วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โศลกที่ ๓๗ กายซ้อนกาย


โศลกที่ ๓๗ กายซ้อนกาย






กายหยาบกดทับกายละเอียด
กายเนื้อซ้อนกายสภาวะ
เหลื่อมกันอยู่คนละระดับ
ในขณะปฏิบัตินั่งสงบนิ่ง
เริ่มกระบวนการประสานกาย
มีลมหายใจเป็นเครื่องมือ
มีกำหนดรู้เป็นวิธีการ
มีสติเป็นตัวเฝ้าระวัง
เชื่อมจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน
สุดท้ายไม่เหลือกายใดอีก
เมื่อนั้นแรงกดทับก็หายไป
เวทนาทางกายก็คลายลง
สมาธิดิ่งดำรงอยู่ต่อเนื่อง




มีผู้คนจำนวนมากที่ไม่ทราบความพิสดารระหว่างกายกับจิต ทราบแต่เพียงจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว ทราบแต่ว่า เมื่อจิตต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร กายต้องปฏิบัติตาม แม้กายอ่อนเพลียง่วงนอน แต่จิตบอกยังนอนไม่ได้ แม้กายหิวท้องร้อง จิตบอกยังไม่ถึงเวลา แม้กายบอกอิ่มแล้ว แต่จิตก็บอกว่า กินเอาน้ำใจเพื่อนหน่อยนะ นี่แหละคือการปฏิบัติต่อกายอย่างบีบบังคับ เป็นการข่มขืนกายอย่างแท้จริง ไม่ได้ให้เกียรติกายเลย
กายเป็นที่อยู่ของใจที่ปลอดภัยที่สุด เป็นวัดของใจที่ซื่อสัตย์ที่สุด เมื่อเราปฏิบัติต่อวัดจริง ๆ เป็นดั่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างไร ก็ควรปฏิบัติต่อกายอย่างนั้น กายนี้เที่ยงตรง ชัดเจน มีระบบ ระเบียบ มีมาตรฐาน มีเกราะป้องกันให้ใจอยู่ได้อย่างอบอุ่น ขอเพียงทำความเข้าใจร่างกายให้ดี ดุจดังหนุ่มสาวที่รักกันอย่างลึกซึ้งเข้าใจกันและกัน ปฏิบัติต่อกันและกันอย่างทะนุถนอม ทั้งกายและจิตก็จะโอบอุ้มคุ้มครองกันและกันอย่างดี
การเข้าใจกายและใจ การปฏิบัติต่อกายอย่างถูกวิธี ไม่เพียงเฉพาะทำให้การดำรงชีวิตทั่วไปมีประสิทธิภาพเท่านั้น แม้ในยามปฏิบัติธรรมก็ส่งเสริมการปฏิบัติให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นด้วย ในยามที่ปฏิบัติบำเพ็ญเพียรสมณธรรม ยิ่งต้องเข้าใจระบบของกายให้มากกว่าเดิมขึ้นไปอีก เบื้องต้นต้องอาศัยกายเป็นฐานแรกในการจะหยั่งเข้าสู่ฐานอื่น ๆ ถ้าหากฐานแรก หรือสภาพร่างกายไม่พร้อม ไม่สมบูรณ์ ฐานนี้ก็จะรบกวนให้ฐานอื่น ๆ ไม่อาจดำเนินต่อไปได้ หรือดำเนินไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร คำว่า “ร่างกายไม่พร้อม” บางครั้งไม่ได้หมายถึงเป็นโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน หรือไม่ได้หมายถึงอุปสรรคอันไม่สัปปายะทั้งหลายรบกวนเท่านั้น แต่หมายถึงในขณะที่ปฏิบัตินั้นเกิดเวทนากล้าจนไม่อาจปฏิบัติต่อไปได้ ผู้ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนาทั้งหลาย มีจำนวนมากไม่อาจผ่านด่านนี้ไปได้ นั่นก็เพราะไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เหตุใดนั่งเล่นไพ่ทั้งคืนนั่งได้ แต่นั่งสมาธิ ๒๐ นาทีไม่ได้
โศลกว่า “ในขณะปฏิบัตินั่งสงบนิ่ง เริ่มกระบวนการประสานกาย” มีบุคคล ๒ ประเภทโดยส่วนมากปฏิบัติต่อกายอย่างนี้
ประเภทที่ ๑ ประเภทยินยอมตามใจ ใจสั่งอะไรก็ทำตามนั้น ไม่ขัดขืน เช่น หากมีอาการเหน็บชา มีอาการปวดเท้า เข่า ขา ก้น ไหล่ ตา หรือกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ใจจะบอกว่า กายเจ้าทำให้ข้าลำบากแล้วนะ ขยับปรับเปลี่ยนเถอะแล้วจะสบาย ผู้ปฏิบัติโดยมากก็ขยับปรับเปลี่ยนท่าทางเพื่อคลายความเจ็บปวดเวทนานั้นเสีย บางคนให้เหตุผลน่าฟังว่า การปฏิบัติธรรมไม่ใช่อยู่ที่นั่งนานหรอก ขยับเถอะ ไม่งั้นเป็นการทรมานตนนะ ไม่ใช่ทางสายกลาง ในที่สุดก็ต้องยอมทำตามใจ
ประเภทที่ ๒ ประเภทบีบบังคับกาย ประเภทนี้ก็เหมือนบางศาสนาที่ชอบทรมานกายให้ได้รับเวทนา ด้วยมุ่งหมายว่า เมื่อกายได้รับเวทนาแล้วใจก็จะถูกทรมานตามไปด้วย โยคีแต่กาลก่อนชอบใช้วิธีนี้ เพื่อต้องการเอาชนะกาย บีบบังคับกายไม่ให้ขยับเขยื้อน เป็นพวกนั่งมาราธอน ยืนมาราธอน นอนมาราธอน เป็นพวกแสดงท่านั้น ๆ ได้นาน ทนทำได้นาน เพื่อนำไปบันทึกสถิติลงในยีเนียสบุ๊ค (Genius Book) หรือไม่ก็เพื่อให้ได้รับการยอมรับนับถือ หรือไม่ก็ภูมิใจในการนั่งได้นานของตน  
ผู้ปฏิบัติต่อกายทั้ง ๒ ประเภทนี้ ชื่อว่าตกลงสู่ขั้วทั้ง ๒ ทั้งนั้น คือ พวกขั้วบวก (Positive Side) พวกขั้วลบ (Negative Side) บุคคลทั้ง ๒ พวกนี้โดยสาระแล้วไม่ได้แตกต่างอะไรกัน ก็เป็นพวกข่มขืนกายให้ทำตามทั้งนั้น พวกหนึ่งยินยอมทำตามใจ ไม่ให้ใจลำบากเพราะกายเป็นเหตุ อีกพวกหนึ่งทรมานกายตามใจต้องการ
การปฏิบัติที่ถูกตามแนวพระพุทธศาสนาไม่ใช่ทั้ง ๒ แนวทางดังกล่าว ไม่ใช่ทั้งทำตามหรือขัดขืน แต่เป็นการเฝ้าดู (Watchfulness) การเฝ้าดูไม่ตกอยู่ในเกมของจิต เป็นการออกจากเกมของจิต แต่เป็นกระบวนการเล่นเกมกับจิต หากอยู่ในเกมของจิต ก็จะถูกจิตปั่นให้ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ตามที่จิตปรารถนาตลอดเวลา พออย่างนี้รู้สึกไม่ไหวก็ไหลไปอย่างนั้น พอขั้วนั้นไม่เป็นไปดั่งที่ใจคาดคิดก็หันไปใช้ขั้วโน้น สลับไปมาระหว่างยินดี ไม่ยินดี เป็นอยู่อย่างนั้นไม่สิ้นสุด แนวทางในที่นี้ต้องดึงมาสู่การเล่นเกมกับจิต นั่นคือ เกมเฝ้าดู นี่เป็นกระบวนการวิปัสสนา มีสติเป็นพระเอก สติจะเป็นผู้ควบคุมให้จิตอยู่ในเกมเอง เมื่อนั้นจิตจะไม่สามารถบงการอะไรได้อีก เพราะสติไม่มียินดี ยินร้าย ดีใจ เสียใจ เป็นสุข เป็นทุกข์ มีแต่เฝ้าดู เฝ้าดูจนรู้แจ้ง (วิปัสสนา) เท่านั้น
เมื่อเฝ้าดูจนถึงระดับหนึ่ง ระดับที่เวทนาปรากฏชัดอันเนื่องจากกาย พระโยคาวจรย่อมพบว่า กายนี้ประกอบด้วยรูปกายและสภาวะกายซ้อนอยู่ หากรูปกายกับสภาวะกายยังไม่ประสานกันได้ดี ยังเหลื่อมกันมาก กล่าวคือ รูปกายก็ยังคงเป็นรูปกายตราบใด หรือยังเป็นกายหยาบชัดเจนอยู่ตราบใด ตราบนั้นก็ยังคงต้องถูกแรงกัดทับจากแรงโน้มถ่วงของโลกตราบนั้น ย่อมเกิดอาการชา อาการปวด อาการร้อน อาการแข้งขาก้นจะระเบิด แต่เมื่อใช้ลมหายใจประสาน ใช้วิธีการเฝ้าดู กายหยาบจะค่อย ๆ สลายไป จะเหลือแต่กายสภาวะ กายสภาวะจะเข้ามาทับซ้อนแทนเข้าไปในกายหยาบหรือกายลักษณะ เมื่อนั้นแรงกดทับจะเบาลง ๆ เบาจนกระทั่งแรงกดทับหายไปเนื่องจากกายสภาวะไม่ตกอยู่ในแรงโน้มถ่วงของโลกอีกต่อไป
โศลกว่า “สุดท้ายไม่เหลือกายใดอีก เมื่อนั้นแรงกดทับก็หายไปการแบ่งกายอีกลักษณะหนึ่งก็คือ กายเนื้อ กายลม และกายสังขาร เมื่อใดที่กายเนื้อกลายเป็นกายลมและเป็นเพียงกายสังขาร เมื่อนั้นย่อมพ้นจากการบีบคั้นจากแรงโน้นถ่วงของโลก ในขณะที่ปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรสมณธรรมเริ่มต้นนั้นกายนี้ยังคงรูปเป็นกายเนื้ออยู่เต็มที่ เป็นกายที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการ ทุกอย่างยังมีรูปลักษณ์ สัณฐาน มีความหยาบอยู่ ยังเห็นเป็นแข้ง ขา มือ เท้า เข่า ก้น อย่างชัดเจน ทั้งหมดนี้อยู่ในระดับรูปกาย แต่พอกาลเวลาผ่านไป กระบวนการเริ่มทำงาน กล่าวคือ การกำหนดรู้ลมหายใจ สั้น ยาว เข้า ออก เมื่อนั้นกายลมย่อมปรากฏขึ้น กายที่เหลืออยู่มีแต่ลมหายใจสั้นยาวเข้า ออก เท่านั้น ชั่วขณะนี้นั้นอยู่ในขั้นปรับเปลี่ยนจากกายเนื้อ ผ่านกายลมเข้าสู่กายสังขาร ภาวะระหว่างกายเนื้อไปสู่กายสังขารนี้จะมีอาการเผชิญกับเวทนากล้าต่าง ๆ นานา
จวบจนกระทั่งกายลมได้ปรับสมดุลเรียบร้อยแล้วจึงเข้าถึงกายสังขาร กายสังขารในที่นี้จะไม่เหลือกายใดอีก เป็นแต่สภาวะกาย เป็นแต่กายสภาวะเท่านั้น ไม่เหลือสิ่งใดที่เป็นรูปให้ได้ถูกบีบคั้นอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้พระโยคาวจรทั้งหลายจึงสามารถข้ามพ้นแรงบีบคั้นจากโลกได้ ล่วงอาการเจ็บปวดเวทนากล้าจากกายได้ การดำรงอยู่ในอริยะวิหารธรรมก็ดี (เข้าฌาน) การฝึกปฏิบัติเป็นเวลานาน (บัลลังก์) ก็ดี จึงสามารถทำได้อย่างไม่มีปัญหาใด ๆ ไม่เหลือรูปกายให้ถูกบีบคั้นอีก
พระโยคาวจรผู้รู้จักวิธีการผ่านระบบการก้าวล่วงแรงโน้มถ่วงของโลก เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านระหว่างกายเนื้อ เข้าสู่กายลม เข้าถึงกายสังขารได้โดยไว ย่อมไม่ลำบากต่อการเผชิญแรงโน้มถ่วงนั้นอีก ร่างกายนี้ก็ดี กระบวนการก็ดี วิธีการก็ดี ผู้เฝ้าดูก็ดี เมื่อได้เข้าสู่ระบบทำงานประสานกันและกันดีแล้ว ก็ก้าวข้ามพ้นเวทนาอันกล้านั้นไปได้โดยง่าย ดุจนักขี่จักรยานล้อเดียวแสดงกายกรรม เขายืนบนล้อจักรยานล้อเดียว ปล่อยมือ เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เดินหน้า ถอยหลัง ทำได้ดั่งใจ ไม่ยากลำบากฉันใด พระโยคาวจรที่รู้จักวิธีก็ฉันนั้น
อีกประการหนึ่ง ในขณะปฏิบัติบำเพ็ญเพียรสมณธรรมอยู่นั้น สภาพภายนอกกับสภาพภายในยังไม่เสมอกัน เบื้องต้น สภาพภายนอกกำลังเย็น เพราะผู้ปฏิบัติกำลังนั่งสงบปฏิบัติอยู่ แต่สภาพภายในจิตนั้นยังคงร้อนอันเกิดจากกองไฟที่สุม ได้แก่ ไฟราคะ ไฟโทสะ และไฟโมหะ การที่ใช้น้ำเย็น คือ สมาธิ รดไฟให้เย็นลงนั้นย่อมเป็นเรื่องลำบากอยู่บ้างในตอนเริ่มต้น ย่อมมีการต่อต้าน ขัดขืน ย่อมมีความกระวนกระวาย เพราะไฟเหล่านั้นกำลังแสดงอาการออกมา แต่เมื่อใดปฏิบัติมากขึ้น รดน้ำสมาธิมากขึ้น ไฟภายในเริ่มลดระดับความร้อนลง ก็จะเริ่มมีความเสมอกันระหว่างสภาพภายในกับภายนอก เมื่อนั้นก็เกิดความสงบในการปฏิบัติบำเพ็ญต่อไป  
โศลกว่า “เวทนาทางกายก็คลายลง สมาธิดิ่งดำรงอยู่ต่อเนื่องเวทนาอยู่ได้ก็เพราะอาศัยกายนี้ดำรงอยู่ เมื่อกายเนื้อสลายไป เวทนาก็ไม่มีที่ให้อยู่อีก ไม่มีสัณฐานให้ได้อาศัยอีก เวทนาก็หายไป เหลือแต่สภาวะเวทนา ไม่ใช่เวทนาอันเนื่องด้วยกาย แต่เป็นเวทนาอันเนื่องด้วยจิต เวทนาที่เนื่องด้วยกายนั้นเกิดเพราะยังมีรูปกายนี้อยู่ ย่อมมีการเจ็บปวดตามอวัยวะที่ถูกกดทับเป็นปกติ เมื่อรูปกายสลายไป กายลมสลายไป เหลือแต่กายสังขารเท่านั้น เวทนาก็ปรากฏขึ้นกับกายสังขาร ได้แก่ ปีติ ปัสสัทธิ และสุข ความเย็นปรากฏขึ้นมาแทนที่ จุดนี้เป็นจุดบรรจบกันระหว่างรูปและนาม จุดบรรจบกันระหว่างกายสังขารและจิตสังขารนั่นเอง
สมาธิที่ดำรงอยู่ในขั้นนี้นั้นเป็นสมาธิที่กำลังไหลไปตามกระแสสมาธิ กระแสสมาธิในที่นี้ก็คือความใสสะอาด การดำรงมั่นแห่งสภาวธรรม สภาวธรรมที่เป็นความสมบูรณ์แห่งอินทรีย์ สภาวธรรมที่ปราศจากนิวรณ์เข้ามารบกวน ในขณะนี้เป็นขณะที่อินทรีย์เหมาะแก่งาน สภาวธรรมแห่งอินทรีย์เหมาะแก่การทำหน้าที่ในขณะต่อไปเพื่อให้เกิดพลัง นั่นคือ “สิกขติ” สภาวะที่ปรากฏขึ้น การพิจารณาด้วยสติอันแรงกล้าหยั่งเข้าไปเห็นรูป เวทนา จิต และธรรม ย่อมเห็นความไม่เที่ยง การคลายความยึดมั่นถือมั่น การไม่เหลือที่ตั้งอยู่แห่งความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์นี้ การปล่อยวางไปตามธรรมชาติของขันธ์ ไม่มีความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มีความเป็นเรา ของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา เมื่อสติพิจารณาเห็นแจ้งดังนี้ ปัญญาญาณย่อมเกิด วิชชาย่อมเกิด ความสว่างรู้แจ้งโลกย่อมเกิด ทุกองคาพยพแห่งอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยังคงทำหน้าที่ไปเหมือนเดิม แต่บัดนี้กลับสติที่มีกำลังกล้าเฝ้าดูอย่างไม่เสื่อมคลาย เป็นปกติของสติไปแล้ว สติกลายเป็นพลังไปแล้ว เป็นสติที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย สติที่เป็นผลแห่งการปฏิบัติ เป็นผลจากการหลอมละลายกลายเป็นพลังหยั่งทะลุไม่เหลือช่องว่างให้อวิชชาได้ซ่อนตัวอยู่อีก ปฏิจจสมุปบาทสายดับเริ่มแล้ว กองทุกข์ทั้งมวลหมดไปแล้ว ชาติสิ้นแล้ว


          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วว่า  
         ภิกษุ ท. ! เราจักแสดง ซึ่งญาณวัตถุ ๗๗ อย่างแก่พวกเธอทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงฟังความข้อนั้น จงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ เราจักกล่าวบัดนี้ ภิกษุ ท. ! ก็ ญาณวัตถุ ๗๗ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า? ญาณวัตถุ ๗๗ อย่างนั้น คือ :-
๑. ญาณ คือความรู้ว่า เพราะมีชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ
๒. ญาณ คือความรู้ว่า เมื่อชาติไม่มี ชรามรณะ ย่อมไม่มี
๓. ญาณ คือความรู้ว่า แม้ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอดีต เพราะมีชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ
๔. ญาณ คือความรู้ว่า แม้ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอดีต เมื่อชาติไม่มี ชรามรณะย่อมไม่มี
๕. ญาณ คือความรู้ว่า แม้ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอนาคต เพราะมีชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ
๖. ญาณ คือความรู้ว่า แม้ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอนาคต เมื่อชาติไม่มี ชรามรณะย่อมไม่มี
๗.ญาณ คือความรู้ว่า แม้ธัมมัฏฐิติญาณในกรณีนี้ ก็มีความสิ้นไป เสื่อมไป จางไป ดับไป เป็นธรรมดา
ก็เพราะมีภพ คือแดนเกิด จึงทำให้มีชาติ เมื่อไม่มีแดนเกิด จะมีที่ให้เกิดแต่ที่ไหน ก็ในเมื่อสติตื่นอยู่ในปัจจุบัน ก็หลุดพ้นจากวัฏฏะอันเป็นสายเกิดแห่งทุกข์ ขอการปฏิบัติต่อกายและจิตให้ถูกต้องจงบังเกิดมีแก่ผู้บำเพ็ญเพียรสมณธรรมทั้งหลาย เพื่อการทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด
นี่คือ โศลกที่สามสิบเจ็ดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา