วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โศลกที่ ๓๘ กลิ่นฝน บ่อลึก


โศลกที่ ๓๘ 
กลิ่นฝน บ่อลึก

ฝนตกพร่างพรมปรอย ปรอย
ลมหายใจปนกลิ่นฝนจาง จาง
กลิ่นฝนเคล้าลมหายใจ
ช่างงดงาม สะอาด บริสุทธิ์
สัมผัสธรรมชาติเย็นสงบ
ซึมซับผสมผสานกับอณูชีวิต
พิจารณามองดูลมหายใจ
ที่จมดิ่งลงสู่ก้นบ่อลึก
ก้นบ่อกลายเป็นจุดเล็กเล็ก
แตะก้นบ่อแล้วขึ้นมาใหม่
บ่อลึกเย็นสงบระงับ
สิกขติต่อไปในภาระสำคัญ
ถอนความยึดมั่นถือมั่น



ธรรมชาติเป็นความงดงามจริง ๆ ใครที่เข้าถึงธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติ เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ย่อมทราบว่า ไม่มีอะไรที่จะเกินธรรมชาตินี้ไปได้อีกแล้ว เพราะธรรมชาติคือทั้งหมดของสรรพสิ่ง ธรรมชาติมีความยืดหยุ่น มีเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันทั้งสิ้น น้ำเกื้อกูลสรรพสัตว์ เกื้อกูลต่อต้นไม้ ใบหญ้า เช่นเดียวกันสรรพสัตว์ พืชพันธุ์ธัญหาร ต้นไม้ ใบหญ้าก็กตัญญูต่อน้ำ เคารพต่อลำธาร หวนคืนตอบแทนเป็นความชุ่มชื้นให้น้ำเป็นไอ เป็นละออง เป็นฝน เป็นน้ำต่อไป หมุนเวียนอย่างไม่จบสิ้น เวลาเช้ามีฝนพรำ เวลาค่ำมีเมฆครึ้ม กลางคืนเมฆหาย ใกล้รุ่งมีน้ำค้าง ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ให้ต้องปฏิบัติตาม ไม่มีการบังคับ ไม่มีข้อห้าม ข้ออนุญาต ทุกอย่างประสานสัมพันธ์ลงตัว แต่ละขณะไม่มีช่วงหยุด ไร้ขณะงดเว้นใด ๆ กลางวันสู่กลางคืน กลางคืนสู่กลางวัน กลางวันอาทิตย์สาดแสง กลางคืนมีเดือนเด่น มีแต่ความงดงาม ประสานต่อเนื่อง
เมื่อใดก็ตามหลอมความรู้สึกไปในธรรมชาติ เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ก็จะได้ยินเสียงดนตรีแห่งธรรมชาติทั้งหลาย เสียงดอกไม้กำลังบาน เสียงไส้เดือนคุ้ยเขี่ยดิน เสียงกุ้ง หอย ปู ปลา แหวกว่ายน้ำเอ่ยภาษาทักทายกัน เสียงผีเสื้อกระพือปีก เสียงแมลงปอหยอกล้อเล่นกัน ประกอบกับเสียงดนตรีในตัวเราบรรเลงเพลงธรรมชาติประสานพร้อมเพรียง ทำให้เบิกบานบันเทิง ในขณะนั้นเบื้องต้นและที่สุดก็หายไป อดีต อนาคตหายไป ตัวตนก็สลายไป เหลือแต่ธรรมชาติดำรงอยู่ ธรรมชาติของสรรพสิ่งเท่านั้น ธรรมชาติที่ดำรงอยู่เช่นนั้น ไม่ต้องมีคำถามว่า อะไร ทำไม เหตุใด เพราะทุกคำถามอยู่ในตัวของผู้เข้าถึงธรรมชาตินั้นเรียบร้อยแล้ว นี่เป็นขณะที่งดงาม เป็นขณะแห่งความสงบสุข ศานติ
การดำรงอยู่เป็นคำตอบที่สมบูรณ์ที่สุด ชีวิตก็เป็นสิ่งที่สมบูรณ์ ดำรงอยู่อย่างนั้น เป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น (ตถตา) การดำรงอยู่เป็นธรรมชาติสูงสุด เป็นธรรมกาย เป็นการล่วงพ้นทวิภาวะ เป็นการล่วงพ้นขอบเขตเหตุผล (สัมโภคกาย) เป็นการล่วงพ้นมายาภาพ (นิรมาณกาย) การดำรงอยู่ไม่มีภาวะแห่งความเป็นตัวเป็นตนเหลืออยู่ รูปทำหน้าที่ของรูป นามทำหน้าที่ของนาม เมื่อทำหน้าที่จบไปก็จบ ไม่หลงเหลืออะไรให้อาลัยอีก ไม่มีระหว่างว่างเว้น การดำรงอยู่ก็ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ธรรมชาติก็เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ธรรมชาติเหล่านี้กลายเป็นสิ่งผิดธรรมชาติไปเมื่อมีอัตตาเข้าไปบงการ อัตตานี่แหละที่ทำให้ทุกอย่างผิดเพี้ยน ทำให้ธรรมชาติของชีวิตบดเบี้ยว เพราะอัตตามักยึดเอาทุกอย่างมีตัวตน เป็นของ ๆ ตน เป็นตัวเป็นตนของตน ไม่ว่าจะเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ
พระโยคาวจร ผู้เจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรสมณธรรม พยายามฝึกฝนให้เป็นธรรมชาติหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติทั้งหลาย บำเพ็ญเพียรให้สติเห็นการทำงานของขันธ์ทั้งหลายประสานสัมพันธ์กับธรรมชาติ ประสานกับสายลม สายน้ำ แสงแดด อากาศ สายฝน และมวลสรรพสัตว์ สอดคล้องพึ่งพาอาศัยกันและกันอย่างงดงามพรั่งพร้อม ไม่เข้าไปยึด ไม่เข้าไปกำหนดกฎเกณฑ์ ไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของธรรมชาติ ได้แต่เฝ้ามองให้เห็นแจ้งอยู่อย่างนั้น นี่เป็นอิสระหลุดพ้น
โศลกว่า “ลมหายใจปนกลิ่นฝนจางจาง กลิ่นฝนเคล้าลมหายใจ ลมหายใจที่สะอาด บริสุทธิ์นั้นสดชื่น มีคุณค่าน่าทะนุถนอม อณูชีวิตได้รับพลังงานที่สะอาดเต็มเปี่ยมด้วยอากาศธาตุ โดยเฉพาะลมหายใจที่เจือด้วยกลิ่นฝนจาง ๆ เป็นกลิ่นธรรมชาติ ทำให้เห็นชัดถึงพลังชีวิตทั้ง ๒ ด้าน ได้แก่ พลังแห่งการดำรงอยู่ในรูปแบบนี้กับพลังชีวิตไร้รูปแบบ เป็นพลังที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้และพลังที่ทำให้ชีวิตสิ้นสูญ พลังทั้ง ๒ ด้านที่เปรียบเหมือนกลางวันและกลางคืนสลับหมุนเวียนเปลี่ยนไปมา หายใจเข้าไปเป็นพลังชีวิตที่ทำให้เกิดขึ้น หายใจออกเป็นพลังชีวิตที่ดับสูญ ส่งต่อกันไปกลายเป็นความงดงามแห่งการดำรงอยู่ กลายเป็นการดำรงอยู่แห่งดอกไม้ชีวิต
ความเป็นขั้วบวกและขั้วลบของลมหายใจนั้นทำให้ผู้ปฏิบัติมีสติได้ง่าย ตอนปลายของแต่ละขั้วมีประจุไฟฟ้าอยู่ ให้กำหนดลงไปที่ปลายของแต่ละขั้วนั้น ปลายของแต่ละขั้วก็คือ ปลายของลมหายใจเข้าคือที่สุดแห่งชีวิต เราจะเห็นชีวิตอยู่บนที่สุดแห่งลมหายใจนั้น สติจะชัดเจนมาก เพราะถ้าหากไม่กำหนดดูก็จะไม่เห็นส่วนชีวิต เช่นเดียวกันที่สุดแห่งความสิ้นสูญก็คือ ที่สุดแห่งลมหายใจออก ถ้าหากไม่กำหนดลงไปก็จะไม่ตระหนักถึงความสิ้นชีวิต เพราะพอไม่มีสติกำหนดทุกอย่างก็กลายเป็นชีวิตที่หลับใหลไปทันที ไม่ใช่ชีวิตที่ตื่นรู้ การที่มีสติตื่นรู้นั้นก็เท่ากับเป็นชีวิตที่ตื่นรู้ หากสติไม่ทำงาน อัตตาจะเข้ามาทำงานแทนทันที เพราะอัตตาเกรงว่าตัวตนจะตายทุกครั้งที่หายใจเข้าไม่หายใจออก หรือหายใจออกไม่หายใจเข้า ดังนั้น อัตตาจะทำหน้าที่แทนโดยการให้ระบบหายใจเข้าออกตามอัตโนมัติ เป็นเพียงลมหายใจของคนที่หลับอยู่ เป็นลมหายใจที่ไร้สติเฝ้าดู ทันทีที่มีสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกตลอดสาย ตั้งแต่ต้นจนสุดปลายลมหายใจ เมื่อนั้นปัญญาย่อมเกิดขึ้น ปัญญาที่เข้าไปเห็นขั้วบวกและขั้วลบแห่งชีวิตที่ทำให้เกิดการดำรงอยู่ ทำให้เข้าถึงชีวิตระดับการดำรงอยู่ ทำให้เข้าถึงธรรมชาติแห่งชีวิต ธรรมชาติที่เป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล
          โศลกว่า “บ่อลึกเย็นสงบระงับ สิกขติต่อไปในภาระสำคัญ ถอนความยึดมั่นถือมั่น ลมหายใจเข้าไปสู่ภายในร่างกายนี้ดุจดังเข้าไปสู่บ่อลึกและเย็น ยิ่งไหลลงไปจนสุดลมหายใจ เข้าไปจนสุดแตะก้นบ่อแล้วก็ขึ้นมาใหม่ ลมหายใจที่เกิดขึ้นในอาการอย่างนี้เป็นลมหายใจที่มีพลัง พึงรักษาพลังลมหายใจนี้ไว้ ปฏิบัติต่อลมหายใจ ดังนี้
ประการที่หนึ่ง เฝ้ามองลมหายใจ ตามลมหายใจ เห็นลมหายใจเกิดและเห็นลมหายใจดับ ลมหายใจเกิดก็คือ การหายใจเข้าไป ลมหายใจดับก็คือการหายใจออกมา
ประการที่สอง เฝ้ามองส่วนสุดของลมหายใจสายเกิดและสายดับ ที่นั่นมีช่องว่างอยู่เพียงนิดหนึ่ง มองเข้าไปตรงนั้น
การเข้าไปกำหนดสติเฝ้ามองช่องว่างที่สุดแห่งลมหายใจเพื่อจะทำให้เห็นความว่างที่อยู่สุดสายเกิดและสายดับ เพราะท่วงทำนองแห่งชีวิตอยู่ที่นี่ การดำรงอยู่ก็อยู่ที่นี่ ที่สุดแห่งชีวิตก็อยู่ที่นี่
เมื่อใดที่กำหนดสติเฝ้ามองช่องว่างที่อยู่สุดลมหายใจทั้งสายเกิดและสายดับ เมื่อนั้นก็จะเห็นแจ้งระบบชีวิต สายเกิดอยู่ที่นี่ ระบบสายดับก็อยู่ที่นี่ กระบวนการเกิดแห่งทุกข์คือเกิดเบญจขันธ์ก็อยู่ที่นี่ กระบวนการสิ้นทุกข์ คือสิ้นเบญจขันธ์ก็อยู่ที่นี่ นี่คือ ปฏิจจสมุปบาททั้งสายเกิด (สมุทยวาร) และสายดับ (นิโรธวาร) นี่คือกระบวนแห่งปัจจยาการ ที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งลมหายใจ
ลมหายใจแห่งการเกิดเบญจขันธ์ ก็คือ ลมหายใจที่ไม่มีสติเฝ้าดู เป็นลมหายใจของผู้หลับใหล ผู้หลับใหลย่อมมีอัตตาเป็นตัวขับเคลื่อน เมื่อมีอัตตา ก็ย่อมเต็มไปด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ส่วนลมหายใจที่สิ้นสุดเบญจขันธ์ คือลมหายใจที่มีสติกำหนดเห็นแจ้ง เมื่อมีสติ อัตตาก็สลายไป เมื่ออัตตาสลายไป อวิชชา ตัณหา อุปาทานที่เกิดแต่อัตตาก็สลายตามไปด้วย เมื่อนั้นก็เห็นแจ้งความว่าง คืออนัตตา เมื่ออนัตตาปรากฏ จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา และแสงสว่าง ก็ปรากฏ นี่คือภาระสำคัญ เป็นภารกิจสุดท้ายในการเจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรสมณธรรม ภาระแห่งการถอนความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ ซึ่งเป็นที่มาแห่งกองทุกข์ทั้งมวลได้สิ้นเชิง
พระพุทธเจ้าทรงตรัสแก่ติมพรุกขปริพาชก ผู้มีความสงสัยว่า ที่มวลหมู่มนุษย์มีสุข มีทุกข์อยู่นี้ ใครเป็นผู้สร้างให้เกิดขึ้น เป็นตนเอง ผู้อื่น หรือทั้ง ๒ ฝ่าย หรือมันเกิดขึ้นได้เอง พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธไม่ให้ติมพรุกขปริพาชกเข้าใจในความเชื่ออย่างนั้น เพราะการเชื่ออย่างนั้นทำให้ตกไปสู่ขั้วบวกและขั้วลบ แท้จริงแล้วความสุขและความทุกข์ที่โลกเป็นอยู่และได้รับอยู่นี้ เป็นเพราะเหตุดังนี้
ดูกรติมพรุกขะ เมื่อบุคคลถืออยู่ว่า นั่นเวทนา นั่นผู้เสวย ดังนี้ แต่เราไม่กล่าวอย่างนี้ว่า สุขและทุกข์ ตนกระทำเอง เมื่อบุคคลถูกเวทนาทิ่มแทงอยู่ว่า เวทนาอย่างหนึ่ง ผู้เสวยเป็นอีกคนหนึ่ง ดังนี้ แต่เราไม่กล่าวอย่างนี้ว่า สุขและทุกข์ผู้อื่นกระทำให้ ดูกรติมพรุกขะ ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ (นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ อุปายาส)...ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ (นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ อุปายาส)...ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
ก็ในเมื่อไม่เข้าไปสู่วงจรแห่งทุกข์ก็ย่อมเข้าถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์ ความสิ้นไปแห่งทุกข์ไม่ได้มีอะไรที่เป็นตัวทุกข์ หรือตัวสุข หรือผู้เสวยสุขทุกข์ เป็นแต่เพราะอวิชชา ความไม่รู้นี่แหละที่นำไปสู่การเข้าใจผิด การรับรู้ผิด และทำให้การปฏิบัติต่อไปผิด ก็ในเมื่อเห็นความว่างในที่สุดแห่งลมหายใจ ก็ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น ไม่เข้าใจผิด ไม่รับรู้ผิด และไม่ปฏิบัติผิด ภารกิจก็เสร็จสิ้นแล้ว พรหมจรรย์นี้อยู่จบแล้ว ขอความเห็นแจ้งธรรมชาติ เห็นชัดในที่สุดแห่งลมหายใจบริสุทธิ์จงบังเกิดมีแก่ผู้บำเพ็ญเพียรสมณธรรมเพื่อการทำภารกิจแห่งทุกข์สิ้นไปโดยชอบเถิด
นี่คือ โศลกที่สามสิบแปดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา