วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พุทธคามินีปฏิปทา

พุทธคามินีปฏิปทา




๑. ความเบื้องต้น

การเดินทางไปกราบนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง ของคณะบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยในปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ ๒๕ มกราคม – ๖ กุมภาพันธ์ โดยมีพระครูธีรสารปริยัติคุณ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ ได้รับมอบหมายจากอธิการบดีให้เป็นประธานในการเดินทางและมีพระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์ (สมณศักดิ์ตอนนี้คือ พระเมธาวินัยรส) รักษาการคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยในฐานะผู้บริหารมหาวิทยาลัย เดินทางไปตลอดเส้นทาง นับเป็นความสำเร็จตามโครงการกราบนมัสการสังเวชนียสถานและสัมมนาวิชาการกับมหาวิทยาลัยในประเทศอินเดียของบัณฑิตวิทยาลัยด้วยดี การจัดโครงการในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการจัดที่เต็มรูปแบบของการเดินทางไปศึกษาต่างประเทศ เนื่องจากมีทั้งผู้เดินทางจำนวนมากและใช้ระยะเวลาการเดินทางที่มากถึง ๑๒ วัน ด้วย จึงต้องเตรียมความพร้อมหลายเดือน


โครงการนี้จะสำเร็จลงไม่ได้ถ้าหากไม่ได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่เห็นความสำคัญของการเดินทางไปกราบนมัสการสังเวชนียสถานตามโครงการของบัณฑิตวิทยาลัยที่เสนออนุมัติ นอกจากนั้นยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากที่ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนงบประมาณให้กับบัณฑิตวิทยาลัย เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อาจารย์อำนวย สุวรรณคีรี คณะกรรมการศาสนา ศิลปวัฒนธรรม รัฐสภา คุณนาที รัชกิจประการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพัทลุง เป็นต้น นอกจากนั้นก็มีนักศึกษาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา และบุคคลอื่น ๆ ที่เป็นกำลังสำคัญทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์ สำหรับผู้นำผู้ที่รับภาระธุระในการนำพาคณะของบัณฑิตวิทยาลัยไปตามจุดหมายต่าง ๆ จนครบทุกแห่งก็คือ NC Holidaytours โดยมีคุณสุจินต์ อ่อนหนู ผู้จัดการทั่วไป ดำเนินการไปด้วยตนเองตลอดเส้นทาง


เส้นทางในการไปกราบนมัสการสังเวชนียสถานและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา มี ดังนี้ พุทธคยา บ้านนางสุชาดามหาอุบาสิกา ราชคฤห์ พระคันธกุฎี-เขาคิชฌกูฏ วัดเวฬุวัน มหาวิทยาลัยนาลันทา สารนาถ ลุมพินี กุสินารา สาวัตถี พาราณสี แม่น้ำคงคา อจันต้า-เอลโลรา สถูปสาญจี วัดพระพิฆเนศ ประตูชัยที่มุมไบ สัมมนาร่วมกับมหาวิทยาลัยพาราณสี (BHU) โดยมี Prof. Kamal Sheel คณบดีคณะศิลปะศาสตร์ เป็นผู้ต้อนรับ และมหาวิทยาลัย ดร.บาบาซาเฮบ เอมเบดก้า มาราธวาด (Dr.Babasaheb Ambedkar Marathwada University) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า มหาวิทยาลัยออรังกาบาด โดยมี Prof. Dr.Prashant B. Pagare, คณบดีคณะศึกษาศาสตร์และ Dr. Chetana Pralhad Sonkanble เป็นผู้ต้อนรับ มีผู้ร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ทั้งสิ้น ๑๐๗ รูป/คน ตามรายชื่อที่แนบไว้ภาคผนวกท้ายเล่ม


ความสำเร็จทุกประการ พร้อมกับบุญกุศลที่ทุกคนจาริกไปกับคณะในครั้งนี้ได้บำเพ็ญตลอดเส้นทาง ขอแผ่ให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย แผ่ให้กับเทวดา มาร พรหม ขอให้จงได้รับส่วนแห่งบุญที่ทุกคนได้บำเพ็ญในกาลครั้งนี้ ในนามของผู้ประสานงานดำเนินการโครงการได้เห็นความปีติอิ่มใจที่ทุกคนผู้ได้เดินตามรอยพระบาทพระพุทธองค์ ได้กราบลงแทบพื้นแผ่นดินที่พระอริยสงฆ์ทั้งหลายได้เดินทางไปเผยแผ่ธรรม ได้เห็นทุกคนมีจิตใจที่งดงามบำเพ็ญบุญกุศล ก็ถือเอาเป็นกำลังใจให้ได้มุ่งมั่นกระทำคุณงามความดี นำพาทุกคนไปสู่เส้นทางธรรมอย่างไม่มีวันสิ้นสุดจนกว่าจะพ้นจากสังสารวัฏนี้ต่อไป

 
๒. การเดินทางที่แท้
นิยามของชีวิตข้อหนึ่งมีว่า “ชีวิต คือการเดินทาง” ผู้ให้นิยามไว้คงมองเห็นแง่มุมของการเดินทางอย่างไม่หยุดหย่อนของชีวิตนี้ เริ่มนับตั้งแต่เกิดจนถึงสิ้นชีวิต ซึ่งเป็นการมองในแง่ของการใช้ชีวิตในชาติหนึ่ง หากมองกันอย่างนักการศาสนา ก็มองไปจนถึงข้ามภพข้ามชาติ ไม่ใช่แต่เพียงชาติหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นนับชาติไม่ถ้วนที่ชีวิตต้องเดินไป จำได้ว่า คำตอบของภิกษุณีรูปหนึ่งเคยกราบทูลตอบพระพุทธเจ้าไว้ว่า “ชีวิตนี้มาจากไหน จะไปไหนก่อนนั้นไม่ทราบ แต่บัดนี้ทราบแล้ว” ชีวิตของมนุษย์มาจากไหน และจะไปไหนไม่อาจทราบได้จริง ๆ ผู้คนทั้งหลายดิ้นรนเดินทางไปจากความไม่มีอะไรมา และก็ไม่มีอะไรไปเช่นเดิม เป็นอย่างนี้แทบทุกคนบนโลก ที่น่าแปลกก็คือ มนุษย์ที่เดินทางไปสู่ความไม่มีอะไรนั้น กลับแสวงหาและยึดเหนี่ยวสมบัติบนพื้นโลกนี้ไว้เป็นสมบัติส่วนตน พยายามแก่งแย่ง แข่งขัน ปากกัด ตีนถีบ ทำร้ายและทำลายกันและกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ดุจดังจิ้งหรีดในกระบุงที่เขาขังไว้รอวันเวลาทอดกรอบ ต่างก็ใช้เท้าเหยียบย่ำ ดีดกันไปมาไม่มีใครยอมใคร สุดท้ายก็จบลงที่กระทะทอดน้ำมัน ผู้คนก็เช่นกัน สุดท้ายก็ไปร่วมกันทำพิธีศพให้

การเดินทางในมุมมองของพระพุทธศาสนาแล้ว เป็นการเดินทางเพื่อค้นหาตัวตนของตนเอง เมื่อค้นหาตัวตนของตนเองพบก็จะพบว่า ที่แท้แล้ว ตัวตนที่ว่านั้นไม่มีอยู่เลย งานค้นหาต้นตอของชีวิตนั้นเป็นงานระดับชาติ หมายความว่า ต้องใช้ชีวิตทั้งชาติในการค้นหา เพราะตัวตนไม่อาจเผยตัวให้พบได้ง่าย ๆ เนื่องจากบุคคลทั้งหลายต่างพากันแสวงหาจากภายนอก ยิ่งในมุมมองของนักธุรกิจหรือการดำรงชีพของผู้คนแล้ว การค้นพบตัวตนของตนเอง หมายถึง การค้นพบว่า ตนเองนั้นชอบอะไร มีความถนัดอะไร มีความสามารถอะไร ถ้าใครพบไวก็สามารถสร้างชีวิตและสร้างครอบครัวได้ไว ถ้าใครพบช้าก็สร้างชีวิตและครอบครัวได้ช้า มิติแห่งการค้นหาชีวิตตามแนวของโลกกับของธรรมนั้นไปคนละเส้นทาง


พระพุทธเจ้าได้ใช้เวลาในการค้นหาตนเองมาเป็นเวลา ๔ อสงไขยกับอีกแสนมหากัป เป็นการแสวงหาตนเองมาเป็นเวลาอันยาวนานมาก ความยาวนานในที่นี้เป็นการนับออกมาให้เห็นเป็นจำนวนนับเท่านั้น แท้จริงแล้วชีวิตของทุกคนก็ไม่ได้น้อยไปกว่าเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลาแสวงหาตัวตนของพระองค์หรอก เชื่อแน่ว่ามากกว่านั้น ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ในปัจฉิมยามหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งสมาธิอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ทรงค้นพบตัวตนของพระองค์แล้ว นับเป็นเวลาที่สิ้นสุดการเดินทางที่แท้จริง พระองค์ทรงเปล่งอุทานออกมาว่า
อเนกชาติสํสารํ สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ
คหการงฺคเวสนฺโต ทุกขา ชาติ ปุนปฺปุนํ,
คหการกทิฏฺโฐสิ ปุน เคหํ น กาหสิ
สพฺพา เต ผาสุกา ภคฺคา คหกูฏํ วิสงฺขตํ,
วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา
แปลความได้ว่า


เมื่อเรายังไม่พบญาณ ได้แล่นท่องเที่ยวไปในสงสารอันเป็นอเนกชาติ แสวงหาอยู่ซึ่งนายช่างปลูกเรือน คือตัณหาผู้สร้างภพ การเกิดทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป นี่แน่ะ นายช่างปลูกเรือน เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจะทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป โครงเรือนทั้งหมดของเจ้าเราหักเสียแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว จิตของเราถึงแล้วซึ่งสภาพที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป มันได้ถึงแล้วซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหา (คือ ถึงนิพพาน)

พุทธอุทานนี้นับเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์อย่างยิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ก็อะไรเล่าเป็นตัวสร้างทางแห่งชีวิตนี้อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น ทำให้ชีวิตนี้ต้องเดินทางเป็นวงกลม ไม่มีเบื้องต้นและที่สุด จนกลายเป็นความทุกข์ของขันธ์นี้ การเดินทางที่แท้ก็คือ การเดินทางเพื่อให้เข้าไปรู้จักนายช่างผู้สร้างเรือน คือ เบญจขันธ์นี้ต่างหาก เมื่อรู้แล้วก็ทำลายนายช่างนั้นเสีย อย่าได้ปล่อยให้นายช่างได้สร้างเรือนอีกต่อไป


๓. นายช่างผู้สร้างเรือน
นายช่างผู้สร้างเรือน คือ เบญจขันธ์นี้น้อยคนนักที่จะรู้จัก และทำลายเสียได้ เพราะนายช่างผู้สร้างเรือนหลังนี้ได้แฝงอยู่ในเบญจขันธ์นี้เรียบร้อยแล้ว ฝังตัวอยู่ในระดับ DNA ก็คือ ระดับอนุสัยเลยทีเดียว จึงยากที่จะพบเห็นได้โดยง่าย แม้จะมีใครพบเห็นแล้ว แต่จะทำอย่างไรที่จะรื้อถอนนายช่างให้ออกไปจากเบญจขันธ์ก็ไม่ใช่กระทำได้ง่ายเช่นกัน แต่ถึงอย่างไร ในนามของชาวพุทธที่แท้แล้ว แม้จะยากสักเพียงไหนก็ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำก็ต้องถูกนายช่างนี้สร้างเรือนให้และเป็นทุกข์อยู่อย่างนี้นับชาติไม่ถ้วน


นายช่างนี้คือใคร ก็คือ นายช่างชื่อ ตัณหานี่เอง ถามว่า นายช่างตัณหานี้มาได้อย่างไร แล้วมาทำบทบาทหน้าที่อย่างไรจึงทำให้เกิดเรือนขึ้น ตอบว่า ตัณหานี้เกิดจากเวทนา คือความรู้สึกสุข ทุกข์นี่เอง เมื่อมีสุขอันเกิดจากผัสสะ ตัณหาก็ทำงาน คือการอยากได้ อยากมี อยากเป็นทันที กามตัณหาและภาวะตัณหาก็ทำงาน พอมีความรู้สึกเป็นทุกข์อันเกิดจากผัสสะ ตัณหาก็ทำงาน คือไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น วิภวตัณหาก็ทำงานทันที กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหานี้เองที่ทำให้เกิดเรือนขึ้น เพราะเมื่อใดที่มีตัณหา การเข้าไปยึดว่ามี ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเราก็เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการรับช่วงของอุปาทาน นั่นแหละภพชาติเกิดขึ้นแล้ว วงจรแห่งความทุกข์เกิดขึ้นด้วยเหตุฉะนี้


เมื่อย้อนดูสาเหตุขึ้นไปอีกว่า เพราะเหตุใดจึงมีผัสสะจนทำให้เกิดเวทนาอันเป็นที่มาของนายช่างได้ ก็พบว่า ก็เพราะอาศัยอายตนะทั้ง ๖ จึงทำให้เกิดมีผัสสะขึ้น แล้วอายตนะเล่ามาได้อย่างไร ก็พบว่า อายตนะมีมาได้ก็เพราะมีนามรูปนี่เอง เหตุใดนามรูปจึงมีมาได้ ก็เพราะมีวิญญาณ คือการรับรู้นั่นเอง แล้ววิญญาณเล่ามีมาได้อย่างไร ก็เพราะมีสังขาร ตัวปรุงแต่งนี่เอง แล้วเหตุใดสังขารจึงมีมาได้เล่า ก็เพราะมีอวิชชา ความไม่รู้นั่นเอง ถามว่า เหตุใดอวิชชาจึงมีมาได้ ก็เพราะมีอาสวะ คือ ความเศร้าหมอง เหตุใดจึงมีความเศร้าหมองได้ ก็เพราะมีอวิชชานั่นแหละ ที่ว่ามีอวิชชาคือความไม่รู้ เป็นความไม่รู้อย่างไร เป็นความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ อันได้แก่ ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้สมุทัย ไม่รู้นิโรธ และไม่รู้หนทางนำไปสู่ความพ้นทุกข์

๔. ความสิ้นไปแห่งตัณหา
ชีวิตของมนุษย์ถูกตัณหานี้ผลักดันไป ผลักดันให้แสวงหาความสุข ความสุขที่ติดอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ แสวงหาจนไม่หยุดหย่อน มีสิบ อยากได้ร้อย มีร้อย อยากได้พัน มีพันอยากได้หมื่น อยากได้แสน อยากได้ล้าน ชีวิตจบลงที่หลักหมื่นกันนับไม่ถ้วน มีบ้างที่จบหลักล้าน ความหวังทำให้คนมีชีวิตอยู่ได้ เดินทางไปได้ ดำรงอยู่ได้อย่างอดทน ทั้งที่ไม่รู้ว่า การเดินทางนั้นมีจุดหมายเพื่ออะไร เพื่อแฟนสวย ๆ หล่อ ๆ เพื่อลูก เพื่อบ้าน เพื่อรถ เพื่อหน้าที่ การงาน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แล้วที่สุดก็เป็นชีวิตที่ว่างเปล่า ไร้ทางออกเช่นเดิม


แต่มนุษย์นั้นผู้มีตาอันมืดบอดจึงไม่สามารถเห็นได้ รู้ได้ เข้าใจได้ ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “จงมาดูเถิด (เอหิปัสสิกะ) และน้อมเข้ามาปฏิบัติ (โอปนยิกะ)” ดูให้เห็นในปัจจุบัน ดูเข้าไปภายใน เพียงแค่อยู่นิ่ง ๆ น้อมเข้ามาปฏิบัติ กล่าวคือ น้อมเข้ามามองดูด้วยสติและอุเบกขาก็จะเห็นชัด จึงเรียกการเห็นเช่นนี้ว่า เห็นแจ้ง หรือวิปัสสนา เป็นการเห็นตามความเป็นจริง หรือยถาภูตญาณทัศนะ นี่เป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเพื่อถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหา นี่เป็นการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนา เป็นการเปิดตาภายในให้เห็นตามความเป็นจริง เป็นการให้ดวงตาแก่โลก เพื่อให้เห็นนายช่างคือตัณหา ตัณหาที่หมักหมมถมทับกันไปมาจนไม่อาจเป็นอะไรได้อีก


แท้จริงแล้ว ความเป็นพุทธะดำรงอยู่ภายใน ขอเพียงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และเบิกบาน ก็ชื่อว่า เป็นพุทธะ เข้าถึงความเป็นพุทธะ แต่ที่ไม่รู้ก็เพราะฝุ่นผงคือ ตัณหาที่ติดแน่นด้วยกาวคืออุปาทาน ได้เคลือบเป็นชั้น ๆ ทำอย่างไรจึงจะขจัดตัณหาให้สิ้นไปได้ ดังที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น การจะขจัดอะไรก็ต้องขจัดที่สาเหตุของสิ่งนั้น เมื่อสาเหตุของสิ่งนั้นหมดไป ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดสิ่งที่ตามมาได้ ในที่นี้ตัณหานั้นมีสาเหตุมาจากเวทนา ก็ต้องดำเนินการที่เวทนาจึงจะทำให้ตัณหาสิ้นไป


จะทำอย่างไรกับเวทนาเล่า ! ประการแรกสุดก็ต้องหาเครื่องมือก่อน เครื่องมือที่จะดำเนินการกับเวทนาก็คือ สติและอุเบกขา สติจะเป็นธรรมเครื่องส่องให้เห็นเวทนาตามความเป็นจริง อุเบกขาจะเป็นธรรมไม่ให้เวทนาเป็นเชื้อให้เกิดตัณหาได้ พระพุทธเจ้าอุทานว่า “จิตของเราถึงแล้วซึ่งสภาพที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป” ก็เมื่ออุเบกขาธรรมประกอบในเวทนาแล้ว ไม่ให้เวทนานี้เป็นไปตามอำนาจของตัณหาอีก ตัณหานั้นเป็นสังขารธรรม คือธรรมปรุงแต่งเวทนาให้กลายเป็นตัณหา คือ ชอบ ไม่ชอบ ดี ไม่ดี อยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เมื่อมีอุเบกขา ตัณหาก็ไม่สามารถทำงานได้ ขันธ์ทั้ง ๕ ก็เป็นเพียงขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีสภาพตามความเป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเท่านั้น ผู้เห็นแจ้งเบญจขันธ์เช่นนี้ย่อมไม่ถูกตัณหาชักนำไปได้ ก็เพราะได้ตัดเสียซึ่งสาเหตุเบื้องต้น สาเหตุแห่งทุกข์ทั้งมวล ซึ่งได้แก่ อวิชชา เมื่อวิชชา เกิด อวิชชาก็ดับไป กองแห่งทุกข์ก็ดับไปด้วย

๖. ความแปลกแต่จริง
เป็นความแปลกอย่างหนึ่งของขันธ์ทั้งหลายที่มันทำงานของมันเอง แล้วมันก็เข้าไปยึดตัวของมันเองเป็นเหมือนเครื่องปั่นไฟ ตัวมันปั่นไฟเองแล้วก็ภาคภูมิใจในไฟที่มันสว่างโดยที่ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ผู้คนทั้งหลายในโลกแทนที่จะหันมามองหาต้นตอว่าทำไมจึงทำให้เกิดความโลภ โกรธและหลง แต่กลับมองออกไปภายนอกว่า ใครเป็นต้นเหตุแห่งความโลภ ความโกรธ และความหลง ดังนั้นคนจึงเห็นเงินทอง คนรวยเป็นต้นเหตุแห่งความโลภ ผู้หญิงสวย ความงามเป็นต้นเหตุแห่งราคะ คนมายั่วโมโห คำด่า คำสบประมาท การทำร้ายกันและกันเป็นสาเหตุแห่งความโกรธ คนปิดบังอำพรางเป็นสาเหตุแห่งความหลง เข้าใจผิด เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้ตั้งสมมติฐานผิด แล้วนำไปสู่การกระทำต่ออาการเหล่านั้นผิดเพี้ยนไป


แท้จริงแล้ว สิ่งที่เป็นต้นเหตุแห่งอาการทั้งมวลก็คือ อวิชชา ความไม่รู้แจ้งในขันธ์นี้นั่นเอง เมื่อไม่รู้แจ้งก็เป็นเหตุให้ขันธ์นี้กระทำอย่างสะเปะสะปะ นำไปสู่การผูกแน่นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ทราบว่าที่แท้นั้นขันธ์นี้เป็นเช่นใดกันแน่ ขันธ์นี้เป็นกองแห่งทุกข์อย่างไร การจะสิ้นกองทุกข์แห่งขันธ์นี้ต้องทำกันอย่างไร


การได้เห็นตัณหา อุปาทาน ที่ผูกโยงขันธ์ทั้งหลายไว้ให้ยึดโยงกันไว้จนกลายเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เอาไว้ นับว่าเป็นการง่ายต่อการจะปฏิบัติต่ออัตตาได้ถูกต้อง อัตตานี้เกิดขึ้นเพราะการไม่รู้แจ้งในขันธ์ทั้งหลาย ยึดถือเอาขันธ์ทั้งหลายว่า มีอยู่ เป็นอยู่อย่างเที่ยงแท้ แน่นอนและเป็นที่สุดของชีวิต การไม่รู้แจ้งในขันธ์นี้เป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพราะอวิชชามิใช่จะเปิดโอกาสให้สรรพสัตว์เห็นแจ้งในขันธ์ได้อย่างง่ายๆ แม้เพียงเรื่องง่ายๆ เช่น การไม่รู้ในสิ่งสมมติขึ้น เมื่อรู้ได้ด้วยการบอกกล่าว อบรมสั่งสอน ยังเป็นเรื่องยากที่บุคคลทั้งหลายจะจดจำและปฏิบัติตามสมมตินั้นได้อย่างถูกต้อง ขยับขึ้นไปอีก การที่จะเป็นคนคิดได้ รู้จักคิด รู้จักบาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ ก็เป็นเรื่องยากสำหรับสรรพสัตว์ที่จะเข้าใจและปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องพูดถึง ความยากในระดับที่สามนี้ที่ใครจะเข้าไปเห็นความเป็นอนัตตาแห่งสังขารทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรมได้

๗. พุทธคามินีปฏิปทา
ทางปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความเป็นพุทธะ คือ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เรียกว่า ทางสายกลาง ประกอบไปด้วยหลักธรรมสายกลางคือ มัชเฌนธรรมและหลักปฏิบัติสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา หลักธรรมสายกลางก็คือ ไตรลักษณ์ หลักปฏิบัติสายกลางก็คือ ไตรสิกขา พุทธคามินีปฏิปทานี้เปรียบเหมือนตัวยาวิเศษที่ผสมผสานตัวยาวิเศษทั้งหลายไว้ในยาเม็ดเดียว เมื่อถามว่า ตัวยาผสมอะไรบ้าง ก็สามารถบอกได้ แต่ไม่ได้สามารถใช้ทีละส่วนผสมได้ ต้องใช้ทั้งเม็ดเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น จึงเรียกว่า โอสถสมังคี หรือ มรรคสมังคี คือความถึงพร้อมแห่งยาที่ผสมกันได้ส่วน หรือความสมบูรณ์แห่งศีล สมาธิ และปัญญานั่นเอง


ตัวยานี้ใช้ในขณะไหน ใช้ในขณะปฏิบัติสมาธิในอานาปานสติ ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย การหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกาย การหวั่นไหวโยกโคลงแห่งจิต มีขึ้นไม่ได้เพราะการเจริญทำให้มากซึ่งสมาธิใด...การหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกาย การหวั่นไหวโยกโคลงแห่งจิต มีขึ้นไม่ได้เพราะการเจริญทำให้มาก เพราะการเจริญทำให้มากซึ่งสมาธิเหล่าไหนเล่า...เพราะการเจริญทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิ”(สํ.ม. ๑๙/๓๙๙-๔๐๐/๑๓๒๒-๑๓๒๖.) “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ธรรมอย่างหนึ่งคืออะไร คือ อานาปานสติ” (องฺ.เอก. ๒๐/๓๙-๔๐/๑๗๙-๑๘๐)


“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเจริญอานาปานสติแม้ชั่วการลัดนิ้วมือเดียว ภิกษุนี้เรากล่าวว่าอยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดา ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า จะป่วยกล่าวไปใยถึงผู้กระทำให้มากซึ่งอานาปานสติเล่า” (องฺ.เอก. ๒๐/๕๔-๕๕/๒๒๔)


อานาปานสติเป็นพุทธคามินีปฏิปทา เป็นทางที่จะทำให้เห็นแจ้งตัณหา มีวิธีอย่างไรเล่า! ก็มีวิธีอยู่ ๔ ส่วน ได้แก่ ส่วนของการสงบกาย สงบเวทนา สงบจิต และปล่อยวาง การสงบกายนั้นทำอย่างไร สงบกายก็คือ การมีสติรู้ลมหายใจเข้าออก ยาว สั้น เป็นเพียงลมและก็สงบระงับเสีย สงบเวทนานั้นทำอย่างไร หายใจเข้า-ออกก็พิจารณาหยั่งเห็นด้วยสติในปีติ สุข ความรู้สึกและสงบระงับเสีย สงบจิตนั้นทำอย่างไร หายใจเข้า-ออกก็พิจารณาหยั่งเห็นด้วยสติในจิต ความปราโมทย์ ความตั้งมั่น และเตรียมจิตไว้ แล้วการปล่อยวางนั้นทำอย่างไร หายใจเข้า-ออกก็พิจารณาหยั่งเห็นด้วยสติในความไม่เที่ยงแห่งกาย เวทนา และจิต ถอนความยึดมั่นถือมั่นในกาย เวทนา และจิต เป็นอิสระสิ้นเชิงจากสิ่งร้อยรัดยึดมั่นในกาย เวทนา และจิต จากนั้นก็ปล่อยวางไว้เช่นนั้น


อาศัยพลังแห่งความเพียรเครื่องเผากิเลส (อาตาปี) ความตื่นตัว (สติมา) และความระลึกรู้เสมอ (สัมปชาโน) ในการดำเนินตามพุทธคามินีปฏิปทาอย่างต่อเนื่อง การเดินทางที่แท้เริ่มแล้ว ชีวิตมีที่สิ้นสุดแล้ว นายช่างคือตัณหาไม่อาจสร้างเรือนได้อีกต่อไป การได้ปัญญาที่เกิดจากการพิจารณาธรรมด้วยพลังแห่งสมาธิจึงจะเห็นข้อต่อแห่งอัตตาที่ผูกขันธ์ทั้งหลาย เมื่อเห็นแจ้งข้อต่อคือ ตัณหาและอุปาทาน การยึดมั่นถือมั่นเพราะความไม่รู้ที่ทำให้เกิดความอยากขึ้นอย่างสิ้นเชิง ก็ชื่อว่า กระบวนการแห่งธรรมที่ทำที่สุดแห่งทุกข์สิ้นแล้ว พรหมจรรย์นี้อยู่จบแล้ว ภพนี้เป็นภพสุดท้าย ชาติสิ้นแล้ว ขันธ์ที่เหลืออยู่มีไว้เพื่อบำเพ็ญและอุทิศตนเพื่อเผยแผ่ธรรมนี้ให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย บริหารขันธ์นี้ให้เป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง จนกว่าจะสิ้นขันธ์นี้ไปก็เท่านั้น