วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2561

๑๐. อุปนิสณาณปกาสินี

รู้เห็นแจ้งภาวะบรรดาขันธ์
เกิดดับพลันอาสวะที่สะสม
ก็สลายหมดสิ้นการติดปม
กระบวนล้มอัตตาสาระพัง
อิงอาศัยขยญาณปัญญาเห็น
วิมุตติเป็นบันไดเชื่อมไหลหลั่ง
เหล่าองค์ธรรมโพชฌังคะพลัง
ทุกข์เริ่มตั้งจนปิดอวิชชา
คือจุดเปลี่ยนศรัทธาสู่ปราโมทย์
เป็นเหมือนโจทย์สายธรรมที่ล้ำค่า
องค์คุณญาณลำดับสลับมา
ประดุจห่าฝนใหญ่ที่ไหลลง
สมาธิสู่ท่าญาณอาศัย
วิราคะจึงคลายความใหลหลง
นี่คือยอดแห่งธรรมเจตจำนง
จุดประสงค์แห่งศาสน์พระศาสดา
          
กระบวนการอิงอาศัยกันและกันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากในแง่ของทั้งทางโลกและทางธรรม ผู้ใดเข้าใจกระบวนการดังกล่าวได้มากเท่าไรก็สามารถเข้าถึงการสร้างเหตุและปัจจัยให้เกิดกระบวนธรรมอิงอาศัยกันและกันมากขึ้นเท่านั้น ถ้าหากมองโลกมุมนี้ ก็กล่าวได้ว่า เพราะการอิงอาศัยกันและกันนี่เองจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ขึ้นมาในโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นโลกในมิติธรรมชาติ (Nature Made) หรือในมิติมนุษยชาติ (Man Made)
มาพิจารณาในส่วนที่เป็นธรรมชาติก่อน อาศัยกระบวนการอิงอาศัยกันและกันของดวงดาวต่าง ๆ ในระบบสุริยะจักรวาล (Solar System) จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ และธรรมชาติเหล่านั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัยที่เปลี่ยนไป ความเหมาะสมของภูมิอากาศในดาวที่เรียกว่า โลก (Earth) ที่เย็นลงจนได้ที่จึงมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น ตามแนวคิดของเจมส์ เลิฟล๊อค (James Lovelock) ที่เรียกโลกนี้ว่า Gaia หมายถึง แม่ผู้ให้กำเนิด เป็นการให้กำเนิดสรรพชีวิตขึ้น ตามหลักฐานในอัคคัญญสูตร แสดงให้เห็นว่า โลกนี้เดิมนั้นมีลักษณะขาวนวลอันเกิดจากน้ำที่ลดลง เรียกครีมที่ปกคลุมโลกนั้นว่า ง้วนดิน ภาษาบาลีว่า รสปฐวี (ที.ปา.๑๑/๕๖/๗๘) ลอยอยู่บนน้ำที่แห้งลงเรื่อย ๆ มีลักษณะเหมือนน้ำนมเคี่ยวแล้วติดอยู่ข้างบน กระบวนการพัฒนาการของโลกนี้เอง คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัยตามธรรมชาติ ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปนี้เกิดปฏิกิริยาทางสิ่งมีชีวิตหลากหลายอย่างเกิดขึ้น ถามว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ตอบได้แต่ว่า เป็นเพราะเหตุและปัจจัยทำให้เกิดขึ้น เปรียบเหมือนเหตุและปัจจัยทำให้เราได้เห็นวิวัฒนาการของพืชพันธุ์สัตว์ที่มีแล้วหายไปและที่เกิดขึ้นใหม่อันเกิดจากเหตุและปัจจัย สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การกลายพันธุ์ของเชื้อโรคที่เปลี่ยนแปลงไปตามภูมิอากาศ

ในขณะเดียวกัน โลกอิงอาศัยทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกดำรงอยู่ เปรียบเหมือนมนุษย์ที่อาศัยปัจจัยภายใน คือ อวัยวะในร่างกายทำงาน และปัจจัยภายนอก คือ ดิน ฟ้า อากาศ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ถ้าเปรียบโลกเป็นคน ตอนนี้ก็มีอายุประมาณ ๕๐ ปี ที่มีโรครุมเร้าหลายโรค เหตุปัจจัยเหล่านี้ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกทั้งสิ้น เมื่อมีอะไรบางอย่างเปลี่ยนแปลง ก็กระทบกลไกของโลกไปด้วย ปัจจุบันกระบวนการอิงอาศัยเหตุปัจจัยทางธรรมชาติเห็นได้ชัดในเรื่องของผลกระทบอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของโลกที่เรียกว่า ภาวะเรือนกระจก (Green House Effect) กระบวนการลูกโซ่ (เหตุปัจจัย) ที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของรังสีแสงอาทิตย์ ชั้นบรรยากาศ อากาศ กับไอน้ำ โดยปกติบรรยากาศของโลกที่ประกอบด้วยไนโตรเจน ออกซิเจน อาร์กอน คาร์บอนไดออกไซด์ โอโซน และไอน้ำ จะทำหน้าที่ในการดูดซับรังสีอินฟราเรดที่ลงมาบนโลก ส่วนรังสีคลื่นสั้นก็จะสะท้อนออกไป เมื่อเกิดเหตุปัจจัยอันเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษ ตัดไม้ ทำลายป่า โลกทำปฏิกิริยารูปแบบใหม่ขึ้น ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสมีมากขึ้น ก๊าซเหล่านี้ทำให้เกิดความเข้มข้นของไอน้ำในบรรยากาศจนเกิดเป็นภาวะเรือนกระจก หรือภาวะตู้อบไอน้ำนั่นเอง นอกจากนั้น ก๊าซที่เกิดจากการปล่อยออกไปนั้นกลับกลายเป็นก๊าซพิษ ทำลายชั้นบรรยากาศทำให้รังสีคลื่นสั้นของแสงอาทิตย์ลงมาบนพื้นโลกได้ อีกทั้งไม่สามารถดูดซับรังสีอินฟราเรดได้ ผลกระทบอันเกิดจากภาวะเรือนกระจกนี้ส่งผลไปสู่ Gia (โลก) ให้เป็นโรคหลายชนิด ยากต่อการรักษา รวมทั้งที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิด เกิดจากการทดลองนิวเคลียร์ทั้งบนดิน ในอากาศ และในดิน ได้ส่งผลทำให้เกิดโรคหลายชนิดขึ้นในมนุษย์เอง นี่ก็สื่อสะท้อนให้เห็นอานุภาพแห่งปฏิกิริยาลูกโซ่ที่มองได้ทั้งระบบโดมิโน (Domino System) ระบบพรีเดเตอร์ (Predator System) หรือระบบวิวัฒนาการ (Revolution System)
มาดูเหตุปัจจัยที่เป็นเรื่องของมนุษย์เองบ้าง (Man Made) กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนี้ ยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งที่สามารถทำให้เห็นได้ชัด ได้แก่ การรักษาโรคของหมอ หมอมีแต่ให้ยารักษาตามเหตุและปัจจัย แต่หมอไม่อาจจะทำให้โรคที่เป็นอยู่หายตามที่ต้องการได้ ทำได้ก็แต่เพียงให้ยาถูกส่วน ไม่มาก ไม่น้อย ผู้รักษาโรคก็ทำตามเหตุและปัจจัย คือ ทานตามที่หมอบอก ที่เหลือก็เป็นเรื่องของร่างกายจะทำปฏิกิริยาต่อโรคเอง  โดยอาศัยตัวยาเป็นเหตุและปัจจัยของร่างกายเอง ซึ่งเป็นระบบของชีวะ (พีชนิยาม) การที่หมอให้ยา ประกอบยาทั้งหมดนั้นเป็นการสร้างเหตุและปัจจัย (กรรมนิยาม) นอกจากนั้นยังต้องอาศัยอากาศ (อุตุนิยาม) ด้วย ในการสร้างเหตุและปัจจัยเพื่อให้โรคหาย ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการสร้างเหตุและปัจจัยทั้งสิ้นที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อโลกและชีวิต
มาถึงเหตุปัจจัยสำคัญต่อการบรรลุธรรม เป็นการสร้างเหตุและปัจจัยโดยอาศัย จิตนิยามและกรรมนิยามโดยตรง เพื่อให้กระบวนการแห่งกรรมนิยามนั้นส่งผลต่อจิตนิยาม กระบวนการทำงานตามเหตุปัจจัยที่ไม่อาจใช้ความอยาก หรือไม่อยากอะไรให้จิตทำงานได้เลย มีแต่การสร้างเหตุและปัจจัยเท่านั้นที่สามารถทำได้ ถ้าเหตุปัจจัยถูกต้อง จิตนิยามก็ทำงานไปตามนั้น เพราะการค้นพบกระบวนการแห่งเหตุและปัจจัยอย่างนี้นั่นเอง พระพุทธเจ้าจึงได้ประกาศธรรม และให้ความสำคัญไปที่อนุสาสนีปาฏิหาริย์ เพราะสามารถทำให้จิตปุถุชนพัฒนาเข้าถึงจิตอริยชนได้ด้วยกระบวนการแห่งรู้และสร้างเหตุและปัจจัยนี้
คำถามว่า ขันธ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบ ขันธ์เกิดขึ้นเพราะกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทสายเกิด กระบวนการนี้เป็นเหตุและปัจจัยสัมพันธ์กันและกันระหว่าง จิต เจตสิก รูป หรือ มองอีกมิติหนึ่ง เป็นกระบวนการแห่งจิตนิยาม กรรมนิยาม และพีชนิยาม ก็ได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอุปนิสสูตรว่า  “อิติ รูปํ  อิติ รูปสฺส สมุทโย อิติ รูปสฺส อตฺถงฺคโม...” (สํ.นิ.๑๖/๖๘/๓๐) รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูปเป็นอย่างนี้...เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้
อะไรคือ คือรูปถ้าเราตอบตามคัมภีร์ ก็คือ มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๒๔ รวมเป็นรูป ๒๘ แต่ในที่นี้ต้องการตอบให้เห็นเป็นกระบวนการของเหตุปัจจัย ก็คือ กองทุกข์กองหนึ่งในบรรดาขันธ์ทั้ง ๕ กองทุกข์นี้มีเหตุและปัจจัยก็คือ อวิชชา เป็นหัวกระบวน เหตุเกิดของรูปหรือกองทุกข์นี้ก็คือ สมุทัย อันได้แก่ ตัณหาและอุปาทานเป็นกระบวนการแห่งทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในธรรมจักกัปปวัตตนสูตรว่า อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ยายํ ตณฺหา โปโนพภวิกา นนฺทิราคสหคตา ตตฺระ ตตฺราภินนฺทินี เสยยถีทํ กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา (วิ.ม.๔/๑๔/๑๕) ก็ทุกขสมุทยอริยสัจนี้แล คือ ตัณหาอันทำให้มีภพใหม่ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความเพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา”
ส่วนความดับแห่งรูปในมิติความทุกข์นั้นทำอย่างไร ในที่นี้จะแสดงความดับแห่งรูปตามนัยแห่งอุปนิสสูตรที่พระพุทธเจ้าได้แสดงความเป็นกระบวนธรรมไว้ชัดเจน ถ้าจะกล่าวว่า นี่คือกระบวนธรรมแห่งเหตุและปัจจัยที่สมบูรณ์ที่สุดก็ว่าได้ กระบวนธรรมแห่งปฏิจจสมุปบาทจากอวิชชาจนถึงทุกข์ เป็นปัจจยการ ๑๒ นั้น เป็นที่ทราบดีสำหรับนักการปฏิบัติและนักการศึกษาพระพุทธศาสนาโดยทั่วไปแล้ว แต่กระบวนการแห่งความทุกข์ไปจนถึงขยญาณนั้นเป็นอย่างไร น้อยคนที่จะได้ทราบถึงกระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัยนี้
“ทุกฺขูปนิสา สทฺธา สทธูปนิส ปามุชฺช ปามุชฺชูปนิสา ปติ ปตูปนิสา ปสฺสทฺธิ ปสฺสทฺธูปนิส สุข สุขูปนิโส สมาธิ สมาธูปนิส ยถาภูตาณทสฺสน ยถาภูตาณทสฺสนูปนิสา นิพฺพิทา นิพฺพิทูปนิโส วิราโค วิราคูปนิสา       วิมุตฺติ วิมุตฺตูปนิส ขเย าณ” (สํ.นิ.๑๖/๖๙/๓๐) ศรัทธามีทุกข์เป็นที่อิงอาศัย ความปราโมทย์มีศรัทธาเป็นที่อิงอาศัย ปีติมีปราโมทย์เป็นที่อิงอาศัย ปัสสัทธิมีปีติเป็นที่อิงอาศัย สุขมีปัสสัทธิเป็นที่อิงอาศัย สมาธิมีสุขเป็นที่อิงอาศัย ยถาภูตญาณทัสสนะมีสมาธิเป็นที่อิงอาศัย นิพพิทามียถาภูตญาณทัสสนะเป็นที่อิงอาศัย วิราคะมีนิพพิทาเป็นที่อิงอาศัย วิมุตติมีวิราคะเป็นที่อิงอาศัย ญาณในธรรมเป็นที่สิ้นไปมีวิมุตติเป็นที่อิงอาศัย
          นี่คือกระบวนแห่งเหตุปัจจัยที่อิงอาศัยกันและกันทำให้รูปดับไป เป็นกระบวนการสร้างเหตุปัจจัยของกรรมนิยามส่งผลต่อจิตนิยามจนเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นเอง มาตรวจสอบว่า อาศัยอะไรจึงนำไปสู่ความดับแห่งขันธ์ทั้งมวลได้ เริ่มที่ศรัทธาที่มีทุกข์เป็นที่อาศัย เมื่อศรัทธา คือ ความเชื่อมั่น ความรู้ ความเข้าใจต่อทุกข์แห่งขันธ์อันเป็นปริญเญยยธรรม คือการกำหนดรู้ทุกข์ว่า เป็นเพียงเหตุและปัจจัยที่อาศัยกันเกิดดับอันมีเวทนาขันธ์เป็นตัวทำหน้าที่ ย่อมเกิดความบันเทิงใจ ความซาบซ่าน ความสุข ความตั้งมั่น เกิดความเห็นแจ้งตามความเป็นจริงในกระบวนที่ผ่านมา จึงเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้น และรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะ
          กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนี้เกิดจากการสร้างขึ้นของพระโยคาวจรจนมีผลต่อจิตนิยาม กล่าวคือกระบวนการ หรือกฎของจิต จิตเมื่อถึงระดับที่มีความสะอาดจนมีพลัง ย่อมนำไปสู่เหตุปัจจัยแห่งยถาภูตญาณทัศนะ ซึ่งเป็นตัวปัญญาขยายผลไปสู่การปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในรูปและนาม เห็นแต่กระบวนการทำงานเกิดดับของขันธ์ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป จนถึงนิพพาน คือ ความว่างและความปล่อยวาง กระบวนการแห่งเหตุและปัจจัยนี้เป็นสายดับอวิชชา เมื่อพิจารณาด้วยกระบวนการที่ตรงกันข้ามกันย่อมเห็นเป็นกระบวนการดังนี้ “สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นที่อิงอาศัย วิญญาณมีสังขารเป็นที่อิงอาศัย นามรูปมีวิญญาณเป็นที่อิงอาศัย ผัสสะมีสฬายตนะเป็นที่อิงอาศัย เวทนามีผัสสะเป็นที่อิงอาศัย ตัณหามีเวทนาเป็นที่อิงอาศัย อุปาทานมีตัณหาเป็นที่อิงอาศัย ภพมีอุปาทานเป็นที่อิงอาศัย ชาติมีภพเป็นที่อิงอาศัย ทุกข์มีชาติเป็นที่อิงอาศัย”
          ญาณปัญญาตรงนี้เรียกว่า อาสวักขยญาณ ก็คือ ญาณที่เข้าไปเห็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นส่งทอดกันอย่างนี้ทั้งสายเกิดและสายดับ เห็นตัวปัญหาและตัวปัญญา และเห็นกลไกลที่ทำให้เกิดปัญหาและปัญญา ตัวปัญหาอยู่ที่อวิชชา ตัวปัญญาอยู่ที่ขยญาณ กลไกแห่งปัญหาอยู่ที่ตัณหา กลไกแห่งปัญญาอยู่ที่ยถาภูตญาณทัศนะ กระบวนที่ทำให้เกิดปัญหา คือ เวทนา กระบวนการที่ทำให้เกิดปัญญาคือ สมาธิ ผู้คนในโลกล้วนสร้างเหตุปัจจัยในสายเกิดอย่างไม่รู้ตัว และปล่อยตามการทำงานของขันธ์อย่างไม่รู้ตัว พระโยคาวจรทั้งหลายพยายามสร้างเหตุปัจจัยสายดับให้เกิดขึ้นอย่างนี้  (๑๔/๑/๒๕๖๑)


จบอุปนิสณาณปกาสินี