วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

เดินสมาธิ








โศลกที่สิบเก้า "เดินสมาธิ"
เดินคือเดิน
ก้าวย่างเต็มย่างก้าว
เดินสมบูรณ์ภาวะการเดิน
เดินไม่ต้องคิดเดิน
เดินคือทั้งหมดการเดิน

มีสติแล้วเดิน
เดินมีสติเป็นการเดินสมาธิ
เดินสมาธิย่อมเกิดปัญญา
ทำให้เราเห็นความงดงาม
ของการเดินที่เคลื่อนไป
การเดินมีเพียงหนึ่ง
หนึ่งนั้นคือก้าวเดิน



การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้นต่างไปจากการฝึกฝนแบบอื่นๆ การฝึกฝนอื่นๆ ฝึกเพื่อใช้ในยามที่ต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นวิ่ง เดิน ร้องเพลง กีฬา การแข่งขัน การทำอาชีพ การฝีมือ ศิลปะป้องกันตัว ล้วนแล้วแต่นำมาใช้ในขณะที่ต้องใช้ นอกเหนือจากนั้นก็เก็บไว้ไม่ต้องใช้ ใช้ในยามจำเป็น ใช้ในยามต้องแสดงออกว่ามีความสามารถ แต่การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้นเป็นการฝึกเพื่อให้มีอยู่กับตนเองตลอดไป การฝึกเดินสมาธิก็เพื่อให้การเดินต่อไปและตลอดไปเป็นสมาธิ ฝึกนั่งสมาธิก็เพื่อให้การนั่งทุกที่ทุกแห่งต่อไปเป็นการนั่งสมาธิ หายใจต่อไปก็เพื่อให้หายใจเป็นสมาธิตลอด บางคนเข้าใจผิดว่า การนั่งสมาธิและการเดินสมาธินั้นต้องไปหาที่นั่งที่เดินภายในสำนักปฏิบัติธรรมจึงจะเป็นการเดินและการนั่งสมาธิ แสดงว่ามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติฝึกฝนธรรมในพระพุทธศาสนา เพราะในพระพุทธศาสนาอย่าว่าแต่อิริยาบถเลย แม้แต่ทุกลมหายใจยังต้องฝึกให้เป็นลมหายใจแห่งธรรม คือมีสติอยู่ตลอดเวลา

นักปฏิบัติหลายคนทำตัวเหมือนคนเข้าฌาน ในยามเข้าฌานดูเหมือนสงบนิ่ง เรียบร้อย สำรวม เป็นพุทธบริษัทที่ดี แต่พอออกจากฌานก็วุ่นวาย ฟุ้งเหมือนเดิม บางทีหนักกว่าผู้ที่ยังไม่ได้ปฏิบัติเสียอีก หรือทำตนเหมือนรับศีลต่อหน้าพระ พ้นจากหน้าพระก็ลืมศีล นักปฏิบัติที่สงบนิ่งเฉพาะแต่ในยามอยู่ภายในห้องปฏิบัติ แต่พอออกจากห้องปฏิบัติก็ฟุ้งเหมือนเดิม นี่แสดงว่ามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากแนวทางพระพุทธศาสนาที่แท้จริง จึงไม่สงสัยเลยว่า ฤาษีทั้งหลายทำไมจึงโกรธ เมื่อมีใครมายั่ว หรือมาทำให้ไม่พอใจ หรือมาแย่งของรักของหวง ทั้งที่ฤาษีเหล่านี้บำเพ็ญเพียรจนได้ฌานในระดับต่างๆ นั่นก็แปลว่า ความสงบนั้นมีเฉพาะในยามปฏิบัติเท่านั้น พอไม่ปฏิบัติก็หายไป เหมือนดั่งช่างฝีมือ จะมีฝีมือก็ตอนที่ทำงานเท่านั้น พอไม่ได้ทำงานก็ไม่มีฝีมือ แสดงว่า การปฏิบัติธรรมก็เหมือนเป็นงานฝีมืออย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งไม่ถูกต้องตามแนวพระพุทธศาสนา

จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าตอนที่บำเพ็ญตนเป็นสิทธัตถะดาบสอยู่กับอาจารย์ทั้งสอง ได้ปฏิบัติจนกระทั่งถึงระดับสูงสุดของสมาบัติ แต่พอออกจากสมาบัติก็กลับเข้าสู่อารมณ์เดิมๆ คือ มีความอยาก มีความไม่พอใจ มีความยินดี ไม่ยินดี มีรัก มีโหยหา มีอึดอัดขัดข้องอยู่อีก นั่นแสดงว่ามีอะไรไม่ถูกต้องตามแนวทางแน่ ท่านจึงได้หลีกไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเป็นปกติทุกลมหายใจเข้าออก ทุกขณะในการดำเนินชีวิตไป การอยู่ในการปฏิบัติเป็นเช่นไร การดำเนินชีวิตก็ต้องเป็นเช่นนั้น ความสงบในขณะอยู่ในสมาธิเป็นเช่นใด การทำงานก็ต้องสงบเช่นนั้น มิใช่ปฏิบัติเพียงหนึ่งชั่วโมง นอกนั้นไม่ได้ปฏิบัติ แล้วชีวิตที่นอกการปฏิบัติเป็นอะไร ชีวิตที่เป็นชีวิตก็ต่อเมื่ออยู่ในขณะปฏิบัติธรรมแล้วชีวิตนอกเหนือจากนั้นเล่าเป็นชีวิตที่ไร้ชีวิตหรือไร

คำว่า การปฏิบัติที่ใช้ในที่นี้มีความหมาย คือ การมีสติอยู่ทุกขณะ เมื่อมีสติอยู่ทุกขณะ ก็แสดงให้เห็นถึงการทำตนเป็นผู้สังเกต เมื่อใดสังเกตอิริยาบถที่ตนปฏิบัติ เมื่อนั้นความเป็นตัวตนจะสิ้นลง ทวิภาวะจะสิ้นลง จะเหลือแต่อิริยาบถที่มีสติสังเกตเฝ้าดูอยู่เท่านั้น มีเพียงหนึ่งเดียวคือสิ่งนั้น อย่ากล่าวไปมากกว่านี้เลย แม้กระทั่งคิดว่า ฉันกำลังปฏิบัติสมาธิ ก็ไม่ใช่สมาธิแล้ว นั่นเป็นเพียงความคิดปฏิบัติเท่านั้น เป็นการอ่านเมนูเรื่องปฏิบัติเท่านั้น เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจเรื่องสมาธิให้ถูกต้อง สมาธิมิได้หมายถึง อุปจารสมาธิ อัปนาสมาธิ อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิตอะไรนั่นเลย นั่นเป็นเพียงขั้นตอนที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการที่จิตกำลังทำงาน สมาธิคือความรู้สึกตัว ความตื่นตัวทั่วพร้อมของสติเท่านั้นเอง เป็นการเฝ้าสังเกตมองดูทุกอากัปกิริยาที่สมบูรณ์ เพราะสมาธิมาจากสติที่แรงกล้า พลังแห่งสติย่อมทำให้จิตหายไป สมาธิมิใช่การเพ่ง สมาธิมิใช่การเข้าไปยึดเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอารมณ์ อารมณ์นั้นเป็นเพียงเครื่องมือทำให้สติได้สังเกตจิตได้ง่ายเท่านั้น สติที่สังเกตได้อย่างสมบูรณ์พร้อม นั่นแหละคือ สมาธิในความหมายนี้ มีแต่ความเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นหายใจ การนั่ง การยืน การทาน การอุจจาระ ปัสสาวะ อย่าได้นำเอาคำว่า “สมาธิ” ไปแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Meditation” แล้วแปล Meditation ไปเป็น “Concentration” อีกที ซึ่งทำให้ไกลออกไปจากความหมายของคำว่า สมาธิในพระพุทธศาสนามากขึ้นๆ


เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราเข้าใจเรื่องสมาธิผิด ก็ทำให้ระบบการปฏิบัติสมาธิผิดตามไปด้วย เมื่อไรก็ตามที่เราเข้าใจ “การทำสมาธิ” เป็นเหมือนต้องทำอะไร กับอะไรสักอย่าง นั่นเท่ากับการเข้าสู่ระบบที่ผิด เมื่อเดินตามระบบที่ผิดพลาด ผลที่ออกมาก็เป็นอีกส่วนหนึ่งทั้งที่เกี่ยวข้องกัน การทำสมาธิก็คือ การอบรมสติให้เข้มแข็งในการเป็นเพียงผู้เฝ้าดูเท่านั้น เฝ้าดูทุกอย่างที่เคลื่อนไหว แต่จุดใหญ่ที่นักปฏิบัติทั้งหลายนิยมเฝ้าดูก็คือ ลมหายใจ เพราะลมหายใจเป็นสิ่งที่มีกับเราอยู่ตลอดเวลา เฝ้าดูก็คือเฝ้าดูเท่านั้น นั่นแหละคือการทำสมาธิ ถ้าหากเปลี่ยนจากการเฝ้าดูมาเป็นการเพ่งแล้ว นั่นเท่ากับเป็นวิทยาศาสตร์ทันที เพราะจิตเพ่งย่อมจับอารมณ์ขึ้นมา เมื่อนั้นจิตก็ทำงาน แล้วเมื่อนั้นจิตก็มีพลัง กลายเป็นผู้มีพลังจิตไปในที่สุด เมื่อนั้นก็เข้าสู่ขอบเขตของการมีจิต (อัตตา) แต่เมื่อใดมีสติ จิตก็หายไป (อนัตตา) เป็นแต่เพียงอาการเท่านั้น นี่เป็นขีดเส้นบางๆ ที่แสดงให้เห็นถึงสมาธิกับไม่ใช่สมาธิในพระพุทธศาสนา อยู่ที่ความมีอยู่ของอัตตาและอนัตตานี่เอง


เชื่อกันว่า มีอยู่คราวหนึ่งพระอานนท์พุทธอุปัฏฐากสังเกตการณ์การบรรทมสีหไสยาสน์ของพระพุทธเจ้า เกิดความสงสัยว่า เหตุใดพระองค์ประทับนอนท่าใดก็รักษาท่านั้นไว้ตลอดเวลาที่ทรงประทับนอน หลังจากที่ได้โอกาสจึงได้ทูลถามความสงสัยนั้นกับพระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสว่า การประทับนอนของพระองค์นั้นเป็นอาการนอนที่สมบูรณ์พร้อมแห่งสติ พระองค์ปฏิบัติบรรทมสีหไสยาสน์จึงมีความสมบูรณ์เช่นนั้น นี่จึงเป็นการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง ต้องปฏิบัติธรรมทุกขณะจิต ไม่เว้นแม้กระทั่งที่นอน (หลับ) ยืน เดิน หรือนั่ง กายเท่านั้นหลับพักผ่อน แต่สติไม่ได้หลับตาม


โศลกว่า “เดินสมบูรณ์ภาวะการเดิน” การมีสติเฝ้าดูการเดิน กับการคิดเดินนั้นมีลักษณะต่างกัน การมีสติเดินนั้นมีแต่การเดินเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น แต่การคิดเดิน เป็นการแสดงให้เห็นตัวตนที่กำลังเดิน เรากำลังเดิน เรากำลังก้าวย่างไป การเดินยังประกอบไปด้วย เรากับการเดิน เมื่อใดที่มีเราเดิน ก็เป็นการแยกเป็น ๒ ภาวะ หนึ่งคือความคิดว่าเป็นเรา หนึ่งคือการเดิน การเดินเช่นนี้มีผลทำให้เกิดอาการตัวลอยบ้าง เกิดอาการเดินไม่หยุดบ้าง การอาการพึงพอใจกับการเดินบ้าง ก็เพราะใจนั้นได้สั่งให้เดิน เมื่อใจสั่งให้เดินใจย่อมเสพผลของการเดินนั้น ถ้าหากมีสติเฝ้าดูการเดิน การเดินก็เพียงการเดินหนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่มีอยากเดิน ไม่อยากเดิน ชอบเดิน ไม่ชอบเดิน พอใจเดิน ไม่พอใจเดิน ความเป็นธรรมดาที่ธรรมดาสมบูรณ์แบบนี้ ต้องฝึกฝน เมื่อฝึกฝนแล้วทุกการเดินต่อไปก็เป็นการเดินสมาธิ การเดินสมาธิไม่มีคิดเดินอยู่ภายในนั้น

เป็นเรื่องยากต่อการที่จะทำให้ผู้ที่ไม่สามารถแยกแยะกายออกจากใจให้มีเข้าใจเรื่องไม่คิดแล้วทำได้อย่างไร เพราะโดยทั่วไปย่อมเข้าใจแต่มิติเดียวก็คือ การคิดเสียก่อนถึงจะทำได้ คนทั้งหลายจะเข้าใจได้อย่างไรว่า ยังมีสิ่งที่เกินความคิดที่ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือที่ตนรับรู้อยู่นั้นจริง มีมนุษย์ต่างดาวคนหนึ่งมาเยี่ยมโลกมนุษย์ เขาบอกให้ทราบถึงภาษาและบรรยากาศดาวของเขาให้แก่มนุษย์ฟังว่า ภาษาที่มีอยู่ในโลกมนุษย์นี้ทั้งหมดไม่เหมือนภาษาของเขาได้เลย และบรรยากาศก็ต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง มนุษย์ในโลกนี้ย่อมคิดไม่ได้แน่ว่า มันเป็นอย่างไร เพราะมนุษย์ไม่มีประสบการณ์อย่างนั้นมาก่อน ที่ทำได้ก็คือ นำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ตนสัมผัสและรับรู้เท่านั้น การที่จะเข้าใจถึงการเดินโดยไม่คิด มีความยากอย่างนั้น ต้องเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งนั้นก่อนจึงจะเข้าใจว่า มีภาวะแห่งความสมบูรณ์ในกิริยานั้นโดยไม่คิดได้ วิธีก็เพียงมีสติอย่างสมบูรณ์กับกิริยานั้น

สังเกตทุกวันนี้ผู้คนทั้งหลายที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างไร้จิตวิญญาณ ทุกลมหายใจของเขาถูกตัณหาชักนำให้ดำเนินชีวิตไปตามแต่ที่บัญชา ตัณหานั้นอยู่ได้ก็เฉพาะที่จิตบงการเท่านั้น แต่เมื่อใดก็ตามมีสติเฝ้าสังเกตแล้ว ช่องว่างระหว่างจิตกับกายจะหายไปทันที จะกลายเป็นสิ่งเดียว ไม่มีทวิภาวะ ไม่มีอัตตาหลงเหลืออยู่ภายใน เป็นแต่อาการที่แสดงออกที่สมบูรณ์เท่านั้น

ภิกษุคณะหนึ่งออกไปบำเพ็ญเพียรสมณธรรม แต่ในขณะปฏิบัติธรรมไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง นอน ก็มีแต่ความคิดประกอบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอยากได้นั้น อยากได้นี่ อยากฉันสิ่งนั้น อยากฉันสิ่งนี้ ใช้เงื่อนไขในการปฏิบัติธรรมคือ ถ้า.....ก็จะ.....ทุกเรื่องไป เช่น ถ้าได้อาหารดี ก็จะทำให้ปฏิบัติธรรมได้ดี ถ้าได้ที่นั่งดี ก็จะทำให้ปฏิบัติธรรมได้ดี ในที่สุดก็มีถ้า...ก็จะตลอดไป ใกล้สถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนั้นมีอุบาสิกาผู้บรรลุโสดาบันผู้หนึ่ง คอยอุปัฏฐากพระภิกษุคณะนี้อยู่ นางทราบวาระจิตของพระภิกษุเหล่านั้นด้วย ก็เพราะทุกคนส่งจิตออกไปในขณะปฏิบัติธรรม ไม่ว่าภิกษุเหล่านั้นคิดอยากได้อะไร นางก็หาสิ่งนั้นมาให้ตรงกับความต้องการ เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ภิกษุคณะนั้นไม่สามารถอยู่ปฏิบัติธรรมที่แห่งนั้นได้อีก ก็เพราะจิตที่ส่งไปนั้นประกอบไปด้วยกุศล อกุศล แส่ซัดส่ายไปกับทุกเรื่อง นางย่อมรู้หมดแน่ จึงเกิดความละอายที่จะอยู่ปฏิบัติได้อีกต่อไป เมื่อใดก็ตามไม่ปฏิบัติธรรมด้วยความคิด เมื่อนั้นก็ไม่มีอะไรที่ส่งออกไป เมื่อนั้นทุกอย่างเป็นเพียงอาการที่มีสติกำกับเท่านั้น สติที่กำกับอยู่กับอากัปกิริยาทำให้เหลือแต่ความเป็นหนึ่งเดียว เดินก็คือ เดิน นั่งก็คือนั่ง นอนก็คือนอน กินก็คือกิน ไม่คิดกิน ไม่คิดนอน ไม่คิดนั่ง

โศลกว่า “เดินสมาธิย่อมเกิดปัญญา ทำให้เราเห็นความงดงาม” คนทั้งหลายบนโลกน้อยคนนักจะเข้าใจถึงความงามแห่งว่าง เพราะความว่างนั้นไม่สามารถเข้าใจได้ของคนที่มีแต่ความคิดอยู่ตลอด บอกไปเขาก็ไม่สามารถรับรู้ได้ สิ่งที่เขารับรู้ได้ก็ต่อเมื่อเห็นสิ่งเหล่านั้นเสียก่อน เห็นแล้วก็ต้องผ่านกระบวนการคิดเสียก่อนว่างามหรือไม่งาม กระบวนการที่เขาคิดนั้นก็คือปรีชาญาณ หรือความรู้ที่เขาสั่งสมมานั่นเอง ดูว่าเข้าได้กับคำพูดของใคร ตำราเล่มไหน คัมภีร์เล่มใด จึงไม่แปลกเลยที่คนที่วุ่นทั้งวันจึงเห็นคนที่อยู่นิ่งๆ เป็นคนเกียจคร้านในสายตา พวกสายตานักธุรกิจที่มองคนเป็นต้นทุนกำไรคำนวณเป็นเงินทองหมด ที่เห็นได้ชัดกว่านั้นก็คือ ความคิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มองเห็นพระสงฆ์เป็นขยะของสังคม เป็นกากของสังคม เพราะพระสงฆ์ไม่ทำอะไร แต่ทำนาบนหลังคน เอาแต่นั่งนิ่งๆ



เรื่องเล่าว่า ชาวเยอรมันคนหนึ่งตายไปขึ้นสวรรค์ พระเจ้าถามว่า เจ้าเสียชีวิตตอนมีอายุเท่าไร เขาตอบว่า ๗๐ ปี พระเจ้าไม่แน่ใจจึงถามเขาว่า ใช่จริงหรือเปล่า เขายืนยันว่าจริง พระเจ้าจึงบอกเขาว่า งานที่เจ้าทำนั้นมันเทียบเท่าคนมีอายุ ๒๓๐ ปีเลยทีเดียว เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ชาวเยอรมันเป็นตัวแทนของชาวตะวันตกทั้งหลายและตัวแทนของลัทธิคอมมิวนิสต์ในวิญญาณที่หลงเหลืออยู่ เขาไม่เข้าใจหรอกว่า การอยู่อย่างไม่คิดนั้นอยู่อย่างไร การอยู่นิ่งๆ นั้นงดงามอย่างไร สายตาของเขาไม่สามารถเข้าใจได้ถึงสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากวัฒนธรรมที่หล่อหลอมให้เขาเป็นนั้นไม่เอื้อต่อการให้เห็นด้วยสายตาอื่น คนที่อยู่นิ่งๆ คือ คนไร้ประโยชน์ในสายตาของเขาเท่านั้น

ผู้หญิงชาวอเมริกันคนหนึ่ง ตะโกนถามลูกชายที่นั่งเงียบใต้ต้นไม้ในสวนที่บ้านว่า ลูกกำลังทำอะไรอยู่ ลูกชายตอบว่า ไม่ได้ทำอะไร เธอถามย้ำอีก แน่ใจนะว่าไม่ได้ทำอะไร แล้วที่นั่งอยู่นะนั่งทำอะไร ลูกชายก็ตอบอีกว่า ไม่ได้ทำอะไร เธอจึงถามอย่างกังวลอีกว่า บอกมาเถอะว่าลูกกำลังทำอะไร ลูกชายก็เลยใช้เท้าเขี่ยก้อนหินก้อนหนึ่งแล้วบอกว่า เขี่ยก้อนหิน เธอจึงโล่งใจ บอกออกไปว่า แม่ว่าแล้ว เธอต้องทำอะไรอยู่แน่ๆ ลูกชายได้เคยผ่านการปฏิบัติธรรมมา รู้ถึงความงดงามแห่งความว่าง รู้ถึงความยากของการไม่ทำอะไร เพราะคนอเมริกันก็ไม่เข้าใจว่า นั่งนิ่งๆ รอให้ดอกไม้บานนั้นงดงามอย่างไร นักธุรกิจทั้งหลายก็ไม่เข้าใจว่า การอยู่อย่างไม่คิดนั้นงดงามได้อย่างไร

ความงดงามของความว่าง (no+thing = nothingness) คือ ความไม่มีอะไรนั้นเป็นความงามที่สมบูรณ์ เป็นความงามที่ไม่ได้เกิดผ่านความคิด เป็นความงามที่ไม่ได้เกิดผ่านความรู้สึก แต่เป็นความงามที่ดำรงอยู่ตามความเป็นจริงของมัน เป็นความงามที่สติเฝ้าดู เป็นความงามที่เกิดจากปัญญา ปัญญาที่มองเห็นสรรพสิ่งสวยงาม




นี่คือ โศลกที่สิบเก้าแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา



วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

ธรรมมิติ





โศลกที่สิบแปด "ธรรมมิติ"

ลมหายใจเข้าออก คือกาย
ความคิดกวัดแกว่ง คือจิต
ความรู้สึกแรงกล้า คืออารมณ์
ความใสและว่าง คือธรรม
สติกับกาย คือลม
สติกับจิต คือความคิด
สติกับความรู้สึก คืออารมณ์
สติกับธรรม คือความว่าง
ที่ผ่านมาการปฏิบัติธรรม
ยังอยู่ในมิติหนึ่ง สอง สาม
นานที่ติดอยู่ในมิติที่สอง
สลับไปมากับมิติที่หนึ่ง
น้อยครั้งขึ้นมิติที่สาม
ต้องพยายามมากขึ้น
เพื่อให้หยั่งลึกสู่มิติที่สี่


หลักการมองสรรพสิ่งในพระพุทธศาสนานั้น มีหลักการมองอยู่ที่มองเชิงลึกเข้าไปข้างในตน ไม่มองออกนอกตน การมองเข้าไปภายในตนนั้นทำให้มีความลึกซึ้งในโลกที่แท้จริง โลกในความหมายพระพุทธศาสนานั้นก็คือ โลกแห่งเบญจขันธ์นี้เท่านั้น โลกภายนอกไม่มีความหมายอะไรมากมาย เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบในการดำรงอยู่แห่งโลกภายใน สนใจไปก็ไม่ได้ทำให้จิตเกิดความบริสุทธิ์แต่อย่างใด หรือทำให้ถึงความสิ้นไปแห่งกิเลสตัณหาก็หามิได้ ยิ่งมองออกไปก็ยิ่งเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น เพราะตัณหาทั้งหลายอาศัยโลกภายนอกเป็นเครื่องดำรงอยู่ แต่เมื่อมองเข้าไปข้างในโลกคือเบญจขันธ์นี้ มีประโยชน์มาก เพราะทำให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น เข้าใจสรรพสัตว์มากขึ้น เข้าใจความจริงมากขึ้น ในหลักแห่งการมองเบญจขันธ์นั้นก็เพื่อเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ไม่หลงใหลในเบญจขันธ์อันหาแก่นสารไม่ได้ เมื่อหาแก่นสารไม่ได้แล้วจะเข้าไปยึดมั่น ถือมั่นในเบญจขันธ์อีกทำไม เมื่อเบญจขันธ์เป็นแต่เพียงขันธ์ ธาตุ อายตนะ แล้วก็ไม่มีอะไรต้องให้เข้าไปยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา นี่คือการมองโลกในพระพุทธศาสนา



หลักสำหรับการรู้จักมองโลกในพระพุทธศาสนานั้นให้มองในรูปของมิติเชิงลึก การมองเชิงนี้ทำให้ย่อยสลายความเป็นกลุ่มก้อนให้สิ้นไป ดุจดังการใช้เครื่องมือแยกสสารให้ละเอียดจนถึงที่สุด ก็ไม่เหลืออะไรอีก เป็นความว่างเปล่า การมองในแนวราบทำให้เข้าใจเห็นแต่ข้อมูลว่ามีอะไรบ้างเท่านั้น ไม่นำไปสู่การสั่นสะเทือนตัณหา กระทบกระเทือนอัตตา ไม่นำไปสู่การเห็นแจ้ง ไม่นำไปสู่การหลุดพ้น แต่นำไปสู่ความอยากและยึดมั่นมากขึ้น เพราะเป็นการเห็นถึงความมี ความเป็น ด้วยเหตุนี้จึงมีหลักการมองโลกคือเบญจขันธ์ ดังนี้ มองเป็น ๔ มิติเชิงลึก ได้แก่ กาย เวทนา จิต และธรรม ๓ มิติเชิงซ้อน ได้แก่ อนิจจตา ทุกขตา และอนัตตตา ๔ มิติเชิงย้อนกลับ ได้แก่ อนิจจา วิราคา นิโรธา และปฏินิสสัคคา


จะเห็นได้ว่า ในแต่ละมิตินั้นก็ต้องประกอบไปด้วยมิติเชิงซ้อนทั้ง ๓ นี้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมองทางกายก็ต้องประกอบไปด้วยกายนั้นไม่เที่ยง กายนั้นเป็นทุกข์ กายนั้นเป็นอนัตตา ความคิดนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อารมณ์ไม่เที่ยง อารมณ์เป็นทุกข์ อารมณ์เป็นอนัตตา ธรรมนั้นเที่ยง เป็นสุข เป็นอนัตตา ในขณะเดียวกันก็มองเชิงย้อนกลับอีก ๔ มิติ โดยยกธรรมขึ้นมองกาย เวทนา และจิต กล่าวคือ กาย ไม่เที่ยง (อนิจจตา) คลายออก (วิราคา) ถอนสิ้น (นิโรธา) ปล่อยวาง (ปฏินิสสัคคา) ความคิดก็ไม่เที่ยง (อนิจจตา) คลายออก (วิราคา) ถอนสิ้น (นิโรธา) ปล่อยวาง (ปฏินิสสัคคา) อารมณ์ก็ไม่เที่ยง (อนิจจตา) คลายออก (วิราคา) ถอนสิ้น (นิโรธา) ปล่อยวาง (ปฏินิสสัคคา) ไม่ว่าจะเป็นกายก็มีธรรมมิติ เวทนาก็ต้องมีธรรมมิติ จิตก็ต้องมีธรรมมิติ แม้แต่ธรรมเองก็ต้องมีธรรมมิติ


โศลกว่า “ยังอยู่ในมิติหนึ่ง สอง สาม” ในการอบรมภาวนานั้นพระพุทธศาสนาได้แบ่งการอบรมไว้ ๔ ประการ คือ กายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา และปัญญาภาวนา การอบรมในที่นี้ก็คือการเจริญสติให้อยู่กับกาย ศีล จิต และปัญญา ภาวนาก็คือทำให้เข้มแข็งมากขึ้น เจริญมากขึ้น การอบรมก็คือการปฏิบัติ หรือการบำเพ็ญเพียรกระทำให้สติเจริญมากขึ้น ต้องเข้าใจมิติเชิงการปฏิบัติธรรมเข้าไว้ ในที่นี้เราจะไม่กล่าวในเชิงมิติทางโลก หรือมิติแนวขยายหรือแนวระนาบ โดยมากแล้วในการอธิบายธรรมของในพระพุทธศาสนาสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติธรรมแล้ว ก็มักจะอธิบายเป็นเชิงระนาบ ไม่ใช่หยั่งลึกลง การอธิบายในเชิงระนาบก็คือ การอบรมกาย คือ การสำรวมระวังกายเนื้อนี่เอง การอบรมศีล ก็คือการมีปกติทางกาย และวาจา การอบรมจิต คือการระงับยับยั้งอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง การอบรมปัญญา คือ การรู้จักพินิจพิจารณา ไตร่ตรองบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การอบรมภาวนา ๔ ประการนี้ ก็คือ การอบรมกาย ได้แก่ การมีสติอยู่กับลมหายใจ (สำรวมกาย) การอบรมศีล ก็คือการมีสติอยู่กับความคิด (ศีล) การอบรมจิต คือการมีสติอยู่กับอารมณ์ (สมาธิ) การอบรมปัญญา คือ การมีสติยกธรรมขึ้นพิจารณาให้เห็นกาย จิต อารมณ์ตามความเป็นจริง (ปัญญา)

โดยมากแล้ว ในการปฏิบัติธรรมล้วนแล้วแต่อยู่ในระดับหนึ่ง สอง สาม สลับไปมา เป็นวงจรที่ยังไม่ครบจังหวะ ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับการขับรถที่ขึ้นเกียร์หนึ่ง เกียร์สอง พอจะขึ้นเกียร์สามก็ต้องกลับมาที่เกียร์สองและเกียร์หนึ่งอีก ขึ้นเกียร์ไปมาเดินหน้าถอยหลังอย่างนี้
บางทีขึ้นเกียร์สามไม่ทันได้เร่งความเร็ว ก็ต้องย้อนกลับเกียร์สองอีก ทำให้ไม่สามารถไปถึงขีดขั้นเต็มที่ของการขับรถ เป็นเหตุให้เครื่องพังได้ง่ายๆ อีก เหมือนเดียวกับการปฏิบัติธรรม โดยมากอยู่ในระดับที่หนึ่งคือ ขั้นกำหนดลมหายใจสั้นยาว เข้าออก พุทโธ ยุบพอง พอลึกเข้าไปอีกหน่อย เข้าสู่ขั้นที่สองคือ ขั้นเห็นความละเอียดของลม พอถึงขั้นนี้ยังไม่ทันได้ซึมซับความสงบนั้นดีนักก็หมดเวลาบ้าง มีสิ่งรบกวนบ้าง ก็ต้องหยุดการปฏิบัติบ้าง หรือบางคนที่ไปไกลมากหน่อย เข้าถึงขั้นที่สาม คือระดับเกิดปีติ มีความสุข แล้วก็ติดอยู่ขั้นนี้ไม่ไปไหน จนหมดเวลาหรือไม่ก็เกิดอาการอย่างหนึ่งอย่างใดให้หยุดการปฏิบัติไปเสีย

โศลกว่า “ต้องพยายามมากขึ้น เพื่อให้หยั่งลึกสู่มิติที่สี่” เมื่อศึกษาดูมิติเชิงลึกทั้ง ๔ มิติเชิงซ้อนทั้ง ๓ และมิติย้อนกลับทั้ง ๔ แล้วนำมาวางเป็นระบบตามแนวของการอบรมภาวนาทั้ง ๔ ระดับ ก็จะพบว่า


ขั้นกายภาวนา ขั้นนี้เป็นขั้นการสำรวมระวังกาย ได้แก่ บริหารลมหายใจให้สม่ำเสมอ มีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก เป็นขั้นจัดระเบียบลมหายใจ บริหารลมหายใจให้ถูกต้อง เป็นขั้นเริ่มแรกของการปฏิบัติ เฉพาะขั้นนี้ก็ใช้เวลาพอสมควร อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ๒๐ นาที กว่าที่ลมหายใจนี้จะราบรื่นให้กำหนดได้อย่างเป็นระเบียบ ชัดเจน สืบเนื่อง สม่ำเสมอ
ขั้นสีลภาวนา ขั้นนี้เป็นการสำรวมระวังจิต ได้แก่ การรู้จักบริหารจิต คือความคิดที่เคลื่อนไหว ไป มา เกิด ดับ ขั้นบริหารจิตประสานสัมพันธ์กับกายให้ดี บริหารความคิดให้อยู่กับลมหายใจ ศีลคือความเป็นปกติของตนที่สัมพันธ์กับผู้อื่น กำหนดสติให้จิตอยู่กับลมหายใจ เพื่อให้ความคิดก็อยู่กับลมหายใจไปด้วย ในขณะที่สติดูแลกายอยู่นั้น จิตก็รู้จักประสานกับกายไปด้วย เฉพาะกว่าจะเข้าถึงขั้นนี้ได้ก็ไม่น่าจะต่ำกว่า ๔๕ นาที
ขั้นจิตภาวนา ในขั้นนี้เป็นการบริหารอารมณ์ คือ สมาธิ อารมณ์คือสมาธิในที่นี้ได้แก่ ความนิ่งแห่งลมหายใจ ความละเอียดแห่งลมหายใจ ความเห็นแจ่มชัดลมหายใจที่เข้าออกเท่านั้น ไม่มีความสั้น ยาวอีก แม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่า ลมหายใจก็หายไป แต่เหลือเพียงลมเท่านั้นเข้าออก เพราะความตื่นตัวแห่งสติในระดับนี้ทำให้สมาธิดำรงอยู่ ให้บริหารสมาธินี้ให้ดี ก็คือรักษาไว้ให้สมาธินี้แก่กล้า สมาธินี้ยาวนาน สมาธิต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพราะในขณะนี้จิตได้รวมเป็นหนึ่งกับกายจนไม่เหลือความเป็นกายเป็นจิตอีก แต่เหลือแต่สมาธิ คือความนิ่ง หมดจด ใส เฉพาะกว่าจะเข้าถึงขั้นนี้ได้ก็ไม่น่าจะต่ำกว่า ๑ ชั่วโมง ๒๐ นาที


ให้ทราบอาการข้างเคียงที่จะเกิดพร้อมกับผู้ปฏิบัติที่อยู่ในขั้นนี้ให้ทราบเป็นการเตรียมพร้อมรับมือก่อน เพราะการเข้าถึงระดับนี้นั้นเป็นขั้นที่จิตเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ จิตจะมีพฤติกรรมของจิตเอง อารมณ์ที่เกิดกับจิตนี้จะแตกต่างกันไป ไม่เหมือนกัน แต่สรุปเป็นคำกลางๆ ว่า จะเกิดความเย็นขึ้นกับจิต จะเกิดความสุขขึ้นกับจิต จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ปีติขึ้นกับจิต นี่เป็นส่วนหนึ่ง


แต่อีกส่วนหนึ่ง อารมณ์ที่เรียกว่า เวทนากล้าก็จะเกิดกับจิต อันสืบเนื่องมาจากทุกขเวทนาอันเกิดกับรูปขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดเท้า ปวดเข่า ปวดก้น ปวดหลัง ปวดคอ ปวดทุกที่ที่จะปวดได้ เวทนานี่เองที่เป็นสิ่งที่ตามมาพร้อมกับสมาธิ เพราะทุกขเวทนานี้ทำให้จิตไม่เคลื่อนไหวออกไปภายนอกได้ กายกับจิตและเวทนาอยู่ด้วยกัน กลายเป็นสมาธิขึ้นมา


อีกส่วนหนึ่ง มายาแห่งจิตกำลังเกิดขึ้น ในขั้นนี้จิตก็จะฟื้นเอามายาภาพในอดีตหรืออนาคตขึ้นมาให้เห็นเป็นความแจ่มชัดดุจดังเป็นเรื่องจริง หรืออาจจะจริงก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงพฤติกรรมแห่งจิตที่อยู่ในสมาธิเท่านั้น ดุจดังการหลอมทองให้กลายเป็นแท่งเข้ารูป เพราะความร้อนนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว ทองละลายแล้ว จิตที่เป็นสมาธิก็เช่นกันกำลังถูกละลายให้สลายความเป็นจิตนั้น เหลือแต่ความเป็นสมาธิ ความเป็นสมาธิของจิตนี้เองคือรูปแบบใหม่ของจิตที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน จิตจึงมีปฏิกิริยามายาขึ้นมาได้ บ้างเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ บ้างมีรูปร่างใหญ่โต บ้างสื่อกับเทพได้ บ้างสื่อกับมิติพิศวงได้ บ้างเห็นกรรมของตนเอง นั่นก็แล้วแต่จะพึงมีพึงเป็นของใครของมัน เป็นการเตรียมความพร้อมเท่านั้น


ขั้นปัญญาภาวนา ในขั้นนี้เป็นการบริหารปัญญา คือ สติที่แรงกล้านั่นเอง สติที่แรงกล้านี้เป็นผลอันเกิดจากสมาธิที่ดำรงอยู่ได้นาน ในขั้นนี้ให้โน้มนำเข้าสู่มิติเชิงซ้อนทันทีว่า กาย เวทนา จิต ที่มีอยู่เป็นอยู่นี้ไม่เที่ยง เป็นแปรเปลี่ยนไป ไม่มีอัตตาภายในนั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปในที่สุด โน้มนำไปสู่ความเห็นแจ้งในมิติเชิงย้อนกลับคือ เมื่อกาย เวทนา จิต เหล่านี้ไม่ได้ดำรงอยู่นิจนิรันดร์ มีแต่ความเกิด ดับ ก็คลายจากการยึดมั่นในกายนั้น เวทนานั้น จิตนั้น
เมื่อคลายจนหมดสิ้นแล้ว ก็ถึงการถอนจนหมด เมื่อการหมุนน๊อตแห่งการยึดมั่นออกจากเกลียวจนหมดแล้ว ก็เป็นอันเห็นความดับแห่งกาย เวทนา และจิตนั้น เมื่อเห็นแล้วก็ปล่อยวางเสีย เป็นเพียงความว่างเปล่าอย่างสูงสุด นี่คือ ความสิ้นทุกข์ สิ้นเชื้อ ไม่หลงเหลืออีก เป็นความดับสนิท เพราะถอนออกจนสิ้นแล้ว เมื่อนั้นอวิชชากับดับ วิชชาก็เกิดขึ้น กระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทก็เปลี่ยนเป็นสายดับทันที

ขั้นที่ ๔ นี้ เป็นขั้นใช้ไฟคือตบะเผา ใช้พลังสมาธิ ใช้พลังปัญญาคือสติอันแรงกล้าพิจารณาธรรม ต้องระวังการซ้อนกลของจิตที่สร้างมายาให้หลงผิดคิดไปว่ากำลังพิจารณา เพราะการพิจารณาด้วยจิตจะอยู่ในขณะจินตามยปัญญา มิใช่พิจารณาด้วยสติ เมื่อนั้นอัตตาจะหลงผิดคิดว่าตนเป็นผู้วิเศษขึ้นมา แทนที่จะสละ ปล่อยวาง แต่กลับเข้าไปผูกเข้ากับความวิเศษแห่งจิตนั้นแทน นี่คือ กับดักที่ต้องเตรียมพร้อม ระวัง

<
ขอเพียงไม่ย่อท้อต่อการปฏิบัติ บำเพ็ญเพียรบารมี ความเต็มเปี่ยมแห่งบารมีคือตบะนี้เป็นการสั่งสมไป สั่งสมทีละเล็กทีละน้อย สั่งสมไม่หยุดหย่อน สั่งสมจนกว่าจะถึงจุดหมาย หยุดไม่ได้ นี่เป็นภาระหน้าที่ของชาวพุทธที่แท้




นี่คือ โศลกที่สิบแปดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

ลมใจหาย










โศลกที่สิบเจ็ด "ลมใจหาย"


กำหนดรู้ลมหายใจ
รู้สั้นยาวเข้าออก
รู้ชัดลมหายใจใสสะอาด
ใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์
มีลมหายใจเป็นเครื่องมือ
เริ่มแรกแจ่มชัด ภายหลังขาดหาย
ลมหายไป ลมใจหาย
แม้แต่หายใจให้ยาวลึก
ก็ทำได้ไม่สะดวก
นั่นแหละคือไร้สั้นยาว
เหลือแต่ลมเข้าออก
แต่ไม่ใช่ไม่หายใจ






ความอัศจรรย์แห่งลมหายใจ เป็นสิ่งเดียวที่มนุษย์อาศัยมันดำรงอยู่ แต่น้อยคนนักที่จะให้ความสำคัญและใส่ใจกับลมหายใจ ทั้งที่ลมหายใจนั้นเป็นปราณรักษาชีวิตของมนุษย์ให้ดำรงอยู่ได้ หรือสิ้นสุดลง ไม่ใช่ไม่ให้ความสนใจอย่างเดียวเท่านั้น แม้กระทั่งการหายใจที่สูดเข้าออกนั้นก็ยังไม่เคยรู้ว่า การหายใจอย่างไรที่ถูกต้อง กล่าวคือ หายใจได้ก็เท่านั้น น้อยนักที่จะหายใจเป็น เหมือนกับคำกล่าวว่า เกิดเป็นคนกับเขาเท่านั้น แต่เป็นคนที่ถูกต้องนั้นไม่รู้เป็นอย่างไร เกิดมาก็หายใจได้เท่านั้น แต่การหายใจเป็นนั้นไม่แน่ว่าจะทำได้ เพราะการหายใจเป็นต้องได้รับการฝึก ไม่ใช่ทำกันได้โดยทั่วไป




ศิลปะต่างๆ ที่ใช้แรงกายล้วนแล้วแต่ต้องผ่านการฝึกลมหายใจทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง การชกมวย คาราเต้ การร้องเพลง การว่ายน้ำ เป็นต้น ถ้าหายใจไม่ถูกต้องก็ไม่สามารถที่จะรังสรรค์ศิลปะนั้นๆ ให้ถึงขีดขั้นสูงสุดได้ บ้างหายใจที่คอ ที่อก ที่ลิ้นปี่ ที่ท้อง ที่ท้องน้อย บ้างหายใจไม่เต็มที่ หายใจขาดเป็นห้วงๆ หายใจสั้น หายใจยาว แต่ละลักษณะของการหายใจนั้นนำมาซึ่งผลอันแตกต่างกันต่อระบบสรีรศาสตร์ทั้งสิ้น



พลังลมปราณนั้นเป็นลมหายใจ เป็นพลังภายในที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายและมีจุดศูนย์กลางในการเก็บรักษาอยู่ที่ท้องน้อย พลังลมปราณนี้ก็คือ พลังชีวิต เป็นพลังที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ และจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ นับจากอายุ ๑๖ ปีถอยหลัง จนหมด แต่ถ้าหายใจถูกต้องก็สามารถที่จะสะสมพลังชีวิตได้ ทำให้มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ไม่ป่วยไข้ง่าย แม้ยามสูงอายุก็ยังมีร่างกายที่แข็งแรง มีอนามัยสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ศึกษาเรื่องการหายใจจึงเน้นไปที่ให้หายใจไปให้ถึงท้องน้อยเพื่อเก็บพลังชีวิตสะสมไปด้วย และไม่ควรให้มีการกระทบกระเทือนที่บริเวณท้องน้อยมาก การที่ท้องน้อยกระทบกระเทือนมากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หรือไม่ก็ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก อุดตัน เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

โบราณาจารย์จึงศึกษาวิธีการใช้ปราณศาสตร์เพื่อประโยชน์มากมาย นับตั้งแต่การดำรงชีวิต ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ การแพทย์ การต่อสู้ ใช้ไปกับอาชีพต่างๆ จนกระทั่งรวมไปถึงการใช้เพื่อการเข้าถึงธรรม คือ ความสิ้นไปแห่งทุกข์ ยกตัวอย่างการฝึกลมหายใจเพื่อการต่อสู้ แต่ละสำนักก็ฝึกลมหายใจที่แตกต่างกันเพื่อผลทางฝีมือที่ต่างกัน บางสำนักฝึกหายใจ เข้าช้า ออกช้า บางสำนักหายใจเข้าเร็ว ออกเร็ว บางสำนักหายใจเข้าช้า ออกเร็ว บางสำนักหายใจเข้าไปเต็มที่แล้วระเบิดลมหายใจ บางสำนักหายใจผ่อนช้าลึกยาว บางสำนักใช้การเกรงท้องช่วยเค้นลมหายใจเพื่อให้หายใจช้าและลึก เป็นต้น ลมหายใจทำให้ร่างกายสมดุล ทำให้การดำเนินชีวิตมีชีวิตชีวา มีพลังชีวิตเต็มเปี่ยม ทุกวันนี้ผู้คนมีชีวิตก็เหมือนไร้ชีวิต ก็เพราะไม่สนใจลมหายใจคือชีวิตของตน ชีวิตจึงเคลื่อนไหวที่ไร้พลัง ไร้จิตวิญญาณ


ลมหายใจเป็นเหมือนตัวจุดระเบิดให้ชีวะนี้ดำเนินไปได้ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า “ลมปราณ” เป็นเหมือนตัวจุดระเบิดน้ำมันในขณะสตาร์ทรถให้น้ำมันที่บรรจุอยู่ภายในซึ่งหยดลงในกระบอกสูบเป็นประกายไฟนำไปสู่ความมีพลังขับเคลื่อน ลมหายใจนี้ก็เช่นเดียวกันจุดประกายพลังงาน Calorie ภายในร่างกายให้หล่อเลี้ยงชีพนี้ให้ดำเนินไปได้ เป็นตัวสันดาปพลังงานให้กลายเป็นพลังนั่นเอง

ไม่เพียงแต่กิจกรรมธรรมดาสำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์เท่านั้นที่ใช้ลมหายใจเป็นตัวบ่งบอกความสามารถนำไปสู่ความสำเร็จ แม้แต่การปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อเข้าถึงการบรรลุธรรมก็อาศัยลมหายใจนี้ได้เหมือนกัน เนื่องจากลมหายใจเป็นปราณที่รักษาชีวิตนี้ไว้ เป็นอุปกรณ์เดียวที่ไม่ต้องแสวงหา มีอยู่กับทุกคน และแฝงไว้ซึ่งพลังที่ยิ่งใหญ่หากนำมาใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ในพระพุทธศาสนาได้ใช้ลมหายใจนี้ฝึกฝนปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมเป็นหลัก พระพุทธเจ้าได้สรรเสริญการฝึกบำเพ็ญสมณธรรมด้วยลมหายใจนี้ว่ามีผลมาก มีอานิสงส์มาก อีกทั้งยังทำให้โพธิปักขิยธรรมเจริญตามอีกด้วย

โศลกว่า “ใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์” ภาษาไทยใช้คำว่า “ลมหายใจ” ภาษาบาลีว่า อัสสาสะ ปัสสาสะ ภาษาสันสกฤตว่า “ปราณ” ภาษาอังกฤษว่า “Breath” เป็นคำที่ใช้ในความหมายที่ตรงกันก็คือ การสูดลมหายใจ มาสังเกตคำภาษาไทยใช้คำว่า “ลมหายใจ” เป็นคำที่แฝงความรู้เกี่ยวกับลมหายใจไว้อย่างลึกซึ้ง เพียงแต่ไม่ทราบว่าจะมีผู้สนใจหรือไม่ ลมหายใจ


ถ้าแบ่งเป็นคำก็ได้ ๓ คำ คือ ลม+หาย+ใจ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะลมชนิดนี้เป็นลมที่ทำให้ชีวิตยังอยู่ ถ้าลมอยู่ชีวิตอยู่ ถ้าลมหาย ชีวิตก็จบสิ้น นี่ความหมายหนึ่ง แต่ความหมายในเชิงปฏิบัติ ในยามใดก็ตามที่มีสติอยู่กับลม ลมจะมีอยู่ ใจจะหายไป แต่ยามใดที่ไม่มีสติ ลมจะหาย ใจจะอยู่ หมายความว่า เมื่อมีสติอยู่กับลมหายใจ ความคิดก็ไม่มี เท่ากับใจหายไป ก็จะเหลือแต่สติอยู่กับลมเท่านั้น โบราณจึงใช้คำนี้เพื่อเตือนสติให้คนไทยรู้จักดูลมเพื่อให้ใจหายไป เมื่อใจหายไป ความคิดหายไป ก็จะเป็นการฝึกบำเพ็ญสมณธรรมโดยแท้ เป็นภูมิปัญญาไทยที่น่าทึ่ง

โศลกว่า “ลมหายไปหรือลมใจหาย” ในศาสตร์แห่งโยคะ การฝึกฝนโยคะก็คือศาสตร์ว่าด้วยการประสานสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจ กายก็คือสรีระและลมหายใจ ใจก็คือความคิด ดังนั้น โยคะจึงให้ความสำคัญกับลมหายใจและการหายใจอย่างมาก ถึงกับยกให้เป็นอีกส่วนหนึ่งของโยคะศาสตร์เลยทีเดียว เรียกว่า “ปราณยาม” (pranayama) “การขยายหรือยืดพลังชีวิต” เป็นการฝึกลมหายใจ โดยมองลมหายใจในมิติความเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจ


ถ้าลมหายใจสั้นทั้งเข้าและออก เรียกว่า “รู้แต่โลกไม่เคยรู้ตน” รู้โลกก็คือ รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่ ไม่สิ้นลม ไม่ตายเท่านั้น แต่ไม่ได้รู้ตน คือไม่รู้จักชีวิตว่า ชีวิตนี้อยู่เพื่ออะไร จุดหมายสูงสุดของชีวิตอยู่ที่ใด ไม่รู้ว่า ตนที่แท้นั้นเป็นอย่างไร เมื่อไรก็ตาม มีการกำหนดลมหายใจเข้าออกยาวขึ้น ชื่อว่า มีสติอยู่กับลมหายใจทำให้เข้าใจชีวิตได้ยิ่งขึ้น โดยธรรมชาติผู้ชายจะหายใจเข้ายาว แต่หายใจออกสั้น ส่วนผู้หญิงนั้นหายใจเข้าสั้น หายใจออกยาว



การฝึกลมปราณ ก็คือการฝึกบริหารลมหายใจ สำหรับในพระพุทธศาสนา การฝึกลมหายใจใช้กับการบำเพ็ญเพียรสมณธรรม เรียกเป็นภาษาทางการว่า อานาปานสติ ก็คือ การฝึกให้มีสติ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่กับลมหายใจเข้าออก เริ่มปฏิบัตินั้นลมหายใจยังหยาบ ยังรู้ว่าเข้ายาว ออกยาว เข้าสั้น ออกสั้น สลับกันไปมา ไม่มีปัญหาในการกำหนดรู้


ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะที่กำหนดนี้ก็คือ ใจจะหาย และใจจะกลับมา สลับไปมาๆ ไม่มีใครยอมใคร ระหว่างมีสติกับไร้สติ เมื่อมีสติรู้ทันลมหายใจ ใจก็หายไป แต่พอไร้สติกำหนดรู้ลม ใจก็จะกลับมา ใจในที่นี้ก็คือความคิดที่จับเอาอดีตและอนาคตเป็นอารมณ์ เมื่อมีไร้สติ ลมก็หายไป เหลือแต่ความคิดที่แล่นเข้ามาแทนที่ แต่เมื่อมีสติอยู่กับลม ลมก็อยู่ ใจก็หายไปแทน

จนกระทั่งเวลาผ่านไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ลมหายใจที่เข้าออกสั้นยาว เริ่มกำหนดยากยิ่งขึ้นเพราะลมหายใจนี้จะละเอียดลง ในขณะนี้จึงยากที่จะกำหนดรู้ถึงความสั้นยาวของลมหายใจ แต่เหลือเพียงลมหายใจ (กายสังขาร) เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติหลายคนจะรู้สึกตกใจอยู่บ้าง เป็นกังวลบ้าง สงสัยบ้าง เมื่อไม่สามารถจับลมหายใจได้อย่างที่เคยทำในตอนเริ่มแรกกำหนดลม ไม่ต้องสนใจกับความสั้นยาวของลมอีกต่อไป แต่กำหนดรู้เฉพาะเข้าออกของลมก็พอ


จนกระทั่งมาถึงช่วงสำคัญของการบำเพ็ญเพียรสมณธรรมซึ่งมีลมหายใจเป็นอารมณ์ นั่นก็คือ เห็นความสงบระงับลมหายใจ คำว่าเห็นในที่นี้คือ สติเห็น ลมหายใจสงบระงับก็คือ ความเย็นนิ่ง ความว่าง ของลมหายใจนั่นเอง ในขณะนี้เป็นช่วงสำคัญมากในการยกลมหายใจขึ้นสู่กระบวนการแห่งธรรม ซึ่งได้แก่ การพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความจางคลาย ความดับ และการปล่อยวางแห่งกายหรือลมหายใจนั้น



อานิสงส์แห่งการบำเพ็ญเพียรสมณธรรมตามแนวอานาปานสตินี้มีอยู่มาก เริ่มปฏิบัติก็ไม่ทำให้กายลำบาก ตาก็ไม่ปวดเมื่อยเหมือนการบำเพ็ญสมณธรรมด้วยวิธีอื่น จิตก็ไม่ถูกอาสวะทั้งหลายเข้าครอบงำ เพราะการไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำให้ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขสงบ หรือแม้แต่ใช้วิธีอื่นเป็นอารมณ์ในการปฏิบัติบำเพ็ญเพียรสมณธรรมในเบื้องต้น แต่สุดท้ายต้องมีจิตกำหนดในลมหายใจเข้าออกนี้ไว้ เมื่อเจริญอานาปานสติสมาธิเต็มที่สมบูรณ์ดีแล้ว ไม่ว่าจะเสวยเวทนาสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ พึงพิจารณาเวทนาเหล่านี้ไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน ไม่พัวพัน ไม่ว่าทางกายหรือทางใจ เมื่อนั้นย่อมถึงความดับทุกข์ได้ ดุจดังประทีปดับไปเพราะสิ้นเชื้อ ฉะนั้น



ลมหายใจในธรรมและลมหายใจเป็นธรรม ก็คือลมหายใจที่ประกอบด้วยสติ ต่างกับลมหายใจที่เป็นเพียงลมหายใจของผู้หายใจธรรมดาและหายใจทิ้ง อุปกรณ์ในการปฏิบัติบำเพ็ญเพียรสมณธรรมที่ง่ายที่สุด ได้ผลมากที่สุดก็คือ ลมหายใจ อานาปานสติไม่หลงทางได้ง่าย ไม่นำไปสู่ทางอื่น ผลอื่นนอกพระพุทธศาสนา


นี่คือ โศลกที่สิบเจ็ดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา




วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

จังหวะ โอกาส




โศลกที่สิบหก "จังหวะ โอกาส"
นักวิจัยจิตต้องเป็นนักสังเกต
ช่วงเวลาไหนจิตสดชื่น ร่าเริง
จิตพร้อมต่อการปฏิบัติ
จิตควรแก่การพิจารณา
ไม่มีความคิดรีรอ
ใช้จังหวะและโอกาสนั้นให้ดี
ใช้ให้ถูกที่ ถูกเวลา
หากพ้นผ่านเวลาที่เหมาะสมไป
ก็สูญเสียขณะทองไปอย่างน่าเสียดาย
ต้องละเอียดและเนียนกว่าที่เป็น
รู้จักวางใจและอารมณ์มากกว่าที่เป็น
จึงชื่อว่าผู้ฉลาดในการบำเพ็ญธรรม


ไม่ว่าการกระทำอะไรๆ ก็ตามในโลกนี้ ช่วงจังหวะหนึ่งที่เหมาะสมนั้นมีไม่มากนัก ผู้ที่เข้าใจจังหวะและโอกาสนั้นเท่านั้นจึงจะฉวยโอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อการงานนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จังหวะและโอกาสที่รอคอยนั้นไม่ใช่เกิดขึ้นง่ายๆ บางทีต้องรอกาลนั้น บางทีต้องสร้างขึ้นด้วยความยากเย็น ด้วยเวลาอันยาวนาน


มีคำกล่าวของนักบริหารว่า การรอโอกาสเป็นกลยุทธ์ชั้นต่ำ การฉวยโอกาสเป็นกลยุทธ์ชั้นกลาง แต่การสร้างโอกาส เป็นกลยุทธ์ชั้นสูง แต่เมื่อโอกาสมาถึงแล้วต้องใช้โอกาสนั้นทันทีไม่ให้เสียไปเด็ดขาด สังเกตให้ดีจังหวะของการที่ใครคนหนึ่งจะร้องไห้ ใครคนหนึ่งจะเกิดปีติที่ท่วมท้น ใครคนหนึ่งจะตื้นตันใจอย่างเต็มที่ ใครคนหนึ่งจะรอดหวุดหวิดจากอุบัติเหตุ ทุกจังหวะนั้นมีเวลาน้อยนิดจริง เพราะมันคือเสี้ยววินาทีเท่านั้นเอง คนที่ตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด ก็เป็นช่วงจังหวะเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าพ้นจังหวะนั้นไปก็ไม่ใช่กาลอันเหมาะสมที่จะเกิดผลอันน่าประหลาดใจได้


ภาพที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับจังหวะนี้ก็คือ การเล่นฟุตบอล การเข้าบอลผิดจังหวะกับถูกจังหวะนั้นมีผลต่างกัน เข้าบอลผิดจังหวะผลที่ได้ใบเหลืองเป็นอย่างน้อย อย่างมากใบแดง เข้าถูกจังหวะสามารถเซฟได้อย่างหวุดหวิด ช่วงจังหวะนั้นไม่มีเวลาให้ตัดสินใจมากนัก ต้องคิดต้องทำในขณะนั้นๆ หรือ การผสมตัวยาวิเศษ เภสัชกรผู้ชำนาญต้องคำนวณกาลอันเหมาะสมในการผสมตัวยา หากผิดเวลาไปเพียงนิดเดียว ตัวยานั้นก็ไม่มีประสิทธิภาพ หรืออาจเป็นโทษด้วยซ้ำไป ดังนั้น จังหวะจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย ดูเป็นเรื่องไม่สำคัญไปได้

ใครที่เคยทราบการประลองฝีมือระหว่างมิยาโมโต มูชาชิกับซาซากิ โคจิโร่ การประลองดาบในครั้งนั้นมีชีวิตเป็นเดิมพัน ต่างฝ่ายต่างเป็นผู้มีฝีมือที่ทัดเทียมกัน แต่สิ่งที่จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ชนะก็คือ “จังหวะ” มูซาชิให้ความสำคัญกับ “จังหวะ” เป็นอย่างยิ่ง ความรู้สำคัญที่เขาสั่งสมมาตลอดก็คือจังหวะนี่เอง นักสู้ที่จะสามารถช่วงชิงชัยได้ ต้องอาศัยการหยั่งรู้ถึงจังหวะของคู่ต่อสู้ และช่วงชิงลงมือในจังหวะที่ฝ่ายตรงข้ามไม่อาจคาดถึง ไม่ว่าจะเป็นดนตรีหรือศาสตร์และศิลป์ใดๆ ก็ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัย “จังหวะ” ในการสร้างความสมบูรณ์งดงาม


เช่นเดียวกับที่นักสู้จะสามารถมีชัยได้ ก็ต้องใช้อาวุธอย่างถูกต้องสอดคล้องกับ “จังหวะ” ในการต่อสู้ช่วงชิง สรรพสิ่งล้วนมีจังหวะ แม้แต่ “ความว่าง” ก็ยังมีจังหวะ การดำเนินชีวิตของคนทุกชนชั้นก็ยังมีจังหวะของชีวิต สรรพสิ่งจึงมีทั้งจังหวะของมันเอง ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายต่างแยกแยะจังหวะออกว่า จังหวะไหนเหมาะสม ไม่เหมาะสม ควรเร็วหรือช้า ก่อนหน้าหรือตามหลัง รุกหรือรับ มิยาโมโต มูชาชิอาศัยจังหวะเสี้ยววินาทีที่ซาซากิ โคจิโร่ฟันลงมาเขาก็ฟันลงไป ไม่ก่อนไม่หลัง สอดคล้องประสานจังหวะที่สมดุลมาก ถ้าช้าไปก็แพ้ เร็วไปก็แพ้ ต้องพอดีๆ จึงจะชนะ



โศลกว่า “จิตควรแก่การพิจารณา” ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายต้องเป็นนักสังเกตชั้นเยี่ยมจึงจะเห็นจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมในการปฏิบัติธรรม บำเพ็ญเพียรสมณธรรม จิตนั้นก็มีจังหวะที่ปลอดโปร่ง สดชื่น ร่าเริงเหมือนกัน นี่เป็นจังหวะและโอกาสแรกในการเข้าไปถือจังหวะและโอกาสนั้น ยังไม่ต้องพูดถึงจังหวะและโอกาสที่เกิดจากการเร้าอารมณ์จนถึงที่สุดอันเกิดจากการเต็มเปี่ยมแห่งอินทรีย์ที่เหมาะสม ผู้ปฏิบัติจะต้องอาศัยจังหวะนั้นมาพิจารณาธรรม


บุคคลแต่ละคนมีจริตและจังหวะไม่เหมือนกัน บ้างอาศัยช่วงเช้าตรู่ในการบำเพ็ญเพียร บ้างอาศัยช่วงกลางคืนในการบำเพ็ญเพียร บ้างอาศัยช่วงบ่ายคล้อยในการบำเพ็ญเพียร บ้างอาศัยช่วงที่มีฝนพรำในการบำเพ็ญเพียร ไม่ว่าจะอาศัยช่วงไหนก็แล้วแต่ แต่ต้องสังเกตได้ว่า ช่วงนั้นจิตตื่นตัวเต็มที่ จิตมีความสดชื่นร่าเริงแจ่มใสเต็มที่ จิตมีพลังอย่างเต็มที่ จึงไม่เป็นเวลาตายตัวของทุกคน


ยกตัวอย่างสามเณรบัณฑิตผู้เป็นศิษย์ของพระสารีบุตร ขณะเดินติดตามพระสารีบุตรที่กำลังบิณฑบาตอยู่นั้น ผ่านไร่นา ผ่านบ้านช่างศร ผ่านบ้านช่างไม้ ฉุกคิดได้ว่า น้ำคนยังบังคับได้ ไม้ยังดัดเป็นศรได้ ไม้คนยังถากเสียจนเกลี้ยงเกลาได้ เราเป็นคนแท้ๆ ทำไมจะฝึกตนไม่ได้ สามเณรได้คิดดังนั้นจึงกลับวัดไปบำเพ็ญเพียรสมณธรรมภายในห้องท่ามกลางบรรยากาศอันสงบสงัด พระสารีบุตรเมื่อบิณฑบาตได้พอประมาณก็รีบกลับเพราะกลัวจะเลยเพลสามเณรจะฉันไม่ได้


ในขณะนั้นได้เวลาที่สามเณรกำลังบำเพ็ญเพียรสมณธรรมเต็มที่ จิตกำลังดิ่งลงสู่การพิจารณาธรรมอย่างถูกจังหวะ หากพระสารีบุตรไปเรียกในขณะนั้นต้องทำให้สามเณรพลาดโอกาสไปได้ พระพุทธเจ้าทรงทราบดังนั้นจึงได้เสด็จไปที่หน้าประตูวัดเพื่อที่จะช่วยเหลือสามเณรในการบำเพ็ญสมณธรรม พระองค์จึงตรัสถามคำถามพระสารีบุตร ๔ ข้อ เพื่อยื้อเวลาให้ผ่านกาลนั้นไปก่อน หลังจากที่พระสารีบุตรทูลตอบปัญหาเสร็จ สามเณรก็บรรลุพระอรหันต์พร้อมกับปฏิสัมภิทาพอดี พระสารีบุตรจึงเข้าไปหาสามเณรได้


นี่แสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ทราบถึงจังหวะและโอกาสแห่งความเต็มเปี่ยมของบุญบารมี พร้อมทั้งจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมในการแสดงธรรมและการปฏิบัติธรรมของพระสาวกจึงทำให้การปฏิบัติธรรมนั้นได้ผลอย่างยิ่ง จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า เหตุใดที่พระภิกษุทั้งหลายในครั้งพุทธกาล เมื่อฟังธรรมของพระพุทธเจ้าก็ดี ฟังธรรมของพระอรหันตสาวกก็ดีจึงบรรลุธรรมได้ง่าย ก็เพราะพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลายทราบวาระจิตที่เหมาะสมกับจังหวะและโอกาสนั้น จึงได้ชักนำวาระจิตนั้นได้โน้มไปสู่การพิจารณาธรรมได้อย่างถูกจังหวะและโอกาส ถูกที่ ถูกเวลา


จิตที่ควรแก่การพิจารณานั้นเป็นจิตที่กำลังอยู่ในขณะที่ควรแก่การงาน หมายถึงจิตที่มีกำลังมีความสมดุลของอินทรีย์ทุกส่วน ผู้ปฏิบัติธรรมต้องรีบใช้โอกาสนี้เข้าไปพิจารณาธรรม กล่าวคือ พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของขันธ์ มีแต่จิตอยู่ในจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมเท่านั้นจึงจะมีพลังในการเห็นแจ้งได้ ตรงนี้จึงเรียกว่า “ปัญญาเกิด” ในพระพุทธศาสนานั้นใช้จิตที่สมควรแก่งาน ก็คือจิตที่อยู่ในช่วงจังหวะนี้มาใช้ประโยชน์ เพราะถ้าเลยจังหวะนี้ไป จิตก็เข้าสู่ห้วงแห่งความสุข ถ้าน้อยกว่านี้จิตก็ไม่มีพลัง

โศลกว่า “รู้จักวางใจและอารมณ์มากกว่าที่เป็น” ผู้บำเพ็ญเพียรสมณธรรม คือ ผู้ที่กำลังทำงานอยู่กับจิต เป็นการทำงานตามกฎ ๒ ประการร่วมกัน ก็คือ จิตนิยามและกรรมนิยาม จิตนิยาม ก็คือ กฎที่จิตทำงานตามหน้าที่ของมันอย่างเที่ยงตรง ไม่เป็นไปตามตรรกะ ไม่เป็นไปตามบริบทสิ่งแวดล้อมใด ทุกขั้นตอนตรงไปตรงมา ไม่เป็นไปตามคำขอร้องของใคร ไม่เบี่ยงเบนบิดพลิ้ว มีลำดับที่สม่ำเสมอ ก็เพราะจิตมีกฎของจิตอย่างนี้ ผู้เข้าใจกฎของจิตจึงได้ให้จิตทำหน้าที่ตามกฎของกรรม


กรรมหรือการกระทำก็เป็นกฎที่เที่ยงตรงเช่นกัน ไม่ว่าการกระทำนั้นจะทำทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ เมื่อทำอย่างนี้ก็ต้องได้รับผลอย่างนี้ เมื่อทำอย่างนั้นก็ต้องได้รับผลอย่างนั้น เป็นผลของกรรม เรียกว่า วิบาก อันเกิดจากกฎของจิตที่ทำหน้าที่รักษาผลของกรรมนั้นไว้ จิตก็เที่ยงตรง กรรมก็เที่ยงตรง ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติจึงต้องกระทำให้สอดคล้องกับการทำงานของจิต


ความสำคัญก็อยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้จิตนี้ทำงานร่วมกับกรรมนิยาม เป็นการยึดโอกาสในขณะที่จิตนี้กำลังอยู่ในการเสพเคี้ยวอารมณ์ แต่อารมณ์นี้ไม่ประกอบไปด้วยเจตนา เพราะเมื่อใดที่มีเจตนา เมื่อนั้นการกระทำก็จะเป็นกรรมทันที แต่การกระทำที่ไม่มีเจตนาเท่านั้นที่ไม่เป็นกรรม แต่เป็นการกระทำอยู่ นี่คือความพิเศษในพระพุทธศาสนา นี่ก็คือกรรมไม่ดำไม่ขาว การกระทำที่ไม่ประกอบไปด้วยเจตนา แต่เป็นอาการแห่งการพิจารณาเท่านั้น


การพิจารณาด้วยสติจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนาที่เป็นกรรม แต่เป็นกริยา เพราะในขณะที่มีสตินั้นการกระทำมีแต่อาการเท่านั้น ดังนั้น จึงสำคัญอย่างยิ่งในการวางใจและอารมณ์ ถ้าหากวางใจและอารมณ์ไม่เป็นก็ไม่สามารถสร้างเงื่อนไขของโอกาสได้ เงื่อนไขของโอกาสนี้มีเพียงจังหวะเดียวเท่านั้น คือจังหวะที่มีสติเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ มีแต่สติเต็มเปี่ยมสมบูรณ์การกระทำจึงไม่เป็นกรรมดำ หรือกรรมขาว แต่เป็นกรรมไม่ดำ ไม่ขาว มีแต่กรรมชนิดนี้เท่านั้นจึงจะทำให้จิตไม่สามารถรับผลของกรรมที่เป็นวิบากได้


กรรมโดยปกตินั้นเป็นการกระทำที่ประกอบไปด้วยกุศลมูลและอกุศลมูลเป็นพื้นฐาน กุศลมูลและอกุศลมูลนี้มีตัณหาเป็นยางเหนียวหล่อเลี้ยงอยู่ภายใน การกระทำประกอบไปด้วยตัณหานี้ย่อมทำให้จิตถือเอาเป็นพลังในการส่งต่อลงไปในภวังคจิต

ยางเหนียวคือตัณหานี้ก่อสร้างภพขึ้นอีกอันเป็นผลของการกระทำซึ่งทำหน้าที่เก็บรักษาโดยจิต แต่จะทำอย่างไรให้กระทำนั้นไม่ประกอบด้วยยางเหนียว ก็ต่อเมื่อการกระทำนั้นมีสติ สติอันอยู่ในมโนกรรม โน้มนำไปสู่การพิจารณาไตรลักษณ์ มีนิพพานคือ ความว่างเป็นอารมณ์ เมื่อนั้นมโนกรรมก็เป็นเพียงแต่สักว่า อาการพิจารณาเท่านั้น จิตไม่สามารถส่งผลลงไปสู่ภวังคจิต เก็บกักวิบากไว้รอการแสดงผลได้อีก

ดุจดังที่พระพุทธเจ้าทรงโน้มนำให้พระพาหิยะได้พิจารณา การพิจารณาที่ไม่ประกอบด้วยกรรมอันเป็นวิบาก เป็นขณะที่สำคัญที่สุดและเป็นขณะที่สมบูรณ์ที่สุด ทุกกิริยาอาการเป็นแต่เพียงสักว่าเท่านั้นเพราะมีสติกำกับแล้วทุกอย่าง นี่คือกระบวนการอันแยบยลแห่งโน้มใจให้พิจารณาในกาลอันเต็มเปี่ยมด้วยสติพิจารณา มาจากคำว่า พึงศึกษา” ซึ่งสมบูรณ์ด้วยมรรคสมังคี ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ และปัญญาแล้ว ก็ในเมื่อใช้สติพิจารณาการเห็นจักเป็นสักว่าเห็น การฟังจักเป็นสักว่าฟัง การรับทราบจักเป็นสักว่ารับทราบ การรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ไม่มีอะไรหลงเหลือให้ติดค้างไปในโลกไหนๆ อีก ผู้ฉลาดในธรรมพึงเข้าใจเช่นนี้ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบต่อไป


นี่คือ โศลกที่สิบหกแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

บทความที่ใหม่กว่า บทความที่เก่ากว่า หน้าแรก