วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554
อุปสรรคแห่งความดี
โศลกที่หก "อุปสรรคแห่งความดี"
กำหนดจิตนอนค่อนยามหนึ่ง
นาฬิกาภายในกายยังไม่นิ่ง
บอกเวลายังไม่ตรง
ตื่นก่อนกำหนดสองรอบ
กำหนดจิตนอนต่ออีก
ช่วงแห่งการทดสอบความตั้งใจมาถึง
มีสิ่งกดทับ ขยับไม่ได้ หายใจไม่ออก
พระรัตนตรัยคือที่พึ่งที่ดีที่สุด
แล้วทุกอย่างก็ผ่านไป
จิตได้ทำหน้าที่ของตนในการควบคุมทุกอย่างที่เป็นคนๆ หนึ่งอย่างเบ็ดเสร็จ จนกลายเป็นว่า คนๆ นั้นไม่สามารถทราบได้ว่า แท้จริงการกระทำของตนนั้นเป็นตนต้องการกระทำจริงๆ หรือ? บางครั้งอาจมีความรู้สึกว่า ตนไม่ได้อยากกระทำเช่นนั้นเลย แต่ทำไมจึงทำลงไปได้ นั่นก็เพราะอำนาจของจิตที่มีอำนาจเหนือการควบคุมของตนเอง ไม่อาจต้านทานอำนาจสั่งการของจิตได้ สำหรับกับบางคนไม่มีแม้กระทั่งความรู้สึกเช่นนี้ในการสำนึกถูกผิด ก็เพราะเขาเข้าใจว่า ทุกอย่างนั้นเป็นตัวเขาเองทั้งหมดที่ทำ ทุกเรื่องทุกอย่างที่ทำไปจะถูกลบล้างไปด้วยเหตุผลอันสมควรกระทำทั้งสิ้น การกระทำที่นับตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาจนกระทั่งถึงหลับไปอีกครั้ง การกระทำที่เริ่มตั้งแต่มีชีวิตจนจบชีวิต
จะมีใครบ้างเข้าใจการทำงานของจิตที่มีพลังควบคุมให้ร่างกายได้กระทำทุกเรื่องราวลงไป เนื่องจากทุกกระกระทำล้วนกลายเป็นผลงาน กลายเป็นหน้าที่ กลายเป็นกิจกรรมของชีวิต กลายเป็นผลิตผลเกิดขึ้นในโลก ไม่แปลกเลยที่นักคิดพากันเข้าใจสรุปลงในที่สุดว่า ทุกอย่างเกิดจากจิต ทุกอย่างสะท้อนออกมาจากจิตนี่เอง (Mind Only) การที่ยินยอมรับสภาพเช่นนี้ก็เท่ากับยินยอมผูกมัดตนเองให้อยู่ในสังสารวัฏนี้อย่างไม่มีการขัดขืน
ในยามใดก็ตามที่กายไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของจิต จิตจะมีปฏิกิริยาต่อกายทันที โดยการสร้างชุดเหตุผลเข้าไปกล่อมเกลาตนว่า การกระทำนั้นไม่ถูกต้อง เป็นความเถื่อนดิบ ไม่มีอารยธรรม ไม่เป็นไปตามคำสอนที่เคยบันทึกเอาไว้ แล้วในที่สุดก็ประณามการกระทำของกายที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องทางเพศ เพราะในขณะที่ความต้องการทางกายรุกเร้าเต็มที่ จิตไม่สามารถควบคุมได้ จนกระทั่งกามกิจจบลง นั่นจะถึงเวลาสำนึกอีกครั้ง จิตเข้ามาทำหน้าที่ ไม่น้อยที่นึกเสียใจต่อการกระทำอันเนื่องมาจากไม่อาจขัดขืนพลังกาย
หากใครก็ตามเข้าใจการทำงานของจิตได้ถูกต้อง แท้จริง ก็จะไม่แปลกใจและสงสัยการทำงานของจิต อีกทั้งยังสามารถหาประโยชน์จากระบบการทำงานของจิตได้อีก การทำงานของจิตมีความเที่ยงตรง เป็นระบบ มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน มีเส้นทาง มีวิถีของจิตเองทั้งหมดขั้นตอนนี้มี ๑๗ ขณะ เริ่มจากการทำงานของภวังคจิต ๓ ขณะ มโนทวาร ๑ ขณะ ปัญจทวารช่องใดช่องหนึ่ง ๑ ขณะ การรับรู้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง รวมเป็น ๓ ขณะ การเข้าไปปรุงแต่งเสพเสวยอารมณ์นั้นๆ ๗ ขณะ การจัดส่งไปสู่ภวังคจิตอีก ๒ ขณะ นี่คือกฎของจิตเรียกจิตนิยาม หากสามารถเข้าใจการทำงานของจิตเช่นนี้ก็สามารถเข้าใจว่า แท้จริงแล้วเรากับจิตหาใช่สิ่งเดียวกันไม่ และเราก็หาได้มีไม่ มีแต่การแสดงออกมาจากขันธ์ ๕ นี้เท่านั้น เมื่อเข้าใจเช่นนี้ก็สามารถแยกแยะการทำงานของจิต ดูการทำงานของจิตไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของจิตได้อีก
โศลกที่ว่า “กำหนดจิตนอน” ผู้ที่เข้าใจการทำงานของกายและจิตสามารถกำหนดจิตนอนและก็สามารถกำหนดจิตตื่นได้ เป็นการบอกต่อตนเองว่าต้องการตื่นนอน ต้องการหลับในเวลาที่กำหนดไว้ ผู้ปฏิบัติทั้งหลายมักใช้นาฬิการ่างกายในการทำหน้าที่ จิตจะสั่งการให้ตื่นภายในเวลาที่กำหนดไว้ จิตที่มีกำลังจะมีอำนาจสั่งการได้ ดูจากการสั่งการของผู้มีอำนาจทั้งหลายสามารถสั่งผู้อื่นให้กระทำได้ด้วยวาจา ด้วยน้ำเสียง ด้วยท่าทาง อย่าว่าแต่จิตนี้สั่งการแม้กระทั่งร่างกายของตนภายในได้ด้วย เมื่อจิตสั่งการ นาฬิการ่างกาย (Body Clock) ก็เริ่มทำงานกำหนดเวลาไว้
ตามหลักสรีรศาสตร์ ร่างกายนี้มีต่อมต่างๆ ในการควบคุมร่างกายเป็นจำนวนมาก ต่อมเหล่านี้ทำงานทั้งที่เป็นแบบปกติและแบบผิดปกติ แบบปกติก็คือต่อมย่อยอาหาร หรือต่อมป้องกันเชื้อโรค แต่ที่ทำงานในขณะที่ผิดปกติ เช่น ในขณะตกใจสุดขีด กลัวสุดขีด สุขสุดขีด ปีติสุดขีด ต่อไร้ท่อจะทำงานในการหลั่งสารออกมา ต่อมเหล่านี้มีทั้งเป็นคุณและเป็นโทษต่อร่างกาย มีทั้งควบคุมจังหวะคอยสั่งการให้ร่างกายเคลื่อนไหวเป็นไปในลักษณะต่างๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน อีกทั้งต่อมเหล่านี้จะทำงานตามเวลาของตนอีกด้วย ถ้าใครเข้าใจช่วงจังหวะการทำงานของต่อมเหล่านี้ ก็ย่อมรู้จักระมัดระวังชีวิต ระวังสุขภาพ สามารถควบคุมการทำงานของกายได้ สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากร่างกายได้
โศลกว่า “มีสิ่งทดสอบความตั้งใจ กดทับขยับไม่ได้หายใจไม่ออก” การกังวลมากเกินไป ความตั้งใจมากเกินไป ความเมื่อยล้าเกินไป ความเครียดเกินไป การสั่งกายให้ทำงานหลายจังหวะ การนอนผิดเวลาและการตื่นผิดเวลา ปัจจัยเหล่าสิ่งนี้ประจวบเหมาะกันเข้าจึงเกิดอาการที่เรียกกันที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ถูกผีอำ” การสั่งจิตให้ทำงานบ่อยครั้ง จิตได้ควบคุมกาย แต่ไม่สามารถควบคุมการทำงานได้ครบทุกส่วน ควบคุมได้แต่ความรู้สึก แต่ไม่สามารถเข้าไปครองประสาทกายทั้งหมดได้ การประสานกันของสภาพชีวเคมีของร่างกายกับเจตภูติในกายไม่สมดุลกันอันเกิดมาจากจิตควบคุมเกินไป ด้วยเหตุนี้ทำให้กายส่วนหนึ่งไม่พร้อมที่จะทำงานจึงเกิดอาการดิ้นไม่ได้ หายใจไม่สะดวก พูดไม่ได้ แต่กลับมีความรู้สึกตัวอยู่ ในยามนี้เป็นลักษณะของการขาดห้วงแห่งรูปและนาม การขาดนี้ถ้าเป็นถาวรก็คือ การสิ้นชีวิต เมื่อเกิดอาการนี้ขึ้นคนส่วนมากล้วนตกใจเพราะเกรงว่าตนจะได้รับอันตราย หรือต้องสิ้นชีวิตไป เพราะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ทั้งนั้น ดุจดังการถูกกดไว้ใต้น้ำ พยายามดิ้นแต่ไม่สามารถดิ้นได้ ไม่นานรูปและนามก็อาจจะขาดจากกัน
ในขณะที่เกิดปรากฏการณ์นี้ สติเป็นอาวุธสำคัญที่สุด ต้องตั้งสติ ค่อยๆ ไล่เลียงดูจิตให้ทำงานไปทุกส่วนอย่างช้าๆ ใช้สติเข้าไปกำหนดจิตให้เข้าไปทำงานควบคุมกาย ในขณะที่มีความรู้สึกนี้ คนจำนวนมากมักนึกถึงสิ่งที่เคารพนับถือบูชา สวดมนต์ภาวนาให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ช่วยเหลือให้อาการนี้หายไป เมื่อตกใจตื่นขึ้นในอีกไม่กี่นาทีต่อมาเกิดอาการเหนื่อยหอบ ร้องไห้ หอบเหนื่อย หน้าซีด ตัวสั่น หรือแสดงอาการตกใจกลัวอื่นๆ นอกจากนั้นในขณะที่เกิดอาการเช่นนี้ จิตยังได้สร้างมโนภาพอันน่ากลัวขึ้นมาอีกในช่วงนี้อีก ไม่ว่าจะเป็นยมทูต ภูตผีปีศาจ เปรตอสุรกายทั้งหลายเข้ามากดทับจะทำร้าย เพราะเป็นความเคยชินของมนุษย์ที่ถูกประสบการณ์ของการถูกรัดไม่อาจดิ้นได้ ช่วยตนเองไม่ได้ก็ย่อมเข้าใจว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาทำให้เป็น อาจถึงความตายได้จึงต้องไขว่คว้าถึงสิ่งยึดเหนี่ยว
อย่างไรก็ตาม ยังมีธรรมชาติอีกมากที่มนุษย์ไม่อาจเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ ทฤษฎีที่อธิบายในแง่ของวิทยาศาสตร์ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของเรื่อง สิ่งที่เป็นนอกเหนือจากการอธิบายด้วยเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์นั้นมีอยู่ อย่าได้ปฏิเสธอย่างสุดโต่งไปเสียส่วนเดียว พึงพิจารณาให้ดีว่า การทำความดีนั้นไม่ว่าจะมากจะน้อยเพียงใด ก็จะเริ่มมีอุปสรรคขัดขวางเพื่อให้คนไม่บรรลุถึงความดีนั้นได้ง่าย สังเกตจากการฝึกนั่งสมาธิ เพียงแค่จะเริ่มทำก็จะเริ่มหาวทันที ทั้งที่อยู่เป็นวันก็ไม่หาว ไม่ง่วง ไม่กระสับกระส่าย ไม่อึดอัด นั่นก็เพราะมีสิ่งที่เข้ามาขัดขวางการทำความดีที่เรียกว่า นิวรณ์ หรือแม้แต่บางคนจะไปทำบุญ ก็หาเวลาว่างไม่ได้สักทีผ่านวันเวลาไปนานนับเดือนก็หาโอกาสไม่ได้ นั่นก็เพราะการทำความดีนั้นต้องผ่านการตัดสินใจอย่างแน่วแน่ การเข้าปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ไหนเลยจะไม่มีสิ่งใดทดสอบความตั้งใจที่แท้ ยิ่งบุคคลใดที่มีเริ่มตั้งใจบำเพ็ญบุญญาบารมี ก็จะต้องผ่านอุปสรรคหลากหลายรูปแบบ อุปสรรคหนึ่งก็คือ เทวปุตตมาร เป็นเทพผู้มาทดสอบความตั้งใจ ทดสอบบารมี ทดสอบความสามารถผ่านด่านขัดขวางเบื้องต้นอย่างนี้ได้หรือไม่
โศลกที่ว่า “พระรัตนตรัยคือที่พึ่งที่ดีที่สุด แล้วทุกอย่างก็ผ่านไป” บุคคลใดก็ตามเมื่อตั้งตนไว้ชอบ มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอันสูงสุด ไม่มีที่พึ่งใดอื่นยิ่งกว่าแล้ว ไม่ว่า อุปสรรคน้อยใหญ่ใดๆ ก็ไม่อาจทำลายเกราะแก้วกำแพงแห่งพระไตรรัตน์นี้ได้ เพราะพระพุทธเจ้าเป็นครูแห่งเทวดา มาร พรหม ทั้งหลาย พระธรรมเป็นสัจธรรมคำสอนของพระองค์ พระสงฆ์ คือ พระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามธรรมอันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น การระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยอยู่สม่ำเสมอก็จะพ้นจากมารภัยทั้งหลายในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดได้ อย่างได้พรั่นพรึงต่อกิเลส มาร ภัยเหล่านั้น
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการต่อสู้กับอุปสรรคทั้งหลาย ก็คือ การมีเมตตาวุธ กรุณาวุธ และปัญญาวุธ อาวุธเหล่านี้ไม่ได้ใช้ประหัตประหาร แต่ใช้สำหรับแผ่ไปถ้วนหน้า ให้สรรพสัตว์ได้รับผลแห่งบุญที่ปฏิบัตินั้น อย่าได้ท้อถอยละทิ้ง กระทำเบาในบุญบารมี อุปสรรคแห่งความดีเป็นมาตรวัดในสิ่งที่กำลังดำเนินปฏิบัติไป
นี่คือ โศลกที่หกแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)