วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2561





เสขะ-ขีณาสวปกาสินี

การแยกแยะผู้ศึกษาในพระศาสน์
วัดตรงที่สามารถข้ามผ่านขันธ์
ดำรงชีพอิสระเป็นประกัน
เรียกว่าขั้นเสขาเสขะคน
เห็นภูตะปฏิบัตินั่นเกิดดับ
ภูตะรับอาหารสืบสานผล
หมดสิ้นเชื้อหมดกันในบัดดล
คงฝึกฝนเรื่อยไปเป้าหมายมี
ส่วนผู้เรียกอเสขะขีณาสพ
คือผู้พบภูตะทำหน้าที่
ละยึดมั่นด้วยปัญญาสัจวาที
เกิดดับนี้ตถตาสังขาต์ธรรม




เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องคิดตามหลักปกติธรรมดาไม่ได้ เพราะร่องแห่งความคิดนั้นเป็นร่องที่กำหนดไว้แล้วว่า ต้องเป็นไปอย่างนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่ใช้ความคิดตามร่องเดิม ๆ ก็จะเกิดผลแบบเดิม ๆ อยู่เสมอ แม้ว่า ผลจะเกิดขึ้นในเชิงปริมาณจะมีขึ้น เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย แต่ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นก็คือ ทุกอย่างยังคงเป็นแบบเดิม ๆ คือ กระบวนการเสริมแรงด้วยอาหารแห่งอัตตา อัตตาเจริญขึ้นได้เพราะอาหารเหล่านั้น ขันธ์ดำรงอยู่อย่างอ้วนพีเพราะมีอาหารเสริม ความคิด คือ กระบวนการของขันธ์ (สังขารขันธ์) ที่ทำหน้าที่อยู่ภายใต้ร่องเดิม ๆ อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การคิดที่ถูกโปรแกรมไว้แล้วด้วยอวิชชาจึงไม่เหลือแสงสว่างใดเลยที่ส่องทางออกไปได้
ชีวิตที่เริ่มต้นด้วยความคิดดิ้นรน อยากชนะ อยากรวย อยากมีอยู่มีกิน อยากสะดวก สบาย อยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่อยากพบกับความทุกข์ยาก ไม่ยากประสบสิ่งอันไม่พึงใจทั้งหลาย ไม่อยากเจอสิ่งทำลายความหวังทั้งมวล ร่องความคิดที่เริ่มด้วยความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ล้วนแล้วแต่เป็นความคิดที่ตกอยู่ภายใต้ร่องความคิดปกติของมนุษย์โลกที่เดินทางไปสู่กับดัก และไม่อาจเอาชนะได้เลย เป็นกับดักแห่งคองยักษ์ (อวิชชา) ที่รอคอยจนผู้คนคิดว่าตนไปใกล้ถึงเส้นชัยแล้วโผเข้าหาเส้นชัย สุดท้ายเข้าก็พบว่า ตนพ่ายแพ้อีกแล้ว คนอื่น ๆ ก็ยังคงไม่เชื่อว่า คนที่พ่ายแพ้นั้นเพราะเขาไร้ความสามารถ ตนเองต่างหากที่มีความสามารถเข้าถึงเส้นชัย จึงกระโดดเข้าหา สุดท้ายเขาก็ไปถึงจุดจบแห่งความพ่ายแพ้เช่นกันคนแล้วคนเล่า เป็นกันทั้งโลก จุดจบนั้นก็คือ ชีวิตไร้ความหมาย ชีวิตที่กลวงหาแก่นสารอะไรไม่ได้ ผู้ที่พอจะมีปัญญาก็จะสำนึกตนได้ในขณะนั้น แต่ผู้ไม่มีปัญญาก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง
Ready Player One” เป็นกรณีตัวอย่างของคนทั้งโลกที่มุ่งเดินทางไปตามกระแสความคิดปกติ แต่แล้วก็ต้องถึงจุดจบ เพราะต่างมุ่งหวังจะเข้าถึงเส้นชัยด้วยความคิดปกติ เช่นเดียวกับ เวด วัตส์ Wed Wats ภายใต้ชื่ออวตารในโลกแก่ OASIS ว่า พาร์ไซวัล ผู้เข้าใจความคิดของ James Holliday ภายใต้แนวคิดของ Ernest Cline ผู้เขียนเรื่อง โดยมี Steven Spielberg เป็นผู้รังสรรค์ผลงาน “ถอยหลังให้เต็มที่” เป็นกระบวนการคิดที่กลับด้านในเรื่องนี้ ในที่สุดเขาก็พ้นจากกับดักของโลก

Related image

การคิดสวนทางกับโลกเป็นเรื่องยากยิ่ง จำเป็นต้องใช้พลังมหาศาลในตอนต้น เปรียบเหมือนการส่งกระสวยอวกาศขึ้นสู่วงโคจรของโลก จำเป็นต้องใช้พลังขับส่งที่มีพ้นพลังมหาศาลจึงจะสามารถหลุดพ้นจากแรงโน้มถ่วงของโลกได้ พลังนี้ก็เช่นเดียวกับพลังกลับด้านของความคิดใน Ready Player One ที่สวนกระแสของความคิดปกติที่ทะยานไปข้างหน้า การทะยานไปข้างหลังอย่างแรง จะพบว่า เป็นคนละระดับของคนในโลก เขาจะเห็นความเป็นไปของโลกที่คนเป็นกันอยู่ เห็นคนทั้งหลายกำลังตะเกียกตะกายทะยานไปข้างหน้า เห็นหายนะทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นกับคนที่แข่งขันเหล่านั้น แต่เขากำลังกลับไปข้างหลัง เป็นกระบวนความคิดสายปฏิโลม
กระบวนความคิดสายปฏิโลม เป็นปฏิจจสมุปบาทที่สวนกระแสของโลก เพราะโลกหมุนไปตามอำนาจของอวิชชา แต่กระบวนการสายปฏิโลมนั้นไม่เป็นไปตามอำนาจ กลไก ความคิด ความเข้าใจธรรมดาของโลกอย่างนั้น เป็นกระบวนการกลับด้าน ไม่เป็นไปตามอำนาจโลก แต่เป็นไปตามพลังถอยกลับแห่งพละ ๕ คือ ความเชื่อมั่น ความเพียร ความระมัดระวัง ความตั้งใจมั่น และความรอบรู้ ถอยเต็มแรง ถอยเต็มกำลัง ในที่สุดก็จะพบว่า ด่านแต่ละด่านนั้นพังลงตามลำดับ ไม่ว่าจะกระทบกับอะไร ไม่เข้าไปใส่ความคาดหวังอะไร อะไร อะไร และต้องอะไรต่อไป แต่กลับสร้างความชัดเจนในปรากฏการณ์นั้น ๆ ขึ้นมาแทน มีแต่ความแจ่มชัดในขันธ์ ธาตุ อายตนะ ผัสสะ เวทนา ด่านแต่ละด่านก็ล้มลงไปตามลำดับ เพราะอาศัยความแจ่มแจ้งในขณะนั้น ๆ เท่านั้น นี่เป็นกระบวนการผิดปกติของโลก เป็นการทวนกระแสโลก
เบญจขันธ์คือ โลก ที่มีลักษณะไหลไปตามปกติของโลกด้วยอำนาจของอวิชชา เมื่อคิดสิ่งใดก็คิดไปตามโลก ไม่สามารถคิดหลุดไปจากวงจรโลกได้ ในภูตสูตรแห่งสังยุตตนิกาย กฬารขัตติยวรรค (สํ.นิ.๑๖/๓๑/๖๑) พระพุทธเจ้าได้ยกคำถามของอชิตมานพ ศิษย์ของพราหมณ์พาวรีขึ้นเพื่อให้พระสารีบุตรขยายความว่า “พระขีณาสพเหล่าใดมีสังขาตธรรม ส่วนพระเสขะที่ยังไม่มีสังขาตธรรมนั้นดำรงชีวิต” พระสารีบุตรไม่ทราบจะตอบอย่างไรดีในข้อนี้จึงเงียบอยู่ พระพุทธเจ้าจึงให้แนวว่า เธอเห็นหรือว่านี่คือ ภูตะ (เบญจขันธ์)” พระสารีบุตรจึงได้แนวในการขยายความ
ความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า เส้นทางของการพ้นจากเบญจขันธ์นี้ทำอย่างไร ก่อนอื่นก็ต้องรู้อย่างลึกซึ้งในเบญจขันธ์ก่อน เบญจขันธ์นั้นได้รวมกันทำงานอย่างเป็นระบบ ระเบียบ มีกลไกสมบูรณ์แบบตามลักษณะที่โลกดำเนินไปอยู่ กล่าวคือ มีการกระทำไปตามกาย วาจา ใจ มีการคิด จดจำ รู้สึก รับรู้ และหมุนวนไปมา สลับกันไปมา โดยมีอัตภาพนี้เป็นสนามทำงาน ผลักดัน ขับเคลื่อนไปตามอำนาจแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน มีตัณหาเป็นอาหาร เป็นปัจจัยให้ภูตะดำเนินไปได้อย่างไม่มีจบสิ้น
เมื่อใดก็ตามเข้าไปพิจารณาเบญจขันธ์ หรือ ภูตะ เห็นตามความจริงด้วยปัญญาอันชอบจึงย้อนกลับหลัง เข้าสู่สายปฏิโลม คือ ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย ปฏิบัติอย่างไร ก็คือ ใช้ปัญญาพิจารณาความเกิดดับของขันธ์แต่ละขันธ์นั้น เห็นขันธ์แต่ละขันธ์เกิดขึ้นก็เพราะอาหาร คือ มีความอยากเป็นไปในเบื้องหน้า ถ้าหากดับความยาก คือ อาหารของเบญจขันธ์เสียได้ เบญจขันธ์ก็ดับไปก็เพราะอาหารฉะนั้น กระบวนการกลับหลังหันให้กับอาหาร กระทำได้ด้วยการเห็นแจ้งด้วยสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ถึงสภาพที่ขันธ์เกิดดับอยู่อย่างนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนแล้ว วนเล่า ครั้งแล้ว ครั้งเล่า พระเสขะทั้งหลายจึงเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด พิจารณาต่อไป  ๆ จนกว่า จะเป็นการเห็นแจ้งในจิตอยู่ทุกเมื่อ เป็นธรรมชาติอัตโนมัติแห่งการเห็น เรียกบุคคลเช่นนี้ว่า พระเสขะบุคคล
ส่วนผู้ใดที่เมื่อเห็นแจ้งแล้วเพราะความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ละความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ได้แล้ว มีปัญญาอัตโนมัติแล้ว จิตหลุดพ้นจากการยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์อีกต่อไป นี้เรียกว่า พระขีณาสพ สุดท้ายพระพุทธเจ้าตรัสจึงกับพระสารีบุตรว่า
“สารีบุตร บุคคลเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริงว่า นี้คือ ภูตะ (ขันธปัญจก) ที่เกิดแล้ว ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อความดับภูตะที่เกิดแล้ว ย่อมเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริงว่า ขันธปัญจกนี้เกิดเพราะอาหารนั้น ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อความดับแห่งขันธปัญจกที่เกิดเพราะอาหาร ย่อมเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดเกิดแล้ว สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้น ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อความดับแห่งภูตะที่มีความดับเป็นธรรมดาเพราะอาหารนั้นดับไป
สารีบุตร ก็บุคคลชื่อว่ามีสังขาตธรรมเป็นอย่างไร คือ บุคคลเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริงว่า นี้คือภูตะ ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้นเพราะความหน่าย คลายกำหนัด ดับ เพราะไม่ถือมั่นภูตะ ย่อมเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริงว่า ภูตะนี้เกิดเพราะอาหารนั้น ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้นเพราะความหน่าย คลายกำหนัด ดับ เพราะความไม่ถือมั่นภูตะที่เกิดแล้วเพราะอาหารนั้น ย่อมเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริงว่า ภูตะใดเกิดแล้ว ภูตะนั้นมีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้นครั้นเห็นอย่างนั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้นเพราะความหน่าย คลายกำหนัด ดับ เพราะไม่ถือมั่นภูตะที่มีความดับเป็นธรรมดา บุคคลได้ชื่อว่ามีสังขาตธรรม (พระขีณาสพ) เป็นอย่างนี้
กระบวนการคิดที่ไม่เป็นไปตามปกติของโลกที่มุ่งแต่ความยากเป็นเป้าหมาย ก็ย่อมมีแต่ความเกิดแห่งเบญจขันธ์อยู่นั่นเอง เบญจขันธ์นี้ก็คือที่รวมลงแห่งทุกข์ทั้งมวล เป็นกระบวนการสายทุกข์ การที่ไม่รู้ความเกิดและความดับของเบญจขันธ์ว่าสิ้นสุดลงได้อย่างไร ก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากเกมของวัฏฏะได้อย่างนั้น เกมของวัฏฏะนั้นมีกิเลส กรรม วิบาก เป็นกระบวนการขับเคลื่อน เมื่อใดที่ไม่ถอยให้สุดกำลัง ไม่กลับหลังให้สุดกำลัง เมื่อนั้นเส้นชัยที่แท้ก็ไม่ปรากฏ
ความต่างกันระหว่างผู้อยู่ระหว่างทาง ผู้พ้นจากการเดินทาง และผู้ที่ไม่เข้าทางนั้นต่างกัน ผู้อยู่ระหว่างทางที่เรียกว่า เสขะบุคคล เป็นผู้เห็นสังขาตธรรมแล้ว กำลังเร่งเครื่องเพื่อทำความเห็นแจ้งขันธ์อยู่ก็ยังชื่อว่า ผู้กำลังมุ่งไปสู่จุดหมายแบบไม่ได้มุ่งไปไขว่คว้า แต่ทำให้ปัญญาชัดเจนยิ่งขึ้น ๆ ส่วนผู้ที่มีสังขาตธรรมแล้ว ก็คือ ผู้ที่ข้ามพ้นเกมแห่งเบญจขันธ์แล้ว หลุดพ้นจากโลกแห่งขันธมายา พ้นจากโลกแห่งสมมติมายา พ้นจากโลกแห่งการหลีกหนีความจริง และพ้นจากโลกแห่งเกมการเสพสารตัณหา สำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบถึงทางออกของเกมก็ตกอยู่ภายในวังวนของเบญจขันธ์เกมอยู่อย่างไม่มีสิ้นสุด รอบแล้วรอบเล่า ชาติแล้วชาติเล่า การได้เห็นผู้ที่หยุดตามโลก การสังเกตผู้เข้าสู่ทาง การมีสติคิดกลับด้าน คือเส้นทางเข้าสู่ทางแห่งการหลุดพ้นจากเกมขันธมายาได้



จบเสขะ-ขีณาสวปกาสินี


วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2561





นิโรธมัคคญาณปกาสินี

โอ...ทุกข์เกิดประเสริฐนักควรจักเห็น
ผูกโยงเป็นกระบวนสายธรรมไหลต่อ
สิ่งนี้มีสิ่งนี้เกิดธรรมเปิดรอ
มีขั้วข้อเพราะปัจจัยสืบสายวน
สมุทัยปัจจัยเหตุกิเลสเชื่อม
ผูกพันเหลื่อมขมวดรับจนสับสน
อวิชชาตัณหายึดเหนียวหนืดตน
ปัญญาค้นเห็นวาระสละวาง
สายดับพลันอุบัติขึ้นจิตตื่นแล้ว
เป็นธรรมแถวปฏิโลมคือล้มร่าง
วัฏฏะสิ้นทุกข์หายซากประจักษ์ทาง
ส่องสว่างนิโรธะคามินี
วิสุทธิ์ญาณประกาศชี้อริยมรรค
ประกอบหลักปฏิบัติอัฏฐ์วิถี
ทิฏฐิชอบเสริมปัจจัยธรรมให้มี
เส้นทางนี้อริยพระสัทธรรม




การศึกษาค้นคว้าวิจัยในโลกยิ่งนับวันก็ยิ่งห่างไปไกลออกจากเส้นทางมากขึ้น เส้นทางในที่นี้หมายถึงเส้นทางสายพัฒนามนุษย์ให้เข้าไปสู่จุดหมายสูงสุดของชีวิต คือ เส้นทางสายกลางมุ่งตรงต่อพระนิพพาน ไม่แปลกใจว่า ในที่สุดโลกแห่งการศึกษาแทนที่จะเป็นการศึกษาให้ปัญญาเพื่อแสวงหาความสุข ความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์ แต่การศึกษากลับมุ่งหมายไปที่การสะสม กอบโกย สนองการกิน กาม เกียรติ จนกลายพันธุ์ไปกันใหญ่ ไม่น่าเชื่อว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่เข้าใจว่า มีปัญญาโดยแท้ แต่กลับกระทำดุจเหมือนผู้ไร้ปัญญามากขึ้นเรื่อย ๆ ดูจากพฤติกรรมมนุษย์ทั่วไปที่มุ่งแย่งอาหารกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันพิศวาส แย่งอำนาจกันครอง ผลแห่งการแย่งก็คือการทำลาย เบียดเบียนกันและกันนั่นเอง
ถามว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ก็ต้องตอบว่า ผู้ที่ดูแลการศึกษาของประเทศและของโลกนั้นไม่มีมุมแห่งความคิดด้านการสร้างความสมบูรณ์ให้กับความเป็นมนุษย์เหลืออยู่เลย มีแต่มุมที่เรียกว่า แข่งขัน โลกแห่งการแข่งขัน โลกแห่งการชิงความได้เปรียบ โลกแห่งการเป็นผู้นำการค้า ทรัพยากร ทหาร อาวุธ เทคโนโลยี เข็มทิศชีวิตชี้ไปสู่สงครามแห่งการแข่งขันเท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่นเหลืออยู่เลยสำหรับมนุษย์ยุคปัจจุบัน ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากบรรยากาศทั้งมวล สถานการณ์ทุกจุดของโลก ตกอยู่ในภาวะสงครามแย่งชิงข้างต้น หากมีใครคนใดคนหนึ่งเปิดหน้าต่างชีวิตบานอื่นหยิบยื่นให้ เหตุผลนับพันจะอัดเขาทันทีว่า “พวกไม่คิดทำอะไร พวกยอมแพ้” ยังจำเหตุผลของเล่าปี่ที่ไปหาขงเบ้ง แต่ไม่พบ กลับไปพบซุยเป๋งพ่อตาขงเบ้ง ซุยเป๋งหยิบยื่นทางสงบให้ แต่เล่าปี่ก็มีเหตุผลเพราะ ๆ ให้กับตนและสหายว่า “ปราชญ์เต๋ารักสันโดษ แต่เราไหนเลยจะให้ทรราชครองเมือง” ที่ร้ายแรงกว่านั้น คือแนวคิดของคอมมิวนิสต์ที่เห็นผู้มีปัญญาอยู่อย่างมนุษย์ที่มีความสุขสมบูรณ์ว่า เป็นคนไร้ค่า พวกเขามองค่าของมนุษย์อยู่ที่วัตถุ พวกเขาจะบังคับให้บุคคลเหล่านี้ไปทำงาน หาเลี้ยงชีพ สร้างความร่ำรวยให้กับรัฐ แล้วเป็นฐานให้กับอำนาจของพวกเขานั่นแหละคือคุณค่าชีวิต
บุคคลผู้แสวงหาทางสร้างความสมบูรณ์ให้กับชีวิต เห็นแล้วว่า วิถีแห่งการแย่งชิงนั้นนำมาซึ่งความทุกข์ ความเดือดร้อน ทั้งตนเองและผู้อื่น ยังจดจำเหตุผลที่พระเตมีย์โพธิสัตว์เห็นประโยชน์ของการดำรงชีวิตอย่างมนุษย์ที่สมบูรณ์ยินยอมอดทนอยู่ถึง ๑๖ ปี ในที่สุดพระราชา ๓ เมืองก็เห็นด้วยว่า การดำรงชีวิตอยู่อย่างมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นอยู่ได้ และอยู่อย่างผู้มีปัญญานั้นประเสริฐอย่างยิ่ง ถ้อยคำสำคัญในเหตุการณ์นี้ ก็คือ “กษัตริย์เหล่านี้สละสมบัติดุจบ้วนน้ำลายทิ้ง ไม่หวงแหนเสียดาย ไหนเลยเราจะเก็บน้ำลายที่เขาบ้วนทิ้งมาทานอีกเล่า” สำนวนนี้เป็นสำนวนวิเศษสำหรับผู้ที่มีปัญญารู้ว่า อะไรคือคุณค่าแท้ของชีวิต อะไรคือคุณค่าเทียมของชีวิต
มนุษย์เมื่อได้คิดเช่นนี้จึงจะเข้าใจชีวิตที่แท้ได้ ชีวิตที่แท้นั้นคือความสุข ความสุขอันเกิดจากกาม เกิดจากความสงบ และการจากการปล่อยวางหลุดพ้น เป็นแต่ละระดับ ไม่ว่าจะเป็นความสุขแบบไหน ก็ต้องมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ชาวโลกล้วนประสงค์สุขอันเกิดจากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และซาบซึ้งจิต แต่ไม่ใช่การสะสมทรัพย์สมบัติให้ท่วมท้นล้นธนาคาร ไม่ใช่ต้องเป็นเศรษฐีติดอันดับของโลกจึงจะได้รับความสุขอย่างนั้น นั่นไม่ใช่ปัจจัยที่ถูกต้อง แต่ปัจจัยที่ถูกต้องก็คือ การรู้จักวิธีได้รับความสุขเช่นนั้น นี่คือ จุดประสงค์ของการศึกษาที่แท้จริง การดำรงชีวิตด้วยการเสพความสุขเช่นนั้นโดยมิใช่มุ่งแข่งขัน มุ่งเสพสื่อ หลงเข้าไปติดกับในเครื่องเสพติดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ เกม เน็ต ไลน์ และอื่น ๆ ใด เพราะนั่นคือ ผู้ที่ยังไม่ได้รับการศึกษา หน้าที่ของผู้ให้การศึกษาต้องทำให้คนมีปัญญา รู้ เข้าใจ ปฏิบัติอย่างเป็นมนุษย์ที่ได้รับการศึกษาในการหาความสุขให้ได้ ยิ่งไปกว่านั้นจะต้องขยับฐานความสุขขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่ายินดีความสุขแบบหนอน ๆ ที่ต้องกินต้องเสพสิ่งปฏิกูลอยู่อย่างนั้นว่าเป็นสิ่งที่สุดยอดที่สุดในชีวิต หน้าที่การศึกษาคือ ทำให้คนเข้าใจความสุขที่มีระดับสูงขึ้นไป และทำให้คนขยับฐานไปให้ได้
เส้นทางที่ขยับฐานนั้นเรียกว่า ทางแห่งกุศล หรือกุศลกรรมบถ และทางสายกลางอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐ เรียกว่า อริยอัฏฐางคิกนิโรธคามีนีมัชฌิมาปฏิปทา นี่เป็นทางที่นำไปสู่การเลื่อนระดับสำหรับบุคคลผู้แสวงหาปัญญา เป็นหัวใจปรัชญาของการศึกษา ที่เรียกว่า “ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่ฉลาดรู้จักเลือกสิ่งที่เป็นคุณค่าแท้ของชีวิตได้ดียิ่งขึ้น”
ผู้ที่ยังไม่แน่ใจ ก็ให้พิสูจน์ด้วยตนเองก่อน ให้ฝึกตนเองเป็นนักพิสูจน์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักศึกษา ค้นคว้าวิจัยด้วยตนเอง พิสูจน์อย่างไร ก็พิสูจน์โดยการศึกษาเส้นสายกระบวนธรรมที่เกิดขึ้น เห็นความทุกข์อันเกิดขึ้นทั้งหลายกับตนและกับผู้อื่นในลักษณะอย่างลึกซึ้ง สำนวนที่ว่า “เมื่อเห็นทุกข์ ก็ถึงธรรม” ย่อมเกิดขึ้นกับผู้พิสูจน์ ก็ทุกข์คืออะไร ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ได้สิ่งที่ไม่ต้องการได้ ไม่ได้สิ่งที่อยากได้ สรุปแล้วตัวขันธ์คือ ทุกข์ จงใช้ความรู้สึก สติ ปัญญา เข้าไปสัมผัสกับทุกข์เหล่านั้น ให้เห็นความทุกข์เหล่านั้นมีอยู่ในตน มีแต่ทุกข์ที่เกิดกับตนจึงเป็นทุกข์ที่แท้ ถ้ามิใช่ทุกข์เกิดกับตนก็ไม่สำนึก เช่น เราเห็นผู้อื่นบาดเจ็บ ล้มตาย อย่างมากก็รู้สึกเสียใจ อย่างน้อยก็ปล่อยผ่าน ไม่กระเทือนความรู้สึกอย่างใด แต่พอหนามตำเท้าตนเอง ปวดฟัน คนรักทิ้ง ฯลฯ เมื่อนั้นจึงรู้สึกว่า นั่นเป็นทุกข์จริง ๆ การที่เห็นทุกข์อย่างลึกซึ้งเช่นนี้จะทำให้เข้าใจทุกข์ว่า แท้จริงเกิดจากอะไร
ผู้มีปัญญาศึกษาพิสูจน์ความจริงจึงจะเห็นต่อไปว่า แท้จริงความทุกข์ทั้งมวลนั้นเกิดขึ้นก็เพราะอาศัยปัจจัยเหล่านี้ คือ การเกิดมีชีวิต การกระทำให้เกิดมีชีวิต การยึดติดในชีวิต ความมุ่งหมายอยากในชีวิต ความรู้สึกต่อชีวิต การกระทบกันของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์แห่งชีวิต การทำงานร่วมของระบบชีวิต การปรุงขึ้นแห่งชีวิต โดยมีความไม่รู้เป็นฐาน สิ่งที่เรียกว่า ทุกข์จึงปรากฏขึ้น ก็เมื่อปัจจัยเหล่านี้อาศัยกันและกันเกิด ปัจจัยเหล่านี้ก็ต้องอาศัยกันและกันดับได้ นี่คือ ญาณเป็นเครื่องรู้ ในเชิงวิทยาศาสตร์เปรียบเหมือน ไฟเกิดขึ้นเพราะอาศัยเชื้อ ความร้อน อากาศ และประจุไฟ เมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งขาดไป ไฟก็ดับไป ความทุกข์ก็ฉันนั้น เมื่อเหตุแห่งทุกข์ คือ ชาติหมดไป ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็หมดไปด้วย นี่คือความเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน ที่เรียกว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ”
ปัญญาที่เห็นแจ้งสายเกิดและสายดับเช่นนี้เป็นการเข้าไปศึกษาในระดับต้นตอของเหตุ ดุจดังนักวิทยาศาสตร์ที่ทราบถึงกระบวนการได้ยินเสียงว่า มีกระบวนการอย่างไรบ้าง ไม่มุ่งหมายไปที่เสียงอะไร แต่มุ่งหมายไปว่า ได้ยินได้อย่างไร เมื่อได้ยินแล้วส่งผลให้เกิดความรู้สึกอย่างไร เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง พระพุทธศาสนาเข้าไปทราบถึงสาเหตุของการได้ยินแล้วว่า เกิดจากอายตนะ ผัสสะ วิญญาณ ทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดการได้ยิน ปัญหาอยู่ที่ว่า ได้ยินแล้วรู้สึกอย่างไร มัชฌิมาปฏิปทาจึงจำเป็นอยู่ในขั้นตอนนี้ เช่น ได้ยินคำด่าอย่างรุนแรง ผู้ที่ไม่มีการศึกษาก็จะต้องตกอยู่ในอำนาจของความทุกข์อันเกิดจากคำด่านั้น เพราะสัญญาเก็บไว้แล้วว่า เป็นคำด่า ด่าใคร ด่าเรา แต่ผู้ที่มีปัญญาและใช้มัชฌิมาปฏิปทาเป็นกระบวนการดับเหตุ มิให้เสียงนั้นเลื่อนไหลไปตามอำนาจอวิชชาโดยปกติ แต่เป็นการเกิดขึ้นแห่งปัญญากำกับ ก็เมื่อมีอายตนะก็ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงเสียง เสียงก็ไม่อาจกำหนดได้ว่าต้องเป็นคำชมหรือคำด่าเท่านั้น คลื่นเสียงกระทบหูเกิดการรับรู้ว่าเป็นเสียง และรู้ว่าเป็นคำด่า ความเพียร ปัญญาและสติ (อาตาปี สัมปชาโน สติมา) เข้าไปย่อยสลายให้เห็นว่า ก็เสียงเป็นเพียงคลื่นชนิดหนึ่งที่กระทบประสาทหู วิญญาณรับรู้ว่าเป็นคำด่า (หรือชม) แต่เมื่อไม่เข้าไปตั้งความยากไว้ว่า มีเขา มีเรา มีคำด่า และไม่ยึดว่าเป็นนั่นเป็นการด่า เป็นแต่อาการของเสียงที่ดังแล้วดับไปเท่านั้น ลองนึกถึงว่า คำนี้เมื่ออ่านเจอก็ดี หรือได้ยินลอย ๆ หรือเป็นภาษาอื่นที่เราไม่รู้ความหมายก็ดี คำนั้น เสียงนั้นก็หายไป จบไป ไม่มีผลอะไรทั้งสิ้น ก็เพราะไม่เข้าไปตั้งความยากยึดไว้นั่นเองว่า เป็นเรา เป็นเขา เป็นของเรา ของเขา คำด่า คำชม เห็นเพียงอาการเกิดดับ เป็นธรรมชาติล้วน ๆ ตกอยู่ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยถาภูตญาณทัศนะก็เกิด อริยมรรคมีองค์แปดก็เกิดขึ้นเพียงลัดนิ้วมือเดียว เกิดขึ้นในจิตและดับในจิตนี้ เกิดขึ้นชั่วลมหายใจเข้า หายใจออกเท่านั้น นี่คือ กระบวนการสร้างเหตุปัจจัยสายดับด้วยมัชฌิมาปฏิปทา
การศึกษาปัจจยการบนฐานอริยสัจ ๔ นี้นำมาซึ่งการเลื่อนระดับชีวิตมนุษย์ให้สมบูรณ์ขึ้น รู้จักมีปัญญาเลือกสรรสิ่งที่เป็นคุณค่าแท้สำหรับชีวิตมากขึ้น มนุษย์ที่ได้ชื่อว่า ผู้มีปัญญาจักต้องพิสูจน์ทราบด้วยตนเอง ธรรมในพระพุทธศาสนามุ่งหวังให้ผู้มีใจเป็นนักพิสูจน์ทราบได้ทดลอง เมื่อนั้นความจริงก็จะประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง การศึกษาของโลกพึงมุ่งพัฒนาชีวิตอย่างนี้จึงจะสมกับเป็นมนุษย์ผู้มีปัญญาที่แท้


จบนิโรธมัคคญาณปกาสินี





วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2561




ทุกขผัสสะปกาสินี

รหัสลับที่สวมในความเห็น
ล้วนกลายเป็นทิฏฐิที่ยิ่งใหญ่
หาต้นตอความทุกข์ที่ผูกใจ
คำตอบใช่สี่มุมตกหลุมมาร
ไม่เป็นเราก็ท่านผู้ปั้นแต่ง
อาจพลิกแพลงสองเราต้องเข้าหาร
หรือทุกข์รอจะเกิดแค่เปิดกาล
สี่มุมม่านชาละคลุมอนันต์
หามีผู้คนใดมาใส่ทุกข์
เพียงแค่ปลุกผัสสะกระทบขันธ์
ปัจจัยก็เลื่อนไหลสืบสายกัน
คอยแค่กั้นกระแสที่แผ่ไป
คือการปรับทิฏฐิแก้มิจฉา
เกิดปัญญาเห็นแจ้งแถลงไข
ทำลายข้อสับสนแห่งกลไก
แก้มัดให้สรรพสัตว์พ้นวัฏวน



นับเป็นหายนะแห่งธรรมชาติของมนุษย์ที่ถูกปิดบังด้วยความไม่รู้มานับกาลไม่ถ้วน จนกลายเป็นความเห็นผิดแบบถาวรที่เรียกว่า วิปลาส ความเห็นผิดนี้มีอยู่ ๓ ระดับใน ๔ เรื่องด้วยกัน คือ
๑.    ระดับสัญญา เรียกว่า สัญญาวิปลาส หมายเอาความจำได้หมายรู้ที่ผิดพลาดใน ๔ ประเด็น ได้แก่ หมายรู้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนว่า ๑) สิ่งไม่เที่ยง ว่าเที่ยง ๒) สิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าสุข ๓) สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ว่าเป็นตัวตน ๔) สิ่งที่เป็นของปฏิกูล ว่างดงาม
๒.    ระดับจิต เรียกว่า จิตวิปลาส หมายเอา จิตที่รับรู้ เข้าใจผิดพลาด คลาดเคลื่อนใน ๔ ประเด็น ได้แก่ หมายรู้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนว่า ๑) สิ่งไม่เที่ยง ว่าเที่ยง ๒) สิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าสุข ๓) สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ว่าเป็นตัวตน ๔) สิ่งที่เป็นของปฏิกูล ว่างดงาม
๓.    ระดับทิฏฐิ เรียกว่า ทิฏฐิวิปลาส หมายเอา การยึดมั่น ถือมั่น เชื่อตามสัญญาหรือจิตนั้น แล้วกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ผิดพลาดต่อเนื่องจนกลายเป็นความเคยชิน และกลายเป็นวัฒนธรรมที่ผิดพลาด คลาดเคลื่อน เช่น ความเชื่อตามจิตตวิปลาสว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นต้องมีผู้สร้าง (ตัวตน) พอเกิดแผ่นดินไหว ก็เชื่อว่า เป็นเพราะเทพเจ้าบันดาล (พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, ๒๕๕๘ : ๑๓๘)
เพราะความเห็นผิดเข้าใจผิดอย่างนี้จนกลายเป็นธรรมชาติของมนุษย์ จึงไม่แปลกที่มีเหตุการณ์อะไรบางอย่าง บางประการเกิดขึ้นกับตนเองหรือใครก็ตาม มนุษย์ก็ต้องมองหาสาเหตุว่า เป็นใคร เกิดจากสาเหตุอะไร โดยโยงใยไปสู่ความเห็นผิดเช่นดังกล่าว เปรียบเหมือนคนที่ตาบอดอยู่แล้ว เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น ไหนเลยคนตาบอดจะรู้ว่า เป็นอะไร ก็ล้วนแต่เดาว่า เป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ มีลักษณะอย่างนั้น อย่างนี้ ถกเถียงกันไปทั่วสังคม โดยมากก็จะมีข้อสรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตนนั้น ไม่ว่าจะเป็นสุข เป็นทุกข์ ก็ตามย่อมเกิดมาจากเหตุทั้ง ๔ ประการนี้เท่านั้น คือ
๑.    สุขหรือทุกข์เป็นเพราะผู้อื่นกระทำให้เกิดขึ้นกับตน
๒.    สุขหรือทุกข์เป็นเพราะตนเองกระทำให้เกิดขึ้นเอง
๓.    สุขหรือทุกข์เป็นเพราะผู้อื่นและตนเองกระทำให้เกิดขึ้นร่วมกัน
๔.    สุขหรือทุกข์ไม่เกี่ยวกับผู้อื่นและตนเองกระทำให้เกิดขึ้นได้ คือ เกิดได้เอง
ความคิดเห็นทั้ง ๔ ประการนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ความคิดผิดที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ กล่าวคือ ความคิดในทัศนะความมีตัวตน หรือมีสิ่งยืนโรง และความคิดผิดว่า ไม่มีอะไรเป็นเหตุเป็นผลกันทั้งนั้น และเมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นในโลก คนทั้งหลายก็จะใช้ความคิดเห็นผิดผลาดคลาดเคลื่อนนี้เข้าไปเป็นตัวตัดสิน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งเสมอ
เมื่อมองจากการหาคำตอบว่า สุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตนนั้นมาจากไหน ร้อยละ ๗๐ โดยประมาณต้องบอกว่า เป็นเพราะเขาคนนั้น เนื่องจากเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มองออกไปข้างนอกเสมอแล้วก็เห็นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จึงไม่อาจให้คำตอบเป็นอื่นไปได้ ก็ต้องลงความเห็นว่า เพราะคนนั้น กลุ่มนั้น ประเทศนั้นจึงทำให้เราเป็นอย่างนี้ ได้รับความทุกข์หรือสุขอย่างนี้ แต่ก็มีประมาณร้อยละ ๑๕ ที่มองว่า เป็นเพราะตัวเราทำตนเอง คำที่มักจะได้ยินว่า “ก็เพราะเขาทำร้ายตัวเขาเอง” หรือ “เพราะฉันมันไม่ดีเอง” จึงเป็นคำที่สรุปว่า เป็นเพราะตนเองก็ทำขึ้นมาจึงได้รับผลอย่างนั้น แต่ก็มีบ้างประมาณร้อยละ ๑๐ ที่ลงความเห็นว่า เป็นเพราะทั้ง ๒ ฝ่ายทำร่วมกัน ดังที่เรามักได้ยินคำพูดว่า “ตบมือข้างเดียวไม่ดัง” กล่าวคือ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์นั้นก็เพราะทั้ง ๒ ฝ่ายทำขึ้นมา จึงได้รับผลอย่างนั้น ยังคงเหลืออีกประมาณร้อยละ ๕ ที่มองว่า ไม่ว่ายังไง สุขทุกข์นั้นไม่เกี่ยวกับใครทั้งนั้น ดังที่เรามักได้ยินคำพูดว่า “อะไรมันจะเกิด มันก็ต้องเกิด” คือ สุขทุกข์เป็นอิสระ ไม่เกี่ยวกับสิ่งไหน ไร้เหตุผลโยงใย มันเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ปัญหานี้มิใช่เกิดขึ้นเฉพาะในปัจจุบัน ในอดีตก็มีผู้สงสัยและสนใจอยากรู้ ดังข้อความที่เหล่าปริพาชกถามพระสารีบุตรที่เข้าไปพบปะทักทายเวลาเช้าก่อนออกบิณฑบาตว่า
“ท่านพระสารีบุตร มีสมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะพวกหนึ่งบัญญัติว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเอง อนึ่ง สมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะพวกหนึ่งบัญญัติว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่คนอื่นกระทำให้ สมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะพวกหนึ่งบัญญัติว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเองด้วย และเป็นสิ่งที่คนอื่นกระทำให้ด้วย อนึ่ง สมณพราหมณ์ฝ่ายกรรมวาทะพวกหนึ่งบัญญัติว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุที่ตนกระทำเองก็มิใช่และคนอื่นกระทำให้ก็มิใช่ท่านพระสารีบุตร ก็ในวาทะเหล่านี้ พระสมณโคดมตรัสไว้อย่างไร ตรัสบอกไว้อย่างไร และพวกข้าพเจ้าจะตอบอย่างไร จึงจะชื่อว่าพูดตรงตามที่พระสมณโคดมตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระสมณโคดมด้วยคำเท็จ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผลทั้งไม่มีการคล้อยตามคำเช่นนั้นที่จะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้” (สํ.นิ. ๑๖/๗๒/๓๒-๓๓)
          จากข้อความนี้ประเด็นที่น่าสนใจมิใช่เพียงแต่ปัญหาที่ถามเกี่ยวกับเรื่องทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นคนทำแล้ว ปริพาชกทั้งหลายยังระมัดระวังว่า การที่ตนไม่รู้จริงว่าพระพุทธเจ้าตรัสตอบเรื่องนี้ไว้อย่างไร แล้วนำไปกล่าวต่อ จะเป็นการกล่าวตู่พระพุทธเจ้า จะทำให้ตนเองได้รับการตำหนิเอาได้ว่า ไม่รู้จริงแล้วกล่าวไป นี่คือ ธรรมสำคัญอย่างหนึ่งของนักปราชญ์ในยุคนั้น จะไม่เป็นไปตามสำนวนที่ว่า “ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด”
          พระสารีบุตรตอบคำถามเหล่านี้โดยสรุปความว่า “ทุกข์ที่สมณพราหณ์กล่าวว่ามีสาเหตุ ๔ ประการนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสภาวะที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ปัจจัยนั้นก็ได้แก่ผัสสะ การตอบเช่นนี้ชื่อว่าตอบตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่ถูกตำหนิได้” พระอานนท์ได้ฟังการสนทนานั้นด้วย จึงนำมากราบทูลต่อพระพุทธเจ้าว่า คำตอบเช่นนั้นถูกต้องหรือไม่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดีละ ดีละ อานนท์ ตามที่สารีบุตรพยากรณ์นั้น ชื่อว่า พยากรณ์โดยชอบ...” (สํ.นิ. ๑๖/๗๔-๗๕/๓๔)
          พระพุทธศาสนามีคำตอบในเรื่องนี้มุ่งเน้นไปที่ต้นขั้วที่แท้จริง มิใช่มองไปที่ปลายขั้ว หรือมองออกไปภายนอก การมองออกไปภายนอกก็จะพบสาเหตุที่เป็นคน วัตถุ สิ่งของ พอมองไม่เห็นก็ลงความเห็นว่า ไม่มีอะไรเป็นเหตุ โลกตกอยู่ภายใต้คำตอบเช่นนี้เป็นเวลานาน ไม่เพียงแต่เป็นคำตอบเท่านั้น แต่เป็นการหาตัวการที่ผิดผลาดทำให้กระทำต่อตัวการที่ผิดพลาดไปด้วย พวกแรกก็มักโทษผู้อื่น พวกที่สองก็มักโทษตนเอง พวกที่สามมักโทษกันและกัน พวกที่สี่ก็ปล่อยประละเลย เมื่อเป็นเช่นนี้จะหาทางออกจากทุกข์ไม่ได้เลย ต่างก็พากันวนเวียนอยู่ในกองทุกข์อยู่ร่ำไป
          สำหรับพระพุทธศาสนามองเห็นทุกข์มีผัสสะเป็นปัจจัย ก็เพราะการกระทบของอายตนะภายในและอายตนะภายนอก ทั้ง ๖ ประการ เวทนาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ปรากฏ ถ้าหากพอใจก็เป็นสุขเวทนา หรือมีความสุข ถ้าหากไม่พอใจก็เป็นทุกขเวทนา หรือมีความทุกข์ ถ้าหากไม่มีทั้งความพอใจหรือไม่พอใจก็เป็นอทุกขมสุขเวทนา คือ เฉย ๆ การที่มองเห็นต้นขั้วของสุข ทุกข์เช่นนี้ย่อมเห็นกระบวนการไหลไปของสายปัจจยการที่จะนำไปสู่การยึดมั่นถือมั่นเอาสุข และทุกข์ที่เกิดในเวทนานั้นเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา จนทำให้กองทุกข์ในขันธ์ทั้งมวลเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อรู้สาเหตุที่แท้อย่างนี้ก็ย่อมเข้าไปตัดตอน ณ จุดกระทบได้ ก็เมื่อผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดสุข ทุกข์ ก็ต้องเห็นอาการกระทบนั้นเป็นเพียงธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นธรรมชาติของอายตนะ เมื่อมีอายตนะ บางครั้งเรียกว่า อินทรีย์ เพราะมีความเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่ เปรียบเหมือนอากาศทั้งหลายที่ทำหน้าที่ อากาศหนาวก็ทำให้หนาว อากาศร้อนก็ทำให้ร้อน เมื่อตาเห็นรูป ก็เพราะมีตาและมีรูป มีจุดกระทบ และมีวิญญาณรับรู้ นั่นก็เป็นธรรมชาติของปัจจยการ การที่ตากระทบรูปที่ไม่น่าพอใจนั้นเป็นอกุศลวิบาก ส่วนที่น่าพอใจนั้นเป็นกุศลวิบาก ขณะนั้นจะต้องทำอะไร อย่างไร ก็ต้องพิจารณาเห็นถึงความเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งด้วยสติ ปัญญา และความเพียร ตัดตอนไม่ให้เกิดผลอันเป็นกุศล หรืออกุศลเชิงสาเหตุอีกต่อไป เมื่อเป็นกุศล อกุศล เชิงวิบากก็ให้เป็นอันเห็นและเข้าใจเท่านั้น ณ จุดนี้เป็นจุดที่ตัดตอนไม่ให้เกิดตัณหาต่อจากเวทนาอีก เพราะเมื่อผัสสะดับ เวทนาก็ดับ ตัณหาก็ดับสืบเนื่องต่อไป
          ยกตัวอย่าง การเห็นกองขี้หมาเลอะหน้าประตูบ้าน เป็นอกุศลวิบาก ความเป็นทุกข์ก็เกิด โดยมากล้วนก็ต้องหาว่าใครทำ หรือตัวไหนขี้ จากนั้นกระบวนการทำงานของปัจจยการก็ไหลไปตามอำนาจแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เริ่มที่จิตเป็นอกุศลกรรม วาจาที่เป็นอกุศลกรรมก็จะพรั่งพรูออกมา จากนั้นการกระทำที่เป็นอกุศลก็จะเกิดตาม กองทุกข์ทั้งมวลก็ไหลรวมเป็นเหตุแห่งทุกข์ต่อไป แต่พอเข้าใจเห็นผัสสะที่กระทบ เข้าใจถึงกระบวนการสืบเนื่องทุกข์ ก็ตั้งสติ มีปัญญา ใช้ความเพียรดับปัจจยการนั้นเสีย มองเห็นเป็นธรรมชาติของการมีอายตนะ มีผัสสะ หรือการเห็น หรือมีขันธ์ มีสุนัข มีคนอื่นหรือขันธ์อื่น มีบ้าน มีที่ว่าง มันก็เป็นไปได้ทั้งนั้นที่จะต้องมีสิ่งเหล่านี้ การที่จะไปโทษสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ผู้มีปัญญาจะพึงกระทำ ดึงกลับเข้าสู่คลองแห่งธรรมชาติ พลังแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทานก็ลดทอน ถึงขั้นไม่อาจทำงานให้เป็นปัจจยการได้อีกต่อไป ตรงนี้เองที่เรียกเป็นภาษาธรรมแห่งผู้บรรลุว่า “เห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักว่าได้ยิน”
          การที่จะทันความไวของจิตที่ทำงานตามปกตินั้นเป็นไปได้ยากมากสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับการฝึกฝนมาก่อน แต่สำหรับผู้ที่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ ความไวของจิตมีเท่าใด ความไวของสติก็มีไวเท่านั้น เพราะสติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตทันทีเช่นกัน ขอเพียงได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างถูกต้อง ถูกทาง ตามธรรมสมควรแก่ธรรม สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ก็ทำงานไปร่วมกันเพื่อระงับยับยั้งมิให้กระแสแห่งปัจจยการที่นำไปสู่ทุกข์ทำงานได้อย่างคล่องตัว เมื่อกระทำได้เช่นนี้เส้นทางในการเดินไปสู่การดับทุกข์อย่างสิ้นเชิงก็มีได้ กระบวนแห่งปัจจยการสายปฏิโลม หรือสายนิโรธวารก็เกิดขึ้น นี่เป็นสายการสิ้นไปแห่งทุกข์
          สุข ทุกข์ ที่เกิดขึ้นกับคนทั้งโลกมีผัสสะเป็นปัจจัย ไม่ต้องไปโทษใคร ๆ หรือตัวตนอะไรทั้งสิ้น นี่เป็นธรรมชาติแห่งขันธวิบากที่เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ไม่อาจหลุดรอดจากผัสสะไปได้ เปรียบเหมือนเมื่อเกิดขึ้นมาบนโลก ก็ไม่อาจหลุดรอดจากพ่อแม่ ดิน ฟ้า อากาศ สังคม สิ่งแวดล้อมไปได้ ความสำคัญอยู่ที่ว่า เข้าใจความเป็นธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้นในแง่ที่สร้างความทุกข์ ๒ ระดับให้กับเราหรือไม่ คือ ระดับเหตุคือเวทนา และระดับผลคือทุกข์ โทมนัส อุปายาส ได้หรือไม่ ถ้าเข้าใจก็ดับเหตุเสีย คือ ตัดตอข้อห่วงบ่วงเกี่ยวที่ผัสสะ ทุกข์ในระดับสาเหตุก็ดับ เมื่อทุกข์ในระดับเหตุดับไป ทุกข์ในระดับผลก็ย่อมไม่มี เปรียบเหมือนการไม่ต้องเกิดมาในโลก คือ ดาวดวงนี้ ก็ไม่ต้องพบกับสภาพธรรมชาติของดาวดวงนี้เช่นกัน
          สมควรให้ทุกท่านได้ปรับมิจฉาทิฏฐิออกเสีย ได้รู้ ได้เห็นธรรมที่เป็นสัจธรรมปรมัตถ์ และพยายามปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือปฏิบัติไปตามการรู้แจ้งธรรมชาติแห่งปัจจยการเช่นนี้ เห็นสาเหตุ ทางออก และกระบวนการปฏิบัติออกจากวงจรแห่งทุกข์ คือการวิปัสสนาต่อผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา และตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน...เมื่อเห็นเช่นนี้กองทุกข์ทั้งมวลก็สิ้นไป     อิมัสสะ เกวลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ นิโรโธ โหติ


จบทุกขผัสสะปกาสินี

วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2561

๑๐. อุปนิสณาณปกาสินี

รู้เห็นแจ้งภาวะบรรดาขันธ์
เกิดดับพลันอาสวะที่สะสม
ก็สลายหมดสิ้นการติดปม
กระบวนล้มอัตตาสาระพัง
อิงอาศัยขยญาณปัญญาเห็น
วิมุตติเป็นบันไดเชื่อมไหลหลั่ง
เหล่าองค์ธรรมโพชฌังคะพลัง
ทุกข์เริ่มตั้งจนปิดอวิชชา
คือจุดเปลี่ยนศรัทธาสู่ปราโมทย์
เป็นเหมือนโจทย์สายธรรมที่ล้ำค่า
องค์คุณญาณลำดับสลับมา
ประดุจห่าฝนใหญ่ที่ไหลลง
สมาธิสู่ท่าญาณอาศัย
วิราคะจึงคลายความใหลหลง
นี่คือยอดแห่งธรรมเจตจำนง
จุดประสงค์แห่งศาสน์พระศาสดา
          
กระบวนการอิงอาศัยกันและกันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากในแง่ของทั้งทางโลกและทางธรรม ผู้ใดเข้าใจกระบวนการดังกล่าวได้มากเท่าไรก็สามารถเข้าถึงการสร้างเหตุและปัจจัยให้เกิดกระบวนธรรมอิงอาศัยกันและกันมากขึ้นเท่านั้น ถ้าหากมองโลกมุมนี้ ก็กล่าวได้ว่า เพราะการอิงอาศัยกันและกันนี่เองจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ขึ้นมาในโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นโลกในมิติธรรมชาติ (Nature Made) หรือในมิติมนุษยชาติ (Man Made)
มาพิจารณาในส่วนที่เป็นธรรมชาติก่อน อาศัยกระบวนการอิงอาศัยกันและกันของดวงดาวต่าง ๆ ในระบบสุริยะจักรวาล (Solar System) จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ และธรรมชาติเหล่านั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัยที่เปลี่ยนไป ความเหมาะสมของภูมิอากาศในดาวที่เรียกว่า โลก (Earth) ที่เย็นลงจนได้ที่จึงมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น ตามแนวคิดของเจมส์ เลิฟล๊อค (James Lovelock) ที่เรียกโลกนี้ว่า Gaia หมายถึง แม่ผู้ให้กำเนิด เป็นการให้กำเนิดสรรพชีวิตขึ้น ตามหลักฐานในอัคคัญญสูตร แสดงให้เห็นว่า โลกนี้เดิมนั้นมีลักษณะขาวนวลอันเกิดจากน้ำที่ลดลง เรียกครีมที่ปกคลุมโลกนั้นว่า ง้วนดิน ภาษาบาลีว่า รสปฐวี (ที.ปา.๑๑/๕๖/๗๘) ลอยอยู่บนน้ำที่แห้งลงเรื่อย ๆ มีลักษณะเหมือนน้ำนมเคี่ยวแล้วติดอยู่ข้างบน กระบวนการพัฒนาการของโลกนี้เอง คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัยตามธรรมชาติ ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปนี้เกิดปฏิกิริยาทางสิ่งมีชีวิตหลากหลายอย่างเกิดขึ้น ถามว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ตอบได้แต่ว่า เป็นเพราะเหตุและปัจจัยทำให้เกิดขึ้น เปรียบเหมือนเหตุและปัจจัยทำให้เราได้เห็นวิวัฒนาการของพืชพันธุ์สัตว์ที่มีแล้วหายไปและที่เกิดขึ้นใหม่อันเกิดจากเหตุและปัจจัย สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การกลายพันธุ์ของเชื้อโรคที่เปลี่ยนแปลงไปตามภูมิอากาศ

ในขณะเดียวกัน โลกอิงอาศัยทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกดำรงอยู่ เปรียบเหมือนมนุษย์ที่อาศัยปัจจัยภายใน คือ อวัยวะในร่างกายทำงาน และปัจจัยภายนอก คือ ดิน ฟ้า อากาศ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ถ้าเปรียบโลกเป็นคน ตอนนี้ก็มีอายุประมาณ ๕๐ ปี ที่มีโรครุมเร้าหลายโรค เหตุปัจจัยเหล่านี้ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกทั้งสิ้น เมื่อมีอะไรบางอย่างเปลี่ยนแปลง ก็กระทบกลไกของโลกไปด้วย ปัจจุบันกระบวนการอิงอาศัยเหตุปัจจัยทางธรรมชาติเห็นได้ชัดในเรื่องของผลกระทบอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของโลกที่เรียกว่า ภาวะเรือนกระจก (Green House Effect) กระบวนการลูกโซ่ (เหตุปัจจัย) ที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของรังสีแสงอาทิตย์ ชั้นบรรยากาศ อากาศ กับไอน้ำ โดยปกติบรรยากาศของโลกที่ประกอบด้วยไนโตรเจน ออกซิเจน อาร์กอน คาร์บอนไดออกไซด์ โอโซน และไอน้ำ จะทำหน้าที่ในการดูดซับรังสีอินฟราเรดที่ลงมาบนโลก ส่วนรังสีคลื่นสั้นก็จะสะท้อนออกไป เมื่อเกิดเหตุปัจจัยอันเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษ ตัดไม้ ทำลายป่า โลกทำปฏิกิริยารูปแบบใหม่ขึ้น ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสมีมากขึ้น ก๊าซเหล่านี้ทำให้เกิดความเข้มข้นของไอน้ำในบรรยากาศจนเกิดเป็นภาวะเรือนกระจก หรือภาวะตู้อบไอน้ำนั่นเอง นอกจากนั้น ก๊าซที่เกิดจากการปล่อยออกไปนั้นกลับกลายเป็นก๊าซพิษ ทำลายชั้นบรรยากาศทำให้รังสีคลื่นสั้นของแสงอาทิตย์ลงมาบนพื้นโลกได้ อีกทั้งไม่สามารถดูดซับรังสีอินฟราเรดได้ ผลกระทบอันเกิดจากภาวะเรือนกระจกนี้ส่งผลไปสู่ Gia (โลก) ให้เป็นโรคหลายชนิด ยากต่อการรักษา รวมทั้งที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิด เกิดจากการทดลองนิวเคลียร์ทั้งบนดิน ในอากาศ และในดิน ได้ส่งผลทำให้เกิดโรคหลายชนิดขึ้นในมนุษย์เอง นี่ก็สื่อสะท้อนให้เห็นอานุภาพแห่งปฏิกิริยาลูกโซ่ที่มองได้ทั้งระบบโดมิโน (Domino System) ระบบพรีเดเตอร์ (Predator System) หรือระบบวิวัฒนาการ (Revolution System)
มาดูเหตุปัจจัยที่เป็นเรื่องของมนุษย์เองบ้าง (Man Made) กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนี้ ยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งที่สามารถทำให้เห็นได้ชัด ได้แก่ การรักษาโรคของหมอ หมอมีแต่ให้ยารักษาตามเหตุและปัจจัย แต่หมอไม่อาจจะทำให้โรคที่เป็นอยู่หายตามที่ต้องการได้ ทำได้ก็แต่เพียงให้ยาถูกส่วน ไม่มาก ไม่น้อย ผู้รักษาโรคก็ทำตามเหตุและปัจจัย คือ ทานตามที่หมอบอก ที่เหลือก็เป็นเรื่องของร่างกายจะทำปฏิกิริยาต่อโรคเอง  โดยอาศัยตัวยาเป็นเหตุและปัจจัยของร่างกายเอง ซึ่งเป็นระบบของชีวะ (พีชนิยาม) การที่หมอให้ยา ประกอบยาทั้งหมดนั้นเป็นการสร้างเหตุและปัจจัย (กรรมนิยาม) นอกจากนั้นยังต้องอาศัยอากาศ (อุตุนิยาม) ด้วย ในการสร้างเหตุและปัจจัยเพื่อให้โรคหาย ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการสร้างเหตุและปัจจัยทั้งสิ้นที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อโลกและชีวิต
มาถึงเหตุปัจจัยสำคัญต่อการบรรลุธรรม เป็นการสร้างเหตุและปัจจัยโดยอาศัย จิตนิยามและกรรมนิยามโดยตรง เพื่อให้กระบวนการแห่งกรรมนิยามนั้นส่งผลต่อจิตนิยาม กระบวนการทำงานตามเหตุปัจจัยที่ไม่อาจใช้ความอยาก หรือไม่อยากอะไรให้จิตทำงานได้เลย มีแต่การสร้างเหตุและปัจจัยเท่านั้นที่สามารถทำได้ ถ้าเหตุปัจจัยถูกต้อง จิตนิยามก็ทำงานไปตามนั้น เพราะการค้นพบกระบวนการแห่งเหตุและปัจจัยอย่างนี้นั่นเอง พระพุทธเจ้าจึงได้ประกาศธรรม และให้ความสำคัญไปที่อนุสาสนีปาฏิหาริย์ เพราะสามารถทำให้จิตปุถุชนพัฒนาเข้าถึงจิตอริยชนได้ด้วยกระบวนการแห่งรู้และสร้างเหตุและปัจจัยนี้
คำถามว่า ขันธ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบ ขันธ์เกิดขึ้นเพราะกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทสายเกิด กระบวนการนี้เป็นเหตุและปัจจัยสัมพันธ์กันและกันระหว่าง จิต เจตสิก รูป หรือ มองอีกมิติหนึ่ง เป็นกระบวนการแห่งจิตนิยาม กรรมนิยาม และพีชนิยาม ก็ได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอุปนิสสูตรว่า  “อิติ รูปํ  อิติ รูปสฺส สมุทโย อิติ รูปสฺส อตฺถงฺคโม...” (สํ.นิ.๑๖/๖๘/๓๐) รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูปเป็นอย่างนี้...เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้
อะไรคือ คือรูปถ้าเราตอบตามคัมภีร์ ก็คือ มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๒๔ รวมเป็นรูป ๒๘ แต่ในที่นี้ต้องการตอบให้เห็นเป็นกระบวนการของเหตุปัจจัย ก็คือ กองทุกข์กองหนึ่งในบรรดาขันธ์ทั้ง ๕ กองทุกข์นี้มีเหตุและปัจจัยก็คือ อวิชชา เป็นหัวกระบวน เหตุเกิดของรูปหรือกองทุกข์นี้ก็คือ สมุทัย อันได้แก่ ตัณหาและอุปาทานเป็นกระบวนการแห่งทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในธรรมจักกัปปวัตตนสูตรว่า อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ยายํ ตณฺหา โปโนพภวิกา นนฺทิราคสหคตา ตตฺระ ตตฺราภินนฺทินี เสยยถีทํ กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา (วิ.ม.๔/๑๔/๑๕) ก็ทุกขสมุทยอริยสัจนี้แล คือ ตัณหาอันทำให้มีภพใหม่ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความเพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา”
ส่วนความดับแห่งรูปในมิติความทุกข์นั้นทำอย่างไร ในที่นี้จะแสดงความดับแห่งรูปตามนัยแห่งอุปนิสสูตรที่พระพุทธเจ้าได้แสดงความเป็นกระบวนธรรมไว้ชัดเจน ถ้าจะกล่าวว่า นี่คือกระบวนธรรมแห่งเหตุและปัจจัยที่สมบูรณ์ที่สุดก็ว่าได้ กระบวนธรรมแห่งปฏิจจสมุปบาทจากอวิชชาจนถึงทุกข์ เป็นปัจจยการ ๑๒ นั้น เป็นที่ทราบดีสำหรับนักการปฏิบัติและนักการศึกษาพระพุทธศาสนาโดยทั่วไปแล้ว แต่กระบวนการแห่งความทุกข์ไปจนถึงขยญาณนั้นเป็นอย่างไร น้อยคนที่จะได้ทราบถึงกระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัยนี้
“ทุกฺขูปนิสา สทฺธา สทธูปนิส ปามุชฺช ปามุชฺชูปนิสา ปติ ปตูปนิสา ปสฺสทฺธิ ปสฺสทฺธูปนิส สุข สุขูปนิโส สมาธิ สมาธูปนิส ยถาภูตาณทสฺสน ยถาภูตาณทสฺสนูปนิสา นิพฺพิทา นิพฺพิทูปนิโส วิราโค วิราคูปนิสา       วิมุตฺติ วิมุตฺตูปนิส ขเย าณ” (สํ.นิ.๑๖/๖๙/๓๐) ศรัทธามีทุกข์เป็นที่อิงอาศัย ความปราโมทย์มีศรัทธาเป็นที่อิงอาศัย ปีติมีปราโมทย์เป็นที่อิงอาศัย ปัสสัทธิมีปีติเป็นที่อิงอาศัย สุขมีปัสสัทธิเป็นที่อิงอาศัย สมาธิมีสุขเป็นที่อิงอาศัย ยถาภูตญาณทัสสนะมีสมาธิเป็นที่อิงอาศัย นิพพิทามียถาภูตญาณทัสสนะเป็นที่อิงอาศัย วิราคะมีนิพพิทาเป็นที่อิงอาศัย วิมุตติมีวิราคะเป็นที่อิงอาศัย ญาณในธรรมเป็นที่สิ้นไปมีวิมุตติเป็นที่อิงอาศัย
          นี่คือกระบวนแห่งเหตุปัจจัยที่อิงอาศัยกันและกันทำให้รูปดับไป เป็นกระบวนการสร้างเหตุปัจจัยของกรรมนิยามส่งผลต่อจิตนิยามจนเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นเอง มาตรวจสอบว่า อาศัยอะไรจึงนำไปสู่ความดับแห่งขันธ์ทั้งมวลได้ เริ่มที่ศรัทธาที่มีทุกข์เป็นที่อาศัย เมื่อศรัทธา คือ ความเชื่อมั่น ความรู้ ความเข้าใจต่อทุกข์แห่งขันธ์อันเป็นปริญเญยยธรรม คือการกำหนดรู้ทุกข์ว่า เป็นเพียงเหตุและปัจจัยที่อาศัยกันเกิดดับอันมีเวทนาขันธ์เป็นตัวทำหน้าที่ ย่อมเกิดความบันเทิงใจ ความซาบซ่าน ความสุข ความตั้งมั่น เกิดความเห็นแจ้งตามความเป็นจริงในกระบวนที่ผ่านมา จึงเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้น และรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะ
          กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนี้เกิดจากการสร้างขึ้นของพระโยคาวจรจนมีผลต่อจิตนิยาม กล่าวคือกระบวนการ หรือกฎของจิต จิตเมื่อถึงระดับที่มีความสะอาดจนมีพลัง ย่อมนำไปสู่เหตุปัจจัยแห่งยถาภูตญาณทัศนะ ซึ่งเป็นตัวปัญญาขยายผลไปสู่การปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในรูปและนาม เห็นแต่กระบวนการทำงานเกิดดับของขันธ์ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป จนถึงนิพพาน คือ ความว่างและความปล่อยวาง กระบวนการแห่งเหตุและปัจจัยนี้เป็นสายดับอวิชชา เมื่อพิจารณาด้วยกระบวนการที่ตรงกันข้ามกันย่อมเห็นเป็นกระบวนการดังนี้ “สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นที่อิงอาศัย วิญญาณมีสังขารเป็นที่อิงอาศัย นามรูปมีวิญญาณเป็นที่อิงอาศัย ผัสสะมีสฬายตนะเป็นที่อิงอาศัย เวทนามีผัสสะเป็นที่อิงอาศัย ตัณหามีเวทนาเป็นที่อิงอาศัย อุปาทานมีตัณหาเป็นที่อิงอาศัย ภพมีอุปาทานเป็นที่อิงอาศัย ชาติมีภพเป็นที่อิงอาศัย ทุกข์มีชาติเป็นที่อิงอาศัย”
          ญาณปัญญาตรงนี้เรียกว่า อาสวักขยญาณ ก็คือ ญาณที่เข้าไปเห็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นส่งทอดกันอย่างนี้ทั้งสายเกิดและสายดับ เห็นตัวปัญหาและตัวปัญญา และเห็นกลไกลที่ทำให้เกิดปัญหาและปัญญา ตัวปัญหาอยู่ที่อวิชชา ตัวปัญญาอยู่ที่ขยญาณ กลไกแห่งปัญหาอยู่ที่ตัณหา กลไกแห่งปัญญาอยู่ที่ยถาภูตญาณทัศนะ กระบวนที่ทำให้เกิดปัญหา คือ เวทนา กระบวนการที่ทำให้เกิดปัญญาคือ สมาธิ ผู้คนในโลกล้วนสร้างเหตุปัจจัยในสายเกิดอย่างไม่รู้ตัว และปล่อยตามการทำงานของขันธ์อย่างไม่รู้ตัว พระโยคาวจรทั้งหลายพยายามสร้างเหตุปัจจัยสายดับให้เกิดขึ้นอย่างนี้  (๑๔/๑/๒๕๖๑)


จบอุปนิสณาณปกาสินี

วันอังคารที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2561



๙. ขันธญาณปกาสินี

กองขันธ์พลันมี ณ ที่ไหน
อาศัยเชื้ออะไรจึงไม่ดับ
หมดสิ้นสิ่งไหนจึงหายลับ
ญาณจับจึงรู้เชื้ออยู่นี่
เพราะมีอวิชชาเป็นอาหาร
ไหลสู่ท่อธารความทุกขี
วนเวียนเก่าใหม่อยู่ในที
ฉะนี้เสมอกันเทพสัตว์คน
อาศัยวิราคะอวิชชาดับ
สายโยงร่วงลับมากับผล
กองทุกข์สลายไปจากตน
หลุดพ้นเพราะเพียรไม่เปลี่ยนใจ
สัจธรรมล้ำค่าบนผืนโลก
คือทางสิ้นโศกนำทุกข์ใส่
แจ่มแจ้งขันธญาณะนัย
ฝากไว้แด่ชนฝึกฝนเทอญ

         
          ทศพลญาณและเวสรัชชญาณของพระพุทธเจ้า เป็นญาณปัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มนุษย์ผู้หนึ่งจะพึงมีได้ เป็นญาณที่ทะลุปรุโปร่งในขันธ์แต่ละขันธ์อย่างไม่มีอะไรติดค้างหลงเหลือ ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ของผู้ใดภายใต้ไตรภูมิ เพราะทุกขันธ์ต่างก็ตกอยู่ภายใต้การอาศัยกันเกิด อาศัยกันดับ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นเพราะอะไร ดับไปเพราะอะไร พรหมจักรญาณของพระพุทธเจ้าแทงตลอดขันธ์เหล่านั้น
คำว่า “อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ, อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปชฺชติ. อิมสฺมึ อสติ, อิทํ น โหติ, อิมสฺส นิโรธา, อิทํ นิรุชฺฌติ.” (สํ.นิ. ๑๖/๖๔/๒๘) คำเพียง ๘ คำนี้ คือ “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป” เป็นมัชเฌนธรรมที่สมบูรณ์ที่สุดในใต้หล้าอันจะหาหลักการใดเสมอเหมือนจะพึงมี ทศพลญาณนี้เห็นแจ้งมัชเฌนธรรรมในขันธ์ ได้ช่วยปลดปล่อยสรรพสัตว์ให้มีทางออกจากวัฏฏะ
ถามว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ก็อะไรคือสิ่งนี้มี”
ตอบว่า “ก็เพราะอวิชชามี สังขารจึงมี”
ถามว่า “เพราะอะไรเกิด สิ่งนี้จึงเกิด
ตอบว่า “เพราะสังขารเกิด วิญญาณจึงเกิด”
ถามว่า “เมื่อไม่มีอะไร จึงไม่มีอะไร”
ตอบว่า “เมื่อไม่มีวิญญาณ นามรูปจึงไม่มี”
ถามว่า “เพราะอะไรดับไป จึงทำให้อะไรดับไปด้วย”
ตอบว่า “เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับไปด้วย...”
สายหนึ่งเป็นสายเกิด เป็นสายทางที่นำไปสู่ทุกข์ ส่วนอีกสายหนึ่งเป็นสายที่นำไปสู่ความสิ้นทุกข์
เพียงแค่พระดำรัส ๘ ประโยค สั้น ๆ ง่าย ๆ ประกอบกับลำดับปัจจการ ๑๒ ที่แฝงอยู่ภายในขันธ์นี้ พระองค์ตรัสว่า “ธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้ว เป็นธรรมเข้าใจง่าย เปิดเผย ประกาศไว้แล้ว เป็นดุจผืนผ้าเก่า...” (สํ.นิ.๑๖/๖๖/๒๙) ข้อความนี้นั้นสื่อสะท้อนอะไร สื่อสะท้อนให้เห็นว่า ถ้อยคำที่ง่าย ชัดเจนเช่นนี้ เป็นเหมือนกับเรื่องที่เราท่านทั้งหลายเห็นกันอยู่แล้ว แต่ไม่ทราบว่า ขันธ์นี้เกิดดับอย่างไร หรือ เมื่อทราบความเกิดดับอย่างนี้แล้ว จะทำอย่างไรต่อ เป็นเหมือนเราท่านเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและตกกันเป็นประจำ แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจถึงการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ที่ถูกต้อง หรือแม้กระทั่งนักดาราศาสตร์ที่เข้าใจการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์แล้ว แต่จะทำไงต่อไปกับการหมุนไปของโลกและดวงอาทิตย์ได้ ก็เพียงเข้าใจและปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น ดุจดังนักศึกษาพระพุทธศาสนาที่พอจะเข้าใจการเกิดดับของขันธ์ รู้ลำดับของปัจจยการ แต่จะทำยังไงได้ ก็คงตกอยู่ภายใต้คำว่า “รู้หมด อดไม่ได้”
เมื่อทราบถึงหลักการแห่งมัชเฌนธรรม คือ ขันธ์นี้อาศัยเหตุและปัจจัยเกิดดับ เข้าใจกระบวนธรรมเหล่านี้แล้ว จะต้องปรับตนให้เข้าสู่มัชฌิมาปฏิปทา คือ การปฏิบัติสายกลาง เพื่อให้การปฏิบัติของตนสอดคล้องกับหลักการ การปฏิบัติตามหลักทางสายกลางนั้นต้องอาศัยพลังความเพียรขั้นสูง ต้องมีมหาปณิธานอันยิ่งใหญ่ว่า “เนื้อและเลือดในร่างกายจะเหือดแห้งไป จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตามที ผลใดพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ (ปุริสถาเมน) ด้วยความเพียรของบุรุษ (ปุริสวิริเยน) ด้วยความบากบั่นของบุรุษ (ปุริสปรกฺกเมน) (ถ้า) ไม่บรรลุผลนั้น ก็จักไม่หยุดความเพียรของบุรุษ” เพราะถ้าหากไม่มีความตั้งใจสูง ก็ไม่อาจข้ามพ้นพลังผลักดันของสัญชาตญาณไปได้
อะไรคือ พลังสัญชาตญาณของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ได้แก่ “อาหารนิทฺทา ภยเมถุนญฺจ สามญฺเมตปฺปสุภี นรานํ” กล่าวคือ “อาหาร นอนหลับ กลัวภัย และสืบพันธุ์เป็นสามัญของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย”  สัญชาตญาณทั้ง ๔ ประการนี้เป็นพลังผลักดันที่มีอำนาจมาก สรรพสัตว์ทั้งหลายต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของพลังสัญชาตญาณนี้จนหมดสิ้น ที่เลวร้ายถึงกับ “แย่งอาหารกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันพิศวาส แย่งอำนาจกันครอง” ที่ไม่เลวร้ายก็ต้องถูกอาหารบีบคั้นมนุษย์ให้แสวงหามาทานให้ได้ ไม่เพียงเฉพาะอาหารคือคำข้าวเท่านั้น แต่รวมหมายเอาอาหารทั้ง ๔ ด้วย
          เมื่อใดที่ถูกความหิวกระหายบีบคั้น เมื่อนั้นจึงจะรู้ว่า พลังแห่งอาหารนั้นรุนแรงเพียงไหน นั่นยังเพียงแค่อาหารที่เป็นขาทนียะ โภชนียะ เท่านั้น ขยับเข้ามาสู่ผัสสาหารบ้าง เพียงแค่อยู่ห่างโทรศัพท์ก็รู้สึกไม่มั่นใจในชีวิตแล้ว ไปไหนไม่ได้ เมื่อจักขวาหาร โสตาหาร ไม่ได้เสพ จะเกิดอาการกระสับกระส่าย ทำอะไรไม่ถูก ยิ่งปัจจุบัน มือถือเป็นกล่องอาหารชั้นเยี่ยม นี่คือสารเสพติดของมนุษย์ยุคปัจจุบัน การจะออกห่างจากกล่องอาหารเสพติดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายของมนุษย์ ไม่ต้องพูดถึงมโนสัญเจตนาหารและวิญญาณาหาร ที่ละเอียดอ่อนมาก มนุษย์เสพเข้าไปโดยไม่รู้ตัว และเป็นพลังผลักดันที่แฝงอำนาจอยู่ภายในที่ไม่อาจต้านทาน
ข้อควรตระหนักอย่างยิ่งมีว่า “น ภิกฺขเว หีเนน อคฺคสฺส ปตฺติ โหติ, อคฺเคน จ อคฺคสฺส ปตฺติ โหติ.” ประโยคนี้มีความสำคัญอย่างมากทีเดียว “การบรรลุธรรมที่เลิศ ด้วยธรรมอันเลว หามีไม่ การบรรลุธรรมที่เลิศ ด้วยธรรมที่เลิศ จึงมีได้” เปรียบเหมือน การล้างสิ่งสกปรกด้วยน้ำสกปรก หามีไม่ แต่การล้างสิ่งสกปรกด้วยน้ำสะอาด จึงมีได้ การตำหนิผู้อื่น เพื่อให้ตนดี การทำร้ายผู้อื่น เพื่อให้ตนรอด การได้ของคนอื่นมา ให้ตนมั่งมี ไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง การปฏิบัติทางสายกลางในพระพุทธศาสนานั้นเป็นน้ำสะอาด ยิ่งฟอก ยิ่งล้าง ยิ่งชำระ ความหมดจดแห่งจิต ความสะอาดแห่งจิตก็มีมากขึ้น มลทินแห่งขันธ์ก็ลดน้อยลง ย่อมถึงธรรมที่ยังไม่ถึงถึง บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ ทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่แจ้ง ทางสายกลางเป็นธรรมที่เลิศ เป็นธรรมที่นำไปสู่การบรรลุธรรมที่เลิศได้
ทางสายกลางปฏิบัติอย่างไร ก็ปฏิบัติให้เป็นธรรมสมังคีกับขันธ์ กล่าวคือ การมีสติ สัมปชัญญะ ความเพียรเครื่องเผากิเลส (อาตาปะ) เห็นขันธ์ทำงานสัมพันธ์กันและกัน รู้ทันขันธ์ที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง เห็นจิตคือวิญญาณทำงานร่วมกันกับเจตสิก คือ เวทนา สัญญา สังขาร แสดงอาการผ่านไปสู่รูป ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเคลื่อนไหวอวัยวะ กำกับดูแลให้เกิดความไม่หวั่นไหวไปกับเจตสิก  จนเกิดเป็นอุเบกขาธรรม เป็นศูนยตธรรม เป็นอนัตตธรรม ดังนั้น กระบวนธรรมแห่งจิต เจตสิก รูป และนิพพาน (ว่าง-ดับ) จึงเกิดขึ้นกับขันธ์นี้นั่นเอง โดยอาศัยความเพียร
ข้อสำคัญในขณะที่เวทนาเกิดขึ้นเชื้อแห่งเวทนาโดยเส้นทางจะนำไปสู่ตัณหา ถ้าหากเป็นความสุข  ก็อยากได้ อยากมี อยากเป็น ถ้าเป็นความทุกก็ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เส้นทางสายเกิดก็ปรากฏขึ้น โดยอัตโนมัติตามเหตุปัจจัยที่อาศัยกันและกันเกิดอย่างนี้ มัชฌิมาปฏิปทาอยู่ตรงนี้ ในขณะที่เวทนาเกิด ก็เห็นเวทนานั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวใช่ตนของเรา มีแต่การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา เวทนาก็เป็นสักว่า เวทนา สัญญา ก็เป็นสักว่า สัญญา สังขารก็เป็นสักว่า สังขาร มีสติ สัมปชัญญะ และความเพียรเห็นอยู่ นี่คือกระบวนการสายดับปรากฏ เป็นทางที่นำไปสู่ความสิ้นทุกข์ ไม่มีอะไรยืนโรงในขันธ์ เป็นแต่กระบวนธรรมล้วน ๆ ที่ทำงานสัมผัสสัมพันธ์จนไม่เหลือช่องว่างให้สรรพสัตว์ได้สังเกตเห็น จึงเข้าใจกันว่า มีบุคคล หรือมีผู้ มีอัตตา แฝงอยู่ในขันธ์ ทำให้ขันธ์เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ได้ตามเจตจำนงของ “ผู้” ที่ซ่อนอยู่ภายในขันธ์นั้น
ความรู้แจ้งในขันธ์เช่นนี้ เรียกว่า ขันธญาณ เป็นทั้งหมดของทสพลญาณ กล่าวคือ รู้ความตื้นลึก หนาบาง ฐานะและมิใช่ฐานะของขันธ์ รู้ถึงการทำงานและผลของการทำงานของขันธ์ รู้ความสิ้นสุดของขันธ์ รู้ต้นราก เหตุปัจจัยของขันธ์ รู้ความเป็นใหญ่ของแต่ละขันธ์ที่ทำงาน รู้ความสั่นไหวของขันธ์ รู้ความเป็นอดีตของขันธ์ รู้ความเป็นอนาคตของขันธ์ รู้ความหลุดพ้นจากอำนาจขันธ์ เพราะการรู้แจ้งขันธ์อย่างนี้ เรียกว่า ขันธญาณปกาสินี จงมีความเพียร บำเพ็ญตนเพื่อรู้ทันขันธ์เถิด เมื่อนั้นความสิ้นไปแห่งทุกข์อย่างสมบูรณ์จึงมีขึ้นได้

         


จบขันธญาณปกาสินี