วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552

อาหารอัตตา

บทความ
“อาหารแห่งอัตตา”
ดร.สุวิญ รักสัตย์
ประธานสาขาพุทธศาสน์ศึกษา
เลขานุการกรรมการบริหารหลักสูตรศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต


ความนำ
ชีวิตมีอะไรซับซ้อน ยากที่ใครจะเข้าใจได้อย่างแจ่มชัด แม้กระทั่งเป็นชีวิตของตัวท่านเองก็ตาม ต่อคำถามเหล่านี้ว่า ชีวิตเป็นมาอย่างไร ชีวิตดำเนินไปอย่างไร และชีวิตจะสิ้นสุดได้อย่างไร ปัจจัยอะไรที่ทำให้ชีวิตดำเนินไป ปัจจัยอะไรทำให้ชีวิตสิ้นสุดลง และอะไรเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต ท่านเข้าใจชีวิตดีพอหรือยัง ไม่แน่นักว่าจะตอบคำถามนี้อย่างมั่นใจ
คำตอบง่ายๆ หากจะมีผู้ตอบว่าเพราะเรายังมีลมหายใจและมีอาหารหล่อเลี้ยงชีพ นี่เป็นปรากฏการณ์ต่อชีวิตที่เห็นกันอยู่โดยทั่วไป แต่จะมีใครเข้าไปทราบมากกว่านั้นว่า เหตุใดลมหายใจจึงมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต และเหตุใดอาหารจึงเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต ในบทความนี้จะยังไม่กล่าวถึงบทบาทและความสำคัญของลมหายใจที่มีผลต่อชีวิต แต่จะกล่าวถึงอาหารที่มีอิทธิพลต่อชีวิต ลองพิจารณาดู เวลาของชีวิตเกือบทั้งชีวิตหมดไปกับการแสวงหาอาหารและบริโภคอาหาร นี่กล่าวเพียงเฉพาะอาหาร (Food) ที่เป็นสารอาหาร (Nutrition) เท่านั้น ยังไม่ได้รวมถึงอาหารประเภทอื่นๆ ที่ผู้คนยังไม่ทราบ และยังไม่ได้ให้ความสนใจอีก ถ้ารวมประเภทอาหารทั้งหมดแล้ว ชีวิตมิใช่อะไรอื่น แต่หากเป็นขันธ์ที่เคลื่อนไปได้ด้วยกระบวนการแห่งการกินอาหารเท่านั้นเอง
ในสัมมาทิฏฐิสูตรแห่งมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระสารีบุตรแสดงต่อภิกษุทั้งหลายว่า
พระอริยสาวกผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระสัทธรรม ก็ด้วยว่า พระอริยสาวกนั้นรู้ชัดอาหาร เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับอาหาร และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหาร จึงสามารถละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัยที่ว่า “เป็นเรา” (อัตตา) ละอวิชชาได้แล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันได้
จะเห็นว่า อาหารมีความสำคัญอย่างไม่น่าเชื่อ อาหารสามารถบ่งบอกถึงสัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นต่อชีวิตที่ถูกต้อง เพียงเข้าใจเรื่องอาหาร เหตุเกิดของอาหาร ความดับอาหาร และทางปฏิบัติเพื่อดับอาหาร ก็จะทำให้สิ้นทุกข์ในปัจจุบันได้ นอกเหนือจากนั้น พระสารีบุตรยังใช้เป็นคำถามนางชัมพุปริพาชิกา เมื่อครั้งที่นางปักกิ่งไม้หว้าประกาศโต้วาทะกับบัณฑิตและนักศาสนาทั้งหลายว่า อะไรชื่อว่าหนึ่ง คำตอบก็ได้แก่อาหาร ในสังคีติสูตร แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสารีบุตรเน้นย้ำให้เห็นในหมวดธรรมประเภทที่มีหนึ่ง ก็ได้แก่อาหาร เมื่ออาหารสำคัญอย่างนี้สมควรเข้าไปศึกษา เพื่อประโยชน์แห่งการเข้าใจชีวิต และสามารถทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

อาหารคืออะไร
อาหาร หมายถึง สิ่งที่นำเข้ามาเพื่อบริโภค สิ่งที่เป็นคุณเครื่องทำให้หมู่สัตว์ดำรงอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้ว หรือหมู่สัตว์ที่จะไปเกิดในภพต่อไป เป็นพลังส่งให้หมู่สัตว์ไปสู่สถานที่เกิดใหม่ เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตตราบเท่าที่วัฏจักรแห่งชีวิตยังไม่สิ้นลง โดยมากแล้วผู้คนสนใจแต่อาหารที่เป็นวัตถุอันยังร่างกายนี้ให้อยู่ได้เท่านั้น ต่างพยายามสรรหาสารอาหารนานาประการมาเพื่อบริโภค บำรุงร่างกายให้เจริญเติบโต ให้สารอาหารเข้าไปหล่อเลี้ยงส่วนที่สึกหรอ ยิ่งนับวันอาหารที่รับประทานเข้าไปยิ่งลดสารอาหารลงไป มีแต่สีสันที่ล่อให้คนติดกับดัก ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยมิได้ทานอาหาร แต่ทานความหรูหรา ทานองค์ประกอบแห่งอาหาร กินบรรยากาศแทนอาหาร จึงทำให้อาหารบางมื้อสร้างบ้านสำหรับคนจนได้หนึ่งหลังด้วยซ้ำไป
ผู้คนหาทราบไม่ว่า การทานอาหารของคนโดยทั่วไปนั้น เป็นเพียงการทานอาหารประเภทสารอาหาร ซึ่งเป็นอาหารทางวัตถุเพียงส่วนเดียวเท่านั้น เรียกว่าอาหารกาย ชีวิตยังต้องทานอาหารทางอื่นอีก ดังที่เราทราบว่าอาหารใจ ชีวิตทานอาหารใจมากกว่าอาหารกาย แต่คงไม่มีผู้ใดคำนึงถึงและไม่ให้ความสนใจ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะแม้ไม่ต้องแสวงหาอาหารใจ ไม่อดอยาก ไม่เป็นเหตุแห่งการสิ้นชีวิต ไม่ตาย แต่หารู้ไม่ว่า ก็เพราะไม่ได้ใส่ใจอาหารส่วนที่เหลือนั่นเองทำให้อัตตาอ้วนพี อัตตาจึงบริโภคได้อย่างหนำใจ เมื่ออัตตาอ้วนพี มีพลังมาก ไหนเลยจะฝืนอัตตา (อัสมิมานะ) ได้ นั่นเป็นสาเหตุไม่สามารถเห็นความเป็นอนัตตาแห่งชีวิตได้
ในพระพุทธศาสนากำหนดเรื่องอาหารไว้ดังนี้
๑. กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว
๒. ผัสสาหาร อาหารคือสัมผัส
๓. วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ
๔. มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือความจงใจ
ผู้คนทั้งหลายบริโภคอาหารทั้ง ๔ ประการอย่างไม่หยุดหย่อนแม้สักเพียงนาทีเดียว ด้วยเหตุนี้อัตตาจึงเจริญเติบโตข้ามภพข้ามชาติอย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อใดก็ตามหยุดให้อาหารเมื่อนั้นอัตตาก็สูญสลาย กลายเป็นเพียงการประชุมกันเข้าแห่งกองสังขาร อนัตตาจึงปรากฏ ก็อนัตตานั้นเป็นสภาวะที่จริงแท้ของชีวิต แต่ถูกอุปาทานเข้าหุ้มห่อ หล่อเลี้ยงด้วยอาหาร คือ ตัณหา ตัณหาจึงเป็นเหตุเกิดแห่งอาหาร เป็นที่มาของอาหาร เพราะมีความอยากจึงมีการแสวงหา เมื่อตัณหาดับ อาหารทั้งหลายก็หยุดลง อวิชชาก็ดับ วิชชาก็เกิด อัตตาก็สูญสิ้น อนัตตาก็ปรากฏ นี่คือความสิ้นไปแห่งทุกข์ ส่วนทางที่ทำให้สิ้นไปแห่งตัณหาได้มีเพียงทางเดียว ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น

อาหารแห่งอัตตา
พึงเข้าใจว่า อัตตาที่แท้ในพระพุทธศาสนานั้นไม่มี มีแต่อัตตาปลอม อัตตาที่เกิดจากความเข้าใจผิดหลงยึดว่า เป็นเรา ความเข้าไปถือมั่นว่า เป็นเรา อัตตานี้ก่อตัวขึ้นจากความไม่มีอะไรมาสู่ความมีอะไร อัตตานี้ประกอบกิจกรรมด้วยการคิดอยู่ตลอดเวลา มีความกล้าแกร่งขึ้นเรื่อยๆ
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกิเลส ๓ ตัว เป็นผู้ชักสร้างอัตตาขึ้นมา ได้แก่ อวิชชา ตัณหา และอุปาทาน แล้วผูกให้อัตตามีภพ มีชาติ ขึ้นหมุนเวียนไปอย่างหาเบื้องต้นและที่สุดมิได้ เปรียบเหมือนการนำน้ำตาลมาปั้นเป็นเชือก ก็เป็นรังแห่งสิ่งที่จะเข้ามาเกาะกินน้ำตาลนั้น อัตตาเมื่อปรากฏขึ้นกิเลสอื่นก็เข้ามาเกาะเกี่ยว ห่อหุ้มจนไม่สามารถเปลื้องออกได้
เมื่ออัตตามี อัตตาก็อาศัยอาหาร อาหารแห่งอัตตานี้ก็คือ อดีตและอนาคต อดีตและอนาคตจะหล่อเลี้ยงอัตตาให้อุดมสมบูรณ์ ที่กล่าวอย่างนี้เป็นเพียงอีกมิติหนึ่งของเวลาเท่านั้น การที่จะมีอดีตและอนาคตได้ก็เพราะตัวการสำคัญคือ ตัณหานั่นเอง ลองพิจารณาดู เฉพาะอาหารคือคำข้าวที่เป็นเพียงสาเหตุเดียวทำให้โลกปั่นป่วนอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะมนุษย์ต้องกิน ต้องบริโภค แต่มนุษย์มิได้กินหรือบริโภคอย่างเดียว มนุษย์ได้บริโภคตัณหาเข้าไปด้วย กล่าวคือ ความไม่รู้จักพอของมนุษย์ จึงมีพุทธศาสนสุภาษิตว่า นัตถิ ตัณหา สมา นที แม่น้ำมหาสมุทร ยังเปรียบไม่ได้กับตัณหา เพราะความไม่รู้จักพอของแต่ละคนจึงมีการแก่งแย่งกันขึ้น ทำร้ายและทำลายกันขึ้นด้วยเหตุผลต้องการอาหาร ทรัพยากรโลกกำลังจะหมดไปเพราะมนุษย์กินอาหารด้วยตัณหา มิใช่กินเพื่อยังชีพ ไม่ว่าอาหารชนิดไหนก็ตามล้วนเกิดจากตัณหาทั้งสิ้น
อาหารสำหรับบำรุงร่างกาย มนุษย์กินเพียงหนึ่งส่วน แต่มนุษย์กินอาหารที่บำรุงใจ มนุษย์กินตั้งสามส่วน จะขยายรายละเอียดให้ทราบ ดังนี้
ผัสสาหาร อาหารคือสัมผัส ได้แก่ อาหารที่เกิดจากการกระทบระหว่างอายตนะภายในและอายตนะภายนอก จุดกระทบเป็นจุดที่กำลังกิน กินทางตาเรียกว่า จักขวาหาร กินทางหู เรียก โสตาหาร กินทางจมูก เรียก ฆานาหาร กินทางลิ้น เรียกชิวหาหาร กินทางใจเรียกว่า มนาหาร การกระทบทำให้ชีวิตมนุษย์ดำเนินไป แต่ความสำคัญมิใช่อยู่ที่การกิน เพราะนั่นเป็นธรรมชาติ แต่อยู่ที่การกินตัณหาลงไปด้วย มิใช่ธรรมชาติ เป็นการเรียกร้องต้องการของอัตตา อาหารประเภทนี้มนุษย์มักจะเห็นไม่ชัดเพราะเป็นอาหารของเทวดาทั้งหลาย การกินข้าว กินสารอาหารเป็นอาหารของมนุษย์ที่เห็นได้ชัดฉันใด การกินผัสสาหารก็เป็นสารอาหารทางผัสสะของเทวดาฉันนั้น
มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือเจตจำนง หมายถึงลักษณะการตัดสินใจโดยกระบวนการปรุงแต่งเจตจำนงเป็นธรรมชาติของจิตที่เรียกว่า สังขาร แต่ที่ผิดธรรมชาติก็คือ เจตจำนงที่ประกอบด้วยตัณหา อาหารประเภทนี้มองเห็นไม่ชัดในโลกมนุษย์ว่า เจตจำนงเป็นอาหารอย่างไร แต่อาหารประเภทนี้เป็นที่เด่นชัดสำหรับรูปพรหม รูปพรหมอาศัยเจตจำนงเป็นอาหาร ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ อัตตา คือตัวตนของพรหมยังไม่หมดสิ้นไป
วิญญาณาหาร อาหารคือการรับรู้ การรับรู้ก็เป็นธรรมชาติของจิต แต่ที่ผิดธรรมชาติก็เพราะการรับรู้ที่ประกอบด้วยตัณหา อาหารประเภทนี้มองเห็นไม่ชัดสำหรับมนุษย์ แต่กลับชัดเจนสำหรับอรูปพรหม อรูปพรหมทานการรับรู้เป็นอาหาร
นี่คืออาหารสำหรับชีวิตทุกประเภทขึ้นอยู่กับว่าอาหารประเภทไหนสำหรับชีวิตประเภทไหน มีแต่มนุษย์นั้นกินอาหารทุกประเภท กินตัณหาจากแหล่งอาหารทั้ง ๔ กินจนอัตตาอ้วนพี ยับยั้งไม่อยู่ กล้าแกร่ง ไม่ต้องกล่าวถึงว่า จะมีใครเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอัตตา (Ego) ของใครได้ เพราะขืนไปแตะเพียงนิดเดียว อัตตาจะแผลงฤทธิ์ออกมาทันที ก็แม้แต่เฉพาะตนเอง อัตตายังปั่นอัตตาเองจนกระทั่งอยู่ไม่เป็นสุข ไม่มีเวลาแม้จะพักสักนาที
(อ่านต่อฉบับจริงใน หนังสือศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต)

การออกกำลังกายของพระสงฆ์

พระสงฆ์เป็นบุคคลที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้ เนื่องจากเป็นบุคคลที่ต้องดำรงอยู่ในกฎระเบียบที่เรียกว่า พระธรรมวินัย การกระทำใดแม้กระทั่งไม่ปรากฏในธรรมวินัย แต่เข้าข่ายเป็นโลกวัชชะ คือ โลกตำหนิติเตียนก็ทำไม่ได้ ไม่เหมาะสมกับสมณะสารรูป ก็ทำไม่ได้ ดังนั้นจึงทำให้พระสงฆ์ โดยเฉพาะพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทนั้นติดขัดด้วยกฎนอกจากที่เป็นกฎในพระธรรมวินัยแล้ว และยังมีกฎทางวัฒนธรรม ประเพณีด้วย
สำหรับพระสงฆ์ฝ่ายมหายานแล้ว การดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงนั้นเป็นกฎอย่างหนึ่งของพระสงฆ์ต้องปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ทั้งทางด้านการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บและเพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรมด้วย
กฎที่ว่าด้วยการปฏิบัติที่เรียกว่า ไม่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์ในการปฏิบัติตนนั้นอยู่ในหมวดสารูปแห่งเสขิยวัตร แต่โดยสรุปแล้วในหมวดนี้ ๒๖ ข้อนั้น จะเป็นมารยาทสำหรับพระสงฆ์ที่จะเข้าไปในบ้านของโยมและนั่งในบ้านของโยมทั้งสิ้น ไม่มีที่ระบุถึงการอยู่ในภายในกุฏิหรือภายในวัด ยกตัวอย่างเช่น ข้อ ๑๗ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่ไกวแขนไปในบ้าน
๑๘ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่ไกวแขน ไปนั่งในบ้าน เป็นต้น จุดประสงค์ก็เพื่อไม่ให้ภาพของบุคคลที่ควรแก่การเคารพและของทักขิณา เป็นที่ตำหนิของผู้พบเห็นในที่สาธารณะ นอกจากนั้นในการพิจารณาปัจจัย ๔ ในข้อของอาหารบิณฑบาต นั้นกำหนดไว้ชัดว่า การบริโภคนี้ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อสดใส ไม่ใช่เพื่อความเปล่งปลั่ง จากข้อความนี้จึงเป็นเหมือนข้อห้ามของพระสงฆ์ที่ไม่สามารถจะกระทำการใดเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงที่ไม่เหมาะสม

คำถามมีอยู่ว่า พระภิกษุสงฆ์ออกกำลังกายได้ไหม
คำๆ นี้ต้องตีความคำว่า “ออกกำลังกาย” ให้ดีก่อน เพราะคำๆ นี้มีความหมายกว้างมาก การออกกำลังกายในความหมายของคนทั่วไปกับความหมายในพระพุทธศาสนานั้นใช้ต่างกัน ความหมายของการออกกำลังกายของคนทั่วไปนั้นเป็นไปเพื่อให้เกิดกำลังเพื่อให้ร่างกายเป็นประโยชน์ต่อการกระทำกิจของชาวโลก ท่าทางการออกกำลังกายจึงกระทำได้อย่างหลากหลายและกระทำได้ในที่ๆ เปิดเผยได้ บางครั้งการออกกำลังกายมีคำว่า เล่นออกกำลังกายด้วย แต่การออกกำลังกายสำหรับพระสงฆ์นั้นมีความหมายจำกัดเฉพาะ ทางพระพุทธศาสนาใช้คำว่า "บริหารขันธ์" หรือ การบริหารร่างกาย การออกกำลังกายของพระสงฆ์จึงแคบกว่า โดยต้องคำนึงถึงคำว่า ไม่ใช่เพื่อเล่น เพื่อเมามัน เพื่อความกำยำของร่างกาย แต่เพื่อให้ขันธ์นี้ดำเนินไปได้ ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ในพระพุทธศาสนาจึงถือว่า การบิณฑบาต กวาดวัด เป็นการบริหารขันธ์ไปด้วย นอกเหนือจากการกระทำกิจวัตรของพระสงฆ์แล้ว ท่าปฏิบัติแบบโยคะบางท่าก็เป็นการออกกำลังกายด้วย
เมื่อดูจากคำว่า การบริหารขันธ์ คือ ร่างกายนี้ ก็หมายความว่า พระสงฆ์สามารถจะออกกำลังกายคือบริหารขันธ์นี้ได้ แต่ต้องเป็นการออกกำลังกายด้วยความสำรวม ระวัง ไม่ยังให้ศรัทธาปสาทะของสาธุชนผู้ใฝ่ในธรรมเสื่อมไป ต้องทำด้วยความเหมาะสม พอดี ทำในที่อันควร ไม่แสดงไปตามวิสัยของชาวบ้าน
พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีออกกำลังกายที่เหมาะควรกับสมณเพศเป็นอย่างยิ่ง ทรงยึดหลักการปรับเปลี่ยนอิริยาบถทั้ง ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้มีความสมดุล โดยเฉพาะอิริยาบถเดิน ได้แก่ การเดินบิณฑบาต เช้าตรู่ของทุกวัน พระพุทธเจ้าและพระสาวก จะออกเดินบิณฑบาต ไปตามหมู่บ้านเป็นประจำ การบริหารกายนั้นต้องประกอบไปด้วยการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อน ส่วนการบริหารทางจิตนั้นต้องรู้จักปล่อยวาง รู้จักคิดให้ถูกทางให้เป็นประโยชน์ เมื่อสุขภาพทางกายและสุขภาพทางใจมีความสมดุลอย่างเหมาะสม ชีวิตจึงจะมีความสุข เมื่อร่างกายขาดความสมดุลกัน สิ่งใดสิ่งหนึ่งทำงานหนัก หรือหย่อนเกินไป การบริหารกายไม่สม่ำเสมอเป็นสาเหตุให้เกิดโรค
จากหลักฐานทางวิชาการที่มีการสำรวจกันพบว่า สภาวะอนามัยของพระภิกษุสามเณรโดยรวมแล้ว มักจะอาพาธด้วยโรคประจำตัวเรื้อรัง ถึงร้อยละ 36.8 โรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 11.3 และโรคเบาหวาน สาเหตุของการอาพาธ จากข้อมูลพบว่า มีความสลับซ้อนและมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับปัจจัยต่างๆ มากมาย เช่น ปัจจัยด้านปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ พฤติกรรม ความเชื่อ จิตวิญญาณ รวมทั้งปัจจัยด้านระบบบริการสุขภาพและสภาพแวดล้อม
มหาวิทยาลัยมหิดลสำรวจสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ กทม. พบจำนวน “พระอ้วน” เพิ่มขึ้น สาเหตุญาติโยมนำอาหารมาถวาย เลือกฉันไม่ได้ ซ้ำยังขาดการออกกำลังกาย มีการสัมมนาวิชาการเรื่อง “สุขภาวะของพระภิกษุสงฆ์ในเขตกรุงเทพมหานคร” จัดโดยภาควิชาอนามัยครอบครัว และฝ่ายวิจัยคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีการเสนอผลการวิจัยสุขภาวะพระภิกษุสงฆ์แบบองค์รวม ผู้วิจัยได้สำรวจจากการตรวจสุขภาพเบื้องต้นและสัมภาษณ์พระภิกษุสงฆ์จำนวน 417 รูป จาก 31 วัดในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 38 ปี ในจำนวนนี้ร้อยละ 60 เป็นกลุ่มอายุ 20-40 ปี เฉลี่ยบวชมาประมาณ 10 พรรษา โดยร้อยละ 42 บวชน้อย กว่า 5 พรรษา พบว่า พระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ปกติมาก สูงถึงร้อยละ 38.1 หรือ 159 รูป รองลงมาเป็นน้ำหนัก เกณฑ์ปกติ 37.6 หรือ 157 รูป และระดับต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 24.2 หรือ 101 รูป โดยในจำนวนนี้มีปัญหาความดันโลหิตสูงขั้นต้น ร้อยละ 23.4 หรือ 97 รูป และจากการสำรวจถึงพฤติกรรมส่งเสริมและดูแลสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ พบว่ามีปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากพระภิกษุสงฆ์เองไม่ได้ใส่ใจต่อเรื่องนี้เท่าที่ควร อย่างไรก็ดี ยังพบตัวเลขที่น่าสนใจ เพราะยังมีพระภิกษุสงฆ์ที่ต้องปรับปรุงพฤติกรรมออกกำลังกายถึง 51.8 หรือสูงถึง 216 รูป ดังนั้นเมื่อวิเคราะห์ในภาพรวมพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ในกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ จึงอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องปรับปรุงมากที่สุด โดยสูงถึงร้อยละ 90.9 อยู่ในเกณฑ์พอใช้เพียงร้อย 2.16
ดังนั้น การออกกำลังกายทุกวัน ก็เพื่อต้องการให้พระภิกษุ สามเณร มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีสภาวะจิตที่ดี จึงเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณา เพื่อกำหนดให้พระสงฆ์ได้ออกกำลังกายในท่าทางและสถานที่อันเหมาะสมได้
ประโยชน์อันจะได้จากการออกกำลังกายนั้นมีจำนวนมาก ทั้งเพื่อให้มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง เหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและเพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ เป็นการรักษาสุขภาพ และเพื่อรักษาโรคภัยที่เป็นอยู่แล้วให้หาย
สำหรับบางวัดได้กำหนดท่าทางการออกกำลังกายทั้งก่อนและหลังการปฏิบัติธรรม บำเพ็ญสมาธิภาวนา เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตและอวัยวะทั้งภายนอกและภายใน และเพื่อให้ข้อต่อและกล้ามเนื้อของอวัยวะส่วนต่างๆ มีการพับและหดตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยกำหนดอิริยาบถต่างๆ ผลแห่งการได้ออกกำลังกายที่เหมาะสม ทำให้พระสงฆ์มีสุขภาพดีขึ้น เจ็บป่วยน้อยลง ร่างกายต้องการอาหารดี หายใจเป็นปกติ อารมณ์จิตใจผ่องใส
สำหรับท่าบริหารขันธ์ของพระสงฆ์ที่สามารถทำได้ โดยการเคลื่อนไหวตามอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง และนอน แต่การบริหารขันธ์นี้มิใช่การบริหารธรรมดา แต่เป็นการกำหนดรู้เรียกว่า “การบริหารขันธ์ด้วยสติ” กล่าวคือ กำหนดรู้การเคลื่อนไหว ตามทันอิริยาบถ สามารถนำแนวการท่าโยคะที่เหมาะสมและซี่กงมาปรับใช้ได้ เพราะการออกกำลังกายทั้ง ๒ ประการนี้เป็นของเก่ามีมาแต่โบราณ ซึ่งฤาษีชีไพร ปฏิบัติให้ร่างกายปรับสมดุล จิตใจปลอดโปร่ง
ท่าต่างๆ ของโยคะและซี่กงนั้นศึกษาได้จากตำราที่มีอยู่แล้วโดยระบุถึงท่าไหนสามารถรักษาโรคอะไร ให้กำลังกายส่วนไหน ควรทำเป็นเอกสารเฉพาะไว้ได้ ถือเป็นคู่มือปฏิบัติการออกกำลังกายโดยมีสติกำหนดรู้ เป็นประโยชน์ทั้งกายและใจ
ในที่นี้ขอแนะนำสัก ๒ ท่า คือ
ท่าที่ ๑ การยืนแกว่งแขน โดยแกว่งขึ้นเบาๆ แต่สะบัดลงแรงๆ ให้กำหนดรู้ หายใจเข้าออกขณะยกขึ้น หายใจออกแรงๆ ขณะสะบัดลง ทำอย่างน้อย ๑๕ นาที หรือประมาณ ๕๐๐ ครั้ง ต่อวัน เป็นประโยชน์ต่อระบบทางเดินหายใจดียิ่ง
ท่าที่ ๒ ก้มลงช้าๆ จนมือแตะพื้น กำหนดรู้ด้วย และยกมือขึ้นหงายไปด้านหลังจนสุด ขณะก้มลงให้หายใจเข้า ขณะหงายหลังไปให้หายใจออก ทำอย่างนี้ประมาณ ๑๐๐ ครั้ง ต่อวัน ดีมากสำหรับระบบทางเดินอาหาร

คัมภีร์ห่วงโซ่ (ต่อ)

มายาบดบังสัจจะ
ไม่มีการไป ไม่มีการมา
ชีวิตจริงโดดเดี่ยว ลำพัง
สรรพสัตว์ก็ทำเฉกเช่นกัน
โลดแล่น ตามลีลา
ก่อนสิ้นสูญสลายไป
หมุนเวียนเปลี่ยนแปร
เกิดดับไม่ถ้วน
เสียงติงตังเส้นพิณสายสุดท้ายสั่นสะท้านหยุดลง ทินเล่หลับตาสงบนิ่งฟัง เห็นภาพสรรพสัตว์ดิ้นรน ไคว่คว้าเงาเมฆในน้ำ
วิ่งไล่ตามพยับแดด ปีนป่ายครอบครองวิมานเมฆ ล้วนแล้วเป็นมายา
เห็นแจ้งสัจจะในถ้อยคำของสตรีสาวกับชายพเนจรที่ร้องเพลงบรรเลงพิณ
อากาศยามสนธยารื่นรมย์นัก
สนธยาริมทะเลสาบ ลมพัด วิหคเหิน
วิถีธรรมดาเช่นนี้ผู้คนสัมผัสได้หรือไม่
ทั้งสองเดินไปตามถนนเรียบทะเลสาบ ผ่านร้านรวงขายปลาชนิดต่างๆ ทั้งที่ตายแล้วและที่ยังขังอยู่ในภาชนะ บางร้านขายเหง้าบัวทะเลสาบ บางร้านขายอุปกรณ์ประมงหลากชนิด นี่คือวิถีชีวิตริมทะเลสาบแห่งไวศยนครจนถึงหน้าโรงน้ำชาแห่งหนึ่ง เป็นที่ที่ทั้งคู่หยุดยืนนิ่งฟังเสียงเพลงขับขานของสตรีสาวนางหนึ่งและชายชราผู้หนึ่ง
(อ่านต่อฉบับเต็มในวารสารปรัชญาปริทรรศน์)

วิเคราะห์องค์การพุทธใหม่

บทวิเคราะห์องค์การพุทธแนวใหม่
องค์กรพระพุทธศาสนาแนวใหม่ที่เรียกว่า Neo-Buddhism เป็นพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาให้เคลื่อนไหวไปได้และแสดงบทบาทที่เหมาะสมในโลกยุคโลกาภิวัตน์และทุนนิยม หลายคนคงแปลกใจว่า พระพุทธศาสนามหายานทำไมจึงทำอะไรได้หลากหลาย ทำให้พระพุทธศาสนามหายานถูกมองไปในสองประเด็นที่สุดขั้ว กล่าวคือ ขั้วหนึ่งถูกมองไปในแง่บวกว่า มีความคล่องตัวในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อีกขั้วหนึ่งก็ถูกมองว่าทำอะไรเกินภาวะของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เมื่อมองให้ดีๆ แท้จริงลักษณะที่พระพุทธศาสนาแสดงออกในยุคนี้ไม่ใช่มหายานอย่างที่คิดกัน แต่เป็นพระพุทธศาสนาแนวใหม่ของคนยุคใหม่นี้ มันเริ่มจากกระบวนการปรับตัวของคนในสังคมที่มีกระบวนทัศน์เปลี่ยนแปลงไป พอดีเกิดขึ้นในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนามหายานเท่านั้นจึงถูกมองว่าเป็นมหายานไปทั้งหมด อันที่จริงไม่ว่าพระพุทธศาสนาเถรวาทหรือมหายานก็สามารถทำได้ เพราะไม่ได้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแต่เกี่ยวกับคนในสังคมที่รับเอาแนวคิดของการบริหารจัดการยุคทุนนิยมมาปรับใช้กับศาสนา
เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วในยุโรป เกิดขึ้นกับศาสนาคริสต์ เมื่อคนในสังคมหันไปสนใจกระแสวิทยาศาสตร์อย่างท่วมท้นในยุคใหม่ ไม่ใช่ศาสนายอมรับวิทยาศาสตร์ หรือศาสนาเห็นด้วยกับวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเพราะผู้ที่มาบวชในยุคนั้นมีแนวคิดเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว คนในศาสนาเป็นคนวิทยาศาสตร์แล้ว ก็ไม่ต้องพูดถึงว่า ความคิดเชิงวิทยาศาสตร์จึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับศาสนาและศาสนาก็ไม่สามารถทำอะไรกับคนวิทยาศาสตร์ได้เหมือนเดิมที่เคยต่อต้านอย่างสุดขั้ว
ลักษณะเดียวกันกับพระพุทธศาสนาในยุคนี้ คนในพุทธศาสนายุคนี้เป็นคนในยุคทุนนิยม ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี นับเป็นประเทศแนวหน้าที่อยู่ในยุคทุนนิยมเต็มที่ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า พระพุทธศาสนามหายานมีรูปแบบการบริหารเป็นแบบมืออาชีพ เพราะนั่นเป็นการนำระบบบริหารบรรษัทและองค์กรทางธุรกิจมาปรับใช้กับองค์การทางศาสนา ปัจจุบันจึงจะเห็นว่า พระพุทธศาสนาเถรวาทเริ่มรับวิธีการของพระพุทธศาสนาแนวใหม่นี้มาปรับใช้บ้างแล้ว ในที่สุดรูปแบบพระพุทธศาสนาต้องปรับเป็นอย่างนั้น เพราะคนในยุคนี้รับหลักการและวิธีการลักษณะของทุนนิยม การปฏิบัติอะไรตามระบบราชการเหมือนแต่ก่อน จะไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้
ไม่เพียงเฉพาะรูปแบบการบริหารเท่านั้น รูปแบบกิจกรรมทั้งหลายยังใช้รูปแบบเชิงพุทธศาสนาเพื่อสังคมมากขึ้นที่เรียกว่า Engaged Buddhism จะเห็นว่าพระสงฆ์ได้เข้าไปรับหน้าที่บริการสังคมไม่เพียงเฉพาะด้านธรรมะเท่านั้น ยังเข้าไปรับผิดชอบช่วยเหลือสังคมโดยการบริหารจัดการเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านองค์การเกี่ยวกับโรคเอสด์ ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านเด็กและเยาวชน ด้านความสงบของสังคม เป็นต้น
สิ่งที่ตามมาพร้อมกับแนวคิดนี้ก็คือ พระสงฆ์ใดไม่ทำกิจกรรม ไม่ทำงานเชื่อมกับสังคมจะไม่ได้รับการยอมรับ และต่อไปบทบาทขององค์การทางสังคมจะเป็นตัวชี้นำศาสนา เพราะองค์การเหล่านี้ปฏิบัติตนได้อย่างอิสระไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของศาสนา แต่ได้นำแนวทางศาสนาไปปรับเข้ากับวิธีการของตน จะเห็นได้จากผู้นำทางสังคมเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อศาสนามากขึ้น บางอย่างได้รับเอาพิธีกรรมทางศาสนาไปทำเอง นี่เป็นลักษณะของพระพุทธศาสนาแนวใหม่
อีกอย่างหนึ่ง สำหรับการอธิบายหลักธรรมพระพุทธศาสนาแนวใหม่จะใช้วิธีการอธิบายแบบสัมผัสได้กับชีวิตจริง เน้นการอยู่อย่างมีความสุขในชีวิตปัจจุบัน ยกตัวอย่างเรื่องอริยสัจ ๔ พระพุทธศาสนาแนวใหม่ให้คำอธิบายไว้ว่า
๑) ชีวิตย่อมประกอบด้วยความสุข ความยินดี และความไม่สมปรารถนาเป็นปกติ (ทุกข์)
๒) สาเหตุแห่งความสุข ความทุกข์ และความยินดีนั้นมีมาก ทางที่พึงกระทำคือไม่ต้องไปใส่ใจ เพียงแต่ให้อยู่อย่างมีความสุขในตอนนี้และขณะนี้ได้ก็พอ ความทุกข์นั้นเกิดขึ้นง่ายมาก เพียงแค่อยากมีความสุข อยากครอบครอง หรืออยากมีอำนาจ ก็เป็นที่มาแห่งทุกข์ทันที ยกตัวอย่างเช่น การต้องการมากไปกว่าที่ตนมีอยู่ ก็ทำให้สูญเสียความสุขในสิ่งที่ตนพึงจะได้แล้ว (สมุทัย)
๓) ไม่จำเป็นต้องสละเรือนอยู่เหมือนนักบวช ไม่จำเป็นต้องสละละทิ้งโลกียสุข เพียงแต่แสวงหาความสงบจากภายในจิตก็พอ โดยรักษาสมดุลระหว่างทั้งโลกแห่งคฤหัสถ์และบรรพชิตไว้ (นิโรธ)
๔) ศิลปะการดำเนินชีวิต คือ การค้นพบจุดสมดุลระหว่างความต้องการให้ถึงเป้าหมายแห่งชีวิตคือทางแห่งความสุขกับมุมมองอันมีเหตุผลและความจริงที่เห็น ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ และไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะสำคัญจริงๆ ต่อความสุขของตนหรือไม่ (มรรค)
การอธิบายอริยสัจเช่นนี้เป็นการอธิบายเข้ากับชีวิตมากขึ้น มิใช่อธิบายไกลไปจากชีวิต นี่เป็นลักษณะของแนวคิดของกระแสพุทธศาสนาใหม่ คือ การไม่ไปไกลจากโลกที่สัมผัส มิใช่โลกแห่งอุดมคติ คือมองกลับด้านเป็นอริยสัจที่ประกอบด้วยสุข เหตุให้เกิดสุข สุขได้ในเมื่อใจพอ ดำเนินชีวิตอย่างมีศิลปะก็จะพบกับความสุข ในที่นี้จึงไม่กล่าวว่าเป็นพุทธศาสนามหายานหรือเถรวาท เพราะโดยเนื้อแท้แล้วมีแต่คำว่าพระพุทธศาสนาเท่านั้น จะเป็นพุทธแบบเน้นศรัทธาหรือเน้นปัญญา ก็ขึ้นอยู่กับแนวโน้มทางความชอบของผู้นั้นที่เรียกว่า จริต การอาศัยศรัทธานำหรือปัญญานำก็นำผู้ปฏิบัติถึงเป้าหมายได้
สาเหตุอย่างหนึ่งที่ต้องกล่าวไว้ในที่นี้ก็คือ การเข้าสู่ความคิดหลังนวยุค (Post Modernism) ของคนในสังคม อิทธิพลของความคิดนี้ได้แผ่กระจายไปสู่ส่วนต่างๆ ของโลกอย่างมีระบบ เป็นกระบวนการที่เรียกว่า การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) การก่อตัวของแนวคิดนี้ก็คือความอิ่มตัวของยุควิทยาศาสตร์และทุนนิยมสุดขั้วที่หล่อหลอมชีวิตของคนในสังคมให้แสดงออกไปอย่างไร้ทิศทาง ยิ่งสนองวัตถุจิตวิญญาณก็ยิ่งโหยหาความสุข ในที่สุดคนในสังคมบางคนบางกลุ่มก็คิดได้การสนองความต้องการทางวัตถุไม่อาจเติมเต็มจิตวิญญาณได้ จึงหันกลับมาดูชีวิตที่แท้จริงอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้จึงมีองค์กรอิสระที่กระทำโดยไม่มุ่งหวังผลกำไรใดๆ เป็นองค์กรที่รวมตัวกันกระทำเพื่อสังคม ดังนั้นจึงมีองค์กรพุทธฉือจี้ (Tzu Chi) สำนักปฏิบัติธรรมโกเอนก้า (Koenka) องค์กรริชโก้โกเชไก (Rissho Kosei-kai) องค์กรเซไคคิวเซเคียว (โยเร) หรือ วัดพระธรรมกาย เป็นต้น องค์กรเหล่านี้ล้วนแต่กระทำเพื่อสังคมโดยการฝึกฝนตน แต่เนื่องจากสังคมอยู่ในระยะเปลี่ยนถ่ายจึงมีความขัดแย้งทางความคิดสูงสำหรับการทำเช่นนี้ เพราะคนบางกลุ่มมองเห็นว่าการทำเช่นนี้เป็นการกระทำที่ผิดแผกแปลกไปจากเดิม และคนที่อยู่ในองค์กรนั้นก็เคลื่อนไหวเชิงรุกจึงทำให้เกิดแรงปะทะขึ้นในสังคมที่ยังคงอยู่ในกระบวนทัศน์อื่นๆ อยู่จำนวนมาก
อันตรายสำหรับองค์กรทางศาสนาที่เกิดขึ้นในยุคนี้ก็คือ การไม่เข้าถึงแก่นแท้หลักการทางพุทธศาสนาทั้งสองสายให้ดีพอ พระพุทธศาสนามหายานนั้นมีหลักการสำคัญอยู่ที่การอุทิศตนบำเพ็ญเพียรเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า ส่วนพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้นมีหลักการสำคัญอยู่ที่การละการยึดมั่นถือมั่น หลีกเร้นและปล่อยวาง พอเข้าไม่ถึงแก่นแท้ก็หลงไปสู่ด้านใดด้านหนึ่ง ได้แก่ ทางฝ่ายมหายานก็หลงเข้าไปสร้างอาณาจักรของตน แล้วยึดมั่นในหน่วยงาน องค์กร วัด สมาคมของตน ทางฝ่ายเถรวาท ก็หลงไม่ช่วยเหลือสังคม หลีกเร้น ปล่อยไปตามกรรม การกระทำทั้ง ๒ ประการนั้นทำให้ตกไปสู่ส่วนสุดด้านใดด้านหนึ่ง ไม่เป็นตามทางสายกลาง
สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาทั้ง ๒ แนวทางนั้นสับสนไป ไคว่เขวไป ที่จำเป็นต้องเข้าใจก็คือการใช้หลักเหตุผลที่เรียกว่า “วาทกรรม” วาทกรรมเป็นกระแสกระบวนทัศน์ที่มาพร้อมกับสังคมหลังนวยุค คือ สังคมที่ใช้วาทกรรมอธิบายเชื่อมโยงวัฒนธรรมเข้าหากัน เมื่ออธิบายโดยใช้หลักเหตุผลภายใต้ระบบทุนนิยม ก็จะอธิบายเชื่อมโยงการระดมทุน ระดมคน และระดมกำลัง เมื่อระดมได้แล้วก็มีกำลังต่อรอง เพราะวาทกรรมในที่นี้คืออำนาจแฝงนั่นเอง
ทางออกสำหรับการอยู่ในสังคมหลังนวยุคที่ถูกต้อง ต้องกระทำ ๒ สิ่งคือ
๑) ใช้ภาษาที่ถูกต้อง คือภาษานัยวิเคราะห์ (โยนิโสมนสิการภาษา) แทนภาษาวาทกรรม (ตรรกะ)
๒) เดินตามทางสายกลาง คือ อุทิศตนบำเพ็ญบารมีด้วยจิตที่ปล่อยวาง
เมื่อทำได้อย่างนี้ พระพุทธศาสนาก็กลายเป็นทางออกให้แก่สังคมอย่างแท้จริง โดยที่ไม่ได้เป็นตัวสร้างปัญหาและไม่ได้พอกพูนตัณหา