วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555



โศลกที่ ๓๓ "แมลงภู่และภูเขา"






ปรากฏการณ์ทางจิต
ขณะที่มีความสงบเย็น
ลมหายใจยังคงออกเข้าเบาบาง
ใจได้ล่องลอยหายไปกับแมลงภู่
ปีติใหญ่ปรากฏพรั่งพรูท่วมทับ
ลมหายใจกลับคืนสู่ปกติอีกครั้ง
ผ่านกาลไปด้วยลมหายใจสงบเย็น
ปรากฏภูเขาใหญ่ในจิตนิมิตอีก
ภูเขากลายเป็นขาทั้งสองข้าง
ลูกหนึ่งเป็นลำตัวยึดโยงชนกัน
เกิดภาวะกดทับแทบจะระเบิดออก
ใช้สติพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป
มายาจิตภาพก็สูญสลาย




ผู้ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนาย่อมต้องเจอภาวะหนึ่งที่เรียกว่า อาการทางจิต หรือปรากฏการณ์ทางจิตไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งแล้วแต่ฐานจิตของแต่ละคน จะมากจะน้อย จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ปรากฏการณ์นั้นย่อมเกิด เพราะนี่เป็นกระบวนการทางจิต ดุจดังการย่อยอาหารต้องเกิดขึ้นเมื่อมีการทานอาหารเข้าไป บางคนเกิดมากจนถึงขั้นสั่นไปทั้งตัว บางคนเกิดน้อยเพียงแค่ขนลุกชูชัน บางคนน้ำตาไหลพราก บางคนเพียงแค่กระตุกนิดหนึ่ง บางคนก็น้ำตาขังบ่อ บางคนซาบซ่านไปทั่วทั้งตัว บางคนตัวเบาคล้ายจะลอยขึ้น ซึ่งก็แล้วแต่ประสบการณ์ของใคร ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร ไม่ต้องตื่นเต้น ตื่นกลัว มุ่งหวังให้เกิด หรือไม่ต้องการให้เกิด ภาษาที่เรียกกันในการปฏิบัติธรรมก็คือ อาการของปีติ ในพระพุทธศาสนาได้แสดงอาการของปีติไว้ ๕ ประการ


๑) อาการขนลุกชัน หรือน้ำตาไหล เรียกว่า ขุททกาปีติ คือปีติเกิดเล็กน้อย
๒) อาการเสียวแปล๊บปล๊าบ รู้สึกเหมือนไฟฟ้าในตัวช๊อต เรียกว่า ขณิกาปีติ คือปีติเกิดเพียงชั่วขณะ
๓) อาการสั่นไหวไปทั้งตัว เกิดเป็นระยะแต่ต่อเนื่อง มีลักษณะเหมือนระลอกคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง เรียกว่า โอกกันติกาปีติ คือปีติท่วมทับซู่ซ่าเป็นระยะ ๆ
๔) อาการตัวลอย โลดลอย ร่างกายเบาเหมือนล่องลอยไปได้ การหลุดปากอุทาน เรียกว่า อุพเพงคาปีติ คือปีติที่ทำให้ตัวลอย
๕) อาการที่ทั่วร่างเกิดความซาบซ่าน เอิบอาบ เบ่งบาน ยิ้มละไม เอิบอิ่มเปี่ยมไปทั่วร่าง เรียกว่าผรณาปีติ คือปีติที่ทำให้เอิบอิ่มแผ่ซ่าน

อาการเหล่านี้เป็นปกติของนักปฏิบัติธรรม แม้บางคนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ทันสังเกต แต่สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่จะไปหวังให้เกิดหรือไม่ให้เกิด เป็นอาการทางจิตที่พอมีความสงบแล้วก็จะเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นก็เท่านั้น เพียงแต่เข้าใจไว้ว่า ปีติเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของการบรรลุธรรมที่จะพึงเกิดขึ้น เป็นปีติสัมโพชฌงค์ เพราะเมื่อปีติเกิดขึ้นการยกระดับจิตก็จะตามมา อาการเปลี่ยนแปลงทางจิตก็จะเกิดขึ้น ที่เรียกว่า ภาวะแห่งความสุข เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบกายและสงบใจ ซึ่งเรียกเป็นภาษาเฉพาะ (Technical term) ว่า “ปัสสัทธิ” เมื่อปีติและปัสสัทธิเกิดขึ้น พึงทราบได้ว่า เดินมาถูกทางแล้วและความเป็นสมาธิก็จะเกิดขึ้นตามมาเป็นกระบวนการลูกโซ่ เป็นกระบวนการที่เป็นเหตุและเป็นผลของกันและกัน เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด เป็นปกติของกระบวนการบำเพ็ญเพียรสมณธรรม


โศลกว่า “ใจได้ล่องลอยหายไปกับแมลงภู่ ปีติใหญ่ปรากฏพรั่งพรูท่วมทับ” สิ่งสำคัญเมื่อเกิดปีติขึ้นมา ไม่ต้องตกใจ หรือไม่หลงใหล ยึดติด หรือหยุดยั้งการบำเพ็ญเพียรภาวนา ให้กำหนดรู้ทุกอาการที่เกิดขึ้น ไม่มีความพึงพอใจหรือตกใจ กำหนดรู้ต่อไป การกำหนดรู้ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากลมหายใจที่สั้นยาวเข้าออก แต่เป็นการกำหนดรู้ปีติและสุขที่เกิดขึ้น หายใจเข้าออกเป็นปกติ มีสติอยู่ที่อาการนั้น ๆ หายใจเข้า หายใจออก ไม่กำหนดลมหายใจแต่หยั่งพิจารณาด้วยสติในปีติและสุขหายใจเข้า ออก จนในที่สุดอาการปีติและสุขก็สงบระงับไปตามกฎธรรมชาติที่เรียกว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป


ความสำคัญอยู่ที่เมื่อปีติเกิดแล้วอย่าได้เลือก อย่าได้ปล่อยให้ใจเข้าไปยึดเอามาเป็นสมบัติส่วนตัว อย่าได้เข้าหลงอยู่ภายในความสำเร็จที่เป็นอาการเช่นนี้ เพราะปีติเป็นเพียงอาการด้านหนึ่งของทวิภาวะเท่านั้น ก็คือมีปีติ ก็จะหมดปีติ มีสุข ก็จะหมดสุข เป็นของคู่กันคนละด้านของเหรียญ ความเป็นคุณและโทษของปีติมีอยู่ตลอด เมื่อใดที่ปล่อยใจไม่มีสติก็จะหลงไปกับคุณของปีติ คุณของปีติทำให้ผู้ปฏิบัติพึงพอใจในอาการเช่นนั้น ดุจดังการเห็นของสวย ๆ งาม ๆ ก็พึงพอใจ อาการพึงพอใจในของสวยงามก็กลายเป็นนันทิ เมื่อนันทิมีกำลังก็จะกลายเป็นฉันทะ และกลายเป็นตัณหาในที่สุด แสดงว่าปล่อยให้อาการที่เกิดขึ้นผ่านเข้าไปสู่ระดับที่ยากต่อการถอนมากขึ้น แนวทางปฏิบัติที่มีต่ออาการของปีติก็คือ เข้าไปกำหนดในตัวของปีติเองเห็นเป็นเพียงจิตสังขาร เห็นเป็นเพียงอาการที่เป็นสิ่งที่ประกอบเข้ากับจิตเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นทั้งปีติและสุขที่เกิดขึ้น ดังพุทธพจน์ว่า


“จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามิ
จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามิ
เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขารจักหายใจเข้า
เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร จักหายใจออก”


ไม่มีอะไร ๆ ให้ต้องเข้าไปยึดถือว่าเป็นเรา ว่าของเรา ว่าเป็นตัวเป็นตนของเรา เพื่อให้เข้าถึงระดับที่สี่ ก็คือ การเข้าไปพิจารณากำหนดเห็นความสงบระงับไปของจิตสังขารนี้เท่านั้น ปีติและสุขที่เกิดขึ้นสื่อเชื่อมกันระหว่างกายกับจิต เมื่อจิตมีอาการปีติสุข กายก็แสดงอาการออกมาตามลักษณะ ในขั้นนี้คือการสัมพันธ์กันระหว่างอาการทางกายและจิต ปีติและสุขเกิดขึ้นกับจิต กายก็รับรู้แสดงอาการเป็น ๕ ลักษณะตามที่ได้แสดงไว้ ผู้ปฏิบัติพึงกำหนดต่อไปหยั่งเข้าไปในอาการนั้น (สิกขติ) เพื่อให้เห็นถึงความสงบระงับหรือการสิ้นไปของปีติและสุขที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ดังพุทธพจน์ว่า


ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามิ
ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ ปสฺสสิสฺสามิ
เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ หายใจเข้า
เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ หายใจออก”


การพิจารณา ๔ ระดับนี้มีความสำคัญมาก เพราะถ้าหากไม่เข้าใจความลึกใน ๔ ระดับนี้ ก็ไม่สามารถที่จะหลุดพ้นจากความมีอยู่ เป็นอยู่ได้เลย เพราะในระดับที่ ๑ ถึง ๓ นี้ เป็นระดับของความมีอยู่ เป็นอยู่ทั้งสิ้น ทำให้จิตเข้าไปยึดเอาได้ง่าย จะเห็นได้ว่า ธรรมปฏิบัติในพระพุทธศาสนาจะมี ๔ ระดับเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอานาปานสติ สติปัฏฐาน หรืออริยสัจ


มิติที่ ๑ เป็นมิติทางกายภาพ
มิติที่ ๒ เป็นมิติทางความคิด
มิติที่ ๓ เป็นมิติทางอารมณ์
มิติที่ ๔ เป็นมิติแห่งความว่าง

เทียบเคียงกับอานาปานสติในระยะของเวทนาที่เกิดขึ้นก็จะพบว่า เข้าได้กับระดับทั้ง ๔ นี้ ระดับทั้ง ๔ นี้มีความลึกลงไปในแต่ละชั้น และในแต่ละชั้นนั้นก็ต้องมีสติกำหนดรู้เข้าไปให้เห็นแจ้งตามความเป็นจริง


ระดับที่ ๑ เป็นระดับที่ปีติท่วมทับจิตพรั่งพรูจนจิตแสดงอาการออกมา
ระดับที่ ๒ เป็นระดับที่ปีติแปรเปลี่ยนไปเป็นความสุขแสดงอาการออกมา
ระดับที่ ๓ เป็นระดับที่ทั้งปีติและสุขอยู่ด้วยกันกลายเป็นความดื่มด่ำ สงบเย็น
ระดับที่ ๔ เป็นระดับที่ปีติและสุขสงบระงับไปเหลือแต่สติและอุเบกขา


พึงทราบว่า ในแต่ละระดับที่แสดงไว้นี้เป็นนามธรรมที่กำหนดรู้ได้ด้วยสติที่คมชัดเท่านั้น ถ้าหากสติไม่คมชัด ย่อมไม่อาจแยกแยะและเข้าไปกำหนดรู้ได้เลย เพราะตัวปีติและสุขจะกลายเป็นตัวเราไปทันที กลายเป็นเรามีความสุข ความสุขมีในเรา เมื่อนั้นทุกอย่างก็จบ เป็นการพลาดจากทางเข้าที่เหมาะสมทันที


โศลกว่า “ผ่านกาลไปด้วยลมหายใจสงบเย็น ปรากฏภูเขาใหญ่ในจิตนิมิต” ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตามที่อยู่ในขณะปฏิบัติ ขณะหนึ่งอาจเบิกบานยิ้มแย้ม ขนลุก น้ำตาไหล หรือขณะอื่นอาจเปลี่ยนเป็นภูเขาท่วมทับหนักหน่วง หรือกระแสน้ำถาโถม ทุกภาวะที่เกิดขึ้นอยู่ในวิสัยที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพียงแต่ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ทางจิตขึ้นเช่นนี้จะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพราะอาการเหล่านั้นจะรุนแรงท่วมทับตนเองจนแทบหายใจไม่ออกก็มี แสดงออกมาทางกายภาพทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดอาการขึ้นก็มี บางครั้งต้องอาศัยครูอาจารย์ช่วยแก้ไข ผ่อนคลายให้ บางครั้งก็แก้ไขได้ด้วยตนเอง


ผู้ปฏิบัติพึงต้องศึกษาให้ทราบถึงเส้นทางที่จิตเดินไปเสียก่อน ดุจดังการจะเดินทางไปตามเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งจะต้องสำรวจก่อนว่า จะไปทางไหน เจอกับอะไร เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาอย่างไร มีหลุม มีบ่ออย่างไร ทางโค้ง ทางตรงอย่างไร เหล่านี้เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติที่ต้องศึกษา ที่เรียกว่า ปริยัตินั่นเอง ศึกษาเพื่อให้เข้าใจว่า เมื่อเดินทางไปแล้วมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นจะได้ไม่ตกใจ ไม่พลัดหลงจากทางที่จะไปโดยง่าย ไม่ว่าจะพบกับแรงปะทะทั้งจากสภาพภายนอกและสภาพภายในอย่างไร ก็มีความเข้าใจในสภาวะนั้น รู้วิธีที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้


ภูเขาใหญ่ที่ท่วมทับร่างกายอัดแน่นเข้ามาทั้ง ๓ ทาง ด้านข้างทั้งสอง ด้านบนอีกหนึ่ง ทับกันอัดแน่นเข้า ๆ จนเกิดกายแทบจะระเบิด ขั้นนี้เป็นเพียงอาการที่จิตสื่อออกมาทางกายภาพให้อึดอัดขัดข้อง เพียงแต่เข้าไปกำหนดในอาการนั้นว่า ไม่ใช่อะไรอื่นใด เป็นเพียงเวทนาที่ปรากฏกับจิตเท่านั้น เวทนาก็ไม่เที่ยง กายก็ไม่เที่ยง จิตก็ไม่เที่ยง สิ่งที่เกิดขึ้นจากสิ่งไม่เที่ยงแท้แล้วมันจะดำรงอยู่ได้อย่างไร ก็ทุกอย่างเป็นแต่เพียงความไม่เที่ยง ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม พิจารณาเห็นถึงความไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป หายใจเข้า หายใจออก


การยกระดับจิตจะเกิดขึ้นในระยะนี้ เหมือนดังการเปลี่ยนแปลงของความรู้ไปสู่ทักษะ เป็นเรื่องที่บอกยากว่า เปลี่ยนเมื่อไหร่ เปลี่ยนอย่างไร แต่รวมกันเป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ความรู้ก็เป็นระดับหนึ่งขององค์ประกอบทางจิต แต่เป็นระดับของจินตามยปัญญา แต่ทักษะนั้นเป็นการยกระดับจากจินตามยปัญญาไปสู่ระดับภาวนามยปัญญา เป็นการรู้แจ้งอันเกิดจากการเข้าไปพิจารณาในความรู้นั่นเอง


คำว่า “พิจารณา” คำนี้ต้องระวัง อย่าในไปปนกับคำภาษาไทยที่ใช้กันในความหมายทั่วไป เพราะไม่ตรงกันกับภาษาสภาวะ ความหมายในภาษาไทยนั้นเป็นคำระดับที่ ๒ เท่านั้นเอง แต่พิจารณาในสภาวธรรมนี้เป็นระดับ “สิกขติ” เป็นระดับที่ ๔ เป็นระดับตัวสติที่เห็นแจ้ง กำหนดรู้ เจาะหยั่งลงไปในอาการทางจิตที่ปรากฏนั้น เพียงแต่ยืมคำมาใช้ให้เข้าใจง่าย เป็นสมมติโวหารเท่านั้น การกำหนดรู้เจาะหยั่งลงไปในอาการนั้นทำให้ยกระดับจิตขึ้นไปสู่มิติที่ ๔ ได้ เป็นภาวนามยปัญญา


โศลกว่า “ใช้สติพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป” ในระดับมิติทั้ง ๔ นี้ ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เพราะมีส่วนสนับสนุนความก้าวหน้าทางจิตได้ง่ายขึ้น เพราะในระดับที่ ๑ ถึงมิติที่ ๓ นั้นเป็นระดับที่มีทวิภาวะซ่อนอยู่ภายในนั้น เมื่อใดที่ยังเป็นระดับทวิภาวะ เมื่อนั้นก็ตกอยู่ภายใต้กฎแกว่งไปมาตามทฤษฎีลูกตุ้มนาฬิกา เพราะความเป็นทวิภาวะนั้นมีสนามแม่เหล็กแห่งตัณหาซ่อนอยู่ภายในนั้น สนามแม่เหล็กนี้แหละที่ผลักชีวิตให้ตกอยู่ภายใต้วงจรอวิชชาอย่างแท้จริง นั่นก็คือวงจรแห่งวัฏฏะ ที่เรียกว่า “วน” คือ “กิเลส กรรม วิบาก” ตราบใดที่ไม่เข้าไปสู่ระดับที่ ๔ ตราบนั้นก็ยังคงตกอยู่วังวนนี้ไปตลอดอนันตกาล


ความพิเศษของระดับที่ ๔ ก็คือ การไม่เป็นตอบโต้ หรือเป็นปฏิปักข์ต่อสิ่งใดไม่ว่าจะเป็นสุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่เข้าไปข้องเกี่ยวในประเด็นนั้น แต่กลับเลื่อนระดับไปสู่การเห็นสิ่งที่ปรากฏทั้งหลายทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม นามธรรม ก็มีแต่การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปทั้งนั้น การพิจารณาอย่างนี้ถือว่าไม่ได้เล่นตามเกมของตัณหา แต่กลับเล่นเกมผู้สังเกตการณ์แทน แทนที่จะดีใจ เสียใจ พึงพอใจ ชอบใจ ไม่ชอบใจ มีสุข มีทุกข์ ซึ่งทั้งหมดนี้คือเกมของตัณหา แต่ระดับที่ ๔ กลายเป็นการเฝ้ามองอาการที่ปรากฏแทน เป็นแต่เพียงผู้มองเท่านั้น ไม่มีสิ่งอื่นใด มองให้เห็นถึงความเกิดขึ้น ตั้งอยู่และสิ้นไปของปรากฏการณ์เหล่านั้น เมื่อนั้นลูกตุ้มนาฬิกาก็หยุดแกว่ง เมื่อลูกตุ้มนาฬิกาหยุดแกว่ง สนามแม่เหล็กก็ลดพลังดึงดูดลง เพราะการแกว่งของลูกตุ้มเป็นตัวเสริมพลังดึงดูด ความกระจ่างใสย่อมปรากฏขึ้นแทน ตรงนี้แหละคือ ช่วงเวลาแห่ง “ปัญญาญาณ” ย่อมเกิดขึ้น ดังพุทธพจน์ว่า “จกฺขํุ อุทปาทิ ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ ดวงตาคือ ปัญญาเห็นธรรมเกิดขึ้นแล้ว การกำหนดรู้ความหยั่งรู้เหตุผลเกิดขึ้นแล้ว ความรู้แจ้ง เกิดขึ้นแล้ว ความมีใจสว่างเกิดขึ้นแล้ว”

ตัวสภาวธรรมนั้นไม่ตรงกับตรรกะทางความคิดเหตุผลที่คนทั้งหลายเข้าใจ เพราะตรรกะของคนทั่วไปนั้นมุ่งไปที่ฐานที่ ๑ และ ฐานที่ ๒ กล่าวคือทุกอย่างต้องมีการกระทำให้เกิดขึ้น แต่ในสภาวธรรมนั้นกลับตรงกันข้าม เมื่อใดกระทำไม่ว่าทางกาย วาจา หรือใจ เมื่อนั้นก็ยิ่งห่างไกลจากปัญญาญาณที่จะเกิดขึ้น ปัญญาญาณจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากยังอยู่ในระดับความคิด เปรียบเหมือนความใสสะอาดเกิดไม่ได้ด้วยการเติมความขุ่นลงไป เมื่อใดที่ไม่กวนให้น้ำขุ่น เมื่อนั้นความใสจึงจะปรากฏเอง


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิเถิด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีจิตเป็นสมาธิแล้ว ย่อมรู้ได้ตามความเป็นจริง
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ดังนี้เถิด”


ความสว่างแห่งธรรมย่อมปรากฏตามกระบวนการที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นทุกขเวทนา หรือสุขเวทนา ปีติ สุข อันเกิดแต่เวทนาใด เวทนานั้นก็ไม่เที่ยง แปรเปลี่ยน และดับไป ไม่มีอะไรเป็นตัวเวทนาที่แท้ดำรงอยู่อย่างนั้น ดวงตาเห็นธรรมย่อมเกิดเมื่อเห็นชัดอริยสัจในเบญจขันธ์ซึ่งเป็นที่รวมลงแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ขอความเห็นแจ้งในปีติ สุข ความมีสติและอุเบกขาดำรงอยู่ จงมีแก่ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญเพียรสมณธรรม เพื่อการที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด


นี่คือ โศลกที่สามสิบสามแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา