วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

การฆ่าตัวตายปัญหาทางจริยธรรม?




การฆ่าตัวตายได้รับการกล่าวถึงอยู่พอสมควรในสังคมปัจจุบัน โดยมากแล้วเป็นการฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นปัญหาทางด้านความเครียด หรือเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพ หรือแม้แต่ปัญหาเกี่ยวกับการแพทย์ที่เรียกว่า การุญฆาตก็ตาม ล้วนแล้วแต่พูดไปในทางที่ไม่ดีทั้งสิ้น ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะการฆ่าตัวตายถือเป็นบาปอย่างหนึ่งตามคำสอนของศาสนาหลายๆ ศาสนา ไม่เว้นแม้แต่พระพุทธศาสนา
อย่างไรก็ตาม การฆ่าตัวตายกลับปรากฏพบในคัมภีร์พระพุทธศาสนาว่า พระภิกษุฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุอันเกิดจากการเบื่อหน่ายต่อสังขารนี้ สรีระนี้ บางรูปการฆ่าตัวตายนำไปสู่การบรรลุพระนิพพานเข้าถึงการหลุดพ้นได้ ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายเปลี่ยนไป โดยเฉพาะท่าทีที่เข้าใจว่า การฆ่าตัวตายแล้วนำไปเกิดทุคติภูมิ ด้วยเหตุนี้จะได้นำเสนอประเด็นๆ ที่น่าสนใจต่อไป

ประเด็นที่ ๑ การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในสังคมอินเดีย
การฆ่าตัวตายคงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับปัจจุบันนี้เนื่องจากมีการฆ่าตัวตายมาก่อนหน้านานนับหลายพันปี ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งการฆ่าตัวตายอาจได้รับความนิยมก็ได้ ยกตัวอย่างการฆ่าตัวตายของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาที่เบื่อหน่ายสังขาร พร้อมใจกันฆ่าตัวตายด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะให้ผู้อื่นฆ่า ตนเองฆ่า หรือตั้งบุคคลไว้ในตำแหน่งฆ่าตนเอง ดังมีเรื่องในวินัยปิฎกว่า
โดยสมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงวิธีการเจริญกรรมฐานแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยแสดงการเจริญอสุภกรรมฐาน คือให้พิจารณาร่างกายเป็นของไม่สวยไม่งาม จากนั้นแล้วพระองค์ทรงหลีกเร้นไปอยู่ในป่ามหาวันเพียงรูปเดียวตลอดครึ่งเดือน ทรงอนุญาตให้ภิกษุเฉพาะรูปที่ส่งอาหารบิณฑบาตเท่านั้นเข้าเฝ้าได้ รูปอื่นห้ามเข้าเฝ้า ส่วนภิกษุทั้งหลายได้พากันเจริญอสุภกรรมฐาน จนบางรูป เกิดความเบื่อหน่ายในชีวิต เพราะเห็นว่าร่างกายเต็มไปด้วยมูตรคูถ จึงได้ฆ่าตัวเองตายไปบ้าง บางรูปก็วานให้ภิกษุอื่นฆ่าตนบ้าง ส่วนภิกษุอีกเหล่าหนึ่งได้จ้างวานให้มิคคลัณฑิกสมณกุตต์ให้ช่วยฆ่าตัวตาย โดยให้บาตรและจีวรเป็นรางวัล มิคคลัณฑิกสมณกุตต์นั้นได้ฆ่าพระตายไปเป็นจำนวนมาก ต่อมาพระพุทธเจ้าจึงบัญญัติการฆ่าผู้อื่นเป็นอาบัติปาราชิก ส่วนการฆ่าตัวเองตายเป็นอาบัติทุกกฏ
หรือแม้แต่การที่ครูปุราณกัสสปะได้ใช้ก้อนหินแขวนคอตนเอง กระโดดลงน้ำฆ่าตัวตายจากการอับอายต่อเรื่องที่ตนไม่สามารถแสดงฤทธิ์ได้หลังจากที่พระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ นี่ก็เป็นแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงการฆ่าตัวตายของสังคมอินเดีย ซึ่งก็หมายความว่า มีการฆ่าตัวตายด้วยวิธีการต่างๆ อยู่ในขณะนั้น
ประเด็นที่ ๒ การฆ่าตัวตายเป็นปาณาติบาตและเป็นบาปหรือไม่

จากหลักฐานทางคัมภีร์แสดงว่า “การที่ฆ่าตัวตายไม่ถือว่า “ผิดศีลข้อปาณาติบาต” เพราะไม่เข้าเกณฑ์องค์ประกอบแห่งปาณาติบาตข้อ “ปาณสญฺญิตา” “รู้ว่าสัตว์มีชีวิต” หมายถึงการรู้ว่าสัตว์อื่นมีชีวิตไม่ได้หมายเอาตนเอง ดังนั้นการฆ่าตัวตายเป็นเพียงอาบัติทุกกฏ คือการฆ่าตัวตายเป็นสิ่งไม่ควรทำเท่านั้นเอง

ประเด็นว่า แต่การฆ่าตัวเองตายนี้ทำให้ไปสู่อบายหรือไม่ ประการแรกต้องทราบความจริงว่า ร่างกายสังขารนี้ต้องมีอันเป็นไป ดับไป สลายไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง ทั้งเป็นเพราะกรรมตัดรอน คือตายเพราะถูกทำให้ตายก่อนหมดอายุ หรือตายเพราะหมดอายุขัย แก่ตาย ดังนั้น ไม่ได้มีเกณฑ์ว่า การที่ร่างกายนี้สิ้นไปจะด้วยสาเหตุใดก็ตามต้องไปสู่อบายหรือไม่ แต่มีเกณฑ์ว่า ถ้าหากก่อนจุติจิต จิตเป็นอกุศล เศร้าหมองด้วยกิเลสครอบงำ ปฏิสนธิจิตก็นำไปสู่ทุคติ “จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา” แปลว่า “เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้” แต่ถ้ากลับกันก่อนสิ้นชีวิตจิตมีสติ พิจารณาบุญกุศลที่ตนทำ พิจารณาความตายเป็นอารมณ์ หรือแม้แต่ไม่ทันได้พิจารณาแต่บุญกุศลในชาติก่อนส่งหนุน ก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิได้ “จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคฺคติ ปาฏิกงฺขา” แปลว่า “เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้” ความตายไม่ใช่สาเหตุ แต่จิตขณะตายเป็นสาเหตุ เพียงแต่การทำลายตนเองเป็นสิ่งไม่ควรทำเท่านั้น ทำไมจึงไม่ควรทำลาย เพราะขันธ์ในความเป็นมนุษย์นี้มีคุณค่า มีประโยชน์สำหรับการใช้เป็นเครื่องมือเข้าถึงธรรม นอกเหนือจากนั้น การพิจารณาความตายซึ่งเป็นเวทนาอันกล้าสามารถนำไปสู่การบรรลุธรรมได้ด้วย ดังกรณีของพระฉันนะ พระวักกลิ และพระโคธิกะเป็นต้น ซึ่งอาพาธแล้วฆ่าตัวตาย แต่ก่อนตายท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ทําให้จิตของท่านดับไปพร้อมกับการบรรลุธรรมขั้นสูงของพระพุทธศาสนา

ประเด็นที่ ๓ การฆ่าตัวตายของอรหันต์
การใช้คำว่า ฆ่าตัวตายสำหรับพระอรหันต์นั้นไม่ถูกต้องตามถ้อยคำนัก เนื่องจากถ้อยคำนี้สื่อไปสู่ความเข้าใจที่ทำให้ปุถุชนคนทั่วไปเข้าใจตามบริบทของตน ไม่ได้เข้าใจตามบริบทของพระอรหันต์ เหมือนกับคำว่า พระภิกษุออกกำลังกาย คำว่า ออกกำลังกายเป็นคำที่ใช้กับชาวบ้านที่เข้าใจทั่วไป ซึ่งไม่ได้ใช้กับพระ แต่ถ้านำมาใช้กับพระก็อาจทำให้เข้าใจไปในทางที่ผิดได้ แล้วทุกคนก็ลงความเห็นว่า พระออกกำลังไม่ได้ การออกกำลังการทางพระภิกษุใช้คำว่า การบริหารขันธ์” หมายถึงการดูแลร่างกายนี้ให้ดำเนินไปด้วยดี กรณีนี้ก็เช่นกัน การใช้คำว่า ฆ่าตัวตายกับพระอรหันต์ไม่ได้ เพราะคำที่ใช้กับพระที่ฆ่าตัวตายในที่นี้ใช้คำว่า “วิโมกขา สุวิมุตโต” ซึ่งแปลว่า ปลดเปลื้องขันธ์ ดังที่พระวักกลิตั้งใจที่จะฆ่าตัวตายด้วยตนเอง

ถามว่า แล้วพระอรหันต์ปลดเปลื้องขันธ์นี้ สละขันธ์นี้ได้หรือ? ตอบว่า ได้ ซึ่งพอใช้คำว่า พระอรหันต์ฆ่าตัวตายได้หรือไม่ คำตอบที่ออกมาก็คือ ไม่ได้ การที่พระอรหันต์จะปลดเปลื้องสละขันธ์นี้นั้น ต้องอยู่ในความเหมาะสมกับกาลเวลาที่จะสละขันธ์นี้ ความเหมาะสมนี้ไม่สามารถจะบอกกล่าวได้ว่า เมื่อไร และก็จะสละขันธ์อย่างไร ในกรณีการใช้อาวุธฆ่าตัวตายเป็นวิธีหนึ่งที่ปรากฏใช้ในพุทธกาล มองว่าเป็นการทำร้ายร่างกายหรือไม่ ก็ตอบว่า คิดตามกรอบของชาวบ้านไม่ได้อีกเช่นกัน ตอบตามวิสัยชาวบ้านก็คือ ใช่ แต่ถ้าเป็นวิสัยของพระอรหันต์นั่นเป็นวิธีที่รวดเร็วอย่างหนึ่ง คือใช้วิธีนำของมีคมมาปาดคอตนเอง เป็นเพียงกระบวนการให้สิ้นไปซึ่งขันธ์ไม่ได้ทำร้ายร่างกายตนเอง ในพุทธกาลนั้น แท่นศิลาดำ ณ ข้างเขาอิสิคิลิ ดูเหมือนจะเป็นที่ปลงชีวิตของพระภิกษุอยู่เหมือนกันเพราะมีปรากฏหลายรูปใช้ที่นี้เป็นที่สละขันธ์ เพื่อความหลุดพ้น นอกเหนือจากนั้นจะเห็นได้จากการสละร่าง หรือการปลดเปลื้องขันธ์นี้ก็ยังใช้วิธีอื่นด้วย เช่น พระอานนท์ได้เข้าเตโชธาตุแยกร่างกลางอากาศแบ่งให้ญาติทั้งสองฝ่าย ดังนั้นการปลดเปลื้องขันธ์ไม่ได้หมายความว่า เป็นการกระทำของวิภวตัณหา คือความไม่อยากที่จะมีชีวิตอยู่ หรือแม้แต่ไม่อยากที่ได้รับการเป็นอยู่ในสภาพนั้นๆ ดังที่เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปุถุชนไม่อาจหยั่งทราบภาวะของพระอรหันต์ได้เลยว่า เหตุใดจึงทำเช่นนั้น ไม่ทำเช่นนั้น เพราะบางครั้งทำในเรื่องเดียวกันลักษณะเดียวกัน แต่การทำของปุถุชนนำไปสู่ทุคติ แต่การทำของพระอรหันต์ไม่มีผลใด เพราะการกระทำของพระอรหันต์เป็นเพียงกิริยาอาการเท่านั้น นำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้

ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามีคำว่า ชีวิตสมสีสีพระอรหันต์ คือ ได้บรรลุพระอรหันต์ในขณะที่กำลังนิพพาน ได้แก่คือจุติจิตที่เกิดขึ้นต่อจากการพิจารณามรรค ผล นิพพาน และกิเลสที่ประหารสิ้นแล้วในขณะนั้น มักใช้กับพระอรหันต์ที่เปลื้องชีวิตตนเอง และยังใช้วิธีอภิญญาสมนันตรวิถี หมายถึง จุติจิตที่เกิดขึ้นต่อจากอภิญญาวิถีที่แสดงอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ คือการแสดงฤทธิ์ก่อนนิพพาน

สรุป
การปลดเปลื้องสังขารของพระอรหันต์นั้นเป็นอีกลักษณะหนึ่งของการสิ้นไปแห่งชีวิต ไม่ว่าจะด้วยการฆ่าตัวตาย หรือด้วยวิธีใดๆ ทั้ง ๕ วิธีแห่งการนิพพาน ในประเด็นเรื่องการฆ่าตัวตายไม่ใช่เป็นเพียงแง่มุมทางจริยธรรมเท่านั้น แต่เป็นแง่มุมทางการบรรลุธรรมด้วย ไม่ใช่มีแต่มุมของปัญหาชีวิตเท่านั้น แต่มีมุมของการปลดเปลื้องสังขารด้วย จุดที่สำคัญต่อประเด็นเรื่องนี้ก็คือ การใช้ความตายหรือความสิ้นไปแห่งสังขารนี้อย่างไร เป็นคุณหรือเป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่น และก็ยังมีประเด็นความเหมาะสมแห่งกาลเข้ามาประกอบด้วย ว่ากาลไหนทำได้ กาลไหนทำไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวิสัยของพระอรหันต์ทั้งหลาย เพียงแต่ให้รับทราบว่ามุมมองด้านการฆ่าตัวตายของชาวบ้านนั้นอย่างหนึ่ง การสละขันธ์ของพระอรหันต์นั้นอย่างหนึ่ง