วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554
ตั้งใจสู่ความสิ้นทุกข์
ตั้งใจสู่ความสิ้นทุกข์
เมื่อตั้งใจแน่วแน่แล้วปฏิบัติ
จิตย่อมน้อมไปสู่ความสงบ
รักษาความสงบนั้นไว้ให้สม่ำเสมอ
จิตย่อมทรงไว้ซึ่งภาวะว่าง
น้อมนำความว่างมาเป็นอารมณ์
ย่อมเข้าถึงความดับในที่สุด
ด้วยเหตุนี้พึงตั้งใจปฏิบัติเถิด
การตั้งใจที่จะทำอะไรย่อมมีผลนำมาซึ่งความน่าพอใจเสมอ เพราะความตั้งใจเป็นบาทฐานแห่งความสำเร็จ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามแต่ ไม่เว้นแม้แต่การปฏิบัติธรรม แต่ความตั้งใจนี้ต้องมีสติกำกับ มิฉะนั้นความตั้งใจนั้นจะเป็นเพียงอารมณ์แฝงที่เรียกว่า ความอยากได้ อยากทำ อยากมีเท่านั้น อาการเช่นนี้จะนำไปสู่ลักษณะแห่งไฟไหม้ฟาง คือ วูบมาแล้วดับไป ไม่จริงจัง พอเจอปัญหา พอเจอด่านทดสอบก็เริ่มท้อแท้ ท้อถอย การที่ใจตั้งมั่นเอาจริงเอาจังแบบรู้เท่าทัน ผลก็จะออกมาให้เห็นจริง ที่เพิ่มคำว่า แบบรู้เท่าทัน คำนี้สำคัญ เพราะถ้าตั้งใจไม่รู้เท่าทันอารมณ์ก็จะถูกพลังความตั้งใจกดทับกลายเป็นความเครียดที่สะสมขึ้น สะสมมากขึ้นก็ทำให้เกิดอาการไม่สบาย ตึงเครียด และเกิดอาการข้างเคียงต่อไป นั่นก็คือ อาการมึนหัว อาการง่วงเหงาหาวนอน อาการฟุ้งซ่าน นี่แสดงว่า ความตั้งใจที่ถาโถมแบบไม่ระมัดระวัง
เมื่อตั้งใจอย่างรู้เท่าทันแล้วปฏิบัติธรรม จิตน้อมไปสู่ความสงบได้ไว จิตก็อาศัยบรรยากาศเป็นตัวโน้มนำ ด้วยเหตุนี้คนในโลกจึงใช้บรรยากาศในการชักนำผู้คนให้กระทำหรือไม่กระทำอะไรต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการกระตุ้นกิเลสและความอยากให้เกิดขึ้นมากๆ เมื่อความอยากเกิดขึ้นมากก็จะเป็นพลังทำงานได้มาก สังเกตการณ์ขายประกันและธุรกิจเครือข่ายต้องพาให้เข้าไปฟังบรรยายและเข้าไปพบปะกลุ่มแล้วฟังการกระตุ้นด้วยยอดขายและความสำเร็จของผู้อื่น บรรยากาศเป็นสิ่งแวดล้อมทำให้ใจโน้มเอียงไปสู่การกระทำได้ไม่ยาก ในกรณีเดียวกันนี้ บรรยากาศแห่งการปฏิบัติธรรมก็ต้องมีเพื่อให้เกิดพลังในการปฏิบัติในเบื้องต้นจากนั้นก็ให้เป็นกระบวนการติดเชื้อต่อไป
ให้รักษาความสงบนั้นไว้ ความสงบเป็นสิ่งที่รักษาได้ยากเพราะเป็นเหมือนห้วงแห่งบรรยากาศทางจิตที่ได้อารมณ์ธรรม มีเพียงชั่วขณะหนึ่งจากนั้นก็จะสลายไป พยายามรักษาความสงบที่เกิดขึ้นในห้วงหนึ่งนั้นไว้ นั่นคือเชื้อแห่งพลังกุศลที่จะเข้มข้นขึ้น พลังแห่งความสงบนั้นจะช่วยให้จิตน้อมรับมาเป็นประสบการณ์แห่งการปฏิบัติ เป็นผลแห่งการปฏิบัติเพียงชั่วขณะจะมีความรู้สึกเย็นอย่างบอกไม่ถูก เป็นความเย็นแห่งจิตมิใช่เย็นกาย ความเย็นชนิดนี้เองที่สะสมภูเขาน้ำแข็งให้เกิดขึ้นภายในใจทำให้จิตใจหยั่งลงสู่ทางแห่งการปฏิบัติในกาลต่อไป
เมื่อใจสงบเย็น ให้น้อมนำไปสู่ความว่าง คำว่า ว่างในที่นี้ เป็นคำที่ไม่ตรงกับภาษาไทยที่เข้าใจกัน ความว่างในสภาวธรรมกับความว่างในภาษาไทย ขออย่าได้ใช้ความรู้ภาษาไทยเข้ามาเกี่ยวข้อง ความว่างในสภาวธรรมเป็นความเย็นที่รักษาอยู่ การรักษาความเย็นใจอยู่เช่นนั้นมีทั้งความรู้สึกตัว ความมีสติสมบูรณ์ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม นี่แหละความว่าง เพราะเป็นสภาวะที่ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถูกธรรมฝ่ายอกุศลเข้ามากระทบ แม้แต่ธรรมฝ่ายกุศลก็ไม่ได้เข้ามา มีเพียงแต่สภาวะสงบเย็นเท่านั้น ก็ให้น้อมนำความสงบเย็นนี้มาเป็นอารมณ์ เป็นความสงบเย็นที่มีแต่ความว่าง น้อมนำให้ใจรักษาความว่างนี้ไว้ พิจารณาเห็นความสงบเย็นเป็นเพียงความว่างแห่งจิต
จิตที่รักษาความว่างนี้ไว้ได้ยาวนานเพียงใด สภาวะความดับแห่งจิตก็จะปรากฏขึ้นตราบนั้น ความดับก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ความดับที่เข้าใจในภาษาไทย เพราะไม่ตรงกันกับสภาวธรรมที่เกิดขึ้นกับจิตที่พิจารณาเห็นความว่าง อย่าได้นำเข้ามาในการปฏิบัติธรรม เพราะมิฉะนั้นจิตที่เจ้าเล่ห์จะให้ความคิดที่ติดมากับการเรียนหนังสือภาษาไทยเข้ามาจับว่า ดับ คือ สูญหายไป แต่ความดับในสภาวธรรม มิใช่สูญหายไปไหน เพียงแต่เป็นการล้มกระบวนการแห่งทุกข์ให้หมดไปเท่านั้น ไม่มีภาษาใดที่จะอธิบายสภาวธรรมตรงนี้ได้ มีแต่การสัมผัสได้แห่งปัญญาเท่านั้น ความดับคือการสิ้นไปแห่งกระบวนการแห่งทุกข์ เหลือแต่ความว่างที่ดำรงอยู่ ไร้ผู้รับทุกข์
ก็อะไรเล่าคือ กระบวนการแห่งทุกข์ ก็คือ การยึดมั่นในเบญจขันธ์นั่นเอง ก็เมื่อใจพิจารณาความสงบเย็น เป็นความว่างแห่งจิต กระบวนการยึดมั่นในเบญจขันธ์ก็คลายตัว เมื่อคลายตัวมากขึ้นๆ มากไปเรื่อยๆ ด้วยพลังสติ ปัญญาที่เรียกว่า ความรู้แจ้งในกองสังขารก็เกิด เป็นภาวนามยปัญญา ความดับก็มาจากตรงนี้ ความดับก็มาจากปัญญานี้เอง ก็เมื่อปัญญาเกิดอวิชชาก็สิ้นไป ความดับแห่งทุกข์ก็คือการที่ทุกข์ไม่อาจพัวพันได้อีกนี้แหละเรียกนิโรธ คือ กันทุกข์ออกไปได้ จึงเรียกว่า ดับทุกข์
ขอให้ศึกษาพระไตรปิฎกให้มากๆ โดยเฉพาะในส่วนการปฏิบัติธรรม เจริญภาวนา ก็จะเห็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น การปฏิบัตินำไปสู่การสิ้นทุกข์เท่านั้น ไม่มุ่งหมายไปเพื่อสิ่งอื่นใดอีก ถ้าเป็นอย่างอื่นแสดงว่า ไม่ใช่วิถีพุทธ ให้พึงระมัดระวังให้ดี เนื่องจากตัวแปรระหว่างปฏิบัติมีมาก ขอให้ตั้งใจปฏิบัติเพื่อสิ้นไปแห่งทุกข์เถิด
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)