วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

กระบวนทัศน์มัชเฌนธรรม : วัฒนธรรมแห่งอริยธรรม




กระบวนทัศน์มัชเฌนธรรม : วัฒนธรรมแห่งอริยธรรม

สังคมยุคก่อนพุทธกาล นักปราชญ์ทั้งหลายในยุคนั้นพยายามแสวงหาทางออกให้กับมนุษย์ที่ตกอยู่ภายใต้วังวนของความคิด ตกอยู่ภายในคำอธิบายของนักวิชาการของสังคมในยุคนั้น ซึ่งก็คือพราหมณ์ทั้งหลาย สังคมมีความสับสน มีความขัดแย้ง มีการเอาเปรียบ มีการเข่นฆ่า มีการหลอกลวง มีการคอรัปชั่น สังคมมีทฤษฎีทางออกของชีวิตที่ดีให้สมาชิกได้ดำเนินตาม ดูแล้วก็ไม่ต่างไปจากสถานการณ์ของวัฒนธรรมทางเลือกในปัจจุบัน ที่สังคมกำลังโหยหาความสงบสุข โหยหาสันติภาพ โหยหาทางออกให้กับมนุษย์ เมื่อพระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นด้วยผลจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ได้ประกาศทางออกแห่งชีวิตให้แก่สังคม สร้างเสริมวัฒนธรรมมนุษย์ให้พ้นจากความป่าเถื่อน และยังสร้างวัฒนธรรมของมนุษย์ให้ถึงจุดสูงสุด นั่นคืออริยวัฒนธรรม ในเบื้องต้นพระพุทธศาสนาได้สร้างความกระจ่างชัดเป็นเรื่องๆ ให้แก่สังคม เป็นการสร้างวัฒนธรรมให้สังคมพ้นจากความเถื่อนของมนุษย์ออกไปก่อน

ปฏิวัติความคิดเรื่องระบบวรรณะ (Caste System) ให้พ้นจากการดูถูกเหยียดหยามกัน ไม่ให้มองคนที่เผ่าพันธุ์ ตระกูล ผิวพรรณ รูปร่างหน้าตา หรือพวกพ้อง แต่มองที่การกระทำ การเข้าใจผิดในเรื่องนี้ทำให้เกิดความทะนงตน แล้วสร้างมาตรฐานทางสังคมที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นวัฒนธรรมธรรมชาติ เช่น โสณทัณฑพราหมณ์ซึ่งเป็นพราหมณ์อาวุโสครองนครจัมปาได้รับการห้ามปรามจากเหล่าพรามหณ์ไม่ให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพราะคำนึงถึงความบริสุทธิ์แห่งเผ่าพันธุ์ของตน คำนึงถึงความเหนือกว่าในด้านวิชาการของตน ไปพบพระพุทธเจ้าจะทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศพราหมณ์ ต้องเปลี่ยนความคิดเช่นนี้ก่อน วางมาตรฐานทางสังคมให้เป็นไปตามธรรมชาติก่อน

อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ อัคคิภารทวาชพราหมณ์ผู้ที่ตะโกนเรียกพระพุทธเจ้าด้วยถ้อยคำอันเหยียดหยามว่า “คนถ่อย” แต่ไม่รู้สึกในความหยาบของตน แต่กลับเข้าใจว่าตนเป็นผู้สูงกว่าเพราะวรรณะ พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนลักษณะความเป็นคนถ่อย และธรรมที่ทำให้เป็นคนถ่อยให้ทราบ และทำให้เข้าใจเสียใหม่ว่า บุคคลไม่เป็นคนถ่อยเพราะชาติ ไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติแต่เป็นคนถ่อยเพราะกรรม เป็นพราหมณ์เพราะกรรม บุตรของคนจัณฑาลยังเป็นกษัตริย์ เป็นที่เคารพของเหล่ากษัตริย์และพราหมณ์ได้และเข้าถึงพรหมโลกได้ก็มีมาแล้ว พราหมณ์ก็ถูกประณาม ตกนรก เข้าถึงอบายทุคติก็มีมาแล้ว

ยังมีวัฒนธรรมที่บิดเบี้ยวในสังคมอีกหลายประการที่พระพุทธเจ้าทรงปรับ เปลี่ยน และประยุกต์ บูรณาการ เช่น การซื้อขายทาส การบูชายัญ การเชื่อในเรื่องพรหมลิขิต การเชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลัง แม้กระทั่งเรื่องของกิริยามารยาทอันไม่เหมาะสมต่างๆ พระพุทธเจ้าก็ต้องปรับหมด ทำให้สังคมที่ไร้วัฒนธรรมเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมขึ้น จากสังคมที่มีวัฒนธรรม ก็ปรับฐานวัฒนธรรมด้วยกระบวนทัศน์มัชเฌนธรรม คือกระบวนทัศน์สายกลางทำให้เป็นสังคมแห่งอริยธรรมในที่สุด

เมื่อสังคมกลับมาสู่ฐานวัฒนธรรมที่ถูกต้อง เป็นธรรมชาติ ไม่บิดเบี้ยว เป็นสังคมฐานปัญญา (Wisdom Based Society) ปัญญาในที่นี้ต้องเป็นปัญญาแบบสัมมาทิฏฐิ มิใช่ปัญญาแบบศรีธนญชัย อาศัยปัญญานี้เองจึงจะเข้าใจกระบวนทัศน์มัชเฌนธรรม หรือวัฒนธรรมสมดุลได้


ในประเด็นการวัดคนด้วย GDP หรือ GNH ก็ล้วนแต่ตกไปสู่ส่วนสุดข้างใดข้างหนึ่ง เป็นการมองไปที่ผล ไม่ใช่ที่เหตุ ใช้ GDP เป็นตัววัดความเจริญ ก็จะเกิด GDT ใช้ GNH วัดความเจริญ ก็จะทำให้เกิด GNL (Gross National Lazy) อีกประการหนึ่ง ความสุขเป็นนามธรรมที่จะต้องมีสิ่งหล่อเลี้ยงด้วยปัจจัยอันหลากหลาย การที่คนๆ หนึ่งเจ็บป่วยอยู่ แต่จะให้คนเจ็บป่วยอย่างมีความสุขนั้นเป็นไปได้ยาก เพียงเฉพาะค่าพยาบาลรักษาก็จำเป็นต้องใช้จ่าย ก็เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดความเครียดได้แล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงภาวะแห่งจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วย ยากที่จะทำใจให้มีความสุขในยามเจ็บป่วยได้

ประเทศไทยเปรียบเสมือนคนที่เจ็บป่วย จำเป็นต้องได้รับการเยียวยา ความสมดุลจำเป็นต้องมีทั้ง GDP and GNH เป็นความสมดุลที่มองทั้งส่วนที่เป็นวัตถุและจิตใจ ความมีอยู่มีกิน กินดีอยู่ดีมีค่าครองชีพอันเหมาะสม ก็คือการดูที่ GDP ความเป็นผู้มีจิตใจเพียงพอ เอื้ออาทร สละแบ่งปัน สุขใจ ก็ต้องคำนึงถึง GNH ดังนั้น ความสมดุลจึงอยู่ที่กายและใจการวัดความเจริญของคนในชาติก็ต้องมองไปทั้ง ๒ ด้าน ได้แก่ GDHP (Gross Domestic Happiness and Product)


ประเด็นสำคัญอยู่ที่ทำอย่างไรจึงจะสร้างทั้งสองส่วนนี้ไปด้วยกัน ไม่หนักไปทางใดทางหนึ่ง สมเด็จพระราชาธิบดีประเทศภูฏานใช้หลักอยู่ ๔ ประการ เพื่อสร้างความสมดุลให้แก่คนในชาติ ได้แก่

๑.ส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม อย่างยั่งยืนและเท่าเทียม (Sustainable and Equitable Socioeconomic Development)
๒.การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Conservation of Environment)
๓.การส่งเสริมและสงวนรักษาวัฒนธรรมประเพณี (Preservation and Promotion of Culture)
๔. ส่งเสริมการพัฒนาธรรมาภิบาล (Good Governance)

หลักการทั้ง ๔ ประการนี้เพียงพอที่จะสร้างความสมดุลให้เกิดในชาติ ทำให้ชาติมีทั้งความสุขและมีทั้งเงินทองเลี้ยงชีพอย่างไม่ทุกข์ร้อน แต่ปัจจัยสำคัญมิใช่อยู่ที่หลักการดีเพียงอย่างเดียวจำเป็นจะต้องมีหลักปฏิบัติด้วย (สมดุล) ในพระพุทธศาสนา เมื่อจะพัฒนาบุคคล สังคมใดๆ จำเป็นต้องมีทั้ง หลักการและหลักปฏิบัติ ได้แก่ หลักมัชเฌนธรรม (หลักการ) และก็หลักมัชฌิมาปฏิปทา (หลักปฏิบัติ)