วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

มัชเฌนปฏิสัมภิทา : กระบวนทัศน์ไร้กาล



ความเป็นกลาง ความสมดุล ทั้งหลักการและวิธีการมิใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นลอยๆ จะต้องมีกระบวนการพัฒนาอบรม (Systematic Cultivation) ให้เกิดขึ้น กระบวนการนี้เองเป็นจุดสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้คนหันมาเข้าใจกันและกันได้อย่างไร จะปรับระดับไปสู่การพัฒนากระแสความคิดของคนแต่ละยุคทำได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะทำให้บุคคลไม่ตกไปสู่กระบวนทัศน์อื่นๆ อย่างฝังหัว ที่พยายามกระทำกันอยู่ก็คือชี้ให้เห็นผลอันจะเกิดจากการยึดถือในกระบวนทัศน์ของตนอย่างเหนียวแน่น สุดท้ายก็ทำลายล้างกัน มีสงครามเป็นเครื่องตัดสิน แต่ไม่ได้บอกกระบวนการพัฒนาให้เข้าถึงกระบวนทัศน์ที่ ๕ ถึงแม้จะทราบว่า “การยึดมั่นถือมั่นเป็นทางแห่งความทุกข์” “การไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นทางแห่งความสุข” เปลี่ยนจากแนวคิด “อิทเมวสัจจัง โมฆมัญญัง มาเป็น สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” ก็ตาม แต่กระบวนการพัฒนาสู่จุดปรัชญานี้ยังไม่มี นี่เองที่เป็นจุดบกพร่องของกระบวนทัศน์ที่ ๕ เหล่านี้คือ ปัญหาหลัก และเป็นความยากนักปรัชญาหลังนวยุคกำลังค้นหา ในที่นี้จะแสดงให้เห็นว่า ปัญหาเหล่านั้นมีทางออก


เมื่อพิจารณาแก่นแท้แห่งกระแสความคิดของกระบวนทัศน์ที่ ๕ ได้แก่ “การไม่ยึดมั่นถือมั่น (Non-Attachment)” จะทำอย่างไรจึงจะไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็ต้องความเข้าใจความจริง (Right Thought in the Truth) และมีเมตตาบริสุทธิ์ (Pure Loving Kindness and Compassion) แต่การจะเข้าใจความจริงและทำให้เกิดความรักบริสุทธิ์ไปสู่ระดับเมตตาได้อย่างไรนั้นมีกระบวนการ ดังนี้


ประการแรกสุด คือ เปิดใจ (Open Mind) ยอมรับฟังข้อมูล การรับฟังข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ได้แก่กัลยาณมิตร กัลยาณมิตรในที่นี้เป็นได้ทั้งบุคคลและตำรา เรียกว่า ปรโตโฆสะ การได้ยินได้ฟังจากผู้อื่น (ธัมมสากัจฉา บัณฑิตเสวนา) ความรู้ที่เกิดจากการฟัง การอ่าน การเขียน (สุตมยปัญญา)จากนั้นก็นำข้อมูลต่างๆ ไปพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายด้วยตนเอง เรียกว่า โยนิโสมนสิการ (Self Realization) ว่าสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง นั้นควรค่าแก่การปฏิบัติ เชื่อถือหรือไม่ โดยการเทียบเคียงหลักการ ๘ ประการ ได้แก่ สิ่งนั้น เรื่องนั้น นำไปสู่อารมณ์ผ่อนคลาย ปล่อยวาง เสียสละ มักน้อย สันโดษ สงบ บำเพ็ญเพียร และใช้ชีวิตเรียบง่ายหรือไม่ นักปราชญ์ ราชบัณฑิตสรรเสริญหรือไม่ เมื่อเทียบเคียงได้อย่างนี้ก็ลงมือปฏิบัติได้ หากมีประเด็นใดน่าสงสัย ก็ใช้หลักสังเกตดังที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในเกสปุตตสูตรว่า อย่าเชื่อโดยยืนยันส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ให้เชื่อเมื่อพิจารณารู้ด้วยตนนั่นแลว่า สิ่งนั้นเป็นอกุศลธรรม มีโทษ ผู้รู้ติเตียน ไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์ ก็ให้ละทิ้ง เลิกปฏิบัติ แต่ตรงกันข้าม สิ่งใดเป็นกุศล มีประโยชน์ ผู้รู้สรรเสริญ ก็ควรประพฤติให้เต็มที่ ย่อมนำไปเพื่อความสุข นอกจากนั้นจะต้องมีใจประกอบด้วยอัปปมัญญา ๔ ประการคือ มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา และมีอุเบกขา


ประการต่อไป ให้ใช้หลักมัชฌิมาปฏิปทา หรือวิมุตติปฏิปทา ได้แก่แนวทางของการควบคุมตนเอง การมีสติอยู่ทุกเมื่อ และการพิจารณาเห็นแจ้งด้วยปัญญาตามความเป็นจริง หลักการควบคุมตนเอง ก็คือ หลักแห่งการระมัดระวังกาย วาจาและใจ ระวังกายคือ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่น ไม่ลักทรัพย์ ไม่แย่งชิงคนรัก คนหวงแหนของผู้อื่น ระวังวาจาได้แก่ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้า ไม่พูดคำหยาบ และระวังใจได้แก่ ไม่คิดอยากได้ของผู้อื่น ไม่พยาบาทคิดปองร้ายผู้อื่น ไม่คิดเห็นผิดเป็นชอบ เมื่อปฏิบัติตามกรอบของศีลธรรมได้ ก็เข้าสู่กระบวนการพัฒนาสติโดยการระลึกรู้อยู่ในตนทุกขณะที่ทำ พูด และคิด อย่างชัดเจน จากนั้นให้ใช้สติที่ปราดเปรียวรู้เท่าทันสิ่งที่เคลื่อนไหว เห็นตลอดสาย ดุจดังนายแพทย์ผู้ฉลาดรักษาโรค ดุจดังนายช่างผู้สร้างบ้าน ดุจดังจิตรกรวาดภาพ ที่เห็นตลอดในทุกส่วนของเรื่องนั้นๆ


มัชฌิมาปฏิปทานี้สามารถเลือกใช้ได้ทุกส่วน จะเริ่มจากส่วนไหน หรือองค์ประกอบใดได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับบริบทที่ปรากฏในขณะนั้น ไม่ว่าจะเริ่มที่มีความเห็นที่ถูกต้องตามคลองธรรม คิดอย่างมีความพรหมวิหาร พูดจาไพเราะ ทำด้วยความระมัดระวัง พากเพียรเลิกสิ่งไม่ดี ทำสิ่งดี รักษาสิ่งที่ดีไว้ และระวังไม่ให้สิ่งไม่ดีเข้ามาอีก ฝึกสติให้เข้มแข็ง ดำรงสภาวะที่มั่นคงทางจิตไว้ไม่ให้กระเพื่อม ทุกองค์ประกอบจะสัมพันธ์กันและกันกลายเป็นพลวัตที่มีอานุภาพ นี่คือกระบวนการฝึกฝนอบรมมัชฌิมวิธีให้เป็นมัชเฌนปฏิสัมภิทา


ใช้หลักทฤษฎี “ตรีวัต” (Three-fold Dynamic Theory) ได้แก่ “ศีล สมาธิ ปัญญา” แล้วหมุนไปทุกด้าน ทุกส่วน ทุกองค์ประกอบ เมื่อปฏิบัติตามนี้ได้ ชื่อว่า เข้าสู่คลองแห่งมัชฌิมาปฏิปทา ในขณะที่ปฏิบัติอยู่จะไม่เห็นสภาพความสมดุลและความเป็นกลาง แต่เมื่อถอนตัวออกมาจากการปฏิบัติแล้วมองลงไป จะพบว่า ทุกองค์ประกอบจะสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง และจะเกื้อหนุน ส่งเสริมกันและกันเพื่อให้มีพลัง เข้าถึงเป้าหมาย แกนกลางของทั้งสามองค์ประกอบคือ ศีล สมาธิ และปัญญา แล้วใช้หมุนไปทั่วทิศก็สามารถจะเป็นแกนกลางของกระบวนทัศน์ที่ ๕ ได้ ไม่มีทางอื่น นอกจากทางนี้ เพราะทางนี้เป็นทางที่เจาะเข้าไปภายในแล้วขยายมาสู่ภายนอก


เมื่ออินทรีย์เป็นกระบวนทัศน์ที่ ๕ (Internal perfection) การแสดงออกย่อมเป็นกระบวนทัศน์ที่ ๕ เอง (External perfection) มิฉะนั้นก็เข้าตำรา พูดอย่าง ทำอย่าง ปากบอกไม่ยึดมั่นถือมั่น บอกเป็นนักคิดหลังนวยุค แต่กลับพูดให้ผู้อื่นทำ ตนเองไม่ทำ มีแต่คุณ นะ ทำ ไม่ใช่คุณธรรม วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดผู้อื่น แต่แนวคิดตนใครแตะต้องไม่ได้ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์แก่ตนสมควรทำ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นกลับไม่ทำ กลายเป็นกระบวนทัศน์จอมปลอม เป็นกระบวนทัศน์แกมโกง (Cunning Paradigm) ไม่เป็นกระบวนทัศน์แห่งสัจจะ (Truth Paradigm) ไม่ทนต่อการพิสูจน์ หากพัฒนาตนเป็นคนกระบวนทัศน์ที่ ๕ โดยมีความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมัชเฌนปฏิสัมภิทา ไม่ว่าจะทำ พูด คิด ก็เปี่ยมด้วยคุณค่า ทนต่อการพิสูจน์ เข้าถึงโลกแห่งสัจจะเดียวกัน เป็นกระบวนทัศน์ที่ข้ามพ้นกระบวนทัศน์ (Supra-Mundane Paradigm) ในที่สุด ไม่ว่าทำเมื่อใดก็เห็นผลเมื่อนั้น

(อ่านต่อในวารสารบัณฑิตศาส์น มมร)

วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552

วัฒนธรรมจาริก












ร่ายลำนำก่อนไปสิบสองปันนา

เริ่มวันที่สามสิบตุลาคม
โลกนิยมศกสองห้าห้าสอง
เป็นวันศุกร์ยุคไทยคึกคะนอง
เป็นยุคทองสินค้าราคาแพง ฯ

คณะเราเหล่าชาว มอ.มอ.รอ.
ทั้ง ญอ.ชอ.หญิงชายใคร่แถลง
ทัศนศึกษาศรัทธาแรง
พร้อมแสดงความรักสามัคคี ฯ

ณ เขตแคว้นแดนสิบสองปันนา
เจ็ดสิบเอ็ดผู้กล้าประเสริฐศรี
คณาจารย์รวมเก้าเลขเข้าที
ส่วนศิษย์มีหกสองต้องตำรา
มี “พระเทพวิสุทธิกวี”
คราวครานี้ถูกยกเป็นหัวหน้า
“พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยา-
จารย์” ก็มาในฐานคณบดี
ท่านด๊อกเตอร์สุวิญวงศ์ “รักสัตย์”
เป็นผู้จัดกิจกรรมในยามนี้
เป็นหัวหน้าโครงการงานมากมี
สำคัญที่ความหล่อบ่รองใคร ฯ

“พระศรีรัชมงคลเมธี”
ท่านมากมีบุญญายากหาไหน
เป็นอาจารย์บัณฑิตวิทยาลัย
มากน้ำใจยิ่งนักน่ารักแรง
พระมหาวิโรจน์ “คุตตะวีโร”
ท่านมาโชว์ความหล่อขอแถลง
ท่านด๊อกเตอร์สุกิจศรัทธาแรง
“ชัยมุสิก” แจ่มแจ้งแห่งสกุล
ท่านด๊อกเตอร์เสน่ห์ เดชะวงศ์
ผู้เผ่าพงศ์ชาวเหนือมาเกื้อหนุน
พร้อมธีรัตม์ แสงแก้วเกียรติสกุล
กิตติคุณด๊อกเตอร์เลอราคา
อีกด๊อกเตอร์สาลินีสตรีสวย
โลกงงงวยด้วยนึกว่านางฟ้า
สกุลรักกตัญญูผู้ศรัทธา
ผู้เกิดมาเพื่อพระรัตนตรัย
เจ้าหน้าที่มีมากันเจ็ดท่าน
วิชาการศึกษาไม่หวั่นไหว
ท่านพระครูปลัดนามสมใจ
ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอารามราชา
พระมหาชัยยันต์ “จัตตาละโย”
ผู้ร่มโพธิ์ร่มไทรในวันหน้า
พระมหาพิทักษ์นามฉายา
ศรีสง่า “จิตตะโสภะโณ”
พร้อมแม่ชีราตรีสมพินิจ
ผู้กายจิตผ่องใสใหญ่อักโข
แม่ชีสุภาพรรณกลิ่นนาโค
บุญอักโขเยี่ยมยอดตลอดกาล
อีกนางสาวอรพิมจันทร์เกษม
ผู้กายจิตปรีคิ์เปรมเกษมศานติ์
อีกศุภณัฐวิชญ์ชายเชิงชาญ
ผู้สืบสาน “วรรณะ” สกุลไทย ฯ

นักศึกษาปริญญาเอกรุ่นหนึ่ง
จำนวนถึงสิบท่านมิหวั่นไหว
ต่างมีความพร้อมพรักสมัครใจ
เดินทางไปศึกษาหาความจริง
ท่านที่หนึ่ง “พระอธิการชุมพร”
นามกรท่านนับว่าเนี๊ยบหนิง
นามฉายา “จารุวัณโณ” อิง
ท่านแน่นิ่งในธรรมนำศรัทธา
พระมหาบุญไทย “ปุญญะมะโน”
บุญใหญ่โตน่ารักยิ่งนักหนา
พระมหาบุญศรีมีฉายา
ปรากฏว่า “ญาณะวุฑโฒ” โชว์
ด๊อกเตอร์พระมหาธรรมรัต
มาจากวัดมหาธาตุปราชญ์อักโข
นามฉายา “อริยธัมโม”
สุดแสนโก้ด๊อกเตอร์ มอ มอ รอ
ภควดี เลิศกาญนวัติเล่า
คือนางสาวแสนสวยเสียจริงหนอ
สุมาณพ ศิวารัตน์นายเก่งพอ
ประสานต่อทุกฝ่ายได้อย่างดี
วนิชย์ วัลภาพันตำรวจโท
ยศตำแหน่งใหญ่โตโชว์ศักดิ์ศรี
อีกโสภณ ขำทัพนับว่ามี
มิตรไมตรีสัมพันธ์ปันน้ำใจ
ยงสยาม สนามพลก็คนเก่ง
นับว่าเจ๋งอีกท่านขอขานไข
ผจญ คำชูสังข์ยังพร้อมใจ
ตำแหน่งใหญ่ที่รองศาสตราจารย์
ยังว่าที่ด๊อกเตอร์ติดป้ายแดง
จึงมาแรงทั้งได้มาตรฐาน
รุ่นที่หนึ่งสิบท่านนั้นเชี่ยวชาญ
วิชาการแน่วแน่ไม่แพ้ใคร ฯ

ปริญญารุ่นสองนักศึกษา
เก้าชีวาชั้นเอกเลขขานไข
พระมหาบุญนภัสร์นามเกริกไกร
ฉายาได้ว่า “ถิระปุญโญ”
พระมหาสุรวุฒิ “จันทะธัม-
โม” น้อมนำความวิเศษวิโส
พระมหาคำสัน อีกเถโร
“วิสุทธิญาโณ” นามฉายา
ถึงเพ็ญศรีสกุลหงส์พานิช
มากน้ำจิตสุขสันติ์เริงหรรษา
อีกหนึ่งนั้นแน่นางสาวกัญญา
ภู่ระหงษ์ส่งมาการันตี
นาที รัชกิจประการ
ตำแหน่งงานสภาเชียวนะนี่
ศิริพร บุญชัยเสถียรมี
ตำแหน่งที่นางดาวสุภา
อุรชา สกุลธนกฤช
ผ่องใสจิตนางสาวคุณเจ้าขา
สงกรานต์ สีตองอ่อนอีกก็มา
สามสิบห้าเลขนับลำดับนาย ฯ

ปริญญาเอกอุ่นรุ่นที่สาม
ยังมีนามให้นำมาขยาย
พระมหาวิสูตรเกียรติกำจาย
ฉายาได้ “วิสุทธิเมธี”
พระมหาวิชัยใจใหญ่โต
“ธัมมะวิชะโย” เชียวนะนี่
พระมหาเศกสิทธิ์จิตอารี
“รตนโมลี” นามฉายา
พระมหาเอกชัย ใจรักศาสน์
นามประกาศ “จันทะสิริ” หนา
กิตติศักดิ์นั้นนายน้ำใจมา
ศรีสง่า “ตีระพิมลจันทร์”
กุลยาณี อิทธิวรกิจ
ยังปลื้มจิตนางสาวอยู่สุขสันติ์
ปริศนา ไกรวิทย์จิตอนันต์
ได้ร่วมกันเดินทางอย่างเต็มใจ
นายประทีป จินงี่ นี่มาด้วย
กายใจช่วยกิจการไม่หวั่นไหว
แล้วถึงพงศ์ธนภัทรปรัชญาไกล
นิธิญาณโรจน์ใช่นามเผ่าพงศ์
ภัคศรัณย์ โพธิ์เย็นญาตินางสาว
เสน่ห์พราวสดใสใจประสงค์
ถึงมณฑา กระวีพันธ์อนงค์
อานิสงส์จากบุญเกื้อกูลมา
นายมานะ กาญจนแสนส่ง
จิตมั่นคงแกร่งจังดั่งภูผา
อีกนางสาวยุคนธรก็มา
เชื้อวงศา “อังศุสิงห์” มิ่งมงคล
นาวาเอกนาม รชต แหล่งสิน
เหล่านักบินล่องไปในเวหน
อีกหนึ่งนางลักขณาสาธุชน
มหาวินิจฉัยมนตรีสกุล
นางสาวสุจิตรา ทิพย์บุรี
กุลสตรีมีน้ำใจเกื้อหนุน
นายโสภณ บัวจันทร์ อนันต์คุณ
สร้างสมบุญหนุนไว้ได้มากมี ฯ

ปริญญาโทสี่ท่านนักศึกษา
เดินทางมาด้วยกันในวันนี้
เยาวเรศ ชื่อชัดว่าสตรี
สกุลมี “แสงเลิศสิลปะชัย”
ท่านพระครูธรรมธร อภิชาติ
“อภิชาโต” ปราชญ์สมองใส
กฤษณะ รอดเริงรื่น จิตใจ
อีกหนึ่งนายหาญกล้ามาด้วยกัน
อีกนางสาวนามว่าอุษณีย์
วงศ์ธนะบูรณ์ชัย มีสกุลมั่น
ทั้งนายนางนางสาวมาครบครัน
อีกหนึ่งนั้นพระครูธรรมธร ฯ

ผู้ติดตามล้นหลั่งตั้งสิบห้า
จิตศรัทธาแรงฤทธิ์ไม่คิดถอน
ที่หนึ่งนั้นเจ้าคุณนามกร
ลือกระฉ่อนพระปริยัติธาดา
อรอุมา เลาหพิบูลย์กุล
ผู้มากบุญยิ่งนักยากจักหา
เสริมศิริ จอมขวัญนั้นก็มา
อัครพุฒิพันธ์ การันตี
ทั้งรานี เจาลา ก็มาด้วย
พกความสวยแสนสง่ามาเต็มที่
มล.อรรคพรรณ กมลาศน์มี
มิตรไมตรีเดินทางมาด้วยกัน
สุลี กาญจนแสนส่ง แสนองอาจ
นับเป็นญาติชาติเชื้อเอื้อสิ่งสรร
คัชลิดา ศกุนวัฒน์ ผิวผ่องพรรณ
ศรัทธามั่นเปี่ยมล้นพ้นคณา
นางสาวกุสุมา แสงเดือนฉาย
ผู้ใจกายนอบนบศาสนา
ทั้งนางสาวสุธาทิพย์แสนโสภา
แสงเดือนฉายอีกนาน่าชื่นชม
นางสาวนิศานาถ เตียบฉายพันธ์
มโนมั่นพุทธศาสน์สง่าสม
นางประเทือง เตียบฉายพันธ์ นิยม
พระบรมโลกนาถศาสดา
รัชนี รอดภัย อีกหนึ่งนาง
ร่วมเดินทางแสนไกลไป่กังขา
ศรศมน ผึ้งสำราญ อุรา
ทัศนาต่างด้าวท้าวต่างแดน
ปรารถนา ยศพล คนฉลาด
บัณฑิตชาติเธอมีดีสุดแสน
อีกครรชิต เขื่อนเพชรหนุ่มหมอแคน
ดีเหลือแสนตรงที่บริการ ฯ

เจ็ดสิบเอ็ดชีวิตติดบัญชี
ทัศนีเส้นทางกว้างไพศาล
เขตสิบสองปันนาอดีตกาล
มีตำนานบอกเล่าว่าถิ่นไทย
อนิจจังสังขารโลกใบนี้
บางยุคมีผู้ครองให้ผ่องใส
ถึงบางยุควนเวียนเปลี่ยนมือไป
หาอะไรแน่นอนไม่ได้เลย
ส่วนพวกเราเล่ามากันครานี้
เป้าหมายมีที่จะกล่าวเฉลย
ทั้งท่องเที่ยวศึกษาหาเสบย
ถิ่นไม่เคยสัมผัสมาสักครา
ขอเพื่อนพ้องน้องพี่ที่น่ารัก
พึงตระหนักการเที่ยวต้องศึกษา
เก็บความรู้ใส่ใจไม่รอรา
ทั้งหรรษาสุขสันติ์ทั่วกันเทอญ ฯ
......................................................


พระเทพวิสุทธิกวี (เกษม)
วัดราชาธิวาสวิหาร

วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2552

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๕)


บทที่สอง
ทุรชน


อาทิตย์ลับเหลี่ยมเขาลูกหนึ่ง จนกลายเป็นร่มเงาธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ทำให้ความร้อนผ่อนคลายลงบ้าง
ในยามเที่ยงเช่นนี้ประกายแสงอันเจิดจ้าร้อนแรงแผดเผาสรรพสิ่ง ต้นไม้ใบหญ้าไหม้เกรียม

นั่นเป็นความสมดุลแห่งชีวิตเช่นกัน บางครั้งก็สงบเย็น บางครั้งก็เล่าร้อน
บางครั้งก็แทบไม่อยากเชื่อและนึกไม่ถึงว่า
แท้จริงยังมีเรื่องราวเช่นนี้อยู่หรือ?
เพราะโลกเป็นจริงเช่นนี้จึงมีผู้คนร้องไห้ และผู้คนจึงหัวเราะ

ทินเล่อยากตั้งคำถาม ไฉนดวงอาทิตย์ที่นี่กับดวงอาทิตย์ที่ดินแดนของตนจึงแตกต่างกัน?
ใช่ดวงอาทิตย์ดวงเดียวกันหรือไม่
ใยดวงอาทิตย์ที่ราลโปช่างส่องแสงนุ่มนวล ดุจมีน้ำใจ
สายลมก็เย็นบางครั้งก็เหน็บหนาว แต่ที่นี่กลับรุนแรง
แผดร้อน สาดแสงลงมาคล้ายดั่งต้องการเผาใหญ่ทุกสิ่งบนโลกมอดไหม้เป็นจุณ

ต้นไม้บนภูเขาเตี้ยๆ ก็เป็นเพียงต้นไม้เล็กๆ กระแสลมได้พัดม้วนฝุ่นสีแดงคละคลุ้งกระจายไป
สายลมหอบเอาไอร้อนกระทบใบหน้า ทำให้พลอยเกลียดสายลมที่เคยรักมาแต่เดิม

นี่เป็นดินแดนใด?!
หรือนี่คือ…..ทะเลทราย
เพียงชั่วครู่ที่ได้หลบร้อนอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งภูเขา ช่วงเวลาเช่นนี้มักผ่านไปรวดเร็ว
ไม่นานดวงอาทิตย์โผล่ออกมาเยือนมันอีก คล้ายดั่งสาดส่องเพื่อมันเพียงผู้เดียว
ผู้คนมักเป็นเช่นนี้ ในยามประสบทุกข์
หรือได้รับหายนะมักคาดคิดว่า ไม่มีผู้ใดเลวร้ายกว่าตนอีกแล้ว
ชายร่างกายกำยำสามคนกำลังมุ่งตรงมาที่มันยืนอยู่ ร่างกายพวกมันทำจากเหล็กกล้าหรือไร?
แสงอาทิตย์ไม่อาจทำอะไรพวกมันได้?
ท่าทีที่พวกมันมาคล้ายดั่งหนีบางสิ่งมา
“เจ้าจะไปในหมู่บ้านหรือ?” ชายผู้หนึ่ง นุ่งเพียงผ้าผืนเปราะเปื้อนฝุ่นผืนหนึ่ง เอ่ยถามอย่างร้อนรน
“ใช่” มันตอบอย่างไม่แน่ใจนักว่า ชายผู้นี้มีจุดประสงค์ใด
“ข้าเพียงอยากได้อาหาร อยากได้น้ำดื่ม และอยากอาศัยร่มเงาพักผ่อนเท่านั้น”
“ไม่ว่าเจ้าจะมีจุดประสงค์ใด พวกเราขอบอกเจ้าว่า อย่าได้ไปดีกว่า ไปกับพวกเราเถอะ”
“ทำไมเราต้องไปกับพวกท่าน”
“เพราะนี่คือ ทางรอด”
“ทางรอดใด?” มันยิ่งสงสัยมากขึ้น
“ภายในหมู่บ้านถูกพวกทหารมองโกลทำลายไปแล้ว พวกมันต้อนผู้คนไปทำงานในค่าย
พวกมันกำลังจะทำสงครามกับเมืองปุรุสปุระ”
“ทำไมท่านจึงหนีมาได้”
“เพราะพวกเราไม่ได้อยู่ในหมู่บ้าน” ชายอีกคนหนึ่งกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ คล้ายการจากมาของมันเป็นความผิดฉะนั้น
“แล้วผู้อื่นเล่า!”
“เจ้าอย่าได้ถามเลย” ชายอีกคนหนึ่งชิงตอบขึ้น “ขอเตือนเจ้าอย่าได้ไปเท่านั้น”
“ขอบคุณในความหวังดีของพวกท่าน” ทินเล่ กล่าวขอบคุณพวกมัน พร้อมทั้งให้เหตุผล “ข้าไม่ใช่พวกทหาร ไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้ใด ข้าต้องการเดินทางไปสู่วิกรมศิลา คงไม่เป็นไร พวกท่านไปเถอะ”
“เจ้าประเมินผู้อื่นเป็นวิญญูชนเกินไป” กล่าวเสร็จพวกมันจึงหลีกไปโดยเร็ว “อย่าได้บอกว่าเจอพวกเราละ”
“การประผู้อื่นเป็นวิญญูชนมีที่ใดไม่ดี?” ทินเล่ไม่ทันกล่าวคำนี้ออกไป แต่มันก็คิดไม่ออกว่า การมองผู้อื่นในแง่ดีนั้นไม่ดีตรงไหน




วิญญูชน มักประเมินผู้อื่นมีจิตใจงดงามเช่นตน
หารู้ไม่ว่ายังมีคนที่ตนคาดคิดไม่ถึงอีกมากนัก
ด้วยเหตุนี้วิญญูชน มักถูกทำร้ายอยู่เสมอ


ดวงอาทิตย์ลดความรุนแรงลงแล้ว
มันยิ่งไม่เข้าใจว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้น

ความอยากรู้เป็นพลังขับเคลื่อนประการหนึ่ง
ยิ่งอยากรู้ก็ยิ่งไคว่คว้าแสวงหา
เป็นเหตุให้คลายความเหนื่อยล้าได้
บ้านเรือนไร้ผู้คน ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือบางหลังยังมีควันไฟครุกรุ่นเผาไหม้
กลิ่นควันไฟคล้ายเผาสิ่งมีชีวิตอะไรบางอย่างจนทำให้อยากอาเจียน
ชายชราผู้หนึ่งนั่งเงียบซึมอยู่ข้างเกวียนคร่ำคร่า
ดวงตาทั้งสองของเขาขุ่นมัวไม่ทราบว่าเคยเห็นสิ่งใดหรือไม่
ไม่ทราบว่าดวงตาคู่นั้นสูญเสียน้ำตาไปมากเท่าใด?
ริมฝีปากมีรอยช้ำเพราะถูกฟันกัดแน่นคราหนึ่ง เสียงบ่นพึมพำไม่ได้ความดังแผ่วเบาไม่ได้ศัพท์
เสียงเคาะไม้เป็นจังหวะดังมาพร้อมกับเสียงหนึ่ง

ซ่างซัว ชายแดนกันดาร
เงียบสงบไร้ผู้รุกราน
ครอบครัวเป็นสุขสำราญ
บัดนี้…ถูกเผาผลาญย่ำยี
โอ…ฟ้าไหนว่าเมตตายุติธรรม
กรรมดีย่อมได้ดีน้อมนำ
ใยต้องให้ข้าทนทุกข์ จมอยู่ในความจำ
เสาเรือนซ่างซัว เป็นแต่ซากผงธุลี เอย….


ทินเล่ไม่ทราบเป็นผู้ใดคร่ำครวญ แต่เพียงทราบว่า
เสียงขับขานนั้นเศร้าจับใจ
เสียงขับขานนั้นมาจากจิตใจทุกข์ทนยิ่งแล้ว

เป็นความจริงยิ่ง บทกวีที่งดงามไพเราะ
ไม่ทราบแลกมาด้วยน้ำตาเท่าใด

(อ่านต่อตอนต่อไป)



วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ความงามนั้นสำคัญไฉน?











ความงามหรือสุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องที่มนุษย์ปวดเศียรเวียนเกล้าอยู่ไม่น้อย เพราะแท้จริงมนุษย์มีสุนทรียธาตุอยู่ภายในตัวตนของมนุษย์นี่แหละ จะเห็นได้จากมนุษย์มักจะชมชอบความงามที่ปรากฏขึ้น หรือที่เข้ามากระทบอายตนะ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มนุษย์สร้างสรรค์ศิลปะวิทยาการประดับโลกอย่างวิจิตรพิสดารไม่เพียงเฉพาะมนุษย์ในโลกที่พัฒนาแล้ว มนุษย์เผ่าทั้งหลายก็ยังมีการประดับประดาตัวตน อาคาร สถานที่ของตนด้วยเครื่องประดับด้วยคิดว่าสิ่งนั้นทำให้เกิดความสวยงามขึ้น ความงามทำให้ชีวิตรื่นรมย์แจ่มใส ถ้าชีวิตมนุษย์ขาดสิ่งนี้ไปเสียอย่างหนึ่งแล้ว ชีวิตของมนุษย์ก็มีแต่ความแห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา ความงามจึงเป็นที่ต้องการของมนุษย์และแสวงหาสิ่งสวยงามมาครอบครอง โดยเฉพาะความงามที่มีในสตรีเพศและหรือในบุรุษเพศ

ในปัจจุบันจะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อผู้คนต่างพากันแสวงหาความงามในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นความงามบนร่างกายและความงามในวัตถุ สำหรับการแสวงหาความงามบนร่างกายยิ่งนับวันยิ่งมีความสำคัญยิ่งขึ้นเมื่อมนุษย์ต้องการทำให้ร่างกายที่เป็นอยู่เปลี่ยนไปให้งามตามความเชื่อของโลก
โดยใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยสร้างความงามบนร่างกายให้เกิดขึ้นโดยวิธีผ่าตัดตกแต่งร่างกายจนกลายเป็นปัญหา ส่วนความงามทางวัตถุก็มีการสร้างเครื่องประดับตกตกแต่งร่างกายที่เป็นอัญมณีและที่เป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ทั้งหลาย จนทำให้ปัจจุบันธุรกิจด้านเสริมความงามได้รับความนิยมไม่เพียงเฉพาะแต่ผู้หญิงรวมไปถึงผู้ชายด้วย


แน่นอนสิ่งใดมีคุณมหันต์สิ่งนั้นก็มีโทษอนันต์เหมือนกัน ความงามก็เช่นนั้นมีทั้งคุณประโยชน์และโทษเช่นกัน ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของคนที่ต้องเลือกบริโภคความงามนั้น ปัญหาหลักก็คือการแย่งสิ่งที่งามของกันและกันมาครอบครองจนกลายเป็นการทำร้ายและทำลายกันและกัน ปัญหาต่อไปก็คือปัญหาที่เกิดภายในตัวความความงามเอง ก็คือการตกเป็นเป้าหมายของคนทั้งหลายจนกลายเป็นอันตรายสำหรับสิ่งที่มีความสวยงามนั้น โดยเฉพาะสตรีที่มีความงาม นอกจากนั้นก็เกิดปัญหาจากการเสริมความงามให้แก่ตนโดยการประดับตกแต่งเรือนร่าง เป็นเหตุให้เกิดการเสียทรัพย์และเสียชีวิตเกิดขึ้น ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องอื่นๆ อีก เช่นกลายเป็นปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น





ความเข้าใจผิดในเรื่องความงามก็เป็นปัญหาใหญ่ กล่าวคือ โลกกำลังให้ความสำคัญเฉพาะปัญหาทางกายภาพ แต่ละเลยปัญหาความงามด้านจิตภาพ จึงพบว่า สังคมเกิดความวุ่นวาย ขัดแย้ง ทำลายกันและกันเนื่องจากขาดความงดงามทางจิตใจ จิตใจของคนไม่งดงาม ประกอบไปด้วยสิ่งสกปรกนานัปการ ไม่ได้รับการชำระ ไม่ได้รับการทำความสะอาด มีแต่พอกพูนความไม่สะอาดเข้าไปไม่ขาด สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนมืดมัวลงไป


พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญต่อความงามทางด้านจิตภาพมากกว่า เพราะถ้าหากมีความงามที่มาจากภายในแล้ว ความงามภายนอกก็จะปรากฏออกมาเอง ความงามทั้งร่างกายและจิตในมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น เมื่อมีจิตใจที่งดงามจะส่งผลให้ร่างกายงดงามเช่นกัน เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์แล้ว มนุษย์ประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ นักวิทยาศาสตร์ได้คนคว้า พบว่า ร่างกายมนุษย์ ส่วนศีรษะมีต่อมใต้สมอง มีชื่อว่า พิทูอิททารี ต่อมนี้มีความสัมพันธ์กับจิตใจโดยตรง ในขณะใดก็ตาม สภาวะของจิตมีความเร่าร้อน ครุกรุ่น ด้วยกิเลส ต่อมนี้จะหลั่งสารทุกข์ (Cortical และ Adrenaline) ออกมา สารทุกข์จะหล่อเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกายมีผลให้ใบหน้า ผิวพรรณ หมองคล้ำ เหี่ยวย่น และทำนองเดียวกัน ขณะใด จิตอยู่ในสภาวะปกติเบาสบาย สงบ บริสุทธิ์ ต่อมพิทูอิททารี จะหลั่งสารสุข (Endorphin) ออกมา สารสุขหล่อเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกาย มีผลให้ใบหน้าผิวพรรณ เปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล งดงาม เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น จะเห็นได้ว่า ผู้มีจิตใจงดงาม สงบ บริสุทธิ์ มีผลให้ร่างกายมีความงดงามไปด้วย ความงามภายในนี้ไม่ต้องลงทุนมาก ไม่ต้องสูญเสียทรัพย์สินมาก แต่กลับได้ผลมาก เพียงสร้างความงามขึ้นภายในใจ ความงามภายนอกก็จะปรากฏขึ้นตามมาเอง และเป็นความงามที่ยั่งยืน ไม่เป็นอันตราย มีแต่คุณไม่มีโทษ

พระพุทธศาสนาไม่ให้ความสำคัญต่อความงามบนเนื้อหนังแต่ให้ความงามที่ปรากฏในจิตใจ ความงามที่ปรากฏในจิตใจเท่านั้นจึงเป็นความงามที่แท้จริง และเป็นความงามที่เป็นอมตะ ดังนั้นทุกคนต้องแสวงหาความงามทางจิตจึงจะเข้าถึงความงามที่แท้ได้


วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ที่มาพระอวโลกิเตศวร (กวนยิน)




ถ้าพูดชื่อนี้ “พระอวโลกิเตศวร” ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาแบบมหายานก็คงไม่คุ้นชื่อนัก แต่ถ้าบอกว่า “เจ้าแม่กวนอิม” ชาวพุทธในประเทศไทยก็คงรู้จักบ้างไม่มากก็น้อย เพื่อให้เป็นประโยชน์ทางการศึกษาพระพุทธศาสนาจึงขอนำเรื่องนี้มาเสนอลงในหนังสือพิมพ์ไทยพุทธ ฉบับปฐมฤกษ์นี้ สำหรับผู้ที่มีความศรัทธาในพระแม่กวนอิมโพธิสัตว์แล้ว ก็อาศัยมหาเมตตาจากท่านได้เป็นพลังช่วยเหลือเกื้อกูลให้หนังสือพิมพ์ไทยพุทธได้ปรากฎชื่อในบรรณพิภพอีกฉบับหนึ่ง

ที่มาของพระอวโลกิเตศวร

ก่อนที่พระแม่กวนอิม หรือกวนยินโพธิสัตว์จะเป็นที่รู้จักกันในชื่อนี้ กาลก่อนนั้นชื่อที่เรียกพระองค์โพธิสัตว์ว่า อวโลกิเตศวร ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีบทบาทมากทั้งที่ปรากฏในวรรณกรรมเป็นปฏิมากรรม จิตกรรม และเป็นศูนย์รวมของศรัทธาพุทธศาสนิกฝ่ายมหายานกันทุกนิกายในทุกประเทศ คือ พระอวโลกิเตศวร ความเชื่อที่มีต่อพระมหาโพธิสัตว์องค์นี้ ดุจดังความเชื่อของผู้คนที่มีต่อพระนารายณ์ของฮินดูและความเชื่อที่มีต่อท้าวสักกะ (พระอินทร์) ของชาวพุทธเถรวาท พระอวโลกิเตศวรนั้นมีอิทธิพลอย่างมาก ทั้งได้รับความนับถือไม่เสื่อมคลาย

ความเป็นมาของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนั้นยังไม่ชัดเจน แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เชื่อว่า พระอวโลกิเตศวรคงมีมาแต่ก่อน พ.ศ. ๕๐๐ เพราะคัมภีร์มหายานที่เก่าแก่ที่สุดก็มีอายุประมาณ พ.ศ. ๖๐๐ แม้ว่าจะมีนักปราชญ์ทางตะวันตกบางท่านเห็นว่า ในบทที่ ๒๔ ของคัมภีร์เล่มนี้ ในสำนวนร้อยแก้วที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพระอวโลกิเตศวรที่มีความยิ่งใหญ่กว่าพระพุทธเจ้า ข้อความนั้นมีว่า

“พระศรีศากยมุนีได้รับสั่งแก่พระโพธิสัตว์อักษยมติว่า บรรดาสิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดที่ได้แสดงความต่อพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร แม้แต่เพียงครั้งเดียว ก็จักได้บุญกุศลเท่ากับผู้ซึ่งกราบไหว้บรรดาพระพุทธเจ้าซึ่งมีอยู่ ๖๒ เท่าของเม็ดทรายในแม่น้ำคงคามาตลอดชีวิต”

ข้อความเหล่านี้คงมีอยู่ในคัมภีร์อื่นที่เก่ากว่าคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตรแล้วนำมาต่อเติมในคัมภีร์นี้ จากข้อความดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า พระอวโลกิเตศวรนั้นมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและวิถีความคิดของประชาชนโดยทั่วไปอยู่ก่อนแล้ว ตามลักษณะและบทบาทของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นั้นเป็นองค์แห่งการุณ (Goddess of Mercy) คือ ความกรุณา

พระโพธิสัตว์ ผู้ปรากฏกายอยู่ทั่วไปเพื่อช่วยสรรพสัตว์ผู้ได้รับความทุกข์เสมอ ปาฏิหาริย์เช่นนี้ได้รับการสันนิษฐานว่า มีส่วนคล้ายคลึงกับเทพเจ้าสะเราษะ (Srausha) หรือเทพเจ้ามิถระ (Mithra) ของอิหร่าน ซึ่งปรากฏในคัมภีรอเวสตะที่มีบาทบาทว่าเป็น เทพเจ้าแห่งแสงสว่าง เป็นผู้ให้ชีวิต เป็นเทพเจ้าแห่งความจริง แห่งความซื่อสัตว์ ให้คำมั่นสัญญา ลงโทษผู้ไม่ซื่อสัตว์ ช่วยผู้ที่ตายไปแล้วให้ไปสู่สวรรค์ พระอวโลกิเตศวรก็มีปาฏิหาริย์เช่นนี้และช่วยเหลือให้ผู้ที่ทำความดีเมื่อตายไปจะได้ไปสู่สวรรค์ชั้นสุขาวดี




ภาพเหล่านี้ปรากฏที่ถ้ำตุนฮวงของจีน ยิ่งในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ กษัตริย์ราชวงศ์โสสิสานิดของอิหร่านถูกกองทัพอาหรับรบชนะเป็นเหตุให้แนวความคิดของเทพเจ้าของอิหร่านมาผสมกับพระอวโลกิเตศวรมากยิ่งขึ้น ยิ่งมีการพรรณนาอภินิหารมากมายจนทำให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาสับสน เพราะนำไปผสมเข้ากับเทพเจ้าของลัทธิศาสนาอื่น

คัมภีร์ที่พรรณนาอภินิหารและกิจกรรมของพระอวโลกิเตศวร เช่น คัมภีร์สุขาวดีวยูหสูตร, คัมภีร์อมินายุรพุทธานุสมฤติสูตร, คัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร, คัมภีร์โลเกศวรศตกสูตร, คัมภีร์การัณฑ วยูหสูตร, คัมภีร์มัญชุศรีมูลกัลปะ, คัมภีร์สาธนมาลา เป็นต้น โดยเฉพาะคัมภีร์อมิตายุรพุทธานุสมฤติสูตร พรรณาว่า
“พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ทรงมีลักษณะเป็นเจ้าแห่งจักรวาล ขั้นต้นพระองค์มีขนาดที่วัดไม่ได้ มีเศียรสูง ๓ เมตร พระองค์สูง ๘๐๐ เมตร เปรียบเทียบกับภูเขา ทุกขุมขนของพระองค์มีโลกอยู่ภายใน พระองค์ทรงบันดาลให้เกิดมีเทพเจ้า”

ดังนั้น จิตรกรทั้งหลายจึงนำลักษณะเหล่านั้นมาวาดและแกะสลักให้เห็นเป็นรูปลักษณ์ที่น่าศรัทธาเลื่อมใสและบางครั้งก็มีรูปลักษณ์ที่น่ากลัว จากนัยนี้ทำให้สันนิษฐานได้อีกว่า พระอวโลกิเตศวร นั้นมีลักษณะเหมือน “ปชาบดี” ผู้สร้างชีวิตและจักรวาล ในคัมภีร์พระเวท ดุจดังพรหมันในกาลต่อมา ในขณะเดียวกันในคัมภีร์มัญชุศรีมุลกัลปนะได้พรรณาลักษณะของท่านคล้ายดั่งพระอิศวรในศาสนาพราหมณ์นิกายไศวะ คือ พระศิวทฤษฏิคุรุ เทพเจ้าแห่งการมองเห็น จนมีผู้กล่าวว่าพระอวโลกิเตศวรก็คือพระอิศวรในพระพุทธศาสนา ดังที่ปรากฏในคัมภีร์พฤตัสถกถาของแคว้นแคชเมียร การประทับเหนือดอกบัวก็ดี เทพยดาล้อมรอบก็ดี ล้วนมีส่วนเหมือนกัน

ในรัชสมัยของราชวงศ์กุษาณะ พบรูปสลักของพระอวโลกิเตศวร ศิลปะคันธารและกุษาณะ รูปสลักนั้นมีรูปพระอมิตาภะอยู่เหนือพระนลาฏ หลักฐานนี้สันนิษฐานเทียบใกล้เคียงกับเทพเจ้าของอิหร่านมากคือ เทพเจ้าซุรวานอักนารัก (Zurwan Akanarak) ของชนเผ่ามาจ (Mage) ซึ่งอยู่แถบซินเดรีย เทพองค์นี้เป็นเทพแห่งแสงสว่าง (อมิตาภะ) เป็นเทพเจ้าประจำทิศตะวันตกซึ่งเป็นหนึ่งในห้าองค์สำคัญ ต่อมามีการนับถือเทพเจ้า ๓ องค์ คือ พระอมิตาภะอยู่กลาง พระอวโลกิเตศวร อยู่ด้านขวา พระมหาสถามปราปต์ อยู่ด้านซ้าย ต่อมาเมื่อความเชื่อนี้ไปเจริญในทิเบต พระวัชรปาณีโพธิสัตว์มาแทนพระมหาสถามปราปต์ โดยมีลักษณะ ๓ ประการคือ แสงสว่างเทพเจ้า ปัญญา


อ่านต่อฉบับหน้า

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๔)
















ภาพในห้วงละเมอเข้ามาเสียดแทงจิตใจของมันเสมอ
ภาพนั้นคล้ายดั่งเป็นความจริงที่เกิดขึ้น
มันย่อมทราบจิตใจของพ่อแม่และธากีณีดี
มีแต่ต้องทำตามปณิธานของตนให้ถึงที่สุดเท่านั้นจึงจะทำให้มันรู้สึกผิดน้อยลง

หนทางแห่งความโดดเดี่ยวยังไม่สิ้นสุด
มันต้องเดินต่อไป
ไปให้ถึงสถานที่ที่มันจะพบกับแนวทางการบำเพ็ญตน

มันทราบซึ้งใจต่อครอบครัวของ มัณนิธา ที่ช่วยเหลือและให้อาหารประทังชีวิต
มันคงได้แต่เก็บความซาบซึ้งนี้ไว้ในใจ มัณนิธา ขอร้องให้มันอยู่ต่ออีกสักหลายวัน แต่มันย่อมทราบว่า

บ่อเกิดแห่งความรัก
ประการหนึ่งย่อมมาจากความสงสาร
ยิ่งผู้อื่นดีต่อตนเท่าไร
ความสงสารก็ยิ่งเกิดขึ้นมากเท่านั้น
และความรักย่อมแตกดอกออกผล
เป็นทวีคูณ…

“เดินตามทางเส้นนี้ไป ข้ามภูเขาหิมะเบื้องหน้า” นางกล่าวพลางชี้ไปเบื้องหน้า “ก็จะเข้าเขตแดนเมืองกาศมีระแล้ว”

คำอำลาของนางยังคงดังอยู่ภายในสมอง “เมื่อท่านบรรลุจุดหมายแล้ว หวังว่าคงจำทางเส้นนี้ได้!”
เสียงนั้นมีสำเนียงสั่นเครืออยู่ภายใน มันไม่อาจรอให้นางกล่าวมากความ มิใช่มันไม่ชอบการกล่าวอำลา แต่ที่มันไม่ปรารถนาจะเห็นคือ “น้ำตาสตรี”

มีบุรุษไม่น้อยที่ต้องพ่ายแพ้แก่น้ำตาสตรี
มีกี่มากน้อยที่สังเวยชีวิต
เพราะน้ำตาสตรีเช่นกัน

….น้ำตา….เป็นอาวุธประการหนึ่ง !
และยังคงเป็นอาวุธที่ใช้ได้ผลเสมอมา
โดยเฉพาะน้ำตาที่เอ่อนองบนใบหน้าของสตรีที่งามสะคราญ







วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การอุบัติขึ้นของพุทธศาสนา









แคว้นต่างๆ ในชมพูทวีป

ประมาณศตวรรษที่ ๖ ก่อนศริตศักราช ประเทศอินเดีย แต่เดิมเรียกว่า ชมพูทวีป ถูกแบ่งเป็นส่วนใหญ่ๆ เรียกกันว่าชนบทหรือมหาชนบท ในคัมภีร์บาลีอังคุตตรนิกายแห่งพระไตรปิฎกให้รายละเอียดดินแดนของอินเดียไว้ มีถึง ๑๖ แคว้น (โสฬส มหาชนบท) แคว้นต่าง ๆ เหล่านี้ เจริญรุ่งเรืองระหว่างภูเขาฮินดูกูชและแม่น้ำโคธาวรี

ที่ตั้งของแคว้นอดีตกับปัจจุบัน ก็คือ กาสี (คือเมืองพาราณสีในปัจจุบัน) โกศล (โอธะ) อังคะ (พิหารตะวันออก) มคธ (พิหารทางใต้) วัชชี (วริจีพิหารทางเหนือ) มัลละ (เมืองโครักขปุร) เจตี (อยู่ระหว่างจุมนาและนารมทา) วังสะ (อยู่ที่วัสสะบางส่วนของเมืองอัลลาหะบาด) คุรุ (ถาเนสวรเดลีและมิรัต) ปัลจาละ (อยู่เขตบาเรลลี เขตยาถูนและและเขตฟารุกขะบาด) มัชชะ (เจปุระ) สุรเสนะ (มถุรา) อัสสกะ (เมืองอัสมะกะติดไปทางโคธาวรี) อวันตี (อยู่ที่มัลวะ) คันธาระ (อยู่ที่เมืองเปชวารและระวัลปินดิ) กัมโพธะ (แคชเมียรส่วนที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้และบางส่วนของอัฟกานิสถาน)

ในหนังสือจุลนิเทสได้เพิ่มแคว้นกาลิงคะ แต่ไม่มีแคว้นคันธาระ ทั้งยังเพิ่มแคว้นโยนกไว้อีกด้วย ในชนวาสภสูตรแห่งฑีฆนิกาย ได้จัดชนบทไว้เป็นคู่ ๆ ได้แก่ กาสี-โกศล วัชชี-มัลละ เจตี-วังสะ กุรุ-ปัจจาละ และมัชชะ-สุรเสนะ

ส่วนคัมภีร์มหาวัสตุของฝ่ายสันสฤกตก็มีชื่อเช่นเดียวกันเพียงแต่ไม่มีชื่อแคว้นคันธาระและกัมโพชะอยู่ด้วย แต่กลับมีแคว้นสีพีและทัสสณะในปัญจาบ (หรือเมืองราชปุตนะ) ไว้แทน และยังมีเมืองทางอินเดียตอนกลางไว้ตามลำดับ

ทางฝ่ายคัมภีร์ของศาสนาเชน ภัคควตีสูตร ก็บันทึกรายชื่อของมหาชนบททั้ง ๑๖ เอาไว้ มีความแตกต่างกันเพียงกันเล็กน้อย ยกตัวอย่างเช่น แคว้นอังคะ, ภังคะ (ก็คือวังสะ), มคหะ ก็คือมคธ), มลยะ, มาละวากะ, อาชชะ, วาชชะ (ก็คือวัสสะ), โกชชะ, ปาธหะ (หรือปาณฑยะ หรือปุณดระ), ลาธะ (ลาฏะ หรือราธะ), พัชชี (วัชชี), โมลิ (ก็คือมัลละ), กาสี (กาษี), โกศล, อวาหะและแคว้นสัมภุตตระ จะเห็นได้ว่า บางเมืองมีชื่อต่างกันนิดหน่อย บางเมืองก็ไม่เหมือนกัน สันนิษฐานว่าคัมภีร์ของศาสนาเชนนี้ มีมาหลังคัมภีร์ทางพุทธศาสนา อาจบางทีคัมภีร์ทางศาสนาเชนได้ระบุเมืองใหม่ๆ ที่อยู่ทางตะวันออกไกลและทางใต้ของอินเดียเข้าด้วย

ดังนั้น จะถือเอาคัมภีร์ทางฝ่ายพุทธศาสนานั้นถูกต้องกว่า เกี่ยวกับการแบ่งเขตการปกครองในยุคนั้น ก่อนที่ยุคสมัยชนกะจะล่มสลายไป ในส่วนที่เกี่ยวข้องกันนี้ มหาโควินทะสูตรแห่งฑีฆนิกาย ระบุว่าอินเดียถูกแบ่งออกเป็นเมืองสำคัญ ได้แก่ เมืองกาลิงคะ (ทานตะปุละ) อัสสกะ (โปตนะ) อวันตี (มหิสสติ) โสวีระ (โรรุกะ) วิเทหะ (มิถิลา) อังคะ (จัมปา) และกาสี (พาราณสี)

แคว้นที่กล่าวไว้ข้างบนทั้งหมดนั้นเจริญรุ่งเรืองในสมัยที่พระพุทธเจ้าและศาสดามหาวีระศาสดาศาสนาเชนมีพระชนม์ชีพอยู่ ในบรรดาแคว้นเหล่านั้นมีอยู่ ๔ แคว้นที่มีอำนาจเหนือกว่าแคว้นอื่นๆ และต่างก็พยายามที่จะแผ่ขยายอำนาจไปสู่แคว้นใกล้เคียง

แคว้นใหญ่ทั้ง ๔ นั้นคือ แคว้นมคธะ, โกศล, วัสสะ และอวันตี แคว้นทั้งสี่นี้ปกครองโดยกษัตริย์ แต่ก็มีแคว้นที่ปกครองแบบรัฐสภาด้วย เช่น แคว้นวัชชะ, มัลละ และปาวา นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีเมืองเล็กๆ อีกที่ปกครองด้วยระบบรัฐสภาเช่น แคว้นศากยะแห่งนครกบิลพัสดุ์, โกลิยะแห่งเทวทหะและรามคาม ภัคคัสแห่งเทือกเขาสุมสุมาระ, บูริสแห่งอัลลกัปปะ, กาลามะแห่งเกสปุตตะและโมลิยะแห่งปิปผลิวนะ

การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า

ในศตวรรษที่ ๖ ถือได้ว่า เป็นช่วงสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศาสนาของอินเดีย พุทธศาสนาเกิดขึ้นในยุคนี้เช่นเดียวกันและอาจกำหนดว่าเป็นยุคสุดท้ายของศาสนาพราหมณ์ก็ว่าได้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของพระพุทธศาสนาเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นใหญ่ในตระกูลศาสกยะ พระองค์ครองกรุงกบิลพัสดุ์มีอาณาเขตขยายไปทางตอนเหนือ และบางส่วนทางตอนใต้ของเนปาล มเหสีของพระองค์พระนามว่ามหามายา

ในคืนหนึ่งพระนางทรงพระสุบินเห็นช้างเผือกโพธิสัตว์มาจากทางตอนเหนือ หลังจากกระทำปทักษินพระนางครบ ๓ รอบแล้วจึงเข้าสู่พระครรภ์ในเดือนอาสาฬหะวันประเพณีวันสุดท้ายในเมืองกบิลพัสดุ์ ต่อมาพระนางก็ทรงพระครรภ์ หลังจากนั้น ๑๐ เดือน พระนางก็ปรารถนาไปเยี่ยมพระบิดาและพระมารดา ณ กรุงเทวทหะ จนกระทั่งถึงระหว่างทางก็ประสูติพระโอรสใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินี

หลังจากนั้น ๗ วันพระนางมหามายาก็ทิวงคต พระราชโอรสได้รับการเลี้ยงดูจากพระน้านางมหาปชาบดีโคตรมี พระองค์ได้พระนามว่าสิทธัตถะ เมื่อพระองค์มีพระชนม์มายุได้ ๕ วัน บ้างก็เรียกพระองค์ว่าโคตมะถือเอาตามชื่อโคตร เนื่องจากพระองค์ประสูติในตระกูลศากยะจึงได้พระนามว่าศากยสิงหะด้วย อาจารย์ของพระองค์ชื่อว่าวิศวามิตร ภายใต้การแนะนำพร่ำสอนของอาจารย์ เจ้าชายสิทธัตถะได้เรียนศิลปวิทยาต่างๆ (ศิลปวิทยา ๑๘ แขนง) จบภายในเวลาอันสั้น

ต่อมาพระองค์ก็ได้อภิเษกสมรสกับพระนางยโสธรา ผู้เป็นพระธิดาของทัณฑปาณิแห่งโกลิยวงค์ พระองค์และพระมเหสีทรงประทับอยู่อย่างสะดวกสบายอย่างยิ่งด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ จนกระทั่งต่อมาพระองค์ก็ให้กำเนิดพระราชโอรสพระองค์หนึ่งพระนามว่า ราหุล เจ้าชายสิทธัตถะประทับในพระราชวังจนถึงพระชนม์มายุได้ ๒๙ พรรษา พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้สร้างปราสาท ๓ หลังประจำ ๓ ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว เพื่อที่จะให้พระโอรสไม่ประสบพบเห็นสิ่งไม่สวยไม่งามทั้งคนแก่คนเจ็บ คนตาย และสมณะด้วยเกรงว่าจะเป็นดั่งคำพยากรณ์ของโหรหลวง พระราชบิดาจึงจัดแจงทุกสิ่งทุกอย่างล้ำเลิศพิสดารด้วยสิ่งสวยงามในโลกพึงมีเพื่อให้พระโอรสหลงใหล

วันหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะปรารถนาที่จะเสด็จประพาสอุทยาน พระเจ้าสุทโธทนะให้จัดแต่งสวนให้เห็นแต่สิ่งสวยงามไว้ดั่งเช่นกาลก่อน แต่แล้วระหว่างทางพระองค์ก็ได้พบเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ที่มีผมหงอกขาว, คนเจ็บ,คนตาย และสมณะ

ด้วยอาศัยภาพที่ปรากฏจากเทวทูตทั้ง ๔ ยังความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นภายในจิตใจของพระองค์ ทรงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแท้ถาวรของสิ่งที่เป็นอย่างโลก พระองค์ตัดสินพระทัยแน่วแน่ที่จะออกจากโลกนี้และต้องการที่เข้าไปสู่ป่าเพื่อจะแสวงหาทางหลุดพ้นจากความไม่เที่ยงแท้เหล่านี้

ในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ เมื่อพระองค์พระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ทรงเสด็จออกจากพระราชวังในตอนกลางคืนโดยทรงม้ากัณฑกะ และมีนายฉันนะติดตามไปด้วย เมื่อข้ามเขตแดนของศากยะโกลิยะและมัลละ พระองค์ได้เสด็จถึงอนุเวลาเสนานิคม ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมาในตอนรุ่งเช้า ณ ที่นี้นี่เองพระองค์ตรัสบอกให้ฉันนะกลับไป แล้วพระองค์จึงเสด็จไปพระองค์เดียว และได้พบกับนายพรานที่นุ่งผ้าสีเหลือง พระองค์จึงได้แลกฉลองพระองค์กับเสื้อผ้าของนายพรานผู้นั้น

สิทธัตถะดาบสไปสู่เมืองไพศาลี เพื่อพบกับอาฬาระกาลามะนักปรัชญาผู้มีชื่อเสียง และสมัครเป็นลูกศิษย์ศึกษาอยู่ที่นี่ระยะหนึ่ง แต่ว่าพระองค์ยังไม่ทรงพอพระทัยในคำสอนและหลักการของท่าน จึงลาอาจารย์ท่านนี้เดินทางไปสู่เมืองราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ ณ ที่นี้พระองค์พบกับพระเจ้าพิมพิสาร และได้ให้สัญญาว่าจะกลับมาแสวงธรรมแก่ท่านเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว

จากนั้นพระองค์ได้พบกับนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งชื่อว่าอุททกดาบสรามบุตร และพระองค์ก็ยังไม่พอพระทัยยังไม่พบทางตรัสรู้ด้วยวิธีการของท่านดาบส จากที่นี้พระองค์เสด็จไปสู่อุรุเวลาก็พบกับปัญวัคคีย์ ได้แก่ อัญญาโกณฑัญญะ, วัปปะ, ภัททิยะ, มหานามะ และอัสสชิ ณ ตำบลอุราเวลาเสนานิคมแห่งนี้ที่พระองค์ประทับนั่งลงบำเพ็ญทุกกรกิริยา จนกระทั่งพระองค์พบว่าการทรมานตนนั้นไม่ใช่หนทางนำไปสู่การหลุดพ้นแต่อย่างใด หลังจากที่พระทรงอดอาหารได้ ๔๙ วัน

พระองค์จึงเปลี่ยนมาทานอาหารเช่นเดิม โดยการนำมาถวายของนางสุชาดา ลูกสาวของเจ้าของที่บริเวณนั้น และแล้วพระองค์จึงประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์ด้วยการตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะต้องบรรลุธรรมให้ได้ โดยการเปล่งพระวาจาว่า “ไม่ว่าเอ็นกระดูกของเราจะสิ้นไป แม้ว่าเลือดในกายของเราจะสิ้นไป เราจะไม่ลุกจากที่นี้ไปไหน ถ้ายังไม่ตรัสรู้”

ในราตรีนั้นเองพระองค์ได้ปฏิบัติสมาธิ และได้ญาณ ๓ ประการคือ ปุพเพนิวาสนุสติญาณในยามแรก ต่อมาก็ตรัสรู้ธรรมชาติการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย (จุตูปปาตญาณ) ในยามที่สอง และในยามที่สาม พระองค์ได้ตรัสรู้ความความเกี่ยวเนื่องกันของสรรพสิ่ง (ปฏิจสมุปบาท) และกันพร้อมทั้งอริยสัจ ๔ และความสิ้นไปแห่งกิเลสทั้งปวง (อาสวักขยญาณ) พระองค์จึงกลายเป็นพระสัมมาสัมพุทธ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ฟังบรรยายมหายานจากภิกษุณีอัมพิกา

นักศึกษาปริญญาเอก รุ่นที่ ๓ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศูนย์การศึกษาวัดอาวุธวิกสิตาราม
ฟังบรรยายมหายาน และเยี่ยมชมวัดโฝวกวงซาน อาคารว่องวานิช ชั้น ๓๒ บี โดยมีภิกษุณีอัมพิกา (เมี่ยวเสิ้น)เป็นผู้บรรยายและให้การต้อนรับ















แหม...รู้สึกว่าจะอินกับมหายานของแท้















รู้สึกว่าจะเป็นมหายานกันแล้วนะ
แต่ดูท่าเครียดไปหน่อย

















ตั้งหน้าตั้งตาจดเผื่อมีในข้อสอบ


















รับของที่ระลึกจากภิกษุณี ได้ทั้งความรู้และของฝาก ไม่มาเสียดายแย่



















ได้ทานอาหารเจอร่อยๆ (จังซี่มันต้องถอน)









บารมี : มรรควิถีแห่งโพธิยาน




ในการบำเพ็ญตนนั้น พระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญตามโพธิสัตวธรรมอันเป็นพุทธมรรค ซึ่งการบำเพ็ญนี้เรียกว่า “บารมี” แปลว่า ให้เต็มรอบ (ปารมี=ปฏิปทาอันยิ่งยวด) คำนี้เมื่อนำมาใช้กับคนธรรมดาที่เรียกว่า คนมีบารมี (Charismatic) มีความหมายเปลี่ยนไปหมายถึงบุคคลที่มีความเต็มเปี่ยมด้วยใดด้านหนึ่งและด้านนั้นเป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคม จนเรียกบุคคลที่มีอิทธิพลว่าเป็นคนมีบารมีก็มี แต่บารมีในที่นี้หมายถึงการผู้ใดปฏิบัติตามโพธิสัตวธรรมข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อในขณะเดียวกัน แล้วแต่ข้อใดจะเป็นข้อที่เด่น






















ถ้าตามหลักฐานของพุทธศาสนาเถรวาท มี ๑๐ บารมี ได้แก่ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา
ในส่วนของหลักฐานทางพระพุทธศาสนามหายานนั้นแสดง ๖ บารมี ได้แก่ ทาน ศีล ขันติ วิริยะ สมาธิ ปัญญา
โพธิสัตวธรรมนี้มีอำนาจประหารอกุศลธรรมที่มีอยู่แล้ว และป้องกันอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น และทำกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญยิ่งขึ้น ทานและศีลบารมีเป็นธรรมที่เป็นข้าศึกต่อโลภะ ขันติและวิริยะบารมี เป็นธรรมที่เป็นข้าศึกต่อโทสะ สมาธิและปัญญาเป็นธรรมที่เป็นข้าศึกต่อโมหะ



ในการบำเพ็ญบารมี โดยปกติแล้วชาวพุทธแทบทุกคนก็บำเพ็ญบารมีอยู่ประจำ ได้แก่ การบำเพ็ญทาน ศีล และภาวนา หรือเดินตามมัชฌิมมรรค จะต่างกันก็ตรงที่เมื่อบำเพ็ญปฏิบัติแล้วมีเจตจำนงเพื่ออะไร มีอธิษฐานจิตอย่างไร ตรงนี้มีประเด็นพิจารณา การให้ทาน รักษาศีล และปฏิบัติภาวนานั้นเปรียบเหมือนการศึกษา แม้ไม่ได้ใช้การศึกษาความรู้ก็อยู่ในตน แต่ถ้าหากมุ่งหวังเพื่อจะใช้การศึกษานั้นไปทำอะไร ก็จะเป็นผลอันเกิดจากการศึกษานั้น ดังนั้นเจตจำนงเพื่อใช้ผลแห่งบารมีให้เป็นไปในทางใดจึงมีความสำคัญ
พึงเข้าใจอย่างหนึ่งว่า การบำเพ็ญบารมีธรรมนี้โดยทั่วไปก็บำเพ็ญกันเป็นปกติอยู่แล้วขึ้นอยู่กับว่า ใครจะเน้นหนักทางด้านไหน บารมีอะไรเท่านั้น ผู้ไม่บำเพ็ญไม่มีเลย เพียงแต่การบำเพ็ญนั้นเป็นที่เข้าใจของเราแล้วหรือไม่และบำเพ็ญมุ่งปรารถนาอธิษฐานอะไร
ในที่นี้หากมุ่งหวังให้เข้าถึงความเป็นพุทธะ ก็ต้องตั้งปณิธาน อธิษฐานจิตว่า “เราจักโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลาย เราจักทำลายกิเลสทั้งหลายให้สิ้น เราจักศึกษาพุทธธรรมให้เจนจบ และเราจักปฏิบัติให้เข้าถึงพุทธะให้จงได้”



ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาแสดงหลักอธิษฐานบำเพ็ญบารมี เรียกว่า พุทธภูมิธรรมไว้ ๔ ประการ
๑. อุสสาหธรรม มีปณิธานจิตประกอบด้วยกุศลอุสสาหะ ตลอดทุกภพทุกชาติไม่ย่อท้อ
๒. อุมัตตธรรม มีปณิธานจิตประกอบด้วยปัญญา เพื่อหยั่งรู้ในการบำเพ็ญบารมี
๓. อวัตถานธรรม มีปณิธานจิตอันประกอบด้วยมั่นคงต่อพุทธภูมิ
๔. หิตจริยธรรม มีปณิธานจิตประกอบด้วยเมตตา กรุณา โปรดเวไนยสัตว์
ในการตั้งจิตปณิธานเช่นนี้ ก็เพื่อเสริมกำลังใจของตนให้ตั้งอยู่ในพุทธมรรค โดยเฉพาะข้อที่ว่าด้วยการโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ผู้ได้ชื่อว่า พระโพธิสัตว์จะต้องมีมหากรุณาจิตเป็นเบื้องหน้า ช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นทุกข์เข็ญ หากทุกคนบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ทุกผู้ทุกนามก็เป็นเรื่องน่าสรรเสริญ เมื่อต่างฝ่ายต่างช่วยเหลือกันและกัน มีเมตตาจิตต่อกัน มีมิตรไมตรีต่อกัน สังคมก็สงบสุข กลายเป็นสังคมอุดมคติไปในที่สุด



ด้วยเหตุนี้ พระโพธิสัตว์ล้วนต้องมีโพธิสัตวธรรมพื้นฐาน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากของพระโพธิสัตว์ มี ๓ ประการ คือ
๑. มหากรุณา ได้แก่ ต้องเป็นผู้มีจิตใจกว้างใหญ่ มีจิตใจกรุณาอย่าง ไม่มีขอบเขตช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้หมดไป บางครั้งแม้ว่าจะต้องยินยอมรับโทษ รับทุกข์และชดใช้กรรมเองก็ต้องตัดใจกระทำเพื่อประโยชน์สุขแห่งสรรพสัตว์ทั้งหลาย ถึงพร้อมด้วยอัปปมัญญาธรรม คือ ความรัก ความสงสาร ความพลอยดีใจ แสดงความเสียใจ และความรอบรู้ในกาลแสดงออกของธรรมทั้ง ๓ ประการ ข้างต้น แล้วแผ่ไปอย่างไม่จำกัดขอบเขต
๒. มหาปัญญา ได้แก่ ความเป็นผู้ทันต่อกิเลส ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส มีปัญญาเห็นแจ้งในธรรม มีปัญญาเห็นแจ้งในศูนยตา อยู่ในโลกโดยไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม ในคุณสมบัติข้อนี้นั้นลองนึกย้อนไปถึงชาดกในชาติที่พระศากยมุนีพุทธเจ้าได้บำเพ็ญปัญญาบารมี คือการใช้ปัญญาช่วยแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ
๓. มหาอุปาย ได้แก่ ความเป็นผู้ฉลาดในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ ใช้กุศโลบายเพื่อขจัดทุกข์ของสรรพสัตว์ เปรียบดังนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรู้ วิธีการรักษาโรคและวิธีการในการให้ยา เพราะในบางครั้งการที่จะแสดงอะไร ไปตรงๆ นั้นผู้ฟังอาจไม่สนใจ หรือไม่เข้าใจจึงจำเป็นต้องหาวิธีการในการอบรม และนำเข้าถึงธรรมโดยอุบาย
สิ่งที่ทุกสรรพสัตว์ต้องบำเพ็ญให้มากก็คือ จิตบำเพ็ญ ทุกย่างก้าวคือจิตกรุณา ทุกกิจกรรมเพื่อบำเพ็ญ การบำเพ็ญตน บำเพ็ญธรรมเพื่อขัดเกลาจิตให้อ่อนโยน จะได้ช่วยเหลือสรรพสัตว์





(อ่านต่อในเอกสารมหายาน พิธีถวายมหาสังฆทาน ๖,๐๐๐ รูป วัดโฝวกวงซาน)

วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2552

Death Poetry

D = Dyeing is the real truth
E = Element of all manhood
A= Anyone isn’t going beyond
T = Sooner or later to be understood
H = How to dye properly

บทเพลงแห่งความตาย

“เชิญฟังลำนำบทเพลงแห่งความตายเถิด...













เมื่อความตายกรายกร้ำมา
สุนทรียมรณาก็เบ่งบาน
ภวังค์เคลื่อนไหวพลังผ่าน
ชีวะมรณะประสานบรรจบ
จากจุติ์สู่ปฏิสนธิ์รวมจุด
มีเกิด มีตาย มีมายา
อารมณ์เวทนาไหน ไหน
มรณานุสสตินั้นไซร้เป็นหนึ่ง
พลังแห่งมรณะสร้างสรรค์
ธาตุกลับสู่ธาตุ นามหวนคืนสู่นาม
ปรมัตถ์ถูกบัญญัติบดบัง
ความตายที่แท้คือเชื้อสิ้นไป
กิเลสาวุปาทานใด ใด มอดดับ
อมตาวสานอุบัติแล
ทุกภาวะ ไร้ภาวะ ไร้อัตต์
สัจจ์แท้ ธุวัง มรณัง
สรรพสังขตะ สูญยัม
สัพเพ ธัมมา อนัตตา”
(อ่านคัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล)

วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ดุลยภาพ : ศาสตร์แห่งการหลุดพ้น

การเข้าถึงสภาวะที่เป็นความสมดุลจะเกิดมิติทางปรากฏการณ์อีกหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องที่เป็นรูปธรรมไปจนถึงเรื่องนามธรรม สุดท้ายแม้กระทั่งการบรรลุธรรมก็ต้องอาศัยความสมดุลนี้ ลองดูจากการแสดงกิจกรรมกายกรรมทั้งหลายต่างอาศัยความสมดุลทั้งสิ้นจึงจะทำได้ มิฉะนั้นก็ต้องล้มหรือทำไม่ได้เป็นแน่

ศาสตร์แห่งความสมดุลนี้เป็นศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่มาก สมควรที่ต้องมีการศึกษากันให้จริงจัง เป็นหลักสูตร เป็นหลักวิชาการ พูดว่าวิชาการไม่ได้สิ เพราะแม้แต่บอกวิชาการก็ตกไปสู่ส่วนสุดแล้ว คือไม่เป็นกลาง

ปฏิจจสมุปบาทก็เป็นศาสตร์แห่งความสมดุล ปัจจยการภาษา ใช้รื้อถอนโครงสร้างที่มนุษย์ตกไปสู่ส่วนความคิดสองด้าน คือมีและไม่มี ในที่นี้ต้อง เข้าใจว่าการรื้อถอนไม่ใช่ล้มเลิกหรือปฏิเสธสิ่งที่มีอยู่ แต่เป็นการนำเอาสิ่งที่มีอยู่ให้อยู่ในที่ๆ เหมาะสม ไม่สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง คือไม่ให้มีความคิดแบ่ง แยกเป็นขั้วทั้งที่ความเป็นจริงแล้วความคิดแบ่งแยกนี้มีอยู่เสมอ

ในปรัชญาจีนนั้น เข้าใจสภาวะที่แบ่งเป็นขั้วบวกและลบเช่นนี้ โดยเรียกว่า สภาวะหยินและหยาง เมื่อใดก็ตามที่หยินแรงหยางอ่อน ก็จะทำให้เกิดความอะลุ่มอล่วย จนทำให้เกิดความใจอ่อน ความไม่เด็ดขาด ไม่กล้าตัดสินใจ กลัว ไม่เข้มแข็ง เมื่อใดที่หยางแรง ก็จะทำให้มีความกระด้างกระเดื่อง ความห้าวหาญ รุนแรง มุทะลุ ทำอย่างไรจึงจะปรับสภาวะเช่นนี้ให้สมดุลได้ ในเมื่อความจริงแล้วสภาวะเช่นนี้มีอยู่ ดังนั้น จึงมีการเสริมธาตุให้อยู่ในภาวะสมดุล เป็นดุลยภาพ แห่งขั้วธาตุหยินหยาง

ในพุทธปรัชญายิ่งเด่นชัดขึ้นไปอีก เนื่องจาก พุทธปรัชญาถือหลักสภาวะสมดุลในการดำรงอยู่ หรืออาจเรียกว่า ปรัชญาสายกลาง (มัชฌิมฐาน) ก็ได้ เมื่อไหร่ก็ตาม ที่ดำรงตนตกไปขั้วใดขั้วหนึ่งจะก่อให้เกิดผลต่อเนื่อง นำไปสู่เส้นทางที่ผิดพลาดในที่สุด



ข้อความในธรรมจักกัปปวัตนสูตร ในฐานะเป็นพระสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสแก่ปัญจวัคคีย์ สรุปกรอบความคิดที่สมบูรณ์ที่สุดเอาไว้ ใจความที่ปรากฏเป็นภาษาบาลีบางตอนว่า “เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา โย จายํ กาเมสุ กามสุขลฺลิกานุโยโค หีโน คมฺโม โปถุชฺชนิโก อนริโย อนตฺถสญฺหิโต โย จายํ อตฺตกิลมถานุโยโค ทุกฺโข อนริโย อนตฺถสญฺหิโต” เมื่อแปลโดยความหมายก็คือ การดำรงชีวิตที่สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง เป็นทาง ที่ไม่ถูกต้อง ได้แก่

๑. การดำรงชีวิตที่หนักไปทางบริโภคนิยม หมกมุ่นอยู่ในกามคุณ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นทางต่ำ (สำหรับผู้ต้องการหลุดพ้น) เป็นการอยู่ อย่างชาวบ้านธรรมดา เป็นความประพฤติของปุถุชน ไม่ประกอบด้วยประโยชน์สูงสุด
๒. การดำรงชีวิตที่เน้นหนักไปในทางเข้มงวดต่อร่างกายตนเอง ทรมานร่างกายให้ได้รับความทุกข์ ก็ไม่เป็นการปฏิบัติของนักปราชญ์ ไม่ประกอบไปด้วย ประโยชน์เช่นกัน

แนวทางที่จะนำไปสู่การดำรงชีพที่เหมาะสม คือ ไม่ดำรงตนตามทางที่สุดโต่งทั้ง ๒ นั้น เรียกว่า “ทางสายกลาง” เป็นการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง ไม่นำไปสู่ความเดือดร้อน เป็นไปเพื่อความรู้แจ้งเพื่อพระนิพพาน (ความสุขนิรันดร์) ข้อความในภาษา บาลีว่า “เอเต เต ภิกฺขเว อุโภ อนฺเต อนุปคมฺม มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ”

จากการประมวลปรัชญาพุทธศาสนาเบื้องต้นก็ได้ คำตอบว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ตกไปสู่สภาวะแบ่งขั้ว ที่มีอยู่แล้วและไม่อาจขจัดขั้วเหล่านี้ได้ ก็ดำเนินชีวิต ให้อยู่บนทางสายกลาง ไม่ตกไปสู่ขั้วใดขั้วหนึ่ง ลักษณะ แห่งการแบ่งแยกหรือ แบ่งขั้วนี้แหละเป็นตัวสำคัญ ที่จะทำให้ชีวิตที่ไม่ว่าจะคิดกันอย่างไร แก้ไขกันอย่างไร ถ้าไม่รู้จักการทำให้เกิดสภาวะสมดุล ดำเนินตามทางสายกลาง ก็ไม่สามารถหลุดไปจากวงจรของความขัดแย้งชีวิตก็ยังมุ่งสู่หายนะอยู่ดี

เส้นทางแห่งการบรรลุ
๑. ไม่ทำความเพียรก็ไม่บรรลุ
๒. ทำความเพียรมากก็ไม่บรรลุ
๓. ต้องทำความเพียรจนสูญสิ้นอยากทำความเพียรจึงบรรลุ

(อ่านต่อในวารสารบัณฑิตศาส์น มมร)

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๓)











ชุปปี้ก้อนสุดท้ายกำลัยเปื่อยยุ่ยอยู่ในปาก
และกำลังจะหมดไป

ดวงอาทิตย์บ่ายคล้อยมากแล้ว
ยอดเขาลูกนี้เป็นยอดเขาที่เจ็ด
มันใช้เวลาทั้งคืนและทั้งวันไปให้ไกลจากเมืองราลโปมากที่สุด ให้ไกลพอที่พ่อเขาจะตามตัวมันไม่พบ

หิมะบนภูเขาปกคลุมเบาบาง แสดงว่าใกล้ที่อยู่ของผู้คนแล้ว
อันตรายประการหนึ่งของการเดินบนภูเขาหิมะก็คือ หิมะยิ่งปกคลุมพื้นน้อยลง
ก็ยิ่งต้องระมัดระวังยิ่งขึ้น เพราะอาจทำให้ให้มันละลายเลื่อนไหลลงได้ง่าย

จามรีฝูงหนึ่งกำลังเดินลัดเลาะตามแนวเขาเบื้องล่าง
พวกมันเหยาะย่างอย่างช้า ๆ อาศัยใบไม้ใบหญ้าที่โผล่ออกมาจากหิมะละลายเป็นอาหาร
ความหวังของเขาที่จะได้พบบ้านคนยิ่งเพิ่มทวี

ยามใดที่จิตใจลิงโลดมักเป็นจุดบดบังความระมัดระวัง
ขอเพียงท่านลิงโลดใจเกินไป
ก็จงเตรียมตนไว้สำหรับโศกนาฏกรรม

มีบ้างบางคนยึดถือเอาโศกนาฏกรรมเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคน
หากมีแต่โศกนาฏกรรมที่เกิดกับตนเองเท่านั้น
จึงเป็นโศกนาฎกรรมที่แท้จริง




ความอบอุ่นสัมผัสใบหน้า พร้อมกับมีเสียงร้องเรียก
เสียงนั้นคล้ายดังอยู่ห่างไกล คล้ายเป็นเสียงในความฝัน
สัมผัสแห่งความอบอุ่นที่กระทบใบหน้ากลายเป็นสิ่งที่เห็นในมโนภาพ
“กลับมาเถิดลูกรัก…ทำไมเจ้าทอดทิ้งพ่อแม่ได้ลง ผู้ใดจะมาดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่าเล่า !
ใครเล่าจะดูเห็นพ่อแม่ตอนสิ้นใจ เมื่อเจ้าจากไปพ่อแม่อยู่ไปเพื่อประโยชน์อันใดกัน…..”

เสียงร้องเรียกของพ่อแม่กลายเป็นเสมือนกระบี่อันคมกริบบาดแทงจิตใจมันยิ่งนัก
“ลูกรู้สึกผิดที่กระทำเช่นนี้ ลูกยอมรับคำว่า “อกตัญญู”
แต่ท่านทั้งสองจงไว้เถิดว่า ทางที่ลูกกำลังเดินอยู่นี้เป็นทางอันยิ่งใหญ่
เป็นทางที่พระอริยะและเหล่าโยคีทั้งหลายกำลังเดินอยู่ ลูกจะทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ” เขาตอบด้วยน้ำตานองใบหน้า

มืออันบอบบางทั้งสองข้างของธากีณีฉุดเขาไว้ ดวงตาที่เอ่อนองด้วยน้ำตาจ้องมองด้วยอาการวิงวอน
หัวใจนางคล้ายดั่งจะหลุดลอยไปกับน้ำตาที่หลั่งริน ปากยังคงพร่ำรำพัน
“ธากีณี….มีอันใดที่ทำให้ไม่เป็นที่พึงปรารถนา เป็นสตรีที่อัปลักษณ์หรือไร
คงเป็นเพราะบาปกรรมแต่ปางก่อนจึงทำให้พี่ท่านต้องหลีกหนี หมดอาลัยใยดี
ทำให้ธากีณีนี้ต้องครองชิวิตกินแต่อัสสุชลนับแต่เมื่อรู้ว่าท่านพี่จากไป
เอาเถิด…แม้ไม่เห็นแก่น้อง ก็ควรเห็นแก่พ่อแม่ทั้งสอง….” นางยิ่งกล่าวน้ำตายิ่งไหลพราก
“?!?”

คำ “อภัยให้ข้าด้วยเถิด” ไม่อาจเปล่งผ่านลำคอออกมาได้

“ท่าน…ท่าน….ท่าน” เสียงเรียกดังขึ้นอีก มือทั้งสองของนางจัดแขนเขาไว้แน่น ในที่สุดมันรู้สึกไม่อาจขยับเขยื้อนได้
“ปล่อยข้าไปเถิด” ทินเล่กล่าวขอร้อง…ก่อนที่มันจะลืมตาขึ้น
ใบหน้าที่มันเห็นนั้นหาใช่พ่อแม่และธากีณีไม่ แต่กลับเป็นสตรีที่เขาไม่รู้จักนางหนึ่ง
“พวกเราหาได้กักขังหน่วงเหนี่ยวท่านไว้ไม่ รอท่านหายเป็นปกติค่อยไปเถิด” นางกล่าวคล้ายกลัวความผิด
“นี่ข้าพเจ้า….”
“ใช่…ท่านนอนกองอยู่ในซอกหิน หาไม่แล้วท่านอาจกลิ้งตกไปไกลกว่านี้และอาจ…..”
นางไม่กล่าวคำอัปมงคงต่อไป “ดีที่จามรีตัวหนึ่งของเราไปทางนั้น เราตามไปจึงพบท่านนอนสลบอยู่ สองวันแล้วที่ท่านนอนไม่รู้สึกตัว เอาแต่ละเมอให้เราปล่อยท่าน” นางเล่าเหตุการณ์ให้ฟังเสียยืดยาว พร้อมกับตัดพ้อเล็กน้อย
“ไม่ต้องกังวลหรอก เราย่อมไม่หน่วงเหนี่ยวท่านไว้แน่ และยิ่งกลัวท่านจะทอดทิ้งเหมือนทำกับผู้อื่นมา”
ทินเล่…พลันรู้สึกว่าตนคงเพ้อเรื่องราวออกไปมากมาย ทำให้นางกล่าวเช่นนั้นได้
อย่างน้อยในยามที่นางตัดพ้อ กล่าววาจาเหน็บแนม ทำให้มันพบเห็นความเป็นสตรีของนางเด่นชัดขึ้น
ความจริงในยามที่สตรีเง้างอน ใยมิใช่ทำให้นางน่ารักขึ้นเล่า!!

บุรุษใดไม่พอใจการเง้างอนของสตรี
แสดงว่ามันใกล้จะเป็นสตรีเข้าไปแล้ว
และบุรุษใดไม่เข้าใจธรรมชาติข้อนี้ของสตรี
น่ากลัวมันย่อมมีชีวิตไม่ยืนยาวนัก….

(อ่านต่อตอนที่ ๔)

วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การตีความตามกระบวนทัศน์

การตีความเป็นศาสตร์ที่กำลังได้รับความสนใจในยุคปัจจุบัน กล่าวกันว่า ที่โลกมีความสับสนและยุ่งเหยิงอยู่ในขณะนี้ก็เพราะไม่เข้าใจในเรื่องเดียวกัน บางครั้งเป็นความเข้าใจคนละด้าน บางครั้งเป็นฐานความเข้าใจคนละฐานจึงไม่สามารถมาบรรจบกันได้ ดังนั้นการตีความจึงเป็นศาสตร์ (hermeneutics) ที่มีการศึกษากันในระดับอุดมศึกษา

(กล้วยเสาเอก บ้านบำเพ็ญ)


ในที่นี้ลองมาศึกษาการตีความตามกระบวนทัศน์ (Paradigm) ของแต่ละยุคดูบ้าง

ก่อนอื่นต้องแสดงให้ทราบก่อนว่า ยุคตามกระบวนทัศน์ทางปรัชญานั้น แสดงไว้ ๕ กระบวนทัศน์ คือ

๑. กระบวนทัศน์แบบดึกดำบรรพ์ กระบวนทัศน์ในยุคนี้นั้น มองเห็นความที่โลกไม่มีกฎเกณฑ์ การเกิดสิ่งใดขึ้นก็จะคิดว่า สิ่งนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ สิ่งที่จะช่วยได้ก็เพียงแต่บนบานมิให้สิ่งลี้ลับเหล่านั้นเกิดขึ้นเป็นภัยแก่ตนเท่านั้น หากยังมีสิ่งที่เป็นภัยแก่ตนอยู่ก็คิดว่า เป็นเพราะตนยังไม่สามารถทำให้อำนาจลี้ลับนั้นพอใจ

๒. กระบวนทัศน์แบบโบราณ กระบวนทัศน์ในยุคนี้เชื่อว่า โลกมีกฏเกณฑ์ แต่เทพทั้งหลายเป็นผู้รู้กฎเกณฑ์และเป็นผู้ควบคุมกฏเกณฑ์เหล่านั้น แนวทางปฏิบัติที่มนุษย์จะพึงทำได้มี ๒ แนวทาง คือ ๑) อ้อนวอนขอให้เทพเจ้าให้พร และขออย่าให้ท่านลงโทษ ๒) ปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงกฎเกณฑ์นั้นเสียเอง

๓. กระบวนทัศน์ยุคกลาง กระบวนทัศน์ในยุคนี้เชื่อว่า การจะถึงความสุขได้ก็เมื่อได้ปฏิบัติตนตามคำสอนของศาสดา ปฏิบัติตนเป็นนักบวช การใช้ชีวิตอย่างชาวโลกนั้นไม่อาจเข้าถึงกฎเกณฑ์ได้ นอกเหนือจากนั้น การกระทำใดที่ผิดไปจากคำสอนที่ระบุไว้ในคัมภีร์ถือว่าเป็นการกระทำที่มีความผิด ดังนั้นในยุคนี้จึงตกอยู่ในการควบคุมของนักบวชทั้งหลาย จนมีชื่อเรียกยุคนี้ว่า ยุคมืด เนื่องจากนักบวชที่มีอำนาจสามารถกำจัดผู้ไม่เชื่อฟังได้

๔. กระบวนทัศน์ยุคใหม่ กระบวนทัศน์ในยุคนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กระบวนทัศน์ยุครู้แจ้ง หรือกระบวนทัศน์ยุควิทยาศาสตร์ ในยุคนี้เชื่อว่า ทุกอย่างต้องสามารถพิสูจน์ได้ด้วยเหตุผล สิ่งใดที่พิสูจน์ไม่ได้ ไม่มีเหตุผลเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ยุคนี้เกิดขึ้นจากผลแห่งการกดดันของยุคมืดนั่นเอง เพราะบุคคลที่มีความรู้ความสามารถไม่อาจแสดงความคิดได้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามคัมภีร์ และเชื่อในความคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง อีกทั้งจะสร้างความสุขให้มนุษย์ด้วยวิทยาศาสตร์

๕. กระบวนทัศน์ยุคหลังนวยุค กระบวนทัศน์ในยุคนี้เกิดขึ้นจากผลแห่งหายนภัยอันมาจากวิทยาศาสตร์ กระบวนทัศน์หลังนวยุคเชื่อว่า ความคิดของมนุษย์ในยุคที่ผ่านมานั้นบกพร่องอันมีสาเหตุมาจากภาษา นักคิดหลังนวยุคค้นพบว่า มนุษย์ในยุคใดๆ ได้ใช้ภาษาอยู่ ๒ ภาษา คือ ภาษาตรรกะและภาษาคณิตศาสตร์ โดยแยกให้เห็นว่า ยุคดึกดำบรรพ์ ยุคโบราณ และยุคกลางนั้นใช้ภาษาตรรกะเป็นหลัก ส่วนยุคใหม่นั้นใช้ภาษาคณิตศาสตร์เป็นหลัก ภาษาตรรกะนั้นมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ส่วนภาษาคณิตศาสตร์นั้นแน่นอนจนไม่ใช่ภาษาของมนุษย์ที่มีจิตใจ ดังนั้น นักหลังนวยุคจึงพบว่า ภาษาที่เหมาะกับมนุษย์ก็คือ ภาษาการตีความ (Hermeneutics) สามารถกล่าวได้ว่า ภาษาการตีความ

จากแนวทางการใช้วิธีตีความตามกระบวนทัศน์ทั้ง ๕ นั้น มีหลักคิดหรือที่เรียกว่า วิจารณญาณ อยู่ ๕ วิธี ดังนี้
๑. ตีความตามพยัญชนะ (Literal Interpretation)
๒. ตีความตามสัญลักษณ์ (Symbolical Interpretation)
๓. ตีความตามสำนวนภาษา หรือ อรรถะ (Idiomatic Interpretation)
๔. ตีความตามเหตุผล (Rational Interpretation)
๕. ตีความตามประเภทวรรณกรรม (Literal-form Interpretation)

สมมติตัวอย่างในการศึกษาการตีความตามนัยของกระบวนทัศน์โดยผ่านการตีความทั้ง ๕ วิธี ยกตัวอย่างว่า การประสูติแล้วเดินได้ ๗ ก้าวของพระพุทธเจ้า มองผ่านการตีความดังนี้

กระบวนทัศน์ที่ ๑ มองการตีความตามพยัญชนะ คำว่า ๗ ก้าวคือ ๗ ก้าวจริงๆ เนื่องจากพระพุทธเจ้าไม่ใช่บุคคลธรรมดา เป็นบุคคลที่เทพยดาอารักษ์ดูแล

กระบวนทัศน์ที่ ๒ มองการตีความตามสัญลักษณ์ คำว่า ๗ ก้าวนั้น แท้จริงเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า พระพุทธเจ้านั้นสามารถก้าวไปเผยแผ่คำสอนถึง ๗ แคว้น

กระบวนทัศน์ที่ ๓ มองการตีความตามสำนวนภาษา หรือ อรรถะ การเดินได้ ๗ ก้าวของพระพุทธเจ้า หมายถึง หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน เช่น โพชฌงค์ ๗ เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ เป็นวิสุทธิ ๗

กระบวนทัศน์ที่ ๔ มองการตีความตามเหตุผล การเดินได้ ๗ ก้าวของพระพุทธเจ้าเป็นความสามารถของพระพุทธเจ้า บุคคลที่มาเป็นพระพุทธเจ้าสามารถทำได้อย่างนี้ นอกจากนั้นยังยกตัวอย่างประกอบว่า ลูกกวาง ลูกวัว เกิดมาแล้วยังเดินได้ พระพุทธเจ้าจะเดินไม่ได้ยังไง บุคคลที่มีความสามารถพิเศษในโลกนี้มีจำนวนมาก เช่น มนุษย์แม่เหล็ก มนุษย์ไฟฟ้า มนุษย์พลังจิต

กระบวนทัศน์ที่ ๕ มองการตีความตามวรรณกรรม การเดินได้ ๗ ก้าวของพระพุทธเจ้าเป็นข้อความที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถา เป็นประเภทของบริบทในคัมภีร์ ไม่สามารถเข้าถึงเจตนาของผู้เขียนในขณะนั้นได้ ก็เข้าใจว่า การที่ผู้เขียนเช่นนี้คงมีความมุ่งหวังอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เข้าใจตามบริบทคัมภีร์นี้

เหมือนดังการได้ยินคำ “เค็ม” ถ้าไม่มีบริบทก็ยากที่จะเข้าใจได้ว่า ผู้กล่าวหมายถึงอะไร เพราะอาจตีความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เช่น เป็นคนขี้เหนียว ใส่เกลือมาก ใส่ปูนมาก ก็ได้ ในที่นี้เดินได้ ๗ ก้าว บริบทเป็นการกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ประสูติที่มีประกอบไปด้วยความมหัศจรรย์ ก็น่าเชื่อได้ว่า นี่เป็นการเขียนถึงความน่าอัศจรรย์ของพระพุทธเจ้า

การที่คนใดคนหนึ่งยึดมั่นกระบวนทัศน์ใดกระบวนทัศน์หนึ่งย่อมเกิดความกระทบกับกระบวนทัศน์อื่นเป็นแน่ ดังนี้จึงเสนอให้เข้าใจตามกระบวนทัศน์ที่ ๕ คือ เข้าใจบริบทนั้นเสีย ไม่มีความสงสัยเป็นอื่น แต่เชื่อตามบริบท เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดการยืดหยุ่น และไม่หักล้าง ไม่ทำลาย ทำความเข้าใจผู้อื่น เป็นความดีของกระบวนทัศน์ที่ ๕

(อ่านต่อในบทความวารสารบัณฑิตศาส์น มมร)

หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะทั่วสากล



















ภาระหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นถือเป็นภาระหลักของศาสนทายาทในพระพุทธศาสนา
โดยยึดพระดำรัสที่ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ อย่าไปโดยทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ที่พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ครบถ้วน สัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีในตาน้อย มีอยู่ ย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม จักมีผู้รู้ธรรม”

ก็หมายความว่าให้จาริกไปเพื่อประกาศพระสัจธรรม หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะ (ความรู้แจ้ง) ลงในจิตของเหล่าเวไนยสัตว์ที่พร้อมจะรองรับเมล็ดพันธุ์นี้ การสร้างเครื่องมือในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นกระทำได้ด้วยกิจกรรมอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาล โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และสถานสงเคราะห์อื่นๆ หรือแม้แต่กิจกรรมที่เรียกว่า “จิตอาสา” (Service Mind)

ลักษณะการทำงานในรูปแบบขององค์กรจิตอาสานี้กระทำกันมากในประเทศฝ่ายมหายาน เขาจะใช้ตัวกิจกรรมสาธารณะนี้เป็นเกณฑ์ในการวัดความอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือเหล่าเวไนยสัตว์ ถือปณิธานตามองค์พระอวโลกิเตศวร คือ โปรดสัตว์ทั่วสากล ทำให้โลกนี้เป็นแดนสุขาวดี คือแดนที่มีแต่ความสงบร่มเย็น เป็นการสร้างสวรรค์บนพื้นพิภพ

อย่างไรก็ตาม ผลสัมฤทธิ์ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ ย่อมมีเบื้องหลัง คำกล่าวที่ว่า “อย่าดูที่ผล จงดูที่เหตุ” เป็นคำเตือนสติผู้ทำงาน เพราะกว่าที่จะมีวันนี้ได้ มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้ท่านเผยแผ่พุทธธรรมสู่สากล ปลูกหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะลงจิตแห่งเวไนย์ ผูกบุญสัมพันธ์ไปทั่วหล้า นอกเหนือจากความมุ่งมั่นจิตปณิธานแล้ว สถานการณ์ก็สร้างโพธิบุรุษเช่นกัน ให้ถือปณิธานที่ว่า “อาศัยความสงสารปณิธานเป็นคันไถ อาศัยความอดทนพากเพียรเป็นจอบเสียม คราดไถทะเลทรายที่แห้งแล้งให้กลายเป็นดินแดนสุขาวดีที่ต้นโพธิออกดอกผล” เป็นคำปณิธานของท่านภิกษุชิงหวิน ทุกขณะของการปฏิบัติงานคือ การบำเพ็ญจิต

ดังที่หลวงพ่อพุทธทาสกล่าวว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ธรรมคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ การปฏิบัติธรรมมิใช่ต้องเข้าไปสู่ห้องเงียบๆ เข้าไปหลีกเร้นในวัด จึงจะปฏิบัติธรรมได้ ก็หน้าที่ที่ตนเองกระทำนั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม การเผยแผ่ธรรมะคือการปฏิบัติธรรม อย่าถือโลกธรรมเป็นตัวสกัดกั้นการทำความดี ลบเลือนปณิธาน เพราะในไม่ช้าต่างคนก็ต่างไป คำครหานินทาเป็นของคู่โลก ชั่วก็ไม่ดี ดีก็ไม่ได้ นี่คือนิสัยมนุษย์สามัญ ผู้คนทั่วไปเคยชินการวอนขอ ต่อว่า ระแวงสงสัย ผู้ประสบความสำเร็จในประวัติศาสตร์มีใครบ้างไม่ถูกกล่าวหา มีใครบ้างรอดพ้นการนินทา ในไม่ช้าต่างคนก็ต่างไป เมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะที่หว่านปลูกลงในใจของเหล่าเวไนย์ต่างหากที่คงอยู่ชั่วนิรันดร์

การเผยแผ่พระพุทธศาสนามาถึงปัจจุบันบางครั้งรูปแบบควรเปลี่ยนไป แต่หลักการต้องเป็นเช่นเดิม องค์ทะไลลามะได้ตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้สรุปความได้ว่า “พระพุทธศาสนาเมื่อจะแผ่ไปสู่ที่ไหน ก็ต้องเคารพสิทธิ์ของบุคคลในประเทศนั้น หลักธรรมในพระพุทธศาสนาสามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาย่อมได้ประโยชน์ทวีคูณ และยังทำให้พระพุทธศาสนาได้รับการยอมรับจากสังคมนั้นๆ ง่ายขึ้น ขอเพียงหลักธรรมพื้นฐานของพระพุทธศาสนาคงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง การหลอมรวมเช่นนี้มีแต่ประโยชน์ถ่ายเดียว เมื่อยึดถือพุทธธรรม ควรเรียนรู้เคารพศรัทธาของผู้อื่นด้วย การบำเพ็ญเพียรและการพัฒนาเป็นเรื่องของภายใน สำคัญกว่าภาพลักษณ์ภายนอกมากนัก”

ขอเพียงมุ่งมั่นรักษาโพธิจิตนี้ไว้ กุศลธรรมทั้งหลายก็จะไพบูลย์งอกงาม
โลกเป็นเวทีให้สรรพสัตว์ได้มาบำเพ็ญเพื่อเพิ่มพูนบุญกุศล
อย่าได้ใช้โลกนี้เป็นสถานที่ก่อกรรมทำเข็ญ
ผู้ที่มองเห็นสรรพสัตว์ด้วยใจกรุณาปราณี เอื้อเฟื้อ อนุเคราะห์
เมล็ดพันธุ์แห่งโพธินี้จะงดงามเบ่งบาน

(อ่านฉบับเต็มในเอกสารมหายานวัดโฟวกวงซาน)

วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พักสายตา























เชิงผาลู่ซัว
















หมอกบางเบากระทบหลิวลู่ซัว
หอน้อยเก่าแก่ริมทางบุราณ
จิตใจมุ่งมั่นหวังแต่ความสงบเย็น
ยืนในหอริมทางดูหมอกสลาย
ป้ายไม้สองแผ่นตอกติดไว้ที่ด้านหน้าหอเก่าแก่ ข้อความดูเลือนลางอย่างยิ่ง
คราบหมึกที่ถูกแดดฝนกะเทาะออกมาเป็นเกร็ด
กระนั้นก็ยังพออ่านได้ความหมาย
ผู้เขียนจะเป็นผู้ใดก็ตาม จิตใจขณะเขียนย่อมเป็นผู้ใฝ่หาความสงบ
ดั้นด้นมาถึงเชิงเขาแห่งนี้เพียงเพื่อแสวงหาสัจธรรมอันจีรัง
คนผู้หนึ่งยกน้ำในกระบอกไม้ไผ่ขึ้นดื่มขณะที่ถึงหอน้อยแล้ว
หมอกใกล้อาทิตย์อัสดงเลื่อนลอยคล้ายดั่งฟองคลื่นของทะเลสวรรค์
เชิงเขาสูง………
เสียงระฆังดังแว่วมา
เสียงลมหายใจพ่นออกจากปากอย่างหนักหน่วงดุจเสียงรังสูบกระบี่ เป็นเสียงลมหายใจที่บ่งบอกถึงความโล่งใจอย่างยิ่ง



รุ่งอรุณแสงสุริยาเรืองรอง
นกกางเขนคู่หนึ่งบินตัดขอบฟ้าไปทางทักษิณ
ณ หมู่บ้านลกเอี๋ยง
วิถีชีวิตของคนยังเป็นดั่งเช่นเคย บ้างถือตะกร้าเพื่อเก็บพืชผล บ้างถือจอบออกไปสู่ท้องทุ่ง บ้างถือถุงเก่าๆ เก็บเห็ดป่า
กี่มากน้อยปี กี่มากน้อยชีวิตที่ดำรงอยู่เช่นนี้ก่อนลาโลกไป
งานเลี้ยงชีพจึงกลายเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก พวกเด็กๆ เดินข้ามสะพานไปยังอารามเทียนเว่ยเพื่อเรียนหนังสือ
วิถีชีวิตอันเรียบง่ายเช่นนี้ยังมีส่วนให้น่าหลงไหลอยู่ไม่น้อย

ขึ้นสามค่ำเดือนสิบเอ็ด
สายแล้ว….
เมฆฝนตั้งเค้าอีกครา
ธรรมชาติทำหน้าที่ของมันอย่างไม่บกพร่อง

สายมากแล้ว…
ฝนเริ่มโปรยปรายยังคงตกมาหล่อเลี้ยงพืชผลและข้าวกล้าในนา ฝนที่มาในวสันตฤดูคล้ายดั่งเบื้องบนเป็นทะเลใหญ่ที่จะหลั่งไหลมาอย่างไม่มีวันหมด
ซือเยี๊ยะกวงยืนที่ระเบียงบ้านมองดูสายฝนคล้ายดั่งต้องการให้สิ้นชิวเทียนเร็วๆ นางเป็นดังเทพธิดาน้อยที่อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น รองเท้าไหมที่รองรับเท้าที่ขาวสะอาด ปกคลุมมาถึงเรียวเท้าที่กลมกลึงไร้ตำหนิใดๆ ของนาง นั่นนับว่าเป็นสมบัติอย่างยิ่งของสตรี
น่าเสียดายที่นางไม่ใส่ใจกับสรีระของตนนัก อีกทั้งไม่ร่าเริงแจ่มใสดังสตรีแรกรุ่นทั่วไป

บิดานางเป็นข้าราชการดูแลความสงบอยู่ ณ มณฑลนั้น ทำให้ซือเยี๊ยะกวงเป็นที่รู้จักของผู้คนมากมายและมีบ้างที่ส่งผู้ใหญ่มาทาบทาม
พลังสองกระแสเกิดขึ้นภายในจิตใจของนาง นี่คือสัญชาตญานเพียงสิ่งเดียวที่มนุษย์มีเรียกว่า “เหตุผล”

สายน้ำที่ลำธารไหลผ่านโขดหินแตกเป็นฟองขาวสะอาด ลมหอบละอองน้ำปลิวกระทบเกาะใบหน้าอันบอบบางขาวนวลของนางเป็นดังหยดน้ำค้าง ยิ่งทำให้ซือเยี๊ยะกวงชอบลำธารสายนี้ยิ่งนัก
สาวน้อยนั่งที่เก๋งริมธารข้างอารามเทียนเว่ย

กระแสธารบ่งบอกเรื่องราวมากมาย
ชีวิตของผู้คนก็คือสมุดพงสาวดารเล่มหนึ่ง
ในยามที่มีโอกาสอยู่เพียงลำพังริมลำธารที่สงบเย็น ผู้คนจึงเข้าใจตนเองมากขึ้น
มันคือสัจธรรมของชีวิตที่มีแต่ความเปลี่ยนแปลง

ชีวิตก็เหมือนสายน้ำที่ไหลริน
ยากยิ่งที่จะบังคับควบคุม
ไม่มีสิ่งใดบังคับควบคุม
ผู้เข้าใจสัจธรรมนี้ย่อมมีชีวิตงดงามดังอริยชน

(อ่านต่อในเรื่องสั้นปุ๊ซินเนี่ยน)

วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552

The Original Kammic Theory





The doctrine of kamma is one of the most important doctrines in Indian Philosophies belonging to either Astika tradition or Nastika tradition. All schools of Indian philosophy with the single exception of Caravaka, Materialist who refuses the doctrine of kamma as either the law of causation or ethic, profess faith in the doctrine of kamma. Although all those schools, however, subscribe to the belief in the significence of the doctrine of kamma, the concept of kamma is so differently interpreted by the point of view of each school.

According to all systems of the Astika tradition, who accept the law of kamma, they hold that the law of kamma is determined, controlled and forced by Gods, and He is its Lord. What and how a man did in the past and is doing at present will depend on his own kamma and the grace of Gods. Another system of tradition, Nastika, maintains that the law of kamma exists by its own nature depending neither on God nor on any other Supreme Beings. Both systems of Indian thought have a similar view that kamma has a dominant role in determining the nature and circumstances of human life while wandering in Samsara.

Basically Indian philosophy has traditionally been looked upon as the most useful of all the human pursuits. Several schools based on the basic aim as the same explanation toward the nature of ultimate truth which it could be realised as the summum bonum of the spiritual life. The doctrine of kamma is Indian unique contribution to human thought. It is the most rational explanation of the unfair or unjustified and suffering we have lean among human beings in particular and sentient creatures in several. Strictly speaking, it concerns almost universal philosophical adherence and has also powerfully influenced the popular mind of Indian and the conduct of people generally. The doctrine of kamma might be called the essential element, not only of all moral theories, but also of popular belief and a basic factor of Indian spiritual culture.

How come the doctrine of kamma to the point of view on the discussion and on the main dominant doctrine in all those systems of Indian philosophy ? There are three views about the origin and development of the concept of kamma which has been presumed as follows:-
1. It is the anthropological view.
2. It is the process of its development.
3. It is the sociological view.

For the first point of view, it would mean its roots in the notions of the primitive tribes regarding the potency of certain secret action, formulas and incantations in bringing about the intended consequences. In the ancient tribes of human beings, they held that after the physical death, in some form or other, the spirits were hovering in the dark house conners, or roofs, or top of the neighbouring big trees for participating in the welfare of the living progeny. The law of kamma is postulated on the belief that physical death does not mean any damage to the power of the past actions done by the individual to produce their results. There is only performance of certain forbidden acts on the continuity of the personality of the ghost ancestors. It is for this reason, in the Rgvedic period, we find that the various deities were worshiped in such passionate reverential mood that the Gods were mere passive spectators. The sacrificial mechanism had powers of auto dynamic operation.

In Mimansa philosophy, the autonomous potency of the sacrificial cult was exalted to the height. Prayers are to be offered to the Gods. Rituals are to be performed. The Vedas assure a very close and intimate relationship between men and Gods. The life of men has to be led under very eye of God. Every good deed in Rgavedic period means to be done by the way of Rta to which God is satisfied.

Rta means a standard of morality. It is the universal essence of things. It is the Satya or the truth of things. Vartani are the ways of life of good men. The one follows the path of Rta is called conducts in Vrta. Whosoever does not follow to Rta is called Disorderor which is regarded as falsehood or the opposite of truth. Thus the anthropological standpoint regarding the original doctrine of kamma receives additional substantiation from the primitivism and its adhesion to the soul.

For the second point of the original doctrine of kamma regarding to its development, it is analyzed on the correlation between the ethical doctrine of kamma and political process of expansion and territorial settlement was going on in the country at the time. Since the later Rgvedic period, the eastward migration and settlement of some of the Aryan tribes were going on in the various parts of the country and specially in northern India. The process of political action was the need to be rampart and could the territorial integrity of a political entity be safeguarded. Thus it is like to hold that the Upanisadic and Buddhistic emphasis on kamma might has as its partial background the termedous urgency of action in the political world.

The doctrine of kamma, in the third point, is postulated upon the acceptance of a social conflict between the Brahmins and the Ksatriyas. The conflict between these two sections expressed itself also at on intellectual level. They debate with each other on several points of view especially the two dominant conceptions, i.e. the metaphysics of omnistic absolution and ethical law of kamma.

It is sufficient to say that the origin of kamma and the process of its is hypothesized upon the three kinds of the information as I have mentioned above. I would like to quote some of the statement of a Western Ideologists, Recard Garbe, which is presented by Professor V.P.Verma that the doctrine of kamma was a new addition to the philosophical world-view of the Upanisads and was a formulation of the Ksatriyas. He says that the newness of the doctrine is indicated by the all most hesitant manner in which Yajnavalka reveals this doctrine to Arlabhaga.

(See Thesis of Asst.Prof.Dr.Suvin Ruksat)

วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552

มหายาน : ความเข้าใจที่พึงเข้าใจ



รู้ความเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางสังคม

ถ้ามองเชิงวิวัฒนาการกระบวนทัศน์ (Paradigm) ของมนุษย์อย่างกว้างๆ ก็จะไม่แปลกใจว่า ทำไมกระแสความคิดหลักบางประการนี้จึงเกิดขึ้น กระแสความคิดนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมและจะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นกลายเป็นแนวคิดหลักของสังคม จุดที่เหมาะสมอาจเรียกว่าจุดแห่งความกดดัน หรือว่าจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลงก็ได้ (Turning Point) เปรียบเหมือนแรงอัด ที่มีกำลังดันเต็มที่เพื่อหาช่องทางออกให้ได้ ช่องทางออกนี้อาจเกิดจากการค้นพบแนวคิดใหม่ หรือเกิดจากแรงบีบของสังคมที่ทำให้บุคคลบางกลุ่มไม่อาจทน ได้ต่อไป

ระยะเวลาของความเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ไม่อาจบอกได้ บางทีอาจเป็นร้อยปีหรืออาจเป็นพันปี ถ้าหากเรามองสังคมเช่นนี้จะเห็นลักษณะความเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางความคิดของมนุษย์ ที่ผ่านมาและก็จะดำเนินต่อไป
มนุษย์เป็นสัตว์ที่รู้จักการแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิตและสังคมมา โดยตลอด นับตั้งแต่มนุษย์ในยุคดึกดำบรรพ์ที่ต้องการรอดพ้นจากภัยธรรมชาติ ความกลัวของมนุษย์ทำให้ต้องหาคำตอบ พวกเขาพยายามให้คำตอบแก่สังคมว่า ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งลี้ลับ มนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์กระทำต่อสิ่งที่บอกไม่ได้นี้ ด้วยการแสดงความเอาอกเอาใจต่อปรากฏการณ์เหล่านั้นด้วยวิธีต่างๆ ด้วยหวัง ว่าจะพบกับทางหลุดพ้นจากภัยพิบัติ มาถึงยุคหนึ่งมนุษย์เฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ เรื่อยมา และสรุปว่ามีผู้บงการปรากฏการณ์ต่างๆ นั้น ผู้ที่มีอำนาจยิ่งใหญ่เช่นนี้ ถูกเรียกว่า เทพเจ้า เหล่าเทพเจ้าจะรู้กฎของโลกและจะบันดาลให้ปรากฏการณ์ นั้นเกิดขึ้นหรือไม่ให้เกิดขึ้นก็ได้ จึงทำให้มนุษย์ยุคโบราณต่างพากันเอาใจเทพเจ้า ด้วยการบวงสรวงอ้อนวอนด้วยวิธีต่างๆ

มนุษย์ยังคิดต่อไปอีกว่า ชีวิตของมนุษย์นี้สั้นไม่อาจอยู่บนโลกนี้ได้ ยาวนาน และไม่อาจได้รับความสุขที่แท้จริงได้ในโลกนี้ การได้อยู่ร่วมกับเทพเจ้า จะพบความสุขที่จริงเป็นนิรันดร์ ชีวิตมีความเป็นอมตะ แต่การจะไปอยู่ร่วมกับ เทพเจ้าได้นั้นต้องปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับวิถีแห่งเทพ ดังนั้น ในยุคนี้จึงมี ผู้ออกบวชกันมาก เป็นยุคที่ศาสนารุ่งเรือง

ต่อมามนุษย์ต้องการสร้างความสุขอันยั่งยืนนั้นให้มีอยู่บนโลกใบนี้ ต้องการเอาชนะธรรมชาติด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การหวังที่จะไปอยู่กับพระเจ้าหรือเทพเจ้านั้นเป็นความหวังที่เลื่อนลอย ไม่มี หลักประกันว่าจะไปอยู่ได้จริง เนื่องจากสัมผัสไม่ได้ ดังนั้นจึงเชื่อในวิทยาศาสตร์ จะสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้ในโลกนี้ เป็นเหตุให้วิทยาศาสตร์รุ่งเรืองในยุคนี้
มาถึงยุคปัจจุบัน ความรุ่งเรืองของวิทยาศาสตร์กำลังก้าวหน้าไปเรื่อยๆ วิทยาศาสตร์จึงกลายเป็นความหวังของมนุษย์ที่จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง เปลี่ยนแปลงให้ปรากฏต่อนักศาสนา เพื่อเป็นข้อลบล้างความเชื่อในศาสนา ในขณะที่วิทยาศาสตร์กำลังเฟื่องฟู ผลของวิทยาศาสตร์ก็ได้ทำลายมนุษย์ ให้พินาศไปด้วยเช่นกัน จนมาถึงการแสวงหาทางออกดังคำที่ใช้กันมากว่า วิทยาศาสตร์เพื่อความพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่พัฒนาไปเพื่อการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ มนุษยชาติด้วยกันเอง นี่คือการดิ้นรนเพื่อข้ามไปสู่กระบวนทัศน์ในยุคใหม่ ยังไม่ทราบว่าความเป็นไปได้จะมีมากน้อยเพียงใดและทันกาลหรือไม่ เนื่องจาก ความไวของวิทยาการของเทคโนโลยีในปัจจุบันมีสูง เคลื่อนไปด้วยความเร็ว มากกว่าที่ผ่านมาในอดีตหลายเท่า

ความเปลี่ยนแปลงสู่ยุคพระเวท

มนุษย์แสวงหาความเปลี่ยนแปลงให้กับตนเองเพื่อการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่เพียงแต่ทางกายรวมทั้งทางด้านจิตวิญญาณด้วย ในที่นี้จะนำความเปลี่ยน แปลงทางความคิดจากยุคหนึ่งสู่ยุคหนึ่งของนักคิดทางตะวันออกเป็นตัวอย่าง จะเห็นได้จากวิวัฒนาการความเปลี่ยนแปลงทางความคิดจากยุคดึกดำบรรพ์ สู่ยุคพระเวท (ตะวันตกเรียกยุคโบราณ) เข้าสู่ยุคพระเวท ยุคนี้ถือว่าเป็นยุคที่เริ่ม เข้าสู่ครรลองแห่งการเจริญทางความคิดของมนุษย์เลยทีเดียว ที่เรียกว่า “ยุคพระเวท’ ก็เกิดมาจากการกลั่นกรองทางความคิดออกมาเป็นรูปธรรม เป็น เบ้าหลอมทางความคิดในสังคม เป็นปรัชญาของมนุษย์ที่ต้องศึกษา และปฏิบัติ ตามในขณะนั้น ผู้ที่เข้าใจพระเวทถือว่าเข้าใจโลกและชีวิต

‘เวท’ หรือ ‘เพท’ แปลว่า ‘ความรู้’ หรือ ‘วิชา’ ถ้าจะแปลเป็นภาษาที่เข้าใจ กันง่ายก็คือ ศาสตร์ๆ (-Logy) หนึ่งที่ประกอบไปด้วยแง่มุมอันน่าศึกษาและมี ระบบทางความคิด ซึ่งความรู้หรือวิชานี้เกิดมาจากการสังเกตธรรมชาติของมนุษย์ สังเกตความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและปรากฏการณ์ต่างๆ ด้วยความสงสัย ตามสัญชาตญาณของมนุษย์นั้นกลัวภัยอยู่แล้วจึงพยายามคิดหาสาเหตุแห่ง ปรากฏการณ์ธรรมชาติและความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเพื่อความอยู่รอด ปลอดภัยจากการคุกคามของธรรมชาติ ชนชาติที่สามารถเข้าใจและให้คำตอบ แก่สังคมในขณะนั้นได้ว่าอะไรคือที่มาของธรรมชาติ เราอาจเรียกว่าเป็นชนชาว อารยันก็ได้

ชนชาวอารยันหรืออาริยกะอาจสืบทอดเชื้อสายกันมานานนับหลายพันปีก่อนพุทธกาล คำว่า อารยัน หรือ อาริยกะไม่ใช่เรียกเผ่าใดเผ่าหนึ่ง ดังที่เรา เรียกชนกลุ่มน้อย แต่หมายถึงมนุษยชาติที่มีวิวัฒนาการอันเจริญรุ่งเรือง เป็นอย่างมาก อารยัน ก็คือ มนุษย์ที่มีความเจริญแล้ว มีนักปราชญ์บางท่านเชื่อว่า เป็นอารยธรรม (Civilization) ที่เจริญถึงขีดสุดแล้วและล่มสลายไป เอ็ดการ์ เคยซ์ กล่าวถึงดินแดนอันเจริญรุ่งเรืองนี้ว่าอยู่ที่มหาสมุทรแอ๊ตแลนติส มี วิวัฒนาการทางความคิดและวิทยาการสูง แต่เพราะความเกิดเหตุบางประการ จึงทำให้อาณาจักรนี้ล่มสลายไป ถึงกระนั้นอาจมีมนุษย์จากดินแดนนี้หลงเหลือ กระจัดกระจายไปตามส่วนต่างๆ อาจเกิดจากการหนีได้ทัน หรือเพราะขณะนั้น ไม่ได้อยู่ที่แผ่นดินแม่ อาจกระจายอยู่บริเวณเอเชียไมเนอร์ (Asia Minor) ได้แก่ บริเวณ ประเทศอิรัก ประเทศอิหร่าน ประเทศอียิปต์ จนเริ่มก่อตั้งกันเป็น อารยธรรมแห่งชนชาติไอยคุปต์ แต่กระนั้นก็ตามชนชาวอารยันก็ยังคงถูกเรียก ในฐานะชนชาติที่มีความเจริญแล้ว กระทั่งเกิดความผันผวนทางธรรมชาติ ชนชาติ ไอยคุปต์ที่มีความเจริญก็กระจายออกไปจากดินแดนแถบนั้น แบ่งเป็นสองสาย สายหนึ่งมุ่งไปตามตะวันออก อีกสายหนึ่งมุ่งไปตามทิศตะวันตก ที่ไปสู่ตะวันตก ก็ตั้งรกรากอยู่ที่กรีกและโรมัน และที่มุ่งสู่ตะวันออกก็ข้ามภูเขาไซเบอร์พาส และข้ามเทือกเขาฮินดูกูฏเข้ามาตั้งรกรากอยู่บริเวณประเทศอาฟกานิสถาน ประเทศปากีสถานและส่วนหนึ่งของอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ

ด้วยสติปัญญาของชนชาติอาริยกะที่รวบรวมพระเวทขึ้น ในพระเวท แสดงให้ทราบว่าในธรรมชาติมีเทพเจ้าประจำอยู่ทุกส่วน เทพเจ้าเป็นผู้มีอำนาจ ในการดลบันดาลทุกอย่างให้เกิดขึ้นหรือให้หยุดก็ได้ การสื่อถึงเทพเจ้าเหล่านั้น ก็ด้วยการสวดมนต์อ้อนวอน ทำพิธีกรรมบวงสรวงอันเป็นเครื่องแสดงความ จงรักภักดีของมนุษย์ต่อเทพเจ้า เพื่อจะได้รับการปฏิบัติดีตอบแทน ปรากฏการณ์ ทางธรรมชาติทุกอย่างจึงมีเทพเจ้าอยู่ประจำ เมื่อเป็นเช่นนี้ต่างก็พากันบวงสรวง บูชาอ้อนวอนให้เทพเจ้าประจำธรรมชาตินั้นช่วยเหลือหรือหยุดลงโทษ กระทั่ง ต่อมามีการบูชาเพื่อขอให้ทำร้ายฝ่ายตรงกันข้าม และมีสงครามระหว่างเทพเจ้า ของแต่ละฝ่ายอีกด้วย

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมนุษย์เชื่อและยึดถือพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของ พระเจ้า เทพเจ้าผู้เป็นอมตะ เป็นผู้สร้างสรรค์สรรพสิ่งและสามารถให้คุณให้โทษ ต่อมนุษย์ มนุษย์กลัวต่อธรรมชาติที่มีอำนาจอันยิ่งใหญ่ จึงได้แบ่งเทพเจ้าออก ตามหน้าที่ ตามลักษณะที่มนุษย์สัมผัส เช่น เทพเจ้าประจำฟ้าร้อง เทพเจ้าประจำ ดวงดาวแต่ละดวง พระเจ้าประจำฤดูกาล หลังจากที่มนุษย์มีพัฒนาการทางความ คิดมากขึ้นก็กำหนดชื่อลงไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระเวทนั้น ถือว่าเป็นเทพเจ้าที่มีบทบาทได้รับหน้าที่และได้รับการเซ่นสรวงบูชาจากผู้คน เมื่อรวมลงแล้วพระเจ้าเหล่านี้มีดังนี้

เทพเจ้าประจำดิน : เทพอัคนี เทพโสมะ เทพยมะ
เทพเจ้าประจำอากาศ : เทพวาตะ เทพอินทะ เทพรุทระ เทพอปามะ เทพนปาตะ เทพปรชันยะ
เทพเจ้าประเจ้าสวรรค์ : เทพวรุณ เทพอุสล เทพวิษณุ เทพสูรยะ เทพมตระ เทพอุษ เทพสวตระ เทพปูษัน เทพอัศวิน เทพราตรี

ลักษณะการนับถือเทพเจ้าหลายพระองค์อย่างนี้บ่งบอกให้เห็นถึง สภาพการดำรงชีวิตของคนในสมัยโบราณด้วย เนื่องจากคนในสมัยโบราณมิได้ อยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ อย่างที่เป็นกันในปัจจุบันมีเฉพาะหมู่บ้านเท่านั้น ถ้าจะ เทียบก็เหมือนเทพเจ้าของชาวภูเขาแต่ละเผ่าที่มีมากมายตามเผ่านั้นๆ แต่พอ ต่อมามนุษย์เริ่มอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ โดยยึดเอาโคตรเป็นการแบ่งกลุ่ม เทพเจ้าก็เปลี่ยนไปตามกาลนิยม คือ มนุษย์มีพระราชา มีผู้นำที่ดูแลปกครองกัน เป็นหมู่ใหญ่ ก็เชื่อว่าเทพเจ้าทั้งหลายก็คงจะมีลักษณะดังกล่าวด้วย จึงคิดว่า เทพเจ้าคงจะมีเทพเจ้าที่ดูแลเทพเจ้าเล็กๆ เรียกว่าเป็นเทวาติเทพ แนวคิด เกี่ยวกับเทพเจ้าที่เป็นประมุขของเทพนี้กลายมาเป็นจากพหุเทวนิยมเป็น “เอกเทวนิยม” เพื่อสะดวกในการบูชาบวงสรวงเทพองค์เดียว ซึ่งเป็นเทพเจ้า ผู้สร้างโลก สร้างจักรวาล (God) ส่วนเทพเจ้าเล็กๆ น้อย (gods) ทั้งหลายก็ไม่ให้ ความสำคัญ ดูจากจุดนี้เทพเจ้าถูกกำหนดมาจากมนุษย์และมนุษย์นั่นแหละ ที่เข้าไปเคารพนับถือ เมื่อมาถึงในกาลปัจจุบันมีการศึกษาทั่วถึงกันของแต่ละ ศาสนาก็พบว่า แต่ละศาสนาก็มีพระเจ้าผู้สร้างโลกเป็นของตนไม่ว่าชนชาติ อารยัน จะไปอยู่ส่วนไหนแนวความคิดเกี่ยวกับเทพเจ้าสูงสุด หรือ แดนเทพเจ้า ก็ยังมีอยู่ แต่อาจเรียกชื่อต่างกันออกไป

(อ่านต่อในหนังสือ ตถาทัศนะมหายานกำล้งจะวางแผง)