วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปรับสมดุลอินทรีย์



โศลกที่สิบห้า "ปรับสมดุลอินทรีย์"

ไม่มุ่งมั่นมากเกินไป
ไม่เอาจริงเอาจังเกินไป
ไม่จดจ่อมากเกินไป
ไม่เข้าใจมากเกินไป
แต่ให้ตั้งสติให้ดีทุกส่วน
ให้บริหารอินทรีย์ให้ดี
ทุกอินทรีย์มีส่วนขัดขวาง
มีส่วนสนับสนุนการปฏิบัติทั้งสิ้น
ความเพลีย ง่วง กรดทำงาน
ล้วนทำให้การปฏิบัติมีปัญหา
อย่าได้อึดอัดขัดข้อง รันทดท้อแท้
ผ่อนปรนบ้าง ลดถอยลงบ้าง
ไม่ต้องตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ค่อยปรับระดับอินทรีย์ใหม่
ค่อยเข้าเกียร์อินทรีย์ใหม่
มุ่งมั่น พยายาม ตั้งใจ เข้าใจ
ตื่นตัวประคองทุกขั้นตอน


โยคาวจร ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจระบบของการปฏิบัติที่ครบวงจร มิฉะนั้นอาจเป็นปัญหาในขณะปฏิบัติธรรมได้ เนื่องจากวงจรแห่งการปฏิบัติธรรมนั้นก็มีองค์ประกอบในตัวที่สมบูรณ์ ผู้ปฏิบัติต้องใช้ธรรมชุดนี้ในการขับเคลื่อนการปฏิบัติธรรมเพื่อให้การปฏิบัติธรรมนั้นลุผลสมควรแก่ธรรมปฏิบัติ


ดุจดังการจะขับรถ จำเป็นต้องเรียนวิธีการขับรถเสียก่อน อย่างน้อยก็ต้องรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ตรงไหนเกียร์ ตรงไหนครัช ตรงไหนเบรก ตรงไหนพวงมาลัย ตรงไหนน้ำมัน เป็นต้น เมื่อรู้ว่าทุกอย่างมีพร้อม รถจะไปได้ก็ต่อเมื่อมีการติดเครื่องแล้วมีคนขับไป อุปกรณ์แห่งการปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน เมื่อทุกอย่างมีพร้อมหมดแล้วก็ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะพาพาหนะที่เรียกการปฏิบัติธรรมนี้ไปถึงจุดหมายที่พระพุทธศาสนาระบุไว้ ไม่ไปสู่จุดหมายอื่น เนื่องจากพอเริ่มติดเครื่องเดินทาง เข้าสู่การบำเพ็ญสมณธรรมแล้วก็ต้องมีทิศทางที่ถูกต้อง


กิจของการบำเพ็ญสมณธรรมในพระพุทธศาสนานั้นคือ กำหนดรู้ทุกข์ ดับเหตุให้เกิดทุกข์ กระทำให้แจ้งการดับทุกข์ และบำเพ็ญเพียรทางที่นำไปสู่การทุกข์เพื่อไปสู่จุดหมายสูงสุด คือ ความสิ้นไปแห่งอาสวกิเลสทั้งหลาย

ความพร้อมส่วนบุคคล ด้านปัจจัยภายนอกคือ ตัดความกังวลทั้งหลาย ด้านปัจจัยภายใน คือ การทรงไว้ซึ่งอินทรีย์ทั้ง ๕ ได้แก่ ความเชื่อมั่น ความพยายาม ความตื่นตัว การทรงความใสไว้และการพิจารณา



ความพร้อมส่วนสถานที่ ต้องมีความเหมาะสมกับการบำเพ็ญ ไม่ว่าจะเป็นถ้ำ เรือนว่าง โคนไม้ ร่มไม้ ภูเขา ลำธาร ที่อันสงัดวิเวก ความพร้อมส่วนกัลยาณมิตร ต้องมีผู้มีประสบการณ์แนะนำช่วยเหลือในการบำเพ็ญสมณธรรม กุญแจในการจุดเครื่องยนต์แห่งการปฏิบัติ ได้แก่ อานาปานสติ


โศลกว่า “ให้บริหารอินทรีย์ให้ดี” ในขณะปฏิบัติธรรม ธรรมหมวดที่ชื่อว่า อินทรีย์จะถูกดึงออกมาใช้โดยอัตโนมัติ ถ้าหากธรรมหมวดนี้ยังไม่เข้มแข็งพอต้องมีการปลูกฝังให้เข้มแข็ง ดังที่จะศึกษาได้จากในครั้งพุทธกาลเรียกว่า “อินทรีย์เต็มเปี่ยม” หรือ “อินทรีย์ไม่เต็มเปี่ยม” ผู้ใดอินทรีย์เต็มเปี่ยมจึงจะบรรลุธรรมได้ไว ผู้ใดอินทรีย์ไม่เต็มเปี่ยมก็ต้องรอกาลอันเหมาะสมก่อน


ดังเช่นพระวังคีสะเถระ การที่ท่านเข้ามาบวชไม่ได้มีศรัทธาในการเห็นคุณค่าของการบำเพ็ญเพียร แต่หวังที่จะได้มนต์ทำนายจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น เมื่ออินทรีย์ส่วนนี้ยังไม่พร้อมก็ต้องปรับอินทรีย์ไปก่อน โดยให้ศึกษาอาการ ๓๒ ไปก่อน จนกระทั่งมีความเข้าใจในขันธ์ ๕ เท่าที่ควรแล้ว พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมและนำปฏิบัติไปในขณะนั้นไปด้วย


เปรียบเทียบอินทรีย์นี้กับรถยนต์คันหนึ่งที่ประกอบไปด้วย ล้อ ๔ ล้อ และคนขับหนึ่งคน เมื่อรถคนนี้วิ่งไปได้ด้วยความราบรื่น เร่งความเร็วได้ตามลำดับ รถจะมีพลังในการขับเคลื่อนไป จากรถยนต์ก็จะกลายเป็นพาหนะเคลื่อนที่เร็วทันที เช่นเดียวกันกับอินทรีย์ เมื่ออินทรีย์มีความสมดุล อินทรีย์จะกลายเป็นพาหนะอันมีกำลังขับเคลื่อนทันที


ข้อควรระวังในการบำเพ็ญสมณธรรม อย่าได้เข้าใจตามตัวหนังสือที่เขียนไว้ที่เรียงลำดับกันอยู่เด็ดขาด เพราะในขณะปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมนั้นทุกอย่างต้องเป็นธรรมสมังคี มรรคสมังคี หมายถึงการใช้งานร่วมกัน ไม่แยกจากกัน ดุจดังการขับรถไม่ใช่เริ่มที่ล้อ เริ่มที่พวงมาลัย เริ่มที่คนขับ แต่เริ่มพร้อมกันทุกอย่าง ทำงานไปด้วยกันทุกอย่างในวงจรของการขับเคลื่อนนั้น แม้ว่าจะมีการเรียงลำดับไว้ ก็เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า แต่ละอย่างนั้นมีลำดับการใช้ตามขั้นตอนนั้น

สัทธินทรีย์ ความเชื่อมั่นในระบบการปฏิบัติตามแนวพระพุทธศาสนาว่า สามารถนำไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพานได้จริง ความเชื่อมั่นในพระปัญญาของพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ไว้ดีแล้ว เชื่อมั่นในความสามารถของตน ก็คือการบำเพ็ญเพียรเช่นนี้นั้นเป็นการกระทำตามกระบวนการของการพ้นทุกข์ได้จริง เป็นกรรมไม่ดำ ไม่ขาว


เมื่อมีความเชื่อมั่นเช่นนี้ก็ทำให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติอย่างเต็มกำลังความสามารถ ขอเปรียบเทียบการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเล่นก็คือ ความมั่นใจ ถ้าหากมีความมั่นใจจะเรียกฟอร์มการเล่นที่สุดยอดออกมาได้ แต่ถ้าสูญเสียความมั่นใจแล้วก็ไม่สามารถเค้นฟอร์มที่สุดยอดของตนออกมาได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีกระบวนการเรียกความมั่นใจคืนมาให้ได้


ในการปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน ต้องเรียกความมั่นใจให้มีในตนให้ได้ ศรัทธาเป็นศักยภาพ สมรรถภาพ ประสิทธิภาพของผู้ปฏิบัติ เมื่อมีศรัทธาแล้วย่อมสามารถกระทำในสิ่งที่อัศจรรย์ออกมาได้ จึงไม่แปลกที่มีสุภาษิตของชาวต่างประเทศที่ว่า “ศรัทธาสามารถย้ายภูเขาได้” ผู้มีศรัทธาในการปฏิบัติก็เช่นกันสามารถเข้าถึงการบรรลุธรรมได้

วิริยินทรีย์ ความเพียรพยายามในการปฏิบัติ มีความต่อเนื่อง มีความอดทน มีความมุ่งมั่น ไม่หยุดหย่อน เป็นการกระทำตามกระบวนการที่มีอยู่ให้ตลอดจนจบ อาจเป็นหนึ่งบัลลังก์หรือสองบัลลังก์ ก็แล้วแต่ แต่ต้องกระทำไปจนถึงที่สุด ไม่ยอมท้อถอย ดุจดังการวิ่งมาราธอน ที่ไม่ยินยอมออกกลางคัน ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อการปฏิบัติโดยมีความเชื่อมั่นว่าตนทำได้เป็นเบื้องหน้า มีความเชื่อมั่นต่อตัวอย่างว่ามีพระอริยบุคคลทั้งหลายก็เคยดำเนินตามเส้นทางนี้มามากแล้ว เราเพียงแต่เดินตามเส้นทางนี้ให้ถึงที่สุดเท่านั้นก็จะถึงที่หมายตามที่พระอริยบุคคลทั้งหลายถึงเช่นกัน

สตินทรีย์ ความตื่นตัวอยู่เสมอ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม การปรับอินทรีย์อื่นๆ ให้ทำงานได้เต็มที่ การรักษาความสม่ำเสมอของอินทรีย์อื่นๆ ดุจดังการจับพวงมาลัยให้เลี้ยวไปตามถนนที่มีทางโค้งบ้าง ทางตรงบ้าง ทางเบี่ยงบ้าง หลุมบ้าง สิ่งกีดขวางบ้าง เมื่อมีเหตุการณ์ใดเกิดระหว่างทางก็พร้อมที่จะชะลอความเร็ว พร้อมที่จะทดเกียร์ พร้อมที่จะพิจารณา สติจึงเป็นเหมือนตัวกำกับให้รถแล่นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ดับ ไปถึงเป้าหมายอย่างปลอดภัย


สมาธินทรีย์ การทำหน้าที่ทรงความใสสะอาด ความเที่ยงตรง ความสม่ำเสมอ ความเสถียร การรักษาระดับ ความนิ่ง การคงไว้ของสติ ความแจ่มกระจ่าง สมาธิเป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้ง แปลเป็นภาษาไทยได้ไม่ตรงกับอรรถของการปฏิบัติ ภาษาไทยแปลว่า ความตั้งใจมั่น ตามศัพท์แปลว่า การทรงไว้ให้สม่ำเสมอ แต่อรรถของการปฏิบัติก็คือ การรักษาระดับความนิ่งของจิตที่มีความตื่นตัวนั้นไว้

ถ้าจะเปรียบกับการใช้ไฟเผาแก้วให้เป็นรูปต่างๆ ไฟต้องนิ่ง ไฟต้องได้ระดับ ความร้อนต้องได้พอเหมาะพอดี เมื่อความร้อนต้องพอดี แก้วจึงจะออกมาเป็นรูปตามที่ต้องการ ถ้าไฟร้อนมากไปก็ละลายไป น้อยไปก็ไม่พอกับการขึ้นรูป หรือเปรียบกับการสีไฟจุดไฟโบราณ ต้องรักษาความเที่ยงของการสีไม้ให้ร้อนสม่ำเสมอ ความร้อนจึงจะได้ที่ทำให้ไฟลุกได้ นี่เรียกว่า สมาธิ สมาธิมิใช่ฌาน ฌานมิใช่สมาธิ สมาธิมิใช่สงบใจ สงบใจมิใช่สมาธิ สมาธินทรีย์คือความเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่รักษาสภาพสมดุลไว้อย่างเต็มที่ พอเหมาะพอดี


ปัญญินทรีย์ การเห็นแจ้งในสัจธรรม การเข้าใจธรรมชาติ การเห็นอริยสัจ อันได้แก่ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางนำไปสู่ความดับทุกข์ การเห็นแจ้งในไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตา เปรียบดังเช่น การเปิดไฟในห้องที่มืด หงายของที่คว่ำ คลี่ออกซึ่งม้วนภาพ เป็นต้น ไม่สงสัย ไม่มีคำถาม แจ่มแจ้งด้วยปัญญาของตน ปัญญาในที่นี้มิใช่ความเข้าใจที่ตรองเอาตามตรรกะ ไม่ใช่ปัญญาที่รู้แบบนักปรัชญา นักวิชาการ แต่เป็นปัญญาในองค์ธรรมแห่งอินทรีย์ที่สามารถทำลายความมืด คือ อวิชชา

โศลกว่า “ทุกอินทรีย์มีส่วนขัดขวาง มีส่วนสนับสนุนการปฏิบัติทั้งสิ้น” องค์ธรรมแห่งการปฏิบัตินี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ละอินทรีย์ก็เป็นใหญ่ในการทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติธรรมของพระโยคาวจรทั้งหลาย แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าหากการทำงานของอินทรีย์ข้อใดข้อหนึ่งมากเกินไป ก็ทำให้เกิดข้อเสียได้ เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติได้ ดุจดังการรับประทานตัวยาที่ดี แต่รับประทานไม่เหมาะสมกับธาตุภายในร่างกาย ก็ทำให้เป็นโทษต่อร่างกายได้


ความมั่นใจถ้ามากเกินไปก็ทำให้กระทำโดยไม่ดูกำลัง ไม่ดูความพร้อมของจังหวะและเวลา ดุจดังการทำงานของคนที่มั่นใจตนเองเกินไป ก็ทำให้องคาพยพเดินตามไม่ได้ ถ้าหากมีความเพียรมากเกินไปก็ทำให้เกิดความเพลีย การอาการง่วง เกิดอาการรวนได้ ถ้าหากมีความมุ่งมั่นมากเกินไปก็ทำให้เกิดความเครียดได้ เส้นประสาททั้งหลายตึงได้ ประสาทชะงักได้ ถ้าหากมีปัญญามากไปก็ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านได้


แต่สตินั้นยิ่งมีมากกลับยิ่งดี เพราะสติเป็นตัวทำให้อินทรีย์ตัวอื่นทำงานได้อย่างพอเหมาะ พอดี ถ้าสติอ่อน อินทรีย์แต่ละตัวจะทำหน้าที่ได้ไม่เต็มกำลัง เหมือนกับคนขับรถ ถ้าคนขับไม่มีสติเสียแล้วก็ทำให้รถเสียหลักได้ง่าย พลาดตกทางได้ง่าย เพราะฉะนั้นพึงรักษาสติไว้ให้ดี พึงตื่นตัวอยู่เสมอ พึงรู้สึกตัวทั่วพร้อมตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้อินทรีย์ก็จะกลับกายเป็นพลังขึ้นมาได้ง่าย


โศลกว่า “ค่อยปรับระดับอินทรีย์ใหม่” เป็นปกติสำหรับการบำเพ็ญเพียรสมณธรรมกับการเกิดอาการเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวมีสติแจ่มใส เดี๋ยวพร่ามัว เดี๋ยวสงบเย็น เดี๋ยวอึดอัดขัดข้อง อันเกิดจากความไม่ชำนาญในการปรับอินทรีย์ ผู้ชำนาญในการปรับอินทรีย์จึงสามารถบำเพ็ญเพียรสมณธรรมได้ดั่งที่ประสงค์ แม้จะมีเหตุปัญหาในการทำหน้าที่ของอินทรีย์ก็สามารถมีวิธีปรับอินทรีย์ได้อย่างรวดเร็ว ดุจดังคนที่ขับรถชำนาญ แม้รถเกิดอุปสรรค์ในการขับขี่ก็ไม่ตกใจ ไม่ท้อแท้ ไม่หงุดหงิด พร้อมที่จะไล่เกียร์ขึ้นไปใหม่ เป็นปกติของการขับรถ เร่งไปอย่างเดียวมีหวังเครื่องพัง ในที่สุดก็ต้องซ่อมและยกเครื่องใหม่

การบำเพ็ญเพียรสมณธรรมก็เช่นกัน ต้องรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว รู้จักให้กำลังใจตน รู้จักประคองในกาลอันควรประคองจิตให้มีกำลัง รู้จักเร่งในขณะที่พึงเร่งบำเพ็ญ หลายคนตั้งใจมากเกินไปจนทำให้บรรยากาศในการบำเพ็ญเพียรสมณธรรมไม่เป็นธรรมชาติ ความตั้งใจมากเกินไปก็ทำให้เร่งเร้าความเครียดขึ้นได้ พอไม่สามารถทำได้ตามที่ตั้งใจก็ทำให้เลิกล้มความตั้งใจได้ง่าย อีกทั้งความตั้งใจมาก จากฉันทะก็จะกลับกลายเป็นความอยากได้ ด่วนได้ตามใจ บารมีต้องรองรับเอาทีละเล็กทีละน้อยค่อยๆ สะสมจนกว่าจะเต็มเปี่ยมในที่สุด




นี่คือ โศลกที่สิบห้าแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา