วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555


โศลกที่สามสิบห้า "บูรณาการแห่งธรรม"



อานาปานสติทั้งสี่บรรพ
สิกขติลมหายใจสงบเย็นกายสังขาร
สิกขติความรู้สึกสงบเย็นจิตสังขาร
สิกขติจิตตั้งมั่นปล่อยจิตดำรงอยู่
ถึงช่วงเวลาวิปัสสนาบูรณาการ
ใช้ธรรมมิติเข้าสิกขติทั่วสภาวะ
อินทรีย์มีพลังในการเดินวิปัสสนา
เห็นแจ้งอนิจจตาในกายเวทนาจิต
คลายความหลงใหลในกายเวทนาจิต
สิ้นความยึดมั่นในกายเวทนาและจิต
ปล่อยวางจิตกายเวทนาไปตามธรรมชาติ
สภาวะจิตเปลี่ยนผ่านข้ามพ้นปุถุชนโคตรภูมิ
นี่เป็นผลบูรณาการแห่งธรรมในอานาปานสติ


“บูรณาการ” คำ ๆ นี้กำลังได้รับการความสนใจในหลาย ๆ วงการ โดยเฉพาะวงการศึกษาซึ่งได้ใช้คำนี้มาสักระยะหนึ่งแล้วและความเห่อนั้นกำลังจะหายไป ไม่ว่าจะหายไปหรือไม่อย่างไร บูรณาการก็เป็นวิธีการที่เหมาะสมกับทุกศาสตร์ ศัพท์ว่า บูรณาการ (integration) คือ การทำให้สมบูรณ์ไปกับส่วนอื่น กล่าวให้ชัดคือ การนำองค์ประกอบหนึ่งไปรวมกับองค์ประกอบอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ หรือการมองทั้งระบบที่โยงใยสัมพัทธ์และสัมพันธ์กันแล้วจัดการให้สมบูรณ์ ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดตามเป้าหมาย ไม่ได้หมายถึงนำหนึ่งบวกสอง บวกสาม หรือบวกสี่ แต่อาจหมายถึงหนึ่งบวกสี่ สองบวกสามหรือกระทำอื่นใดก็ได้ในระบบนั้นเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ เพียงแต่ต้องเป็นไปอย่างมีระบบ ไม่ใช่ทำอย่างสะเปะสะปะ ความสมบูรณ์ที่เป็นบูรณาการนั้นมีปรากฏอยู่แล้วเพียงแต่ไม่ได้นำมาศึกษา เช่น บูรณาการของอาหาร บูรณาการของดนตรี บูรณาการของเภสัช บูรณาการของไอแพท-ไอโฟน บูรณาการแห่ง 3G เป็นต้น ระบบต่าง ๆ ที่กำหนดไว้สามารถเชื่อมโยงกันทุกจุดขององค์ประกอบเพื่อประมวลผลออกมาอย่างสมบูรณ์

ความสำคัญของการบูรณาการนั้นอยู่ที่ความเข้าใจหน้าที่ของตน ๆ ยกตัวอย่างเรื่องดนตรี ดนตรีตัวไหนเป็นตัวนำจังหวะ ตัวไหนเป็นตัวทำนอง ตัวไหนเป็นตัวเคล้าตัวโน๊ต การทำหน้าที่ของแต่ละดนตรีนั้นผู้ควบคุมวงดนตรี (Conductor) ต้องทราบว่า จะให้ทำหน้าที่ตอนไหน เครื่องดนตรีตัวไหนเล่นกับตัวไหน ตัวไหนหยุดในขณะไหน ตอนไหนเล่นร่วมกันทั้งหมด ทุกอย่างมีระบบเพื่อความไพเราะของดนตรี มีทั้งเล่นเอง เล่นกับพวก มีทั้งหยุด มีทั้งส่ง มีทั้งรับ เป็นต้น

ระบบบูรณาการที่สุดมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ระบบบูรณาการของร่างกายนี่เอง จะเห็นได้จากอวัยวะแต่ละส่วนนั้นทำงานประสานกันได้อย่างเป็นระบบ เรียกว่าบูรณาการกันอย่างลงตัว หากมีส่วนไหนบกพร่องก็จะเกิดอาการติดขัดทันที ที่เรียกว่า “ป่วย” “ไม่สบาย” เป็นการฟ้องว่า มีอวัยวะบางชิ้นส่วนไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ ทำงานไม่สมบูรณ์ หรือทำงานบกพร่อง ต้องได้รับการดูแล ต้องได้รับการซ่อมแซมบำรุงให้เป็นปกติ ระบบกายก็มีองค์ประกอบของกาย ระบบจิตก็มีองค์ประกอบของจิต เมื่อพิจารณาการบูรณาการของทั้ง ๒ ระบบนี้ภายใต้ระบบใหญ่ที่เรียกว่า “ระบบองค์รวม”(Holistic System)


กายตกอยู่ภายใต้กฎสิ่งไร้ชีวิต (อุตุนิยาม Physical Law) และกฎสิ่งมีชีวิต (พีชะนิยาม Bio-Physical Law) จิตตกอยู่ภายใต้กฎเจตจำนง (จิตนิยาม Psychic Law) และกฎแห่งการกระทำ (กรรมนิยาม Karmic Law) แต่ทั้งกายและจิตนั้นตกอยู่ภายใต้กฎแห่งธรรมชาติ (ธรรมนิยาม Universal Law) นิยามทั้ง ๕ นั้นทำงานสัมพัทธ์กันเป็นเชิงบูรณาการผลักดันให้แต่ละขันธ์ดำเนินไป หมุนวนไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าหากไม่รู้จักวิธีดับกระแสระบบนี้ ก็ไม่มีทางเลยที่จะหยุดยั้งการหมุนวนแห่งขันธ์นี้ได้ ถ้าเข้าใจระบบการทำงานของแต่ละส่วนได้ ก็จะสามารถเข้าไปจัดการกับระบบนั้นได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะทำให้ระบบทำงานดีขึ้นหรือทำให้ระบบหยุดทำงานลง แต่ถ้าหากไม่เข้าใจระบบถูกต้อง ย่อมทำให้การกระทำต่อระบบผิดพลาด แทนที่จะทำให้ระบบเดินไปด้วยดี แต่กลับแทรกแซงและทำลายระบบอย่างไม่ถูกวิธี เช่นคิดว่า จะหยุดยั้งระบบ แต่กลับยิ่งทำให้ระบบหมุนไวขึ้น ซับซ้อนขึ้น ยิ่งทำ ก็ยิ่งห่างไกลจากการหยุดยั้งระบบ ตัวอย่างคนผิดหวังจากความรักแล้วฆ่าตัวตาย หรือไม่ก็ฆ่าคนที่ทำให้ตนผิดหวังตาย ด้วยคิดว่า การทำเช่นนั้นจะหยุดระบบเสียให้รู้แล้วรู้รอด แต่หารู้ไม่ว่านั่นแหละเป็นการกระทำต่อระบบที่ผิด ระบบจะยิ่งซับซ้อนตามพลังแรงกรรม ซึ่งจะทำให้ระบบหมุนมากขึ้น ซับซ้อนขึ้นยิ่งกว่าเดิม

โศลกว่า “ใช้ธรรมมิติเข้าสิกขติทั่วสภาวะ อินทรีย์มีพลังในการเดินวิปัสสนา”
ในที่นี้จะได้แสดงระบบของกายและจิตให้ทราบก่อน กายเป็นเรื่องของรูป (Material Qualities) ระบบของรูปดำเนินไปได้ด้วยสารอาหารหล่อเลี้ยง ต้องได้รับการดูแลป้องกันภัยจากดินฟ้าอากาศหรือจากโรคภัยไข้เจ็บที่มีผลต่อรูป รูปมีฐานอยู่ ๔ ส่วน ได้แก่

๑. ส่วนที่เป็นของแข็ง เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น
๒. ส่วนที่เป็นของเหลว เช่น ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ น้ำลาย เป็นต้น

๓. ส่วนที่เป็นอุณหภูมิ เช่น อุณหภูมิทำให้ร่างกายอบอุ่น ทำให้ร่างกายแก่ชรา ทำให้เป็นไข้ ทำให้อาหารย่อย เป็นต้น

๔. ส่วนที่เป็นอากาศ เช่น ลมหายใจ ลมในท้อง ลมในไส้ การหาว เรอ ผายลม ลมทั่วร่างที่ทำให้ร่างกายไหวไปมาได้ เป็นต้น

ส่วนประกอบทั้ง ๔ นี้เป็นฐานของกาย ซึ่งต้องได้รับการดูแลให้เป็นปกติของแต่ละฐาน ไม่ให้มาก ไม่ให้น้อย ไม่ให้ได้รับความเสียหาย และต้องบำรุงด้วยสารอาหารให้เพื่อให้ส่วนประกอบทั้ง ๔ นี้ ทำงานไปได้ตามปกติ นอกจากนั้นฐานของรูปกายทั้ง ๔ นี้ ยังเป็นที่ประกอบของรูปอื่น ๆ อีก ๒๔ ประเภทซึ่งไม่จำเป็นต้องแสดงไว้ในที่นี้

ส่วนจิตเป็นเรื่องของนาม (Psychic Qualities) ส่วนนี้ก็ต้องได้รับการดูแลเช่นเดียวกับกาย จิตเจริญด้วยอาหารเช่นกัน ช่องทางรับสารอาหารของจิตมี ๓ ทาง ฐานของจิตมี ๒ ฐาน ได้แก่

๑. ส่วนที่เป็นสภาพของจิตเอง แยกย่อยออกได้ถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ลักษณะ แต่รวมแล้วก็คือ สภาพที่รับและรู้อารมณ์

๒. ส่วนที่ประกอบเข้ากับจิตนี้ แยกย่อยออกได้ถึง ๕๒ ลักษณะ แต่รวมแล้วก็คือ สภาพปรุงแต่งจิตให้เกิดความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ รัก โลภ โกรธ หลง เมตตา ดีใจ หดหู่ เบิกบาน เป็นต้น ปรุงแต่งจิตไปเพื่อให้เกิดการกระทำออกมา

นอกจากนั้น จิตยังมีระบบการทำงานเฉพาะ เรียกว่า จิตวิถี หรือระบบการทำงานของจิต ๑๗ ขั้นตอน สรุปเป็นขั้นตอนรักษาภพ ขั้นตอนรับรู้อารมณ์ภายใน อารมณ์ภายนอก รับทราบอารมณ์ เสพอารมณ์ และก็ส่งอารมณ์ไปเก็บไว้

การที่กายกับจิตทำงานสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบเช่นนี้ จึงต้องย้อนไปดูปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) ผลที่ปรากฏ (Output) การนำผลที่ปรากฏนั้นไปทำปฏิกิริยาทางจิตเคมีให้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกที นี่คือ การทำความเข้าใจระบบการทำงานของกายและจิต จุดที่สำคัญในโศลกนี้อยู่ที่ว่า เมื่อทราบขั้นตอนการทำงานของกายและจิตแล้ว ก็ใช้ระบบแห่งกรรม (Karmic Law) ซึ่งมีกฎอยู่ที่ว่า เหตุ=ผล ใส่ปัจจัยนำเข้าอะไรเข้าไป ผลก็ออกมาเช่นนั้น ป้อนปัจจัยนำเข้านี้ที่ช่องทางรับอาหารของจิต ให้จิตได้เสพสิ่งนั้นอาหาร

เมื่อมีความเข้าใจการทำงานของระบบกายกับใจแล้ว การปฏิบัติบำเพ็ญเจริญสติภาวนา เป็นวิธีป้อนอาหารเข้าสู่ระบบจิต ปัจจัยนำเข้าในที่นี้ ได้แก่ ลมหายใจ ความรู้สึก สภาวะจิต เป็นตัวป้อนเข้าสู่ระบบ สติพิจารณาเห็นปัจจัยนำเข้าเหล่านี้ตลอดสาย ผลลัพธ์ย่อมปรากฏขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ได้แก่ ความเย็นกาย ความเย็นจิต ความตั้งมั่นของจิต การกำหนดจิตให้เสพลมหายใจ ความรู้สึก และสภาวะจิตเอง ผลก็คือ การหายใจก็จะหายไป เหลือแต่ลมที่เข้าออกระหว่างภายในกับภายนอก ร่างกายก็จะหายไปเหลือแต่ธาตุที่ผสมผสานกันของธาตุทั้ง ๔ ปีติสุขก็หายไป เหลือแต่ความเย็นแห่งจิต สภาวะจิตที่เสพตัวมันเองอยู่ก็หายไป เหลือแต่ความตั้งมั่น ความเป็นจิตสลายไปเหลือแต่ความว่าง ขณะนี้ชื่อว่า ผลปรากฏแล้ว เมื่อนั้นก็ใช้ผลที่ปรากฏนี้เป็นตัวผลักดันให้จิตทำงานโดยมีสติเป็นตัวควบคุมอยู่ตลอด

ในขณะนี้เป็นเวลาที่เหมาะแก่การบูรณาการธรรม ๔ มิติเข้าไปสู่ระบบ ได้แก่ บูรณาการความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของกาย เวทนา และจิต (อนิจจตา) เข้าไป บูรณาการความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ไม่ยึดมั่นถือมั่นใน กาย เวทนา จิต และแม้กระทั่งธรรมที่เป็นตัวพิจารณาเอง (วิราคา) เข้าสู่ระบบ บูรณาการการไร้การยึดมั่นกาย เวทนา และจิต (นิโรธา) เข้าไปอีก และบูรณาการการปล่อยวางกาย เวทนา จิตไว้อย่างนั้น (ปฏินิสสัคคา) เข้าไปทั้งชุดธรรม เมื่อบูรณาการธรรมทั้งสี่มิติด้วยสติอันคมกล้า สติอันเข้มแข็ง สติที่เต็มเปี่ยม อินทรีย์ทุกส่วนก็เต็มเปี่ยมแก่กล้ากลายเป็นกำลัง (พละ) ที่สมบูรณ์ ระบบกายและจิตย่อมมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแน่แท้

โศลกว่า “เห็นแจ้งอนิจจตาในกายเวทนาจิต คลายความหลงใหลในกายเวทนาจิต”
เมื่อบูรณาการธรรมทั้งสี่มิติเข้าไปในกระบวนการเช่นนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมเห็นแจ้งด้วยญาณทัสสนะซึ่งความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปร ความไม่มีแก่นอัตตาในกาย เวทนา และจิต เมื่อเห็นแจ้งเช่นนี้ก็ย่อมเห็นภัยที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในกาย เวทนา และจิตนั้น เมื่อเห็นแจ้งด้วยปัญญาญาณเช่นนี้ก็ย่อมคลายความหลงใหลในกาย เวทนา และจิตนั้นเสียได้ เมื่อคลายออกจนสุด คลายออกจนไม่เหลือ ถอนความยึดมั่นจนหมดสิ้นแล้ว ย่อมเห็นแจ้งด้วยปัญญาซึ่งความดับไม่เหลือของกาย เวทนา และจิตนั้น ปัญญาเกิดแล้ว วิชชาเกิดแล้ว ญาณเกิดแล้ว ความสว่างเกิดแล้ว จากนั้นก็ปล่อยให้สรรพสิ่งเคลื่อนไหวไปอย่างธรรมชาติ ปล่อยวางกาย เวทนา จิต และธรรมไปตามธรรมชาติอยู่เช่นนั้น

พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่ปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปัตตนมฤคทายวันว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา... เวทนาเป็นอนัตตา... สัญญาเป็นอนัตตา... สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา ถ้าวิญญาณนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว วิญญาณเหล่านี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในวิญญาณว่า วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะวิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อม ไม่ได้ในวิญญาณว่า วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย (ก็ในเมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) ไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ...เธอทั้งหลายพึงพิจารณารูป เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา

ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟัง ได้พิจารณาอยู่อย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัดจิตก็พ้น เมื่อจิตพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นก็ทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

การมีสติดิ่งลงในการพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมย่อมเข้าถึงการหลุดพ้นจากสิ่งร้อยรัดทั้งหลาย การบูรณาการธรรมมิติ นำไปสู่การหลุดพ้นจากวัฏฏะได้ ขอการบูรณาการแห่งธรรมมิติจงเป็นไปในกาย เวทนา จิต ของผู้บำเพ็ญเพียรสมณธรรม เพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบเถิด

นี่คือ โศลกที่สามสิบห้าแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา





วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555


โศลกที่สามสิบสี่ "ข้ามไปอีกขั้น"


ความสำเร็จทุกอย่าง
มีจุดเริ่มต้น มีด่านทดสอบ
การบำเพ็ญเพียรสมณธรรมก็เช่นกัน
ด่านแรกคือระยะเวลา
หนึ่งชั่วโมงเป็นขีดขั้นกำหนด
ด่านสองคือเวทนากล้า
ผู้บำเพ็ญเพียรผ่านสองชั่วโมง
จึงสำเร็จผ่านด่านกายเวทนาไปได้
สาระสำคัญมิใช่ได้เวลามากน้อย
แต่ได้เวลาบำเพ็ญตบะที่นานพอ
พอชื่อว่ากระทำให้มาก เจริญให้มาก
บำเพ็ญสมณธรรมมีแก่นแท้เท่านี้

“เวลา” เป็นสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ยังไม่อาจเข้าใจได้กระจ่าง เป็นที่สงสัยอยู่เสมอมา ต่างพากันตั้งคำถามว่า แท้จริงเวลามีอยู่จริงหรือไม่ ถ้ามี แล้วเวลาเป็นอะไร และเวลาจะมีวันหมดไปหรือไม่ นักปราชญ์ราชบัณฑิตต่างพากันแสวงหาคำตอบเรื่อยมา บ้างก็ได้คำตอบ บ้างก็ยังไม่พึงพอใจกับคำตอบที่ได้ กล่าวตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายเวลาว่า “ชั่วขณะความยาวนานที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ โดยนิยมกำหนดขึ้นเป็นครู่ คราว วัน เดือน ปี เป็นต้น” นิยามนี้ก็ไม่ได้บอกอะไรมากเกี่ยวกับตัวเวลา แต่บอกอาการที่เวลาแสดงออกเท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์อย่างไอน์สไตน์ให้ความคิดเกี่ยวกับเวลาว่า “เวลามีความสัมพัทธ์กับความเร็วแสง หากแสงเดินทางช้าลงก็จะไปดึงเวลาให้เดินเร็วขึ้น เพื่อชดเชยกับความเร็วแสงที่สูญเสียไป ทำให้แสงเดินทางด้วยความเร็วคงที่อยู่ตลอดเวลา โดยปัจจัยที่ทำให้แสงเดินทางช้าลง เช่น แรงโน้มถ่วง กล่าวคือ ในที่ ๆ ไม่มีแรงโน้มถ่วงเวลาจะเดินเร็วกว่าในที่ที่มีแรงโน้มถ่วง” ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเวลาในมุมมองนี้แสดงถึงกาลอวกาศ สสาร พลังงานที่ทำหน้าที่แสดงออกมาเป็นลักษณะเวลา แต่ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า เวลาคืออะไรกันแน่ เวลาตั้งอยู่อย่างไร เวลาเป็นสสารหรือพลังงาน หรือเวลาไม่ใช่ทั้งสสารและพลังงาน แต่เป็นอีกมิติหนึ่งที่มนุษย์ยังไม่ทราบ ถ้าหากสามารถหยุดเวลาได้ก็สามารถหยุดสิ่งต่าง ๆ ได้หรือไม่

ในส่วนของพระพุทธศาสนา ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับเวลาไว้ว่า “เวลาเป็นกฎแห่งไตรลักษณ์ที่เรียกว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป” ไม่ว่าอะไรก็ตามหากเกิดขึ้นก็ตกอยู่ภายใต้กฎนี้ทั้งนั้นจะเรียกว่า เวลาหรือกาล หรืออะไรก็แล้วแต่ เมื่อมีเกิดขึ้น ก็จะดำรงอยู่ และก็จะดับไปในที่สุด เวลาก็คือช่วงของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปนั้นเอง การเกิดขึ้นนับจากเวลานั้นไปก็จะกลายเป็นอดีต ขณะที่ดำรงอยู่ก็เป็นปัจจุบัน การจะดับไปในกาลข้างหน้าก็เป็นอนาคต และก็จะหมุนเวียนอย่างนี้ไปไม่มีวันจบสิ้น จึงเรียกว่า “สังสารวัฏ”

พระพุทธศาสนาเมื่อกล่าวถึงเวลา ไม่ได้ให้ใส่ใจในความเป็นเวลาว่ามันจะเป็นอะไร ไม่ใช่หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องไปสนใจ ดังนั้น ในคำถาม ๑๐ ประการที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ก็บวกเรื่องเวลาไว้แล้ว นั่นคือ “สังสารวัฏ (โลก) มีที่สิ้นสุดหรือไม่ หรือว่า โลก (เวลา สังสารวัฏ) ไม่มีที่สิ้นสุด” ปัญหาเหล่านี้จัดเป็นอัพยากตปัญหา พระพุทธเจ้าไม่ใช่ไม่แสดงเรื่องนี้ไว้ แต่ไม่ทรงตอบกับใคร ๆ ที่เข้ามาถามเพื่ออยากรู้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอุปมาไว้ว่า หากมีชายคนหนึ่งถูกลูกศรยิงเข้าทรวงอก เมื่อมีหมอมารักษา เขากับตั้งคำถามมากมายว่า ลูกศรยิงมาจากทางไหน ทำด้วยอะไร ใครยิง ฯลฯ ถ้ายังไม่รู้คำตอบก็ยังไม่ให้รักษา ชายผู้นี้จัดเป็นคนโง่หรือฉลาด พระพุทธเจ้าทรงเป็นนายแพทย์ผู้รักษาโรคทุกข์ของมนุษย์ มนุษย์ทุกคนที่ยังไม่หลุดพ้นต่างจมอยู่ในทะเลทุกข์ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงมาช่วย แต่มนุษย์ทั้งหลายพยายามไม่ให้พระองค์ช่วย กลับพากันตั้งคำถามต่าง ๆ นานา ถึงแม้ว่า พระพุทธองค์จะตอบให้ทราบ เขาทั้งหลายรู้คำตอบแล้ว ก็หาได้ช่วยเหลือให้พ้นจากทุกข์ไม่ ก็เพียงแค่ประดับความรู้เท่านั้น ไม่ได้ลดการเกิดในภพชาติ กิเลสตัณหาก็หาได้ลดลงแต่อย่างใด

ท่าทีของพระพุทธศาสนาที่มองเรื่องเวลามี ๒ ลักษณะ คือ เวลาภายนอกและเวลาภายใน เวลาภายนอกนั้นได้แก่ สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นมาแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่วนมนุษย์และสัตว์ก็ไหลไปตามกรรม หมุนเวียนตามกิเลส รับผลแห่งวิบาก จึงเป็นกิเลส กรรม วิบาก ในส่วนนี้ก็เป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งที่มีการเกิดขึ้น ก็ต้องสลายไปตามกาล ไม่ใช่เรื่องน่าวิตกหรือพิเศษอะไร ส่วนเวลาภายในก็คือความรู้สึกที่มีต่อเวลา หากมีความสุขมาก ก็อยากให้เวลานั้นอยู่ไปนาน ๆ หากมีความทุกข์ ก็อยากให้เวลานั้นหมดไปเร็ว ๆ เป็นเรื่องของเวทนา ตัณหาและอุปาทาน คือ ความรู้สึก ความอยากและความยึด

เมื่อพิจารณาจากมุมมองในพระพุทธศาสนาแล้วก็สามารถเห็นวิธีการหลุดพ้นจากกาลเวลาได้ อยู่เหนือกาลเวลาได้ ไม่จำกัดอยู่ในกาลเวลาได้ ตามทฤษฎีก็คือ หากไม่ต้องเกิดก็ไม่ต้องตั้งอยู่และดับไป หากไม่มีกรรม กิเลส และวิบาก ก็ไม่ต้องหมุนวนอยู่ในวัฏฏะ หากไม่มีอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็ไม่ต้องมีกาลเวลา กาลเวลามี เพราะมีเรา มีที่ตั้งแห่งเรา หากไม่มีเรา ไม่มีที่ตั้งแห่งเรา ก็ไม่มีเวลา ก็ในสังสารวัฏนี้มี ๓๑ ภูมิ หากไม่ตกอยู่ในขอบเขตแห่งภูมิใดภูมิหนึ่ง ก็ไร้กาลเวลา ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าแล้วจะทำอย่างไร นี่คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง นี่คือสิ่งที่พระพุทธศาสนาให้ความใส่ใจ นี่คือคำสอนทั้งหมดของพระพุทธศาสนาเพื่อให้สรรพสัตว์พ้นจากทุกข์ หรือพ้นจากกาลเวลา เพราะกาลเวลาก็คือ ความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปร ก็สิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ และสิ่งที่เป็นทุกข์ เพราะสิ่งนั้นเป็นอนัตตา

โศลกว่า “ด่านแรกคือระยะเวลา หนึ่งชั่วโมงเป็นขีดขั้นกำหนด”
 การบำเพ็ญสมณธรรม เป็นการสงบเพื่อรอคอยอย่างอดทน เพื่อรอกาลเวลาเบ่งบาน ดุจดังการรอคอยการเบ่งบานของพืชพันธุ์ดอกไม้ที่มีต่อแสงอาทิตย์ หน้าที่ของดอกไม้ก็คือรอคอยด้วยความอดทน สงบอยู่ นิ่งอยู่ ว่างอยู่ ไม่แกว่งไกว สั่นไหว ด่วนบาน หากไม่มีความอดทน การเบ่งบานก็ไม่ปรากฏ ระยะเวลาแห่งการอดทนนั้นเป็นด่านทดสอบการปฏิบัติ คำว่า “ปฏิบัติ” ในที่นี้ก็คือการเจริญภาวนา การเจริญภาวนาก็คือ “การรักษาสติให้ดำรงอยู่ต่อเนื่องตลอด” การทำให้สติเจริญขึ้น มากขึ้น ชื่อว่าปฏิบัติธรรม สติเพิ่มพูนขึ้นมากเท่าใด ความแจ่มชัดแห่งปัญญาก็จะเพิ่มพูนตามเมื่อนั้น ในช่วงนี้เป็นระยะเวลาแห่งการใช้ความเพียร คือ ความอดทน เป็นตบะธรรมเครื่องเผากิเลส หากไม่มีความอดทน สติก็ไม่เจริญ ปัญญาก็ไม่ปรากฏ ทุกอย่างต้องอาศัยเวลาแห่งการเบ่งบาน ดอกไม้ก็ต้องอาศัยเวลา รอกาลเบ่งบาน การปฏิบัติเจริญภาวนาบำเพ็ญสมณธรรมก็ต้องอาศัยเวลา รอกาลเต็มเปี่ยมเช่นกัน ไม่อาจคาดคิดด่วนได้เป็นอันขาด เพราะการคาดคิดด่วนได้ทำให้พลาดโอกาสไปทันที หน้าที่ของการปฏิบัติเจริญภาวนาบำเพ็ญสมณธรรมก็คือ ดำเนินต่อไป บำเพ็ญต่อไป ต่อเนื่องไม่ขาดสาย ส่วนปัญญาที่จะเบ่งบานนั้นเป็นเรื่องของความเต็มเปี่ยมแห่งอินทรีย์เอง

ความงดงามนั้นต้องอาศัยเวลาของมัน ระยะเวลาระหว่างเมล็ดไปเป็นดอกผลนั้นมีความละเอียดอ่อนมาก มีความซับซ้อนมาก ต้องรู้จักอดทนรอคอย หน้าที่รดน้ำพรวนดินเป็นหน้าที่ของเรา หน้าที่เจริญงอกงามให้ดอกผล เป็นเรื่องของต้นไม้พืชพันธุ์ แต่จุดสำคัญอยู่ที่การรู้จักวิธีปลูกเมล็ดพืชพันธุ์ รู้จักวิธีรดน้ำให้ถูกเวลา รู้จักกาลใส่ปุ๋ยพรวนดิน รู้จักกำจัดวัชพืชที่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโต รู้จักระยะเวลาที่พืชพันธุ์แต่ละชนิดจะให้ดอกผล รู้จักเก็บเกี่ยวช่วงระยะเวลาที่พืชพันธุ์ให้ผล ไม่ใช่รอคอยอย่างเดียว ไม่ใช่อดทนอย่างเดียว ทุกอย่างต้องมีระบบและการบริหารจัดการที่ดีและถูกต้อง

ระยะเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง เป็นระยะเวลาเริ่มแรกของการปฏิบัติเจริญภาวนาบำเพ็ญสมณธรรม ระยะเวลาแห่งการเริ่มจนไปถึงกาลที่ผลจะปรากฏ หรือที่เรียกในภาษาธรรมว่า ในระยะ “ปฏิบัติไปสู่ปฏิเวธ” นั้นมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน แน่นอนระยะเวลาที่ระบุไว้นั้นเป็นเรื่องไม่ใช่กฎเกณฑ์ตายตัวสำหรับทุกคน ทุกคนเป็นพืชพันธุ์แต่ละชนิดที่ต่างกัน บ้างใช้เวลามาก บ้างใช้เวลาน้อย แต่เพื่อให้เห็นเป็นแนวทางกลาง ๆ ในการพิสูจน์กระบวนการที่จะเกิดขึ้นตามมาสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติทุกคน นั่นก็คือ เวทนาอันเกิดจากความบีบคั้นทางกายที่ต้องนั่งหรือเดินประมาณ ๑ ชั่วโมง คำ ๆ หนึ่งที่มักได้ยินเป็นประจำในขณะที่จะต้องรับมือกับเวทนาก็คือ “ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม” เนื่องจากเวทนาอันเกิดจากแรงบีบคั้นนี้กำลังเป็นขั้นตอนเปลี่ยนถ่ายระดับ พิจารณาดูขั้นตอนการทำอะไรทุกอย่างจะมีจุดเปลี่ยนอยู่ช่วงหนึ่ง จุดเปลี่ยนตรงนี้สำคัญมาก ถ้าหากผ่านจุดเปลี่ยนตรงนี้ไปได้ก็จะขึ้นไปสู่อีกระดับหนึ่งทันที ซึ่งจะรู้สึกง่ายยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างการยกตัวของเครื่องบินที่กำลังบินขึ้น ช่วงของการบินขึ้นและช่วงของการไต่ระดับขึ้นไปนั้นต้องใช้กำลังอย่างมาก จุดที่ฝึกขี่จักรยานกำลังจะเป็นนั้นต้องใช้พลังอย่างมากเช่นกัน แต่เมื่อผ่านจุดผันผวนตรงนี้ไปก็จะผ่านด่านทดสอบความตั้งใจ

(อ่านต่อในหนังสือคัมภีร์สุวิญญมาลา วางแผงเร็วๆ นี้)

วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555



โศลกที่ ๓๓ "แมลงภู่และภูเขา"






ปรากฏการณ์ทางจิต
ขณะที่มีความสงบเย็น
ลมหายใจยังคงออกเข้าเบาบาง
ใจได้ล่องลอยหายไปกับแมลงภู่
ปีติใหญ่ปรากฏพรั่งพรูท่วมทับ
ลมหายใจกลับคืนสู่ปกติอีกครั้ง
ผ่านกาลไปด้วยลมหายใจสงบเย็น
ปรากฏภูเขาใหญ่ในจิตนิมิตอีก
ภูเขากลายเป็นขาทั้งสองข้าง
ลูกหนึ่งเป็นลำตัวยึดโยงชนกัน
เกิดภาวะกดทับแทบจะระเบิดออก
ใช้สติพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป
มายาจิตภาพก็สูญสลาย




ผู้ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนาย่อมต้องเจอภาวะหนึ่งที่เรียกว่า อาการทางจิต หรือปรากฏการณ์ทางจิตไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งแล้วแต่ฐานจิตของแต่ละคน จะมากจะน้อย จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ปรากฏการณ์นั้นย่อมเกิด เพราะนี่เป็นกระบวนการทางจิต ดุจดังการย่อยอาหารต้องเกิดขึ้นเมื่อมีการทานอาหารเข้าไป บางคนเกิดมากจนถึงขั้นสั่นไปทั้งตัว บางคนเกิดน้อยเพียงแค่ขนลุกชูชัน บางคนน้ำตาไหลพราก บางคนเพียงแค่กระตุกนิดหนึ่ง บางคนก็น้ำตาขังบ่อ บางคนซาบซ่านไปทั่วทั้งตัว บางคนตัวเบาคล้ายจะลอยขึ้น ซึ่งก็แล้วแต่ประสบการณ์ของใคร ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร ไม่ต้องตื่นเต้น ตื่นกลัว มุ่งหวังให้เกิด หรือไม่ต้องการให้เกิด ภาษาที่เรียกกันในการปฏิบัติธรรมก็คือ อาการของปีติ ในพระพุทธศาสนาได้แสดงอาการของปีติไว้ ๕ ประการ


๑) อาการขนลุกชัน หรือน้ำตาไหล เรียกว่า ขุททกาปีติ คือปีติเกิดเล็กน้อย
๒) อาการเสียวแปล๊บปล๊าบ รู้สึกเหมือนไฟฟ้าในตัวช๊อต เรียกว่า ขณิกาปีติ คือปีติเกิดเพียงชั่วขณะ
๓) อาการสั่นไหวไปทั้งตัว เกิดเป็นระยะแต่ต่อเนื่อง มีลักษณะเหมือนระลอกคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง เรียกว่า โอกกันติกาปีติ คือปีติท่วมทับซู่ซ่าเป็นระยะ ๆ
๔) อาการตัวลอย โลดลอย ร่างกายเบาเหมือนล่องลอยไปได้ การหลุดปากอุทาน เรียกว่า อุพเพงคาปีติ คือปีติที่ทำให้ตัวลอย
๕) อาการที่ทั่วร่างเกิดความซาบซ่าน เอิบอาบ เบ่งบาน ยิ้มละไม เอิบอิ่มเปี่ยมไปทั่วร่าง เรียกว่าผรณาปีติ คือปีติที่ทำให้เอิบอิ่มแผ่ซ่าน

อาการเหล่านี้เป็นปกติของนักปฏิบัติธรรม แม้บางคนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ทันสังเกต แต่สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่จะไปหวังให้เกิดหรือไม่ให้เกิด เป็นอาการทางจิตที่พอมีความสงบแล้วก็จะเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นก็เท่านั้น เพียงแต่เข้าใจไว้ว่า ปีติเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของการบรรลุธรรมที่จะพึงเกิดขึ้น เป็นปีติสัมโพชฌงค์ เพราะเมื่อปีติเกิดขึ้นการยกระดับจิตก็จะตามมา อาการเปลี่ยนแปลงทางจิตก็จะเกิดขึ้น ที่เรียกว่า ภาวะแห่งความสุข เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบกายและสงบใจ ซึ่งเรียกเป็นภาษาเฉพาะ (Technical term) ว่า “ปัสสัทธิ” เมื่อปีติและปัสสัทธิเกิดขึ้น พึงทราบได้ว่า เดินมาถูกทางแล้วและความเป็นสมาธิก็จะเกิดขึ้นตามมาเป็นกระบวนการลูกโซ่ เป็นกระบวนการที่เป็นเหตุและเป็นผลของกันและกัน เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด เป็นปกติของกระบวนการบำเพ็ญเพียรสมณธรรม


โศลกว่า “ใจได้ล่องลอยหายไปกับแมลงภู่ ปีติใหญ่ปรากฏพรั่งพรูท่วมทับ” สิ่งสำคัญเมื่อเกิดปีติขึ้นมา ไม่ต้องตกใจ หรือไม่หลงใหล ยึดติด หรือหยุดยั้งการบำเพ็ญเพียรภาวนา ให้กำหนดรู้ทุกอาการที่เกิดขึ้น ไม่มีความพึงพอใจหรือตกใจ กำหนดรู้ต่อไป การกำหนดรู้ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากลมหายใจที่สั้นยาวเข้าออก แต่เป็นการกำหนดรู้ปีติและสุขที่เกิดขึ้น หายใจเข้าออกเป็นปกติ มีสติอยู่ที่อาการนั้น ๆ หายใจเข้า หายใจออก ไม่กำหนดลมหายใจแต่หยั่งพิจารณาด้วยสติในปีติและสุขหายใจเข้า ออก จนในที่สุดอาการปีติและสุขก็สงบระงับไปตามกฎธรรมชาติที่เรียกว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป


ความสำคัญอยู่ที่เมื่อปีติเกิดแล้วอย่าได้เลือก อย่าได้ปล่อยให้ใจเข้าไปยึดเอามาเป็นสมบัติส่วนตัว อย่าได้เข้าหลงอยู่ภายในความสำเร็จที่เป็นอาการเช่นนี้ เพราะปีติเป็นเพียงอาการด้านหนึ่งของทวิภาวะเท่านั้น ก็คือมีปีติ ก็จะหมดปีติ มีสุข ก็จะหมดสุข เป็นของคู่กันคนละด้านของเหรียญ ความเป็นคุณและโทษของปีติมีอยู่ตลอด เมื่อใดที่ปล่อยใจไม่มีสติก็จะหลงไปกับคุณของปีติ คุณของปีติทำให้ผู้ปฏิบัติพึงพอใจในอาการเช่นนั้น ดุจดังการเห็นของสวย ๆ งาม ๆ ก็พึงพอใจ อาการพึงพอใจในของสวยงามก็กลายเป็นนันทิ เมื่อนันทิมีกำลังก็จะกลายเป็นฉันทะ และกลายเป็นตัณหาในที่สุด แสดงว่าปล่อยให้อาการที่เกิดขึ้นผ่านเข้าไปสู่ระดับที่ยากต่อการถอนมากขึ้น แนวทางปฏิบัติที่มีต่ออาการของปีติก็คือ เข้าไปกำหนดในตัวของปีติเองเห็นเป็นเพียงจิตสังขาร เห็นเป็นเพียงอาการที่เป็นสิ่งที่ประกอบเข้ากับจิตเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นทั้งปีติและสุขที่เกิดขึ้น ดังพุทธพจน์ว่า


“จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามิ
จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามิ
เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขารจักหายใจเข้า
เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร จักหายใจออก”


ไม่มีอะไร ๆ ให้ต้องเข้าไปยึดถือว่าเป็นเรา ว่าของเรา ว่าเป็นตัวเป็นตนของเรา เพื่อให้เข้าถึงระดับที่สี่ ก็คือ การเข้าไปพิจารณากำหนดเห็นความสงบระงับไปของจิตสังขารนี้เท่านั้น ปีติและสุขที่เกิดขึ้นสื่อเชื่อมกันระหว่างกายกับจิต เมื่อจิตมีอาการปีติสุข กายก็แสดงอาการออกมาตามลักษณะ ในขั้นนี้คือการสัมพันธ์กันระหว่างอาการทางกายและจิต ปีติและสุขเกิดขึ้นกับจิต กายก็รับรู้แสดงอาการเป็น ๕ ลักษณะตามที่ได้แสดงไว้ ผู้ปฏิบัติพึงกำหนดต่อไปหยั่งเข้าไปในอาการนั้น (สิกขติ) เพื่อให้เห็นถึงความสงบระงับหรือการสิ้นไปของปีติและสุขที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ดังพุทธพจน์ว่า


ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามิ
ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ ปสฺสสิสฺสามิ
เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ หายใจเข้า
เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ หายใจออก”


การพิจารณา ๔ ระดับนี้มีความสำคัญมาก เพราะถ้าหากไม่เข้าใจความลึกใน ๔ ระดับนี้ ก็ไม่สามารถที่จะหลุดพ้นจากความมีอยู่ เป็นอยู่ได้เลย เพราะในระดับที่ ๑ ถึง ๓ นี้ เป็นระดับของความมีอยู่ เป็นอยู่ทั้งสิ้น ทำให้จิตเข้าไปยึดเอาได้ง่าย จะเห็นได้ว่า ธรรมปฏิบัติในพระพุทธศาสนาจะมี ๔ ระดับเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอานาปานสติ สติปัฏฐาน หรืออริยสัจ


มิติที่ ๑ เป็นมิติทางกายภาพ
มิติที่ ๒ เป็นมิติทางความคิด
มิติที่ ๓ เป็นมิติทางอารมณ์
มิติที่ ๔ เป็นมิติแห่งความว่าง

เทียบเคียงกับอานาปานสติในระยะของเวทนาที่เกิดขึ้นก็จะพบว่า เข้าได้กับระดับทั้ง ๔ นี้ ระดับทั้ง ๔ นี้มีความลึกลงไปในแต่ละชั้น และในแต่ละชั้นนั้นก็ต้องมีสติกำหนดรู้เข้าไปให้เห็นแจ้งตามความเป็นจริง


ระดับที่ ๑ เป็นระดับที่ปีติท่วมทับจิตพรั่งพรูจนจิตแสดงอาการออกมา
ระดับที่ ๒ เป็นระดับที่ปีติแปรเปลี่ยนไปเป็นความสุขแสดงอาการออกมา
ระดับที่ ๓ เป็นระดับที่ทั้งปีติและสุขอยู่ด้วยกันกลายเป็นความดื่มด่ำ สงบเย็น
ระดับที่ ๔ เป็นระดับที่ปีติและสุขสงบระงับไปเหลือแต่สติและอุเบกขา


พึงทราบว่า ในแต่ละระดับที่แสดงไว้นี้เป็นนามธรรมที่กำหนดรู้ได้ด้วยสติที่คมชัดเท่านั้น ถ้าหากสติไม่คมชัด ย่อมไม่อาจแยกแยะและเข้าไปกำหนดรู้ได้เลย เพราะตัวปีติและสุขจะกลายเป็นตัวเราไปทันที กลายเป็นเรามีความสุข ความสุขมีในเรา เมื่อนั้นทุกอย่างก็จบ เป็นการพลาดจากทางเข้าที่เหมาะสมทันที


โศลกว่า “ผ่านกาลไปด้วยลมหายใจสงบเย็น ปรากฏภูเขาใหญ่ในจิตนิมิต” ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตามที่อยู่ในขณะปฏิบัติ ขณะหนึ่งอาจเบิกบานยิ้มแย้ม ขนลุก น้ำตาไหล หรือขณะอื่นอาจเปลี่ยนเป็นภูเขาท่วมทับหนักหน่วง หรือกระแสน้ำถาโถม ทุกภาวะที่เกิดขึ้นอยู่ในวิสัยที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพียงแต่ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ทางจิตขึ้นเช่นนี้จะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพราะอาการเหล่านั้นจะรุนแรงท่วมทับตนเองจนแทบหายใจไม่ออกก็มี แสดงออกมาทางกายภาพทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดอาการขึ้นก็มี บางครั้งต้องอาศัยครูอาจารย์ช่วยแก้ไข ผ่อนคลายให้ บางครั้งก็แก้ไขได้ด้วยตนเอง


ผู้ปฏิบัติพึงต้องศึกษาให้ทราบถึงเส้นทางที่จิตเดินไปเสียก่อน ดุจดังการจะเดินทางไปตามเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งจะต้องสำรวจก่อนว่า จะไปทางไหน เจอกับอะไร เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาอย่างไร มีหลุม มีบ่ออย่างไร ทางโค้ง ทางตรงอย่างไร เหล่านี้เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติที่ต้องศึกษา ที่เรียกว่า ปริยัตินั่นเอง ศึกษาเพื่อให้เข้าใจว่า เมื่อเดินทางไปแล้วมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นจะได้ไม่ตกใจ ไม่พลัดหลงจากทางที่จะไปโดยง่าย ไม่ว่าจะพบกับแรงปะทะทั้งจากสภาพภายนอกและสภาพภายในอย่างไร ก็มีความเข้าใจในสภาวะนั้น รู้วิธีที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้


ภูเขาใหญ่ที่ท่วมทับร่างกายอัดแน่นเข้ามาทั้ง ๓ ทาง ด้านข้างทั้งสอง ด้านบนอีกหนึ่ง ทับกันอัดแน่นเข้า ๆ จนเกิดกายแทบจะระเบิด ขั้นนี้เป็นเพียงอาการที่จิตสื่อออกมาทางกายภาพให้อึดอัดขัดข้อง เพียงแต่เข้าไปกำหนดในอาการนั้นว่า ไม่ใช่อะไรอื่นใด เป็นเพียงเวทนาที่ปรากฏกับจิตเท่านั้น เวทนาก็ไม่เที่ยง กายก็ไม่เที่ยง จิตก็ไม่เที่ยง สิ่งที่เกิดขึ้นจากสิ่งไม่เที่ยงแท้แล้วมันจะดำรงอยู่ได้อย่างไร ก็ทุกอย่างเป็นแต่เพียงความไม่เที่ยง ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม พิจารณาเห็นถึงความไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป หายใจเข้า หายใจออก


การยกระดับจิตจะเกิดขึ้นในระยะนี้ เหมือนดังการเปลี่ยนแปลงของความรู้ไปสู่ทักษะ เป็นเรื่องที่บอกยากว่า เปลี่ยนเมื่อไหร่ เปลี่ยนอย่างไร แต่รวมกันเป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ความรู้ก็เป็นระดับหนึ่งขององค์ประกอบทางจิต แต่เป็นระดับของจินตามยปัญญา แต่ทักษะนั้นเป็นการยกระดับจากจินตามยปัญญาไปสู่ระดับภาวนามยปัญญา เป็นการรู้แจ้งอันเกิดจากการเข้าไปพิจารณาในความรู้นั่นเอง


คำว่า “พิจารณา” คำนี้ต้องระวัง อย่าในไปปนกับคำภาษาไทยที่ใช้กันในความหมายทั่วไป เพราะไม่ตรงกันกับภาษาสภาวะ ความหมายในภาษาไทยนั้นเป็นคำระดับที่ ๒ เท่านั้นเอง แต่พิจารณาในสภาวธรรมนี้เป็นระดับ “สิกขติ” เป็นระดับที่ ๔ เป็นระดับตัวสติที่เห็นแจ้ง กำหนดรู้ เจาะหยั่งลงไปในอาการทางจิตที่ปรากฏนั้น เพียงแต่ยืมคำมาใช้ให้เข้าใจง่าย เป็นสมมติโวหารเท่านั้น การกำหนดรู้เจาะหยั่งลงไปในอาการนั้นทำให้ยกระดับจิตขึ้นไปสู่มิติที่ ๔ ได้ เป็นภาวนามยปัญญา


โศลกว่า “ใช้สติพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป” ในระดับมิติทั้ง ๔ นี้ ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เพราะมีส่วนสนับสนุนความก้าวหน้าทางจิตได้ง่ายขึ้น เพราะในระดับที่ ๑ ถึงมิติที่ ๓ นั้นเป็นระดับที่มีทวิภาวะซ่อนอยู่ภายในนั้น เมื่อใดที่ยังเป็นระดับทวิภาวะ เมื่อนั้นก็ตกอยู่ภายใต้กฎแกว่งไปมาตามทฤษฎีลูกตุ้มนาฬิกา เพราะความเป็นทวิภาวะนั้นมีสนามแม่เหล็กแห่งตัณหาซ่อนอยู่ภายในนั้น สนามแม่เหล็กนี้แหละที่ผลักชีวิตให้ตกอยู่ภายใต้วงจรอวิชชาอย่างแท้จริง นั่นก็คือวงจรแห่งวัฏฏะ ที่เรียกว่า “วน” คือ “กิเลส กรรม วิบาก” ตราบใดที่ไม่เข้าไปสู่ระดับที่ ๔ ตราบนั้นก็ยังคงตกอยู่วังวนนี้ไปตลอดอนันตกาล


ความพิเศษของระดับที่ ๔ ก็คือ การไม่เป็นตอบโต้ หรือเป็นปฏิปักข์ต่อสิ่งใดไม่ว่าจะเป็นสุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่เข้าไปข้องเกี่ยวในประเด็นนั้น แต่กลับเลื่อนระดับไปสู่การเห็นสิ่งที่ปรากฏทั้งหลายทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม นามธรรม ก็มีแต่การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปทั้งนั้น การพิจารณาอย่างนี้ถือว่าไม่ได้เล่นตามเกมของตัณหา แต่กลับเล่นเกมผู้สังเกตการณ์แทน แทนที่จะดีใจ เสียใจ พึงพอใจ ชอบใจ ไม่ชอบใจ มีสุข มีทุกข์ ซึ่งทั้งหมดนี้คือเกมของตัณหา แต่ระดับที่ ๔ กลายเป็นการเฝ้ามองอาการที่ปรากฏแทน เป็นแต่เพียงผู้มองเท่านั้น ไม่มีสิ่งอื่นใด มองให้เห็นถึงความเกิดขึ้น ตั้งอยู่และสิ้นไปของปรากฏการณ์เหล่านั้น เมื่อนั้นลูกตุ้มนาฬิกาก็หยุดแกว่ง เมื่อลูกตุ้มนาฬิกาหยุดแกว่ง สนามแม่เหล็กก็ลดพลังดึงดูดลง เพราะการแกว่งของลูกตุ้มเป็นตัวเสริมพลังดึงดูด ความกระจ่างใสย่อมปรากฏขึ้นแทน ตรงนี้แหละคือ ช่วงเวลาแห่ง “ปัญญาญาณ” ย่อมเกิดขึ้น ดังพุทธพจน์ว่า “จกฺขํุ อุทปาทิ ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ ดวงตาคือ ปัญญาเห็นธรรมเกิดขึ้นแล้ว การกำหนดรู้ความหยั่งรู้เหตุผลเกิดขึ้นแล้ว ความรู้แจ้ง เกิดขึ้นแล้ว ความมีใจสว่างเกิดขึ้นแล้ว”

ตัวสภาวธรรมนั้นไม่ตรงกับตรรกะทางความคิดเหตุผลที่คนทั้งหลายเข้าใจ เพราะตรรกะของคนทั่วไปนั้นมุ่งไปที่ฐานที่ ๑ และ ฐานที่ ๒ กล่าวคือทุกอย่างต้องมีการกระทำให้เกิดขึ้น แต่ในสภาวธรรมนั้นกลับตรงกันข้าม เมื่อใดกระทำไม่ว่าทางกาย วาจา หรือใจ เมื่อนั้นก็ยิ่งห่างไกลจากปัญญาญาณที่จะเกิดขึ้น ปัญญาญาณจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากยังอยู่ในระดับความคิด เปรียบเหมือนความใสสะอาดเกิดไม่ได้ด้วยการเติมความขุ่นลงไป เมื่อใดที่ไม่กวนให้น้ำขุ่น เมื่อนั้นความใสจึงจะปรากฏเอง


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิเถิด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีจิตเป็นสมาธิแล้ว ย่อมรู้ได้ตามความเป็นจริง
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ดังนี้เถิด”


ความสว่างแห่งธรรมย่อมปรากฏตามกระบวนการที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นทุกขเวทนา หรือสุขเวทนา ปีติ สุข อันเกิดแต่เวทนาใด เวทนานั้นก็ไม่เที่ยง แปรเปลี่ยน และดับไป ไม่มีอะไรเป็นตัวเวทนาที่แท้ดำรงอยู่อย่างนั้น ดวงตาเห็นธรรมย่อมเกิดเมื่อเห็นชัดอริยสัจในเบญจขันธ์ซึ่งเป็นที่รวมลงแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ขอความเห็นแจ้งในปีติ สุข ความมีสติและอุเบกขาดำรงอยู่ จงมีแก่ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญเพียรสมณธรรม เพื่อการที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด


นี่คือ โศลกที่สามสิบสามแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา


วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555



โศลกที่ ๓๒ "เอกภาวะ ทวิภาวะ"




 หัวใจของธรรมอยู่ที่รู้ตัว
เป็นกิริยาอาการนั้นเต็มที่
ไม่เหลือช่องว่างให้ได้คิด
ความคิดเป็นทวิภาวะ
ทุกองคาพยพที่เคลื่อนไหว
ทุกกิริยาอาการที่เดินไป
มีแต่ความเป็นหนึ่งเดียว
หนึ่งนั้นคือสติสัมปชัญญะ
เป็นเอกภาวะแห่งสติ



โศลกว่า “หัวใจของธรรมอยู่ที่รู้ตัว เป็นกิริยาอาการนั้นเต็มที่” อาการสองสิ่งในกิริยาอาการแห่งอิริยาบถนั้นจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน ในขณะเดินก็ไม่ยืน ในขณะยืนก็ไม่นั่ง ในขณะนั่งก็ไม่นอน แต่จะเกิดขึ้นไล่ลำดับกันอย่างต่อเนื่องรวดเร็วจนยากต่อการแยกแยะได้ว่า อาการใดเกิดก่อนหลัง ต้องระมัดระวังไม่ให้เข้าไปในวังวนเดิม ไม่ให้จิตใช้เป็นเครื่องมือเหมือนเดิม คำว่า “เป็นเพียงผู้เฝ้าดู เป็นพยาน (Witness)”และคำว่า “เป็นผู้ตื่นตัว (Awareness)” คำทั้งสองนี้มีความหมายอย่างยิ่งในการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นทันทีที่มีความเป็นผู้ตื่นตัว (สติมา) และเป็นผู้เฝ้าดูรู้ตัวทั่วพร้อม (สัมปชาโน) อยู่ ถ้าหากไม่มีคำทั้งสองนี้อยู่ ก็ไม่ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติธรรม เพราะสติ สัมปชัญญะ คือเป็นกระบวนการสำคัญในการปฏิบัติธรรม ไม่มีไม่ได้ เป็นธรรมมีคุณมาก มีอานิสงส์มากเหลือเกิน ธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นลอย ๆ ต้องบำเพ็ญ ต้องมีความเพียร ต้องมีความต่อเนื่องที่เรียกว่า “อาตาปี”


ความตื่นตัวและการเฝ้าดูเป็นด่านสกัดไม่ให้มีความคิดซึ่งเป็นปาราสิดเข้ามาแทรกแซงกิริยาอาการที่เคลื่อนไหวทุกขณะ ทุกระยะ ทุกรายละเอียด ธรรมเป็นเครื่องตรวจสอบไม่ให้ความคิดผ่านเข้ามาได้ (Scan Dhamma Instrument) เมื่อมีสติและสัมปชัญญะย่อมเห็นหมดอาการเคลื่อนไหวทั้งภายในและภายนอกอย่างชัดแจ้ง ไม่เหลือช่องให้มีความคิดเข้ามาแทรก ไม่ให้โอกาสจิตปรุงแต่งเข้ามาแทรก ไม่ให้เกิดความพึงพอใจ (อภิชฌาและโสมนัส) ในอาการนั้น ๆ ไม่ให้เกิดความอึดอัดขัดข้อง (อนภิชฌาและโทมนัส) ในอาการนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ตาม ทุกอิริยาบถนั้นมีความเต็มเปี่ยมแห่งอาการนั้นเท่านั้น มีความสมบูรณ์พร้อมแห่งอาการนั้นเท่านั้น

โศลกว่า “ไม่เหลือช่องว่างให้ได้คิด ความคิดเป็นทวิภาวะ” ในการปฏิบัติธรรมสิ่งที่ขัดขวางผู้ปฏิบัติมากที่สุดก็คือ “ความคิด” ของเขาเอง กระบวนการแห่งความคิดเป็นกระบวนการแห่งความทุกข์ ตามลำดับแห่งปฏิจจสมุปบาท เป็นตัวสังขารที่ทำให้เกิดวิญญาณ ในที่สุดก็ถึงการรวมตัวแห่งทุกข์ทั้งมวล เพราะในความคิดนั้นประกอบไปด้วยอวิชชาเป็นพื้นฐาน เป็นปกติของจิตที่ไม่รู้แจ้ง เมื่อไรที่รู้แจ้ง เมื่อนั้นชื่อว่ามีสติสัมปชัญญะอยู่ เมื่อใดมีสติสัมปชัญญะอยู่ เมื่อนั้นทวิภาวะก็หายไป จักษุคือปัญญาเห็นธรรมก็เกิด ญาณกำหนดรู้ก็เกิด ปัญญาญาณหยั่งรู้เหตุผลก็เกิด วิชชารู้แจ้งก็เกิด อาโลโกความสว่างในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็เกิด กระบวนการทางดับแห่งทุกข์ก็ปรากฏขึ้นทันที ทวิภาวะนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิโดยธรรมชาติ เพราะเป็นธรรมมีสภาวะหลงยึดสมมติสัจจะ หลงยึดดี ชั่ว ชอบ ชัง รัก เกลียด ดีใจ เสียใจ เป็นอย่างนี้เรื่อยไป เพราะไม่เห็นแจ้งในอริยสัจ พอไม่เห็นแจ้งในอริยสัจก็ดำริสะเปะสะปะเป็นเหตุให้กล่าวออกมาทางวาจา


เมื่อใดที่เห็นแจ้งในอริยสัจเมื่อนั้นก็เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเป็นสัมมาทิฏฐินั้นเกิดมาพร้อมกับสติสัมปชัญญะที่เต็มรอบ สติสัมปชัญญะไม่ให้มีความดำริสะเปะสะปะอีกต่อไป กระบวนการแห่งธรรมก็เกิด ด้วยเหตุนี้กระบวนการแห่งสติปัฏฐานและอานาปานสติจึงเป็นกระบวนการปฏิบัติเพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิโดยแท้ ความคิดตามความเข้าใจของชาวโลกนั้นไม่ถูกต้องตรงกันกับชาวธรรม การกินแบบโลกกับการกินแบบธรรมนั้นต่างกัน อยู่แบบโลกกับอยู่แบบธรรมนั้นต่างกันทั้งที่อยู่เหมือนกัน สภาวะนี้ไม่ใช่วิถีแห่งการตรองด้วยตรรกะ เพียงแค่คิดก็ตกหล่นหลุดออกไปจากเส้นทางทันที ต้องไม่คิดเท่านั้นจึงจะอยู่บนเส้นทางได้


โศลกว่า “ทุกองคาพยพที่เคลื่อนไหว ทุกกิริยาอาการที่เดินไป มีแต่ความเป็นหนึ่งเดียว”ตื่นตัวเฝ้าดูจิตที่ประกอบไปด้วยความเชื่อมั่นในการก้าวเดิน ความเป็นทั้งหมดแห่งการก้าวเดิน การก้าวย่างที่ขยับเขยื้อนก้าวไปนั้นเต็มเปี่ยมด้วยความต่อเนื่องเป็นลำดับ ความสมบูรณ์พร้อมเกิดขึ้นเต็มที่ ไม่เหลือช่องให้สิ่งใดหลุดรอดเข้ามาได้ ต้นสายปลายเหตุทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป อาการเดินเช่นนี้คือการเดินที่งดงาม จึงไม่แปลกที่อุปติสสมานพพอพบกับพระอัสสชิครั้งแรกก็เกิดอาการสนใจ พอเฝ้าสังเกตเห็นการเดินของพระอัสสชิ ก็พบเห็นความงดงามแห่งอาการเคลื่อนไหวที่ก้าวเดินทุกย่างก้าวอย่างสมบูรณ์ ไม่หลงเหลือสิ่งใดให้ต้องกังวล ความงดงามแห่งการก้าวเดินของผู้มีสติสัมปชัญญะนั้นสื่อออกมาภายนอกได้ กลายเป็นความสงบกายที่เคลื่อนไหว เป็นความงดงามของท่วงท่าร่างที่ก้าวเดิน


อาการเช่นนี้จะปรากฏขึ้นอย่างไรเล่า จะมีก็แต่เฉพาะผู้มีความเต็มเปี่ยมจากภายในเท่านั้น ผู้มีตาอัจฉริยะสังเกตจึงจะพบเห็น อุปติสสมานพไม่เคยเห็นผู้ที่เดินด้วยความสมบูรณ์พร้อมเช่นนี้มาก่อนจึงได้ติดตามไประยะหนึ่ง เพื่อให้เกิดความแน่ใจในสายตาของตนว่า นี่เป็นของจริง นี่มิใช่ผู้แกล้งลวงสังคม บุคคลเช่นนี้ยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน ในที่สุดท่านจึงได้รับรสแห่งอมตวาจาที่สมบูรณ์พร้อมอีกเช่นกันในยามที่สนทนา


“เย ธมฺมา เหตุปฺภวา เตสํ เหตํุ เหตุ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ”


โศลกเพียงเท่านี้ยังกระแสแห่งความสว่างในอริยสัจปรากฏขึ้นในดวงตา คือ ปัญญาญาณของอุปติสสมานพ กาลภายหลังท่านก็คือพระสารีบุตรเถระ ธรรมเสนาบดีในพระพุทธศาสนานี่เอง

สำหรับเราท่านแล้ว การก้าวเดินไปยังคงเป็นไปเพื่อบำเพ็ญบารมี เดินไปเพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น เดินไปเพื่อให้วิชชาเกิดขึ้น เดินไปเพื่อเห็นแจ้งการเกิดดับ เดินไปเพื่อให้ญาณเกิดขึ้น การเดินเช่นนี้จึงเป็นการเดินที่เป็นธรรม เดินไปด้วยความพากเพียรพยายาม เดินไปด้วยความงดงามแห่งสติสัมปชัญญะ และเดินไปด้วยการยังความเต็มเปี่ยมแห่งการเดินแต่ละก้าวให้ปรากฏ

โศลกว่า “มีแต่ความเป็นหนึ่งเดียว หนึ่งนั้นคือสติสัมปชัญญะ เป็นเอกภาวะแห่งสติ” ผู้เข้าใจความเป็นเอกภาวะย่อมเข้าใจสรรพสิ่งได้ดีขึ้น ความเป็นเอกภาวะนั้น คือ ความว่าง คือนิพพาน คือความดับ คือความเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งนั้น ทุกกิริยาอาการ ความเป็นหนึ่งเดียวไม่ใช่เอกัคคตารมณ์ (One Pointedness) เพราะเอกัคคตารมณ์นั้นเป็นเรื่องของจิตที่มีปกติวุ่นอยู่ตลอดเวลา จิตจะมีความสงบลงได้ก็ต่อเมื่อจิตทำหน้าที่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอย่างเดียว การที่จิตอยู่กับอารมณ์จนเป็นเอกัคคตาจิตนั้นจิตไม่สามารถเข้าใจตัวของมันเองได้ มันได้แต่เข้าใจตัวของสิ่งอื่นเท่านั้น เป็นเพียงการเข้าใจสิ่งที่เป็นภายนอก แต่เอกภาวะในที่นี้เป็นความเต็มเปี่ยมแห่งสติกับทุกกิริยาอาการ สติสัมปชัญญะนั้นรู้ตัวจิตเองได้ เป็นการเข้าใจภายใน มีแต่สติสัมปชัญญะเท่านั้นที่สามารถปราบความคิดที่ยึดอารมณ์ให้กลายเป็นเอกภาวะได้ การที่จะเข้าถึงการรู้แจ้งภายในนั้นต้องอาศัยสติสัมปชัญญะ ไม่อาจใช้ความคิดได้ เมื่อใดที่ใช้ความคิด เมื่อนั้นเอกภาวะก็ไม่เกิดขึ้น ความสมบูรณ์แห่งสติที่เต็มเปี่ยมมีเมื่อใด เอกภาวะก็ปรากฏเมื่อนั้น


เป็นความยากที่จะเข้าใจเรื่องนี้ ก็เพราะคนโดยมากแล้วตกอยู่ภายใต้การทำงานของจิต โดยเฉพาะโลกตะวันตกซึ่งไม่เคยทราบว่า จิตไม่คิดเป็นอย่างไร เอกภาวะเป็นอย่างไร การเข้าถึงเอกภาวะจึงต้องนำมาคิดก่อนว่า มันเข้าถึงได้อย่างไร จะเป็นเช่นนี้เสมอ ด้วยเหตุนี้คำว่า “สัมมาสมาธิ” ภาษาอังกฤษจึงใช้คำว่า “Right Concentration” และยังสื่อให้เห็นต่อไปอีกว่า “สมาธิ” คือ “เอกัคคตาจิต” หรือ “One Pointedness” ผู้ที่ไม่เข้าถึงอรรถแห่งคำว่า “สัมมาสมาธิ” ก็พลอยเข้าใจตามศัพท์ภาษาอังกฤษที่เขาใช้ จึงทำให้หลงประเด็นกันไปใหญ่ Right Concentration ไม่ใช่สัมมาสมาธิตามที่พระพุทธศาสนามุ่งหมาย การใช้คำว่า “Right Meditation” ยังจะมีอรรถใกล้เคียงกว่าเสียอีก เพราะคำว่า “สมาธิ” ในพระพุทธศาสนานั้น เป็นองค์ธรรมหนึ่งในองค์แห่งพละ ๕ ที่มีหน้าที่กรองสิ่งที่ขุ่นมัวทั้งหมดให้ใสสะอาด มีหน้าที่ทำให้ใสสะอาด เป็นองค์ธรรมที่สนับสนุนสติ ที่ทำหน้าที่เฝ้าดู จากนั้นความเห็นแจ้งในความเป็นจริงของสรรพสิ่งก็เกิด เรียกว่าปัญญา

สมาธิจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะคิดเอาได้ตามตรรกะ อธิบายด้วยเหตุผล เพราะเหตุผลนั้นอยู่ในระดับของความคิด โดยเฉพาะการแปลคำนี้เป็นภาษาอังกฤษจึงไม่ใช่ความหมายของสมาธิ อีกประการหนึ่งผู้ใช้คำนี้ไม่ทราบเคยรับรู้ถึงสภาวะแห่งสมาธิมาก่อนหรือไม่ อาจเข้าใจเอาเองว่า สมาธินั้นคือการที่จิตอยู่ในเอกัคคตารมณ์ นั่นเป็นการตรองเอาตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เข้าใจว่า การที่จิตดิ่งนิ่งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั่นแหละคือสมาธิ ถือว่าเป็นกับดักใหญ่ หลุมพรางใหญ่ในการปฏิบัติเท่านั้น แท้จริง การที่จิตตรึงอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งไม่เคลื่อนไหวนั้น เป็นเพียงกระบวนการใช้จิตสะกดจิต (Mental Hypnotize of Consciousness) เท่านั้น


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วว่า
“มาเถิดภิกษุ ท่านจงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง การแลดู การเหลียวดู การคู้ การเหยียด การทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การไป การหยุด การนั่ง การนอน การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง
พราหมณ์! ในการใดภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า มาเถิดภิกษุ! ท่านจงเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าละเมาะ โคนต้นไม้ ภูเขา ซอกห้วย ท้องถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลเป็นปัจฉาภัตต์ กลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
ละอภิชฌาในโลก มีจิตปราศจากอภิชฌา คอยชำระจิตจากอภิชฌา
ละพยาบาท มีจิตปราศจากพยาบาท เป็นผู้กรุณา มีจิตหวังความเกื้อกูลในสัตว์ทั้งหลาย คอยชำระจิตจากพยาบาท
ละถีนมิทธะ มุ่งอยู่แต่ความสว่างในใจ มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มีสติสัมปชัญญะ คอยชำระจิตจากถีนมิทธะ
ละอุทธัจจกุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน คอยชำระจิตจากอุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉา ข้ามล่วงวิจิกิจฉาเสียได้ ไม่ต้องกว่า “นี่อะไร นี่อย่างไร” ในกุศลธรรมทั้งหลาย คอยชำระจิตจากวิจิกิจฉา

ภิกษุนั้น ครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ทำปัญญาให้ถอยจากกำลังเหล่านี้ จึงบรรลุฌานที่หนึ่ง มีวิตก วิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกแล้วแลอยู่
เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ จึงบรรลุฌานที่สอง เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจภายใน เป็นที่เกิดสมาธิแห่งใจ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิแล้วแลอยู่
เพราะความจางหายไปแห่งปีติ ย่อมอยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ มีการอยู่เป็นสุข แล้วแลอยู่
และเพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน จึงได้บรรลุฌานที่สี่ อันไม่ทุกข์ ไม่สุข มีแต่ความที่มีสติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาแล้วแลอยู่

พราหมณ์เอ๋ย !
ภิกษุเหล่าใดที่ยังเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ยังปรารถนานิพพานอันเป็นที่เกษมจากโยคะ ไม่มีอื่นยิ่งไปกว่าอยู่ คำสอนที่กล่าวมานี้แหละเป็นคำสอนสำหรับภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น
ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ต้องทำสำเร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงได้แล้ว มีประโยชน์ตนอันบรรลุถึงแล้ว มีสัญโญชน์ในภพสิ้นไปรอบแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ เป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ด้วย”

การกระทำที่เป็นหนึ่งเดียวจึงเป็นการกระทำที่มีสติสัมปชัญญะกำกับดูแลอยู่อย่างสมบูรณ์ ความคิดเกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นก็เกิดทวิภาวะทันที เมื่อใดที่มีสติ เมื่อนั้นก็เข้าถึงเอกภาวะ อิริยาบถที่มีสติเต็มเปี่ยม ชื่อว่า เป็นเอกภาวะแห่งอิริยาบถ ความเป็นเอกภาวะนี้เท่านั้นจึงเป็นการปฏิบัติธรรมโดยแท้ ความเพียรเพื่อให้ดำรงอยู่ในเอกภาวะ ในความว่าง ด้วยสติเสมอ จึงนับได้ว่าเป็นอิสระอย่างแท้จริง ขอความเต็มเปี่ยมแห่งสติ ความเป็นเอกภาวะที่สมบูรณ์จงบังเกิดมีแก่ผู้บำเพ็ญเพียรสมณธรรม เพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบเถิด

นี่คือ โศลกที่สามสิบสองแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555













ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ใด
ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์สิ้นเชิง
ทรงสั่งสอนสรรพสัตว์ให้รู้ตามเห็นตาม
และดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ได้ด้วย
ข้าพระองค์ขออภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
โศลกที่สามสิบเอ็ด "ธรรมวาจา"



สงวนคำไม่พร่ำเพรื่อ
ควรกล่าวเมื่อควรกล่าว
ยามไร้วาจาก็สงบ
ยามกล่าววาจาก็ลึกซึ้ง
มีอรรถน่าฟัง อบอุ่น ไพเราะ
เต็มเปี่ยมด้วยเมตตา
ถ้อยคำเป็นโอสถเยียวยาจิต
เป็นธรรมานุธรรมวาจา
ให้แนวทางและกำลังใจ
ผู้ฟังมีแต่ความสุข สงบ
นี่คือทิพยวาจา


ให้พึงสังเกตพระโยคาวจรผู้ปฏิบัติธรรม เหตุใดจึงพูดน้อย สงบปากสงบคำ ไม่กล่าวพร่ำเพรื่อ ไม่แสดงภูมิธรรมพร่ำสอนไปทั่ว ไม่พูดจนเลอะเลือน ซึ่งต่างไปจากผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม แม้ผู้อื่นไม่ให้พูดก็อยากพูด ขอให้ได้พูด แม้พูดแล้วก็จบไม่ลง ใช้วาจาเป็นเหมือนหอกที่ใช้ทิ่มแทงผู้อื่นอยู่ร่ำไป วาจาที่กล่าวขึ้นประโยคแรกก็เป็นประโยคเกี่ยวกับผู้อื่น


เหตุที่ผู้ปฏิบัติธรรมพูดน้อยก็เพราะความสงบเยือกเย็นได้เข้าปกคลุมสภาวะจิตแล้ว ความสงบเยือกเย็นเป็นเหมือนร่มฉัตรจักรพรรดิที่ฉายร่มเงาให้พระเจ้าจักรพรรดิอยู่ภายในนั้น พระเจ้าจักรพรรดิไม่พูดพล่าม ไม่กล่าวพร่ำเพรื่อฉันใด พระโยคาวจรก็เป็นฉันนั้น ในยามที่พระเจ้าจักรพรรดิกล่าวคำย่อมมีน้ำหนัก มีความศักดิ์สิทธิ์ ฉันใด ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น กล่าวคำแต่ละคำย่อมมีความหมาย มีอรรถสาระเสมอ


ผู้ใดที่เริ่มสอนใหม่ ๆ จะเข้าใจดีว่า การพูดนั้นสำคัญไฉน ยิ่งสอนในการศึกษาระดับสูง ๆ ด้วยแล้วจะพบว่า ข้อมูลที่ตนเตรียมนั้นแม้มากก็กลายเป็นน้อย ไม่พอเหมาะกับเวลา เวลาเหลือเป็นชั่วโมงแล้วจะเอาอะไรมาพูดต่อ สอน ๓ ชั่วโมงจะทำยังไง บางท่านเตรียมไปเท่าไรก็จะต้องใส่ให้หมด ด้วยเกรงว่า ผู้ฝังจะติดค้างทุกเรื่องที่เตรียมมา เกรงว่าผู้ฟังจะปรามาสว่าตนไม่รู้เรื่อง จึงมีคำกล่าวว่า “ผู้สอนใหม่ สอนทุกเรื่อง ผู้สอนปานกลาง สอนจนหมดเรื่อง ผู้ตกผลึก สอนเพียงบางเรื่องให้รู้เรื่อง”


สำหรับผู้ปฏิบัติในพระพุทธศาสนาแล้วให้ถือตามลักษณะการแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า จะกล่าวอะไร จะพูดอะไรก็มีความมุ่งหวังอนุเคราะห์สรรพสัตว์เป็นเบื้องต้น “คำใดจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคนอื่น พึงรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น” วาจาที่ไม่ควรกล่าวเลย ก็คือ คำเท็จ ไม่มีประโยชน์ คำก้าวร้าว ไม่เป็นที่พอใจ วาจาที่เวลาจะพูดต้องดูกาลเทศะ ก็คือ คำจริง มีประโยชน์ น่าพอใจ อาจใช้คำตำหนิ หรือคำชมก็ตาม ด้วยคำนึงถึงหลักการกล่าวคำเหล่านี้ด้วย และคำนึงถึงความสงบเยือกเย็นด้วย ทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมจึงพูดน้อย ไม่ทำลายบรรยากาศของร่มฉัตรจักรพรรดิให้เป็นร้านตลาด ผู้ใดปฏิบัติธรรมถึงระดับหนึ่งก็จะเป็นเช่นเดียวกัน ก็คือ พูดน้อย ทานน้อย ปฏิบัติมาก คำว่า “ปฏิบัติมาก” ในที่นี้หมายรวมถึงทำงานอนุเคราะห์หมู่สัตว์มากด้วย


โศลกว่า “ยามไร้วาจาก็สงบ ยามกล่าววาจาก็ลึกซึ้ง” ความเงียบ เยือกเย็น สุขุม สงบ เป็นพลังอย่างหนึ่งทำให้ผู้อยู่ใกล้สัมผัสความสงบเย็นนั้นได้ กล่าวถึงที่สุด แม้เพียงได้เห็นผู้ปฏิบัติธรรมก็ทำให้คลายความทุกข์ได้ส่วนหนึ่ง หากได้ฟังวาจาที่เยือกเย็น ไพเราะ อบอุ่น เปี่ยมเมตตา ความทุกข์โศกเศร้าก็แทบจะคลายมลายสิ้น


ครั้งหนึ่งในพุทธกาล นางปฏาจารา สตรีที่ถูกความทุกข์ในโลกท่วมทับอย่างหนักหน่วง เกินที่จะรับได้ถึงกับกลายเป็นคนบ้าไป เดินซัดเซพเนจรเข้าไปถึงธรรมศาลาที่ที่พระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรมอยู่ เธอไม่อยู่ในอาการรับรู้อะไรทั้งสิ้น ผ้าผ่อนหลุดลุ่ยเดินไป เพ้อไป พระพุทธเจ้าทรงตรัสขึ้นเมื่อเธอเดินมาถึงธรรมศาลาว่า


“เจ้าจงมีสติเถิด น้องหญิง
อย่าโศกเศร้าถึงบุตร สามี บิดา มารดา พี่ชายที่ตายไปแล้วเลย
จงเบาใจ จงแสวงหาตัวของตัวเองเถิด
เจ้าทุกข์เดือดร้อนไป ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย
เพราะไม่ว่าเครือญาติ หรือใคร ๆ ก็ไม่อาจห้ามกั้น
ความตายได้เลยว่า อย่าเกิดขึ้นกับผู้ที่ถึงที่ตาย
ขึ้นชื่อว่าบุตรสุดที่รัก ไม่อาจเป็นที่พึ่ง
เป็นที่ต้านทานหรือเป็นที่ป้องกันแก่ผู้ไปสู่ปรโลกได้
บุตรเหล่านั้น ถึงจะมีอยู่ก็เหมือนไม่มี
ส่วนผู้รู้ทั้งหลายรักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว
ควรชำระทางไปสู่พระนิพพานของตนเท่านั้น
ดูกรน้องหญิงปฏาจารา! น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ยังมีปริมาณน้อย
น้ำตาจากความเศร้าโศกของคนที่ถูกทุกข์ กระทบแล้วนั้น
มีปริมาณมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ เสียอีก ฉะนั้น
เหตุใด เจ้าจึงยังประมาท อยู่เล่า"



พระศาสดาตรัสถึงการเวียนว่ายตายเกิดอยู่กับทุกข์ หาที่สุดไม่ได้ ทำให้ความโศกเศร้าของนางทุเลาลง ได้สติขึ้นมาทันที พระองค์จึงทรงแสดงธรรมอีกว่า


“สัจจะ ธรรมะ อหิงสา สัญญมะ ทมะ มีอยู่ในผู้ใด
พระอริยะทั้งหลาย ย่อมคบผู้นั้น นั่นเป็นอมตธรรมในโลก
บัณฑิตรู้ใจความข้อนี้แล้ว ย่อมสำรวมในศีล
รีบเร่งชำระทางไปพระนิพพานทีเดียว”


ถ้อยคำของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจึงเปี่ยมด้วยเมตตา เป็นธรรมโอสถวาจาที่สามารถชำแรกเข้าไปภายในจิต กำซับซาบซ่านไปถึงเบื้องลึกแห่งจิต ทำลายเชื้อโรคคือความทุกข์เสียได้ ผู้ใดก็ตามได้รับรู้สัจธรรมที่เป็นจริงแล้วย่อมไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ อีก การถอนการยึดมั่นออกเสียนั่นแหละคือ การดับทุกข์ วาจาใดที่แสดงให้ถอนการยึดมั่นนั้นก็เป็นวจีโอสถกำจัดทุกข์


เมื่อใดก็ตามท่านเห็นสัจธรรมที่เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วนในชีวิต ก็จะเห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นนับกาลไม่ถ้วนในชีวิต ไม่เพียงแต่ชาตินี้เท่านั้น แม้ในชาติที่ผ่าน ๆ มา ไม่แปลกใจเลยว่า หากผู้ใดสามารถย้อนกลับไปในอดีตได้ ย้อนกลับไปสู่ชาติต่าง ๆ ที่ผ่านมาได้ ย้อนไปดูชีวิตที่เป็นเหมือนภาพยนตร์ในแต่ละเรื่องของตนที่ผ่านมาสักสิบเรื่องล่าสุดได้ ท่านจะเข้าใจถึงสุขทุกข์ชัดเจนยิ่งขึ้น เข้าใจถึงความยินดีปรีดา ความโศก เศร้า สมหวัง ผิดหวัง ระทม เริงร่า หัวเราะ ร้องไห้ บาดเจ็บ ล้มตายได้อย่างแจ่มชัดยิ่งขึ้น เพราะทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น เป็นบทภาพยนตร์ที่ท่านเป็นพระเอกหรือเป็นนางเอกของเรื่อง ทุกบททุกตอนในแต่ละฉากของชีวิตที่ผ่านไปตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องนั้น คือ ภาพยนตร์ชีวิตของท่านเอง ท่านเป็นทั้งผู้กำกับการแสดงและก็เป็นผู้โลดแล่นไปกับฉากนั้นเอง ทุกหยาดหยดน้ำตา ทุกรอยยิ้มที่พริ้มพราย ทุกความเจ็บปวดที่ครองใจท่านอยู่ ทุกความเริงร่าที่ท่านได้รับ และทุกความโศกเศร้าที่ท่านประสบ ล้วนเป็นของจริงไม่อาจตัดพ้อต่อว่าผู้ใดได้เลย ด้วยเหตุนี้ ผู้เห็นอดีตของตนได้แล้วจึงไม่เหลือความพึงพอใจต่อภพชาติอีก ไม่เหลือความยินดีที่มีต่อวัฏฏะนี้อีก


เหตุใดผู้คนทั้งหลายจึงไม่ละความพึงพอใจในชาติ ในวัฏฏะได้เล่า ก็เพราะทุกคนหลับใหลอยู่นั่นเอง คนที่หลับอยู่แล้วฝันไปว่าตนเองเป็นคล้ายเคยได้รับความสุข คล้ายเคยได้รับความทุกข์ ความโศกเศร้า สมหวัง ผิดหวัง เขาไม่เคยตื่นมาเลย เป็นเหตุให้เขาไม่ใส่ใจกับชีวิตที่เป็นภาพยนตร์ของตน เมื่อใดที่เขาตื่นขึ้นมาได้จริง ๆ เห็นภาพยนตร์ที่เป็นจริง เมื่อนั้น เขาจึงจะเข้าใจถึงบทละครชีวิตในแต่ละชาติของตน และเบื่อหน่ายลงได้


ลองนึกจินตนาการดูว่า มีเด็กคนหนึ่งร้องไห้เพราะตุ๊กตาตกแตกเป็นฉันใด ผู้คนก็เป็นเช่นเด็กน้อยผู้นั้น ฉันนั้น ในชาติหนึ่ง ๆ ผู้คนเคยร้องไห้เพราะสูญเสียสิ่งที่รัก สิ่งที่หวงแหนมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ไม่ทราบว่า ทำไมต้องร้องไห้ เสียใจอีก เขาร้อง ๆ หยุดๆ พอได้ตุ๊กตาใหม่ก็หยุด พอตกแตกก็ร้องอีก พอมีคนรักใหม่ก็หยุด พอคนรักจากไปก็ร้องไห้ หากไม่ใช่คนหลับฝันไปก็เป็นคนที่บ้าทั้งนั้น


ที่แปลกยิ่งกว่านั้นก็คือ คนเราไม่ได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง ไม่เชื่อลองมีคนมาด่าท่านสิ ท่านจะโกรธทันที ท่านคือหุ่นยนต์ประเภทหนึ่งแท้ ๆ ถูกวางโปรแกรมไว้ พอสิ่งหนึ่งกระทบ หุ่นยนต์ก็ทำปฏิกิริยาตอบโต้ทันที ทำไมท่านต้องโกรธคนที่ด่าด้วย ก็เพราะท่านไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง เป็นเหมือนเครื่องไฟฟ้าที่พอถูกเสียบปลั๊กก็ทำงานทันที เป็นเหมือนตุ๊กตาไขลาน พอมีคนหมุนลาน ตุ๊กตาก็ดิ้นตาม ผู้คนทั้งหลายไม่รู้ตัวหรอก


พระเยซูได้ร้องบอกกับคนทั้งหลายในขณะที่ตนเองกำลังจะถูกตอกตะปูตรึงกางเขนอยู่ว่า “พระเจ้าอย่าได้ตำหนิเขาเลย พวกเขาไม่รู้ตัวว่าพวกเขาทำอะไรลงไป” มหาตมคานธีก็กล่าวคำทำนองนี้เช่นกัน หลังจากที่ถูกชายผู้หนึ่งยิง ในขณะที่ท่านกำลังจะสิ้นลม ท่านกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้ลงโทษชายผู้นี้ เขาไม่รู้”


คนทั้งหลายในโลกก็ล้วนทำความผิด เข่นฆ่า โหดร้าย ป่าเถื่อน เบียดเบียน ทำร้าย คดโกง กล่าวร้ายกันและกันไปมาอย่างนี้ พวกเขาไม่รู้ตัวว่าเขาทำอะไรลงไป เพราะต่างคนก็ต่างอยู่ในความฝัน เพราะต่างก็ถูกเสียบปลั๊กให้ทำทั้งนั้น มีหรือเขาด่ามาเราไม่โกรธตอบ เขาทำร้ายมา เรายิ้ม เขารักมา เราโกรธไป ก็เราท่านถูกตั้งโปรแกรมไว้แล้ว ให้ตอบสนองไปตามโปรแกรมที่ตั้งไว้แล้วนั้น


โศลกว่า “ให้แนวทางและกำลังใจ ผู้ฟังมีแต่ความสุข สงบ” วาจาหรือคำของคนมีผลส่งไปถึงใจให้มีพลังหรือให้มีความท้อแท้ถดถอยได้ คำกล่าวของคนทำให้เกิดความฮึกเหิมและเกิดความหวาดกลัวได้ ทำให้เกิดความอบอุ่นและทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลได้ เนื่องจากวาจานั้นเป็นพลังอย่างหนึ่งที่เข้าไปครอบครองจิตของตนและผู้อื่นได้


ในการปฏิบัติธรรมนั้นวาจาเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง วาจาที่พูดออกมาจากจิตที่สงบเยือกเย็นนั้นเป็นวาจาที่เชื่อมประสานให้จิตของผู้อื่นสงบเยือกเย็นไปด้วย หากวาจาที่พูดออกมาจากใจที่เร่าร้อน ก็สร้างความเร่าร้อนให้เกิดขึ้นกับจิตผู้อื่นด้วย ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจึงพูดในสิ่งที่นำใจไปสู่ความสงบเยือกเย็น นำใจให้มีกำลังปฏิบัติ เหนี่ยวโน้มไปสู่การปฏิบัติที่ลึกยิ่งขึ้น หยั่งลึกลงเป็นลำดับ นำไปสู่การพิจารณาเห็นตามความเป็นจริง


วาจาที่เป็นธรรมจึงประกอบไปด้วยความอนุเคราะห์สรรพสัตว์ เป็นวาจาให้กำลังใจ ทำให้เกิดความเอิบอิ่ม ไม่นำไปสู่การกระหายอยาก ไม่นำไปสู่กระตุ้นเร้าอกุศลมูล เป็นธรรมสัจวาจา คำเพียงสั้น ๆ ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เช่น “รักษาจิต บำเพ็ญเพียร มีสติ ทำจิตให้งดงาม ตามทันสัมผัส เห็นอรรถอันแจ่มแจ้งเถิด” แต่ทุกคำนั้นออกมาจากความลึกระดับที่สี่


ผู้มีจิตเข้าถึงความลึกระดับที่สี่ วาจาย่อมเป็นสัจวาจาทั้งสิ้น เพราะระดับที่สี่นั้นเป็นระดับที่ไร้ภาษา แต่เมื่อจะกล่าวออกมาเป็นภาษาจึงกล่าวได้แต่คำสภาวะเท่านั้น ยืมคำในระดับที่สามมาใช้ คำกล่าวระดับที่สามมีความใกล้ชิดกับระดับที่สี่ที่สุด เป็นคำที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึก เป็นภาษาของแม่ เป็นภาษาของคนรัก เป็นภาษาของผู้บำเพ็ญเพียร ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นภาษาที่ทำให้ผู้ฟังมีความสุข มีความสงบ มีกำลังใจ ผู้กล่าวมีความลึกซึ้งในอารมณ์ที่ประกอบกลั่นออกมาเป็นภาษา


ลองฟังผู้มีความรักพูดกับผู้ไม่มีความรักพูดจะมีน้ำหนักต่างกัน ผู้มีเมตตาพูดกับผู้ไม่มีเมตตาพูดก็ยิ่งต่างกัน มารดาตนพูดกับคนอื่นพูดต่างกัน ผู้ปฏิบัติธรรมพูดกับผู้ไม่ปฏิบัติธรรมพูดนั้นมีความลึกซึ้งต่างกัน ความต่างกันแฝงอยู่ในอารมณ์ แฝงอยู่ในถ้อยคำ แม้จะกล่าวคำเดียวกันก็ตาม



พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วว่า


“ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษในกรณีนี้ แม้มีใครถามถึงความไม่ดีของบุคคลอื่น ก็ไม่เปิดเผยให้ปรากฏ จะกล่าวไปทำไมถึงเมื่อไม่ถูกใครถาม ก็เมื่อถูกใครถามถึงความไม่ดีของบุคคลอื่น ก็นำเอาปัญหาไปทำให้หลีกเลี้ยวลดหย่อนลง กล่าวความไม่ดีของผู้อื่นอย่างไม่พิสดารเต็มที่ ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้เป็นสัตบุรุษ...ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีกคือ แม้ไม่ถูกใครถามถึงความดีของบุคคลอื่น ก็ยังนำมาเปิดเผยให้ปรากฏ...กล่าวความดีของผู้อื่นโดยพิสดารบริบูรณ์...ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีกคือ แม้ไม่ถูกใครถามถึงความไม่ดีของตน ก็ยังนำมาเปิดเผยให้ปรากฏ...กล่าวความไม่ดีของตนให้พิสดารเต็มที่...ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีกคือ แม้มีใครถามถึงความดีของตน ก็ไม่เปิดเผยให้ปรากฏ...กล่าวความดีของตนโดยไม่พิสดารเต็มที่ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล เป็นที่รู้กันว่า เป็นสัตบุรุษ”


ธรรมวาจาเป็นโอสถวจี ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายเมื่อจะกล่าวคำใด ก็มักกล่าวแต่ธรรมวาจา ใครที่ประสบพบกับความท้อแท้สิ้นหวังประสบทุกข์จึงต้องการทิพยวาจาเช่นนี้เพื่อชโลมจิตให้สดชื่นขึ้นมาอีกได้ มีกำลังต่อสู้ชีวิตขึ้นมาอีกได้ ขอพลังแห่งธรรมวาจาจงเป็นโอสถวจีแทรกเข้าไปภายในจิตของผู้บำเพ็ญเพียรสมณธรรมเพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด


นี่คือ โศลกที่สามสิบเอ็ดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พุทธภาวะ




พุทธภาวะ

๑. ความเบื้องต้น


การที่คนทั้งหลายมองเห็นสิ่งต่าง ๆ แม้สิ่งเดียวกัน หรือเรื่องเดียวกัน แต่กลับไม่เหมือนกัน เป็นเพราะอะไร คำตอบที่ได้ก็คงมีต่าง ๆ กันไป ในที่นี้จึงขอเสนอมุมมองเป็นฐานคำตอบไว้ เพื่อให้เป็นแนวทางในการเข้าใจสภาพที่ปรากฏขึ้น และทำให้เข้าใจผู้อื่น ไม่นำไปสู่การลบลู่มุมมองและความคิดของผู้อื่นที่เห็นหรือให้คำตอบไม่เหมือนตนเอง เนื่องจากเข้าใจฐานคำตอบที่คน ๆ นั้นเขาแสดงออกมา ในที่นี้ขอเสนอฐานคำตอบไว้ ๒ ลักษณะ คือ ตามลักษณะทางความคิด ที่เรียกว่า ตามกระบวนทรรศน์ และตามลักษณะของมิติเชิงลึก ฐานคำตอบตามกระบวนทรรศน์นั้นมี ๕ กลุ่ม ได้แก่
๑) สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เทพเจ้าบันดาล (Primitive)
๒) สิ่งนั้นเป็นผลบุญที่ตนทำไว้ (Ancient)
๓) สิ่งนั้นเป็นความช่วยเหลือของผู้มีบุญ (Mediaeval)
๔) สิ่งนั้นเป็นผลงานของตนเอง (Modern)
๕) สิ่งนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย (Post Modern)


ส่วนฐานคำตอบตามลักษณะมิติเชิงลึกมี ๔ ระดับ ได้แก่
๑) ระดับเห็นภายนอก (Body or Seeing)
๒) ระดับคิดเหตุผล (Mind or Thinking)
๓) ระดับเข้าใจ (Heart or Understanding)
๔) ระดับตระหนักตื่นรู้ (Soul or Awakening)

จากลักษณะมุมมองของฐานทั้ง ๒ ประการที่ให้ไว้ในที่นี้ ถ้าไม่เข้าใจมีผลทำให้โลกนี้ปั่นป่วน และเกิดโกลาหลได้เลยทีเดียว เพราะต่างก็จะใช้ฐานของตนเป็นหลักแล้วมองฐานของผู้อื่น จากนั้นก็จะเกิดความพอใจ ไม่พอใจขึ้น เกิดถูก ผิดขึ้น เกิดดี ชั่วขึ้น ยกเว้นเสียแต่ว่า ผู้ใดที่เข้าถึงระดับสุดท้ายของแต่ละฐานเท่านั้นก็จะสามารถอยู่ในโลกนี้ได้อย่างสบาย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนและแก่ผู้อื่น เพราะฐานที่ ๔ นี้ก็คือ ฐานแห่งพุทธภาวะ เป็นฐานแห่งการตระหนักตื่นรู้

๒. มายาปิดบัง


ในยามที่อยู่ร่วมกับผู้คนที่หลากหลายในสังคม อดไม่ได้ที่จะเข้าใจและแลเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับบุคคลอื่นขึ้นมาทันที ความสัมพันธ์นั้นมีความสำคัญมาก เพราะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนี่เองที่เป็นตัวบดบังความเข้าใจที่แท้จริงให้หายไป เนื่องจากคำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนี่แหละเป็นสาเหตุทำให้ตัวตนสำคัญขึ้นมาได้ เป็นเหตุให้ตัวตนแสดงบทบาทออกมาได้ หากไม่มีความสัมพันธ์นี้ ตัวตนจะเหลือความเป็นธรรมชาติที่สุด เหลือความเป็นเอกภาวะที่สุด ไม่อาจโยงใยตนกับใคร ใครกับตนได้ บทบาทที่ตัวตนจะแสดงออกมาก็ไม่มีช่องทาง


เราจะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่เริ่มกำเนิดในครอบครัว เราต้องกลายเป็นลูกสัมพันธ์กับพ่อแม่ สัมพันธ์กับญาติพี่น้อง กลายเป็นเด็กสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ กลายเป็นลูกบ้านกับผู้ใหญ่บ้าน กลายเป็นนักเรียนสัมพันธ์กับครู กลายเป็นนักศึกษาสัมพันธ์กับอาจารย์ กลายเป็นคนรักสัมพันธ์กับคนรักและเพื่อนฝูง กลายเป็นประชากรสัมพันธ์กับรัฐและพวกนักวิจัย กลายเป็นนักการเมืองสัมพันธ์กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง กลายเป็นผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครอง กลายเป็นทรัพยากรมนุษย์สัมพันธ์กับนักบริหารจัดการ นายจ้าง และผู้ค้าแรงงาน กลายเป็นศาสนิกสัมพันธ์กับผู้สอนศาสนา เมื่อพิจารณาแล้ว อัตตาที่แฝงอยู่ในตัวเรานั้น อาศัยความสัมพันธ์เล่นบทบาททำให้เรากลายเป็นอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่คน กลายเป็นชื่อที่เขาใช้เรียกตามเส้นแห่งสัมพันธ์นั้นเท่านั้นเอง และเราทั้งหลายก็หลงลืมความเป็นคนไปอย่างสิ้นเชิง


สถาบันการศึกษานี่แหละที่เป็นแหล่งหล่อหลอมให้ทุกคนลืมความเป็นคนเสีย แต่ให้ความสำคัญและปลูกฝังไปที่ความสัมพันธ์นั้นหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เน้นให้ทุกคนให้ความสำคัญมุ่งไปที่หน้ากากที่ทุกคนสวมใส่ ในที่สุดมนุษย์ทุกคนก็กลายเป็นเพียงคำร้องเรียกในเส้นใยแห่งความสัมพันธ์นั้น ก็คือเรียกตามหน้ากากที่แสดงนั้นนั่นเอง เช่น ลูก พ่อแม่ ญาติ เด็ก เพื่อน คนรัก ครู นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ นักการเมือง นักการศาสนา นายจ้าง ลูกจ้าง นักธุรกิจ โสเภณี ตำรวจ ทหาร ฯลฯ เป็นต้น ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในสังคมโลกไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศาสนา ล้วนแล้วแต่มีต้นตออยู่ที่นี่ทั้งนั้น ก็เพราะอัตตาตัวนี้ได้ทำหน้าที่ผ่านความสัมพันธ์ที่สังคมปลูกฝังนี้ เราจึงไม่เข้าใจได้เลยว่า เหตุใดผู้คนจึงได้แสดงความโหดร้าย โหดเหี้ยม ทำร้าย และทำลายกันและกันได้ ก็เพราะอัตตานี้ไม่ได้ทำร้ายคนๆ นั้น แต่ที่มีการทำร้ายใครๆ ทั้งหลายได้ เพราะเขาทำร้ายและทำลายเส้นสัมพันธ์นี้ให้สิ้นไปต่างหาก เช่น นักการเมืองเอาเปรียบประชาชน เขารู้สึกตัวเขาเองคือ นักการเมือง และมองผู้อื่นเป็นผู้ถูกปกครอง ได้แก่ประชาชน เขากำลังครอบครองเส้นสายสัมพันธ์นั้นอยู่ อัตตาแสดงอำนาจผ่านเส้นสายสัมพันธ์นั้นอยู่ นักธุรกิจทำร้ายนักธุรกิจด้วยกันเอง นายจ้างทำร้ายลูกจ้าง สามีทำร้ายภรรยา ทหารทำร้ายประชาชน ตัวตนที่มองเห็นออกไปเห็นเพียงเส้นสายที่เรียกชื่อสัมพันธ์นั้นว่าเรามีอำนาจเหนือกว่า เรามีสิทธิที่จะทำลายเส้นสายสัมพันธ์นั้นได้ จึงไม่สงสัยที่นักการเมืองทั้งหลายพูดได้ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องจริง ทหารทำร้ายประชาชนได้ เพราะอัตตาที่แฝงอยู่ในคำว่าทหารนั้นแสดงอำนาจออกมาตามเส้นสัมพันธ์นั้นจึงสามารถทำร้ายเส้นสัมพันธ์นั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่ากี่คนก็ตาม แต่ก็มีความหมายเพียงหนึ่งเดียวคือเส้นสัมพันธ์ของคำว่าประชาชนเท่านั้น ความเป็นคนจึงถูกหลงลืมลบหายไปจากสารระบบแห่งความรู้สึกของความเป็นคนด้วยกัน เป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่อย่างน่าสลดใจ

๓. กายลักษณะ


กายลักษณะ ก็คือกายที่ปรากฏภายนอก ปรากฏการณ์ของสิ่งต่าง ๆ สรรพสิ่งที่เห็นได้ สัมผัสได้ เป็นกายที่ผ่านอายตนะทั้ง ๕ ส่วน คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย เป็นกายในระดับกายภาพ คือ ระดับ Body or Manifestation กายระดับนี้มีความแตกต่างหลากหลาย ตามสิ่งที่ปรากฏออกมา ใครชอบสิ่งไหน เกลียดอะไร ก็แสดงออกกันไป


กายลักษณะและเส้นสายสัมพันธ์ที่ผูกโยงกายลักษณะนี้ เรียกว่า นิรมาณกาย หน้ากากตัวละครที่ทุกคนสวมใส่นี้เป็นกายลักษณะ เป็นกายที่มีลักษณะแตกต่างกันไปตามภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบ บางคนติดอยู่กับกายภายนอกนี้อย่างไม่ลืมหู ลืมตา ไม่ว่าไปที่ไหน อยู่อย่างไร ก็เข้าใจว่ากายภายนอกนี้เป็นกายที่แท้จริง ไม่สามารถขจัดออกไปได้ เพราะกายภายนอกนี้ถูกสังคมปลูกฝังไว้เสียจนแน่นหนา เข้าไปสู่สถานที่ใดก็นำพากายภายนอกนี้ไปเสมอ นอกจากนั้นยังแสดงให้ผู้อื่นเห็นแต่กายลักษณะนี้อย่างเด่นชัด หากผู้ใดมองข้ามกายลักษณะนี้ไป อัตตาตัวตนที่แฝงอยู่ภายในจะแสดงอาการไม่พอใจออกมาให้เห็นทันที และพร้อมที่จะทำลายผู้นั้นได้ แรกเริ่มจะเริ่มตั้งปัญหาก่อนว่า “เราเป็นใคร มันเป็นใคร” ถ้าหากเห็นกายลักษณะของผู้นั้นเด่นกว่า ก็จะยินยอมให้ได้ แต่ถ้ากายลักษณะของผู้นั้นด้อยกว่า ก็จะหาวิธีทำให้คนนั้นได้รับรู้ว่า กายลักษณะของตนนั้นเป็นอย่างไร การไม่มองเห็นกายลักษณะของตนอยู่ในสายตานั้นมีจะได้รับบทเรียนอย่างไร มีผลเสียอย่างไร นี่คือผลลัพธ์ที่หน้ากากกระทำต่อหน้ากากด้วยกัน


ในครั้งหนึ่งสมัยพุทธกาล ท่านกาฬุทายีอำมาตย์ ซึ่งเป็นสหชาติเกิดวันเดียวกันกับพระพุทธเจ้า ภายหลังได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา สืบเนื่องมาจากพระราชบิดาของพระพุทธเจ้าทรงส่งท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วให้อาราธนากับเยือนกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อท่านเข้ามาบวช ท่านเห็นอัตตานั้นดิ้นรนแสดงอาการ เพราะในพระพุทธศาสนานั้นได้สอนให้ทุกคนวางความเป็นกายลักษณะนั้นเสีย ท่านรำพึงกับตนเองว่า “แต่ก่อนนั้นไม่ว่าจะไปไหนมีแต่คนรายลอบ ห้อมล้อม ชื่นชม สรรเสริญเยินยอ มีแต่คนเอาใจในฐานะอำมาตย์ผู้ใหญ่ ในฐานะคนสนิทของพระราชา ในฐานะผู้ทรงภูมิความรู้ ในฐานะสหชาติของพระพุทธเจ้า มาบัดนี้ไม่มีผู้ใดแสดงอาการอย่างนั้นกับเราเลย” กายลักษณะเหล่านั้นได้ฝังเข้าไปในความรู้สึกของท่าน ก็ในพระพุทธศาสนา กายลักษณะนั้นไม่มีผู้ใดมองเห็นอีก ไม่มีผู้ใดให้ความสำคัญอีก อัตตาจึงรับไม่ได้ ตราบเมื่อท่านได้เข้าถึงและผ่านพ้นกายลักษณะนี้เข้าไปเห็นกายที่ลึกอยู่อีกชั้นหนึ่ง จึงเห็นอัตตานั้นทำงานอย่างสุดกำลังของมัน


อีกตัวอย่าง มีศาสตราจารย์ที่ทรงภูมิความรู้ มีชื่อเสียงกระฉ่อนในสังคมคนหนึ่ง เข้าไปปฏิบัติธรรมในสำนักปฏิบัติธรรม เขาได้พกเอากายลักษณะนี้ไปอย่างเต็มที่ สวมใส่หน้ากากศาสตราจารย์นั้นอย่างแนบเนียน แนบแน่น และเด่นชัด ไม่ว่าจะย่าง จะเดิน จะสนทนา จะนั่ง จะทานก็มีความรู้สึกเสมอว่า ตนเป็นศาสตราจารย์มาปฏิบัติธรรม พอเห็นใครต่อใครไม่สนใจตนก็เริ่มรู้สึกว่า เขาเหล่านั้นไม่ให้เกียรติตน ยิ่งสนทนากับพระวิปัสสนาจารย์ ก็รู้สึกว่า พระวิปัสสนาจารย์ท่านนี้พูดภาษาบาลีก็ไม่ถูกต้อง ไม่อ้างตำรา ไม่แสดงขั้นตอนของการปฏิบัติธรรม ไม่มีความรู้เอาเสียเลยจึงรู้สึกว่า ไม่คู่ควรต่อการจะมาเป็นสอนตน เมื่อหน้ากากแสดงออกอย่างชัดเจนเช่นนั้น พระอาจารย์จึงถามว่า ท่านเป็นใคร เขาไม่สามารถตอบได้ว่า ตนเองเป็นใครกัน การจะตอบที่ว่า เขาเป็นศาสตราจารย์นั้นช่างเป็นคำตอบที่น่าละอาย ไม่ใช่คำตอบที่พระอาจารย์ต้องการทราบแน่ นั่นเป็นคำถามและคำตอบของเด็กๆ ที่เห็นหน้ากากหรือตุ๊กตาแล้วถามว่า นั่นเป็นอะไร ไม่มีความหมายใดต่อการปฏิบัติธรรม จนในที่สุดเขาเริ่มวางกายลักษณะไว้ ผ่านเข้าไปถึงกายสภาวะ


อีกตัวอย่างหนึ่ง ในการสอบปลายภาควิชาปรัชญา นักเรียนที่ลงเรียนในรายวิชานี้ต่างนั่งเตรียมพร้อมอยู่ที่ที่นั่งของตน ศาสตราจารย์ผู้ปราดเปรื่องได้ยกเก้าอี้ที่ตัวเองนั่งขึ้นวางไว้บนโต๊ะแล้วตั้งคำถามเพียงข้อเดียวเพื่อเป็นข้อสอบปลายภาคว่า จงใช้ความรู้ทั้งหมดที่ได้เรียนในเทอมนี้อ้างเหตุผลเพื่อพิสูจน์ว่าเก้าอี้ที่อยู่ตรงหน้านี้ไม่มีอยู่จริง นักศึกษาต่างก้มหน้าก้มตาตอบคำถามอย่างเอาจริงเอาจัง นักศึกษาบางคนเขียนคำตอบยาวถึง ๑๐ หน้ากระดาษ ใช้เวลาเขียนเป็นชั่วโมง เพื่ออ้างเหตุผลพิสูจน์ว่าเก้าอี้ที่ตนนั่งอยู่ไม่ได้มีอยู่จริง แต่มีนักศึกษาอยู่คนหนึ่งใช้เวลาเพียง ๓๐ วินาทีในการตอบข้อสอบข้อนี้ แล้วก็ลุกออกจากห้องสอบไปเป็นคนแรก หนึ่งสัปดาห์ผ่านไปเป็นวันที่ประกาศผลการสอบ ผลสอบที่ออกมานั้นปรากฏว่านักศึกษาที่ใช้เวลาในการตอบข้อสอบไม่ถึง ๑ นาที เป็นคนเดียวในชั้นที่ได้เกรด A ในรายวิชานี้ ทำให้ทุกคนสงสัยว่าทำไมเขาถึงได้ A ในรายวิชานี้ เขาตอบคำถามเพียงแค่ ๒ คำ คือ เก้าอี้คืออะไร “What's chair?” คำตอบของนักศึกษาคนนี้ก็เหมือนกับคำถามของพระวิปัสสนาจารย์ที่ถามศาสตราจารย์คนนั้นว่า “ท่านเป็นใคร” “Who are you?”

๒. กายสภาวะ


สภาวะแห่งความรู้สึกถึงความเป็นกลุ่มก้อนที่เรียกว่า คน มนุษย์ หรือสัตว์ กลุ่มก้อนแห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะ (สัมโภคกาย) เมื่อถอดหน้ากากออกแล้ว ก็จะเหลือแต่ความเปลือยเปล่า เหลือแต่สภาวะที่เรียกว่า คน มนุษย์ หรือสัตว์ เหลือแต่ความอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่ติดอยู่กับความเป็นคนหรือสัตว์นั้น เหลือแต่สภาวะก้อนแห่งขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก้อนแห่งสภาวะนี้ทำหน้าที่ของมันจนกลายเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขาขึ้นมาได้ กายสภาวะนี้ซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากนั้น ผู้ใดที่เข้าถึง เข้าใจ และเห็นกายสภาวะนี้ได้ ก็สามารถล่วงพ้นเขตอำนาจของเส้นสายสัมพันธ์ที่อัตตาแสดงผ่านได้ แต่กระนั้นอัตตาก็ได้วางกับดักไว้อีกชั้นหนึ่งเป็นเส้นสายสัมพันธ์ที่ผูกโยงขันธ์ ๕ นั้นไว้ อัตตาก็ทำงานผ่านเส้นสายสัมพันธ์ที่เป็นความรู้สึกนึกคิดว่า มีอยู่ เป็นอยู่ ดำรงอยู่ เพียงเท่านี้ก็ยังรักษาความเป็นเรา (เอตํ มม) ความเป็นของของเรา (เอโสหมสฺมิ) และความเป็นตัวเป็นตนของเรา (เอโส เม อตฺตา) เป็นกับดักที่ละเอียดอ่อนมาก เป็นกรงขังที่แยบยลมาก เป็นตาข่ายที่ถี่มาก


จึงไม่แปลกเลยที่นักปรัชญาตะวันตกคนสำคัญ ได้แก่ เดการ์ดส์ (Descartes นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส) ถึงได้ทิ้งวลีทองไว้ให้ชนชาวตะวันตกทั้งหลายว่า “I Think, Therefore I am” ก็เพราะเราคิดได้ ฉะนั้นจึงมีเราอยู่ เพราะเราคิดอย่างไร เราก็จะเป็นอย่างนั้น ตัวตนเราไม่ได้หายไปไหน นี่จึงกลายเป็นกรงขังชาวตะวันตกทั้งหมด ชาวตะวันตกทั้งหลายถูกวลีนี้หล่อหลอมให้เข้าใจอย่างนั้นจนไม่สามารถหลุดพ้นไปได้ เดการ์ดส์เข้าถึงกายสภาวะแล้ว และเห็นกายสภาวะนี้ช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน มันเป็นเหมือนมรดกแห่งพระเจ้าฉะนั้น ใครก็ตามที่เห็นกายสภาวะนี้แทบจะกล่าวได้ว่า เห็นพระเจ้าแล้ว เข้าถึงพระเจ้าแล้ว ก็เพราะเขาเห็นความเป็นตัวตนที่อยู่ข้างใน ตัวตนนี้ทำหน้าที่ผ่านความคิด การปรุงแต่ง อารมณ์ ความรู้สึกนั่นเอง นี่เป็นเพียงกายสภาวะหรือกายภายใน เมื่อเห็นกายสภาวะนี้อยู่ ผู้ปฏิบัติต้องไม่เข้าไปยึด ไม่ต่อต้าน ไม่ขัดขืน และไม่ปล่อยไปตามความคิดและอารมณ์นั้นๆ ใช้สติดูกายสภาวะนี้ไว้


๓. กายภูตะ


กายธรรมหรือธรรมกายเป็นกายแห่งสัจธรรม เป็นการสลายเส้นสายทั้งมวลที่ร้อยรัดให้กายสภาวะเป็นกลุ่มก้อนขึ้นมาให้เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เมื่อเส้นสายที่ร้อยรัดขันธ์นี้ถูกสลายไป ก็จะเห็นกายภูตะซึ่งไม่หลงเหลืออะไรที่อัตตาจะเข้าไปยึดถือได้อีก เป็นเพียงความว่าง เป็นเพียงอาการที่แสดงออกเท่านั้น ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา อยู่ภายในนั้น เป็นความสงบนิ่ง เป็นยถาภูตญาณทัสสนะ คือการเห็นแจ้งซึ่งความเป็นเช่นนั้นด้วยปัญญาญาณ ความเป็นเช่นนั้นที่ว่านี้ก็คือ ความว่างนั่นเอง การผ่านทะลุกายสภาวะที่เป็นขันธ์ภายใน ก็จะลุถึงกายภูตะ อันเป็นความว่างที่ไร้อะไรเข้าไปร้อยรัดได้ ก็เพราะไม่มีอะไรเหลือให้อัตตาเข้าไปยึดถือ ไม่เหลืออะไรให้อัตตาแสดงออกมาได้ อัตตาก็สูญสลายไปในที่สุด


กายภูตะนี้แลที่เป็นกายแห่งพุทธภาวะ ได้แก่ กายภาวะแห่งความรู้แจ้ง กายที่อยู่เบื้องลึกแห่งสรรพภาวะ ทั้งในสัตว์ บุคคล และในสรรพสิ่ง สรรพสิ่งนั้นประกอบไปด้วยกายลักษณะ กายสภาวะ และกายภาวะอยู่ภายใน เพียงแต่เพราะความจำกัดด้วยปัญญาที่จะเข้าถึงภายในที่สุดเท่านั้น ผู้คนจึงไม่สามารถเห็นพุทธภาวะนี้ได้ โดยธรรมชาติแล้ว อัตตานั้นไม่สามารถมองเข้าไปภายในตัวของมันเองได้ มันมีปกติมองออกข้างนอกเสมอ จึงไม่แปลกที่ผู้คนจึงเห็นได้แต่กายลักษณะเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นกายที่ปรากฏอยู่ภายนอกนั่นเอง เป็นกายที่ฉาบทาอยู่ที่พื้นผิวของสรรพสิ่งให้แสดงคุณลักษณะของสิ่งนั้น ๆ ว่า สวยงาม น่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจ หรือน่ารักเกียจ ไม่สวยงาม อัปลักษณ์ น่าขยะแขยง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนทั้งหลายจึงมีปกติมองเห็นความผิดปกติที่ปรากฏอยู่ที่กายลักษณะของผู้อื่นเสมอ จนกลายเป็นกลอนเชิงล้อเลียนว่า
โทษคนอื่นมองเห็นเป็นภูเขา
โทษของเรามองเห็นเป็นเส้นขน
ตดคนอื่นเหม็นเบื่อเหลือจะทน
ตดของตนทนเหม็นไม่เป็นไร


กายแห่งพุทธะนี้เปรียบเหมือนน้ำ ส่วนกายลักษณะและกายสภาวะนั้นเปรียบเหมือนน้ำแข็ง เหตุที่กายลักษณะและกายสภาวะยังเป็นน้ำแข็งก็เพราะเป็นกายที่ยังไม่ถูกอบ รม เผา ให้น้ำแข็งนั้นละลายให้กลายเป็นน้ำ มีแต่ต้องทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น น้ำแข็งจึงจะละลายได้ น้ำแข็งจึงจะกลายเป็นน้ำ ในที่นี้สามารถใช้กระบวนการละลายน้ำแข็งได้ ๒ ระบบ แต่ละระบบนั้นมีผลได้น้ำสะอาดยิ่งกว่ากัน ระบบที่หนึ่ง คือใช้ความอบอุ่นแห่งความรัก ความรักสามารถละลายน้ำแข็งให้เป็นน้ำได้ ความรักทำให้เข้าใจผู้อื่น ความรักทำให้ข้ามพ้นกายลักษณะเข้าไปได้ ความรักสามารถเกิดบรรยากาศที่เรียกว่า มีน้ำใจไมตรี เป็นความอบอุ่น เมื่อสามารถละลายน้ำแข็งให้เป็นน้ำได้แล้ว ทีนี้ต้องทำให้น้ำนั้นเป็นน้ำที่สะอาด บริสุทธิ์ด้วยระบบที่สอง คือ ใช้สติเป็นธรรมเครื่องกลั่นน้ำให้สะอาด สติสามารถเห็นองค์ประกอบของน้ำที่เป็นไฮโดรเจน สองอะตอม และออกซิเจน หนึ่งอะตอมได้ (H2O) สติทำให้ข้ามพ้นกายสภาวะนี้เข้าไปถึงกายพุทธะ เป็นกายที่อยู่ลึกสุด ต้องอาศัยสติเท่านั้นจึงจะสามารถเห็นได้ เพราะสติเป็นธรรมชาติมองเข้าไปข้างใน มองให้เห็นธรรมชาติที่แท้ของสรรพสิ่ง มองด้วยญาณทัศนะ

๔. กระบวนการเปลี่ยนภาวะ


ให้พิจารณาลักษณะของการกลั่นน้ำมัน น้ำมันนั้นแต่เดิมเป็นคุณลักษณะที่มีศักยภาพในตัวของมันเอง แต่ยังคงเป็นน้ำมันดิบที่นำไปทำประโยชน์ได้ไม่มาก แต่เมื่อใดนำน้ำมันเข้าสู่เตากลั่นน้ำมันที่มีความร้อนขององศาที่เสถียรเป็นเวลานานเท่าใด คุณภาพของน้ำมันก็จะเปลี่ยนแปรสภาพจากน้ำมันเตาเป็นน้ำมันก๊าซ เพิ่มองศาขึ้นไปอีก ก็จะได้น้ำมันอีกลักษณะหนึ่ง คือน้ำมันดีเซล เพิ่มองศาความร้อนขึ้นไปอีก น้ำมันก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นเบนซิน ถ้าเพิ่มมากขึ้นไปอีก ก็จะกลายเป็นน้ำมันของเครื่องบิน


เช่นเดียวกันกับการกลั่นน้ำให้เป็นน้ำสะอาดที่สุด ก็จะได้น้ำที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้นจะต้องรักษาอุณหภูมิแห่งสติให้คงที่ เมื่อความร้อนคงที่ ความร้อนก็จะกลายเป็นไฟขึ้นมาได้ ขอเพียงให้รักษาความร้อนนั้นไว้ให้ได้จังหวะ รอการเปลี่ยนแปลงให้ไฟปรากฏ ด้วยเหตุนี้ผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายก็พึงรักษาตบะนั้นให้ต่อเนื่อง รักษาสตินั้นไว้ให้ต่อเนื่อง ยาวนาน รอกาลแห่งการเปลี่ยนแปลงทางจิตให้ปรากฏขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางจิตนี้ก็คือปัญญาที่จะเห็นแจ้งนั่นเอง เป็นไฟอย่างหนึ่งที่จะลุกโพลงขึ้นมาเมื่อสมาธิได้ที่ ดังนั้น เมื่อเห็นกายภูตะนี้แล้วก็พึงรักษาสภาวะนี้ไว้ให้ยาวนานจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง


วิธีการที่จะผ่านจากกายลักษณะเข้าไปก็ด้วยการกำหนดลมหายใจสั้นยาว ความสั้นยาวของลมหายใจนั้นเป็นกายลักษณะที่รักษาหน้ากากเอาไว้ เมื่อสังเกตเฝ้าดูลมหายใจ ความสงบสุขก็จะเกิดขึ้น เมื่อเฝ้ามองกายที่ ๑ กายที่ ๒ ก็จะเกิดขึ้น จนกระทั่งถึงระดับกำหนดรู้ลมหายใจบางเบา ลมหายใจที่บางเบานี้อยู่ในขั้นของกายสภาวะ เป็นกายแห่งความสงบ เป็นกายแห่งความสุข หรือจะเรียกว่า สัมโภคกาย ก็ตามเถิด ให้เฝ้าสังเกตกายที่ ๒ ต่อไป กายที่ ๓ ย่อมปรากฏ คือกายแห่งความจริง กายแห่งสัจธรรม กายแห่งสามัญลักษณะ ได้แก่ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา กายนี้เรียกว่า กายภูตะ หรือจะเรียกว่า ธรรมกายก็ตามเถิด เมื่อเข้าถึงจุดนี้ได้แล้วพึงรักษาสภาวะแห่งความว่างนี้ให้ยาวนานจนกว่าจะมีความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความสงบระงับกายระดับที่ ๓ นี้ เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาญาณ ความรู้แจ้งที่ไม่กลับกลาย การเห็นแจ้งซึ่งสัจธรรมทั้งหลายทั้งมวล สัจธรรมที่มีแต่ความว่างเท่านั้น


ไม่ว่ากายลักษณะ อันได้แก่หน้ากากทั้งหลาย เส้นสัมพันธ์ของโลก ไม่ว่ากายสภาวะ ได้แก่ ความรู้สึกนึกคิด ความสงบสุข และหน้าที่เส้นสายสัมพันธ์ในขันธ์ทั้งหลาย ไม่ว่ากายภูตะ ได้แก่ สัจธรรม ความจริงแห่งขันธ์ ความว่างที่ดำรงอยู่อย่างนั้น ความเคลื่อนไหวแห่งธรรมชาติ ไม่มีอะไรให้ต้องเข้าไปยึดถือ ไม่มีอะไรให้ต้องเป็นห่วงกังวล ไม่มีอะไรที่ต้องลุ่มหลง พระอริยะทั้งหลายจึงได้สละหน้ากาก ไม่ว่าจะหน้ากากใด ใด สละเส้นสัมพันธ์ที่ผูกโยงให้ยึดมั่น ถือมั่นในขันธ์ทั้งหลาย ตัดขาดเสียซึ่งอวิชชาที่ห่อหุ้มในกายทั้ง ๓ พระอริยะทั้งหลายเป็นน้ำบริสุทธิ์สะอาดสูงสุด เป็นน้ำที่เหมาะสำหรับทุกคนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ในโลกทุกสิ่ง พึงพยายามใช้ความรักละลายน้ำแข็ง และใช้สติกลั่นน้ำให้สะอาดบริสุทธิ์เถิด