารย์ และผู้สื่อข่าวไปร่วมกิจกรรมโครงการสัปดาห์การท่องเที่ยวอารยธรรมยุคคันธาระดังกล่าว

คณะบุคคลที่ร่วมเดินทาง
ในการเดินทางไปร่วมงานในครั้งนี้ รัฐบาลปากีสถาน ได้อาราธนาและเรียนเชิญบุคคลทางศาสนา วัฒนธรรม และสื่อมวลชนจากหลายประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลี ประเทศมาเลเซีย ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา ประเทศเนปาล ประเทศภูฐาน
สำหรับคณะผู้ที่ได้เดินทางไปตามคำอาราธนานิมนต์และเรียนเชิญครั้งนี้สำหรับประเทศไทยมีจำนวน ๙ รูป/คน ดังนี้
๑. พระเทพญาณกวี เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ เป็นประธาน
๒. พระครูปลัดสัมพิพัฒนเมธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดโกเมศรัตนาราม รองอธิการบดีฝ่ายเผยแผ่และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
๓. พระภิกษุจากวัดพระศรีมหาธาตุ ๒ รูป
๓. ดร.สุวิญ รักสัตย์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
๔. สื่อมวลชนจากหนังสือพิมพ์
๕. นักข่าวจากสถานโทรทัศน์ TITV
๖. ผู้ติดตามพระเทพญาณกวี

กำหนดการ
ในการเดินทางไปในครั้งนี้ตามกำหนดการที่รัฐบาลปากีสถานจัดนั้นตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม – ๑ เมษายน ๒๕๕๐ แต่คณะจากประเทศไทยนั้นสามารถไปได้ตามกำหนดการเดินทางได้เพียง ๒๖-๓๐ มีนาคม โดยมีกำหนดการดังนี้
๒๖ มีนาคม เวลา ๑๙.๐๐ น. สายการบินไทย TG 506 กรุงเทพ-อิสลามาบัด
๒๗ มีนาคม เวลา ๐๘.๐๐ น. เดินทางจากที่พักเมืองเปชวาร์ไปที่ตักสิลา
๒๘ มีนาคม เวลา ๐๘.๐๐ น. ไปเมืองอุทยาน (ในประวัติศาสตร์) ปัจจุบันเรียกเมือง สวัต (Swat Vallay)
๒๙ มีนาคม เวลา ๐๘.๐๐ น. ออกจากเมืองสวัต กลับตักสิลา เข้าร่วมพิธีสวดมนต์เวียนเทียนปทักษิณรอบธรรมราชิกสถูป
๓๐ มีนาคม เวลา ๐๘.๐๐ น. เดินทางไปเมืองละหอร์ ชมพิธีชักธงชาติลงจากเสาของประเทศปากีสถานและประเทศอินเดียที่ชายแดนของทั้ง ๒ ประเทศ
เวลา ๒๑.๐๐ น. เดินทางกลับประเทศไทยที่สนามบินละหอร์ ด้วยสายการบิน TG 509

พุทธสถานและสถานที่สำคัญ

ประเทศปากีสถาน
ประเทศปากีสถาน มีดินแดนติดต่อกับประเทศต่างๆ ดังนี้
ทิศเหนือติดประเทศอาฟกานิสถาน ทาจิสถาน และจีน ทิศใต้ติดประเทศอินเดีย ทิศตะวันออกติดประเทศอินเดีย ทิศตะวันตกติดประเทศอาฟกานิสถาน มีพลเมืองทั้งหมดประมาณ ๑๔๐ ล้านคน พลเมืองนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนมาก มีพลเอกปาเวส มูชาราฟ เป็นประธานาธิบดี ดินแดนภูมิประเทศมีทั้งภูเขา หิมะ ทะเลทราย ที่ราบ และทะเล ประเทศปากีสถานตั้งแต่เหนือจดใต้ในอดีตมีพุทธสถานปรากฏอยู่เป็นจำนวนมาก
อารยธรรมยุคคันธาระ
อารยธรรมยุคคันธาระ ดินแดนแห่งเกสรดอกไม้ ความหอมและความงดงาม เป็นอู่อารยธรรมศิลปะที่มีความงดงามอ่อนช้อยรวมศิลปะจากกรีกและอินเดียเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ยุคสมัยประมาณ พ.ศ. ๕๐๐ จนกระทั่งถึง พ.ศ.๑๓๐๐ ศิลปะคันธาระนี้พบบริเวณทางตะวันตกของแม่น้ำสินธุและทางเหนือของแม่น้ำกาบูร กินอาณาบริเวณกว้างตั้งแต่ประเทศอาฟกาสนิสถานจนถึงเมือง ปัญจาบทางตะวันตกของประเทศอินเดีย มีความสำคัญเคียงคู่กันมากับศิลปะอารยธรรมมถุรา ทางตอนเหนืองของเมืองเดลีประเทศอินเดีย
ศิลปะคันธาระเริ่มเสื่อมลงหลังจากที่เผ่าฮันส์ (Huns) เผ่าเติร์ก และก็ศิลปะอิสลามจากตะวันออกกลางเข้ามาแทนที่

เมืองตักสิลา (Taxila)
ตักสิลา ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำฮินดูและแม่น้ำเชลัม เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีต เพราะตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหมถึง ๓ เส้นทางที่มาบรรจบกัน หนึ่งจากศูนย์กลางอินเดีย สองจากเปอร์เซีย สามจากจีน เป็นจุดพักของขบวนคาราวานค้าขายสินค้า จึงทำให้เป็นเมืองที่เป็นที่ต้องการของผู้เข้ามาครอบครองเพื่อที่จะควบคุมเส้นทางการค้าบริเวณแถบนี้ไว้
เชื่อกันว่า เมืองนี้สร้างโดยพระเจ้าภารตะซึ่งเป็นน้องของพระรามซึ่งเป็นอวตารของพระวิษณุ และให้ชื่อเมืองนี้ว่า ตักสะ ตามชื่อโอรสของตนตามประวัติในมหากาพย์มหาภารตะของอินเดีย
ตามหลักฐานในพระพุทธศาสนา เมืองตักสิลานั้น เป็นเมืองแห่งการศึกษา และได้รับเรียกว่า เป็นมหาวิทยาลัยตักสิลา โดยมีอาจารย์ทิศาปาโมกข์เป็นผู้บริหาร ตักสิลามีความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปะวิทยา ศาสตร์ต่างๆ ปรากฏมาทั้งในชาดกคือก่อนพุทธกาลและในพุทธกาล ในครั้งพุทธกาลบุคคลที่มีชื่อเสียงต่างก็มาศึกษา ณ มหาวิทยาลัยตักสิลาทั้งสิ้น
เมื่อครั้งพระเจ้าอเลกซานเดอร์ได้กรีฑาทัพเข้าสู่อินเดียก็ยึดเมืองตักสิลาแห่งนี้ไว้ แต่ไม่ได้มีการสู้รบจึงทำให้เมืองไม่ได้รับความเสียหาย ในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชย์ก็ได้มาปกครองที่นี่ หลังจากที่ได้ปกครองปาฏลีบุตรและได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็ได้สร้างมหาเจดีย์ใหญ่ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่นี่ เรียกว่า “ธรรมราชิกสถูป”
ในช่วงเย็นของวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๐ คณะผู้เดินทางทั้งหมดได้มาประชุมรวมกัน ณ มหาเจดีย์ โดยมีรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยว คณะทูตานุทูตของประเทศต่างๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลปากีสถานมาร่วมพิธีการสวดมนต์เวียนเทียนปทักษิณรอบมหาสถูปแห่งนี้
ตักสิลาจึงเป็นสถานที่ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาและประวัติศาสตร์โลก เมืองตักสิลาในปัจจุบันยังมีร่องรอยแห่งเค้าเดิมหลงเหลืออยู่บ้าง กล่าวคือ การแกะสลักหิน ซากวัดจูเลี่ยน (Julian Monastry (ชื่อในปัจจุบัน) เซอร์กับ (Sirkap) ซากเมืองตักสิลาที่ ๒ เมืองตักสิลาเก่าถูกทำลายไป และชิ้นส่วนต่างๆ ที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองแห่งศิลปะคันธาระที่ตักสิลาซึ่งเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์
สำหรับธรรมราชิกสถูปก็ได้รับการขึ้นทะเบียนชื่อไว้เป็นมรดกโลกโดยองค์การ UNESCO และกำลังจะได้รับการบูรณะจากรัฐบาลปากีสถานเพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางพุทธศาสนา เหมือนพุทธสถานในประเทศอินเดียต่อไป
เมืองเปชวาร (Peshawar)
เมืองนี้ชื่อเดิมในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาคือ เมืองปุรุษปุระ ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศปากีสถานเป็นเมืองสำคัญมากอีกเมืองบหนึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาประมาณ ๖๐๐ ปี หลังพุทธปรินิพพาน เนื่องจากเป็นสถานที่จัดทำสังคายนาครั้งที่ ๔ ตามบันทึกของฝ่ายมหายาน ซึ่งตอนนั้นปกครองโดยพระเจ้ากนิษกะมหาราช แห่งราชวงศ์กุษาณะ
ตามประวัติศาสตร์หลังจากที่พระเจ้ากนิษกะได้แผ่อำนาจทางบ้านเมืองไปทั่วบริเวณแถบนี้แล้ว ก็ได้หันมาสนใจเรื่องศาสนาโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา จนกระทั่งเป็นประธานอุปถัมภ์การทำสังคายนาและมีท่านพระปารศวะเถระเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ หลังจากเสร็จการทำสังคายนาก็ได้สร้างมหาเจดีย์ใหญ่สูง ๕๕๐ ฟุต ไว้เพื่อบรรจุพระไตรปิฎกที่จดจารึกด้วยภาษาสันสกฤต จำนวน ๓ แสนโศลก เมื่อครั้งที่พระถังซำจังเดินทางมาที่สู่ประเทศอินเดียเมื่อประมาณพ.ศ. ๑๑๙๙ โดยใช้เส้นทางนี้และก็ได้กราบนมัสการมหาเจดีย์ใหญ่นี้ด้วย นอกจากนั้นยังมีนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่เกิด ณ เมืองนี้หลายท่าน เช่น ท่านพระอสังคะ ท่านพระวสุพันธุ ท่านพระอารยเทพ เป็นต้น
ปัจจุบันนี้ ชิ้นส่วนของมหาเจดีย์ พระพุทธรูปแกะสลักหินยุคคันธาระจำนวนมากและหลักฐานชิ้นส่วนอื่นๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและเกี่ยวกับพระเจ้ากนิษกะได้เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่เมือง เปชวารแห่งนี้

มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่ตาขท์ อี ไภ (Takht E Bhai)
สถานที่แห่งนี้ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนายังไม่ทราบว่าเรียกชื่ออะไร ไม่ปรากฏในบันทึกของพระถังซำจั๋ง แต่เรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า ตาขท์ อี ไภ ซึ่งอยู่ที่เมืองมาร์ดาน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศปากีสถาน เป็นซากพุทธสถานของวัดในพระพุทธศาสนาที่ใหญ่มาก ตั้งอยู่บนภูเขาสูงประมาณ ๕๐๐ ฟุต จากพื้นราบ เป็นวัดที่อยู่ด้านนอกของเทือกเขาฮินดูกูฏ
วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ศึกษาศิลปะวิทยาต่างๆ มหาวิทยาลัยที่มีบริเวณกว้างใหญ่ มีลักษณะการสร้างเหมือนวัดต่างๆ ในยุคสมัยนั้น คือ มีเจดีย์อยู่ตรงกลาง รอบๆ เป็นห้องสวดมนต์และเป็นห้องประชุมสังฆกรรม

เมืองหุบเขาสวัต (Swat Vallay)
เมืองในที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาหิมะและแม่น้ำสวัต หรือที่ปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์ทางพระพุทธศาสนาว่า เมืองอุทยาน ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศปากีสถาน ข้ามเทือกเขาฮินดูกูฏ ซึ่งมีความสูงถึง ๑๕๐๐ ฟุต เป็นเมืองที่เป็นเหมือนศูนย์รวมของพระพุทธศาสนาหลายนิกาย ได้แก่ เถรวาท มหายาน และวัชรยาน เป็นเมืองที่เป็นจุดเชื่อมต่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าไปสู่ในเอเชียกลาง ประเทศจีนและทิเบต พระภิกษุนักแสวงบุญเดินทางมาสู่ดินแดนพระพุทธศาสนาต่างก็มุ่งหวังที่จะได้มาเห็นเมืองนี้
ตามประวัติศาสตร์ไม่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาที่เมืองนี้ แต่เชื่อกันทางอภินิหารว่า พระพุทธองค์ทรงเสด็จมาทรมานพญานาคราชแล้วประทับรอยพระบาทไว้ ตามบันทึกของพระถังซำจั๋ง ท่านกล่าวว่า เมืองนี้เป็นเมืองที่มีความงดงามทั้งสถานที่ มีดอกไม้ สายน้ำ ภูเขา และผู้คน เต็มไปด้วยวัดวาอาราม มีบันทึกว่า มีวัดถึง ๑๔๐๐ วัด มีพระภิกษุสงฆ์ถึง ๑๘,๐๐๐ รูป พระสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายวัชรยาน มีเมืองหลวงชื่อว่า มิงโคละ หรือมังคละโฆษะ
เมืองอุทยานเป็นสถานที่เกิดของบุคคลสำคัญของวัชรยาน ผู้ที่นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่สู่ประเทศเป็นผลสำเร็จ ได้แก่ ท่านคุรุปัทมสัมภวะ (คุรุริมโปเช่) ผู้ก่อตั้งนิกายญิงมะในประเทศทิเบต
ณ เส้นทางที่จะเข้าไปสู่เมืองอุทยาน พระเจ้าอุตตรเสนสร้างมหาสถูปไว้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามประวัติเล่าว่า เมื่อพระองค์ได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดียแล้ว อัญเชิญมาด้วยช้างเผือก พอมาถึงที่นี่ช้างเผือกไม่ยอมไปต่อ ดังนั้นพระองค์จึงสร้างไว้ ณ ที่นี้ ปัจจุบันอยู่หมู่บ้านชิงการ์ดาร์ ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า ชิงการ์ดาร์สถูป (Shingkardar Stupa)

สรุป
การเดินทางไปสู่ประเทศปากีสถานในครั้งนี้ ก็เพื่อไปชมพุทธสถานซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากจากเหนือจดใต้ ถือได้ว่ามีทั้งทางด้านคุณค่าต่อจิตใจและคุณทางทางการศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ทราบถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในบริเวณแถบนี้ ที่แผ่ไปจนถึงประเทศอาฟกานิสถาน
เจตนารมณ์ของประเทศปากีสถานที่ได้อาราธนานิมนต์พระภิกษุสงฆ์จากหลายประเทศและเชิญบุคคลจากประเทศต่างๆ ไปในโครงการการท่องเที่ยวสัปดาห์คันธาระ ก็เพื่อต้องการให้ชาวพุทธในประเทศต่างๆ ได้เข้าไปเที่ยวกราบนมัสการสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาเหล่านี้อันเป็นการรณรงค์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไปด้วยนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม จิตวิญญาณพุทธศาสนาที่แฝงอยู่ในศิลปะต่างๆ ที่ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ก็ดี ที่ถูกทิ้งไว้ในโบราณสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศจากเหนือจรดใต้ทำให้เห็นภาพแห่งความเจริญรุ่งเรืองในอดีตที่ไม่ทราบจะกลับมาได้หรือไม่ แม้ว่าจะไม่อาจทำให้ภาพเหล่านั้นกลับมาได้ แต่ก็ภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของทุกๆ ด้านที่พระพุทธศาสนาฝากไว้ใน “ตามรอยคันธาระ” ยุคปัจจุบัน

ชีวิตมีค่าตามมรรคาพุทธองค์


ชีวิตมีค่าตามมรรคาพุทธองค์

ผศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์
ประธานสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา
เลขานุการกรรมการบริหาร
หลักสูตรศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต


เส้นทางสายไหม (Silk Route)
การเดินทางเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ บ้างต้องการแสวงหาสถานที่หรือแหล่งที่เหมาะสมต่อการดำรงชีพและดำรงเผ่าพันธุ์ บ้างเดินทางเพื่อติดต่อกันและกันระหว่างเผ่าพันธุ์ของตนกับเผ่าพันธุ์อื่นเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าและสร้างวัฒนธรรม ในอดีตนั้นมีการติดต่อกันด้วยการเดินทางด้วยเท้าและสัตว์พาหนะตามเส้นทางที่เชื่อมกันระหว่างรัฐต่อรัฐ ประเทศต่อประเทศ เส้นทางที่ยาวไกลและมีชื่อเป็นที่รู้จักกันในขณะนั้นก็คือ เส้นทางสายไหม (Silk Road)
เส้นทางสายชีวิตนี้เชื่อมต่อระหว่างโลกตะวันออกกับตะวันตก เริ่มจากประเทศจีนไปถึงกรีก โดยเส้นทางผ่านทะเลทรายตาลิมากันที่มีความร้อนสูงถึง ๕๐ องศาในเวลากลางวัน และลบ ๒๐ องศาในเวลากลางคืน นอกจากนั้นยังมีพายุทะเลทรายอีกด้วย บางครั้งเส้นทางสายนี้ยังถูกเรียกว่าดินแดนแห่งความตาย (Land of Death) เพราะยากที่ใครจะผ่านไปได้ แต่ถึงกระนั้นมนุษย์ก็ยังคงเห็นเป็นสิ่งท้าทาย ยังคงใช้เส้นทางนี้เพื่อเดินทาง
ความเจริญทางวัฒนธรรมตะวันตกนั้นสิ้นสุดไวกว่าทางตะวันออก เพราะทางตะวันออกนั้นพัฒนารุ่งเรืองในอาณาจักรเปอร์เซียและซีเรียที่กินบริเวณกว้างมากในตะวันออกกลางมาจดถึงอาณาจักรอินเดีย ทั้งสองอาณาจักรนี้ติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันอยู่ก่อนแล้ว เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชแห่งมาเซโดเนียของกรีกที่ครอบครองจักรวรรดินี้มาเมื่อก่อน ปีค.ศ. ๓๓๐ แม้ว่าพระองค์จะครอบครองอาณาจักรทั้งหมดนี้เป็นระยะเวลาอันสั้น แต่วิถีแห่งวัฒนธรรม โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมและปติมากรรมได้มีการแลกเปลี่ยนกันสืบต่อมาภายในอาณาจักรของอินเดียนับแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้เส้นทางของเอเชีย ได้แก่ เปอร์เซีย ซีเรีย อินเดีย และกรีก เชื่อมกัน อาณาบริเวณที่มีเส้นทางเชื่อมถึงนั้นไกลถึงแถบที่ราบลุ่มหรรษา (Hunza Valley) แห่งเทือกเขาการาโกรัม (Karakorum Range) จากปากีสถานถึงกาชการ์ (Kashgar) ในอาฟกานิสถาน ปัจจุบันเป็นถนนสายหลักเชื่อมระหว่างสองประเทศ แต่เดิมนั้นเส้นทางสายนี้เคยเป็นจุดพักทัพของพระเจ้าเลกซานเดอร์มหาราชด้วย จะเห็นได้จากมีศิลปะผสมระหว่างกรีกและอินเดียอยู่ตามเส้นทางเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นที่คันธาระ ตักสิลาในปากีสถานและอาฟกานิสถาน นอกจากนั้น เส้นทางสายนี้ยังเชื่อมกับทะเลทรายตาลิมากัน ปัจจุบันยังคงเห็นร่องรอยของประชาชนที่อยู่บริเวณนี้เป็นเชื้อชาติผสมระหว่างกรีกและจีน และยังมีศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมอื่นๆ ให้ได้พบอีกด้วย
ประมาณปี ค.ศ.๑๒๐ ชนชาติเผ่าหนึ่งเรียกว่า เผ่าง้วยสี ที่อยู่บริเวณนี้ได้มีอิทธิพลมากขึ้นกลายเป็นเผ่าพันธุ์ที่สร้างความยิ่งใหญ่ในกาลต่อมาโดยตั้งตนเป็นราชวงศ์ขึ้น ชื่อว่าราชวงศ์กุษาณะ หนึ่งในพระราชาแห่งราชวงศ์นี้ ได้แก่ พระเจ้ากนิษกะ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของพระเจ้าอโศกมหาราชองค์ที่สองของอินเดีย เพราะพระองค์ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและถือเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำราชอาณาจักรของพระองค์ จึงทำให้ในช่วงระยะเวลาที่พระองค์ครองราชย์อยู่นั้นพระพุทธศาสนาได้ขยายจากทางตอนเหนือของอินเดียเข้าไปถึงจีน
ในรัชสมัยของพระเจ้าหมิ่งตี้ พระองค์ได้นำพระพุทธศาสนาจากประเทศอินเดียเข้ามาสู่ประเทศจีนทั้งทางด้านคัมภีร์และพระภิกษุสงฆ์ ส่วนศิลปะนั้นได้รับอิทธิพลศิลปะแบบคันธาระ จากนั้นพระพุทธศาสนาก็ขยายเข้าไปสู่ประเทศทิเบต ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาขยายไปอย่างเต็มที่ในยุคราชวงศ์เว่ยประมาณคริสศตวรรษที่ ๔-๕ เจ้าเมืองต่างๆ ได้พากันส่งเสริมพระพุทธศาสนา มีการส่งพระธรรมทูตไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดียจำนวนมาก ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองตามเส้นทางสายไหม ไม่ว่าพ่อค้า ประชาชน และพระภิกษุสงฆ์ต่างก็สนับสนุนให้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนากันมากในยุคนี้ โดยเฉพาะเผ่าฮุ่ยฮี (Huihe) ได้รับเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชนชาติตามที่ท่านฟาเหียน พระภิกษุผู้จาริกบุญแห่งประจีนได้บันทึกรายละเอียดเอาไว้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในเมืองโขตานและเมืองกาชการ์ ในปีคริสตศักราช ๓๙๙ ว่า “มีการสร้างวัด สร้างสถูป เจดีย์ พุทธศิลป์ ขึ้นจำนวนมากและมีการจัดงานประเพณีทางพระพุทธศาสนาในเมืองนี้ ส่วนมากจะเรียงรายอยู่ตามหน้าผา และถ้ำตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะที่เด่นที่สุดก็ที่ถ้ำตุนหวง”
บนเส้นทางสายไหมที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาผ่านไปจนถึงเทือกเขาฮินดูกูฏ ที่เรียกว่า บามิยัน ในอาฟกานิสถาน มีพระพุทธรูปใหญ่ขนาดสูงถึง ๕๕ เมตร ที่เจาะแกะสลักหน้าผา นอกเหนือจากรูปพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายยังมีรูปของการดำเนินชีวิตของคนในช่วงเวลานั้นด้วย ภาพการเฉลิมฉลองประเพณีชาวบ้าน
ประมาณคริสศตวรรษที่ ๗ เมื่อศาสนาอิสลามได้มีบทบาทขึ้นและแผ่ขยายไปสู่ดินแดนต่างๆ บริเวณนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาอิสลามจากมองโกล พระพุทธศาสนาก็ได้รับผลกระทบจากการแผ่ขยายไปของศาสนาอิสลามตามเส้นทางสายไหมจนถึงประเทศอินเดียซึ่งเป็นประเทศแม่ และในที่สุดพระพุทธศาสนาก็หมดไปจากประเทศเหล่านั้น ไม่เว้นแม้แต่ประเทศอินเดีย แต่ก็นับว่าโชคดีที่พระพุทธศาสนาได้เข้าไปเจริญในประเทศทิเบต ซึ่งเป็นประเทศเชื่อมระหว่างประเทศอินเดียกับประเทศจีน หลังจากเส้นทางสายไหมส่วนใหญ่ถูกครอบครองโดยมุสลิม เส้นทางสายไหมก็ถึงการเสื่อมลงอีกทั้งเมื่อมองโกลได้ครอบครองพื้นที่บริเวณแถบทะเลทรายแทบทั้งหมด ก็แทบจะปิดเส้นการเดินทาง ส่วนทางจีนก็มีนโยบายไม่คบค้ากับมองโกลซึ่งเป็นช่วงของกุบไลข่านและราชวงศ์หมิง เส้นทางสายไหมก็ถูกปิดตัวลง การติดต่อระหว่างตะวันออกและตะวันตกก็ปิดตัวลงไปด้วย
นี่คือประวัติศาสตร์การเดินทางของมนุษย์ในยุคที่ผ่านมาเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนสินค้า ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม นับตั้งแต่การเริ่มขึ้นของเส้นทางสายไหมจนกระทั่งถึงจุดสูงสุดเมื่อสมัยราชวงศ์ถังจนกระทั่งถึงการล่มสลายไปเมื่อประมาณ ๗๐๐ ปี ก่อนหน้านี้ เส้นทางสายไหมเป็นเส้นทางที่หล่อหลอมความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมสองสาย คือวัฒนธรรมตะวันตกมาสู่ตะวันออก แม้ว่าเส้นทางสายไหมจะไม่ได้มีการใช้อีกต่อไป แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นพร้อมกับเส้นทางสายไหมมิได้สิ้นสุดตาม เรื่องราว อารยธรรมเหล่านั้นยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

นักจาริกบุญผู้อุทิศตน
เมื่อยิ่งนับวันกิตติศัพท์แห่งพุทธบารมีได้ฟุ้งกระจายแผ่ไปทั่วผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลของประเทศจีน พุทธบริษัททั้งหลายต่างได้รับน้ำอมตรสที่มีผู้นำมาหยาดหยดให้ แม้กระทั่งดินแดนอันห่างไกลเช่นนี้พุทธบารมียังแผ่ซ่านไปถึง ด้วยเหตุนี้ทำไมจึงไม่มีผู้ใดไปดื่มด่ำจากต้นน้ำนั้นเล่า ดังนั้น เหล่านักแสวงบุญจากดินแดนอันไกลโพ้น ได้แก่ประเทศจีน จึงมีนักจาริกบุญออกเดินทางไป ไม่ว่าเส้นทางจะยากเพียงใด ลำบากเพียงไหน อันตรายอย่างไร แต่แรงบันดาลใจที่ต้องการสั่งสมบุญและนำภูมิปัญญานั้นกลับไปสู่บ้านเกิดเมืองนอนของตนนั้นมีมากกว่า แรงบันดาลใจนั้นจึงเป็นพลัง กลายเป็นปณิธานที่จะฝ่าฟันอุปสรรคอันจะมากีดขวางไปได้
(อ่านฉบับเต็มได้จากหนังสือ MBU ACADEMIC PILGRIM : INDIA)

บนเขาสถานที่แสดงยมกปาฏิหาริย์ สาวัตถี

วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552

อาหารอัตตา

บทความ
“อาหารแห่งอัตตา”
ดร.สุวิญ รักสัตย์
ประธานสาขาพุทธศาสน์ศึกษา
เลขานุการกรรมการบริหารหลักสูตรศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต


ความนำ
ชีวิตมีอะไรซับซ้อน ยากที่ใครจะเข้าใจได้อย่างแจ่มชัด แม้กระทั่งเป็นชีวิตของตัวท่านเองก็ตาม ต่อคำถามเหล่านี้ว่า ชีวิตเป็นมาอย่างไร ชีวิตดำเนินไปอย่างไร และชีวิตจะสิ้นสุดได้อย่างไร ปัจจัยอะไรที่ทำให้ชีวิตดำเนินไป ปัจจัยอะไรทำให้ชีวิตสิ้นสุดลง และอะไรเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต ท่านเข้าใจชีวิตดีพอหรือยัง ไม่แน่นักว่าจะตอบคำถามนี้อย่างมั่นใจ
คำตอบง่ายๆ หากจะมีผู้ตอบว่าเพราะเรายังมีลมหายใจและมีอาหารหล่อเลี้ยงชีพ นี่เป็นปรากฏการณ์ต่อชีวิตที่เห็นกันอยู่โดยทั่วไป แต่จะมีใครเข้าไปทราบมากกว่านั้นว่า เหตุใดลมหายใจจึงมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต และเหตุใดอาหารจึงเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต ในบทความนี้จะยังไม่กล่าวถึงบทบาทและความสำคัญของลมหายใจที่มีผลต่อชีวิต แต่จะกล่าวถึงอาหารที่มีอิทธิพลต่อชีวิต ลองพิจารณาดู เวลาของชีวิตเกือบทั้งชีวิตหมดไปกับการแสวงหาอาหารและบริโภคอาหาร นี่กล่าวเพียงเฉพาะอาหาร (Food) ที่เป็นสารอาหาร (Nutrition) เท่านั้น ยังไม่ได้รวมถึงอาหารประเภทอื่นๆ ที่ผู้คนยังไม่ทราบ และยังไม่ได้ให้ความสนใจอีก ถ้ารวมประเภทอาหารทั้งหมดแล้ว ชีวิตมิใช่อะไรอื่น แต่หากเป็นขันธ์ที่เคลื่อนไปได้ด้วยกระบวนการแห่งการกินอาหารเท่านั้นเอง
ในสัมมาทิฏฐิสูตรแห่งมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระสารีบุตรแสดงต่อภิกษุทั้งหลายว่า
พระอริยสาวกผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระสัทธรรม ก็ด้วยว่า พระอริยสาวกนั้นรู้ชัดอาหาร เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับอาหาร และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหาร จึงสามารถละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัยที่ว่า “เป็นเรา” (อัตตา) ละอวิชชาได้แล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันได้
จะเห็นว่า อาหารมีความสำคัญอย่างไม่น่าเชื่อ อาหารสามารถบ่งบอกถึงสัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นต่อชีวิตที่ถูกต้อง เพียงเข้าใจเรื่องอาหาร เหตุเกิดของอาหาร ความดับอาหาร และทางปฏิบัติเพื่อดับอาหาร ก็จะทำให้สิ้นทุกข์ในปัจจุบันได้ นอกเหนือจากนั้น พระสารีบุตรยังใช้เป็นคำถามนางชัมพุปริพาชิกา เมื่อครั้งที่นางปักกิ่งไม้หว้าประกาศโต้วาทะกับบัณฑิตและนักศาสนาทั้งหลายว่า อะไรชื่อว่าหนึ่ง คำตอบก็ได้แก่อาหาร ในสังคีติสูตร แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสารีบุตรเน้นย้ำให้เห็นในหมวดธรรมประเภทที่มีหนึ่ง ก็ได้แก่อาหาร เมื่ออาหารสำคัญอย่างนี้สมควรเข้าไปศึกษา เพื่อประโยชน์แห่งการเข้าใจชีวิต และสามารถทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

อาหารคืออะไร
อาหาร หมายถึง สิ่งที่นำเข้ามาเพื่อบริโภค สิ่งที่เป็นคุณเครื่องทำให้หมู่สัตว์ดำรงอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้ว หรือหมู่สัตว์ที่จะไปเกิดในภพต่อไป เป็นพลังส่งให้หมู่สัตว์ไปสู่สถานที่เกิดใหม่ เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตตราบเท่าที่วัฏจักรแห่งชีวิตยังไม่สิ้นลง โดยมากแล้วผู้คนสนใจแต่อาหารที่เป็นวัตถุอันยังร่างกายนี้ให้อยู่ได้เท่านั้น ต่างพยายามสรรหาสารอาหารนานาประการมาเพื่อบริโภค บำรุงร่างกายให้เจริญเติบโต ให้สารอาหารเข้าไปหล่อเลี้ยงส่วนที่สึกหรอ ยิ่งนับวันอาหารที่รับประทานเข้าไปยิ่งลดสารอาหารลงไป มีแต่สีสันที่ล่อให้คนติดกับดัก ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยมิได้ทานอาหาร แต่ทานความหรูหรา ทานองค์ประกอบแห่งอาหาร กินบรรยากาศแทนอาหาร จึงทำให้อาหารบางมื้อสร้างบ้านสำหรับคนจนได้หนึ่งหลังด้วยซ้ำไป
ผู้คนหาทราบไม่ว่า การทานอาหารของคนโดยทั่วไปนั้น เป็นเพียงการทานอาหารประเภทสารอาหาร ซึ่งเป็นอาหารทางวัตถุเพียงส่วนเดียวเท่านั้น เรียกว่าอาหารกาย ชีวิตยังต้องทานอาหารทางอื่นอีก ดังที่เราทราบว่าอาหารใจ ชีวิตทานอาหารใจมากกว่าอาหารกาย แต่คงไม่มีผู้ใดคำนึงถึงและไม่ให้ความสนใจ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะแม้ไม่ต้องแสวงหาอาหารใจ ไม่อดอยาก ไม่เป็นเหตุแห่งการสิ้นชีวิต ไม่ตาย แต่หารู้ไม่ว่า ก็เพราะไม่ได้ใส่ใจอาหารส่วนที่เหลือนั่นเองทำให้อัตตาอ้วนพี อัตตาจึงบริโภคได้อย่างหนำใจ เมื่ออัตตาอ้วนพี มีพลังมาก ไหนเลยจะฝืนอัตตา (อัสมิมานะ) ได้ นั่นเป็นสาเหตุไม่สามารถเห็นความเป็นอนัตตาแห่งชีวิตได้
ในพระพุทธศาสนากำหนดเรื่องอาหารไว้ดังนี้
๑. กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว
๒. ผัสสาหาร อาหารคือสัมผัส
๓. วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ
๔. มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือความจงใจ
ผู้คนทั้งหลายบริโภคอาหารทั้ง ๔ ประการอย่างไม่หยุดหย่อนแม้สักเพียงนาทีเดียว ด้วยเหตุนี้อัตตาจึงเจริญเติบโตข้ามภพข้ามชาติอย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อใดก็ตามหยุดให้อาหารเมื่อนั้นอัตตาก็สูญสลาย กลายเป็นเพียงการประชุมกันเข้าแห่งกองสังขาร อนัตตาจึงปรากฏ ก็อนัตตานั้นเป็นสภาวะที่จริงแท้ของชีวิต แต่ถูกอุปาทานเข้าหุ้มห่อ หล่อเลี้ยงด้วยอาหาร คือ ตัณหา ตัณหาจึงเป็นเหตุเกิดแห่งอาหาร เป็นที่มาของอาหาร เพราะมีความอยากจึงมีการแสวงหา เมื่อตัณหาดับ อาหารทั้งหลายก็หยุดลง อวิชชาก็ดับ วิชชาก็เกิด อัตตาก็สูญสิ้น อนัตตาก็ปรากฏ นี่คือความสิ้นไปแห่งทุกข์ ส่วนทางที่ทำให้สิ้นไปแห่งตัณหาได้มีเพียงทางเดียว ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น

อาหารแห่งอัตตา
พึงเข้าใจว่า อัตตาที่แท้ในพระพุทธศาสนานั้นไม่มี มีแต่อัตตาปลอม อัตตาที่เกิดจากความเข้าใจผิดหลงยึดว่า เป็นเรา ความเข้าไปถือมั่นว่า เป็นเรา อัตตานี้ก่อตัวขึ้นจากความไม่มีอะไรมาสู่ความมีอะไร อัตตานี้ประกอบกิจกรรมด้วยการคิดอยู่ตลอดเวลา มีความกล้าแกร่งขึ้นเรื่อยๆ
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกิเลส ๓ ตัว เป็นผู้ชักสร้างอัตตาขึ้นมา ได้แก่ อวิชชา ตัณหา และอุปาทาน แล้วผูกให้อัตตามีภพ มีชาติ ขึ้นหมุนเวียนไปอย่างหาเบื้องต้นและที่สุดมิได้ เปรียบเหมือนการนำน้ำตาลมาปั้นเป็นเชือก ก็เป็นรังแห่งสิ่งที่จะเข้ามาเกาะกินน้ำตาลนั้น อัตตาเมื่อปรากฏขึ้นกิเลสอื่นก็เข้ามาเกาะเกี่ยว ห่อหุ้มจนไม่สามารถเปลื้องออกได้
เมื่ออัตตามี อัตตาก็อาศัยอาหาร อาหารแห่งอัตตานี้ก็คือ อดีตและอนาคต อดีตและอนาคตจะหล่อเลี้ยงอัตตาให้อุดมสมบูรณ์ ที่กล่าวอย่างนี้เป็นเพียงอีกมิติหนึ่งของเวลาเท่านั้น การที่จะมีอดีตและอนาคตได้ก็เพราะตัวการสำคัญคือ ตัณหานั่นเอง ลองพิจารณาดู เฉพาะอาหารคือคำข้าวที่เป็นเพียงสาเหตุเดียวทำให้โลกปั่นป่วนอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะมนุษย์ต้องกิน ต้องบริโภค แต่มนุษย์มิได้กินหรือบริโภคอย่างเดียว มนุษย์ได้บริโภคตัณหาเข้าไปด้วย กล่าวคือ ความไม่รู้จักพอของมนุษย์ จึงมีพุทธศาสนสุภาษิตว่า นัตถิ ตัณหา สมา นที แม่น้ำมหาสมุทร ยังเปรียบไม่ได้กับตัณหา เพราะความไม่รู้จักพอของแต่ละคนจึงมีการแก่งแย่งกันขึ้น ทำร้ายและทำลายกันขึ้นด้วยเหตุผลต้องการอาหาร ทรัพยากรโลกกำลังจะหมดไปเพราะมนุษย์กินอาหารด้วยตัณหา มิใช่กินเพื่อยังชีพ ไม่ว่าอาหารชนิดไหนก็ตามล้วนเกิดจากตัณหาทั้งสิ้น
อาหารสำหรับบำรุงร่างกาย มนุษย์กินเพียงหนึ่งส่วน แต่มนุษย์กินอาหารที่บำรุงใจ มนุษย์กินตั้งสามส่วน จะขยายรายละเอียดให้ทราบ ดังนี้
ผัสสาหาร อาหารคือสัมผัส ได้แก่ อาหารที่เกิดจากการกระทบระหว่างอายตนะภายในและอายตนะภายนอก จุดกระทบเป็นจุดที่กำลังกิน กินทางตาเรียกว่า จักขวาหาร กินทางหู เรียก โสตาหาร กินทางจมูก เรียก ฆานาหาร กินทางลิ้น เรียกชิวหาหาร กินทางใจเรียกว่า มนาหาร การกระทบทำให้ชีวิตมนุษย์ดำเนินไป แต่ความสำคัญมิใช่อยู่ที่การกิน เพราะนั่นเป็นธรรมชาติ แต่อยู่ที่การกินตัณหาลงไปด้วย มิใช่ธรรมชาติ เป็นการเรียกร้องต้องการของอัตตา อาหารประเภทนี้มนุษย์มักจะเห็นไม่ชัดเพราะเป็นอาหารของเทวดาทั้งหลาย การกินข้าว กินสารอาหารเป็นอาหารของมนุษย์ที่เห็นได้ชัดฉันใด การกินผัสสาหารก็เป็นสารอาหารทางผัสสะของเทวดาฉันนั้น
มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือเจตจำนง หมายถึงลักษณะการตัดสินใจโดยกระบวนการปรุงแต่งเจตจำนงเป็นธรรมชาติของจิตที่เรียกว่า สังขาร แต่ที่ผิดธรรมชาติก็คือ เจตจำนงที่ประกอบด้วยตัณหา อาหารประเภทนี้มองเห็นไม่ชัดในโลกมนุษย์ว่า เจตจำนงเป็นอาหารอย่างไร แต่อาหารประเภทนี้เป็นที่เด่นชัดสำหรับรูปพรหม รูปพรหมอาศัยเจตจำนงเป็นอาหาร ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ อัตตา คือตัวตนของพรหมยังไม่หมดสิ้นไป
วิญญาณาหาร อาหารคือการรับรู้ การรับรู้ก็เป็นธรรมชาติของจิต แต่ที่ผิดธรรมชาติก็เพราะการรับรู้ที่ประกอบด้วยตัณหา อาหารประเภทนี้มองเห็นไม่ชัดสำหรับมนุษย์ แต่กลับชัดเจนสำหรับอรูปพรหม อรูปพรหมทานการรับรู้เป็นอาหาร
นี่คืออาหารสำหรับชีวิตทุกประเภทขึ้นอยู่กับว่าอาหารประเภทไหนสำหรับชีวิตประเภทไหน มีแต่มนุษย์นั้นกินอาหารทุกประเภท กินตัณหาจากแหล่งอาหารทั้ง ๔ กินจนอัตตาอ้วนพี ยับยั้งไม่อยู่ กล้าแกร่ง ไม่ต้องกล่าวถึงว่า จะมีใครเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอัตตา (Ego) ของใครได้ เพราะขืนไปแตะเพียงนิดเดียว อัตตาจะแผลงฤทธิ์ออกมาทันที ก็แม้แต่เฉพาะตนเอง อัตตายังปั่นอัตตาเองจนกระทั่งอยู่ไม่เป็นสุข ไม่มีเวลาแม้จะพักสักนาที
(อ่านต่อฉบับจริงใน หนังสือศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต)

การออกกำลังกายของพระสงฆ์

พระสงฆ์เป็นบุคคลที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้ เนื่องจากเป็นบุคคลที่ต้องดำรงอยู่ในกฎระเบียบที่เรียกว่า พระธรรมวินัย การกระทำใดแม้กระทั่งไม่ปรากฏในธรรมวินัย แต่เข้าข่ายเป็นโลกวัชชะ คือ โลกตำหนิติเตียนก็ทำไม่ได้ ไม่เหมาะสมกับสมณะสารรูป ก็ทำไม่ได้ ดังนั้นจึงทำให้พระสงฆ์ โดยเฉพาะพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทนั้นติดขัดด้วยกฎนอกจากที่เป็นกฎในพระธรรมวินัยแล้ว และยังมีกฎทางวัฒนธรรม ประเพณีด้วย
สำหรับพระสงฆ์ฝ่ายมหายานแล้ว การดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงนั้นเป็นกฎอย่างหนึ่งของพระสงฆ์ต้องปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ทั้งทางด้านการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บและเพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรมด้วย
กฎที่ว่าด้วยการปฏิบัติที่เรียกว่า ไม่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์ในการปฏิบัติตนนั้นอยู่ในหมวดสารูปแห่งเสขิยวัตร แต่โดยสรุปแล้วในหมวดนี้ ๒๖ ข้อนั้น จะเป็นมารยาทสำหรับพระสงฆ์ที่จะเข้าไปในบ้านของโยมและนั่งในบ้านของโยมทั้งสิ้น ไม่มีที่ระบุถึงการอยู่ในภายในกุฏิหรือภายในวัด ยกตัวอย่างเช่น ข้อ ๑๗ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่ไกวแขนไปในบ้าน
๑๘ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่ไกวแขน ไปนั่งในบ้าน เป็นต้น จุดประสงค์ก็เพื่อไม่ให้ภาพของบุคคลที่ควรแก่การเคารพและของทักขิณา เป็นที่ตำหนิของผู้พบเห็นในที่สาธารณะ นอกจากนั้นในการพิจารณาปัจจัย ๔ ในข้อของอาหารบิณฑบาต นั้นกำหนดไว้ชัดว่า การบริโภคนี้ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อสดใส ไม่ใช่เพื่อความเปล่งปลั่ง จากข้อความนี้จึงเป็นเหมือนข้อห้ามของพระสงฆ์ที่ไม่สามารถจะกระทำการใดเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงที่ไม่เหมาะสม

คำถามมีอยู่ว่า พระภิกษุสงฆ์ออกกำลังกายได้ไหม
คำๆ นี้ต้องตีความคำว่า “ออกกำลังกาย” ให้ดีก่อน เพราะคำๆ นี้มีความหมายกว้างมาก การออกกำลังกายในความหมายของคนทั่วไปกับความหมายในพระพุทธศาสนานั้นใช้ต่างกัน ความหมายของการออกกำลังกายของคนทั่วไปนั้นเป็นไปเพื่อให้เกิดกำลังเพื่อให้ร่างกายเป็นประโยชน์ต่อการกระทำกิจของชาวโลก ท่าทางการออกกำลังกายจึงกระทำได้อย่างหลากหลายและกระทำได้ในที่ๆ เปิดเผยได้ บางครั้งการออกกำลังกายมีคำว่า เล่นออกกำลังกายด้วย แต่การออกกำลังกายสำหรับพระสงฆ์นั้นมีความหมายจำกัดเฉพาะ ทางพระพุทธศาสนาใช้คำว่า "บริหารขันธ์" หรือ การบริหารร่างกาย การออกกำลังกายของพระสงฆ์จึงแคบกว่า โดยต้องคำนึงถึงคำว่า ไม่ใช่เพื่อเล่น เพื่อเมามัน เพื่อความกำยำของร่างกาย แต่เพื่อให้ขันธ์นี้ดำเนินไปได้ ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ในพระพุทธศาสนาจึงถือว่า การบิณฑบาต กวาดวัด เป็นการบริหารขันธ์ไปด้วย นอกเหนือจากการกระทำกิจวัตรของพระสงฆ์แล้ว ท่าปฏิบัติแบบโยคะบางท่าก็เป็นการออกกำลังกายด้วย
เมื่อดูจากคำว่า การบริหารขันธ์ คือ ร่างกายนี้ ก็หมายความว่า พระสงฆ์สามารถจะออกกำลังกายคือบริหารขันธ์นี้ได้ แต่ต้องเป็นการออกกำลังกายด้วยความสำรวม ระวัง ไม่ยังให้ศรัทธาปสาทะของสาธุชนผู้ใฝ่ในธรรมเสื่อมไป ต้องทำด้วยความเหมาะสม พอดี ทำในที่อันควร ไม่แสดงไปตามวิสัยของชาวบ้าน
พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีออกกำลังกายที่เหมาะควรกับสมณเพศเป็นอย่างยิ่ง ทรงยึดหลักการปรับเปลี่ยนอิริยาบถทั้ง ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้มีความสมดุล โดยเฉพาะอิริยาบถเดิน ได้แก่ การเดินบิณฑบาต เช้าตรู่ของทุกวัน พระพุทธเจ้าและพระสาวก จะออกเดินบิณฑบาต ไปตามหมู่บ้านเป็นประจำ การบริหารกายนั้นต้องประกอบไปด้วยการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อน ส่วนการบริหารทางจิตนั้นต้องรู้จักปล่อยวาง รู้จักคิดให้ถูกทางให้เป็นประโยชน์ เมื่อสุขภาพทางกายและสุขภาพทางใจมีความสมดุลอย่างเหมาะสม ชีวิตจึงจะมีความสุข เมื่อร่างกายขาดความสมดุลกัน สิ่งใดสิ่งหนึ่งทำงานหนัก หรือหย่อนเกินไป การบริหารกายไม่สม่ำเสมอเป็นสาเหตุให้เกิดโรค
จากหลักฐานทางวิชาการที่มีการสำรวจกันพบว่า สภาวะอนามัยของพระภิกษุสามเณรโดยรวมแล้ว มักจะอาพาธด้วยโรคประจำตัวเรื้อรัง ถึงร้อยละ 36.8 โรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 11.3 และโรคเบาหวาน สาเหตุของการอาพาธ จากข้อมูลพบว่า มีความสลับซ้อนและมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับปัจจัยต่างๆ มากมาย เช่น ปัจจัยด้านปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ พฤติกรรม ความเชื่อ จิตวิญญาณ รวมทั้งปัจจัยด้านระบบบริการสุขภาพและสภาพแวดล้อม
มหาวิทยาลัยมหิดลสำรวจสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ กทม. พบจำนวน “พระอ้วน” เพิ่มขึ้น สาเหตุญาติโยมนำอาหารมาถวาย เลือกฉันไม่ได้ ซ้ำยังขาดการออกกำลังกาย มีการสัมมนาวิชาการเรื่อง “สุขภาวะของพระภิกษุสงฆ์ในเขตกรุงเทพมหานคร” จัดโดยภาควิชาอนามัยครอบครัว และฝ่ายวิจัยคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีการเสนอผลการวิจัยสุขภาวะพระภิกษุสงฆ์แบบองค์รวม ผู้วิจัยได้สำรวจจากการตรวจสุขภาพเบื้องต้นและสัมภาษณ์พระภิกษุสงฆ์จำนวน 417 รูป จาก 31 วัดในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 38 ปี ในจำนวนนี้ร้อยละ 60 เป็นกลุ่มอายุ 20-40 ปี เฉลี่ยบวชมาประมาณ 10 พรรษา โดยร้อยละ 42 บวชน้อย กว่า 5 พรรษา พบว่า พระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ปกติมาก สูงถึงร้อยละ 38.1 หรือ 159 รูป รองลงมาเป็นน้ำหนัก เกณฑ์ปกติ 37.6 หรือ 157 รูป และระดับต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 24.2 หรือ 101 รูป โดยในจำนวนนี้มีปัญหาความดันโลหิตสูงขั้นต้น ร้อยละ 23.4 หรือ 97 รูป และจากการสำรวจถึงพฤติกรรมส่งเสริมและดูแลสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ พบว่ามีปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากพระภิกษุสงฆ์เองไม่ได้ใส่ใจต่อเรื่องนี้เท่าที่ควร อย่างไรก็ดี ยังพบตัวเลขที่น่าสนใจ เพราะยังมีพระภิกษุสงฆ์ที่ต้องปรับปรุงพฤติกรรมออกกำลังกายถึง 51.8 หรือสูงถึง 216 รูป ดังนั้นเมื่อวิเคราะห์ในภาพรวมพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ในกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ จึงอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องปรับปรุงมากที่สุด โดยสูงถึงร้อยละ 90.9 อยู่ในเกณฑ์พอใช้เพียงร้อย 2.16
ดังนั้น การออกกำลังกายทุกวัน ก็เพื่อต้องการให้พระภิกษุ สามเณร มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีสภาวะจิตที่ดี จึงเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณา เพื่อกำหนดให้พระสงฆ์ได้ออกกำลังกายในท่าทางและสถานที่อันเหมาะสมได้
ประโยชน์อันจะได้จากการออกกำลังกายนั้นมีจำนวนมาก ทั้งเพื่อให้มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง เหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและเพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ เป็นการรักษาสุขภาพ และเพื่อรักษาโรคภัยที่เป็นอยู่แล้วให้หาย
สำหรับบางวัดได้กำหนดท่าทางการออกกำลังกายทั้งก่อนและหลังการปฏิบัติธรรม บำเพ็ญสมาธิภาวนา เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตและอวัยวะทั้งภายนอกและภายใน และเพื่อให้ข้อต่อและกล้ามเนื้อของอวัยวะส่วนต่างๆ มีการพับและหดตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยกำหนดอิริยาบถต่างๆ ผลแห่งการได้ออกกำลังกายที่เหมาะสม ทำให้พระสงฆ์มีสุขภาพดีขึ้น เจ็บป่วยน้อยลง ร่างกายต้องการอาหารดี หายใจเป็นปกติ อารมณ์จิตใจผ่องใส
สำหรับท่าบริหารขันธ์ของพระสงฆ์ที่สามารถทำได้ โดยการเคลื่อนไหวตามอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง และนอน แต่การบริหารขันธ์นี้มิใช่การบริหารธรรมดา แต่เป็นการกำหนดรู้เรียกว่า “การบริหารขันธ์ด้วยสติ” กล่าวคือ กำหนดรู้การเคลื่อนไหว ตามทันอิริยาบถ สามารถนำแนวการท่าโยคะที่เหมาะสมและซี่กงมาปรับใช้ได้ เพราะการออกกำลังกายทั้ง ๒ ประการนี้เป็นของเก่ามีมาแต่โบราณ ซึ่งฤาษีชีไพร ปฏิบัติให้ร่างกายปรับสมดุล จิตใจปลอดโปร่ง
ท่าต่างๆ ของโยคะและซี่กงนั้นศึกษาได้จากตำราที่มีอยู่แล้วโดยระบุถึงท่าไหนสามารถรักษาโรคอะไร ให้กำลังกายส่วนไหน ควรทำเป็นเอกสารเฉพาะไว้ได้ ถือเป็นคู่มือปฏิบัติการออกกำลังกายโดยมีสติกำหนดรู้ เป็นประโยชน์ทั้งกายและใจ
ในที่นี้ขอแนะนำสัก ๒ ท่า คือ
ท่าที่ ๑ การยืนแกว่งแขน โดยแกว่งขึ้นเบาๆ แต่สะบัดลงแรงๆ ให้กำหนดรู้ หายใจเข้าออกขณะยกขึ้น หายใจออกแรงๆ ขณะสะบัดลง ทำอย่างน้อย ๑๕ นาที หรือประมาณ ๕๐๐ ครั้ง ต่อวัน เป็นประโยชน์ต่อระบบทางเดินหายใจดียิ่ง
ท่าที่ ๒ ก้มลงช้าๆ จนมือแตะพื้น กำหนดรู้ด้วย และยกมือขึ้นหงายไปด้านหลังจนสุด ขณะก้มลงให้หายใจเข้า ขณะหงายหลังไปให้หายใจออก ทำอย่างนี้ประมาณ ๑๐๐ ครั้ง ต่อวัน ดีมากสำหรับระบบทางเดินอาหาร

คัมภีร์ห่วงโซ่ (ต่อ)

มายาบดบังสัจจะ
ไม่มีการไป ไม่มีการมา
ชีวิตจริงโดดเดี่ยว ลำพัง
สรรพสัตว์ก็ทำเฉกเช่นกัน
โลดแล่น ตามลีลา
ก่อนสิ้นสูญสลายไป
หมุนเวียนเปลี่ยนแปร
เกิดดับไม่ถ้วน
เสียงติงตังเส้นพิณสายสุดท้ายสั่นสะท้านหยุดลง ทินเล่หลับตาสงบนิ่งฟัง เห็นภาพสรรพสัตว์ดิ้นรน ไคว่คว้าเงาเมฆในน้ำ
วิ่งไล่ตามพยับแดด ปีนป่ายครอบครองวิมานเมฆ ล้วนแล้วเป็นมายา
เห็นแจ้งสัจจะในถ้อยคำของสตรีสาวกับชายพเนจรที่ร้องเพลงบรรเลงพิณ
อากาศยามสนธยารื่นรมย์นัก
สนธยาริมทะเลสาบ ลมพัด วิหคเหิน
วิถีธรรมดาเช่นนี้ผู้คนสัมผัสได้หรือไม่
ทั้งสองเดินไปตามถนนเรียบทะเลสาบ ผ่านร้านรวงขายปลาชนิดต่างๆ ทั้งที่ตายแล้วและที่ยังขังอยู่ในภาชนะ บางร้านขายเหง้าบัวทะเลสาบ บางร้านขายอุปกรณ์ประมงหลากชนิด นี่คือวิถีชีวิตริมทะเลสาบแห่งไวศยนครจนถึงหน้าโรงน้ำชาแห่งหนึ่ง เป็นที่ที่ทั้งคู่หยุดยืนนิ่งฟังเสียงเพลงขับขานของสตรีสาวนางหนึ่งและชายชราผู้หนึ่ง
(อ่านต่อฉบับเต็มในวารสารปรัชญาปริทรรศน์)

วิเคราะห์องค์การพุทธใหม่

บทวิเคราะห์องค์การพุทธแนวใหม่
องค์กรพระพุทธศาสนาแนวใหม่ที่เรียกว่า Neo-Buddhism เป็นพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาให้เคลื่อนไหวไปได้และแสดงบทบาทที่เหมาะสมในโลกยุคโลกาภิวัตน์และทุนนิยม หลายคนคงแปลกใจว่า พระพุทธศาสนามหายานทำไมจึงทำอะไรได้หลากหลาย ทำให้พระพุทธศาสนามหายานถูกมองไปในสองประเด็นที่สุดขั้ว กล่าวคือ ขั้วหนึ่งถูกมองไปในแง่บวกว่า มีความคล่องตัวในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อีกขั้วหนึ่งก็ถูกมองว่าทำอะไรเกินภาวะของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เมื่อมองให้ดีๆ แท้จริงลักษณะที่พระพุทธศาสนาแสดงออกในยุคนี้ไม่ใช่มหายานอย่างที่คิดกัน แต่เป็นพระพุทธศาสนาแนวใหม่ของคนยุคใหม่นี้ มันเริ่มจากกระบวนการปรับตัวของคนในสังคมที่มีกระบวนทัศน์เปลี่ยนแปลงไป พอดีเกิดขึ้นในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนามหายานเท่านั้นจึงถูกมองว่าเป็นมหายานไปทั้งหมด อันที่จริงไม่ว่าพระพุทธศาสนาเถรวาทหรือมหายานก็สามารถทำได้ เพราะไม่ได้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแต่เกี่ยวกับคนในสังคมที่รับเอาแนวคิดของการบริหารจัดการยุคทุนนิยมมาปรับใช้กับศาสนา
เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วในยุโรป เกิดขึ้นกับศาสนาคริสต์ เมื่อคนในสังคมหันไปสนใจกระแสวิทยาศาสตร์อย่างท่วมท้นในยุคใหม่ ไม่ใช่ศาสนายอมรับวิทยาศาสตร์ หรือศาสนาเห็นด้วยกับวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเพราะผู้ที่มาบวชในยุคนั้นมีแนวคิดเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว คนในศาสนาเป็นคนวิทยาศาสตร์แล้ว ก็ไม่ต้องพูดถึงว่า ความคิดเชิงวิทยาศาสตร์จึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับศาสนาและศาสนาก็ไม่สามารถทำอะไรกับคนวิทยาศาสตร์ได้เหมือนเดิมที่เคยต่อต้านอย่างสุดขั้ว
ลักษณะเดียวกันกับพระพุทธศาสนาในยุคนี้ คนในพุทธศาสนายุคนี้เป็นคนในยุคทุนนิยม ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี นับเป็นประเทศแนวหน้าที่อยู่ในยุคทุนนิยมเต็มที่ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า พระพุทธศาสนามหายานมีรูปแบบการบริหารเป็นแบบมืออาชีพ เพราะนั่นเป็นการนำระบบบริหารบรรษัทและองค์กรทางธุรกิจมาปรับใช้กับองค์การทางศาสนา ปัจจุบันจึงจะเห็นว่า พระพุทธศาสนาเถรวาทเริ่มรับวิธีการของพระพุทธศาสนาแนวใหม่นี้มาปรับใช้บ้างแล้ว ในที่สุดรูปแบบพระพุทธศาสนาต้องปรับเป็นอย่างนั้น เพราะคนในยุคนี้รับหลักการและวิธีการลักษณะของทุนนิยม การปฏิบัติอะไรตามระบบราชการเหมือนแต่ก่อน จะไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้
ไม่เพียงเฉพาะรูปแบบการบริหารเท่านั้น รูปแบบกิจกรรมทั้งหลายยังใช้รูปแบบเชิงพุทธศาสนาเพื่อสังคมมากขึ้นที่เรียกว่า Engaged Buddhism จะเห็นว่าพระสงฆ์ได้เข้าไปรับหน้าที่บริการสังคมไม่เพียงเฉพาะด้านธรรมะเท่านั้น ยังเข้าไปรับผิดชอบช่วยเหลือสังคมโดยการบริหารจัดการเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านองค์การเกี่ยวกับโรคเอสด์ ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านเด็กและเยาวชน ด้านความสงบของสังคม เป็นต้น
สิ่งที่ตามมาพร้อมกับแนวคิดนี้ก็คือ พระสงฆ์ใดไม่ทำกิจกรรม ไม่ทำงานเชื่อมกับสังคมจะไม่ได้รับการยอมรับ และต่อไปบทบาทขององค์การทางสังคมจะเป็นตัวชี้นำศาสนา เพราะองค์การเหล่านี้ปฏิบัติตนได้อย่างอิสระไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของศาสนา แต่ได้นำแนวทางศาสนาไปปรับเข้ากับวิธีการของตน จะเห็นได้จากผู้นำทางสังคมเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อศาสนามากขึ้น บางอย่างได้รับเอาพิธีกรรมทางศาสนาไปทำเอง นี่เป็นลักษณะของพระพุทธศาสนาแนวใหม่
อีกอย่างหนึ่ง สำหรับการอธิบายหลักธรรมพระพุทธศาสนาแนวใหม่จะใช้วิธีการอธิบายแบบสัมผัสได้กับชีวิตจริง เน้นการอยู่อย่างมีความสุขในชีวิตปัจจุบัน ยกตัวอย่างเรื่องอริยสัจ ๔ พระพุทธศาสนาแนวใหม่ให้คำอธิบายไว้ว่า
๑) ชีวิตย่อมประกอบด้วยความสุข ความยินดี และความไม่สมปรารถนาเป็นปกติ (ทุกข์)
๒) สาเหตุแห่งความสุข ความทุกข์ และความยินดีนั้นมีมาก ทางที่พึงกระทำคือไม่ต้องไปใส่ใจ เพียงแต่ให้อยู่อย่างมีความสุขในตอนนี้และขณะนี้ได้ก็พอ ความทุกข์นั้นเกิดขึ้นง่ายมาก เพียงแค่อยากมีความสุข อยากครอบครอง หรืออยากมีอำนาจ ก็เป็นที่มาแห่งทุกข์ทันที ยกตัวอย่างเช่น การต้องการมากไปกว่าที่ตนมีอยู่ ก็ทำให้สูญเสียความสุขในสิ่งที่ตนพึงจะได้แล้ว (สมุทัย)
๓) ไม่จำเป็นต้องสละเรือนอยู่เหมือนนักบวช ไม่จำเป็นต้องสละละทิ้งโลกียสุข เพียงแต่แสวงหาความสงบจากภายในจิตก็พอ โดยรักษาสมดุลระหว่างทั้งโลกแห่งคฤหัสถ์และบรรพชิตไว้ (นิโรธ)
๔) ศิลปะการดำเนินชีวิต คือ การค้นพบจุดสมดุลระหว่างความต้องการให้ถึงเป้าหมายแห่งชีวิตคือทางแห่งความสุขกับมุมมองอันมีเหตุผลและความจริงที่เห็น ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ และไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะสำคัญจริงๆ ต่อความสุขของตนหรือไม่ (มรรค)
การอธิบายอริยสัจเช่นนี้เป็นการอธิบายเข้ากับชีวิตมากขึ้น มิใช่อธิบายไกลไปจากชีวิต นี่เป็นลักษณะของแนวคิดของกระแสพุทธศาสนาใหม่ คือ การไม่ไปไกลจากโลกที่สัมผัส มิใช่โลกแห่งอุดมคติ คือมองกลับด้านเป็นอริยสัจที่ประกอบด้วยสุข เหตุให้เกิดสุข สุขได้ในเมื่อใจพอ ดำเนินชีวิตอย่างมีศิลปะก็จะพบกับความสุข ในที่นี้จึงไม่กล่าวว่าเป็นพุทธศาสนามหายานหรือเถรวาท เพราะโดยเนื้อแท้แล้วมีแต่คำว่าพระพุทธศาสนาเท่านั้น จะเป็นพุทธแบบเน้นศรัทธาหรือเน้นปัญญา ก็ขึ้นอยู่กับแนวโน้มทางความชอบของผู้นั้นที่เรียกว่า จริต การอาศัยศรัทธานำหรือปัญญานำก็นำผู้ปฏิบัติถึงเป้าหมายได้
สาเหตุอย่างหนึ่งที่ต้องกล่าวไว้ในที่นี้ก็คือ การเข้าสู่ความคิดหลังนวยุค (Post Modernism) ของคนในสังคม อิทธิพลของความคิดนี้ได้แผ่กระจายไปสู่ส่วนต่างๆ ของโลกอย่างมีระบบ เป็นกระบวนการที่เรียกว่า การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) การก่อตัวของแนวคิดนี้ก็คือความอิ่มตัวของยุควิทยาศาสตร์และทุนนิยมสุดขั้วที่หล่อหลอมชีวิตของคนในสังคมให้แสดงออกไปอย่างไร้ทิศทาง ยิ่งสนองวัตถุจิตวิญญาณก็ยิ่งโหยหาความสุข ในที่สุดคนในสังคมบางคนบางกลุ่มก็คิดได้การสนองความต้องการทางวัตถุไม่อาจเติมเต็มจิตวิญญาณได้ จึงหันกลับมาดูชีวิตที่แท้จริงอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้จึงมีองค์กรอิสระที่กระทำโดยไม่มุ่งหวังผลกำไรใดๆ เป็นองค์กรที่รวมตัวกันกระทำเพื่อสังคม ดังนั้นจึงมีองค์กรพุทธฉือจี้ (Tzu Chi) สำนักปฏิบัติธรรมโกเอนก้า (Koenka) องค์กรริชโก้โกเชไก (Rissho Kosei-kai) องค์กรเซไคคิวเซเคียว (โยเร) หรือ วัดพระธรรมกาย เป็นต้น องค์กรเหล่านี้ล้วนแต่กระทำเพื่อสังคมโดยการฝึกฝนตน แต่เนื่องจากสังคมอยู่ในระยะเปลี่ยนถ่ายจึงมีความขัดแย้งทางความคิดสูงสำหรับการทำเช่นนี้ เพราะคนบางกลุ่มมองเห็นว่าการทำเช่นนี้เป็นการกระทำที่ผิดแผกแปลกไปจากเดิม และคนที่อยู่ในองค์กรนั้นก็เคลื่อนไหวเชิงรุกจึงทำให้เกิดแรงปะทะขึ้นในสังคมที่ยังคงอยู่ในกระบวนทัศน์อื่นๆ อยู่จำนวนมาก
อันตรายสำหรับองค์กรทางศาสนาที่เกิดขึ้นในยุคนี้ก็คือ การไม่เข้าถึงแก่นแท้หลักการทางพุทธศาสนาทั้งสองสายให้ดีพอ พระพุทธศาสนามหายานนั้นมีหลักการสำคัญอยู่ที่การอุทิศตนบำเพ็ญเพียรเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า ส่วนพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้นมีหลักการสำคัญอยู่ที่การละการยึดมั่นถือมั่น หลีกเร้นและปล่อยวาง พอเข้าไม่ถึงแก่นแท้ก็หลงไปสู่ด้านใดด้านหนึ่ง ได้แก่ ทางฝ่ายมหายานก็หลงเข้าไปสร้างอาณาจักรของตน แล้วยึดมั่นในหน่วยงาน องค์กร วัด สมาคมของตน ทางฝ่ายเถรวาท ก็หลงไม่ช่วยเหลือสังคม หลีกเร้น ปล่อยไปตามกรรม การกระทำทั้ง ๒ ประการนั้นทำให้ตกไปสู่ส่วนสุดด้านใดด้านหนึ่ง ไม่เป็นตามทางสายกลาง
สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาทั้ง ๒ แนวทางนั้นสับสนไป ไคว่เขวไป ที่จำเป็นต้องเข้าใจก็คือการใช้หลักเหตุผลที่เรียกว่า “วาทกรรม” วาทกรรมเป็นกระแสกระบวนทัศน์ที่มาพร้อมกับสังคมหลังนวยุค คือ สังคมที่ใช้วาทกรรมอธิบายเชื่อมโยงวัฒนธรรมเข้าหากัน เมื่ออธิบายโดยใช้หลักเหตุผลภายใต้ระบบทุนนิยม ก็จะอธิบายเชื่อมโยงการระดมทุน ระดมคน และระดมกำลัง เมื่อระดมได้แล้วก็มีกำลังต่อรอง เพราะวาทกรรมในที่นี้คืออำนาจแฝงนั่นเอง
ทางออกสำหรับการอยู่ในสังคมหลังนวยุคที่ถูกต้อง ต้องกระทำ ๒ สิ่งคือ
๑) ใช้ภาษาที่ถูกต้อง คือภาษานัยวิเคราะห์ (โยนิโสมนสิการภาษา) แทนภาษาวาทกรรม (ตรรกะ)
๒) เดินตามทางสายกลาง คือ อุทิศตนบำเพ็ญบารมีด้วยจิตที่ปล่อยวาง
เมื่อทำได้อย่างนี้ พระพุทธศาสนาก็กลายเป็นทางออกให้แก่สังคมอย่างแท้จริง โดยที่ไม่ได้เป็นตัวสร้างปัญหาและไม่ได้พอกพูนตัณหา