สิบสองปันนา : มิติธุรกิจวัฒนธรรม
ผศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์
ประธานสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา
ทางเลือกที่รอดยาก
เมื่อยุคสมัยผ่านไป ระบอบคอมมิวนิสต์คลายความเข้มงวดลง ศาสนาและวิถีวัฒนธรรมของชาวไทลื้อสิบสองปันนาก็กลับฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง สิบสองปันนาเปิดตัวให้กับโลกภายนอกมากขึ้น คนไทยเชื้อสายไทยลื้อจากเมืองไทยก็ไปมาหาสู่ชาวไทลื้อสิบสองปันนาในฐานะที่เป็นเสมือนชนร่วมสายบรรพบุรุษเดียวกัน หลังจากที่จีนและประเทศโลกได้รับวัฒนธรรมแนวใหม่คือ ระบอบทุนนิยมมาใช้ วัฒนธรรมของชาวไทลื้อสิบสองปันนาเริ่มถูกกระทบและถูกทำลายไปเรื่อยๆ เป็นภัยเงียบทางวัฒนธรรมที่ไม่มีผู้ใดคำนึงถึง เพราะทุกฝ่ายอ้าแขนรับและนำเข้ามาเองอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความเจริญแบบทุนนิยมได้รับการยอมรับว่าเป็นความเจริญของคุณภาพชีวิต คือ การอยู่ดี กินดี มีเงินใช้ จึงไม่มีผู้ใดต่อต้านขัดขืน
วัฒนธรรมใหม่ทะลักเข้าสู่สิบสองปันนา
ปัจจุบันเชียงรุ่ง รุ่งเรืองทันสมัยสมชื่อ มีถนนตัดใหม่ ทันสมัย บนถนนเต็มไปด้วยรถมากมาย อาคารร้านค้าสองข้างทางล้วนทันสมัย มีโรงแรมระดับสี่ดาว มีความสะดวกสบายกว้างขวางไว้บริการ สาวเชียงรุ่งรุ่นใหม่เดินกันขวักไขว่มีทั้งสายเดี่ยว กระโปรงสั้น จนแทบจะมองไม่เห็นคนนุ่งซิ่นตามแบบฉบับของชาวไทลื้อ เมืองศูนย์กลางแห่งสิบสองปันนาในวันนี้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วไม่ต่างอะไรกับเมืองอื่นๆ ในประเทศจีน อาคารพานิชย์น้อยใหญ่ผุดขึ้นหลายแห่ง บริเวณในเมืองเป็นที่อยู่ของชาวจีนที่เข้ามาค้าขายสินค้า บางแห่งริมทางเท้าจะเห็นหญิงสาวในชุดไทลื้อ นุ่งผ้าถุงยาวสวมเสื้อแขนกระบอกเดินสวนกับสาวชาวจีนในชุดกระโปร่งสั้น สวมถุงน่องและรองเท้าส้นสูง การผสมผสานระหว่าง "ความใหม่" กับ "ความเก่า" อันนำไปสู่การเปรียบเทียบถึงความทันสมัยกับล้าสมัยในที่สุด
การดำรงอยู่ของกลุ่มชนชาว "ไทลื้อ" ในท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมของชนชาวจีนที่เน้นเรื่องความเจริญทางด้านเศรษฐกิจในเมืองสิบสองปันนาที่ผสมผสานปนเปกับวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ยิ่งนับวันชาวไทลื้อก็กำลังจะกลายเป็นชนชาติส่วนน้อยในจีนและบ้างก็เป็นผู้พลัดถิ่นในดินแดนไทยและพม่า หรือแม้แต่ความเป็นชาวไทลื้อก็เป็นชาวไทลื้อที่มองไม่ออกอีกต่อไป กล่าวคือไม่หลงเหลือสัญลักษณ์ให้ภาคภูมิใจได้อีกต่อไป แม้กระทั่งภาษาที่เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่สามารถสื่อกับคนไทยได้ แต่ต่อไปภาษาจะถูกภาษาจีนเข้ามามีอิทธิพลเหนือกว่าอันเนื่องมาจากการค้าและการท่องเที่ยวนั่นเอง ดูจากป้ายร้านค้าและป้ายถนนหนทาง บอกด้วยภาษาจีนเกือบทั้งหมดแล้ว ยกเว้นแต่ผู้นำของสิบสองปันนาจะพยายามรักษาไว้โดยเป็นกฎของแคว้นปกครองพิเศษของสิบสองปันนาเท่านั้น
การกลืนทางวัฒนธรรม
ลักษณะของการหลอมสลายทางวัฒนธรรมเช่นนี้เกิดขึ้นกับทิเบต จิตวิญญาณแห่งความเป็นทิเบตกำลังจะหายไปเมื่อมีการสร้างทางรถไฟและกำลังสร้างความเจริญเข้าไปเพื่อให้ทุกคนหลั่งไหลเข้าไปท่องเที่ยวทิเบต ที่สำคัญได้มีการยักย้ายถ่ายเทนักธุรกิจเข้าไปลงทุนด้านต่างๆ ในทิเบตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยว มองไปทางไหนก็พบกับตึก อาคาร สถานที่ที่ให้บริการเกี่ยวกับความสะดวก การค้า การเงิน และแห่งสำหรับดึงเงินจากกระเป๋านักท่องเที่ยวให้ได้ การได้มาซึ่งเงินทองกลายเป็นปัจจัยหลักสำหรับการคิดของผู้บริหารทิเบต แต่ลืมไปถึงจิตวิญญาณแห่งทิเบตที่สั่งสมมานานนับพันปีกำลังหายไป จิตวิญญาณที่เกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เกิดจากการบำเพ็ญเพียรปฏิบัติของชาวพุทธทั้งหลายกำลังจะหายไป สิ่งที่เกิดขึ้นมาก็คือ การแสดงโชว์ให้ชาวต่างชาติเห็นถึงวิถีชีวิต พระลามะออกมาทำสังฆกรรมเพื่อให้ชาวต่างชาติได้เห็น การแสดงของพระลามะที่มีรอบในแต่ละวัน จิตวิญญาณที่แท้จริงกำลังจะหายไป มองไปทางไหนก็จะเห็นแต่ผู้อยู่เบื้องหลังที่กำลังใช้วัฒนธรรมอันดีงามตามความเป็นจริงมาเป็นเครื่องมาแสวงหากำไรทางธุรกิจ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเชิงพุทธภายใต้ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ธุรกิจการแพทย์
อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นประสบการณ์ในการไปสิบสองปันนาครั้งนี้ นั่นก็คือการค้าบนสุขภาพของมนุษย์ เรียกง่ายๆ ว่า “ธุรกิจการแพทย์” สิ่งนี้กำลังระบาดในประเทศจีนโดยทั่วไป ธุรกิจนี้ใช้จุดอ่อนของมนุษย์เข้ามาเป็นข้อต่อรองทางจิตวิทยา สมมติมีคนที่เข้ารับการตรวจโรค ๑๐ คน ทุกคนต้องเป็นโรคหมด เพราะอย่างน้อยก็ต้องเคยเป็น เช่นเป็นหวัด ไอ ภูมิแพ้ เจ็บเนื้อเจ็บตัว เลือด กระเพาะ ความดัน หัวใจ ฯลฯ ไม่โรคใดก็โรคหนึ่ง แม้กระทั่งหมอที่ตรวจก็เป็น ยิ่งเป็นการตรวจโรคแบบภูมิปัญญาจีน คือ ตรวจสอบการทำงานของธาตุ ๔ ผ่านทางชีพจร ก็ยิ่งไม่รอดพ้นไปได้ คนๆ หนึ่งเป็นไม่น้อยกว่า ๓ โรค แล้วหมอก็จะตั้งคำถามว่า คุณจะรักษาโรคไหนบ้าง โรคละประมาณ ๑๕๐๐ บาท เป็นอย่างต่ำ จิตวิทยานี้ได้ผลมาก เพราะทุกคนก็ต้องการให้ตนเองไร้โรคภัยไข้เจ็บ ก็ต้องซื้อยาสมุนไพรจีนทานตามใบคำสั่งยา บางคนไม่ได้เตรียมเงินไปมาก ก็ต้องตัดใจรักษา เนื่องจากเป็นเหมือนบรรยากาศถูกล๊อบบี้ทางจิตวิทยาการแพทย์ รอบข้างจะมีหมออยู่ถึง ๓ – ๔ คน ไม่เลือกเอาสักโรคก็คล้ายกับไม่ให้เกียรติหมอที่ทำการตรวจโรคให้แล้ว และเชื่อแน่ว่า ถ้าหากมีการบอกกันไว้ว่า ให้ศึกษาอย่างเดียวยังไม่ต้องรักษา ก็คงได้รับคำตำหนิจากหน่วยแพทย์ที่นั่นที่คงต้องการเงินจากนักท่องเที่ยวแน่นอน นี่แหละคือ วัฒนธรรมธุรกิจการแพทย์ ซึ่งเป็นอิทธิพลของแนวคิดภายใต้ระบบทุนนิยม
ไตลื้อฤาเป็นเหยื่อ
การบริหารพัฒนาประเทศเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง มิฉะนั้นรากฐานภูมิปัญญาต่างๆ ที่บรรพบุรุษเคยสั่งสมมาจะถูกแปรเปลี่ยนไปด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งที่ล้าหลัง ไม่ทันสมัย แล้ววัฒนธรรมทุกอย่างจะถูกทดแทนด้วยแนวคิดระบบทุนนิยม นำสิ่งที่เรียกว่า ความใหม่เข้ามาโดยไม่คำนึงถึงมิติวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณ บางครั้งความสูญเสียทางจิตวิญญาณนี้ไม่สามารถวัดเป็นมูลค่าได้ จากที่ได้ไปเห็นดินแดนสิบสองปันนา ลองนึกย้อนไปถึงวิถีชีวิตที่มีความเป็นชาวบ้านไทลื้อ มีความเอื้ออาทร มีระบบวัฒนธรรมแบบชนเผ่าหนึ่งที่อาศัยกันและกันอยู่ ตามสำนวนภาษาทางเหนือว่า “พิกบ้านเหนือ เกือบ้านใต้” หมายความว่า อยากได้พริกก็ได้จากบ้านทางเหนือ อยากได้เกลือก็ได้จากคนที่อยู่บ้านทางใต้ แบ่งปันกันโดยไม่คิดว่านั่นต้องคิดเป็นเงินเป็นทองทุกอย่าง แต่มาบัดนี้ สภาพความเป็นชาวบ้านไทลื้อกำลังจะหายไป จะเห็นแต่นักธุรกิจมีหน้าตาที่บ่งบอกถึงเรื่องของเงินทอง กำไร ขาดทุนเท่านั้น
ระวังพุทธทุนนิยม
สำหรับพระพุทธศาสนาก็เป็นพระพุทธศาสนารูปแบบใหม่ตาม เริ่มเป็นพระพุทธศาสนาเถรวาทที่อยู่ภายใต้ความคิดแบบระบบทุนนิยม ไม่เพียงแต่พระพุทธศาสนาเท่านั้น วัฒนธรรมทุกประเภทจะถูกนำมาวางไว้แล้วคิดบนฐานทุนนิยม คิดเป็นกำไร ขาดทุนทั้งหมด แม้แต่เรื่องของสุขภาพของมนุษย์ก็จะกลายเป็นระบบการค้า ด้วยคำพูดที่อาจเป็นได้ว่า “คุณมีเงินเท่าไร ฉันก็จะมอบโรคให้คุณเท่านั้น” บุคคลที่เดินเข้าไปศึกษาจะถูกคิดเป็นราคา เป็นทุนทรัพยากรทางเศรษฐกิจหมดนี่คือ ระบบวัฒนธรรมทุนนิยม
พุทธปัญญา
การจะรับมือกับระบบนี้ก็ต้องทำการศึกษาก่อน คือการรู้ทันวัฒนธรรมทุนนิยม ใช้พุทธปัญญาที่เกิดจากสัมมาทิฏฐิ แน่นอนไม่มีอะไรดี อะไรไม่ดีไปเสียทั้งหมด ให้ใช้ระบบปฏิวัติ (Revolution) ปฏิรูป (Reformation) และบูรณาการ (Integration) ตามแนวที่พระพุทธศาสนาเคยใช้มาแล้ว เมื่อครั้งเกิดขึ้นใหม่ในสังคมอินเดีย เมื่อครั้งเข้าไปเจริญในจีน และเข้าไปเผยแผ่ในประเทศตะวันตก เมื่อฐานคิดเป็นสัมมาทิฏฐิก่อนแล้วจากนั้นก็สามารถดำเนินต่อไปได้ แต่ถ้าฐานคิดไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อนั้นก็จะทำให้วัฒนธรรมที่สร้างขึ้นเป็นวัฒนธรรมที่บิดเบี้ยว (Twisted Culture) และจะได้รับการปกป้องด้วยบุคคลที่มีสายตาบิดเบี้ยวเหล่านั้นซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ดุจดังการวัดความงอ ด้วยความงอ ก็จะไม่มีวันตรงได้