วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปัญจสัตตติสัจจวิชชภาวินี


ฝึกแล้วนำไปใช้ (๖)
ฝึกสายบ่ายค่ำในเขต
เที่ยวเทศน์เที่ยวกล่าวจนคล่อง
ไม่ยักนำไปทดลอง
ว่าของที่ฝึกจะดี
มองลึกเข้าไปข้างใน
เห็นความขุ่นใสบ้างสิ
เห็นแล้วทำไงถึงดี
อย่างนี้แยบยลผลธรรม
 สว.ธรรมภาวินี ๑๔/๔/๕๖
  
ดูจิต ดูธรรม (๕)
พึงรักษาจิตของตนไว้
อย่าให้เข้าไประรานเขา
อบรมธรรมให้มีในจิตเรา
ให้เห็นความว่างเปล่าจริง จริง
เท่านี้ก็คุ้มค่าทุกคำข้าว
ไร้เขาไร้เราในสรรพสิ่ง
ยิ้มยอมรับทุกคำติติง
อย่าวิ่ง อย่าวุ่นเป็นบุญนักฃ
สว.ธรรมภาวินี ๑๔/๔/๕๖
   
ชนเพดาน (๔)
เมื่อการบำเพ็ญถึงทางตัน
ถึงกาลและวันที่หดหู่
ปรับเปลี่ยนอิริยาบถสักครู่
อย่าอยู่อย่างท้อถอยปฏิบัติ
มองธรรมชาติพรรณไม้เบื้องหน้า
มีคู่สนทนาธรรมให้แจ่มชัด
แลกเปลี่ยนวิถีธรรมฝึกหัด
ก็เป็นการชาร์จแบตทางจิต
สว.ธรรมภาวินี ๑๔/๔/๕๖

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ปัญจสัตตติสัจจวิชชภาวินี


ปัญจสัตตติสัจจวิชชภาวินี










ประเมินตนเอง (๑)
ไม่ต้องกล่าวคำมากไป
ว่าตนทรงไว้คุณธรรม (?)
ดูจิตตนที่มีสูงต่ำ
ก็รับทราบตื้นลึกปฏิบัติ
ตรวจสอบจิตเมื่อถูกวาจาจี้
จิตนี้มีสมมติหรือปรมัตถ์
นี่เป็นสมบัติธรรมสัจจ์
พึงบำเพ็ญวัตรต่อไปอีก (เหอะ)
สว.ธรรมภาวินี ๑๔/๔/๕๖




ดีขึ้น (๒)
ขอเพียงตั้งจิตชอบไว้ทุกที่
ไม่หลีกหนีอุปสรรคขัดขวาง
ตั้งใจแน่วแน่ทะลุทะลวง
ก็จะลุล่วงหน้าในธรรม
มีโอนอ่อนผ่อนตามบ้าง
อย่าอยากหวังให้เลิศล้ำ
แค่ดูลมหายใจประจำ
ก็ก้าวข้ามอุปสรรคใดใด
สว.ธรรมภาวินี ๑๔/๔/๕๖

ดูเวทนา (๓)
เวทนามีคุณค่ามหาศาล
สำหรับเราท่านที่สั่งสม
บำเพ็ญธรรมปฏิบัติอบรม
เพาะบ่มถึงเวทนาในเวทนา
ดูเวทนาอย่าให้กลายเป็นเชื้อ
ถูกอุปาทานปนเจือภายหน้า
ลุถึงขั้นเวทนาเป็นขันธเวทนา
จึงชื่อว่าลิ้มรสสัจธรรม
สว.ธรรมภาวินี ๑๔/๔/๕๖




การสื่อสารกับการบริหารอารมณ์แนวพุทธ


การสื่อสารกับการบริหารอารมณ์อย่างมืออาชีพ

ผศ.ดร.สุวิญ  รักสัตย์
www.goodthinkingtraining.com

ความเบื้องต้น
          อารมณ์เป็นเจตสิกที่ชักนำจิตให้เกิดสภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งนอกเหนือจากที่จิตทำงานของมันเอง มาจากภาษาบาลีว่า “อารมณ์” แปลว่า สภาวะที่เกิดกับจิต สภาวะที่จิตยึดเอาไว้ ตามความเข้าใจในสำนวนไทย คำว่า“อารมณ์”คือความรู้สึกที่สื่อให้เห็นถึงความกระเพื่อมของจิตที่แสดงท่าทีออกมา บางทีก็ใช้คำว่า มีอารมณ์ อารมณ์จะมีขึ้นก็ต่อเมื่อถูกการกระตุ้นให้ออกมา เช่นการเห็นภาพเย้ายวนของเพศตรงข้าม ก็จะเกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นมา หรือใครถูกยั่วโมโห ก็จะมีอารมณ์โกรธขึ้นมา หรือใครถูกล่อด้วยเงินทองมาก ๆ ก็เกิดความโลภขึ้นมาด้วยเหตุนี้อารมณ์จึงเป็นเจตสิกที่ปรุงแต่งจิตให้เคลื่อนไหวรุนแรงยิ่งกว่าปกติ


ที่อยู่ของอารมณ์
          ตามปกติอารมณ์จะนอนเนื่องอยู่ภายในถัดลึกลงไปจากความคิดระดับหนึ่ง ความคิดเป็นทางเดินให้อารมณ์ประกอบเข้ามาได้ ตามกระบวนแห่งหลักปฏิจจสมุปบาทในพระพุทธศาสนา อารมณ์จะอยู่ถัดจากการรับรู้ทางอายตนะและผัสสะ การรับรู้ทางอายตนะและผัสสะนั้นเป็นกระบวนการทางจิต เมื่อจิตรับรู้จากอายตนะภายในและอายตนะภายนอก หรืออารมณ์ภายนอกเข้ามากระทบกับอารมณ์ภายในแล้ว ก็จะนำไปสู่ระดับอารมณ์ทันทีถ้าหากอารมณ์นี้ประกอบไปด้วยอิฏฐารมณ์ คือน่าพอใจ ก็จะทำให้อารมณ์แสดงผลออกมาเป็นอารมณ์น่าพอใจ อยากได้ แต่ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอนิฏฐารมณ์ คือสิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์อันไม่น่าพอใจ ก็จะทำให้อารมณ์นั้นไม่น่าพอใจตามไปด้วย อยากไปให้พ้นจากอารมณ์นั้นอารมณ์จึงเป็นขั้นของเวทนาคือความรู้สึกนี่เอง นี่เป็นอารมณ์ปกติธรรมดา ยังไม่แสดงอาการแห่งอารมณ์ในระดับที่เข้มข้นขึ้น


การพัฒนาความคิด

          ก่อนที่จะรู้จักวิธีบริหารอารมณ์ก็ต้องรู้เงื่อนต้นของอารมณ์ก่อน ตามหลักการพัฒนาบุคคลในปัจจุบัน มีการจัดระดับของการพัฒนาอารมณ์ไว้เป็นลำดับที่สอง ได้แก่ การพัฒนาจิต (Mental Development) พัฒนาอารมณ์ (Emotional Development) พัฒนาสังคม (Social Development) และพัฒนาปัญญา (Intellectual Development)ตามหลักการนี้ผู้จะพัฒนาอารมณ์ก็ต้องพัฒนาระดับจิตหรือความคิดก่อน การพัฒนาจิตในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการพัฒนาจิตในระดับ Consciousnessหรือที่เรียกว่าฝึกจิตภาวนาที่ใช้กันตามหลักพระพุทธศาสนาแต่เป็นการพัฒนาจิตที่เป็น Thoughtfulness คือการพัฒนาความคิดให้มีความคิดที่ดี คิดในเชิงบวก (Positive Thinking) เท่านั้นความคิดเชิงบวกเป็นความคิดที่มีวิธีหลากหลาย หนึ่งในวิธีที่ใช้กันมากก็คือ การคิดหาโอกาส การคิดแบบเปรียบเทียบจุดเด่น จุดด้อย แต่ในที่นี้ต้องการให้รู้จักพัฒนาความคิดตามความเข้าใจกระบวนทัศน์ (Paradigm) การรู้จักพัฒนาความคิดนี้ให้ไปถึงระดับที่ ๕ แล้ว การพัฒนาอารมณ์ก็จะง่ายขึ้น
          ความคิด ๕ ระดับ คือ
๑.     ความคิดระดับความลึกลับ (Myth)
๒.     ความคิดระดับศรัทธา (Faith)
๓.     ความคิดระดับทฤษฎี (Bible)
๔.     ความคิดระดับเหตุผลพิสูจน์ได้ (Science)
๕.     ความคิดระดับเข้าใจ (Understanding)

          การพัฒนาความคิดต้องมาถึงระดับความเข้าใจจึงทำให้การพัฒนาอารมณ์ได้ผล เพราะอารมณ์เป็นระดับที่อยู่ต่อเนื่องจากความคิดนี้ ถ้าหากไม่มาถึงระดับที่ ๕ นี้จะก่อให้เกิดอันตรายขึ้น อันเนื่องมาจากการยึดมั่นในความคิดของตนความคิดในระดับที่ ๑ ถึงที่ ๔ นี้ เป็นความคิดที่ยึดมั่นถือมั่นซึ่งทำให้มีนำไปสู่การทำลายกัน ส่วนความคิดในระดับที่ ๕ นั้นไม่นำไปสู่การทำลายกัน ดังแสดงตามแผนผังนี้

ความคิดระดับ๑-๔
ยึดมั่นถือมั่น
 การแบ่งแยก
การแบ่งแยก
 การแข่งขัน
การแข่งขัน
 การไม่ไว้วางใจกัน
การไม่ไว้วางใจกัน
 การทำลายกัน
การทำลายกัน
 ความไม่สงบในสังคม


ความคิดระดับ๕
ไม่ยึดมั่นถือมั่น
 การแบ่งหน้าที่
การแบ่งหน้าที่
 การส่งเสริมกัน
การส่งเสริมกัน
 การไว้วางใจกัน
การไว้วางใจกัน
 การร่วมมือกัน
การร่วมมือกัน
 สันติภาพ


การบริหารหรือพัฒนาอารมณ์

          เมื่อพัฒนาจิตไปถึงระดับที่ ๕ แล้วก็สามารถพัฒนาอารมณ์ได้โดยง่าย เพราะความคิดระดับที่ ๕ นั้นส่งเสริมให้อารมณ์เป็นไปในทิศทางบวก (Positive Thinking)การฝึกบริหารอารมณ์หรือการพัฒนาอารมณ์ตามความเข้าใจที่ใช้กันทั่วไป หมายถึง การรู้จักเก็บอารมณ์ ข่มอารมณ์ การควบคุมอารมณ์ การระงับอารมณ์โดยเฉพาะอารมณ์รัก โลภโกรธ หลง เช่น การฝึกระงับความโกรธ ข่มอารมณ์ทางเพศปล่อยวางอารมณ์หงุดหงิด การฝึกตามแนวทางนี้นั้นเป็นเพียงแค่การใช้ยาระงับอาการเท่านั้น พอยาหมดฤทธิ์อารมณ์ก็มาดั่งเดิม หรือหนักกว่าเดิม อารมณ์เหล่านั้นไม่ได้หายไปไหน อารมณ์ยังคงอยู่ภายใน ยังคงก่อตัวเป็นภูเขาไฟรอวันประทุอยู่ภายในนอกจากนั้นการข่มอารมณ์เช่นนี้มีผลข้างเคียงอีกด้วย เพราะจะทำให้อารมณ์ที่ข่มไว้นั้นไหลไปสู่การปลดปล่อยช่องทางอื่นจะเห็นว่า คนที่เก็บกดทางเพศจะมีอารมณ์ฉุนเฉียวแทน หรือไม่ก็เงียบขรึมแทนหรือไม่ก็ชอบระบายกับผู้อื่น
          การบริหารอารมณ์ที่ถูกต้อง ก็คือ การฝึกเป็นนักสังเกตที่ดี เป็นนักเฝ้าดูที่ดีเท่านั้น โดยมีขั้นตอนดังนี้
           ๑. เฝ้าดูการเกิดขึ้นของอารมณ์
          ๒. รับรู้ถึงอาการของอารมณ์
          ๓. รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงอารมณ์
          ๔. การสังเกตอารมณ์ลักษณะอารมณ์
          ๕. ดูอารมณ์อย่างเดียวไม่ตัดสินใดๆ ทั้งสิ้น

          การฝึกเรียนรู้อารมณ์ เฝ้าสังเกตอารมณ์ เป็นนักเฝ้าดูที่ดีเพียงอย่างเดียว ยิ่งอารมณ์ใดเกิดขึ้นรุนแรง ก็จะยิ่งเห็นอารมณ์นั้นชัดเจน ถือว่าเป็นช่วงโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิต ในชีวิตใครคนหนึ่งจะมีเรื่องหรือมีโอกาสที่จะมีอารมณ์รุนแรงเกิดขึ้นไม่กี่ครั้ง ให้ใช้โอกาสนั้นฝึกฝน อย่าปล่อยโอกาสหลุดไปเป็นอันขาด เมื่อฝึกเฝ้าดู สังเกต เรียนรู้อารมณ์ได้ไวเท่าใด สติที่เฝ้ามองก็เจริญยิ่งขึ้นมากเท่านั้น นี่เป็นการบริหารอารมณ์ที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาอารมณ์แบบผ่าตัด ระดับเปลี่ยนแปลงโมเลกุลทางอารมณ์เลยทีเดียว


การสลายอารมณ์
          หลังจากที่เป็นนักเฝ้าดูที่ดีแล้ว รับรู้ เห็น และเข้าใจอารมณ์แล้ว ยังไม่หมดขั้นตอนเท่านั้น จะต้องเข้าใจวิธีการสลายอารมณ์ด้วย อารมณ์นั้นเป็นกระบวนการทางจิตที่ลึกมาก ถ้าหากไม่มีวิธีสลายก็อาจถูกอารมณ์หวนกลับมาเล่นงานอีกเช่นเคย ดูได้จากบางคนเป็นคนใจเย็น เป็นคนรักษาอารมณ์ได้ดี ที่ทำได้เช่นนั้นก็เพราะไม่เคยได้รับการกระทบอารมณ์ที่รุนแรง มักจะเข้าใจตนเองว่า ตนเองมีอารมณ์ไม่หวั่นไหว รู้ทันได้ แต่เมื่อใดถูกอารมณ์กระทบแรงๆ จึงจะรู้ว่า สติที่มีอยู่นั้นไม่เจริญพอที่จะทันกับอารมณ์ที่เกิดและไม่สามารถสลายอารมณ์ให้กลายเป็นเพียงอาการไปได้ เพราะเมื่อใดยังไม่สลายอารมณ์ เคมีของอารมณ์ที่เป็นพลัง ๓ ประการ ได้แก่ พลังความอยากได้ พลังความอยากมี พลังความอยากเป็น และพลังความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น (กามตัณหาภวตัณหาและวิภวตัณหา) ก็ยังคงครุกรุ่นอยู่ภายใน เป็นเหมือนภูเขาไฟที่เย็นแล้ว แต่ไม่ได้หมายถึงจะไม่ประทุอีก
          เมื่อตรวจสอบดูระดับของอารมณ์ตามมิติทั้ง ๔ แล้ว อารมณ์อยู่ในลำดับที่ ๓ ได้แก่
๑.     ระดับกายภาพ (Body)
๒.     ระดับจิตภาพ (Mind)
๓.     ระดับอารมณ์ (Heart)
๔.     ระดับสภาวธรรม (Soul)
          
เนื่องจากอารมณ์เป็นระดับที่อยู่ใกล้กับฐานสุดท้ายของสภาวธรรม การเลื่อนระดับไปถึงระดับที่ ๔ จึงเข้าถึงระดับสลายอารมณ์ให้เป็นเพียงสภาวธรรม บริหารอย่างไรจึงชื่อว่าบริหารหรือฝึกอารมณ์ได้อย่างถูกต้อง วิธีการก็คือ เข้าไปเฝ้าดู เห็นอารมณ์โดยความเป็นกิริยาอาการเท่านั้นไม่ต้องตัดสิน ไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว มองอย่างเดียว ไม่อะไรในความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่มีสี สัณฐาน ขนาด และรส การเห็นโดยความเป็นเพียงกิริยาเมื่อเห็นโดยความเป็นกิริยา สภาวะแห่งความเป็นกิริยาไม่สามารถนำมาขยายผลได้ ในที่สุดก็สลายไป กลายเป็นความว่างไปในที่สุด การเห็นอารมณ์โดยความเป็นสภาวะอย่างนี้เองเป็นการผ่าตัดอารมณ์ในระดับปรับเปลี่ยน DNA ทำให้ผู้เฝ้าดูไม่หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในกิริยาอาการ เพราะมันเพียงสภาวะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปเท่านั้น ผลแห่งกิริยาเป็นเพียงปฏิกิริยา ไม่ทำให้จิตนำไปสร้างเชื้อเก็บไว้ในภวังคจิตได้อีกต่อไป

สรุป
          อารมณ์เป็นสิ่งที่จะต้องให้ความใส่ใจเป็นอย่างมากสำหรับคนทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงาน การทำงานถ้าหากไม่รู้จักบริหารอารมณ์จะทำให้ชีวิตนี้เกิดปัญหาขึ้นได้ แน่นอนแม้ว่าจะไม่สามารถสลายอารมณ์ในระดับปรับเปลี่ยน DNA เพียงแค่พัฒนาจิตเข้าถึงระดับที่ ๕ ก็นับว่ามาได้ไกลแล้ว แต่ถ้าผู้ใดรู้จักบริหารอารมณ์ที่ถูกต้องได้อีกก็เชื่อได้ว่า ไม่เพียงแต่ทำงานได้อย่างมีความสุขเท่านั้น ชีวิตนี้เข้าถึงเป้าหมายที่สูงสุดแล้วเป็นความสุขสูงสุดในชีวิตที่ไม่กลับกลายมาเป็นความทุกข์อีกด้วย

บทบาทพระพุทธศาสนาในประเทศอาเซียน


บทบาทพระพุทธศาสนาในประเทศอาเซียน
          คำว่า บทบาทของพระพุทธศาสนาในประเทศอาเซียน สามารถแสดงถึงนัยอยู่ ๒ ประเด็นใหญ่ ได้แก่ บทบาทของแต่ละประเทศที่กระทำกันอยู่ในภายในแต่ละประเทศในฐานะที่เป็นสมาชิกอาเซียน ซึ่งก็เป็นปกติของแต่ละประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาที่จะต้องมีข้อวัตรปฏิบัติตามแนวพระพุทธศาสนาทั้งในฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายของคฤหัสถ์ และอีกนัยหนึ่งหมายเอาบทบาทของพระพุทธศาสนาที่จะทำร่วมกันในอนาคตในฐานะที่เป็นประชาคมอาเซียนร่วมกัน บทความนี้มีจุดมุ่งหมายของการยกหัวข้อนี้ขึ้นมาก็คงมีจุดประสงค์เพื่อการมองหาจุดร่วมกันในการผลักดันพระพุทธศาสนาให้เข้าสู่เสาหลักที่ ๓ ของประชาคมอาเซียนที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางสังคมและวัฒนธรรมร่วมกันได้อย่างไร
          ข้อควรทราบเบื้องต้น พระพุทธศาสนาเป็นวัฒนธรรมทางสังคมที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไปสู่ทิศทางที่สมบูรณ์ที่สุด เป็นวัฒนธรรมสำหรับการดำเนินชีวิต (Way of life)  อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ กล่าวไว้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นต้นตำรับวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุด แต่ยังทันสมัยและมีหลักอารยธรรม คือการนำให้พ้นความป่าเถื่อนที่ทำกันอยู่เดิม ไม่ว่าการกีดกันทางวรรณะ การบูชายัญ เป็นต้น วัฒนธรรมพระพุทธศาสนาทั้งปฏิวัติและปฏิรูปสังคมให้ดีขึ้น[1] เช่น ปฏิวัติระบบวรรณะ (Caste System) ไม่ให้ยึดถือการเป็นคนดีไม่ดีอยู่ที่ชาติกำเนิด แต่ให้อยู่ที่การกระทำ ปฏิวัติเรื่องการบูชายัญด้วยการฆ่าสัตว์แล้วได้บุญ แต่ให้บูชายัญด้วยการรักษาศีล ปฏิบัติสมาธิและเจริญปัญญาแทน ปฏิวัติความเชื่อในพรหมลิขิตมาเป็นกรรมลิขิตแทน ปฏิรูปการไหว้ทิศที่ไร้ความหมายมาเป็นทิศที่มีความหมาย เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางพระพุทธศาสนาที่ได้ทำไว้เป็นตัวอย่างในสมัยพุทธกาลและสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน แต่ปัจจุบันเริ่มมีความอ่อนแอทางด้านการเน้นย้ำวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาให้เป็นรูปธรรม
จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนานั้นเป็นรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมที่สามารถพัฒนาคนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ประเสริฐยิ่งกว่าสรรพสัตว์ใด ๆ ได้ ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโ เทวมานุเส ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติจึงชื่อว่าประเสริฐในหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”  พุทธวัฒนธรรมจึงเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่ดีงามและมีคุณค่าเป็นมรดกแห่งสังคมที่ควรรักษา
ในที่นี้จึงขอเสนอกรอบการแสดงบทบาทพระพุทธศาสนาในฐานะรากฐานสำคัญของสังคมและวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศอาเซียนที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็นหลักและที่กำลังได้รับการเผยแผ่เข้าไปสู่ประเทศอื่น ๆ ตามกรอบของวัฒนธรรมทั้ง ๔ ด้าน ได้แก่ กรอบคติธรรม เนติธรรม วัตถุธรรมและสหธรรม โดยมุ่งหมายให้ประชาคมอาเซียนยึดตามกรอบนี้กำหนดบทบาทของพระพุทธศาสนาร่วมกัน ดังนี้
            ๑. บทบาททางด้านคติธรรมในพระพุทธศาสนา   
            “คติธรรม” คือ ความเชื่อที่มีต่อหลักธรรมในพระพุทธศาสนาและต่อหลักความเชื่อ ๔ ประการ จะทำอย่างไรที่จะผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันปฏิบัติกันตามคติธรรมนี้อย่างเป็นรูปธรรม หลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา คือ หัวใจพระพุทธศาสนา ได้แก่ ละความชั่ว (สพฺพปาปสฺส อกรณํ) ทำความดีให้สมบูรณ์ (กุสลสฺสูปสมปทา) และทำจิตใจให้ผ่องใส (สจิตฺตปริโยทปนํ) ส่วนการปฏิบัติตามหลักสัทธาทั้ง ๔ ประการ ได้แก่ หลักความเชื่อในกรรม หรือการกระทำ (กมฺมสทฺธา) หลักความเชื่อในผลของกรรม หรือผลของการกระทำ (วิปากสทฺธา) หลักความเชื่อว่าทุกคนมีกรรมเป็นของของตน (กมฺมสกตฺตาสทฺธา) และหลักความเชื่อที่มีต่อการตรัสรู้พระพุทธเจ้า (ตถาคตโพธิสทฺธา)
            การผลักดันกรอบแห่งคติธรรมข้อนี้ร่วมกันเชื่อว่าจะเป็นหลักพื้นฐานให้สังคมในประชาคมอาเซียนมีความเชื่อที่ถูกต้อง บุคคลจะเป็นเช่นไรก็ด้วยการกระทำของบุคคลผู้นั้นเอง หากทำงานก็ย่อมได้รับผลของงาน หากทำความชั่วก็ย่อมได้รับผลของความชั่วแน่นอนทั้งในระดับภายในและภายนอก ภายในได้แก่ความทุกข์ใจ ภายนอกได้แก่ความเสื่อมจากลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ตามหลักแห่งกรรมในจูฬกัมมวิภังคสูตรว่า “สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับมรดกกรรม มีกรรม เป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้องเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมนั่นแหละจำแนกสัตว์ให้ทรามและดี”[2]
          นอกจากนั้นในการดำเนินชีวิต ควรถือแนวคติของพระโพธิสัตว์ ดังที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๓) เคยปฏิบัติมาแล้ว ทำให้บ้านเมืองสงบร่มเย็น เพราะพระโพธิสัตว์นั้นมีชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ปัดเป่าทุกข์ภัยให้กับผู้อื่น คติธรรมเช่นนี้เข้าได้กับความเชื่อในจิตอาสา ถ้าสามารถสร้างจิตอาสา สร้างคติแห่งพระโพธิสัตว์ในการดำเนินชีวิตย่อมทำให้ภูมิภาคนี้โดดเด่นขึ้นมาในด้านความสุข สงบของสังคมแน่นอน
            ๒. บทบาททางด้านวัตถุธรรมในพระพุทธศาสนา
            ในด้านวัตถุธรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ปติมากรรม จิตรกรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า วัตถุธรรมทางด้านนี้ของพระพุทธศาสนานั้นงดงาม แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมชั้นสูงของสังคมในประเทศอาเซียน จำเป็นต้องกำหนดร่วมกันผลักดันให้พุทธศิลป์ทั้งหมดเหล่านี้ได้รับการศึกษา รักษาไว้ และเผยแผ่ออกไปเพื่อให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ ให้ชาวโลกได้เสพความงดงามทางด้านนี้ พุทธศิลป์ทั้งมวลสร้างขึ้นบนพื้นฐานพุทธปรัชญาเพื่อใช้ศิลปะให้เข้าถึงจริยธรรม เป็นการเติมเต็มความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น บทบาทของประชาคมอาเซียนต้องร่วมมือกันจัดกิจกรรมสื่อวัตถุธรรมให้โดดเด่น ให้เป็นประโยชน์ทุกมิติ ทั้งมิติศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วย
            ๓. บทบาททางด้านเนติธรรมในพระพุทธศาสนา
            หลักเนติธรรม เป็นหลักที่แสดงถึงความเชื่อในกฎเกณฑ์กติกาในสังคม กล่าวได้ว่า เนติธรรมที่เป็นกฎหมายบ้านเมืองนั้นสร้างวัฒนธรรมให้คนกลัวการลงโทษ แต่เนติธรรมที่เป็นความเชื่อทางสังคมนั้นจะทำให้เกิดความกลัวที่มาจากใจ ไม่กล้าทำผิด เป็นการมีหลักหิริและโอตัปปะต่อการกระทำความผิด แม้ไม่มีคนเห็นก็ไม่กล้าทำเนื่องจากเกรงจะเป็นเภทภัยกับตนและครอบครัว การใช้ระบบเนติธรรมที่เรียกว่า การขัดเกลาทางสังคม (Socialization)[3] นั้นมีความยั่งยืนและแน่นอนกว่าการบีบบังคับ
เนติธรรมตามหลักแนวของพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่บนพื้นฐานของศีล ๕ คือ การไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ ไม่ผิดประเวณีโดยการครอบครองของรักของหวงของผู้อื่น ไม่พูดกลับกลอกหลอกลวง และไม่ดื่มน้ำเมาและสิ่งเสพติดที่ทำให้เป็นที่มาของความประมาท และตั้งอยู่บนพื้นฐานของธรรม ๕ คือ ความมีเมตตากรุณา การรู้จักเสียสละ การยินดีในภรรยาของตน การมีสัจจะรักษาคำพูด และการมีสติสัมปชัญญะ ประชาคมอาเซียนที่นับถือพระพุทธศาสนาจะต้องผลักดันให้ประชาชนในแต่ละประเทศของตนยึดถือเนติธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างสังคมคมดี คนดี สร้างสังคมสันติ ไม่ละเมิดทางทั้งกาย วาจา และใจต่อผู้อื่น และสร้างสังคมเสมอภาค กล่าวคือ มนุษย์ทุกคนย่อมได้รับผลกรรมที่ตนได้กระทำไว้ไม่ว่าดีหรือชั่วก็ตามดังคำสอนในพระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า ถ้าท่านกลัวทุกข์ก็อย่าทำกรรมชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ถ้าท่านจักทำ หรือทำอยู่ซึ่งกรรมชั่ว ถึงแม้จะเหาะหนีไปก็จะไม่พ้นจากความทุกข์ไปได้เลย[4] เบื้องต้นให้ทำเป็นโครงการนำร่องปฏิบัติในแต่พื้นที่หรือแต่ละโซน (zoning) เป็นลำดับโดยให้แต่ละประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันบทบาทด้านนี้ประสบความสำเร็จตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้กลายเป็นบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและสามารถเชื่อมโยงหลักศีลธรรมนี้ในการพัฒนาสังคมให้สงบสุขได้
            ๔. บทบาททางด้านสหธรรมในพระพุทธศาสนา
                    สหธรรม (Social Cultural) เป็นวัฒนธรรมทางสังคมในด้านการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันตามหน้าที่ และสถานะทางสังคม เช่น หน้าที่ระหว่างมารดาบิดากับบุตรธิดา ครูอาจารย์กับศิษย์ สามีกับภรรยา มิตรกับมิตร นายกับบ่าว และสมณพราหมณ์กับฆราวาส เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีเรื่องการอยู่ร่วมกัน การปฏิบัติร่วมกัน ความเอื้อเฟื้อ การเดิน การยืน และการรับประทานอาหาร ความเคารพ ความอ่อนน้อม การใช้ภาษา กริยามารยาทที่มีต่อกันและกันในสังคม[5] บทบาทในด้านนี้ควรเริ่มที่ภาษา ควรผลักดันให้มีการศึกษาภาษาบาลีในคัมภีร์ให้เป็นรูปธรรมร่วมกัน นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการใช้ภาษาที่มีรากฐานเดียวกันอีกด้วย เพราะให้เกิดความเข้าใจในสายใยร่วมกันที่เชื่อมโยงทางด้านภาษา
          นอกจากนั้นปัจจุบันกำลังจะมีการสร้างธนาคารพระพุทธศาสนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำนุ บำรุงพระพุทธศาสนาเป็นหลัก และเป็นองค์กรทางการเงินร่วมกันในการสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาทุกด้านให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา สถาบันการเงินทางพระพุทธศาสนาขนาดใหญ่อย่างนี้จะเป็นการเชื่อมประสานการเงินระหว่างประชาคมอาเซียนเพื่อกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะก็ยิ่งทำให้บทบาททางด้านสหธรรมเด่นชัดเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
(อ่านต่อในบทความวิชาการบัณฑิตวิทยาลัย มมร)


            [1]สุชีพ ปุญญานุภาพ, วัฒนธรรมวิทยา, พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย. ๒๕๔๐), หน้า ๘๖.
[2]ม.อุปริ. ๑๔/๒๙๐/๓๕๐. (ไทย)
[3]คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สังคมและวัฒนธรรม, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๕), หน้า ๖๙.
[4]ขุ.อุ. ๒๕/๑๑๕/๑๕๐.
[5]จำนงค์  ทองประเสริฐ, ราชบัณฑิต, วัฒนธรรมไทย ภาษาไทย, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๗), หน้า ๓๘.