วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552

อาหารอัตตา

บทความ
“อาหารแห่งอัตตา”
ดร.สุวิญ รักสัตย์
ประธานสาขาพุทธศาสน์ศึกษา
เลขานุการกรรมการบริหารหลักสูตรศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต


ความนำ
ชีวิตมีอะไรซับซ้อน ยากที่ใครจะเข้าใจได้อย่างแจ่มชัด แม้กระทั่งเป็นชีวิตของตัวท่านเองก็ตาม ต่อคำถามเหล่านี้ว่า ชีวิตเป็นมาอย่างไร ชีวิตดำเนินไปอย่างไร และชีวิตจะสิ้นสุดได้อย่างไร ปัจจัยอะไรที่ทำให้ชีวิตดำเนินไป ปัจจัยอะไรทำให้ชีวิตสิ้นสุดลง และอะไรเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต ท่านเข้าใจชีวิตดีพอหรือยัง ไม่แน่นักว่าจะตอบคำถามนี้อย่างมั่นใจ
คำตอบง่ายๆ หากจะมีผู้ตอบว่าเพราะเรายังมีลมหายใจและมีอาหารหล่อเลี้ยงชีพ นี่เป็นปรากฏการณ์ต่อชีวิตที่เห็นกันอยู่โดยทั่วไป แต่จะมีใครเข้าไปทราบมากกว่านั้นว่า เหตุใดลมหายใจจึงมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต และเหตุใดอาหารจึงเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต ในบทความนี้จะยังไม่กล่าวถึงบทบาทและความสำคัญของลมหายใจที่มีผลต่อชีวิต แต่จะกล่าวถึงอาหารที่มีอิทธิพลต่อชีวิต ลองพิจารณาดู เวลาของชีวิตเกือบทั้งชีวิตหมดไปกับการแสวงหาอาหารและบริโภคอาหาร นี่กล่าวเพียงเฉพาะอาหาร (Food) ที่เป็นสารอาหาร (Nutrition) เท่านั้น ยังไม่ได้รวมถึงอาหารประเภทอื่นๆ ที่ผู้คนยังไม่ทราบ และยังไม่ได้ให้ความสนใจอีก ถ้ารวมประเภทอาหารทั้งหมดแล้ว ชีวิตมิใช่อะไรอื่น แต่หากเป็นขันธ์ที่เคลื่อนไปได้ด้วยกระบวนการแห่งการกินอาหารเท่านั้นเอง
ในสัมมาทิฏฐิสูตรแห่งมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระสารีบุตรแสดงต่อภิกษุทั้งหลายว่า
พระอริยสาวกผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระสัทธรรม ก็ด้วยว่า พระอริยสาวกนั้นรู้ชัดอาหาร เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับอาหาร และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหาร จึงสามารถละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัยที่ว่า “เป็นเรา” (อัตตา) ละอวิชชาได้แล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันได้
จะเห็นว่า อาหารมีความสำคัญอย่างไม่น่าเชื่อ อาหารสามารถบ่งบอกถึงสัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นต่อชีวิตที่ถูกต้อง เพียงเข้าใจเรื่องอาหาร เหตุเกิดของอาหาร ความดับอาหาร และทางปฏิบัติเพื่อดับอาหาร ก็จะทำให้สิ้นทุกข์ในปัจจุบันได้ นอกเหนือจากนั้น พระสารีบุตรยังใช้เป็นคำถามนางชัมพุปริพาชิกา เมื่อครั้งที่นางปักกิ่งไม้หว้าประกาศโต้วาทะกับบัณฑิตและนักศาสนาทั้งหลายว่า อะไรชื่อว่าหนึ่ง คำตอบก็ได้แก่อาหาร ในสังคีติสูตร แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสารีบุตรเน้นย้ำให้เห็นในหมวดธรรมประเภทที่มีหนึ่ง ก็ได้แก่อาหาร เมื่ออาหารสำคัญอย่างนี้สมควรเข้าไปศึกษา เพื่อประโยชน์แห่งการเข้าใจชีวิต และสามารถทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

อาหารคืออะไร
อาหาร หมายถึง สิ่งที่นำเข้ามาเพื่อบริโภค สิ่งที่เป็นคุณเครื่องทำให้หมู่สัตว์ดำรงอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้ว หรือหมู่สัตว์ที่จะไปเกิดในภพต่อไป เป็นพลังส่งให้หมู่สัตว์ไปสู่สถานที่เกิดใหม่ เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตตราบเท่าที่วัฏจักรแห่งชีวิตยังไม่สิ้นลง โดยมากแล้วผู้คนสนใจแต่อาหารที่เป็นวัตถุอันยังร่างกายนี้ให้อยู่ได้เท่านั้น ต่างพยายามสรรหาสารอาหารนานาประการมาเพื่อบริโภค บำรุงร่างกายให้เจริญเติบโต ให้สารอาหารเข้าไปหล่อเลี้ยงส่วนที่สึกหรอ ยิ่งนับวันอาหารที่รับประทานเข้าไปยิ่งลดสารอาหารลงไป มีแต่สีสันที่ล่อให้คนติดกับดัก ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยมิได้ทานอาหาร แต่ทานความหรูหรา ทานองค์ประกอบแห่งอาหาร กินบรรยากาศแทนอาหาร จึงทำให้อาหารบางมื้อสร้างบ้านสำหรับคนจนได้หนึ่งหลังด้วยซ้ำไป
ผู้คนหาทราบไม่ว่า การทานอาหารของคนโดยทั่วไปนั้น เป็นเพียงการทานอาหารประเภทสารอาหาร ซึ่งเป็นอาหารทางวัตถุเพียงส่วนเดียวเท่านั้น เรียกว่าอาหารกาย ชีวิตยังต้องทานอาหารทางอื่นอีก ดังที่เราทราบว่าอาหารใจ ชีวิตทานอาหารใจมากกว่าอาหารกาย แต่คงไม่มีผู้ใดคำนึงถึงและไม่ให้ความสนใจ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะแม้ไม่ต้องแสวงหาอาหารใจ ไม่อดอยาก ไม่เป็นเหตุแห่งการสิ้นชีวิต ไม่ตาย แต่หารู้ไม่ว่า ก็เพราะไม่ได้ใส่ใจอาหารส่วนที่เหลือนั่นเองทำให้อัตตาอ้วนพี อัตตาจึงบริโภคได้อย่างหนำใจ เมื่ออัตตาอ้วนพี มีพลังมาก ไหนเลยจะฝืนอัตตา (อัสมิมานะ) ได้ นั่นเป็นสาเหตุไม่สามารถเห็นความเป็นอนัตตาแห่งชีวิตได้
ในพระพุทธศาสนากำหนดเรื่องอาหารไว้ดังนี้
๑. กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว
๒. ผัสสาหาร อาหารคือสัมผัส
๓. วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ
๔. มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือความจงใจ
ผู้คนทั้งหลายบริโภคอาหารทั้ง ๔ ประการอย่างไม่หยุดหย่อนแม้สักเพียงนาทีเดียว ด้วยเหตุนี้อัตตาจึงเจริญเติบโตข้ามภพข้ามชาติอย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อใดก็ตามหยุดให้อาหารเมื่อนั้นอัตตาก็สูญสลาย กลายเป็นเพียงการประชุมกันเข้าแห่งกองสังขาร อนัตตาจึงปรากฏ ก็อนัตตานั้นเป็นสภาวะที่จริงแท้ของชีวิต แต่ถูกอุปาทานเข้าหุ้มห่อ หล่อเลี้ยงด้วยอาหาร คือ ตัณหา ตัณหาจึงเป็นเหตุเกิดแห่งอาหาร เป็นที่มาของอาหาร เพราะมีความอยากจึงมีการแสวงหา เมื่อตัณหาดับ อาหารทั้งหลายก็หยุดลง อวิชชาก็ดับ วิชชาก็เกิด อัตตาก็สูญสิ้น อนัตตาก็ปรากฏ นี่คือความสิ้นไปแห่งทุกข์ ส่วนทางที่ทำให้สิ้นไปแห่งตัณหาได้มีเพียงทางเดียว ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น

อาหารแห่งอัตตา
พึงเข้าใจว่า อัตตาที่แท้ในพระพุทธศาสนานั้นไม่มี มีแต่อัตตาปลอม อัตตาที่เกิดจากความเข้าใจผิดหลงยึดว่า เป็นเรา ความเข้าไปถือมั่นว่า เป็นเรา อัตตานี้ก่อตัวขึ้นจากความไม่มีอะไรมาสู่ความมีอะไร อัตตานี้ประกอบกิจกรรมด้วยการคิดอยู่ตลอดเวลา มีความกล้าแกร่งขึ้นเรื่อยๆ
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกิเลส ๓ ตัว เป็นผู้ชักสร้างอัตตาขึ้นมา ได้แก่ อวิชชา ตัณหา และอุปาทาน แล้วผูกให้อัตตามีภพ มีชาติ ขึ้นหมุนเวียนไปอย่างหาเบื้องต้นและที่สุดมิได้ เปรียบเหมือนการนำน้ำตาลมาปั้นเป็นเชือก ก็เป็นรังแห่งสิ่งที่จะเข้ามาเกาะกินน้ำตาลนั้น อัตตาเมื่อปรากฏขึ้นกิเลสอื่นก็เข้ามาเกาะเกี่ยว ห่อหุ้มจนไม่สามารถเปลื้องออกได้
เมื่ออัตตามี อัตตาก็อาศัยอาหาร อาหารแห่งอัตตานี้ก็คือ อดีตและอนาคต อดีตและอนาคตจะหล่อเลี้ยงอัตตาให้อุดมสมบูรณ์ ที่กล่าวอย่างนี้เป็นเพียงอีกมิติหนึ่งของเวลาเท่านั้น การที่จะมีอดีตและอนาคตได้ก็เพราะตัวการสำคัญคือ ตัณหานั่นเอง ลองพิจารณาดู เฉพาะอาหารคือคำข้าวที่เป็นเพียงสาเหตุเดียวทำให้โลกปั่นป่วนอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะมนุษย์ต้องกิน ต้องบริโภค แต่มนุษย์มิได้กินหรือบริโภคอย่างเดียว มนุษย์ได้บริโภคตัณหาเข้าไปด้วย กล่าวคือ ความไม่รู้จักพอของมนุษย์ จึงมีพุทธศาสนสุภาษิตว่า นัตถิ ตัณหา สมา นที แม่น้ำมหาสมุทร ยังเปรียบไม่ได้กับตัณหา เพราะความไม่รู้จักพอของแต่ละคนจึงมีการแก่งแย่งกันขึ้น ทำร้ายและทำลายกันขึ้นด้วยเหตุผลต้องการอาหาร ทรัพยากรโลกกำลังจะหมดไปเพราะมนุษย์กินอาหารด้วยตัณหา มิใช่กินเพื่อยังชีพ ไม่ว่าอาหารชนิดไหนก็ตามล้วนเกิดจากตัณหาทั้งสิ้น
อาหารสำหรับบำรุงร่างกาย มนุษย์กินเพียงหนึ่งส่วน แต่มนุษย์กินอาหารที่บำรุงใจ มนุษย์กินตั้งสามส่วน จะขยายรายละเอียดให้ทราบ ดังนี้
ผัสสาหาร อาหารคือสัมผัส ได้แก่ อาหารที่เกิดจากการกระทบระหว่างอายตนะภายในและอายตนะภายนอก จุดกระทบเป็นจุดที่กำลังกิน กินทางตาเรียกว่า จักขวาหาร กินทางหู เรียก โสตาหาร กินทางจมูก เรียก ฆานาหาร กินทางลิ้น เรียกชิวหาหาร กินทางใจเรียกว่า มนาหาร การกระทบทำให้ชีวิตมนุษย์ดำเนินไป แต่ความสำคัญมิใช่อยู่ที่การกิน เพราะนั่นเป็นธรรมชาติ แต่อยู่ที่การกินตัณหาลงไปด้วย มิใช่ธรรมชาติ เป็นการเรียกร้องต้องการของอัตตา อาหารประเภทนี้มนุษย์มักจะเห็นไม่ชัดเพราะเป็นอาหารของเทวดาทั้งหลาย การกินข้าว กินสารอาหารเป็นอาหารของมนุษย์ที่เห็นได้ชัดฉันใด การกินผัสสาหารก็เป็นสารอาหารทางผัสสะของเทวดาฉันนั้น
มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือเจตจำนง หมายถึงลักษณะการตัดสินใจโดยกระบวนการปรุงแต่งเจตจำนงเป็นธรรมชาติของจิตที่เรียกว่า สังขาร แต่ที่ผิดธรรมชาติก็คือ เจตจำนงที่ประกอบด้วยตัณหา อาหารประเภทนี้มองเห็นไม่ชัดในโลกมนุษย์ว่า เจตจำนงเป็นอาหารอย่างไร แต่อาหารประเภทนี้เป็นที่เด่นชัดสำหรับรูปพรหม รูปพรหมอาศัยเจตจำนงเป็นอาหาร ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ อัตตา คือตัวตนของพรหมยังไม่หมดสิ้นไป
วิญญาณาหาร อาหารคือการรับรู้ การรับรู้ก็เป็นธรรมชาติของจิต แต่ที่ผิดธรรมชาติก็เพราะการรับรู้ที่ประกอบด้วยตัณหา อาหารประเภทนี้มองเห็นไม่ชัดสำหรับมนุษย์ แต่กลับชัดเจนสำหรับอรูปพรหม อรูปพรหมทานการรับรู้เป็นอาหาร
นี่คืออาหารสำหรับชีวิตทุกประเภทขึ้นอยู่กับว่าอาหารประเภทไหนสำหรับชีวิตประเภทไหน มีแต่มนุษย์นั้นกินอาหารทุกประเภท กินตัณหาจากแหล่งอาหารทั้ง ๔ กินจนอัตตาอ้วนพี ยับยั้งไม่อยู่ กล้าแกร่ง ไม่ต้องกล่าวถึงว่า จะมีใครเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอัตตา (Ego) ของใครได้ เพราะขืนไปแตะเพียงนิดเดียว อัตตาจะแผลงฤทธิ์ออกมาทันที ก็แม้แต่เฉพาะตนเอง อัตตายังปั่นอัตตาเองจนกระทั่งอยู่ไม่เป็นสุข ไม่มีเวลาแม้จะพักสักนาที
(อ่านต่อฉบับจริงใน หนังสือศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต)

ไม่มีความคิดเห็น: