วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555




โศลกที่ยี่สิบเก้า "ปลูกความงดงาม"

ความงดงามคือสิ่งน่าปรารถนา
งามภายนอกนั้นไม่ยั่งยืน
งามภายในนั้นยั่งยืน
ยิ่งปลูกลงในจิต
ความงามยิ่งเบ่งบาน
จิตใจที่งดงาม
ไม่ว่าจะทำ พูด คิด
เดิน นั่ง สนทนา
เป็นความงามพร้อม
นั่นแหละคือผลการบำเพ็ญเพียร
ความงามแห่งการปฏิบัติธรรม



ความงดงามนั้นเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ปรารถนา เป็นสุภธาตุที่ฝังอยู่ในจิตของมนุษย์อยู่เป็นทุนเดิม เนื่องจากสุภธาตุนี้ย่อมเรียกร้องหาธาตุที่เกี่ยวเนื่องกันเข้ามา ด้วยเหตุนี้ความงามจึงเป็นที่ต้องตาของทุกคน แม้ในเสียงที่ไพเราะก็มีสุภธาตุเจือปนทำให้คนทั้งหลายชอบฟังเสียงที่ไพเราะเสนาะหู แม้แต่ไม่สามารถมองเห็น ไม่สามารถได้ยินเสียง จิตนี้ก็รับรู้ถึงความงามอันเกิดมาจากใจเองได้ เนื่องจากความงามทำให้เกิดความพึงพอใจ ความบันเทิง มีชีวิตชีวา ด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงต้องการความงามนั้นมาครอบครอง แสวงหา สร้างขึ้น จากนั้นก็แย่งชิงกันมาเป็นสมบัติ

โดยมากแล้วความงามที่โลกกล่าวถึง แสวงหา สร้างขึ้น ครอบครอง แย่งชิง หลงใหลนั้นเป็น “ความงามในระดับที่หนึ่ง” เท่านั้น เป็นความงามระดับกายภาพ เป็นความงามระดับเปลือกนอก ความงามที่ฉาบทา เคลือบไว้ เป็นความงามแห่งมายาที่บดบังความไม่งามไว้

แต่เพียงเท่านี้ก็สามารถโยกคลอนมนุษย์ทุกคนได้เกือบหมดโลกแล้ว เพราะมนุษย์ทุกคนพอใจแล้วกับความงามเท่านี้ แม้ทราบว่ามีความงามที่ลึกซึ้งกว่านี้เขาก็ไม่สนใจ เขาสนใจแต่ความงามที่จับต้องได้ ก็เพราะเขาเหล่านั้นเป็นมนุษย์พันธุ์ที่หนึ่ง เหมือนกับคนที่บอกว่า “ทำความดีแล้วได้ดี แล้วดีที่ว่ากินได้ไหม” เช่นเดียวกันกับความงาม ความงามระดับอื่นถึงจะมีแล้วมันเป็นรูปธรรมจับต้องสัมผัสได้ไหม กินได้ไหม ถ้าไม่ได้นั่นก็ไม่ต้องมาพูดกับคนพันธุ์ที่หนึ่งนี้ เพราะเขามีช่องรับความงามได้เพียงระดับเดียวเท่านั้น

เนื่องจากคนที่มีแต่ช่องรับความงามระดับกายภาพนี้มีมาก แต่ความงามที่เข้าสู่ช่องนี้มีจำกัด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดปัญหาอันเกิดจากความงามกันทั่วโลก ปัญหาเกิดจากการแย่งชิงสิ่งที่งามและปัญหาผลิตสิ่งที่งาม ปัญหาแย่งชิงสิ่งที่งามนั้นมีมาแต่บรรพกาล ไม่ว่าจะเป็นแย่งชิงวัตถุ สิ่งของ จนกระทั่งมาถึงแย่งชิงสิ่งมีชีวิต จนกระทั่งแย่งชิงคนที่งาม

การแย่งชิงคนที่งามนั้นต้องยกให้กับการแย่งชิงผู้หญิงของเหล่าผู้ชาย น้อยรายที่เหล่าผู้หญิงจะทำสงครามแย่งชิงผู้ชาย สงครามทั้งหลายที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นนับตั้งแต่มหากาพย์รามเกียรติแย่งชิงสีดา มหากาพย์มหาภารตะแย่งชิงเทราปตี ศึกแย่งชิงครีโอพัตรา ยุทธการอุบายหญิงงามเตียวเสี้ยน ล้วนแล้วแต่เกิดสงครามแย่งชิงหญิงงามทั้งนั้น บัดนี้เริ่มเข้าสู่ปัญหาผลิตสิ่งที่งามออกมาสู่โลกเพื่อเป็นสินค้าให้คนประเภทนี้ได้เสพกัน

ปัญหาอยู่ที่ผลิตออกมาแล้วไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงมีการย้อมแมวกัน โฆษณา ประกวด สร้างโรงผ่าตัดปรับแต่งอวัยวะเพื่อให้เกิดความงาม โรงผ่าตัดศัลยกรรมเหล่านี้มีทั้งมีฝีมือและไร้ฝีมือแต่เพื่อให้สินค้าออกมาได้ทันต่อความต้องการจึงเกิดปัญหาของชำรุดก่อนถึงมือลูกค้า ใบหน้าเน่าบ้าง นมเละบ้าง ปากเบี้ยวบ้าง จมูกบิดบ้าง ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาให้คนประเภทที่หนึ่งนี้ได้เสพความงามกัน

ความงามที่สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง ก็คือความงามในความคิด เป็น “ความงามระดับที่สอง” เป็นความงามแห่งสังกัป เป็นความลงตัวแห่งความคิดที่เข้ากันได้ มีเหตุผล สิ่งใดที่มีความลงตัว ไม่จำเป็นต้องงามทางกายภาพ แต่เป็นความงามอันเกิดจากการปรุงแต่งภายในใจของตนเท่านั้นก็งดงามแล้ว ความงามระดับนี้เห็นได้มากสำหรับนักคิด นักปรัชญา นักการศาสนาทั้งหลาย คนทั้งหลายเหล่านี้เห็นความงามอยู่ในความคิดของตน วาบแห่งความคิด ความคิดที่วิจิตร จินตนาการอันหลุดลอย ความงามเหล่านี้เป็นนามธรรมเป็นส่วนมาก

อะไรก็ได้ถ้าหากเขาสามารถอธิบายให้เห็นว่าสิ่งนั้นงาม สิ่งนั้นก็จะงามตามความคิดของเขาเอง ก้อนหิน ภูเขา ต้นน้ำ ลำธาร ใบไม้ เศษขยะ เป็นสิ่งที่นักคิดเหล่านี้สามารถพรรณนาให้เห็นเป็นความงามขึ้นมาได้ เพราะความงามเหล่านี้เป็นความคิดของเขาเอง จึงไม่แปลกที่ปัญหาเรื่องความงามจึงไม่หายไปจากโลกของนักคิด นักปรัชญาทั้งหลาย ถึงกับมีเป็นศาสตร์หนึ่งขึ้น มีบิดาแห่งสุนทรียศาสตร์ขึ้น ได้แก่ อาเลกซานเดอร์ โกเตียบ เบาม์การ์เทิน (Alexander Gottieb Baumgarten ๑๗๓๕) ก็เพราะเขามองเห็นในความคิดว่า ความงามนั้นเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง เพราะความคิดของแต่ละคนนั้นมีการสร้างสังกัปความคิดเป็นของใครของมันตามแต่ฐานอันเกิดจากความรู้ ศาสนา วัฒนธรรม

ความงามระดับที่สาม เป็นความงามในระดับอารมณ์ ความรู้สึก เป็นความงามที่ลึกลงไปอีกระดับหนึ่ง ความงามในระดับนี้จึงยากยิ่งเข้าใจสำหรับบางคน เขาเห็นอารมณ์ทุกอย่างเป็นความงาม ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ราคะ โลภ โกรธ หลง รัก เมตตา เอื้อเฟื้อ สุข เศร้า สมหวัง ผิดหวัง ปีติ ยินดี ยิ่งมีน้อยคนเข้าไปอีกในโลกนี้ที่สามารถเห็นความงดงามในระดับอารมณ์ อันที่จริงในตัวของอารมณ์เหล่านี้หมดจด งดงาม

ปัญหาของความงดงามในระดับนี้นั้นอยู่ที่ว่า การปฏิบัติต่ออารมณ์ของผู้ที่อยู่ภายใต้อารมณ์นั้นไม่ถูกต้อง และการถูกความคิดดัดแปลงอารมณ์นั้นไปเป็นอื่น เช่น อารมณ์ราคะ หรืออารมณ์ทางเพศ ตัวของมันนั้นเป็นความงดงามในฐานะเป็นรากฐานแห่งชีวิต สรรพชีวิตเกิดมาจากอารมณ์นี้ จะเห็นได้ว่า เมื่อมีอารมณ์ทางเพศจะมีอาการตื่นตัว ความตื่นตัวตรงนี้แหละคือความงามของอารมณ์นี้ แม้แต่ความคิดก็ไม่สามารถหยุดยั้งอารมณ์ทางเพศได้

แต่เนื่องจากมนุษย์ไม่มีความรู้เกี่ยวกับอารมณ์นี้จึงปฏิบัติต่ออารมณ์นี้ไม่ถูกต้อง โดยมากก็หาที่ระบายทางเพศ หรือไม่ก็เก็บกดทางเพศนี่เป็นปัญหาหนึ่ง อีกอย่างพอมีอารมณ์ทางเพศก็ถูกบิดเบือน แทรกแซงด้วยความคิดว่า เป็นเรื่องเลวร้าย เป็นเรื่องของกิเลสหยาบช้า เป็นเรื่องของการขัดศีลธรรมจรรยา ขัดจารีต วัฒนธรรม ประเพณี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการให้คำนิยามทางความคิดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะปฏิบัติอย่างไรกับอารมณ์ทางเพศล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาทั้งสิ้น พอๆ กับการเข้าไปแย่งชิงครอบครองของพวกระดับแรกนั่นแหละ

ความงามระดับที่สี่ เป็นความงามระดับสุดท้ายของการเข้าถึงความงาม ความงามในระดับนี้นั้นเป็นความงามที่แผ่ไปสู่จักรวาล เป็นความงามที่ไร้รูป ไร้ลักษณ์ เป็นความงามที่สลายปัญหาต่างๆ ของปัญหาความงามในระดับที่หนึ่งถึงระดับที่สามดังกล่าว ผู้ที่เข้าถึงความงามในระดับนี้ย่อมไม่เห็นสิ่งใดที่ไม่งามอีก เป็นผู้ปฏิบัติต่อความงามทุกระดับอย่างถูกต้อง เป็นความงามที่ระเบิดออกมาจากภายใน เป็นความงามที่ข้ามพ้นขอบเขตจำกัด เป็นการยกสุภธาตุระดับธรรมดาให้กลายเป็นสุภธาตุของระดับโลกุตตระ สุภธาตุในระดับโลกุตตระนั้นแผ่ซ่านไปทั่วสรรพสิ่ง ไม่จำเพาะเจาะจง ไม่จำกัดขอบเขต ตัวสุภธาตุภายในกับสุภธาตุภายนอกได้กลายเป็นสิ่งเดียวกันเสียแล้ว

โศลกว่า “ยิ่งปลูกลงในจิต ความงามยิ่งเบ่งบาน” ความงามที่ปลูกลงไปในจิตในที่นี้ก็คือ ความงามในระดับที่สี่นี่เอง เป็นความงามในระดับสกัดเป็นหัวความงาม นั่นก็คือไม่ว่าจะมองอะไรก็ให้มองเป็นความงาม เจือจานความงามลง เพาะบ่มลงไปในจิต เพื่อให้จิตกลายเป็นส่วนหนึ่งของความงามไปเสีย เมื่อจิตกลายเป็นส่วนหนึ่งของความงามก็ย่อมแผ่ซ่านออกมา เมล็ดพันธุ์แห่งความงามในพระพุทธศาสนาก็คือ เมล็ดพันธุ์แห่งศีล สมาธิ และปัญญา

พระเจ้าปเสนทิโกศลแสดงความแปลกใจที่มีต่อพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนาว่า ทั้งที่เลี้ยงชีพด้วยอาหารที่ผู้อื่นเขาให้แท้ๆ แต่เหตุใดพระอริยสาวกทั้งหลายเหล่านี้จึงมีความร่าเริง มีใจชื่นบาน มีรูปอันน่ายินดี มีอินทรีย์เอิบอิ่ม มีความขวนขวายน้อย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระอริยสาวกทั้งหลายได้ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความงามทั้ง ๓ ประการไว้แล้วนั่นเอง ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ความงามในเบื้องต้นด้วยการฝึกอบรมกาย วาจา ให้มีความสงบเสงี่ยมเรียบร้อย เป็นปกติ ที่เรียกว่า ศีล เมล็ดพันธุ์ความงามในท่ามกลาง ด้วยการปฏิบัติในสมาธิ อันได้แก่ ฌานทั้งหลาย และเมล็ดพันธุ์ความงามในที่สุดด้วยปัญญาญาณ


โศลกว่า “เป็นความงามพร้อม นั่นแหละคือผลการบำเพ็ญเพียร” ทุกอากัปกิริยาที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ไปด้วยสติสัมปชัญญะ เต็มเปี่ยมไปด้วยการเป็นผู้เฝ้าดู ไม่ว่าจะพูด จะฟัง จะคิด จะเดิน นั่ง ยืน นอน ล้วนแล้วแต่มีความสมบูรณ์พร้อมนั่นแหละคือความงดงามที่แสดงออก การพูดที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา ด้วยความรัก ด้วยจิตที่งดงาม คือผลแห่งการปฏิบัติ ผลแห่งการบำเพ็ญเพียร สุดท้ายแล้วความงดงามนั้นสื่อออกเป็นความสงบ สื่อออกเป็นความเย็นแห่งจิต ไม่ว่าจะกระทำการใดๆ ทั้งทางกาย วาจา และใจก็ล้วนแล้วแต่มีความสงบเป็นพื้นฐาน นั่นแหละความเต็มเปี่ยมแห่งความงาม เป็นความงามอันอมตะ เป็นความงามที่แท้และยั่งยืน

นี่คือ โศลกที่ยี่สิบเก้าแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา