วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2552

พุทธศาสนาในเนปาล





















บทความนักศึกษา ปเอก พุทธสาสน์ศึกษา
พุทธศาสนิกชนทั่วไปมักจะมีความรู้ในประวัติของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ว่าทรงประสูติที่ลุมพินีวัน เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโทธนะกษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ และพระมารดาสิริมหามายาพระราชธิดาของกษัตริย์กรุงเทวะทะหะซึ่งเป็นดินแดนในชมพูทวีปยุคพุทธกาล แต่หากถามว่าประเทศเนปาลในปัจจุบันมีความสำคัญอย่างไรต่อพระพุทธศาสนา? เชื่อว่าพุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยที่อาจเกิดความงุนงงสงสัยว่าเนปาลมีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาด้วยหรือ เพราะได้รับรู้มาว่าเหตุการณ์สำคัญๆทางพุทธประวัติในยุคพุทธกาลล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในชมพูทวีปทั้งสิ้น แต่ถ้าบอกว่าสถานที่ประสูติและเมืองพุทธบิดาและพุทธมารดาของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าดังกล่าวปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล แน่นอนว่าทุกคนต้องยอมรับในทันทีว่าประเทศเนปาลมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเพราะเป็นหนึ่งในสี่ของสังเวชนียสถานสำคัญของพระพุทธศาสนา( สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน) ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงถึงสถานที่ควรสังเวช 4 ที่หากภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกาได้จาริกไป มีจิตเลื่อมใส เมื่อตายลงก็จะเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ ( มหาปรินิพพานสูตร ในทีฆนิกาย มหาวรรค ) นั่นเอง

ในยุคสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนอกจากจะเสด็จไปสักการะสถานที่ประสูติพร้อมกับได้ให้
จารึกศิลาเป็นหลักฐาน ณ ลุมพินีวันดังที่ได้กล่าวไว้ในส่วนแรกแล้วนั้น พระองค์ยังได้สร้างคุณูปการแก่พระพุทธศาสนาในดินแดนพุทธภูมิแห่งนี้ด้วยการยกพระราชบุตรีพระนามจารุมตีให้อภิเษกกับเจ้าชายเทวปาลแห่งราชวงศ์เนปาลพร้อมกับได้นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ผ่านชนชั้นสูงของเนปาล แล้วยังขยายต่อไปถึงทิเบตผ่านการอภิเษกสมรสระหว่างสองราชวงศ์ในกาลต่อๆมาจนทำให้พระพุทธศาสนากลายเป็นศาสนาประจำชาติของทิเบตอย่างมั่นคงมาจวบจนปัจจุบัน

นอกจากจะนำพระพุทธศาสนาเข้าไปตั้งมั่นในเนปาลผ่านความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์แล้ว
พระเจ้าอโศกมหาราชยังได้ส่งคณะพระสมณะทูตนำโดยพระมัชฌิมเถระไปประกาศพระพุทธศาสนา(เถรวาท)แก่ประชาชนชาวเนปาลจนเกิดความเลื่อมใสจนทำให้พระพุทธศาสนาเริ่มเจริญรุ่งเรืองในเนปาลอย่างแพร่หลายทั้งชนชั้นสูงและชนทั่วไป จึงกล่าวได้ว่ายุคทองของพระพุทธศาสนาหลังพุทธกาลในเนปาลได้เริ่มต้นในยุคสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชด้วยกลยุทธ์การเผยแผ่อันแยบคายนี้เอง เมื่อได้กล่าวถึงกลวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกมหาราชดังกล่าวแล้วจำเป็นต้องย้อนกลับไปศึกษาพุทธวิธีการประกาศพระศาสนาในยุคพุทธกาลเป็นการเปรียบเทียบระหว่างสองยุคสมัยที่ถือว่าพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างมั่นคงเพื่อให้เกิดภูมิปัญญายิ่งขึ้นกล่าวคือ วิธีการประกาศศาสนธรรมของพระบรมศาสดานั้นจะทรงเลือกที่จะเผยแผ่แก่ชนสองกลุ่มต่อไปนี้ก่อน ได้แก่

1. นักบวช ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มุ่งดีและเป็นผู้คงแก่เรียนมาแล้วในศาสนาอื่น
2. คฤหัสถ์ที่เป็นหัวหน้าคน เช่น พระมหากษัตริย์ มหาอำมาตย์ และพราหมณ์
คฤหัสถ์ซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียน

ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่าบุคคลทั้งสองประเภทดังกล่าวเป็นผู้มีพื้นฐานความรู้และความตั้งใจดี
และเมื่อบุคคลเหล่านี้ได้ดวงตาเห็นธรรมและรับนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว คนอื่นๆในอาณัติหรือสาวกก็จะนับถือตามไปด้วยหรือไม่ก็จะเกิดความสนใจใคร่รู้ นอกจากนี้พระพุทธองค์ยังทำให้พระพุทธศาสนาไม่ไปข้องแวะกับการเมืองและมีความปลอดภัยเพราะทรงมุ่งประกาศผ่านผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจึงได้รับการคุ้มครองและสนับสนุนจากชนชั้นปกครองนั่นเอง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการที่พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองยุคหลังพุทธกาลกว่า 300 ปีอีกครั้งนั้น นอกจากจะเกิดจากมีผู้นำที่เป็นพุทธมามกอย่างมั่นคงดังเช่นพระเจ้าอโศกมหาราชแล้ว พระองค์ยังได้อาศัยกุศโลบายการเผยแผ่ตามแนวทางของพระพุทธองค์มาใช้อีกด้วยคือการเผยแผ่ผ่านชนชั้นสูงที่เป็นผู้นำด้วยการผูกความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ควบคู่ไปกับการเผยแผ่ในระดับมวลชนโดยพระธรรมทูต รวมถึงการใช้พระราโชบายการปกครองแบบ ‘ ธรรมาธิปไตย ’ มาเป็นเครื่องมือการปกครองอาณาจักรด้วยการใช้หลักพุทธธรรมประยุกต์ให้สังคมเกิดความสงบร่มเย็นตามหลักธรรม ‘ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ’ [1]

กลยุทธ์การเผยแผ่พระศาสนาที่เคยประสบความสำเร็จอย่างสูงนี้ควรนำมาปรับใช้เป็น
แบบอย่างสำหรับการเผยแผ่ในยุคโลกาภิวัตน์ด้วย โดยเฉพาะการมุ่งไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นปัญญาชนและชนชั้นผู้นำสังคม / ชุมชนเป็นลำดับแรกรวมทั้งการเผยแผ่พุทธธรรมที่กลุ่มเป้าหมายสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบันเป็นลำดับแรก แม้ว่าประเทศไทยจะยึดถือเป็นราชประเพณีว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกอยู่แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากพัฒนาทางการเมืองการปกครองที่ต้องอนุวรรตไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้ความเป็นพุทธมามกโดยพระราชประเพณีนั้นจึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่สืบทอดมาแต่โบราณเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปที่เป็นพุทธศาสนิกเพียงการสืบทอด ดังนั้นหากมีการผลักดันให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ กำหนดให้ผู้นำประเทศต้องนับถือพุทธศาสนา และมีการนำหลักพุทธธรรมไปปรับใช้เป็นกฎหมายเพื่อจูงใจหรือผลักดันให้มีการดำเนินชีวิตตามแนวพุทธธรรมอย่างเข้มงวดจริงจังด้วยแล้ว เชื่อได้ว่าพระพุทธศาสนาจะยังมีความมั่นคงอยู่ในประเทศไทยอีกตราบนานเท่านาน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศเนปาลจะมีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาในฐานะเป็น
สังเวชนียสถานหนึ่งในสี่แห่งจากการเป็นสถานที่ประสูติของพระบรมศาสดาและเป็นที่ตั้งของเมืองพุทธบิดาและพุทธมารดาที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นดินแดนที่ให้กำเนิดพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับกรุงเยรูซาเล็มอันเป็นสถานที่เกิดของพระเยซูผู้ไถ่บาปของคริสตศาสนิกดังกล่าวแล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาจะมีความรุ่งเรืองมั่นคงในดินแดนพุทธภูมินี้ ตรงกันข้ามเนปาลกลับต้องเผชิญกับปัญหาความผันผวนทางสังคมและอิทธิพลจากสถานการณ์ต่างๆจากชมพูทวีปจนในที่สุดพระพุทธศาสนาที่สืบทอดมาแต่ดั้งเดิมจำต้องปรับเปลี่ยน

ตามสภาพอิทธิพลกระแสต่างๆเพื่อความอยู่รอดจนแทบจะสูญสลายไปจากดินแดนพุทธภูมิแห่งนี้เช่นเดียวกับความเสื่อมสลายไปของพระพุทธศาสนาในดินแดนชมพูทวีป

ทั้งนี้ เหตุการณ์และสถานการณ์ที่ยังความผันผวนที่ส่งผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาใน
ประเทศเนปาลเกิดขึ้นได้อย่างไร? และปัจจุบันพระพุทธศาสนามีสถานภาพเช่นไร? และจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไรในดินแดนอันเป็นชาติภูมิของศากยวงศ์แห่งนี้นั้น จะได้นำเสนอเป็นลำดับต่อไป
[1] ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม (มาใน องฺ อฎฺฐก. 23 / 144 / 289 ) เป็นหลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขในปัจจุบันที่บุคคล
พึงปฏิบัติให้ถึงพร้อม 4 อย่างคือ อุฏฐานสัมปทา(ถึงพร้อมในความขยันหมั่นเพียรในการงานอันสุจริต) อารักขสัมปทา(ถึง
พร้อมด้วยการรู้จักรักษาโภคทรัพย์หรือผลงานที่เกิดจากความขยันหมั่นเพียรไม่ให้เสื่อมเสีย) กัลยณมิตตตา(ถึงพร้อมด้วยมิตร
ที่เป็นคนดีมีศีลธรรม) และสมชีวิตา(ถึงพร้อมด้วยความเป็นอยู่และการใช้จ่ายที่เหมาะสมแก่ฐานะ)
(อ่านต่อใน phd.mbu.ac.th)

วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Dhamma Talk
















กิจกรรม เสวนาธรรมาธิปไตยในพุทธวจนะ
เป็นกิจกรรมของนักศึกษาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา รุ่นที่ ๓
มีวิทยากรคือ พระคึกฤทธิ์ โสตถิผโล
ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
อาจารย์อำนวย สุวรรณคีรี
ดำเนินการเสวนาโดย ดร.คงชิต ชินสิญจน์
๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๒

วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2552

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๕)


บทที่สอง
ทุรชน

อาทิตย์ลับเหลี่ยมเขาลูกหนึ่ง จนกลายเป็นร่มเงาธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ทำให้ความร้อนผ่อนคลายลงบ้าง ในยามเที่ยงเช่นนี้ประกายแสงอันเจิดจ้าร้อนแรงแผดเผาสรรพสิ่ง ต้นไม้ใบหญ้าไหม้เกรียม


นั่นเป็นความสมดุลแห่งชีวิตเช่นกัน บางครั้งก็สงบเย็น บางครั้งก็เล่าร้อน บางครั้งก็แทบไม่อยากเชื่อและนึกไม่ถึงว่า แท้จริงยังมีเรื่องราวเช่นนี้อยู่หรือ? เพราะโลกเป็นจริงเช่นนี้จึงมีผู้คนร้องไห้ และผู้คนจึงหัวเราะ


ทินเล่อยากตั้งคำถาม ไฉนดวงอาทิตย์ที่นี่กับดวงอาทิตย์ที่ดินแดนของตนจึงแตกต่างกัน? ใช่ดวงอาทิตย์ดวงเดียวกันหรือไม่ ใยดวงอาทิตย์ที่ราลโปช่างส่องแสงนุ่มนวล ดุจมีน้ำใจ สายลมก็เย็นบางครั้งก็เหน็บหนาว แต่ที่นี่กลับรุนแรง แผดร้อน สาดแสงลงมาคล้ายดั่งต้องการเผาใหญ่ทุกสิ่งบนโลกมอดไหม้เป็นจุณ


ต้นไม้บนภูเขาเตี้ยๆ ก็เป็นเพียงต้นไม้เล็กๆ กระแสลมได้พัดม้วนฝุ่นสีแดงคละคลุ้งกระจายไป สายลมหอบเอาไอร้อนกระทบใบหน้า ทำให้พลอยเกลียดสายลมที่เคยรักมาแต่เดิม
นี่เป็นดินแดนใด?!
หรือนี่คือ…..ทะเลทราย

เพียงชั่วครู่ที่ได้หลบร้อนอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งภูเขา ช่วงเวลาเช่นนี้มักผ่านไปรวดเร็ว ไม่นานดวงอาทิตย์โผล่ออกมาเยือนมันอีก คล้ายดั่งสาดส่องเพื่อมันเพียงผู้เดียว
ผู้คนมักเป็นเช่นนี้ ในยามประสบทุกข์
หรือได้รับหายนะมักคาดคิดว่า ไม่มีผู้ใดเลวร้ายกว่าตนอีกแล้ว
ชายร่างกายกำยำสามคนกำลังมุ่งตรงมาที่มันยืนอยู่ ร่างกายพวกมันทำจากเหล็กกล้าหรือไร?
แสงอาทิตย์ไม่อาจทำอะไรพวกมันได้?
ท่าทีที่พวกมันมาคล้ายดั่งหนีบางสิ่งมา
“เจ้าจะไปในหมู่บ้านหรือ?” ชายผู้หนึ่ง นุ่งเพียงผ้าผืนเปราะเปื้อนฝุ่นผืนหนึ่ง เอ่ยถามอย่างร้อนรน
“ใช่” มันตอบอย่างไม่แน่ใจนักว่า ชายผู้นี้มีจุดประสงค์ใด “ข้าเพียงอยากได้อาหาร อยากได้น้ำดื่ม และอยากอาศัยร่มเงาพักผ่อนเท่านั้น”
“ไม่ว่าเจ้าจะมีจุดประสงค์ใด พวกเราขอบอกเจ้าว่า อย่าได้ไปดีกว่า ไปกับพวกเราเถอะ”
“ทำไมเราต้องไปกับพวกท่าน”
“เพราะนี่คือ ทางรอด”
“ทางรอดใด?” มันยิ่งสงสัยมากขึ้น
“ภายในหมู่บ้านถูกพวกทหารมองโกลทำลายไปแล้ว พวกมันต้อนผู้คนไปทำงานในค่าย พวกมันกำลังจะทำสงครามกับเมืองปุรุสปุระ”
“ทำไมท่านจึงหนีมาได้”
“เพราะพวกเราไม่ได้อยู่ในหมู่บ้าน” ชายอีกคนหนึ่งกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ คล้ายการจากมาของมันเป็นความผิดฉะนั้น
“แล้วผู้อื่นเล่า!”
“เจ้าอย่าได้ถามเลย” ชายอีกคนหนึ่งชิงตอบขึ้น “ขอเตือนเจ้าอย่าได้ไปเท่านั้น”
“ขอบคุณในความหวังดีของพวกท่าน” ทินเล่ กล่าวขอบคุณพวกมัน พร้อมทั้งให้เหตุผล “ข้าไม่ใช่พวกทหาร ไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้ใด ข้าต้องการเดินทางไปสู่วิกรมศิลา คงไม่เป็นไร พวกท่านไปเถอะ”
“เจ้าประเมินผู้อื่นเป็นวิญญูชนเกินไป” กล่าวเสร็จพวกมันจึงหลีกไปโดยเร็ว “อย่าได้บอกว่าเจอพวกเราละ”
“การประผู้อื่นเป็นวิญญูชนมีที่ใดไม่ดี?” ทินเล่ไม่ทันกล่าวคำนี้ออกไป แต่มันก็คิดไม่ออกว่า การมองผู้อื่นในแง่ดีนั้นไม่ดีตรงไหน
วิญญูชน มักประเมินผู้อื่นมีจิตใจงดงามเช่นตน


หารู้ไม่ว่ายังมีคนที่ตนคาดคิดไม่ถึงอีกมากนักด้วยเหตุนี้วิญญูชน มักถูกทำร้ายอยู่เสมอ

วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กะเทาะตถาทัศนะมหายาน











บทความนี้อยู่ในหนังสือ ตถาทัศนมหายาน กำลังจะวางแผงเร็วๆ นี้






กะเทาะตถาทัศนะมหายาน

ข้อพึงระวัง
พระพุทธศาสนามหายานเป็นการใส่ยี่ห้อลงไป การใส่ยี่ห้อลงไปในแนวทางปฏิบัติเช่นนี้ต้องระมัดระวังเพราะจะนำมาซึ่งการยึดติดในยี่ห้อ เมื่อนานวันเข้าผู้ที่มีสติปัญญาอันน้อยก็ไม่สามารถแยกแยะออกได้ว่า แท้จริงคืออะไร ไม่เพียงเฉพาะพระพุทธศาสนามหายาน แม้แต่พระพุทธศาสนาเถรวาทเองก็ตาม การใส่คำว่า เถรวาทเข้าไปตามหลังคำพระพุทธศาสนาก็เป็นเหตุให้สงสัยว่า เหตุใดต้องเถรวาท บุคคลที่ไม่เข้าใจและมีสติปัญญาตามไม่ทันก็จะยึดติดในคำ “เถรวาท” ถ้าไม่ใช่เถรวาทก็จะไม่ยอมรับ อาการยึดติดยี่ห้อนี้มีมานานนับพันปี ทำให้พระพุทธศาสนาทั้งเถรวาทและมหายานนั้นไม่สามารถที่จะทำงานร่วมกันได้ เพราะต่างฝ่ายต่างมองเห็นความบกพร่องของกันและกัน จวบจนกระทั่งไม่นานมานี้เอง ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายานเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นในการทำงานร่วมกันได้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความรู้สึกไม่แยกแยะกันและกันออกได้ก็คือ การรู้สึกลืมยี่ห้อของตนออกไป มีแต่เพียงความรู้สึกว่า “เราคือพระพุทธศาสนา”
พระพุทธศาสนาย่อมมีหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา หลักการสำคัญนั้นก็คือ การละความชั่ว การทำความดี และการชำระจิตของตนให้ผ่องใส งดงาม ไม่ว่าจะเป็นนิกายไหน สำนักอะไรถ้าเป็นพระพุทธศาสนาแล้วหลักการนี้จำเป็นต้องมีอยู่เสมอ จะเห็นได้จากพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้าทุกคนต่างบำเพ็ญเพียรกระทำคุณงามความดีทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่นอยู่เสมอ ก็เมื่อมีวิถีเดียวกันก็ไม่ต้องไปสนใจอะไรประการอื่นเพราะเพียงเท่านั้นก็เท่ากับได้ตั้งตนไว้ชอบตามหลักการในพระพุทธศาสนาแล้ว




อุดมคติ

ปัญหาเรื่องอุดมคติก็กลายเป็นเรื่องที่คอยจะรบกวนความรู้สึกของชาวพุทธทั้งหลายเหมือนกัน เพราะเพียงอุดมคติไม่เหมือนกันก็พลอยทำให้ไม่เข้าใจกันและพลอยทำให้มองเห็นความบกพร่องในอุดมคติของกันและกันขึ้นมาทันที ให้พิจารณาตัวอย่างนี้ดูว่า สมควรที่จะมองให้เป็นปัญหาหรือไม่ สมมติว่า ครอบครัวนายพุทธซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด มีลูก ๒ คน คือ นายวาท และนางสาวโพธิ์ นายพุทธบอกแนวทางแห่งความเป็นคนดีที่สุดไว้ ๓ ทาง คือ

๑. เป็นผู้ใหญ่บ้าน
๒. เป็นนายกองค์กรอิสระ
๓. เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
พร้อมกับบอกเงื่อนไขไว้พร้อมว่า การเป็นผู้ใหญ่บ้านนั้นเป็นได้ทันที เพราะพ่อจะคอยอบรมให้ และให้ยึดแนวทางที่พ่อสอนตลอดไป แต่ว่าการทำคุณประโยชน์ต่อสังคมอาจมีจำกัด คือต้องช่วยเหลือพ่อทำประโยชน์ต่อไป ส่วนการเป็นนายกองค์กรอิสระนั้น เป็นได้โดยการทำความดีไว้ให้มากๆ ขึ้นก็จะเป็นได้เองต่อไป และเป็นเพียงผู้เดียว ไม่ต้องคอยช่วยเหลือใคร และไม่ต้องคอยใครช่วยเหลือ ข้อจำกัดคือ ไม่สามารถวางนโยบายช่วยเหลือสังคมได้ แต่ก็เป็นตัวแทนชักนำสังคมทำความดีได้ ส่วนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเหมือนพ่อนั้นต้องทำความดีให้มากๆ ยิ่งขึ้น ก็จะเป็นได้เอง และต่มีสิทธิพิเศษ คือสามารถสร้างองค์การช่วยเหลือสังคมได้มาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้ง ๓ เส้นทางนี้ ผู้จะเป็นได้ต้องผ่านการตรวจปลอดเชื้อโรค ๑๐ ประการก่อนทั้งนั้น ถ้ามีเชื้อโรคอยู่ก็ไม่สามารถเป็นได้ทั้ง ๓ ตำแหน่ง

ลูกชายนายวาทบอกกับพ่อว่า ขอเป็นผู้ช่วยเหลือพ่อดีกว่า พร้อมที่จะได้รับการอบรมพร่ำสอนจากพ่อ เพื่อความสะดวกต่อการดำรงชีวิตที่เหลืออยู่ เหลือชีวิตเท่าไรก็ทำเท่านั้นไม่ต้องการที่จะขวนขวายสิ่งอื่นใดอีก สิ่งที่สำคัญคือ พยายามให้ปลอดเชื้อโรค ๑๐ ประการแล้วก็พอ ด้วยวิธีการตามมัชฌิมาปฏิปทาและมัชเฌนธรรม
ส่วนลูกสาวโพธิ์บอกกับพ่อว่า จะดำเนินรอยตามพ่อที่เป็นผู้ว่า จะขอปรารถนาตั้งใจเป็นผู้ว่าคนต่อไป จะได้ช่วยเหลือคนได้มากๆ ดังที่พ่อทำอยู่ขณะนี้ แม้ว่าจะยังไม่ปลอดเชื้อโรคตอนนี้ แต่ก็จะพยายามขจัดเชื้อโรคนี้ต่อไปในกาลข้างหน้า ขอเพียงพ่อบอกวิธีขจัดโรคไว้ก็พอ นั่นก็คือ การบำเพ็ญบารมี ๖ ประการ

อยู่ต่อมา เมื่อพ่อสิ้นไปแล้ว ลูกชายกับลูกสาวเริ่มมีปากเสียงกันเรื่องสถานะใดดีกว่ากัน นายวาทบอกกับน้องว่า เธอนี้โง่ เชื้อโรคติดอยู่ก็ไม่ยอมขจัดให้หมดไปโดยเร็ว แถมยังหวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะเป็นผู้ว่าอีก ทำตัววัดรอยเท้าพ่อคิดเกินตัวไปหน่อยนะ นางสาวโพธิ์ก็ตอกกลับพี่ว่า ก็ความคิดแคบๆ ได้แค่นี้ ขอแค่ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านช่วยพ่อเท่านั้น มันจะสักเท่าไหร่เชียว ไม่เห็นจะใช้ความพยายามอะไร ดีแต่กลัวว่าตนเองจะไม่ปลอดเชื้อถึงกับยอมหลบลี้หนีหน้าไปรักษาตัว อาศัยเพื่อนๆ ช่วยกันประคองหมู่บ้านให้ ทั้งที่พ่อเราทำเป็นตัวอย่างไว้แล้วแทนที่จะทำตามกลับไม่มีใครจะรักษาอุดมการณ์ไว้บ้างเลย แล้วอย่างนี้ประชาชน สรรพสัตว์จะสงบสุขอย่างไร

ลูกทั้งสองคนของผู้ว่าราชการจังหวัดพุทธยิ่งนับวันก็ยิ่งไม่ลงรอยกันมากขึ้น ฝ่ายลูกชายก็พยายามรักษาคำสอนที่พ่อพร่ำสอนไว้ไม่ให้ผิดเพี้ยนสูญหาย ฝ่ายลูกสาวพยายามเข้าถึงชาวบ้านช่วยเหลืออะไรก็ทำทุกอย่าง เพื่อทำตนให้เหมือนที่พ่อเคยทำมาก่อนจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ในที่สุดครอบครัวของนายพุทธก็ต่างคนต่างทำ ไม่ร่วมมือกันทั้งที่ทำงานลักษณะเดียวกันคือ ช่วยเหลือสารทุกข์ของชาวบ้าน ทำไปก็วิพากษ์วิจารณ์กันไปในทีว่า สิ่งที่แต่ละคนทำนั้นไม่ถูกต้อง

จากเหตุการณ์สมมตินี้พอจะมองออกถึงลักษณะของพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายานที่มีมาตลอดระยะเวลานับ ๒๐๐๐ ปี คือไม่สามารถจะร่วมมือกันได้ เพียงเพราะอุดมคติไม่ใช่อันเดียวกัน ทั้งที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้วางแนวทางไว้ อยู่ที่ใครจะเลือกแนวทางไหนเท่านั้น แต่ไม่ว่าแนวทางไหนต่างก็ต้องขจัดโรค ๑๐ ประการออกไปให้หมด ซึ่งก็ได้แก่สังโยชน์ทั้ง ๑๐ นั่นเอง

เพียงแค่ปรับทัศนคติเพียงนิดเดียวก็สามารถช่วยเหลือกันและกันอย่างกลมกลืน คือ ยึดการช่วยเหลือผู้อื่นเป็นที่ตั้ง และเพียรพยายามรักษาโรคของตนให้เบาบางและให้หมด ส่วนใครปรารถนาจะเป็นผู้ใหญ่บ้านช่วยพ่อหรือใครจะเดินตามรอยพ่อนั้นเป็นสิทธิของใครของมันไม่ควรนำมาเป็นข้อเปรียบเทียบ เพราะไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ไม่สำคัญสำคัญอยู่ที่อุทิศตนช่วยเหลือสรรพสัตว์และรักษาตนให้พ้นโรคเท่านั้น ส่วนใครจะปลอดโรคตอนไหนเมื่อไหร่ไม่สามารถพยากรณ์ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องเหลือวิสัย สำหรับสถานะตำแหน่งนั้นเป็นได้ทันทีที่ปรารถนา ส่วนจะมีใครรับรองว่าเป็นจริงนั้นเป็นเรื่องของอนาคตกาล อยู่ที่ปลอดโรคทั้ง ๑๐ เมื่อใดก็เมื่อนั้น ถ้าหากปรับทัศนคติกันเท่านี้ก็จะทำให้ครอบครัวนี้กลับมาสร้างสรรค์โลกนี้ให้เกิดความสงบสุข ช่วยเหลือกันและกันมากขึ้น

หรืออาจจะเปรียบเป็นศิลปินในค่าย ศิลปินอิสระ และเจ้าของค่ายศิลปะ ต่างก็มีความเด่นเฉพาะตนคือ ความเป็นศิลปินทั้งนั้น เพียงแต่เงื่อนไขอาจจำกัดต่างกัน ไม่ควรนำข้อจำกัดนั้นมาเป็นเงื่อนไขพัฒนางานศิลป์ เพียงแต่ใครที่ปรารถนาจะเป็นอะไรก็เป็นไปได้และพร้อมจะชื่นชมความตั้งใจนั้น ศิลปินในค่ายก็คือ สาวกยาน ศิลปินอิสระก็คือ ปัจเจกโพธิยาน ส่วนผู้ตั้งค่ายศิลปะก็คือ โพธิสัตวยาน สิ่งที่สำคัญอยู่ที่การพัฒนางานศิลป์และการได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปิน ก็เท่านั้น


การดำรงอยู่ร่วมกัน
สิ่งที่พระพุทธศาสนายังคงเป็นศาสนาที่รักสันติและไม่เคยมีความรุนแรงเกิดขึ้นมา แม้ว่าจะไม่เข้าใจกันก็ตาม ก็เพราะพระพุทธศาสนายึดมั่นในหลักสาราณียธรรม ซึ่งเป็นหลักที่สามารถสร้างสังคมให้เป็นสังคมอุดมปัญญาที่แท้จริง นั่นก็คือ
๑. ทำอะไรก็ทำด้วยเมตตา
๒. พูดอะไรก็พูดด้วยเมตตา
๓. คิดอะไรก็คิดด้วยเมตตา
๔. มีอะไรก็เอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน
๕. ประพฤติตนไปในทิศทางเดียวกัน (ขจัดโรค)
๖. คิดไปในทิศทางเดียวกัน (ช่วยเหลือสรรพสัตว์)
นี่เป็นจุดหมายสูงสุดในการจะสร้างสังคมให้สงบสุข ไม่มีทางอื่นอีกแล้ว และปัจจุบันความคิดสากลกำลังจะกลับมาถึงแนวทางนี้ เพราะโลกกำลังถูกบีบคั้นจากหลายๆ ด้าน ทั้งภัยธรรมชาติ ภัยอันเกิดจากมนุษย์ ภัยอันเกิดจากโรค สมควรแล้วที่ทุกฝ่ายต้องดำเนินตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Post Modernism



ไม่ได้เคลื่อนไหวเสียนาน ไม่รู้ว่าหายกันไปไหนหรือเปล่า ก็เผื่อว่าจะได้ประเทืองปัญญากันไปก่อน

ก็ขอนำบทความของอาจารย์กีรติ บุญเจือมาลงไว้ให้อ่านกันก่อนนะครับ





ปรัชญาหลังนวยุค
จุดนัดพบระหว่างศาสนา?
โดย กีรติ บุญเจือ*
ผู้วิจัยไม่ฟันธง แต่ขอทำตัวเป็นสื่อกลางนำความเห็นของฝ่ายต่างๆมาเสนอพร้อมด้วยเหตุผลของแต่ละฝ่ายให้ท่านผู้อ่านรับฟัง แล้วใช้วิจารณญาณแห่งกาลามสูตรตัดสินเอาเอง พระพุทธองค์ตรัสผ่านกาลามสูตรว่า “อย่าเชื่อข่าวลือ” แต่พระองค์มิได้ทรงห้ามฟัง มิฉะนั้นอาจจะเป็นคนตกข่าว และตกยุคในที่สุด ข่าวลือบางทีก็จำเป็นต้องรับรู้ว่าเขาลืออะไรกัน เพื่อเราจะได้ประเมินสถานการณ์และเตรียมการไว้รับมือ หากมีภัยอันตรายที่ไม่ควรเลินเล่อเผลอไผล เรื่องที่ผู้วิจัยจะเสนอต่อไปนี้อาจเป็นเพียงข่าวลือก็ควรรับฟัง หรืออาจจะมีมูลเหตุก็ควรสอบสวนมูลคดี หากเป็นจริงก็ดีไป ที่จริงแม้จะถือคติวางใจเป็นกลางในงานรายงานเชิงวิชาการ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะมีใจลำเอียงอยากให้เป็นเช่นนั้น การศึกษาศาสนาเปรียบเทียบจะได้มีเรื่องสนุกสนานเสนอจากฝ่ายต่างๆให้รับฟังอย่างมากมายเกินคาดกว่าที่เคยทำกันมา
ผู้วิจัยได้ศึกษามาแต่ปรัชญาตะวันตกล้วนๆ ครั้นบรรจุเข้าเป็นอาจารย์สอนปรัชญาตะวันตกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 42 ปีมาแล้ว ก็ได้รับเชิญมาบรรยายในวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ในฐานะอาจารย์พิเศษบรรยายปรัชญาตะวันตก ได้ถือโอกาสศึกษาทั้งภาษามคธและพระพุทธศาสนา ก็รู้สึกชอบและไม่รู้สึกว่ามีอะไรขัดแย้งกับปรัชญาตะวันตกที่กระผมได้ศึกษาและค้นคว้ามาแต่ประการใด เพียงแต่รู้สึกว่าพูดกันคนละสำนวนเท่านั้น กระผมสนใจทฤษฏีภาษาคนภาษาธรรมของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ แต่ก็ยังมองไม่เห็นทางว่าภาษาธรรมตามคำอธิบายของท่านจะเป็นจุดนัดพบของศาสนาต่างๆได้อย่างไรอย่างน่าพอใจ แม้ท่านจะเปรียบให้ฟังว่าศาสนาเป็นเหมือนลำต้นของต้นไม้ต้นหนึ่งที่มีหลายกิ่ง นั่นคือมีหลายศาสนารวมกันที่การทำดี ก็ได้เพียงแค่นี้ ยังหาทางต่อยอดไปทางไหนให้ทุกศาสนาพอใจได้ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ไม่มีศาสนาใดยอมเป็นกิ่ง ทุกศาสนาต้องการเป็นลำต้น ศาสนาใดจะมาขอเป็นกิ่งก็คงไม่ยอมให้เป็น และจริงๆก็คือไม่มีใครยอมเป็นกิ่งของใคร
ผู้วิจัยได้ไปเรียนรู้ปรัชญาหลังนวยุคเมื่อ 10 ปีมานี่เอง โดยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญออกทุนให้ไปหาความรู้เพิ่มเติมในมหาวิทยาลัยที่วอชิงตันดีซี พอไปถึงจึงรู้ว่าเป็นแหล่งเผยแพร่ปรัชญาหลังนวยุคที่สำคัญ กระผมได้รู้จักกับ ดร.มากลีโอลา (Magliola) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญปรัชญาหลังนวยุคผู้หนึ่งและสนใจพระพุทธศาสนา ทั้งๆที่ท่านนับถือศาสนาคริสต์และอยู่ในสหรัฐอเมริกา ท่านเป็นคนแรกที่แนะนำกระผมให้รู้จักใช้ปรัชญาหลังนวยุคเข้าใจพระพุทธศาสนา ท่านว่าจะเห็นอะไรดีๆเยอะเลยทีเดียว ตัวท่านเองท่านคิดว่าพระพุทธเจ้าคิดอย่างหลังนวยุค ถ้าไม่พยายามเข้าใจคำสอนของพระองค์อย่างนักหลังนวยุค ก็จะเข้าใจได้ไม่ดีเท่าที่ควร กระผมถามท่านว่า แล้วพระอรหันต์ทุกองค์เข้าใจธรรมะแบบหลังนวยุคเช่นนั้นหรือ จึงได้บรรลุมรรคผล ท่านว่าท่านคิดอย่างนั้น เพราะท่านมั่นใจว่าถ้าไม่เข้าใจธรรมะอย่างหลังนวยุคก็มองปัญหาไม่ทะลุ กระผมถามท่านต่อไปอีกว่า แล้วตัวท่านเองท่านคิดว่าท่านเป็นพระอรหันต์หรือไม่ ท่านปฏิเสธเป็นพัลวัลว่า “ยังๆ” เพราะเป็นพระอรหันต์ต้องสิ้นกิเลส ท่านเองเพียงแต่รู้สึกว่าใช้ปรัชญาหลังนวยุคมองแล้วเข้าใจธรรมะดีกว่าเดิมเท่านั้น สาธุ! โล่งอกไปที
ท่านให้หนังสือกระผมมาอ่านเล่มหนึ่งที่ท่านเขียนเอง ชื่อ Derrida on the Mend, 1984 (แดร์ริดากำลังแก้ปัญหา) แดร์ริดา (Jacques Derrida 1930-2004) เป็นนักปรัชญาหลังนวยุคชั้นนำ แต่สำหรับ ดร.มากลีโอลานั้น แดร์ริดาเป็นสุดยอดนักคิดหลังนวยุค แดร์ริดาไม่แสดงว่าเชื่อหรือนับถือศาสนาใดเลย แต่ท่านบอกว่าแดร์ริดาคิดแบบเป็นกลางดี และท่านคิดว่าหากนักปราชญ์ของศาสนาต่างๆคิดแบบแดร์ริดา ศาสนาต่างๆจะมีจุดนัดพบร่วมกัน คือคุยกันรู้เรื่องได้อย่างดียิ่ง โดยไม่มีฝ่ายใดต้องอ่อนข้อหรือสูญเสียคุณค่าใดๆในศาสนาของตนแต่ประการใดเลย กระผมพยายามเชื่อท่านและพยายามอ่านหนังสือของท่าน แต่รู้สึกว่าความคิดค่อนข้างสับสนและเข้าใจยากมากๆ ก็เลยยังมองไม่ออกว่าคำพูดของท่านนั้นหมายความว่าอย่างไร แม้จะขอให้ท่านอธิบายให้กี่ครั้งกี่หนก็ยังไม่บรรลุสักที แต่ผมไม่ย่อท้อ คิดว่าต้องพยายามเข้าใจความคิดแบบหลังนวยุคให้ดีๆเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแดร์ริดาที่ท่านยกย่องมากๆ โดยหวังว่าจะเข้าใจความหมายของท่าน เพราะอย่างไรเสียก็ยังอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเป็นไปได้มันน่าจะดีมากๆ ทิ้งไว้เฉยๆก็น่าเสียดาย
ต่อมาได้อ่านหนังสือ Buddhism and Deconstructions, 2006. ซึ่งจินปาร์ค (Jin Y. Park) เป็นบรรณาธิการ เธอเองเขียนหลายบทความ เธอเป็นชาวเกาหลีใต้ เชี่ยวชาญปรัชญาหลังนวยุคและพระพุทธศาสนาเซนของเกาหลี ชื่อหนังสือก็บ่งบอกว่าเป็นการศึกษาพุทธศาสนาทุกรูปแบบโดยเทียบกับปรัชญาหลังนวยุคของแดร์ริดา มากลีโอลาก็ร่วมเขียนด้วย แสดงว่าเขาต้องรู้จักกันดีและเข้าใจความคิดของกันและกัน
จินปาร์คเป็นชาวพุทธมหายานที่สนใจปรัชญาหลังนวยุคจนสามารถใช้ปรัขญาหลังนวยุคของแดร์ริดามาทำความเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดี อ่านคำชี้แจงของเธอแล้วค่อยรู้สึกปลอดโปร่งหน่อย พอจะเข้าใจอะไรได้บ้าง ก็อยากจะนำมาแฉเป็นภาษาไทยตามที่เข้าใจว่า ณ ขณะนี้ผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษสื่อความคิดกันนั้น เขาคิดว่าปรัชญาหลังนวยุคอันเป็นที่นิยมในหมู่นักคิดรุ่นใหม่ของทางตะวันตกนั้น เขาจะเข้าใจพระพุทธศาสนากันอย่างไร ฟังไว้เป็นข่าวลืออย่างหนึ่งของกาลามสูตรก็แล้วกัน ฟังไว้เพื่อรู้ทันโลกาภิวัตน์ ไม่จำเป็นต้องเชื่อตาม หากจะคล้อยตามเรื่องใดก็ขอให้เห็นว่ามีคุณค่าจริงๆ มิฉะนั้นก็ฝากไว้อยู่ในประเภท “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม”
เพื่อให้ติดตามได้ตามลำดับขั้นตอน จะขอทำความเข้าใจเรื่องกระแสความคิดหลังนวยุคสักพอสมควรก่อน
นักหลังนวยุคแบ่งความคิดของมนุษย์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันออกเป็น 5 กระบวนทรรศน์ แต่ละกระบวนทรรศน์ก็ย่อมจะมีวิธีตีความและเข้าใจคัมภีร์ศาสนาที่ตนเชื่อและไม่เชื่อตามกระบวนทรรศน์ของตน จะขอยกมาสาธยายพอเข้าใจเป็นแนวทางนำร่องเพื่อเข้าใจความคิดของจินปาร์คและคณะดังต่อไปนี้
1. กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ มองว่าโลกไม่มีกฎ และอะไรก็ไม่มีกฎ ทุกอย่างเป็นไปตามน้ำพระทัยของเบื้องบน แม้แต่น้ำพระทัยของเบื้องบนเองก็ไม่มีกฎ จึงเผด็จการทุกอย่างได้แบบตามใจฉัน
ผู้ถือกระบวนทรรศน์แบบนี้หากมีคัมภีร์อ่านก็คงตีความตามตัวอักษรเฉพาะคำ เฉพาะประโยค และเฉพาะตอน ที่ถือว่าเป็นคัมภีร์ก็เพราะเชื่อว่าเป็นวิถีทางแสดงน้ำพระทัยของเบื้องบน ซึ่งอาจจะเพิ่มคัมภีร์ ลดคัมภีร์ หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในคัมภีร์ได้ตามความพอพระทัย และทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องบอกล่วงหน้า และไม่จำเป็นต้องมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่ายกเลิกของเดิมอย่างไรและตั้งแต่เมื่อใด ความหมายขัดแย้งไม่ถือว่าสำคัญสำหรับมนุษย์ดึกดำบรรพ์ เพราะมนุษย์ดึกดำบรรพ์จะเพ่งเล็งเฉพาะหน้าเท่านั้น ข้อความบางข้อความอาจจะมีมนต์ขลังเป็นคาถาอาคมเฉพาะหน้าจนกว่าจะเสื่อมมนต์ขลัง
การตีความคัมภีร์ของมนุษย์ดึกดำบรรพ์จึงยึดเอาความเข้าใจตามตัวอักษรเป็นหลัก และเป็นที่ยอมรับเฉพาะขณะที่มีมนต์ขลัง สิ้นมนต์ขลังเมื่อไรก็ไร้ความหมายเชิงศาสนาเมื่อนั้น
2. กระบวนทรรศน์โบราณ มองว่าเอกภพมีกฎตายตัว กฎทุกกฎของเอกภพเป็นกฎนิรันดร จึงตายตัว แต่ยังไม่รู้วิธีการวิทยาศาสตร์จึงไม่มีใครกล้ายืนยันว่า ใครๆก็สามารถเข้าถึงกฎของเอกภพด้วยตนเอง ในช่วงนี้จึงมีเจ้าสำนักเกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด ใครอยากได้ความจริงต้องยึดเจ้าสำนักที่ตนพอใจเป็นหลัก และหันหลังให้เจ้าสำนักอื่นๆทั้งหมด
ผู้ถือกระบวนทรรศน์แบบนี้ หากมีคัมภีร์ให้ตีความ ก็จะยึดหลักการตีความของเจ้าสำนักเป็นหลัก และปฏิเสธการตีความของสำนักอื่นทั้งหมด ใครเป็นศิษย์หลายสำนักถือว่าเลวมาก ถูกตำหนิว่าเหยียบเรือสองแคม ชายหลายโบสถ์ คบไม่ได้
3. กระบวนทรรศน์ยุคกลาง มองว่าเอกภพมีกฎตายตัวก็จริง แต่ให้เพียงความสุขเจือความทุกข์ จึงเชื่อตามศาสดาที่ยืนยันว่า ความสุขในโลกหน้าเท่านั้นที่เที่ยงแท้ถาวร และยินดีทำทุกอย่างเพื่อได้ความสุขในโลกหน้าตามที่ศาสดาสอน
ผู้ถือกระบวนทรรศน์แบบนี้ หากมีคัมภีร์ให้ตีความ ก็จะตีความให้เข้าล็อคดังกล่าว มิฉะนั้นก็ไม่สนใจ และถือว่าเป็นประเด็นย่อยส่งเสริมประเด็นหลัก ถ้ามองไม่เห็นก็ทิ้งไว้ก่อนจนกว่าจะเห็น
4. กระบวนทรรศน์นวยุค มองว่าเอกภพมีกฎประสานกันเป็นระบบเครือข่ายที่รู้ได้ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์และเหตุผล
ผู้ถือกระบวนทรรศน์แบบนี้ หากมีคัมภีร์ต้องตีความ ก็จะตีความให้สอดคล้องกับการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของระบบเครือข่ายของความจริง หากเรื่องใดตีความให้สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ไม่ได้จริงๆ ก็จะอธิบายว่าเป็นเรื่องที่พระเจ้าแทรกไว้ในคัมภีร์เพื่อทดลองความเชื่อ ความวางใจ และความรักของผู้มีศรัทธาในพระองค์ เพื่อเป็นมาตรการคัดสรรมิให้ผู้ขึ้นสวรรค์มีมากนัก
5. กระบวนทรรศน์หลังนวยุค มองว่าเอกภพมีกฎเป็นระบบเครือข่ายที่ประกอบด้วยปมข่าย ใยข่าย และตาข่าย
ปมข่าย (netpoint) รู้ได้ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์
ใยข่าย (netline) รู้ได้ด้วยกฎตรรกะและกฎคณิตศาสตร์
ตาข่าย (neteye) รู้ได้ด้วยการหยั่งรู้ เพ่งญาณ หรือวิวรณ์
ผู้ถือกระบวนทรรศน์นี้ หากมีคัมภีร์ต้องตีความ ก็มีแนวโน้มที่จะตีความแบบพหุนิยม (pluralism) ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่สนใจเจตนาของผู้เขียนเท่ากับเจตนาขององค์การศาสนาที่เลือกเอาตัวบทนั้นมาเป็นคัมภีร์ของตน และตนเองก็มีหน้าที่เข้าใจและตีความให้ได้คุณภาพชีวิตสูงสุดตามเป้าหมายของศาสนาโดยรวม คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างดีที่สุดที่ปรัชญาหลังนวยุคจะคิดได้ โดยถือว่าเป้าหมายเช่นนี้มีแฝงอยู่แล้วในทุกคัมภีร์ หากแต่ศาสนิกจะต้องพยายามเข้าถึงให้มากที่สุดโดยอาศัยศรัทธาเป็นพลังขับเคลื่อน

อ่านต่อในวารสารบัณฑิตวิทยาลัย มมร



วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Neo-Buddhism

Neo-Buddhism


องค์กรพระพุทธศาสนาแนวใหม่ที่เรียกว่า Neo-Buddhism เป็นพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาให้เคลื่อนไหวไปได้และแสดงบทบาทที่เหมาะสมในโลกยุคโลกาภิวัตน์และทุนนิยม หลายคนคงแปลกใจว่า พระพุทธศาสนามหายานทำไมจึงทำอะไรได้หลากหลาย ทำให้พระพุทธศาสนามหายานถูกมองไปในสองประเด็นที่สุดขั้ว กล่าวคือ ขั้วหนึ่งถูกมองไปในแง่บวกว่า มีความคล่องตัวในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อีกขั้วหนึ่งก็ถูกมองว่าทำอะไรเกินภาวะของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เมื่อมองให้ดีๆ แท้จริงลักษณะที่พระพุทธศาสนาแสดงออกในยุคนี้ไม่ใช่มหายานอย่างที่คิดกัน แต่เป็นพระพุทธศาสนาแนวใหม่ของคนยุคใหม่นี้ มันเริ่มจากกระบวนการปรับตัวของคนในสังคมที่มีกระบวนทัศน์เปลี่ยนแปลงไป พอดีเกิดขึ้นในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนามหายานเท่านั้นจึงถูกมองว่าเป็นมหายานไปทั้งหมด อันที่จริงไม่ว่าพระพุทธศาสนาเถรวาทหรือมหายานก็สามารถทำได้ เพราะไม่ได้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแต่เกี่ยวกับคนในสังคมที่รับเอาแนวคิดของการบริหารจัดการยุคทุนนิยมมาปรับใช้กับศาสนา

เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วในยุโรป เกิดขึ้นกับศาสนาคริสต์ เมื่อคนในสังคมหันไปสนใจกระแสวิทยาศาสตร์อย่างท่วมท้นในยุคใหม่ ไม่ใช่ศาสนายอมรับวิทยาศาสตร์ หรือศาสนาเห็นด้วยกับวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเพราะผู้ที่มาบวชในยุคนั้นมีแนวคิดเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว คนในศาสนาเป็นคนวิทยาศาสตร์แล้ว ก็ไม่ต้องพูดถึงว่า ความคิดเชิงวิทยาศาสตร์จึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับศาสนาและศาสนาก็ไม่สามารถทำอะไรกับคนวิทยาศาสตร์ได้เหมือนเดิมที่เคยต่อต้านอย่างสุดขั้ว

ลักษณะเดียวกันกับพระพุทธศาสนาในยุคนี้ คนในพุทธศาสนายุคนี้เป็นคนในยุคทุนนิยม ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี นับเป็นประเทศแนวหน้าที่อยู่ในยุคทุนนิยมเต็มที่ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า พระพุทธศาสนามหายานมีรูปแบบการบริหารเป็นแบบมืออาชีพ เพราะนั่นเป็นการนำระบบบริหารบรรษัทและองค์กรทางธุรกิจมาปรับใช้กับองค์การทางศาสนา ปัจจุบันจึงจะเห็นว่า พระพุทธศาสนาเถรวาทเริ่มรับวิธีการของพระพุทธศาสนาแนวใหม่นี้มาปรับใช้บ้างแล้ว ในที่สุดรูปแบบพระพุทธศาสนาต้องปรับเป็นอย่างนั้น เพราะคนในยุคนี้รับหลักการและวิธีการลักษณะของทุนนิยม การปฏิบัติอะไรตามระบบราชการเหมือนแต่ก่อน จะไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้

ไม่เพียงเฉพาะรูปแบบการบริหารเท่านั้น รูปแบบกิจกรรมทั้งหลายยังใช้รูปแบบเชิงพุทธศาสนาเพื่อสังคมมากขึ้นที่เรียกว่า Engaged Buddhism จะเห็นว่าพระสงฆ์ได้เข้าไปรับหน้าที่บริการสังคมไม่เพียงเฉพาะด้านธรรมะเท่านั้น ยังเข้าไปรับผิดชอบช่วยเหลือสังคมโดยการบริหารจัดการเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านองค์การเกี่ยวกับโรคเอสด์ ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านเด็กและเยาวชน ด้านความสงบของสังคม เป็นต้น

สิ่งที่ตามมาพร้อมกับแนวคิดนี้ก็คือ พระสงฆ์ใดไม่ทำกิจกรรม ไม่ทำงานเชื่อมกับสังคมจะไม่ได้รับการยอมรับ และต่อไปบทบาทขององค์การทางสังคมจะเป็นตัวชี้นำศาสนา เพราะองค์การเหล่านี้ปฏิบัติตนได้อย่างอิสระไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของศาสนา แต่ได้นำแนวทางศาสนาไปปรับเข้ากับวิธีการของตน จะเห็นได้จากผู้นำทางสังคมเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อศาสนามากขึ้น บางอย่างได้รับเอาพิธีกรรมทางศาสนาไปทำเอง นี่เป็นลักษณะของพระพุทธศาสนาแนวใหม่

อีกอย่างหนึ่ง สำหรับการอธิบายหลักธรรมพระพุทธศาสนาแนวใหม่จะใช้วิธีการอธิบายแบบสัมผัสได้กับชีวิตจริง เน้นการอยู่อย่างมีความสุขในชีวิตปัจจุบัน ยกตัวอย่างเรื่องอริยสัจ ๔ พระพุทธศาสนาแนวใหม่ให้คำอธิบายไว้ว่า
๑) ชีวิตย่อมประกอบด้วยความสุข ความยินดี และความไม่สมปรารถนาเป็นปกติ (ทุกข์)
๒) สาเหตุแห่งความสุข ความทุกข์ และความยินดีนั้นมีมาก ทางที่พึงกระทำคือไม่ต้องไปใส่ใจ เพียงแต่ให้อยู่อย่างมีความสุขในตอนนี้และขณะนี้ได้ก็พอ ความทุกข์นั้นเกิดขึ้นง่ายมาก เพียงแค่อยากมีความสุข อยากครอบครอง หรืออยากมีอำนาจ ก็เป็นที่มาแห่งทุกข์ทันที ยกตัวอย่างเช่น การต้องการมากไปกว่าที่ตนมีอยู่ ก็ทำให้สูญเสียความสุขในสิ่งที่ตนพึงจะได้แล้ว (สมุทัย)
๓) ไม่จำเป็นต้องสละเรือนอยู่เหมือนนักบวช ไม่จำเป็นต้องสละละทิ้งโลกียสุข เพียงแต่แสวงหาความสงบจากภายในจิตก็พอ โดยรักษาสมดุลระหว่างทั้งโลกแห่งคฤหัสถ์และบรรพชิตไว้ (นิโรธ)
๔) ศิลปะการดำเนินชีวิต คือ การค้นพบจุดสมดุลระหว่างความต้องการให้ถึงเป้าหมายแห่งชีวิตคือทางแห่งความสุขกับมุมมองอันมีเหตุผลและความจริงที่เห็น ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ และไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะสำคัญจริงๆ ต่อความสุขของตนหรือไม่ (มรรค)

การอธิบายอริยสัจเช่นนี้เป็นการอธิบายเข้ากับชีวิตมากขึ้น มิใช่อธิบายไกลไปจากชีวิต นี่เป็นลักษณะของแนวคิดของกระแสพุทธศาสนาใหม่ คือ การไม่ไปไกลจากโลกที่สัมผัส มิใช่โลกแห่งอุดมคติ คือมองกลับด้านเป็นอริยสัจที่ประกอบด้วยสุข เหตุให้เกิดสุข สุขได้ในเมื่อใจพอ ดำเนินชีวิตอย่างมีศิลปะก็จะพบกับความสุข ในที่นี้จึงไม่กล่าวว่าเป็นพุทธศาสนามหายานหรือเถรวาท เพราะโดยเนื้อแท้แล้วมีแต่คำว่าพระพุทธศาสนาเท่านั้น จะเป็นพุทธแบบเน้นศรัทธาหรือเน้นปัญญา ก็ขึ้นอยู่กับแนวโน้มทางความชอบของผู้นั้นที่เรียกว่า จริต การอาศัยศรัทธานำหรือปัญญานำก็นำผู้ปฏิบัติถึงเป้าหมายได้

สาเหตุอย่างหนึ่งที่ต้องกล่าวไว้ในที่นี้ก็คือ การเข้าสู่ความคิดหลังนวยุค (Post Modernism) ของคนในสังคม อิทธิพลของความคิดนี้ได้แผ่กระจายไปสู่ส่วนต่างๆ ของโลกอย่างมีระบบ เป็นกระบวนการที่เรียกว่า การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) การก่อตัวของแนวคิดนี้ก็คือความอิ่มตัวของยุควิทยาศาสตร์และทุนนิยมสุดขั้วที่หล่อหลอมชีวิตของคนในสังคมให้แสดงออกไปอย่างไร้ทิศทาง ยิ่งสนองวัตถุจิตวิญญาณก็ยิ่งโหยหาความสุข ในที่สุดคนในสังคมบางคนบางกลุ่มก็คิดได้การสนองความต้องการทางวัตถุไม่อาจเติมเต็มจิตวิญญาณได้ จึงหันกลับมาดูชีวิตที่แท้จริงอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้จึงมีองค์กรอิสระที่กระทำโดยไม่มุ่งหวังผลกำไรใดๆ เป็นองค์กรที่รวมตัวกันกระทำเพื่อสังคม ดังนั้นจึงมีองค์กรพุทธฉือจี้ (Tzu Chi) สำนักปฏิบัติธรรมโกเอนก้า (Koenka) องค์กรริชโก้โกเชไก (Rissho Kosei-kai) องค์กรเซไคคิวเซเคียว (โยเร) หรือ วัดพระธรรมกาย เป็นต้น องค์กรเหล่านี้ล้วนแต่กระทำเพื่อสังคมโดยการฝึกฝนตน แต่เนื่องจากสังคมอยู่ในระยะเปลี่ยนถ่ายจึงมีความขัดแย้งทางความคิดสูงสำหรับการทำเช่นนี้ เพราะคนบางกลุ่มมองเห็นว่าการทำเช่นนี้เป็นการกระทำที่ผิดแผกแปลกไปจากเดิม และคนที่อยู่ในองค์กรนั้นก็เคลื่อนไหวเชิงรุกจึงทำให้เกิดแรงปะทะขึ้นในสังคมที่ยังคงอยู่ในกระบวนทัศน์อื่นๆ อยู่จำนวนมาก

อันตรายสำหรับองค์กรทางศาสนาที่เกิดขึ้นในยุคนี้ก็คือ การไม่เข้าถึงแก่นแท้หลักการทางพุทธศาสนาทั้งสองสายให้ดีพอ พระพุทธศาสนามหายานนั้นมีหลักการสำคัญอยู่ที่การอุทิศตนบำเพ็ญเพียรเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า ส่วนพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้นมีหลักการสำคัญอยู่ที่การละการยึดมั่นถือมั่น หลีกเร้นและปล่อยวาง พอเข้าไม่ถึงแก่นแท้ก็หลงไปสู่ด้านใดด้านหนึ่ง ได้แก่ ทางฝ่ายมหายานก็หลงเข้าไปสร้างอาณาจักรของตน แล้วยึดมั่นในหน่วยงาน องค์กร วัด สมาคมของตน ทางฝ่ายเถรวาท ก็หลงไม่ช่วยเหลือสังคม หลีกเร้น ปล่อยไปตามกรรม การกระทำทั้ง ๒ ประการนั้นทำให้ตกไปสู่ส่วนสุดด้านใดด้านหนึ่ง ไม่เป็นตามทางสายกลาง

สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาทั้ง ๒ แนวทางนั้นสับสนไป ไคว่เขวไป ที่จำเป็นต้องเข้าใจก็คือการใช้หลักเหตุผลที่เรียกว่า “วาทกรรม” วาทกรรมเป็นกระแสกระบวนทัศน์ที่มาพร้อมกับสังคมหลังนวยุค คือ สังคมที่ใช้วาทกรรมอธิบายเชื่อมโยงวัฒนธรรมเข้าหากัน เมื่ออธิบายโดยใช้หลักเหตุผลภายใต้ระบบทุนนิยม ก็จะอธิบายเชื่อมโยงการระดมทุน ระดมคน และระดมกำลัง เมื่อระดมได้แล้วก็มีกำลังต่อรอง เพราะวาทกรรมในที่นี้คืออำนาจแฝงนั่นเอง

ทางออกสำหรับการอยู่ในสังคมหลังนวยุคที่ถูกต้อง ต้องกระทำ ๒ สิ่งคือ
๑) ใช้ภาษาที่ถูกต้อง คือภาษานัยวิเคราะห์ (โยนิโสมนสิการภาษา) แทนภาษาวาทกรรม (ตรรกะ)
๒) เดินตามทางสายกลาง คือ อุทิศตนบำเพ็ญบารมีด้วยจิตที่ปล่อยวาง
เมื่อทำได้อย่างนี้ พระพุทธศาสนาก็กลายเป็นทางออกให้แก่สังคมอย่างแท้จริง โดยที่ไม่ได้เป็นตัวสร้างปัญหาและไม่ได้พอกพูนตัณหา

จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการและแนวทางประยุกต์ใช้ แต่คงหลักการไว้ หมายความว่า พระพุทธศาสนาไม่สามารถที่จะหยุดยั้งโลกยุคโลกาภิวัตน์อันเป็นวิถีความเจริญของสังคมที่กระจายไปสู่ทุกหนแห่งบนโลก โลกที่ต้องใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องประกอบในชีวิต ไม่เว้นแม้แต่บรรพชิต ทำอย่างไรจึงจะปรับเปลี่ยนวิธีการที่จะอยู่ได้ภายใต้โลกยุคโลกาภิวัตน์นี้อย่างปลอดภัย มหายานได้นำหน้าไปก่อนแล้วในการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือเผยแผ่พระพุทธศาสนา พุทธศาสนาเถรวาทกำลังเดินตาม ไม่ต้องสงสัยว่าได้หรือไม่กับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่กับงานพระพุทธศาสนา ก็คนเป็นคนในยุคนี้ มีความคิดความอ่านตามกระแสของคนในยุคนี้ ดังนั้นก็ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ มีแต่ต้องรักษาหลักการทางพระพุทธศาสนาไว้ แล้วหาวิธีการที่เหมาะสมในการดำเนินการ เป้าหมายคือการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้าไปประยุกต์ใช้ในชีวิตของสังคม ปัจจุบันมีหลายองค์การทางพระพุทธศาสนาให้คำปรึกษาทางเว๊ปไซด์ มีการ Chat ธรรมะให้คำปรึกษา ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมเป็นช่องเคเบิลทีวี มีสถานีวิทยุธรรมะ ทั้งหมดเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาไปแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือการบริหารระบบให้ดีนี่คือพระพุทธศาสนาแนวใหม่ที่จะมาในรูปขององค์การต่างๆ ต่อไป

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ฟ้ารุ่ง & น้ำทิพย์



มอบให้ไก๊ด์สาวไทลื้อ “ฟ้ารุ่ง”

ไก๊ด์สาวชาวผู้ไต๋ คนงาม
ภาษาไทยเธอนาม ฟ้ารุ่ง
ใครใครใคร่ไต่ถาม ปัญหา นานา
ทุกเรื่องเธอเฟื่องฟุ้ง ฟ้ารุ่งไขขาน ฯ
ขออำนวยอวยพร สตรี
ฟ้ารุ่ง น้องคนดี ก้าวหน้า
เจริญสุขเจริญศรี เจริญทรัพย์ แม่เฮย
สุขทรัพย์ประหนึ่งฟ้า อย่าถึงสิ้นสลาย ฯ



มอบให้ไก๊ด์สาวไทลื้อ “น้ำทิพย์”

บัสสองน้องน้ำทิพย์ คนงาม
ไก๊ด์นำไทยสยาม น่ารัก
คอยหวงห่วงทวงถาม นัดแนะ นำเฮย
น้ำใจงามยิ่งนัก ยากจักไขขาน ฯ
ตลอดสี่วันเธอ ยิ้มให้
อาจารย์ทั้งหญิงชาย สดชื่น
อนาคตเธอจุ่งได้ สมหวัง เถิดนา
ยิ่งสวยรวยเริงรื่น สุขสันติ์หรรษา ฯ

พระเทพวิสุทธิกวี (เกษม)
๓๐ ตุลาคม-๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

นิราศไกลไป-ลาว-จีน


















คณาจารย์และคณะบัณฑิตศึกษา มมร
เดินทางสัมมนาวิชาการ
ณ สิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน
๓๐ ตุลาคม – ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
....................


เริ่มวันที่สามสิบตุลาคม โลกนิยมศกสองห้าห้าสอง
เป็นวันศุกร์ยุคไทยคึกคะนอง เป็นยุคทองสินค้าราคาแพง ฯ

คณะเราเหล่าชาว มอ.มอ.รอ. ทั้ง ญอ.ชอ.หญิงชายใคร่แถลง
ทัศนศึกษาศรัทธาแรง พร้อมแสดงความรักสามัคคี ฯ

ณ เขตแคว้นแดนสิบสองปันนา เจ็ดสิบเอ็ดผู้กล้าประเสริฐศรี
คณาจารย์รวมเก้าเลขเข้าที ส่วนศิษย์มีหกสองต้องตำรา
มี “พระเทพวิสุทธิกวี” คราวครานี้ถูกยกเป็นหัวหน้า
“พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยา- จารย์” ก็มาในฐานคณบดี
ท่านด๊อกเตอร์สุวิญวงศ์ “รักสัตย์” เป็นผู้จัดกิจกรรมในยามนี้
เป็นหัวหน้าโครงการงานมากมี สำคัญที่ความหล่อบ่รองใคร ฯ

“พระศรีรัชมงคลเมธี” ท่านมากมีบุญญายากหาไหน
เป็นอาจารย์บัณฑิตวิทยาลัย มากน้ำใจยิ่งนักน่ารักแรง
พระมหาวิโรจน์ “คุตตะวีโร” ท่านมาโชว์ความหล่อขอแถลง
ท่านด๊อกเตอร์สุกิจศรัทธาแรง “ชัยมุสิก” แจ่มแจ้งแห่งสกุล
ท่านด๊อกเตอร์เสน่ห์ เดชะวงศ์ ผู้เผ่าพงศ์ชาวเหนือมาเกื้อหนุน
พร้อมธีรัตม์ แสงแก้วเกียรติสกุล กิตติคุณด๊อกเตอร์เลอราคา
อีกด๊อกเตอร์สาลินีสตรีสวย โลกงงงวยด้วยนึกว่านางฟ้า
สกุลรักกตัญญูผู้ศรัทธา ผู้เกิดมาเพื่อพระรัตนตรัย
เจ้าหน้าที่มีมากันเจ็ดท่าน วิชาการศึกษาไม่หวั่นไหว
ท่านพระครูปลัดนามสมใจ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอารามราชา
พระมหาชัยยันต์ “จัตตาละโย” ผู้ร่มโพธิ์ร่มไทรในวันหน้า
พระมหาพิทักษ์นามฉายา ศรีสง่า “จิตตะโสภะโณ”
พร้อมแม่ชีราตรีสมพินิจ ผู้กายจิตผ่องใสใหญ่อักโข
แม่ชีสุภาพรรณกลิ่นนาโค บุญอักโขเยี่ยมยอดตลอดกาล
อีกนางสาวอรพิมจันทร์เกษม ผู้กายจิตปรีคิ์เปรมเกษมศานติ์
อีกศุภณัฐวิชญ์ชายเชิงชาญ ผู้สืบสาน “วรรณะ” สกุลไทย ฯ

นักศึกษาปริญญาเอกรุ่นหนึ่ง จำนวนถึงสิบท่านมิหวั่นไหว
ต่างมีความพร้อมพรักสมัครใจ เดินทางไปศึกษาหาความจริง
ท่านที่หนึ่ง “พระอธิการชุมพร” นามกรท่านนับว่าเนี๊ยบหนิง
นามฉายา “จารุวัณโณ” อิง ท่านแน่นิ่งในธรรมนำศรัทธา
พระมหาบุญไทย “ปุญญะมะโน” บุญใหญ่โตน่ารักยิ่งนักหนา
พระมหาบุญศรีมีฉายา ปรากฏว่า “ญาณะวุฑโฒ” โชว์
ด๊อกเตอร์พระมหาธรรมรัต มาจากวัดมหาธาตุปราชญ์อักโข
นามฉายา “อริยธัมโม” สุดแสนโก้ด๊อกเตอร์ มอ มอ รอ
ภควดี เลิศกาญนวัติเล่า คือนางสาวแสนสวยเสียจริงหนอ
สุมาณพ ศิวารัตน์นายเก่งพอ ประสานต่อทุกฝ่ายได้อย่างดี
วนิชย์ วัลภาพันตำรวจโท ยศตำแหน่งใหญ่โตโชว์ศักดิ์ศรี
อีกโสภณ ขำทัพนับว่ามี มิตรไมตรีสัมพันธ์ปันน้ำใจ
ยงสยาม สนามพลก็คนเก่ง นับว่าเจ๋งอีกท่านขอขานไข
ผจญ คำชูสังข์ยังพร้อมใจ ตำแหน่งใหญ่ที่รองศาสตราจารย์
ยังว่าที่ด๊อกเตอร์ติดป้ายแดง จึงมาแรงทั้งได้มาตรฐาน
รุ่นที่หนึ่งสิบท่านนั้นเชี่ยวชาญ วิชาการแน่วแน่ไม่แพ้ใคร ฯ

ปริญญารุ่นสองนักศึกษา เก้าชีวาชั้นเอกเลขขานไข
พระมหาบุญนภัสร์นามเกริกไกร ฉายาได้ว่า “ถิระปุญโญ”
พระมหาสุรวุฒิ “จันทะธัม- โม” น้อมนำความวิเศษวิโส
พระมหาคำสัน อีกเถโร “วิสุทธิญาโณ” นามฉายา
ถึงเพ็ญศรีสกุลหงส์พานิช มากน้ำจิตสุขสันติ์เริงหรรษา
อีกหนึ่งนั้นแน่นางสาวกัญญา ภู่ระหงษ์ส่งมาการันตี
นาที รัชกิจประการ เธอติดงานจำงดจรครานี้
ศิริพร บุญชัยเสถียรมี ตำแหน่งที่นางดาวสุภา
อุรชา สกุลธนกฤช ผ่องใสจิตนางสาวคุณเจ้าขา
สงกรานต์ สีตองอ่อนอีกก็มา สามสิบห้าเลขนับลำดับนาย ฯ

ปริญญาเอกอุ่นรุ่นที่สาม ยังมีนามให้นำมาขยาย
พระมหาวิสูตรเกียรติกำจาย ฉายาได้ “วิสุทธิเมธี”
พระมหาวิชัยใจใหญ่โต “ธัมมะวิชะโย” เชียวนะนี่
พระมหาเศกสิทธิ์จิตอารี “รตนโมลี” นามฉายา
พระมหาเอกชัย ใจรักศาสน์ นามประกาศ “จันทะสิริ” หนา
กิตติศักดิ์นั้นนายน้ำใจมา ศรีสง่า “ตีระพิมลจันทร์”
กุลยาณี อิทธิวรกิจ ยังปลื้มจิตนางสาวอยู่สุขสันติ์
ปริศนา ไกรวิทย์จิตอนันต์ ได้ร่วมกันเดินทางอย่างเต็มใจ
นายประทีป จินงี่ นี่มาด้วย กายใจช่วยกิจการไม่หวั่นไหว
แล้วถึงพงศ์ธนภัทรปรัชญาไกล นิธิญาณโรจน์ใช่นามเผ่าพงศ์
ภัคศรัณย์ โพธิ์เย็นญาตินางสาว เสน่ห์พราวสดใสใจประสงค์
ถึงมณฑา กระวีพันธ์อนงค์ อานิสงส์จากบุญเกื้อกูลมา
นายมานะ กาญจนแสนส่ง จิตมั่นคงแกร่งจังดั่งภูผา
อีกนางสาวยุคนธรก็มา เชื้อวงศา “อังศุสิงห์” มิ่งมงคล
นาวาเอกนาม รชต แหล่งสิน เหล่านักบินล่องไปในเวหน
อีกหนึ่งนางลักขณาสาธุชน มหาวินิจฉัยมนตรีสกุล
นางสาวสุจิตรา ทิพย์บุรี กุลสตรีมีน้ำใจเกื้อหนุน
นายโสภณ บัวจันทร์ อนันต์คุณ สร้างสมบุญหนุนไว้ได้มากมี ฯ

ปริญญาโทสี่ท่านนักศึกษา เดินทางมาด้วยกันในวันนี้
เยาวเรศ ชื่อชัดว่าสตรี สกุลมี “แสงเลิศสิลปะชัย”
ท่านพระครูธรรมธร อภิชาติ “อภิชาโต” ปราชญ์สมองใส
กฤษณะ รอดเริงรื่น จิตใจ อีกหนึ่งนายหาญกล้ามาด้วยกัน
อีกนางสาวนามว่าอุษณีย์ วงศ์ธนะบูรณ์ชัย มีสกุลมั่น
ทั้งนายนางนางสาวมาครบครัน อีกหนึ่งนั้นพระครูธรรมธร ฯ

ผู้ติดตามล้นหลั่งตั้งสิบห้า จิตศรัทธาแรงฤทธิ์ไม่คิดถอน
ที่หนึ่งนั้นเจ้าคุณนามกร ลือกระฉ่อนพระปริยัติธาดา
อรอุมา เลาหพิบูลย์กุล ผู้มากบุญยิ่งนักยากจักหา
เสริมศิริ จอมขวัญนั้นก็มา อัครพุฒิพันธ์ การันตี
ทั้งรานี เจาลา ก็มาด้วย พกความสวยแสนสง่ามาเต็มที่
มล.อรรคพรรณ กมลาศน์มี มิตรไมตรีเดินทางมาด้วยกัน
สุลี กาญจนแสนส่ง แสนองอาจ นับเป็นญาติชาติเชื้อเอื้อสิ่งสรร
คัชลิดา ศกุนวัฒน์ ผิวผ่องพรรณ ศรัทธามั่นเปี่ยมล้นพ้นคณา
นางสาวกุสุมา แสงเดือนฉาย ผู้ใจกายนอบนบศาสนา
ทั้งนางสาวสุธาทิพย์แสนโสภา แสงเดือนฉายอีกนาน่าชื่นชม
นางสาวนิศานาถ เตียบฉายพันธ์ มโนมั่นพุทธศาสน์สง่าสม
นางประเทือง เตียบฉายพันธ์ นิยม พระบรมโลกนาถศาสดา
รัชนี รอดภัย อีกหนึ่งนาง ร่วมเดินทางแสนไกลไป่กังขา
ศรศมน ผึ้งสำราญ อุรา ทัศนาต่างด้าวท้าวต่างแดน
ปรารถนา ยศพล คนฉลาด บัณฑิตชาติเธอมีดีสุดแสน
อีกครรชิต เขื่อนเพชรหนุ่มหมอแคน ดีเหลือแสนตรงที่บริการ ฯ

เจ็ดสิบเอ็ดชีวิตติดบัญชี ทัศนีย์เส้นทางกว้างไพศาล
เขตสิบสองปันนาอดีตกาล มีตำนานบอกเล่าว่าถิ่นไทย
อนิจจังสังขารโลกใบนี้ บางยุคมีผู้ครองให้ผ่องใส
ถึงบางยุควนเวียนเปลี่ยนมือไป หาอะไรแน่นอนไม่ได้เลย
ส่วนพวกเราเล่ามากันครานี้ เป้าหมายมีที่จะกล่าวเฉลย
ทั้งท่องเที่ยวศึกษาหาเสบย ถิ่นไม่เคยสัมผัสมาสักครา
ขอเพื่อนพ้องน้องพี่ที่น่ารัก พึงตระหนักการเที่ยวต้องศึกษา
เก็บความรู้ใส่ใจไม่รอรา ทั้งหรรษาสุขสันติ์ทั่วกันเทอญ ฯ

......................................................




๐๑. อรุณฤกษ์ เบิกฟ้า อรุณฉาย
แสงแพรวพราย เจิดจ้า สว่างไสว
สามสิบตุ- ลาคม สุขสมใจ
ได้คลาไคล แต่เช้า เยี่ยมชาวจีน ฯ
๐๒. เป็นวันศุกร์ ศกสอง ห้าห้าสอง
รวมพี่น้อง มวลมิตร จิตทรงศีล
สกสีกา น้อยใหญ่ ไร้วัยทีน
รวมทั้งสิ้น เบ็ดเสร็จ เจ็ดหนึ่งคน ฯ
๐๓. ผู้จัดทัวร์ อีกสาม นามไฉน
อัชฌาสัย ไม่นาน คงรู้ผล
ตามโครงการ สี่วัน เราเวียนวน
เพื่อสืบค้น แผ่นดิน ถิ่นไทยครอง ฯ
๐๔. สุวรรณภูมิ ขึ้นเครื่อง แอร์เอเชีย
มาเลเซีย ร่วมไทย ใหญ่ผยอง
แย่งตลาด การบิน ถิ่นไทยครอง
ให้ไทยต้อง ชอกช้ำ แต่จำยอม ฯ
๐๕. สุวรรณภูมิ บินสู่ เมืองเชียงราย
เมืองแม่สาย ถิ่นไทย ใฝ่ถนอม
เครื่องเอสาม- สองศูนย์ รุ่นด็อทคอม
พวงพะยอม มากมาย สบายใจ ฯ
๐๖. สิบเก้าบี ที่นั่ง เขาให้มา
ยามเหินฟ้า พาให้ สุขไฉน
อยู่ฝั่งซ้าย ไร้แสง สาดเข้าใน
มองออกไป ได้เห็น พสุธา ฯ
๐๗. หนึ่งชั่วโมงยี่สิบห้า นาที
แอร์เอเชียบินรี่ ขึ้นเหนือ
เชียงรายเป้าหมายมี ชัดแจ้ง ใจเฮย
สงบราบเรียบเหลือ เมื่อไร้เมฆฝน ฯ
๐๘. ยามลงตรงภาคพื้น เชียงราย
เมฆหมอกมีประปราย อยู่บ้าง
โครมโครมเสียงกระจาย เข้าโสต สองแฮ
ล้อแตะพื้นเบื้องล่าง อ้างว้างหวิวเหวย ฯ
๐๙. เอ็นซีฮอลลิเดย์ ทัวร์รับ
บัสสองคันขยับ ขับเคลื่อน
เชียงของเขตไทยนับ สุดเขต แดนเฮย
ข้ามโขงเข้าลาวเพื่อน เสมือนพี่น้อง ฯ
๑๐. สองร้อยกิโลเมตร- เศษทาง
ชายรายเชียงของห่าง ไม่น้อย
ด้วยฟ้าแจ้งจางปาง ร้อนจ้า นาแม่
สงบเงียบเรียบร้อย คอยจ้องซ้ายขวา ฯ
๑๑. นั่งรถผ่านอำเภอ เวียงชัย
อำเภอเทิงผ่านไป เชียงของ
เชียงรายกว้างเต้าได๋ เปิ้ลยั้ง บ่บอก
บ้านเรือนไต๋ปี้น้อง สองฝั่งสุดสวย ฯ
๑๒. นั่งฟังพระคุณเจ้า พรรณนา
ผ่านไปหลายเพลา หลายท่าน
เอื้อนเอ่ยเผยวาจา ทักทาย แถลง
ผ่านเทือกเขาลดหลั่น กั้นเขตมากหลาย ฯ
๑๓. เชียงของล่องข้ามโขง สู่ลาว
ฝั่งโน้นสิเขาว่าว บ่อแก้ว
ห้วยทรายบ้านมีสาว มีหนุ่ม คือกัน
หนึ่งชั่วโมงล่วงแล้ว แม่แก้วแดนเหนือ ฯ
๑๔. ถึงครั้งคราเสียแล้ว หม้อลม
รั่วหมดรถระทม จำจอด
สองคันสวรรค์ล่ม เหนือภู แม่เฮย
ขืนวิ่งไปไป่รอด จอดนิ่งอีกแล้ ฯ
๑๕. นั่งชมป่าชมไม้ พงไพร
หลายนาทีผ่านไป ลับล่วง
สองครั้งคราไฉน เสียศูนย์ อีกนา
ให้จิตใจหวงห่วง ล่วงยามนัดหมาย ฯ
๑๖. รถวิ่งได้หายห่วง กังวล
จุ่งพวกเราทุกคน จิตชื่น
ให้หายห่วงสับสน เริงร่า ทั่วแล
พร้อมบันเทิงเริงรื่น ชื่นฉ่ำสดใส ฯ
๑๗. ชื่นชมสองฝั่งทาง ไทยดำ
ฉางข้าวเขาริทำ ทิวแถว
ข้าวไร่ภูเขานำ วางไว้ ภายใน
กินขายข้าวสิ้นแล้ว แว่วว่าปิดฉาง ฯ
๑๘. บ้านเรือนเผ่าไทยดำ เรียงราย
ตั้งฐานอยู่บ่ไกล ถนน
แถบเทือกเขาน้อยใหญ่ ตลอด เส้นทาง
เห็นว่าน่าฉงน คนดอยเจ้าเอ๋ย ฯ
๑๙. เจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ป่า ลาวมี
อุดมสมบูรณ์ดี ทั่วหล้า
ภาคพื้นเขียวขจี ทั้งภู นาแฮ
เป็นบุญยิ่งนักหนา มาได้พบเห็น ฯ
๒๐. น้ำฟ้าถิ่นที่พัก ครึ่งทาง
เบาหนักเอื้อนายนาง ผ่อนถ่าย
ห้าบาทขาดตัวอ้าง หนึ่งครั้ง หนึ่งคน
จุ่งเขียนบันทึกไว้ ให้ทวนความหลัง ฯ
๒๑. ถนนหนทางเขา คดเคี้ยว
คดโค้งโก่งดั่งเคียว เกี่ยวข้าว
นับพันนับหมื่นเทียว คดจริง แท้แล
อีกสูงชันนั้นเล่า ลาวมีถนน ฯ
๒๒. เมืองลาวเริ่มปลูกยาง พารา
ประมาณสามสี่ห้า ปีได้
บางช่วงลาวทำนา ข้าวเหนียว ข้าวจ้าว
ผืนป่าเริ่มหดหาย ให้ภูล้านโล้น ฯ
๒๓. ลำน้ำห้วยน้ำใส ชื่นตา
อาจมองเห็นตัวปลา แหวกว่าย
เชิญชวนทัศนา แมกไม้ มวลเมฆ
สดชื่นรื่นเริงหลาย ให้สุขหรรษา ฯ
๒๔. สิบสี่เผ่าเหล่าชน ชาติลาว
ทั้งผิวดำผิวขาว ผิวเหลือง
รวยจนป่นคลุกเคล้า เหล่าจน มากแล
ปัญหานี้ซิเรื่อง เมืองลาวชอกช้ำ ฯ
๒๕. จากเช้าเราเดินทาง ยืนยง
จวบอาทิตย์อัศดง ปรากฏ
ตามวัตถุประสงค์ ชื่นชม ธรรมชาติ
ทางคดเคี้ยวเลี้ยวลด หมดวันลงแล้ว ฯ
๒๖. บ่อเต็นถิ่นที่หมาย คลาไคล
ฝั่งลาวหวังข้ามไป บ่อหาน
ฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ หมายพัก แรมเฮย
โปรแกรมแง้มไขขาน กะการณ์นัดหมาย ฯ
๒๗. อุปสรรคขัดข้อง ปัญหา
ตามที่ได้ไขมา ข้างต้น
เหตุให้เกิดชักช้า กว่าควร เป็นแล
ยังมีดีเหลือล้น พ้นภัยทุกสถาน ฯ
๒๘. บ่อเต็นเป็นเขตแคว้น แดนลาว
คือด่านตรวจคนเข้า คนออก
บรรยากาศหงอยเหงา เงียบยิ่ง จริงแล
ประดุจดั่งบ้านนอก บอกไว้ให้รู้ ฯ
๒๙. หนึ่งกิโลเมตรประมาณ เลยไป
ด่านจีนแผ่นดินใหญ่ บ่อหาน
แสงสว่างสดใส ให้แปลก ตาแฮ
ต่างชาติมาตรฐาน การกิจสดใส ฯ
๓๐. ลาวจีนถิ่นแดนชิด ติดกัน
ต่างทั้งสีผิวพรรณ พัฒนา
ด้วยสมองเชิงชั้น สามารถ แลพ่อ
จุ่งจีนเขาก้าวหน้า กว่าลาวมากโข ฯ
๓๑. เวลาจีนไทยลาว ต่างกัน
จีนเขากำหนดวัน เร็วกว่า
ไทยลาวเราสองนั้น กำหนด หนึ่งแล
หนึ่งชั่วโมงจีนว่า เร็วกว่าเราสอง ฯ
๓๒. สองทุ่มห้าสิบหก นาที
เวลาจีนเขามี กำหนด
ส่วนว่าไทยลาวนี้ ทุ่มห้า- สิบหก
ไป่เกี่ยวความเคี้ยวคด กฎยามกรีนิช ฯ
๓๓. นั่งรถรอตรวจคน เข้าเมือง
กิจนี้สิคือเรื่อง ยิ่งใหญ่
นั่งรอกันตาเหลือง ตาเหลือก แม่เฮย
เขาช่างวินิจฉัย สงสัยยิ่งหนอ ฯ
๓๔. ไก๊ด์สาวชาวผู้ไต๋ คนงาม
ภาษาไทยเธอนาม ฟ้ารุ่ง
ใครใครใคร่ไต่ถาม ปัญหา นานา
ทุกเรื่องเธอเฟื่องฟุ้ง ฟ้ารุ่งไขขาน ฯ
ขออำนวยอวยพร สตรี
ฟ้ารุ่ง น้องคนดี ก้าวหน้า
เจริญสุขเจริญศรี เจริญทรัพย์ แม่เฮย
สุขทรัพย์ประหนึ่งฟ้า อย่าถึงสิ้นสลาย ฯ
๓๕. แปดจังหวัดมณฑล ยูนาน
สิบสองปันนานั้น นับหนึ่ง
ประชากรเพียงล้าน ประมาณ พ่อเฮย
บอกว่ามากกว่าครึ่ง ซึ่งเป็นไต๋ลื้อ ฯ
๓๖. ตีหนึ่งถึงที่พัก กายา
โรงแรมอัครา ชั้นเยี่ยม
เทียนชุนตึกหรูหรา หนึ่งเดียว เชียวนอ
สุขกายใจล้นเปี่ยม เมื่อเยี่ยมเมืองนี้ ฯ
๓๗. ตื่นเช้าเข้าช่วงวัน ต่อมา
สามสิบเอ็ดตุลา- คมมาส
อาหารเช้าหรรษา เอมอิ่ม ยิ่งแล
เสร็จสรรพนับโยมญาติ ปราดขึ้นรถบัส ฯ
๓๘. เคลื่อนย้ายไปชมสวน โบราณ
เขตวังกษัตริย์ท่าน สุดท้าย
พร้อมพรักอัครฐาน เก่าแก่ หนึ่งแล
โจเอินไหลท่านได้ ให้สาธารณะ ฯ
๓๙. อนุสาวรีย์โจ- เอินไหล
สวนนกยูงยิ่งใหญ่ แปดร้อย
เจดีย์ขาวหน่อไม้ แปดเหลี่ยม อีกองค์
กาแฟรสอร่อย พลอยซื้อเป็นแถว ฯ
๔๐. สมควรแก่เวลา พาชม
ยังมีสิ่งนิยม ว่าเลิศ
มีดครัวเหล็กผสม โอท็อป นั่นแล
แจงดีมีผลเกิด เลิศหลากมากหลาย ฯ
๔๑. พักหนึ่งถึงเวลา กะเกณฑ์
ยามสำคัญฉันเพล กู้ชีพ
สงฆ์สกสีกาเถร พร้อมหน้า พลันแล
ประหนึ่งว่าเร่งรีบ พริบพรึบหมดโต๊ะ ฯ
๔๒. ฉันแล้วพร่ำอำลา เลยไป
ชมสวนสมุนไพร พันปี
พีธีกรเสียงใส มาลี นามแฮ
หลายหมื่นเราน้องพี่ ยินดีเทกระเป๋า ฯ
๔๓. ชุมเห็ดสมอไทย ระกำ
เลือดมังกรเขานำ เสนอ
เห็ดหลินจือเขาย้ำ คุณภาพ เยี่ยมแฮ
ส่วนว่ามาลีเธอ ปราศรัยเสียงแจ๋ว ฯ
๔๔. ถึงลำดับพักผ่อน หย่อนใจ
ถือเป็นรอบไฮไล้ท์ ช็อตเด็ด
ยูงทองท่องพงไพร โชว์เชฟ ชวนชม
บอกไว้ใช่กล่าวเท็จ เพชรท่องเที่ยวเขา ฯ
๔๕. นกยูงจากป่าดง พงไพร
พร้อมโชว์ชาวจีนไทย ฝรั่ง
แขกลาวชาวไหนไหน ยูงโชว์ ถ้วนแล
ถึงยามยูงไป่ยั้ง พรั่งมาเป็นแถว ฯ
๔๖.เชียงรุ้งเมืองรุ่งฟ้า น่าชม
ชนชาวจีนนิยม ยกย่อง
เชียง เมืองคำปฐม สมรุ้ง รุ่งแฮ
อรุณรุ่งรุ้งพ้อง คล้องจองคำ รุ้ง ฯ
๔๗. นั่งรถข้ามแม่โขง ไปมา
คิดแล้วสี่เพลา พ้นผ่าน
ให้ได้ทัศนา เชียงรุ้ง ถนัด
ฟ้ารุ่งไก๊ด์ไขขาน ผ่านเครื่องขยาย ฯ
๔๘. ตกเย็นเผ่นเข้าร้าน อาหาร
ญาติโยมรับประทาน สุขสันติ์
ไต๋ลื้อบริการ เยี่ยมยอด นักแล
พระสงฆ์องค์เจ้านั้น ฉันน้ำปานะ ฯ
๔๙. ทะเลสาบสุธน มโนห์รา
ฟ้ารุ่งเธอบอกมา ชัดแจ้ง
หนองน้ำนั่นแลหนา สองสาม ไร่เฮย
ยืนรอยูงขาแข้ง แสดงเมื่อยล้า ฯ
๕๐. คุณอภิชาติ เกียรติ- โสภณ
หนุ่มหล่อเราอีกคน เชิงเชี่ยว
ชำนาญการฝึกฝน นำทัวร์ ดีแฮ
ไป่เคยเลยกราดเกรี้ยว แม้นเปรี้ยวยังหวาน ฯ
๕๑. เอ็นซีฮอลลิเดย์ ทัวร์ไทย
เครือข่ายเขากว้างไกล ทำได้
กิจการงานสดใส ไปได้ เยี่ยมนอ
อินเดียจีนขยาย สายเส้นสุดสวย ฯ
๕๒. หนึ่งนายนั้นสำคัญ บริการ
ขับรถบัสชำนาญ ชั้นก่ง
คุณ ศฉง นามขนาน ทราบด้วย นาพ่อ
ใดควรช้าควรเร่ง เล็งเหมาะสมัย ฯ
๕๓. เสี่ยงจัง นามหนึ่งนาย ใคร่เอ่ย
จำเราต้องเฉลย นามไว้
ผู้ช่วยไก๊ด์แน่เลย ไต๋ลื้อ หนุ่มหล่อ
ภาษาไทยเธอพอได้ ใช้ขัดตาทัพ ฯ
๕๔. อีกนายผู้ได้จาก ไทยมา
อัครทรัพย์ฮา นามขนาน
เชิงชั้นทัวร์นั่นหนา ห่อนด้อย นาพ่อ
บริการประสาน งานถ้วนสาขา ฯ
๕๕. กิจการงานตื่นเต้น ทัวร์ไทย
อีก้อเผ่าเราไป เยือนเยี่ยม
ให้หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ ชื่นมื่น ยิ่งแล
เกือบลืมอายลืมเหนียม เตี้ยมแต่งผู้สาว ฯ
๕๖. เหล่านั้นท่านใดบ้าง ครวญดู
ครั้นจักทวนให้รู้ ใช่ที่
ยามหอมแก้มคุณหนู ซู่ซ่า ไหมเฮย
ฤๅว่าคราครั้งนี้ มีโชควาสนา ฯ
๕๗. วัฒนธรรมเผ่าพงศ์ อีก้อ
ห้าสิบหยวนเพียงพอ งานแต่ง
หวังอยู่กินจริงนอ ขอเติม อีกนา
งานนี้เพียงแสดง แสร้งสร้างหรรษา ฯ
๕๘. อีกหนึ่งนั้นวัฒ- นธรรม
การขับร้องร่ายรำ โดดเต้น
โปรแกรมเยี่ยมยามค่ำ นำจิต ชื่นนอ
ลีลาท่าทางเน้น เด่นดีสีแสง ฯ
๕๙. พาราณสี สิ่ง แสดง
วิถีชีพแถลง ชนเผ่า
วัฒนธรรมแห่ง สิบสอง ปันนา
เมืองพระพุทธเจ้า เขาย้ำจุดเน้น ฯ
๖๐. สามทุ่มกลับที่พัก โฮเต็ล
เทียนชุนแห่งนี้เป็น ชั้นยอด
บิสสิเนสสร้อยเน้น เด่นบอก ชัดแล
สุขสบายให้ปลอด มอดมดยุงริ้น ฯ
๖๑. ครั้นถึงซึ่งที่พัก ผ่อนกาย
สรงน้ำเสริมสบาย คลายเหนื่อย
อ่อนเปลี้ยเพลียหดหาย มลาย สิ้นแล
ใดเคยปวดเคยเมื่อย เอื้อยจางห่างหาย ฯ
๖๒. หมายเลขห้องสี่ศูนย์ ศูนย์หนึ่ง
ห้องให้เราได้พึ่ง พิงพัก
บุญวาสนาถึง พักเดี่ยว เชียวนา
ขอขอบคุณมิตรรัก สักร้อยพันหน ฯ
๖๓. ชื่นชมชาวเชียงรุ้ง หญิงชาย
ชื่นชมเมืองสบาย กว้างใหญ่
ขอบเขตขยับขยาย รอบด้าน อีกนา
ชมพี่น้องผองไต๋ ไว้ทุกเทือกเถาว์ ฯ
๖๔. วันที่หนึ่งพฤศจิกา- ยนมาส
แสงสุรีย์ส่องสาด สดใส
สัมมนาพุทธศาสน์ ชั้นแปด โน่นแล
หนึ่งชั่วโมงคงไว้ ได้เรื่องสมหวัง ฯ
๖๕. แปดโมงลงจากห้อง สัมมนา
ผองเราพร้อมกันมา ขึ้นรถ
สองคันพลันมุ่งหน้า วัดพุทธ หนึ่งแล
ด้วยจิตใจจ่อจด รถพาเราถึง ฯ
๖๖. ถึงวัดหลวงไทลื้อ ลือนาม
ศิลปะงดงาม เพริดแพร้ว
เยี่ยงอย่างศิลป์สยาม ไทยเรา แท้เฮย
อาคารเด่นเป็นแถว แนวเชิงภูเขา ฯ
๖๗. พระพุทธลีลา โอฬาร
แปดสิบแปดเมตรประมาณ ส่วนสูง
ตั้งเด่นเหนือวิหาร สูงใหญ่ อีกแล
สร้างไว้ด้วยหมายมุ่ง ปรุงแต่งศาสนา ฯ
๖๘. มารวิชัยปางพระ- ประธาน
ภายในพระวิหาร สง่า
เจ็ดเมตรโดยประมาณ หน้าตัก พ่อเฮย
เก้าเมตรเศียรเสียดฝ้า พระเกตุสุดสูง ฯ
๖๙. พระสงฆ์สามเณร พอมี
วัตรปฏิบัติดี ใช้ได้
อัธยาสัยไมตรี ต้อนรับ เยี่ยมยอด
สังฆทานถวายไว้ ท่านได้ใช้สอย ฯ
๗๐. วัดวาอารามนั้น พอมี
ห้าร้อยแปดแปดที่ เลขเด็ด
ฝ่ายพระสงฆ์ทรงศรี หกร้อย ประมาณ
สามเณรลื้อใจเพชร สี่พันท่านแถลง ฯ
๗๑. เถรวาทฝักฝ่าย พุทธศาสน์
ป่วงไต๋ลื้อโยมญาติ ศรัทธา
ล้วนมั่นคงองอาจ แน่นแฟ้น ยิ่งแล
ทั้งพิทักษ์รักษา ศาสนามั่นไว้ ฯ
๗๒. กิจกรรมนำชน ศรัทธา
แนววิปัสสนา สอนสั่ง
กิจกรรมศึกษา ขัดข้อง อยู่แล
โอกาสกว้างข้างหน้า หมายว่าสดใส ฯ
๗๓. รัฐบาลจีนท่านให้ อิสระ
สร้างวัดสำหรับพระ- ศาสนา
พุทธผู้วิริยะ สร้างคน ดีเฮย
สมถะวิปัสสนา พระคุณเจ้าสอน ฯ
๗๔. ท่านบุญถิ่นรับแทน สมภาร
ผู้วันนี้มีงาน ต่างเขต
เจรจาฉะฉาน ใช้ได้ ดีแฮ
อีกหนึ่งนั้นนักเทศน์ เขตเมืองเชียงรุ้ง ฯ
๗๕. สังฆทานถวาย ท่านไป
พวกเราต่างชื่นใจ เลิศล้ำ
ให้กายจิตผ่องใส ยิ่งอู้ คำเมือง
ท้ายสุดบอกตอกย้ำ สัมพันธ์ศาสนา ฯ
๗๖. จากวัดหลวงไทลื้อ เราไป
ทุกท่านนั้นมุ่งหมาย ช้อปปิ้ง
ใบชาจีนชุดใหญ่ ของแท้ แน่แล
จำนวนหยวนทวนทิ้ง น่ายิ่งหมื่นหยวน ฯ
๗๗. ช้อปชาพาเอาเกือบ อดเพล
พลาดเวลากะเกณฑ์ วางไว้
สิบนาทีนี้เน้น ฉันเงียบ เชียบนอ
ครั้นเต็มท้องเต็มไส้ หายใจโล่งเหลือ ฯ
๗๘. ยงสยามทำเอา ได้ฮา
เมื่อเกิดลืมใบชา ซื้อแล้ว
ฟู่หลงนี้เขากา- รันตี จริงแฮ
แม้นลืมก็บ่แห้ว ขายแล้วห่อนพลิ้ว ฯ
๗๙. เสร็จเพลเป็นเวลา สำคัญ
ขึ้นกระเช้าพร้อมกัน ข้ามโขง
ครานี้มีหลายท่าน สั่นเทา กลัวแฮ
ข้ามโขงได้ให้โล่ง อกโล่งใจเหลือ ฯ
๘๐. ต่อนั้นพลันจุ่งได้ อาศัย
นั่งรถลากจูงไป อีกที่
ภูเขาลิงนั่นไง เขาให้ ชมแฮ
ทัวร์เขาเน้นเด่นดี พิเศษสดใส ฯ
๘๑. บ่อน้ำใสศักดิ์สิทธิ์ สำคัญ
ที่องค์พระทรงธรรม์ พุทธเจ้า
เนรมิตสร้างสรรค์ เพื่อไท ลื้อแล
หนึ่งฤๅษีมีเฝ้า ขาวสุดชุดสวม ฯ
๘๒. หน้าที่ฤๅษีเจ้า ร่ายมนต์
พิทักษ์บ่อทศพล โลกนาถ
นึกว่าน่าฉงน น้ำใส ฉ่ำเย็น
แปลกใจบ่อเหลือล้น บนยอดภูเขา ฯ
๘๓. ชมวัดวาอาราม อีกครา
เจดีย์ศรีสง่า สูงส่ง
บรรจุพระบรมสา- รีริก ธาตุแฮ
ประทักษิณบรรจง สวดอิติปิโส ฯ
๘๔. สามรอบชอบแก่กาล เวลา
สะพานแขวนบาทา ไต่ข้าม
หนึ่งเส้นประมาณว่า ความยาว แม่เฮย
แกว่งซ้ายขวาเมื่อยาม ข้ามไปฝั่งโน้น ฯ
๘๕. เบื้องบนพ้นเขตนี้ เลยไป
วังกษัตริย์มีใน อดีต
รกร้างเสื่อมสลาย สิ้นลง แล้วแล
คอมมิวนิสต์คั่นขีด พิชิตสิ้นสูญ ฯ
๘๖. จึ่งเราชาวคณะ จากไทย
บัณฑิตวิทยาลัย ชมลิง
น่าสงสารนี่ไฉน ป่วงลิง เจ้าเฮย
ขอบเขตคับแคบยิ่ง นิ่งนึกสงสาร ฯ
๘๗. ลิงขาวเจ้าโดดเดี่ยว งัวเงีย
เกิดเป็นลิงเพศเมีย ไร้คู่
มดลูกเธอก็เสีย สิ้นพันธุ์ แน่แล
เขาบอกหรอกจึ่งรู้ ใช่ผู้วินิจฉัย ฯ
๘๘. ลิงค่างทั้งชะนี นกยูง
เดินชมแข้งขาพุง กระเพื่อม
ลงจากภูเขาสูง ไป่น้อย เชียวนา
กว่าจะถึงซึ่งเงื้อม กระเช้าข้ามโขง ฯ
๘๙. ขึ้นกระเช้าข้ามกลับ ฝั่งเดิม
ไอศกรีมพลังเติม หนึ่งแท่ง
ท่านผู้ศรัทธาเสริม สุกิจ ด็อกเตอร์
เพิ่มพลังเรี่ยวแรง แกร่งขึ้นอักโข ฯ
๙๐. ครั้นทุกคนขึ้นรถ พร้อมสรรพ
โชว์เฟอร์ ศฉง ขยับ ออกรถ
ไก๊ด์กล่าวย้ำกำชับ ทรัพย์หล่น ระวัง
ถนนม้าเคี้ยวคด เลี้ยวซ้ายย้ายขวา ฯ
๙๑. หกสิบกิโลเมตร ต่อไป
เราต้องเดินทางไกล บ่น้อย
ชั่วโมงครึ่งอย่างไว เตรียมใจ เถิดนา
เลียบโขงโค้งจุ่งค่อย ละห้อยขับช้า ฯ
๙๒. หมู่บ้านชาวไต๋ลื้อ โบราณ
ส่วนที่ฝ่ายรัฐบาล อนุรักษ์
กั๋นหนั่นป้า สถาน เยี่ยมชม อีกแล
วัดบ้านเก่ายิ่งนัก เขารักษาไว้ ฯ
๙๓. สังฆทานถวาย ชื่นมื่น
ปัจจัยนั้นสองหมื่น มีเศษ
สมภารหนีไปอื่น ฝืนคิด ยิ่งแล
อารามสองต้องเพท เหตุสมภารหาย ฯ
๙๔. เยี่ยมวัดแล้วชมบ้าน ประชา
พระเทพเสด็จมา เยือนเยี่ยม
ต่อด้วยทัศนา สินค้า พื้นเมือง
หลายท่านนั้นตระเตรียม พร้อมเทกระเป๋า ฯ
๙๕. ท่านพระครูปลัด สมใจ
คาดว่ามากกว่าใคร ช้อปปิ้ง
ให้แม่ค้าหน้าใส ยิ้มแฉ่ง นาแม่
ได้กระจกเนี๊ยบหนิง สิ่งฝากศิษย์สวย ฯ
๙๖. เรายังต้องเดินทาง อีกไกล
ร้านหยกคือเป้าหมาย ข้างหน้า
รัฐบาลท่านหัวใส ให้คน พิการ
ได้ฝึกฝนค้นคว้า สามารถสร้างสรรค์ ฯ
๙๗. สร้างอาชีพให้เขา เคยชิน
รู้ทำมาหากิน เองบ้าง
งานแกะหยกแกะหิน จำหน่าย แม่เฮย
ส่งเสริมอาชีพอ้าง ว่างเว้นภาษี ฯ
๙๘. คณะเรานี้นี่เล่า เร็วไว
รถจอดลงทันใด เร็วรี่
บ้างชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ ชมซื้อ อีกแล
บ้างสัตว์มงคลศรี ที่จีนเลื่อมใส ฯ
๙๙. เวลามาใกล้สิ้น สุดวัน
ต่างขึ้นรถพร้อมกัน เคลื่อนที่
ศฉง นายโชว์เฟอร์นั้น ขยับรถ พลันแล
ปลายทางครั้งครานี้ ที่ร้านอาหาร ฯ
๑๐๐. สิบสองปันนาอ้าง นาคร
คือชาวเกษตรกร ทั่วหล้า
กล้วยอ้อยข้าวแน่นอน ผลไม้ หลากเนอ
ทั้งสวนยางพารา ชาดีมีพร้อม ฯ
๑๐๑. ขึ้นทางด่วนหวนให้ จดจำ
เจาะภูเขาเพื่อทำ ถนน
มียี่สิบหกถ้ำ อุโมงค์ รถยนต์
นับว่าน่าฉงน ชนชาวจีนเขา ฯ
๑๐๒. เราถึงซึ่งเมืองหล้า ทันกาล
โยมเข้าโต๊ะอาหาร เริงร่า
ฝ่ายสงฆ์โยมประสาน น้ำชา กาแฟ
ทุกท่านต่างหรรษา อุราสดใส ฯ
๑๐๓. เติมพลังอิ่มเอม สำราญ
เข้าสู่รัตติกาล อีกครั้ง
จิ่นชิ่ว คือสถาน โฮเต็ล อีกนอ
ที่พักผ่อนนอนนั่ง ประทังสังขาร ฯ
๑๐๔. เบอร์ห้องเก้าศูนย์เก้า เหมาะดี
คุณเกศเขามากมี จิตถวาย
รีบขึ้นพักทันที ไป่ช้า นาพ่อ
ยังมีจิตคิดไว้ ได้ยามปลงผม ฯ
๑๐๕. ปลงผมแล้วอาบน้ำ แปรงฟัน
อัครทรัพย์นายพลัน ก๊อกก๊อก
“ส่งกระเป๋าครับท่าน” ขอบใจ พี่เฮย
รับกระเป๋าแล้วล็อค ก๊อกก็บ่สน ฯ
๑๐๖. เมืองหล้าว่าเมืองน้อย เจ้าเฮย
ชีวิตฉันบ่เคย คิดถึง
ยามเช้าเย็นเสบย สดใส ดีแล
ชีพนี้มีครั้งหนึ่ง ซึ่งฉันมาเห็น ฯ
๑๐๗. พักผ่อนหลับสบาย คลายง่วง
หลับผล็อยพลอยหมดห่วง สิ่งสรรพ์
ไตรรัตน์นอนนึกหน่วง หน่อยหนึ่ง แล้วแล
กิจกรรมผ่านมานั้น พลันจบสุดสวย ฯ
๑๐๘. ตลอดทางวันวาน ผ่านมา
ชมเมืองชมสินค้า ชมบ้าน
เริ่มที่ชมวัดวา- อาราม เจ้าเอย
ท้ายที่ชิมอาหาร สำราญทั้งผอง ฯ
๑๐๙. จิ่นชิ่ว คือโฮเต็ล ที่พัก
สูงสิบชั้นประจักษ์ ชัดแจ้ง
ให้มวลมิตรศิษย์รัก พักพึ่ง ถ้วนแล
ใจกลางเมืองหล้าแหล่ง แห่งความทันสมัย ฯ
๑๑๐. อารามหลวงไต๋ลื้อ ถึงชา
กระเช้าเขาลิงมา ชมวัด
บ้านโบราณทัศนา เยือนเยี่ยม โยมญาติ
ถึงหยกล้วนส่วนสัด ลัดเลาะริมโขง ฯ
๑๑๑. นาสวนกล้วยหอมทั้ง ไร่ชา
ทั้งสวนยางพารา อาชีพ
ท่องเที่ยวทั้งรักษา ธรรมชาติ มั่นแล
ทัศนาสูตรเร่งรีบ กระซิบให้รู้ ฯ
๑๑๒. สามวันวารผ่านล่วง เลยไป
วัฒนธรรมแบบไต๋- ลื้อเขา
ได้ศึกษาวิจัย ตื้นลึก ทั่วแล
ฟังฟ้ารุ่งบอกเล่า กล่าวบรรยายเสริม ฯ
๑๑๓. บัสสองน้องน้ำทิพย์ คนงาม
ไก๊ด์นำไทยสยาม น่ารัก
คอยหวงห่วงทวงถาม นัดแนะ นำเฮย
น้ำใจงามยิ่งนัก ยากจักไขขาน ฯ
๑๑๔. ตลอดสี่วันเธอ ยิ้มให้
อาจารย์ทั้งหญิงชาย สดชื่น
อนาคตเธอจุ่งได้ สมหวัง เถิดนา
ยิ่งสวยรวยเริงรื่น สุขสันติ์หรรษา ฯ
๑๑๕. ผ่านเข้าเช้าของวัน ต่อมา
ที่สองพฤศจิกา- ยนมาส
เจ็ดโมงต่างพร้อมหน้า กาแฟ ข้าวต้ม
อีกพี่น้องโยมญาติ ปราดช้อปสิ่งหวัง ฯ
๑๑๖. เก้าโมงเช้าเราพร้อม เดินทาง
ลาเชียงรุ้งนายนาง กลับบ้าน
ถึงด่านจีนสะสาง เอกสาร เสร็จสรรพ
ผ่านด่านบ้านบ่อหาน ผ่านจีนเชียงรุ้ง ฯ
๑๑๗. ถึงบ่อเต็นเป็นด่าน แดนลาว
มิสเตอร์ออยผู้บ่าว รอรับ
ให้มากมีเรื่องราว อุปสรรค นานา
ขัดข้องยุ่งยุบยับ กับเรื่องรถเสีย ฯ
๑๑๘. เกือบรันทดอดเพล แล้วเรา
สิบนาทีฉันข้าว อิ่มหนำ
หลวงน้ำทาขะเจ้า ผ่านไป แม่เฮย
ใคร่ขอบอกตอกย้ำ จำไว้ไขขาน ฯ
๑๑๙. หลวงน้ำทาบ่อแก้ว แสนไกล
กันดารมากเพียงไร ควรทราบ
ขอขนานขานไข ไว้พอ สังเขป
ภูเขาเหวถิ่นราบ สลับซับซ้อน ฯ
๑๒๐. นับพันนับหมื่นโค้ง เคี้ยวคด
ถนนเขากำหนด สร้างไว้
ขึ้นสู่ยอดบรรพต ลงเหว อีกแล
ห้วยเหวฝั่งขวาซ้าย ให้นึกวาบหวิว ฯ
๑๒๑. น้อมนึกถึงถิ่นไทย นาคร
เชียงใหม่แม่ฮ่องสอน ถิ่นเหนือ
เคี้ยวคดบทจร ละม้าย คล้ายกัน
ช่างโลดโผนล้นเหลือ เมื่อได้มาเห็น ฯ
๑๒๒. แอร์รถหมดฤทธิ์แรง ทำงาน
สองคันมาตรฐาน เป็นหนึ่ง
ประตูอันธพาล นั้นเสีย ด้วยแล
บัสลาวทำเราซึ้ง นึ่งเราหน้าเขียว ฯ
๑๒๓. สามชั่วโมงได้ร้อน จุใจ
น้ำฟ้าสู่ห้วยทราย บ่อแก้ว
ร้อยสิบกิโลใช้ เส้นทาง นี้แล
บางคราครั้งใจแป้ว กับแนวหุบเหว ฯ
๑๒๔. นั่งมองหมู่แมกไม้ ไผ่งาม
ที่ล้วนเป็นไปตาม ธรรมชาติ
ป่าดงยังคงความ ผุดผ่อง อยู่นา
ฝ่ายฝั่งที่ลุ่มลาด ดารดาษพืชผล ฯ
๑๒๕. บ่อแก้วริมฝั่งโขง ชายแดน
ตรงข้ามฝั่งไทยแลนด์ เชียงของ
เช็คเอ้าท์เข้าสู่แผน ลาลาว จีนแฮ
ผ่านพ้นแล้วเมียงมอง ตรองตรึกเบื้องหลัง ฯ
๑๒๖. บ่อแก้วขอไขขาน อีกที
อ้ายบ่าวบุญเลิศมี มิตรจิต
แฟนคลับทางทีวี ประจำ เชียวนา
ทักทายไหว้ผูกมิตร สนิทสนม ฯ
๑๒๗. สมควรกาลกล่าวคำ อำลา
เซกู๊ดบ่ายก่อนนา บุญเลิศ
โอกาสทองเบื้องหน้า พบกัน อีกแล
สบสิ่งสุขประเสริฐ เลิศด้วยบุญล้น ฯ
๑๒๘. ลงเรือยาวข้ามโขง ปลอดภัย
เท้าเหยียบแผ่นดินไทย ใจชื่น
ได้ข้ามโขงมาไป ครั้งแรก พ่อเฮย
ส่วนระทมขมขื่น คืนให้แม่โขง ฯ
๑๒๙. เอ็นซีฮอลลิเดย์ ทัวร์ไทย
บริการได้ถูกใจ ตลอด
อภิชาติหนุ่มใหญ่ เทคแคร์ แฟร์เฮย
นายตระเตรียมเยี่ยมยอด ปลอดข้อกังขา ฯ
๑๓๐. เชียงของถึงเชียงราย อุ่นใจ
ได้ระบายความใน ทั่วถ้วน
เจรจาปราศรัย เริงร่า ถ้วนแล
ทุกท่านนั้นแล้วล้วน ชวนสุขหรรษา ฯ
๑๓๑. ถึงเมืองเลื่องลือนาม เชียงราย
สกสีกาหญิงชาย ดินเนอร์
ฝ่ายสงฆ์ลงกระจาย ย้ายแยก ญาติเฮย
สุญญตาหารเน้อ ท่านเธอพึงรู้ ฯ
๑๓๒. ยี่เป็งรื่นคืนลอย- กระทง
คณะเราเจาะจง เข้าร่วม
ป่วงเคราะห์กรรมนำส่ง แม่โขง ด้วยแล
มนัสศรัทธาท่วม ท้นพ้นไขขาน ฯ
๑๓๓. ขึ้นเครื่องเรื่องไป่คาด คิดมี
สัมภาระคุณพี่ สองท่าน
มณฑา-เสน่ห์ที่ ปราศไป แล้วแล
มาทราบเรื่องราวนั้น ครั้นเมื่อรับของ ฯ
๑๓๔. ค้นหากันเท่าไร ไป่เจอ
ห่อนทราบความเผลอเรอ ตอนไหน
เอ็นซีทัวร์เลินเล่อ เสียแล้ว หรือไร
ให้งุนงงสงสัย ในส่วนนี้แล้ ฯ
๑๓๕. ขึ้นนั่งเครื่องบินแอร์ เอเชีย
เคียงคู่กับมายเดียร์ สุเทพ
เขาฐานะอาเฮีย หน่วยงาน บัณฑิต
เล่าความหลังสังเขป อินเดฟพอรู้ ฯ
๑๓๖. โบอิ้งเจ็ดสามเจ็ด สามร้อย
สิบเก้าบีได้พลอย ที่นั่ง
ชั่วโมงเศษเคลื่อนคล้อย บินสู่ กรุงแฮ
สุวรรณภูมิไป่พลั้ง ยังถิ่นที่หมาย ฯ
๑๓๗. เครื่องลงคงต้องร่ำ ลากัน
แล้วค่อยมาสังสรรค์ กันใหม่
จงเริงรื่นสุขสันติ์ ทั่วหน้า เถิดนา
รวยทรัพย์นับไฉน ปลอดภัยทุกสถาน ฯ
๑๓๘. วัฒนธรรมไทลื้อ เชียงรุ้ง
เผ่าพันธุ์ไทยผดุง รักษา
ไทยคือไทยพยุง หนักแน่น ดีนอ
ยามอรุณเบิกฟ้า แสนสง่าไทยนี้ ฯ
๑๓๙. ไทยลื้อไทยสยาม คือกัน
พุทธศาสน์สัมพันธ์ ชิดใกล้
ศรัทธาต่างแม่นมั่น ศาสดา องค์เอก
แม่โขงเชื่อมโยงให้ เราได้หรรษา ฯ
๑๔๐. วิสสาสปรมา ญาตี
ความคุ้นเคยกันนี้ ญาติแท้
คุ้นเคยคือไมตรี สร้างเสริม สัมพันธ์
ไมตรีมีมากแก้ แม้ศึกใหญ่หลวง ฯ
๑๔๑. อดีตได้อยู่ร่วม สัมพันธ์
เกื้อกูลปัจจุบัน เหตุให้
มนุษย์สมานฉันท์ มิตรภาพ ยืนแล
มูลเหตุละม้ายคล้าย ญาติไทยลื้อสยาม ฯ
๑๔๒. จบคำโคลงลงที่ เปิดใจ
ผิดพลาดประการใด มีบ้าง
ผู้เขียนขออภัย ไว้ด้วย ญาติเฮย
ดีผลกุศลสร้าง อ้างสบสุขเสมอ ฯ
....................................
พระเทพวิสุทธิกวี (เกษม)
วัดราชาธิวาสวิหาร กรุงเทพมหานคร

บทส่งท้าย
ไซซีว่าสาวสวย สะคราญ
หวังเจ่าจินตำนาน เลอโฉม
เตียวเสี้ยนโลกขนาน งามหนึ่ง แม่เฮย
หยางกุ้ยเฟ่ยประโลม โลกสวยไป่สลาย ฯ
ศึกษาวัฒนธรรม สัญจร
โลกนี้คือละคร เปรียบได้
ไทลื้อแห่งนคร เชียงรุ้ง เจ้าเฮย
สี่วันท่านทั้งหลาย ได้กำไรโข ฯ
ตาดูหูได้ฟัง จำจด
สังเกตพร้อมกำหนด วิเคราะห์
วัตถุธรรมงามงด ภาษา ไทยแฮ
แต่งตัวตนมั่นเหมาะ เพราะมีเอกลักษณ์ ฯ
วิถีแห่งชีวิต ห่อนคลาย
พุทธศาสน์รักษ์ไว้ เข้มแข็ง
เสพบุหรี่รุนแรง หนักหนา อยู่นา
เกษตรคือหลักแหล่ง แห่งชนไทลื้อ ฯ
พืชพันธุ์ธัญญาหาร อุดม
ไทลื้อล้วนนิยม ธรรมชาติ
ปลูกข้าวผลไม้ส้ม อีกผล นานา
อยู่กันฉันมิตรญาติ ชาติเผ่าเข้มแข็ง ฯ
สหธรรมนำชน อยู่เย็น
เอื้อเฟื้อเกื้อกูลเน้น สร้างมิตร
รัฐบาลท่านเคี่ยวเค้น คุมเขต เกษตร
ศรัทธาศาสน์สนิท ชิดพุทธศาสนา ฯ
จิตใจไทลื้อนั้น อ่อนโยน
กายวาจาฤๅโอน อ่อนน้อม
กินอยู่ไป่โลดโผน ฟู่ฟ่า เลยนา
รักษ์มารยาทพร้อม ยอมรับศักดิ์ศรี ฯ
ไทลื้อไทยสยาม นามไทย
พุทธศาสน์นำใจ ไทยสอง
วัฒนธรรมนำชัย พุทธศาสน์ สมานแฮ
ให้ไทยครองพี่น้อง ครองรักเสมอ ฯ
....................................................










วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

รูปภาพสิบสองปันนา















รู้สึกตื่นเต้น














งานนี้เริ่มยิงกันตั้งแต่ก่อนออกสนามบินเชียงราย














ไม่ต้องอมยิ้มมาก















ต้องประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
























































วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

มัชเฌนปฏิสัมภิทา : กระบวนทัศน์ไร้กาล



ความเป็นกลาง ความสมดุล ทั้งหลักการและวิธีการมิใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นลอยๆ จะต้องมีกระบวนการพัฒนาอบรม (Systematic Cultivation) ให้เกิดขึ้น กระบวนการนี้เองเป็นจุดสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้คนหันมาเข้าใจกันและกันได้อย่างไร จะปรับระดับไปสู่การพัฒนากระแสความคิดของคนแต่ละยุคทำได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะทำให้บุคคลไม่ตกไปสู่กระบวนทัศน์อื่นๆ อย่างฝังหัว ที่พยายามกระทำกันอยู่ก็คือชี้ให้เห็นผลอันจะเกิดจากการยึดถือในกระบวนทัศน์ของตนอย่างเหนียวแน่น สุดท้ายก็ทำลายล้างกัน มีสงครามเป็นเครื่องตัดสิน แต่ไม่ได้บอกกระบวนการพัฒนาให้เข้าถึงกระบวนทัศน์ที่ ๕ ถึงแม้จะทราบว่า “การยึดมั่นถือมั่นเป็นทางแห่งความทุกข์” “การไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นทางแห่งความสุข” เปลี่ยนจากแนวคิด “อิทเมวสัจจัง โมฆมัญญัง มาเป็น สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” ก็ตาม แต่กระบวนการพัฒนาสู่จุดปรัชญานี้ยังไม่มี นี่เองที่เป็นจุดบกพร่องของกระบวนทัศน์ที่ ๕ เหล่านี้คือ ปัญหาหลัก และเป็นความยากนักปรัชญาหลังนวยุคกำลังค้นหา ในที่นี้จะแสดงให้เห็นว่า ปัญหาเหล่านั้นมีทางออก


เมื่อพิจารณาแก่นแท้แห่งกระแสความคิดของกระบวนทัศน์ที่ ๕ ได้แก่ “การไม่ยึดมั่นถือมั่น (Non-Attachment)” จะทำอย่างไรจึงจะไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็ต้องความเข้าใจความจริง (Right Thought in the Truth) และมีเมตตาบริสุทธิ์ (Pure Loving Kindness and Compassion) แต่การจะเข้าใจความจริงและทำให้เกิดความรักบริสุทธิ์ไปสู่ระดับเมตตาได้อย่างไรนั้นมีกระบวนการ ดังนี้


ประการแรกสุด คือ เปิดใจ (Open Mind) ยอมรับฟังข้อมูล การรับฟังข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ได้แก่กัลยาณมิตร กัลยาณมิตรในที่นี้เป็นได้ทั้งบุคคลและตำรา เรียกว่า ปรโตโฆสะ การได้ยินได้ฟังจากผู้อื่น (ธัมมสากัจฉา บัณฑิตเสวนา) ความรู้ที่เกิดจากการฟัง การอ่าน การเขียน (สุตมยปัญญา)จากนั้นก็นำข้อมูลต่างๆ ไปพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายด้วยตนเอง เรียกว่า โยนิโสมนสิการ (Self Realization) ว่าสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง นั้นควรค่าแก่การปฏิบัติ เชื่อถือหรือไม่ โดยการเทียบเคียงหลักการ ๘ ประการ ได้แก่ สิ่งนั้น เรื่องนั้น นำไปสู่อารมณ์ผ่อนคลาย ปล่อยวาง เสียสละ มักน้อย สันโดษ สงบ บำเพ็ญเพียร และใช้ชีวิตเรียบง่ายหรือไม่ นักปราชญ์ ราชบัณฑิตสรรเสริญหรือไม่ เมื่อเทียบเคียงได้อย่างนี้ก็ลงมือปฏิบัติได้ หากมีประเด็นใดน่าสงสัย ก็ใช้หลักสังเกตดังที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในเกสปุตตสูตรว่า อย่าเชื่อโดยยืนยันส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ให้เชื่อเมื่อพิจารณารู้ด้วยตนนั่นแลว่า สิ่งนั้นเป็นอกุศลธรรม มีโทษ ผู้รู้ติเตียน ไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์ ก็ให้ละทิ้ง เลิกปฏิบัติ แต่ตรงกันข้าม สิ่งใดเป็นกุศล มีประโยชน์ ผู้รู้สรรเสริญ ก็ควรประพฤติให้เต็มที่ ย่อมนำไปเพื่อความสุข นอกจากนั้นจะต้องมีใจประกอบด้วยอัปปมัญญา ๔ ประการคือ มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา และมีอุเบกขา


ประการต่อไป ให้ใช้หลักมัชฌิมาปฏิปทา หรือวิมุตติปฏิปทา ได้แก่แนวทางของการควบคุมตนเอง การมีสติอยู่ทุกเมื่อ และการพิจารณาเห็นแจ้งด้วยปัญญาตามความเป็นจริง หลักการควบคุมตนเอง ก็คือ หลักแห่งการระมัดระวังกาย วาจาและใจ ระวังกายคือ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่น ไม่ลักทรัพย์ ไม่แย่งชิงคนรัก คนหวงแหนของผู้อื่น ระวังวาจาได้แก่ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้า ไม่พูดคำหยาบ และระวังใจได้แก่ ไม่คิดอยากได้ของผู้อื่น ไม่พยาบาทคิดปองร้ายผู้อื่น ไม่คิดเห็นผิดเป็นชอบ เมื่อปฏิบัติตามกรอบของศีลธรรมได้ ก็เข้าสู่กระบวนการพัฒนาสติโดยการระลึกรู้อยู่ในตนทุกขณะที่ทำ พูด และคิด อย่างชัดเจน จากนั้นให้ใช้สติที่ปราดเปรียวรู้เท่าทันสิ่งที่เคลื่อนไหว เห็นตลอดสาย ดุจดังนายแพทย์ผู้ฉลาดรักษาโรค ดุจดังนายช่างผู้สร้างบ้าน ดุจดังจิตรกรวาดภาพ ที่เห็นตลอดในทุกส่วนของเรื่องนั้นๆ


มัชฌิมาปฏิปทานี้สามารถเลือกใช้ได้ทุกส่วน จะเริ่มจากส่วนไหน หรือองค์ประกอบใดได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับบริบทที่ปรากฏในขณะนั้น ไม่ว่าจะเริ่มที่มีความเห็นที่ถูกต้องตามคลองธรรม คิดอย่างมีความพรหมวิหาร พูดจาไพเราะ ทำด้วยความระมัดระวัง พากเพียรเลิกสิ่งไม่ดี ทำสิ่งดี รักษาสิ่งที่ดีไว้ และระวังไม่ให้สิ่งไม่ดีเข้ามาอีก ฝึกสติให้เข้มแข็ง ดำรงสภาวะที่มั่นคงทางจิตไว้ไม่ให้กระเพื่อม ทุกองค์ประกอบจะสัมพันธ์กันและกันกลายเป็นพลวัตที่มีอานุภาพ นี่คือกระบวนการฝึกฝนอบรมมัชฌิมวิธีให้เป็นมัชเฌนปฏิสัมภิทา


ใช้หลักทฤษฎี “ตรีวัต” (Three-fold Dynamic Theory) ได้แก่ “ศีล สมาธิ ปัญญา” แล้วหมุนไปทุกด้าน ทุกส่วน ทุกองค์ประกอบ เมื่อปฏิบัติตามนี้ได้ ชื่อว่า เข้าสู่คลองแห่งมัชฌิมาปฏิปทา ในขณะที่ปฏิบัติอยู่จะไม่เห็นสภาพความสมดุลและความเป็นกลาง แต่เมื่อถอนตัวออกมาจากการปฏิบัติแล้วมองลงไป จะพบว่า ทุกองค์ประกอบจะสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง และจะเกื้อหนุน ส่งเสริมกันและกันเพื่อให้มีพลัง เข้าถึงเป้าหมาย แกนกลางของทั้งสามองค์ประกอบคือ ศีล สมาธิ และปัญญา แล้วใช้หมุนไปทั่วทิศก็สามารถจะเป็นแกนกลางของกระบวนทัศน์ที่ ๕ ได้ ไม่มีทางอื่น นอกจากทางนี้ เพราะทางนี้เป็นทางที่เจาะเข้าไปภายในแล้วขยายมาสู่ภายนอก


เมื่ออินทรีย์เป็นกระบวนทัศน์ที่ ๕ (Internal perfection) การแสดงออกย่อมเป็นกระบวนทัศน์ที่ ๕ เอง (External perfection) มิฉะนั้นก็เข้าตำรา พูดอย่าง ทำอย่าง ปากบอกไม่ยึดมั่นถือมั่น บอกเป็นนักคิดหลังนวยุค แต่กลับพูดให้ผู้อื่นทำ ตนเองไม่ทำ มีแต่คุณ นะ ทำ ไม่ใช่คุณธรรม วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดผู้อื่น แต่แนวคิดตนใครแตะต้องไม่ได้ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์แก่ตนสมควรทำ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นกลับไม่ทำ กลายเป็นกระบวนทัศน์จอมปลอม เป็นกระบวนทัศน์แกมโกง (Cunning Paradigm) ไม่เป็นกระบวนทัศน์แห่งสัจจะ (Truth Paradigm) ไม่ทนต่อการพิสูจน์ หากพัฒนาตนเป็นคนกระบวนทัศน์ที่ ๕ โดยมีความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมัชเฌนปฏิสัมภิทา ไม่ว่าจะทำ พูด คิด ก็เปี่ยมด้วยคุณค่า ทนต่อการพิสูจน์ เข้าถึงโลกแห่งสัจจะเดียวกัน เป็นกระบวนทัศน์ที่ข้ามพ้นกระบวนทัศน์ (Supra-Mundane Paradigm) ในที่สุด ไม่ว่าทำเมื่อใดก็เห็นผลเมื่อนั้น

(อ่านต่อในวารสารบัณฑิตศาส์น มมร)

วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552

วัฒนธรรมจาริก












ร่ายลำนำก่อนไปสิบสองปันนา

เริ่มวันที่สามสิบตุลาคม
โลกนิยมศกสองห้าห้าสอง
เป็นวันศุกร์ยุคไทยคึกคะนอง
เป็นยุคทองสินค้าราคาแพง ฯ

คณะเราเหล่าชาว มอ.มอ.รอ.
ทั้ง ญอ.ชอ.หญิงชายใคร่แถลง
ทัศนศึกษาศรัทธาแรง
พร้อมแสดงความรักสามัคคี ฯ

ณ เขตแคว้นแดนสิบสองปันนา
เจ็ดสิบเอ็ดผู้กล้าประเสริฐศรี
คณาจารย์รวมเก้าเลขเข้าที
ส่วนศิษย์มีหกสองต้องตำรา
มี “พระเทพวิสุทธิกวี”
คราวครานี้ถูกยกเป็นหัวหน้า
“พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยา-
จารย์” ก็มาในฐานคณบดี
ท่านด๊อกเตอร์สุวิญวงศ์ “รักสัตย์”
เป็นผู้จัดกิจกรรมในยามนี้
เป็นหัวหน้าโครงการงานมากมี
สำคัญที่ความหล่อบ่รองใคร ฯ

“พระศรีรัชมงคลเมธี”
ท่านมากมีบุญญายากหาไหน
เป็นอาจารย์บัณฑิตวิทยาลัย
มากน้ำใจยิ่งนักน่ารักแรง
พระมหาวิโรจน์ “คุตตะวีโร”
ท่านมาโชว์ความหล่อขอแถลง
ท่านด๊อกเตอร์สุกิจศรัทธาแรง
“ชัยมุสิก” แจ่มแจ้งแห่งสกุล
ท่านด๊อกเตอร์เสน่ห์ เดชะวงศ์
ผู้เผ่าพงศ์ชาวเหนือมาเกื้อหนุน
พร้อมธีรัตม์ แสงแก้วเกียรติสกุล
กิตติคุณด๊อกเตอร์เลอราคา
อีกด๊อกเตอร์สาลินีสตรีสวย
โลกงงงวยด้วยนึกว่านางฟ้า
สกุลรักกตัญญูผู้ศรัทธา
ผู้เกิดมาเพื่อพระรัตนตรัย
เจ้าหน้าที่มีมากันเจ็ดท่าน
วิชาการศึกษาไม่หวั่นไหว
ท่านพระครูปลัดนามสมใจ
ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอารามราชา
พระมหาชัยยันต์ “จัตตาละโย”
ผู้ร่มโพธิ์ร่มไทรในวันหน้า
พระมหาพิทักษ์นามฉายา
ศรีสง่า “จิตตะโสภะโณ”
พร้อมแม่ชีราตรีสมพินิจ
ผู้กายจิตผ่องใสใหญ่อักโข
แม่ชีสุภาพรรณกลิ่นนาโค
บุญอักโขเยี่ยมยอดตลอดกาล
อีกนางสาวอรพิมจันทร์เกษม
ผู้กายจิตปรีคิ์เปรมเกษมศานติ์
อีกศุภณัฐวิชญ์ชายเชิงชาญ
ผู้สืบสาน “วรรณะ” สกุลไทย ฯ

นักศึกษาปริญญาเอกรุ่นหนึ่ง
จำนวนถึงสิบท่านมิหวั่นไหว
ต่างมีความพร้อมพรักสมัครใจ
เดินทางไปศึกษาหาความจริง
ท่านที่หนึ่ง “พระอธิการชุมพร”
นามกรท่านนับว่าเนี๊ยบหนิง
นามฉายา “จารุวัณโณ” อิง
ท่านแน่นิ่งในธรรมนำศรัทธา
พระมหาบุญไทย “ปุญญะมะโน”
บุญใหญ่โตน่ารักยิ่งนักหนา
พระมหาบุญศรีมีฉายา
ปรากฏว่า “ญาณะวุฑโฒ” โชว์
ด๊อกเตอร์พระมหาธรรมรัต
มาจากวัดมหาธาตุปราชญ์อักโข
นามฉายา “อริยธัมโม”
สุดแสนโก้ด๊อกเตอร์ มอ มอ รอ
ภควดี เลิศกาญนวัติเล่า
คือนางสาวแสนสวยเสียจริงหนอ
สุมาณพ ศิวารัตน์นายเก่งพอ
ประสานต่อทุกฝ่ายได้อย่างดี
วนิชย์ วัลภาพันตำรวจโท
ยศตำแหน่งใหญ่โตโชว์ศักดิ์ศรี
อีกโสภณ ขำทัพนับว่ามี
มิตรไมตรีสัมพันธ์ปันน้ำใจ
ยงสยาม สนามพลก็คนเก่ง
นับว่าเจ๋งอีกท่านขอขานไข
ผจญ คำชูสังข์ยังพร้อมใจ
ตำแหน่งใหญ่ที่รองศาสตราจารย์
ยังว่าที่ด๊อกเตอร์ติดป้ายแดง
จึงมาแรงทั้งได้มาตรฐาน
รุ่นที่หนึ่งสิบท่านนั้นเชี่ยวชาญ
วิชาการแน่วแน่ไม่แพ้ใคร ฯ

ปริญญารุ่นสองนักศึกษา
เก้าชีวาชั้นเอกเลขขานไข
พระมหาบุญนภัสร์นามเกริกไกร
ฉายาได้ว่า “ถิระปุญโญ”
พระมหาสุรวุฒิ “จันทะธัม-
โม” น้อมนำความวิเศษวิโส
พระมหาคำสัน อีกเถโร
“วิสุทธิญาโณ” นามฉายา
ถึงเพ็ญศรีสกุลหงส์พานิช
มากน้ำจิตสุขสันติ์เริงหรรษา
อีกหนึ่งนั้นแน่นางสาวกัญญา
ภู่ระหงษ์ส่งมาการันตี
นาที รัชกิจประการ
ตำแหน่งงานสภาเชียวนะนี่
ศิริพร บุญชัยเสถียรมี
ตำแหน่งที่นางดาวสุภา
อุรชา สกุลธนกฤช
ผ่องใสจิตนางสาวคุณเจ้าขา
สงกรานต์ สีตองอ่อนอีกก็มา
สามสิบห้าเลขนับลำดับนาย ฯ

ปริญญาเอกอุ่นรุ่นที่สาม
ยังมีนามให้นำมาขยาย
พระมหาวิสูตรเกียรติกำจาย
ฉายาได้ “วิสุทธิเมธี”
พระมหาวิชัยใจใหญ่โต
“ธัมมะวิชะโย” เชียวนะนี่
พระมหาเศกสิทธิ์จิตอารี
“รตนโมลี” นามฉายา
พระมหาเอกชัย ใจรักศาสน์
นามประกาศ “จันทะสิริ” หนา
กิตติศักดิ์นั้นนายน้ำใจมา
ศรีสง่า “ตีระพิมลจันทร์”
กุลยาณี อิทธิวรกิจ
ยังปลื้มจิตนางสาวอยู่สุขสันติ์
ปริศนา ไกรวิทย์จิตอนันต์
ได้ร่วมกันเดินทางอย่างเต็มใจ
นายประทีป จินงี่ นี่มาด้วย
กายใจช่วยกิจการไม่หวั่นไหว
แล้วถึงพงศ์ธนภัทรปรัชญาไกล
นิธิญาณโรจน์ใช่นามเผ่าพงศ์
ภัคศรัณย์ โพธิ์เย็นญาตินางสาว
เสน่ห์พราวสดใสใจประสงค์
ถึงมณฑา กระวีพันธ์อนงค์
อานิสงส์จากบุญเกื้อกูลมา
นายมานะ กาญจนแสนส่ง
จิตมั่นคงแกร่งจังดั่งภูผา
อีกนางสาวยุคนธรก็มา
เชื้อวงศา “อังศุสิงห์” มิ่งมงคล
นาวาเอกนาม รชต แหล่งสิน
เหล่านักบินล่องไปในเวหน
อีกหนึ่งนางลักขณาสาธุชน
มหาวินิจฉัยมนตรีสกุล
นางสาวสุจิตรา ทิพย์บุรี
กุลสตรีมีน้ำใจเกื้อหนุน
นายโสภณ บัวจันทร์ อนันต์คุณ
สร้างสมบุญหนุนไว้ได้มากมี ฯ

ปริญญาโทสี่ท่านนักศึกษา
เดินทางมาด้วยกันในวันนี้
เยาวเรศ ชื่อชัดว่าสตรี
สกุลมี “แสงเลิศสิลปะชัย”
ท่านพระครูธรรมธร อภิชาติ
“อภิชาโต” ปราชญ์สมองใส
กฤษณะ รอดเริงรื่น จิตใจ
อีกหนึ่งนายหาญกล้ามาด้วยกัน
อีกนางสาวนามว่าอุษณีย์
วงศ์ธนะบูรณ์ชัย มีสกุลมั่น
ทั้งนายนางนางสาวมาครบครัน
อีกหนึ่งนั้นพระครูธรรมธร ฯ

ผู้ติดตามล้นหลั่งตั้งสิบห้า
จิตศรัทธาแรงฤทธิ์ไม่คิดถอน
ที่หนึ่งนั้นเจ้าคุณนามกร
ลือกระฉ่อนพระปริยัติธาดา
อรอุมา เลาหพิบูลย์กุล
ผู้มากบุญยิ่งนักยากจักหา
เสริมศิริ จอมขวัญนั้นก็มา
อัครพุฒิพันธ์ การันตี
ทั้งรานี เจาลา ก็มาด้วย
พกความสวยแสนสง่ามาเต็มที่
มล.อรรคพรรณ กมลาศน์มี
มิตรไมตรีเดินทางมาด้วยกัน
สุลี กาญจนแสนส่ง แสนองอาจ
นับเป็นญาติชาติเชื้อเอื้อสิ่งสรร
คัชลิดา ศกุนวัฒน์ ผิวผ่องพรรณ
ศรัทธามั่นเปี่ยมล้นพ้นคณา
นางสาวกุสุมา แสงเดือนฉาย
ผู้ใจกายนอบนบศาสนา
ทั้งนางสาวสุธาทิพย์แสนโสภา
แสงเดือนฉายอีกนาน่าชื่นชม
นางสาวนิศานาถ เตียบฉายพันธ์
มโนมั่นพุทธศาสน์สง่าสม
นางประเทือง เตียบฉายพันธ์ นิยม
พระบรมโลกนาถศาสดา
รัชนี รอดภัย อีกหนึ่งนาง
ร่วมเดินทางแสนไกลไป่กังขา
ศรศมน ผึ้งสำราญ อุรา
ทัศนาต่างด้าวท้าวต่างแดน
ปรารถนา ยศพล คนฉลาด
บัณฑิตชาติเธอมีดีสุดแสน
อีกครรชิต เขื่อนเพชรหนุ่มหมอแคน
ดีเหลือแสนตรงที่บริการ ฯ

เจ็ดสิบเอ็ดชีวิตติดบัญชี
ทัศนีเส้นทางกว้างไพศาล
เขตสิบสองปันนาอดีตกาล
มีตำนานบอกเล่าว่าถิ่นไทย
อนิจจังสังขารโลกใบนี้
บางยุคมีผู้ครองให้ผ่องใส
ถึงบางยุควนเวียนเปลี่ยนมือไป
หาอะไรแน่นอนไม่ได้เลย
ส่วนพวกเราเล่ามากันครานี้
เป้าหมายมีที่จะกล่าวเฉลย
ทั้งท่องเที่ยวศึกษาหาเสบย
ถิ่นไม่เคยสัมผัสมาสักครา
ขอเพื่อนพ้องน้องพี่ที่น่ารัก
พึงตระหนักการเที่ยวต้องศึกษา
เก็บความรู้ใส่ใจไม่รอรา
ทั้งหรรษาสุขสันติ์ทั่วกันเทอญ ฯ
......................................................


พระเทพวิสุทธิกวี (เกษม)
วัดราชาธิวาสวิหาร

วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2552

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๕)


บทที่สอง
ทุรชน


อาทิตย์ลับเหลี่ยมเขาลูกหนึ่ง จนกลายเป็นร่มเงาธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ทำให้ความร้อนผ่อนคลายลงบ้าง
ในยามเที่ยงเช่นนี้ประกายแสงอันเจิดจ้าร้อนแรงแผดเผาสรรพสิ่ง ต้นไม้ใบหญ้าไหม้เกรียม

นั่นเป็นความสมดุลแห่งชีวิตเช่นกัน บางครั้งก็สงบเย็น บางครั้งก็เล่าร้อน
บางครั้งก็แทบไม่อยากเชื่อและนึกไม่ถึงว่า
แท้จริงยังมีเรื่องราวเช่นนี้อยู่หรือ?
เพราะโลกเป็นจริงเช่นนี้จึงมีผู้คนร้องไห้ และผู้คนจึงหัวเราะ

ทินเล่อยากตั้งคำถาม ไฉนดวงอาทิตย์ที่นี่กับดวงอาทิตย์ที่ดินแดนของตนจึงแตกต่างกัน?
ใช่ดวงอาทิตย์ดวงเดียวกันหรือไม่
ใยดวงอาทิตย์ที่ราลโปช่างส่องแสงนุ่มนวล ดุจมีน้ำใจ
สายลมก็เย็นบางครั้งก็เหน็บหนาว แต่ที่นี่กลับรุนแรง
แผดร้อน สาดแสงลงมาคล้ายดั่งต้องการเผาใหญ่ทุกสิ่งบนโลกมอดไหม้เป็นจุณ

ต้นไม้บนภูเขาเตี้ยๆ ก็เป็นเพียงต้นไม้เล็กๆ กระแสลมได้พัดม้วนฝุ่นสีแดงคละคลุ้งกระจายไป
สายลมหอบเอาไอร้อนกระทบใบหน้า ทำให้พลอยเกลียดสายลมที่เคยรักมาแต่เดิม

นี่เป็นดินแดนใด?!
หรือนี่คือ…..ทะเลทราย
เพียงชั่วครู่ที่ได้หลบร้อนอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งภูเขา ช่วงเวลาเช่นนี้มักผ่านไปรวดเร็ว
ไม่นานดวงอาทิตย์โผล่ออกมาเยือนมันอีก คล้ายดั่งสาดส่องเพื่อมันเพียงผู้เดียว
ผู้คนมักเป็นเช่นนี้ ในยามประสบทุกข์
หรือได้รับหายนะมักคาดคิดว่า ไม่มีผู้ใดเลวร้ายกว่าตนอีกแล้ว
ชายร่างกายกำยำสามคนกำลังมุ่งตรงมาที่มันยืนอยู่ ร่างกายพวกมันทำจากเหล็กกล้าหรือไร?
แสงอาทิตย์ไม่อาจทำอะไรพวกมันได้?
ท่าทีที่พวกมันมาคล้ายดั่งหนีบางสิ่งมา
“เจ้าจะไปในหมู่บ้านหรือ?” ชายผู้หนึ่ง นุ่งเพียงผ้าผืนเปราะเปื้อนฝุ่นผืนหนึ่ง เอ่ยถามอย่างร้อนรน
“ใช่” มันตอบอย่างไม่แน่ใจนักว่า ชายผู้นี้มีจุดประสงค์ใด
“ข้าเพียงอยากได้อาหาร อยากได้น้ำดื่ม และอยากอาศัยร่มเงาพักผ่อนเท่านั้น”
“ไม่ว่าเจ้าจะมีจุดประสงค์ใด พวกเราขอบอกเจ้าว่า อย่าได้ไปดีกว่า ไปกับพวกเราเถอะ”
“ทำไมเราต้องไปกับพวกท่าน”
“เพราะนี่คือ ทางรอด”
“ทางรอดใด?” มันยิ่งสงสัยมากขึ้น
“ภายในหมู่บ้านถูกพวกทหารมองโกลทำลายไปแล้ว พวกมันต้อนผู้คนไปทำงานในค่าย
พวกมันกำลังจะทำสงครามกับเมืองปุรุสปุระ”
“ทำไมท่านจึงหนีมาได้”
“เพราะพวกเราไม่ได้อยู่ในหมู่บ้าน” ชายอีกคนหนึ่งกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ คล้ายการจากมาของมันเป็นความผิดฉะนั้น
“แล้วผู้อื่นเล่า!”
“เจ้าอย่าได้ถามเลย” ชายอีกคนหนึ่งชิงตอบขึ้น “ขอเตือนเจ้าอย่าได้ไปเท่านั้น”
“ขอบคุณในความหวังดีของพวกท่าน” ทินเล่ กล่าวขอบคุณพวกมัน พร้อมทั้งให้เหตุผล “ข้าไม่ใช่พวกทหาร ไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้ใด ข้าต้องการเดินทางไปสู่วิกรมศิลา คงไม่เป็นไร พวกท่านไปเถอะ”
“เจ้าประเมินผู้อื่นเป็นวิญญูชนเกินไป” กล่าวเสร็จพวกมันจึงหลีกไปโดยเร็ว “อย่าได้บอกว่าเจอพวกเราละ”
“การประผู้อื่นเป็นวิญญูชนมีที่ใดไม่ดี?” ทินเล่ไม่ทันกล่าวคำนี้ออกไป แต่มันก็คิดไม่ออกว่า การมองผู้อื่นในแง่ดีนั้นไม่ดีตรงไหน




วิญญูชน มักประเมินผู้อื่นมีจิตใจงดงามเช่นตน
หารู้ไม่ว่ายังมีคนที่ตนคาดคิดไม่ถึงอีกมากนัก
ด้วยเหตุนี้วิญญูชน มักถูกทำร้ายอยู่เสมอ


ดวงอาทิตย์ลดความรุนแรงลงแล้ว
มันยิ่งไม่เข้าใจว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้น

ความอยากรู้เป็นพลังขับเคลื่อนประการหนึ่ง
ยิ่งอยากรู้ก็ยิ่งไคว่คว้าแสวงหา
เป็นเหตุให้คลายความเหนื่อยล้าได้
บ้านเรือนไร้ผู้คน ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือบางหลังยังมีควันไฟครุกรุ่นเผาไหม้
กลิ่นควันไฟคล้ายเผาสิ่งมีชีวิตอะไรบางอย่างจนทำให้อยากอาเจียน
ชายชราผู้หนึ่งนั่งเงียบซึมอยู่ข้างเกวียนคร่ำคร่า
ดวงตาทั้งสองของเขาขุ่นมัวไม่ทราบว่าเคยเห็นสิ่งใดหรือไม่
ไม่ทราบว่าดวงตาคู่นั้นสูญเสียน้ำตาไปมากเท่าใด?
ริมฝีปากมีรอยช้ำเพราะถูกฟันกัดแน่นคราหนึ่ง เสียงบ่นพึมพำไม่ได้ความดังแผ่วเบาไม่ได้ศัพท์
เสียงเคาะไม้เป็นจังหวะดังมาพร้อมกับเสียงหนึ่ง

ซ่างซัว ชายแดนกันดาร
เงียบสงบไร้ผู้รุกราน
ครอบครัวเป็นสุขสำราญ
บัดนี้…ถูกเผาผลาญย่ำยี
โอ…ฟ้าไหนว่าเมตตายุติธรรม
กรรมดีย่อมได้ดีน้อมนำ
ใยต้องให้ข้าทนทุกข์ จมอยู่ในความจำ
เสาเรือนซ่างซัว เป็นแต่ซากผงธุลี เอย….


ทินเล่ไม่ทราบเป็นผู้ใดคร่ำครวญ แต่เพียงทราบว่า
เสียงขับขานนั้นเศร้าจับใจ
เสียงขับขานนั้นมาจากจิตใจทุกข์ทนยิ่งแล้ว

เป็นความจริงยิ่ง บทกวีที่งดงามไพเราะ
ไม่ทราบแลกมาด้วยน้ำตาเท่าใด

(อ่านต่อตอนต่อไป)



วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ความงามนั้นสำคัญไฉน?











ความงามหรือสุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องที่มนุษย์ปวดเศียรเวียนเกล้าอยู่ไม่น้อย เพราะแท้จริงมนุษย์มีสุนทรียธาตุอยู่ภายในตัวตนของมนุษย์นี่แหละ จะเห็นได้จากมนุษย์มักจะชมชอบความงามที่ปรากฏขึ้น หรือที่เข้ามากระทบอายตนะ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มนุษย์สร้างสรรค์ศิลปะวิทยาการประดับโลกอย่างวิจิตรพิสดารไม่เพียงเฉพาะมนุษย์ในโลกที่พัฒนาแล้ว มนุษย์เผ่าทั้งหลายก็ยังมีการประดับประดาตัวตน อาคาร สถานที่ของตนด้วยเครื่องประดับด้วยคิดว่าสิ่งนั้นทำให้เกิดความสวยงามขึ้น ความงามทำให้ชีวิตรื่นรมย์แจ่มใส ถ้าชีวิตมนุษย์ขาดสิ่งนี้ไปเสียอย่างหนึ่งแล้ว ชีวิตของมนุษย์ก็มีแต่ความแห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา ความงามจึงเป็นที่ต้องการของมนุษย์และแสวงหาสิ่งสวยงามมาครอบครอง โดยเฉพาะความงามที่มีในสตรีเพศและหรือในบุรุษเพศ

ในปัจจุบันจะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อผู้คนต่างพากันแสวงหาความงามในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นความงามบนร่างกายและความงามในวัตถุ สำหรับการแสวงหาความงามบนร่างกายยิ่งนับวันยิ่งมีความสำคัญยิ่งขึ้นเมื่อมนุษย์ต้องการทำให้ร่างกายที่เป็นอยู่เปลี่ยนไปให้งามตามความเชื่อของโลก
โดยใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยสร้างความงามบนร่างกายให้เกิดขึ้นโดยวิธีผ่าตัดตกแต่งร่างกายจนกลายเป็นปัญหา ส่วนความงามทางวัตถุก็มีการสร้างเครื่องประดับตกตกแต่งร่างกายที่เป็นอัญมณีและที่เป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ทั้งหลาย จนทำให้ปัจจุบันธุรกิจด้านเสริมความงามได้รับความนิยมไม่เพียงเฉพาะแต่ผู้หญิงรวมไปถึงผู้ชายด้วย


แน่นอนสิ่งใดมีคุณมหันต์สิ่งนั้นก็มีโทษอนันต์เหมือนกัน ความงามก็เช่นนั้นมีทั้งคุณประโยชน์และโทษเช่นกัน ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของคนที่ต้องเลือกบริโภคความงามนั้น ปัญหาหลักก็คือการแย่งสิ่งที่งามของกันและกันมาครอบครองจนกลายเป็นการทำร้ายและทำลายกันและกัน ปัญหาต่อไปก็คือปัญหาที่เกิดภายในตัวความความงามเอง ก็คือการตกเป็นเป้าหมายของคนทั้งหลายจนกลายเป็นอันตรายสำหรับสิ่งที่มีความสวยงามนั้น โดยเฉพาะสตรีที่มีความงาม นอกจากนั้นก็เกิดปัญหาจากการเสริมความงามให้แก่ตนโดยการประดับตกแต่งเรือนร่าง เป็นเหตุให้เกิดการเสียทรัพย์และเสียชีวิตเกิดขึ้น ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องอื่นๆ อีก เช่นกลายเป็นปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น





ความเข้าใจผิดในเรื่องความงามก็เป็นปัญหาใหญ่ กล่าวคือ โลกกำลังให้ความสำคัญเฉพาะปัญหาทางกายภาพ แต่ละเลยปัญหาความงามด้านจิตภาพ จึงพบว่า สังคมเกิดความวุ่นวาย ขัดแย้ง ทำลายกันและกันเนื่องจากขาดความงดงามทางจิตใจ จิตใจของคนไม่งดงาม ประกอบไปด้วยสิ่งสกปรกนานัปการ ไม่ได้รับการชำระ ไม่ได้รับการทำความสะอาด มีแต่พอกพูนความไม่สะอาดเข้าไปไม่ขาด สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนมืดมัวลงไป


พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญต่อความงามทางด้านจิตภาพมากกว่า เพราะถ้าหากมีความงามที่มาจากภายในแล้ว ความงามภายนอกก็จะปรากฏออกมาเอง ความงามทั้งร่างกายและจิตในมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น เมื่อมีจิตใจที่งดงามจะส่งผลให้ร่างกายงดงามเช่นกัน เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์แล้ว มนุษย์ประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ นักวิทยาศาสตร์ได้คนคว้า พบว่า ร่างกายมนุษย์ ส่วนศีรษะมีต่อมใต้สมอง มีชื่อว่า พิทูอิททารี ต่อมนี้มีความสัมพันธ์กับจิตใจโดยตรง ในขณะใดก็ตาม สภาวะของจิตมีความเร่าร้อน ครุกรุ่น ด้วยกิเลส ต่อมนี้จะหลั่งสารทุกข์ (Cortical และ Adrenaline) ออกมา สารทุกข์จะหล่อเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกายมีผลให้ใบหน้า ผิวพรรณ หมองคล้ำ เหี่ยวย่น และทำนองเดียวกัน ขณะใด จิตอยู่ในสภาวะปกติเบาสบาย สงบ บริสุทธิ์ ต่อมพิทูอิททารี จะหลั่งสารสุข (Endorphin) ออกมา สารสุขหล่อเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกาย มีผลให้ใบหน้าผิวพรรณ เปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล งดงาม เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น จะเห็นได้ว่า ผู้มีจิตใจงดงาม สงบ บริสุทธิ์ มีผลให้ร่างกายมีความงดงามไปด้วย ความงามภายในนี้ไม่ต้องลงทุนมาก ไม่ต้องสูญเสียทรัพย์สินมาก แต่กลับได้ผลมาก เพียงสร้างความงามขึ้นภายในใจ ความงามภายนอกก็จะปรากฏขึ้นตามมาเอง และเป็นความงามที่ยั่งยืน ไม่เป็นอันตราย มีแต่คุณไม่มีโทษ

พระพุทธศาสนาไม่ให้ความสำคัญต่อความงามบนเนื้อหนังแต่ให้ความงามที่ปรากฏในจิตใจ ความงามที่ปรากฏในจิตใจเท่านั้นจึงเป็นความงามที่แท้จริง และเป็นความงามที่เป็นอมตะ ดังนั้นทุกคนต้องแสวงหาความงามทางจิตจึงจะเข้าถึงความงามที่แท้ได้