วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ฝึกอารมณ์





โศลกที่เจ็ด ฝึกอารมณ์
คำว่า “ฝึกอารมณ์” เป็นคำที่ต้องตระหนัก
เพราะหมายถึงทุกย่างก้าวต้องเป็นการฝึก
มีแต่ผู้ฝึกเท่านั้น
จึงจะเหมาะสมกับการลงสนามต่อสู้
ผู้ไม่ฝึกไหนเลยจะมีพลัง
ฝ่าฟันแรงปะทะได้
ผลของการฝึกอย่างต่อเนื่อง
จะแสดงพฤติออกมาได้เองในยามปกติ



อารมณ์เป็นอาการที่ประกอบกับจิต เป็นสภาวะที่ชักนำจิตให้เกิดสภาพอย่างใดอย่างหนึ่งนอกเหนือจากที่จิตทำงานของมันเอง ยิ่งถ้าใช้คำว่า “มีอารมณ์” ความหมายก็จะยิ่งเฉพาะเข้าไปอีก โดยเฉพาะความหมายตามภาษาไทย คำว่ามีอารมณ์คำเดียวนี้สื่อให้เห็นถึงความกระเพื่อมของจิตที่แสดงท่าทีออกมา พอฟังคำนี้ก็จะนึกไปถึงการได้เห็นภาพโป๊ ภาพเย้ายวนของเพศตรงกันข้ามแล้วมีอาการทางเพศขึ้นมา หรือแม้แต่มีใครมายั่วโมโห ก็จะมีอารมณ์ขึ้นมาได้ ด้วยเหตุนี้อารมณ์จึงเป็นเจตสิกที่ปรุงแต่งจิตให้เคลื่อนไหวรุนแรงยิ่งกว่าปกติ



อารมณ์จึงเป็นสภาวะที่ลึกลงไปอีกหนึ่งระดับ ถัดจากความคิดที่ปกติก็มีอยู่แล้ว ความคิดเป็นทางเดินให้อารมณ์ประกอบได้จะเห็นได้จากกระบวนการทางปฏิจสมุปบาท อารมณ์จะอยู่ถัดจากการรับรู้ทางอายตนะและผัสสะ การรับรู้ทางอายตนะและผัสสะนั้นเป็นกระบวนการทางจิต แต่เมื่อจิตได้รับรู้จากอายตนะภายในและอายตนะภายนอก อันที่จริงอายตนะภายนอกในที่นี้ถ้าหากเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ อารมณ์ภายนอก ที่จะทำให้เกิดการกระทบนั่นเอง ถ้าหากอารมณ์ภายนอกนี้ประกอบไปด้วยอิฏฐารมณ์ คือน่าพอใจ ก็จะทำให้อารมณ์แสดงผลออกมาเป็นอารมณ์น่าพอใจ แต่ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอนิฏฐารมณ์ คือสิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์อันไม่น่าพอใจ ก็จะทำให้อารมณ์นั้นไม่น่าพอใจตามไปด้วย เพราะในส่วนของอารมณ์จริงๆ แล้วจะอยู่ที่ระดับเวทนา คือความรู้สึกนี่เอง อารมณ์ในที่นี้จึงลึกลงภายในอีกระดับหนึ่งถัดความระดับความคิด



ปัจจุบันจึงมีการจัดระดับของการพัฒนาบุคคลไว้ โดยจัดระดับการพัฒนาอารมณ์ไว้ลำดับที่สองเช่นกัน ได้แก่

การพัฒนาจิต (Mental Development)
พัฒนาอารมณ์ (Emotional Development)
พัฒนาสังคม (Social Development)
และพัฒนาปัญญา (Intellectual Development)
เมื่อดูตามลักษณะของระดับการพัฒนาจึงเห็นว่า อารมณ์อยู่ระดับที่ ๒ ถัดจากจิต ความหมายของการพัฒนาจิตในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการพัฒนาจิตที่เป็น Consciousness แต่เป็นจิตที่เป็น Thoughtfulness ด้วยเหตุนี้การพัฒนาจิตก็คือการพัฒนาความคิดให้เป็นสัมมาทิฏฐิ หรือพัฒนาจิตให้มีความคิดที่ดี คิดในเชิงบวก (Positive Thinking) เท่านั้น



โศลกว่า “ฝึกอารมณ์” การฝึกอารมณ์หรือการพัฒนาอารมณ์ตามความหมายที่ใช้กันในทางโลกนั้นมีความหมายว่า การฝึกข่มอารมณ์ การควบคุมอารมณ์ การระงับอารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์โลภและใคร่ อารมณ์โกรธ และอารมณ์หลง สมมติมีการนำเสนอภาพโป๊ ภาพร่วมเพศเย้ายวนให้เห็น ต้องฝึกข่มอารมณ์นั้นไม่ให้แสดงออกมา เมื่อฝึกบ่อยๆ ก็จะเกิดความชำนาญในการระงับความต้องการได้ แต่ไม่มีใครทราบว่า การข่มเช่นนี้มีผลข้างเคียงได้ เพราะจะทำให้อารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไหลไปสู่ช่องทางอื่นให้อารมณ์ได้ปลดปล่อย จะเห็นว่า คนที่เก็บกดทางเพศจะมีอารมณ์ฉุนเฉียวแทน หรือไม่ก็เงียบขรึมแทน


การฝึกอารมณ์ หรือการนำอารมณ์เข้ามาภาวนา ในความหมายทางธรรม ก็คือ การฝึกรู้เท่าทันอารมณ์ การฝึกเฝ้าดูอารมณ์ การฝึกสังเกตอารมณ์ การฝึกเรียนรู้อารมณ์ ยิ่งอารมณ์ใดกล้าแข็ง ก็จะยิ่งชัดเจนในการฝึก เมื่อฝึกได้ก็จะยิ่งพัฒนายิ่งขึ้น เพราะการรู้เท่าทันอารมณ์ที่กล้าจะทำให้สตินั้นกล้าตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้บางคนไม่เคยได้รับการกระทบที่รุนแรงเลยก็เข้าใจตนเองว่า ตนมีอารมณ์ไม่หวั่นไหว รู้ทันได้ แต่เมื่อใดถูกกระทบแรงๆ จึงจะรู้ว่า สติที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอที่จะทันและสลายอารมณ์ให้กลายเป็นเพียงอาการของอารมณ์ ไม่มีตัวอารมณ์ เพราะเมื่อใดไม่มีตัวอารมณ์ ผลทางเคมีของอารมณ์ก็ไม่สามารถผ่านจุดนี้ไปได้ กามตัณหา ภวตัณหาและวิภวตัณหา ก็ไม่มีเชื้อให้ได้ทำงานต่อไป

การฝึกอารมณ์ไม่ใช่ฝึกเฉพาะตอนที่นั่งสมาธิเท่านั้น ทุกย่างก้าวก็ต้องฝึก การฝึกทุกจังหวะที่ดำเนินชีวิตจะทำให้สติได้ทำงานอย่างสม่ำเสมอ สติจะพัฒนากล้าแข็งขึ้น สติที่พัฒนากล้าแข็งย่อมทำให้การฝึกอารมณ์เจริญก้าวหน้า พัฒนาได้โดยไว การที่อยู่ในช่วงของการฝึกก็ต้องฝึกตลอด ขึ้นชื่อว่า การฝึกแสดงให้เห็นว่า ทุกขณะของการเคลื่อนไหวนั้นเป็นการฝึก ผู้ฝึกฝนอารมณ์ตนในทุกขณะที่เข้าสู่กระบวนการฝึกเฝ้าดูอย่างไม่กระพริบตาในทุกข้อต่อของระบบอิทัปปัจจยตา ไม่ว่า อะไรที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ก็เห็น ก็รู้ ก็เข้าใจ เนื่องจากระดับอารมณ์เป็นระดับที่อยู่ใกล้กับจุดสุดท้ายของสภาวธรรมทั้งมวล

ถ้าหากได้ฝึกอย่างถูกต้องก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการเข้าถึงธรรม เมื่อพิจารณาอารมณ์ในระบบอานาปานสติ ระดับของอารมณ์อยู่ระดับที่สาม แต่ตัวของอารมณ์อยู่ในขั้นที่สอง ระดับที่สามของอารมณ์ก็คือ การกำหนดเห็นอาการของอารมณ์ที่ไม่มีความเป็นนาม แต่เห็นโดยความเป็นกิริยา การเห็นอารมณ์โดยความเป็นนาม ก็คือการเห็นสี ขนาด สัณฐาน รส แต่ถ้าเป็นการเห็นโดยความเป็นกิริยา ก็คือการเห็นเพียงอาการที่เป็นอารมณ์เท่านั้น การเห็นโดยความเป็นเพียงกิริยานี้ใกล้ต่อความว่าง เพราะลึกลงไปอีกระดับหนึ่งก็จะกลายเป็นเพียงความว่าง

โศลกว่า “ผู้ไม่ฝึกไหนเลยจะมีพลัง ฝ่าฟันแรงปะทะได้” เมื่อใดก็ตามใช้สติกำหนดเห็นอารมณ์นั้นเป็นเพียงกิริยา ระดับของอารมณ์คือระดับที่ปรุงแต่งจิต เมื่อเห็นการสิ่งที่ปรุงแต่งจิตเป็นเพียงกิริยาอาการเท่านั้น ไม่ได้เป็นนาม คือ เป็นตัวของอารมณ์ สภาวะแห่งความเป็นกิริยาไม่สามารถนำมาขยายผลได้ ในที่สุดก็สลายไป กลายเป็นความว่างไปในที่สุด รักษาสภาวะแห่งความว่างนั้นไว้เพื่อนำไปพิจารณาอีกขั้นตอนหนึ่ง ก็จะเข้าใจสภาวะที่ปรากฏทั้งหมดด้วยปัญญาที่เกิดขึ้นจากนี้

ผู้ที่ฝึกเช่นนี้สติจะมีพลัง ทำให้กระบวนการแห่งอินทรีย์แปลผลเป็นพลังขึ้นมาทันที เมื่ออินทรีย์เปลี่ยนเป็นพลังก็สามารถเข้าสู่ทุกสนามรบจริงได้ ไม่ว่าจะเป็นสนามไหนๆ ไม่ว่า จะเป็นสนามที่เต็มไปด้วยกองกำลังโลภะ กองกำลังราคะ กองกำลังโทสะ หรือกองกำลังโมหะ ล้วนแล้วแต่ไม่อาจผ่านด่านแห่งการย่อยสลายให้กลายเป็นเพียงกิริยาได้ เพราะผู้ที่ฝึกขุนพลทั้ง ๔ ได้แก่ ความเชื่อมั่น (สัทธา) ความต่อเนื่อง (วิริยะ) ความแน่วแน่ (สมาธิ) และความรอบรู้ (ปัญญา) โดยมี สติ คือ ความตื่นตัว ความเป็นแม่ทัพ ย่อมสามารถสลายกองกำลังเหล่านั้นให้เหลือแต่เพียงกิริยา ไม่มีเชื้อที่จะกลายเป็นตัวขึ้นมาได้ ผู้ที่มีกำลังทั้ง ๕ นี้ย่อมสามารถต้านและทนต่อแรงปะทะได้ทุกทิศทาง ทุกสนามรบ เคลื่อนไปข้างหน้าได้ ไม่ท้อถอย

โศลกว่า “ผลของการฝึกอย่างต่อเนื่อง จะแสดงพฤติออกมาได้เองในยามปกติ” การกระทำใดก็ตามหากกระทำได้ดุจเดียวกับที่ฝึกฝนในสนามฝึก จนกลายเป็นความชำนาญ ช่ำชอง เชี่ยวชาญ ระหว่างการฝึกเป็นอย่างไร นอกสนามฝึกก็เป็นเช่นนั้น เมื่อถึงบัดนี้ผลของการปฏิบัติสื่อออกมาเอง จนบุคคลนั้นแทบไม่เชื่อว่า ผลของการฝึกฝนนั้นช่างน่าอัศจรรย์แท้

ตัวอย่างของเรื่องนี้มีอยู่ว่า เด็กชายผู้อ่อนแอคนหนึ่ง เขาตกเป็นที่ระบายของหัวหน้าแก๊งเด็กในหมู่บ้าน ไม่ว่าเขาจะทำอะไร หรือไม่ทำอะไร ก็ล้วนแต่ถูกเด็กหัวโจกคนนั้นรังแกอยู่เสมอ อยู่มาวันหนึ่งเด็กชายผู้อ่อนแอคนนี้คิดได้ว่า ขืนอยู่ต่อไปอย่างนี้ก็มีแต่ถูกรังแกอยู่ร่ำไป จึงได้แอบหนีไปฝึกฝีมืออยู่ที่สำนักแห่งหนึ่งในหมู่บ้านอื่น สิ่งที่เป็นหน้าที่ของการฝึกของเด็กชายผู้นี้ทุกวันก็คือ การกระชากโซ่เส้นหนึ่ง ในวันแรกๆ เขานึกว่าเป็นท่าเบื้องต้นในการฝึกฝน วันเวลาผ่านไปนานนับปี อาจารย์ก็ยังคงให้เขาทำอยู่อย่างนั้น ไม่ได้เปลี่ยนท่าทาง หรือให้แม่ไม้ลายมือท่าอื่นใดอีกเลย เด็กคนนี้คิดว่า สงสัยไม่ได้เรื่องเสียแล้วในการฝึกของตนที่นี่ก็เลยลาอาจารย์กลับหมู่บ้านของตน


ทันทีที่เด็กชายผู้อ่อนแอคนนี้เดินเข้าไปสู่หมู่บ้านเดิมของตน พวกเด็กๆ ที่เคยรังแกเขา พอเห็นเขาเดินมาเช่นนั้นก็ปรี่เข้ามาเพื่อที่จะรังแก เขกกระบาลเขาเหมือนเช่นเคย ด้วยอารามเคยชินกับการกระชากโซ่นานนับปี เด็กชายผู้อ่อนแอคนนี้ก็เลยจับแขนหัวหน้าแก้งเด็กเกเรที่ยื่นมือมาหมายเขกกระบาลเขาแล้วกระชากอย่างแรง ผลแห่งการกระทำเช่นนั้น แขนของเด็กคนนั้นก็หลุดจากไหล่ทันที พวกเด็กคนอื่นๆ เห็นเช่นนั้นต่างผวาแตกตื่นวิ่งหนีกันอลม่าน เด็กชายผู้อ่อนแอคนนั้นเห็นผลประจักษ์สายตาตนเองทันทีว่า การฝึกฝนกระชากโซ่ของตนนั้นไม่ได้เป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์ หรือไม่มีค่าต่อการฝึกฝนอย่างใด แต่กลับมีผลอันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เพียงแค่กระชากทีเดียว ไม่ได้ออกแรงมากนักด้วยซ้ำยังทำให้แขนของคนที่จะทำร้ายเขาหลุดได้เช่นนี้ นึกแล้วก็รู้สึกซึ้งน้ำใจต่ออาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาที่ง่ายๆ แต่มีพลังมากมาย

การฝึกที่สม่ำเสมอ ฝึกทุกย่างก้าว ไม่ปล่อยวางละทิ้งให้สิ้นเวลาโดยเปล่าประโยชน์ แม้ในยามฝึกฝนอาจรู้สึกอึดอัดขัดข้อง ไม่เห็นประโยชน์ในการฝึก แต่ก็ยินยอมฝึกไปอย่างไม่ลดละ ฝึกไปอย่างต่อเนื่อง ฝึกอารมณ์ที่เป็นตัวอารมณ์ให้เหลือเพียงอาการของอารมณ์เท่านั้น ผลหลังจากการฝึกฝนย่อมอัศจรรย์จนแทบไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะมีสถานการณ์ใดเกิดขึ้นกระทบระดับไหน ก็สามารถสงบระงับได้ เพราะสิ่งที่กระทบไม่ได้มีตัวอารมณ์เข้ามาสู่ความรู้สึก แต่เป็นเพียงกิริยาที่ถูกพลังแห่งอินทรีย์ทั้ง ๕ ย่อยสลายไปให้เหลือเพียงอาการ ผลแห่งอาการไม่สามารถเข้าไปสู่ความรู้สึกที่เรียกว่า เวทนา จนกลายเป็นตัณหา และยึดมั่นถือมั่นได้ ทุกอย่างมีแต่อาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเท่านั้น


นี่คือ โศลกที่เจ็ดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา