วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2552

ชีวิตมีค่าตามมรรคาพุทธองค์


ชีวิตมีค่าตามมรรคาพุทธองค์

ผศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์
ประธานสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา
เลขานุการกรรมการบริหาร
หลักสูตรศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต


เส้นทางสายไหม (Silk Route)
การเดินทางเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ บ้างต้องการแสวงหาสถานที่หรือแหล่งที่เหมาะสมต่อการดำรงชีพและดำรงเผ่าพันธุ์ บ้างเดินทางเพื่อติดต่อกันและกันระหว่างเผ่าพันธุ์ของตนกับเผ่าพันธุ์อื่นเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าและสร้างวัฒนธรรม ในอดีตนั้นมีการติดต่อกันด้วยการเดินทางด้วยเท้าและสัตว์พาหนะตามเส้นทางที่เชื่อมกันระหว่างรัฐต่อรัฐ ประเทศต่อประเทศ เส้นทางที่ยาวไกลและมีชื่อเป็นที่รู้จักกันในขณะนั้นก็คือ เส้นทางสายไหม (Silk Road)
เส้นทางสายชีวิตนี้เชื่อมต่อระหว่างโลกตะวันออกกับตะวันตก เริ่มจากประเทศจีนไปถึงกรีก โดยเส้นทางผ่านทะเลทรายตาลิมากันที่มีความร้อนสูงถึง ๕๐ องศาในเวลากลางวัน และลบ ๒๐ องศาในเวลากลางคืน นอกจากนั้นยังมีพายุทะเลทรายอีกด้วย บางครั้งเส้นทางสายนี้ยังถูกเรียกว่าดินแดนแห่งความตาย (Land of Death) เพราะยากที่ใครจะผ่านไปได้ แต่ถึงกระนั้นมนุษย์ก็ยังคงเห็นเป็นสิ่งท้าทาย ยังคงใช้เส้นทางนี้เพื่อเดินทาง
ความเจริญทางวัฒนธรรมตะวันตกนั้นสิ้นสุดไวกว่าทางตะวันออก เพราะทางตะวันออกนั้นพัฒนารุ่งเรืองในอาณาจักรเปอร์เซียและซีเรียที่กินบริเวณกว้างมากในตะวันออกกลางมาจดถึงอาณาจักรอินเดีย ทั้งสองอาณาจักรนี้ติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันอยู่ก่อนแล้ว เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชแห่งมาเซโดเนียของกรีกที่ครอบครองจักรวรรดินี้มาเมื่อก่อน ปีค.ศ. ๓๓๐ แม้ว่าพระองค์จะครอบครองอาณาจักรทั้งหมดนี้เป็นระยะเวลาอันสั้น แต่วิถีแห่งวัฒนธรรม โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมและปติมากรรมได้มีการแลกเปลี่ยนกันสืบต่อมาภายในอาณาจักรของอินเดียนับแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้เส้นทางของเอเชีย ได้แก่ เปอร์เซีย ซีเรีย อินเดีย และกรีก เชื่อมกัน อาณาบริเวณที่มีเส้นทางเชื่อมถึงนั้นไกลถึงแถบที่ราบลุ่มหรรษา (Hunza Valley) แห่งเทือกเขาการาโกรัม (Karakorum Range) จากปากีสถานถึงกาชการ์ (Kashgar) ในอาฟกานิสถาน ปัจจุบันเป็นถนนสายหลักเชื่อมระหว่างสองประเทศ แต่เดิมนั้นเส้นทางสายนี้เคยเป็นจุดพักทัพของพระเจ้าเลกซานเดอร์มหาราชด้วย จะเห็นได้จากมีศิลปะผสมระหว่างกรีกและอินเดียอยู่ตามเส้นทางเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นที่คันธาระ ตักสิลาในปากีสถานและอาฟกานิสถาน นอกจากนั้น เส้นทางสายนี้ยังเชื่อมกับทะเลทรายตาลิมากัน ปัจจุบันยังคงเห็นร่องรอยของประชาชนที่อยู่บริเวณนี้เป็นเชื้อชาติผสมระหว่างกรีกและจีน และยังมีศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมอื่นๆ ให้ได้พบอีกด้วย
ประมาณปี ค.ศ.๑๒๐ ชนชาติเผ่าหนึ่งเรียกว่า เผ่าง้วยสี ที่อยู่บริเวณนี้ได้มีอิทธิพลมากขึ้นกลายเป็นเผ่าพันธุ์ที่สร้างความยิ่งใหญ่ในกาลต่อมาโดยตั้งตนเป็นราชวงศ์ขึ้น ชื่อว่าราชวงศ์กุษาณะ หนึ่งในพระราชาแห่งราชวงศ์นี้ ได้แก่ พระเจ้ากนิษกะ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของพระเจ้าอโศกมหาราชองค์ที่สองของอินเดีย เพราะพระองค์ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและถือเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำราชอาณาจักรของพระองค์ จึงทำให้ในช่วงระยะเวลาที่พระองค์ครองราชย์อยู่นั้นพระพุทธศาสนาได้ขยายจากทางตอนเหนือของอินเดียเข้าไปถึงจีน
ในรัชสมัยของพระเจ้าหมิ่งตี้ พระองค์ได้นำพระพุทธศาสนาจากประเทศอินเดียเข้ามาสู่ประเทศจีนทั้งทางด้านคัมภีร์และพระภิกษุสงฆ์ ส่วนศิลปะนั้นได้รับอิทธิพลศิลปะแบบคันธาระ จากนั้นพระพุทธศาสนาก็ขยายเข้าไปสู่ประเทศทิเบต ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาขยายไปอย่างเต็มที่ในยุคราชวงศ์เว่ยประมาณคริสศตวรรษที่ ๔-๕ เจ้าเมืองต่างๆ ได้พากันส่งเสริมพระพุทธศาสนา มีการส่งพระธรรมทูตไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดียจำนวนมาก ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองตามเส้นทางสายไหม ไม่ว่าพ่อค้า ประชาชน และพระภิกษุสงฆ์ต่างก็สนับสนุนให้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนากันมากในยุคนี้ โดยเฉพาะเผ่าฮุ่ยฮี (Huihe) ได้รับเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชนชาติตามที่ท่านฟาเหียน พระภิกษุผู้จาริกบุญแห่งประจีนได้บันทึกรายละเอียดเอาไว้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในเมืองโขตานและเมืองกาชการ์ ในปีคริสตศักราช ๓๙๙ ว่า “มีการสร้างวัด สร้างสถูป เจดีย์ พุทธศิลป์ ขึ้นจำนวนมากและมีการจัดงานประเพณีทางพระพุทธศาสนาในเมืองนี้ ส่วนมากจะเรียงรายอยู่ตามหน้าผา และถ้ำตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะที่เด่นที่สุดก็ที่ถ้ำตุนหวง”
บนเส้นทางสายไหมที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาผ่านไปจนถึงเทือกเขาฮินดูกูฏ ที่เรียกว่า บามิยัน ในอาฟกานิสถาน มีพระพุทธรูปใหญ่ขนาดสูงถึง ๕๕ เมตร ที่เจาะแกะสลักหน้าผา นอกเหนือจากรูปพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายยังมีรูปของการดำเนินชีวิตของคนในช่วงเวลานั้นด้วย ภาพการเฉลิมฉลองประเพณีชาวบ้าน
ประมาณคริสศตวรรษที่ ๗ เมื่อศาสนาอิสลามได้มีบทบาทขึ้นและแผ่ขยายไปสู่ดินแดนต่างๆ บริเวณนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาอิสลามจากมองโกล พระพุทธศาสนาก็ได้รับผลกระทบจากการแผ่ขยายไปของศาสนาอิสลามตามเส้นทางสายไหมจนถึงประเทศอินเดียซึ่งเป็นประเทศแม่ และในที่สุดพระพุทธศาสนาก็หมดไปจากประเทศเหล่านั้น ไม่เว้นแม้แต่ประเทศอินเดีย แต่ก็นับว่าโชคดีที่พระพุทธศาสนาได้เข้าไปเจริญในประเทศทิเบต ซึ่งเป็นประเทศเชื่อมระหว่างประเทศอินเดียกับประเทศจีน หลังจากเส้นทางสายไหมส่วนใหญ่ถูกครอบครองโดยมุสลิม เส้นทางสายไหมก็ถึงการเสื่อมลงอีกทั้งเมื่อมองโกลได้ครอบครองพื้นที่บริเวณแถบทะเลทรายแทบทั้งหมด ก็แทบจะปิดเส้นการเดินทาง ส่วนทางจีนก็มีนโยบายไม่คบค้ากับมองโกลซึ่งเป็นช่วงของกุบไลข่านและราชวงศ์หมิง เส้นทางสายไหมก็ถูกปิดตัวลง การติดต่อระหว่างตะวันออกและตะวันตกก็ปิดตัวลงไปด้วย
นี่คือประวัติศาสตร์การเดินทางของมนุษย์ในยุคที่ผ่านมาเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนสินค้า ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม นับตั้งแต่การเริ่มขึ้นของเส้นทางสายไหมจนกระทั่งถึงจุดสูงสุดเมื่อสมัยราชวงศ์ถังจนกระทั่งถึงการล่มสลายไปเมื่อประมาณ ๗๐๐ ปี ก่อนหน้านี้ เส้นทางสายไหมเป็นเส้นทางที่หล่อหลอมความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมสองสาย คือวัฒนธรรมตะวันตกมาสู่ตะวันออก แม้ว่าเส้นทางสายไหมจะไม่ได้มีการใช้อีกต่อไป แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นพร้อมกับเส้นทางสายไหมมิได้สิ้นสุดตาม เรื่องราว อารยธรรมเหล่านั้นยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

นักจาริกบุญผู้อุทิศตน
เมื่อยิ่งนับวันกิตติศัพท์แห่งพุทธบารมีได้ฟุ้งกระจายแผ่ไปทั่วผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลของประเทศจีน พุทธบริษัททั้งหลายต่างได้รับน้ำอมตรสที่มีผู้นำมาหยาดหยดให้ แม้กระทั่งดินแดนอันห่างไกลเช่นนี้พุทธบารมียังแผ่ซ่านไปถึง ด้วยเหตุนี้ทำไมจึงไม่มีผู้ใดไปดื่มด่ำจากต้นน้ำนั้นเล่า ดังนั้น เหล่านักแสวงบุญจากดินแดนอันไกลโพ้น ได้แก่ประเทศจีน จึงมีนักจาริกบุญออกเดินทางไป ไม่ว่าเส้นทางจะยากเพียงใด ลำบากเพียงไหน อันตรายอย่างไร แต่แรงบันดาลใจที่ต้องการสั่งสมบุญและนำภูมิปัญญานั้นกลับไปสู่บ้านเกิดเมืองนอนของตนนั้นมีมากกว่า แรงบันดาลใจนั้นจึงเป็นพลัง กลายเป็นปณิธานที่จะฝ่าฟันอุปสรรคอันจะมากีดขวางไปได้
(อ่านฉบับเต็มได้จากหนังสือ MBU ACADEMIC PILGRIM : INDIA)

บนเขาสถานที่แสดงยมกปาฏิหาริย์ สาวัตถี

ไม่มีความคิดเห็น: