วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

โศลกที่ ๓๖ ชีวิตคือความฝัน

โศลกที่ ๓๖ ชีวิตคือความฝัน


มีสติอยู่ในกระบวนการปฏิบัติ
ปฏิเวธเข้าถึงจุดหมายแล้ว
ทั้งปฏิบัติและปฏิเวธ
ล้วนเป็นประสบการณ์ทั้งสิ้น
พ้นวิสัยคิดคาดคะเนเอาได้
ประสบการณ์ไม่ใช่ความคิด
ความคิดอาศัยอดีตและอนาคต
ไหนเลยเป็นประสบการณ์จริงได้
ความคิดอยู่ไม่ได้ในปัจจุบัน

สติในการปฏิบัติเป็นปัจจุบัน
ปัจจุบันขณะไม่มีในกาลเวลา



ในพระพุทธศาสนาแสดงหลักสัทธรรมเอาไว้ ๓ ประการ ได้แก่ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ หลัก ๓ ประการนี้เป็นแนวทางในการเจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรสมณธรรม เป็นหลักในการฝึกฝนตนเองให้เข้าถึงความหลุดพ้นจากวัฏฏะ ปริยัติในที่นี้ก็คือ การเรียนรู้วิธีการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางแห่งอานาปานสติ แนวทางแห่งสติปัฏฐาน แนวทางแห่งตจปัญจกกัมมัฏฐาน แต่เมื่อว่าโดยรวมแล้วไม่ว่าแนวไหนก็ตาม พอเข้าถึงขั้นตอนที่ ๒ แล้วก็เข้าสู่กระบวนการเดียวกันทั้งสิ้น นั่นคือ กระบวนการขั้นปฏิบัติ กระบวนการขั้นนี้เป็นกระบวนการที่ไม่เหลือพื้นที่ให้ความคิดได้ทำงานอีกต่อไป เพราะเป็นขั้นของการมีสติอยู่กับเครื่องมือที่ได้ศึกษามานั่นเอง

การปฏิบัติเปรียบเหมือนการได้เคี้ยวอาหารอยู่ในปาก เคี้ยวให้ละเอียด รู้สึกถึงรสอาหารที่เคี้ยวอยู่ ไม่ว่าจิตจะปรุงแต่งไปอย่างไร แต่ความจริงก็คือ การเคี้ยวอาหารอยู่อย่างนั้น จิตที่ปรุงแต่งให้อาหารเลิศรสอย่างไรก็ไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น รังแต่จะทำให้การทานอาหารเป็นแต่เพียงทานในความฝัน เพราะการฝันก็เป็นกระบวนการคิดอย่างหนึ่งของจิตที่อยู่ภายใน ดังนั้น ผู้บำเพ็ญเพียรสมณธรรมทั้งหลายจึงพิจารณาคำข้าวที่เคี้ยวอยู่นั้น เพื่อให้เป็นการทานอาหารที่แท้จริง ไม่ใช่ทานแต่ในเพียงความฝัน ถึงแม้จะเป็นการทานจริงก็เถอะ แต่ถ้าไม่มีสติในการทานอาหาร การทานนั้นก็เป็นแต่เพียงการทานในความฝันเท่านั้น การเคี้ยวอาหาร การรับทราบรสอาหาร จนกระทั่งการกลืนลงคอไป อาหารได้รับการย่อยสลายกลายเป็นสารอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตกายนี้อย่างไร การปฏิบัติบำเพ็ญเพียรสมณธรรมเจริญภาวนาก็เป็นอย่างนั้น เป็นขั้นของประสบการณ์ เป็นขั้นของการรู้เคี้ยว รู้รส รู้กลืน ไม่หลงเหลือให้จิตได้คิดอะไรกับกระบวนการเหล่านี้เลย หากว่า คิดในสิ่งที่เคี้ยวอยู่ในปากนั้น ก็เท่ากับว่า การทานอาหารนั้นเป็นการทานในความฝันเท่านั้น เนื่องจากผู้เคี้ยวไม่ได้ทราบว่าตนเองทำอะไรลงไป การเคี้ยวเป็นแต่การเคี้ยวในความฝัน ฝันว่าได้เคี้ยว ฝันว่าได้ทาน ฝันว่าอร่อย นั่นไม่ใช่การทานอาหารที่แท้จริง แม้แต่จะเป็นการทานอาหารจริงๆ ก็ตาม ก็ฝันที่มีอยู่นั้นก็เป็นจริง ก็เพราะเป็นฝันของผู้ฝันนั่นแหละ ใครจะปฏิเสธว่าฝันไม่มีอยู่จริง ก็จิตที่คิดไปก็เป็นความฝันแล้ว ด้วยเหตุนี้โลกนี้ทั้งโลกจึงมีแต่คนหลับฝันอยู่เท่านั้น จะมีสักกี่คนที่ตื่นจากฝันนั้นขึ้นมา

ประสบการณ์เฉพาะตนที่เกิดจากการปฏิบัตินั้น การมีสติอยู่กับกระบวนการปฏิบัตินั้นเท่านั้นจึงเรียกว่า ประสบการณ์ จึงเรียกว่า “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ” ผู้ปฏิบัติย่อมรู้แจ้งเห็นจริงได้เฉพาะตน ประสบการณ์ที่ใครต่อใครพูดกันว่า “มีประสบการณ์มากี่ปี มีประสบการณ์ชีวิต” นั่นล้วนแต่เป็นความฝันที่เคยฝันไปเท่านั้น ไหนเลยเรียกว่า “ประสบการณ์ได้” เพราะประสบการณ์นั้นไม่มีในความคิด ไม่ใช่สิ่งที่คาดคะเน ไม่ใช่สิ่งหลับฝันไปแล้วบอกว่า เป็นประสบการณ์ ประสบการณ์ในฝันไม่ใช่ประสบการณ์จริง แม้ว่าจะฝันจริงๆ แม้ว่า จะเคยทำสิ่งนั้นจริงๆ แม้ว่าจะมีอายุผ่านร้อนหนาว หลายกาลฝนมาแล้วนานนับหกสิบปี หรือจะมากกว่านั้นก็ตาม ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นผู้มีประสบการณ์อะไรเลย จะกล่าวได้แต่เพียงว่า “เป็นประสบการณ์ฝันมาแล้วหกสิบปี” ก็พอกล่าวได้

โศลกว่า “ทั้งปฏิบัติและปฏิเวธ ล้วนเป็นประสบการณ์ทั้งสิ้น” ประสบการณ์เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติ มีแต่ผู้ตื่นแล้วเท่านั้นจึงจะเรียกว่า “มีประสบการณ์” คำๆ นี้ถูกนำมาใช้ในภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษว่า “Experience” ในความหมายว่า เคยเจออะไรมา เคยทำอะไรมา เคยมาแล้วนานเท่านั้นปี เท่านี้เดือน ก็เรียกผู้เคยผ่านสิ่งเหล่านั้นมาว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ ควรจะกล่าวว่า ฝันว่าเคยได้ทำในเรื่องนั้นๆ มานานเท่าใดมากกว่า ฝันเสียจนเข้าใจว่า สิ่งที่ตนเองฝันไปนั่นแหละเป็นจริง จากนั้นก็นำความฝันมาเล่าให้กันและกันฟังว่าเคยทำสิ่งนั้นสิ่งนี้มา แล้วก็นำความฝันมาเทียบกันว่า ฉันฝันนานกว่า เพราะมีประสบการณ์ฝันนับสิบปี

ประสบการณ์เป็นขั้นของการปฏิบัติ การปฏิบัติเป็นเรื่องของผู้ตื่นอยู่เท่านั้น ผู้ตื่นอยู่คือ ผู้มีสติเท่านั้น คำว่า “ผู้ตื่น” ไม่ได้หมายถึง ผู้ที่นอนตื่นตอนเช้า นอนหลับตอนค่ำ แต่หมายถึง ผู้ตื่นจากความฝันที่เป็นกันอยู่เท่านั้น ตื่นจากการถูกความคิดปรุงแต่ง ผู้ที่ตื่นอยู่คือผู้ที่อยู่ในระดับของการเข้าถึงความว่าง พ้นจากระดับกายภาพ พ้นจากระดับจิตภาพ พ้นจากระดับของอารมณ์ แต่เข้าถึงระดับของความเป็นจริงที่แท้เท่านั้นจึงจะชื่อว่า “ตื่นอยู่”

โศลกว่า “ความคิดอยู่ไม่ได้ในปัจจุบัน สติในการปฏิบัติเป็นปัจจุบัน” พึงศึกษาพระพุทธศาสนาเสียใหม่ การศึกษาพระพุทธศาสนาที่เป็นมานานแล้วหยุดอยู่แค่การรู้ระดับได้ยิน ได้เห็น ได้ฟัง (สุตะ) เสียส่วนมาก นี่เป็นความรู้ในระดับกายภาพ เป็นเพียงข้อมูลในระดับปรากฏการณ์ สิ่งที่ปรากฏให้เห็น ได้ยิน ได้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเอกสาร ตำรับ ตำรา เทศนา บรรยายธรรม ไม่ได้มีอะไรมากมาย เป็นแต่คนที่ฝันมาเล่าความฝันให้คนที่กำลังฝันได้ฟังเท่านั้น เป็นผู้เล่าความฝันได้อย่างน่าฟังเท่านั้น ผู้ฟังก็เคลิบเคลิ้ม ผู้เล่าก็ภูมิใจที่เล่าความฝันได้อย่างไม่ติดขัด ไม่ได้ทำให้อะไรเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ทำให้ตื่นขึ้น ยิ่งกล่อมทำให้ผู้ฟังหลับลึกลงไปมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

จะดีขึ้นบ้างก็ผู้รู้จักคิด ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง จนเกิดเป็นความรู้ขึ้นมาเพิ่มเติมจากข้อมูลที่ได้รับ (จินตะ) พระพุทธศาสนาในระดับนี้เป็นระดับจินตภาพ ก็เป็นเพียงการจมอยู่กับความคิด เป็นความฝันที่ชัดเจนขึ้น เพราะฝันเป็นจริงเป็นจัง ฝันจนรู้วิธีการในฝันได้ นักปรัชญาเมธีทั้งหลาย นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายก็อาศัยความฝันระดับนี้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาให้โลกได้ชื่นชม บ่งบอกถึงความเป็นผู้ฉลาด สามารถ เป็นแต่ผู้ที่ใช้ความฝันให้เป็นประโยชน์สำหรับคนที่ฝันเท่านั้นเอง การศึกษาพระพุทธศาสนาระดับนี้ก็ไม่ใช่การศึกษาของพระพุทธศาสนา เพราะการศึกษาอย่างนี้เขาทำกันมานานแล้ว ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการใช้จิตตาภินิหารแสดงให้ผู้คนทั้งหลายได้ชมเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงภายใน มีนวัตกรรมเกิดขึ้นประดับโลกเพิ่มเติม ยังเป็นเรื่องของผู้หลับอยู่นั่นเอง

การศึกษาพระพุทธศาสนานั้นมีเพื่อให้สติดำรงอยู่ทุกขณะ อาการกิริยา มีเพื่อฝึกสติให้มากขึ้นที่เรียกว่า ระดับภาวนา ภาวนาแปลว่า เจริญ กระทำให้มาก กล่าวคือ การทำสติให้มาก หลักธรรมทั้งหลายที่มีอยู่นั้นสรุปลงที่สติเท่านั้น การมีสติคือจุดหมายปลายทางของการศึกษาในพระพุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้น เรื่องอื่น สิ่งอื่นนั้นเป็นเพียงอุปกรณ์ให้ปฏิบัติเพื่อให้มีสติเท่านั้น พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการปลุกให้ทุกคนตื่นจากการหลับใหล ด้วยเหตุนี้ คำว่า “พุทธะ” คือ “ผู้ตื่น” พระอริยะทั้งหลายคือผู้ตื่นแล้ว พระอริยะทั้งหลายคือผู้มีสติ ผู้มีสติคือผู้อยู่ในปัจจุบัน ผู้อยู่ในปัจจุบันจะไม่มีอัตตาใดหลงเหลืออยู่ เพราะปัจจุบันขณะนั้นคือ ความว่าง ความว่างเป็นปัจจุบันขณะ ปัจจุบันนั้นไม่มีกาลเวลา ผู้อยู่ในปัจจุบันขณะ คือผู้มีสติอยู่ ผู้มีสติอยู่จะไม่มีอัตตาดำรงอยู่ ผู้ไม่มีอัตตาอยู่มัจจุราชจะเห็นได้อย่างไรเล่า

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน นิพเพธิกสูตร พระสูตรว่าด้วยเรื่องของการสลายกิเลสไว้ตอนหนึ่งว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรม เราอาศัยอะไรกล่าว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ

ก็เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉน คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม

ก็ความต่างแห่งกรรมเป็นไฉน คือ กรรมที่ให้วิบากในนรกก็มี ที่ให้วิบากในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี ที่ให้วิบากในเปรตวิสัยก็มี ที่ให้วิบากในมนุษย์โลกก็มี ที่ให้วิบากในเทวโลกก็มี

ก็วิบากแห่งกรรมเป็นไฉน คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน กรรมที่ให้ผลในภพที่เกิด กรรมที่ให้ผลในภพต่อๆ ไป

ความดับแห่งกรรมเป็นไฉน คือ ความดับแห่งกรรมย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งผัสสะ

อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใด อริยสาวกย่อมทราบชัดกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรมอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งความชำแรกกิเลส เป็นที่ดับกรรมนี้”

จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนานั้นไม่ได้สอนสิ่งอื่นใดที่จะทำให้เข้าใจเรื่องข้อมูล ความคิด หรือความรู้สึกใดๆ แต่มุ่งเน้นให้ปฏิบัติในอริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น ก็อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นความสมบูรณ์พร้อมแห่งทางปฏิบัติที่จะทำให้มีสติอยู่ เป็นการอยู่ในปัจจุบัน เป็นการพ้นจากกรรม คือ ความคิดได้ ขออย่าได้นำอริยมรรคมีองค์ ๘ ไปอธิบายหรือบรรยายให้อยู่ในระดับข้อมูลความรู้ หรือความคิดเด็ดขาด เพื่อเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ยังไม่พ้นจากกรรม อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นทางปฏิบัติให้พ้นจากกรรม เมื่อพ้นจากกรรม คือ ความคิดได้ ก็ชื่อว่า “ตื่นแล้ว” ไม่ใช่ผู้หลับฝันอีกต่อไป

นี่คือ โศลกที่สามสิบหกแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา