วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สารนิเทศ : สารแห่งธรรม

นิเทศแห่งรัก
ผศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์

ยิ่งนับวันความรักที่มีอยู่ในหัวใจของมนุษย์จะยิ่งลดน้อยถอยลงไป ด้วยเหตุปัจจัยที่บีบคั้นมนุษย์หลายทาง โดยเฉพาะสังคมที่มีภาวะแห่งการแข่งขันกันสูงก็จะพบแต่ความแข็งกระด้างแห่งจิตใจของผู้คน ภาวะทางสังคมกำลังหล่อหลอมให้มนุษย์กลายเป็นหุ่นยนต์ที่ทำตามคำสั่ง ทำตามอำนาจพลังด้านลบ มนุษย์กำลังเข้าใจผิดในคำว่า เหตุผล คือกำลังใช้เหตุผลไปเสียทุกเรื่องโดยเข้าใจว่า การทำด้วยเหตุผลเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

เหตุผลเป็นความสมคล้อยกันแห่งตรรกะ ลงตัวกันได้ เข้ากันได้ ไม่แย้งกัน สมเหตุสมผล นี่เป็นเหตุผลในความบริบทแห่งสังคมทั่วไป เหตุผลนี้เองที่เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ความรักหายไปจากชีวิตมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ยิ่งกว่าเหตุผลประเภทนี้ เนื่องจากเหตุผลไม่สามารถเข้าถึงธาตุแห่งรักได้ เข้าถึงได้เฉพาะเปลือกแห่งรักเท่านั้น อารมณ์ความรู้สึกเป็นสิ่งที่บอกไม่ได้ด้วยเหตุผล สิ่งที่บอกด้วยเหตุผลยังไม่ใช่ความรักที่แท้ เป็นแต่เพียงรูปแบบแห่งความรัก ใครบ้างอธิบายเรื่องความร้อน ความเจ็บปวด ความดีใจ ความอิ่มใจได้ เหตุผลไม่สามารถบอกออกมาได้ เฉกเช่นเดียวกับความรัก การที่ใครพยายามใช้เหตุผลกับความรักก็เปรียบดังเช่นการอธิบายความอร่อยด้วยวัสดุทำอาหารให้คนได้อิ่ม อธิบายอย่างไรก็ไม่สามารถเข้าถึงความอร่อยได้ และไม่สามารถอิ่มได้



อีกสาเหตุหนึ่งของความหายไปแห่งความรักก็คือ การเน้นกฎหมาย สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน ปัจจุบันมีการอ้างถึงนิติรัฐและสิทธิเสรีภาพ สังคมภายใต้บริบทนี้เป็นสังคมที่ขาดความรัก แต่เป็นสังคมที่เคารพสิทธิเสรีภาพและการไม่ล่วงเกินเอาเปรียบกัน เมื่อใดที่มีการประพฤติละเมิด เมื่อนั้นคุณจะถูกจัดการทันที กล่าวกันว่า สังคมตะวันตกนั้นอยู่ภายใต้บริบทนี้ ไม่ใช่บริบทแห่งรัก แต่เป็นบริบทแห่งความเคารพสิทธิเสรีภาพ ความรักที่อยู่ภายใต้เงาแห่งสิทธิเสรีภาพนี้ เป็นความรักที่อยู่บนเส้นขอบอันบอบบาง พร้อมที่จะพลัดตกทุกเมื่อที่มีการล้ำเส้นกันและกัน ส่วนสังคมประเทศไทยนั้น ตั้งอยู่บนสังคมอุปถัมภ์พึ่งพา ความรักที่อยู่ภายใต้เงาแห่งความอุปถัมภ์พึ่งพา เป็นความรักที่อยู่บนพื้นที่แน่นหนาแต่อยู่ในความมืด เป็นความรักหลงงมงาย ไม่พลัดตกง่าย แต่ก็ไม่มีทิศทางที่จะเดิน



ดังนั้น ความรักที่แท้ต้องตั้งอยู่บนฐานแห่งรัก ไม่ใช่เหตุผลตามตรรกะ (Logic) แต่เป็นเหตุผลตามกรรมและวิบาก (Cause and Effect) คือ กรรม=รัก วิบาก=ได้ความรัก นี่เป็นความรักที่เป็นธาตุรัก ใช้ความรู้สึกที่รักและได้รักก็พอ เพราะความรักเช่นนี้จะเป็นเหตุปัจจัยส่งต่อไปถึงความกรุณา พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ซึ่งกลายเป็นนิยามของความรักประการหนึ่ง “ความรักคือการให้” จากนั้นก็จะส่งทอดไปถึงความชื่นชมต่อคนรัก และส่งทอดต่อไปถึงสิทธิเสรีภาพในรัก รวมความแล้วนิเทศแห่งรักก็คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขานั่นเอง ที่สำคัญต้องใช้เป็นเชิงบูรณาการทั้ง ๔ มิติด้วย จึงจะเป็นนิเทศแห่งรักตามแนวพุทธ

นิเทศแห่งชีวิต
ชีวิตเป็นสิ่งที่งดงาม เป็นสิ่งที่พร้อมจะเบิกบาน พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพที่เปลี่ยนไป มีแต่สิ่งที่ตายแล้วเท่านั้นที่ไม่ยอมเปลี่ยน แต่สุดท้ายแล้วชีวิตที่แท้ความความโดดเดี่ยว ดังข้อความของท่านอิคคิวที่ว่า
“พวกเรามาสู่โลกนี้เพียงลำพัง
พวกเราก็ต้องจากโลกนี้ไปเพียงลำพัง”
นี่เป็นนิเทศแห่งชีวิตที่งดงาม เปี่ยมด้วยพลัง การอยู่ร่วมกันนั้นเป็นเพียงมายา ก็ความคิดอยู่ร่วมกันนี้เกิดขึ้นก็เพราะผู้คนกลัวความโดดเดี่ยว ถูกความโดดเดี่ยวทำร้าย มนุษย์ต่างพากันขจัดความโดดเดี่ยวออกไปด้วยการหาที่พึ่งอื่น โดยเฉพาะความรักของชายหญิงที่เห็นได้ชัด
มนุษย์เข้าใจผิดว่า ตนเองไม่สามารถอยู่ได้ถ้าหากปราศจากชายหรือหญิงคนที่รัก กลายเป็นการตกหลุมรัก (Falling in Love) นั่นหาใช่ความจริงไม่ ความจริงก็คือ มนุษย์ไม่อาจทนทานต่อความโดดเดี่ยวที่ทำร้ายเอาได้ มันโหดร้าย รุนแรง ความสวย ความหล่อไม่ได้เป็นอุปสรรคอีกต่อไปเมื่อถึงจุดที่คุณต้องอยู่ มนุษย์ไม่ยอมอยู่อย่างโดดเดี่ยวแน่นอนแม้จะต้องอยู่กับคนขี้เหร่
ยิ่งไปกว่านั้นชายหญิงไม่ใช่ประเด็นสำคัญด้วย หากแม้โลกนี้ไม่มีบุรุษ สตรีก็ต้องเลือกสตรี หากแม้โลกนี้ไม่มีสตรี บุรุษก็ต้องเลือกบุรุษ ถึงแม้ไม่มีบุรุษสตรีให้ตกหลุมรัก มนุษย์ก็ต้องหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เช่นรักเงินตรา รักอำนาจ รักกวี รักศาสนา รักศิลปะ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องประกันมนุษย์ไม่ให้รู้สึกว่า ตนโดดเดี่ยว กิจกรรมอะไรๆ เหล่านั้นเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้นเอง ความจริงก็คือมนุษย์กลัวความโดดเดี่ยวเท่านั้น

การอยู่อย่างโดดเดี่ยวนั้นเป็นความทุกข์ ชีวิตไร้ค่าขึ้นมาทันที ไม่มีที่ไป ไม่มีที่ๆ จะอยู่ ไม่มีใครที่จะเกี่ยวข้องด้วย ในช่วงนี้กวีจึงเข้ามามีบทบาท เพลงจึงเข้ามามีบทบาท เพศจึงมีบทบาท แอลกอฮอล์จึงมีบทบาท ช่างวาดภาพก็รักอยู่กับการวาดภาพ และสิ่งนี้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญที่ว่า ชายผู้หนึ่งหลงใหลอยู่กับกวีของตนเขาจะหลีกเลี่ยงจากสตรี เขาไม่มีสตรีได้ เพราะสตรีเหล่านั้นจะเป็นตัวขัดขวางระหว่างเขากับกวี ด้วยเหตุนี้จึงมีคนที่เรียกตัวเองว่า เป็นนักแสวงหา นักวิจัย นักกวี หรือนักวาดภาพ คนพวกนี้มักเป็นคนโสด ที่เขาอยู่ได้เพราะเขามีสิ่งอื่นที่รักอยู่แล้ว เขาจึงไม่ต้องการสตรีใดๆ อีก เธอก็ไม่ต้องการชายใดอีก คนโสดกับคนโดดเดี่ยวไม่ใช่คนเดียวกัน คนโสดอยู่ได้เพราะเขาไม่ได้โดดเดี่ยว แต่คนโดดเดี่ยวอยู่ไม่ได้ เพราะชีวิตเขาจะไร้ค่าขึ้นมาทันที สิ่งที่เขาสามารถทำได้ คือ ฆ่าตัวตายหรือไม่ก็เป็นสัญยาสีที่แท้ การฆ่าตัวตายเป็นความโง่งมประเภทหนึ่งที่เกิดจากอาการไร้ที่พึ่ง เป็นความทุกข์จากความโดดเดี่ยว ส่วนอีกทางคือ การเป็นสัญยาสีที่แท้ หมายความว่า การยอมรับความโดดเดี่ยวแล้วอยู่ร่วมกับความโดดเดี่ยวเสีย ความโดดเดี่ยวจึงหายไป นี่คือนิเทศแห่งชีวิต

นิเทศแห่งปัญญา
เหตุใดเมื่อเกิดพระอริยบุคคลในโลกจึงเป็นความโศกเศร้าแห่งมาร ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระอริยบุคคลทั้งหลายคือ บุคคลผู้มีความรักที่เต็มเปี่ยม เป็นความรักที่ไม่อิงอาศัยอะไรอีก ไม่ตกอยู่ภายใต้ภัยแห่งความโดดเดี่ยว ก็พระอริยบุคคลเหล่านั้นไม่เหลือพื้นที่ให้ความโดดเดี่ยวทำงานได้อีก เมื่อใดที่ปัญญาตามเห็นขันธ์ ๕ ทำงานอย่างกระจ่างชัด เมื่อนั้นโลกคือขันธ์นี้ก็ไม่หลงเหลืออะไรให้ต้องเยื่อใยอีกต่อไป ขันธ์นี้ก็คือส่วนหนึ่งของจักรวาล จักรวาลก็คือขันธ์ จะมีสิ่งใดให้ต้องหลงรักอีก

คำสอนในพระพุทธศาสนามุ่งกระตุกให้ได้คิด ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิต ให้เลิกสนใจสิ่งอื่น ให้เลิกพึ่งพาสิ่งอื่น พยายามทำตนให้เข้าถึงความโดดเดี่ยว ไม่หลีกหนีความโดดเดี่ยว คำสอนในพระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องของการแจ้งให้ทราบ แต่เป็นการกระเทือนให้รู้สึก การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าได้กระเทือนต่อสังคม เพราะสังคมนั้นชอบความหลอกลวง ชอบมายา ชอบพึ่งพา ไม่อาจโดดเดี่ยว แต่พระอริยบุคคลทั้งหลายนั้นไม่หลอกลวง ไม่มีมายา ไม่พึ่งพา และอยู่กับความโดดเดี่ยวได้ ปัญญาที่ตามเห็นมายาเหล่านั้นทำงาน ภายใต้เงื่อนไขแห่งการหลีกหนีจากความโดดเดี่ยว สละได้อย่างหนึ่งแต่กลับไปยึดอีกสิ่งหนึ่ง การตามเห็นเช่นนี้จึงชื่อว่า ไม่กระทำผิดพลาดอีกต่อไป นี่คือ นิเทศแห่งปัญญา

สารนิเทศ
ขอให้นิเทศทั้ง ๓ และสาระในทุกๆ บทความจงเป็นสาระที่มีคุณค่าในใจของทุกท่านที่ได้อ่านวารสารฉบับนี้ ทุกสาระพร้อมที่จะเบ่งบานเป็นสารธรรมให้ผู้ได้พบเห็นกระเทือนต่อความรู้สึก อารมณ์ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตที่มีสาระมากยิ่งขึ้น


(ติดตามอ่านในวารสารศาส์นสัมพันธ์ มมร)