วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ที่มาพระอวโลกิเตศวร (กวนยิน)




ถ้าพูดชื่อนี้ “พระอวโลกิเตศวร” ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาแบบมหายานก็คงไม่คุ้นชื่อนัก แต่ถ้าบอกว่า “เจ้าแม่กวนอิม” ชาวพุทธในประเทศไทยก็คงรู้จักบ้างไม่มากก็น้อย เพื่อให้เป็นประโยชน์ทางการศึกษาพระพุทธศาสนาจึงขอนำเรื่องนี้มาเสนอลงในหนังสือพิมพ์ไทยพุทธ ฉบับปฐมฤกษ์นี้ สำหรับผู้ที่มีความศรัทธาในพระแม่กวนอิมโพธิสัตว์แล้ว ก็อาศัยมหาเมตตาจากท่านได้เป็นพลังช่วยเหลือเกื้อกูลให้หนังสือพิมพ์ไทยพุทธได้ปรากฎชื่อในบรรณพิภพอีกฉบับหนึ่ง

ที่มาของพระอวโลกิเตศวร

ก่อนที่พระแม่กวนอิม หรือกวนยินโพธิสัตว์จะเป็นที่รู้จักกันในชื่อนี้ กาลก่อนนั้นชื่อที่เรียกพระองค์โพธิสัตว์ว่า อวโลกิเตศวร ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีบทบาทมากทั้งที่ปรากฏในวรรณกรรมเป็นปฏิมากรรม จิตกรรม และเป็นศูนย์รวมของศรัทธาพุทธศาสนิกฝ่ายมหายานกันทุกนิกายในทุกประเทศ คือ พระอวโลกิเตศวร ความเชื่อที่มีต่อพระมหาโพธิสัตว์องค์นี้ ดุจดังความเชื่อของผู้คนที่มีต่อพระนารายณ์ของฮินดูและความเชื่อที่มีต่อท้าวสักกะ (พระอินทร์) ของชาวพุทธเถรวาท พระอวโลกิเตศวรนั้นมีอิทธิพลอย่างมาก ทั้งได้รับความนับถือไม่เสื่อมคลาย

ความเป็นมาของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนั้นยังไม่ชัดเจน แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เชื่อว่า พระอวโลกิเตศวรคงมีมาแต่ก่อน พ.ศ. ๕๐๐ เพราะคัมภีร์มหายานที่เก่าแก่ที่สุดก็มีอายุประมาณ พ.ศ. ๖๐๐ แม้ว่าจะมีนักปราชญ์ทางตะวันตกบางท่านเห็นว่า ในบทที่ ๒๔ ของคัมภีร์เล่มนี้ ในสำนวนร้อยแก้วที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพระอวโลกิเตศวรที่มีความยิ่งใหญ่กว่าพระพุทธเจ้า ข้อความนั้นมีว่า

“พระศรีศากยมุนีได้รับสั่งแก่พระโพธิสัตว์อักษยมติว่า บรรดาสิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดที่ได้แสดงความต่อพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร แม้แต่เพียงครั้งเดียว ก็จักได้บุญกุศลเท่ากับผู้ซึ่งกราบไหว้บรรดาพระพุทธเจ้าซึ่งมีอยู่ ๖๒ เท่าของเม็ดทรายในแม่น้ำคงคามาตลอดชีวิต”

ข้อความเหล่านี้คงมีอยู่ในคัมภีร์อื่นที่เก่ากว่าคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตรแล้วนำมาต่อเติมในคัมภีร์นี้ จากข้อความดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า พระอวโลกิเตศวรนั้นมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและวิถีความคิดของประชาชนโดยทั่วไปอยู่ก่อนแล้ว ตามลักษณะและบทบาทของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นั้นเป็นองค์แห่งการุณ (Goddess of Mercy) คือ ความกรุณา

พระโพธิสัตว์ ผู้ปรากฏกายอยู่ทั่วไปเพื่อช่วยสรรพสัตว์ผู้ได้รับความทุกข์เสมอ ปาฏิหาริย์เช่นนี้ได้รับการสันนิษฐานว่า มีส่วนคล้ายคลึงกับเทพเจ้าสะเราษะ (Srausha) หรือเทพเจ้ามิถระ (Mithra) ของอิหร่าน ซึ่งปรากฏในคัมภีรอเวสตะที่มีบาทบาทว่าเป็น เทพเจ้าแห่งแสงสว่าง เป็นผู้ให้ชีวิต เป็นเทพเจ้าแห่งความจริง แห่งความซื่อสัตว์ ให้คำมั่นสัญญา ลงโทษผู้ไม่ซื่อสัตว์ ช่วยผู้ที่ตายไปแล้วให้ไปสู่สวรรค์ พระอวโลกิเตศวรก็มีปาฏิหาริย์เช่นนี้และช่วยเหลือให้ผู้ที่ทำความดีเมื่อตายไปจะได้ไปสู่สวรรค์ชั้นสุขาวดี




ภาพเหล่านี้ปรากฏที่ถ้ำตุนฮวงของจีน ยิ่งในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ กษัตริย์ราชวงศ์โสสิสานิดของอิหร่านถูกกองทัพอาหรับรบชนะเป็นเหตุให้แนวความคิดของเทพเจ้าของอิหร่านมาผสมกับพระอวโลกิเตศวรมากยิ่งขึ้น ยิ่งมีการพรรณนาอภินิหารมากมายจนทำให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาสับสน เพราะนำไปผสมเข้ากับเทพเจ้าของลัทธิศาสนาอื่น

คัมภีร์ที่พรรณนาอภินิหารและกิจกรรมของพระอวโลกิเตศวร เช่น คัมภีร์สุขาวดีวยูหสูตร, คัมภีร์อมินายุรพุทธานุสมฤติสูตร, คัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร, คัมภีร์โลเกศวรศตกสูตร, คัมภีร์การัณฑ วยูหสูตร, คัมภีร์มัญชุศรีมูลกัลปะ, คัมภีร์สาธนมาลา เป็นต้น โดยเฉพาะคัมภีร์อมิตายุรพุทธานุสมฤติสูตร พรรณาว่า
“พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ทรงมีลักษณะเป็นเจ้าแห่งจักรวาล ขั้นต้นพระองค์มีขนาดที่วัดไม่ได้ มีเศียรสูง ๓ เมตร พระองค์สูง ๘๐๐ เมตร เปรียบเทียบกับภูเขา ทุกขุมขนของพระองค์มีโลกอยู่ภายใน พระองค์ทรงบันดาลให้เกิดมีเทพเจ้า”

ดังนั้น จิตรกรทั้งหลายจึงนำลักษณะเหล่านั้นมาวาดและแกะสลักให้เห็นเป็นรูปลักษณ์ที่น่าศรัทธาเลื่อมใสและบางครั้งก็มีรูปลักษณ์ที่น่ากลัว จากนัยนี้ทำให้สันนิษฐานได้อีกว่า พระอวโลกิเตศวร นั้นมีลักษณะเหมือน “ปชาบดี” ผู้สร้างชีวิตและจักรวาล ในคัมภีร์พระเวท ดุจดังพรหมันในกาลต่อมา ในขณะเดียวกันในคัมภีร์มัญชุศรีมุลกัลปนะได้พรรณาลักษณะของท่านคล้ายดั่งพระอิศวรในศาสนาพราหมณ์นิกายไศวะ คือ พระศิวทฤษฏิคุรุ เทพเจ้าแห่งการมองเห็น จนมีผู้กล่าวว่าพระอวโลกิเตศวรก็คือพระอิศวรในพระพุทธศาสนา ดังที่ปรากฏในคัมภีร์พฤตัสถกถาของแคว้นแคชเมียร การประทับเหนือดอกบัวก็ดี เทพยดาล้อมรอบก็ดี ล้วนมีส่วนเหมือนกัน

ในรัชสมัยของราชวงศ์กุษาณะ พบรูปสลักของพระอวโลกิเตศวร ศิลปะคันธารและกุษาณะ รูปสลักนั้นมีรูปพระอมิตาภะอยู่เหนือพระนลาฏ หลักฐานนี้สันนิษฐานเทียบใกล้เคียงกับเทพเจ้าของอิหร่านมากคือ เทพเจ้าซุรวานอักนารัก (Zurwan Akanarak) ของชนเผ่ามาจ (Mage) ซึ่งอยู่แถบซินเดรีย เทพองค์นี้เป็นเทพแห่งแสงสว่าง (อมิตาภะ) เป็นเทพเจ้าประจำทิศตะวันตกซึ่งเป็นหนึ่งในห้าองค์สำคัญ ต่อมามีการนับถือเทพเจ้า ๓ องค์ คือ พระอมิตาภะอยู่กลาง พระอวโลกิเตศวร อยู่ด้านขวา พระมหาสถามปราปต์ อยู่ด้านซ้าย ต่อมาเมื่อความเชื่อนี้ไปเจริญในทิเบต พระวัชรปาณีโพธิสัตว์มาแทนพระมหาสถามปราปต์ โดยมีลักษณะ ๓ ประการคือ แสงสว่างเทพเจ้า ปัญญา


อ่านต่อฉบับหน้า

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๔)
















ภาพในห้วงละเมอเข้ามาเสียดแทงจิตใจของมันเสมอ
ภาพนั้นคล้ายดั่งเป็นความจริงที่เกิดขึ้น
มันย่อมทราบจิตใจของพ่อแม่และธากีณีดี
มีแต่ต้องทำตามปณิธานของตนให้ถึงที่สุดเท่านั้นจึงจะทำให้มันรู้สึกผิดน้อยลง

หนทางแห่งความโดดเดี่ยวยังไม่สิ้นสุด
มันต้องเดินต่อไป
ไปให้ถึงสถานที่ที่มันจะพบกับแนวทางการบำเพ็ญตน

มันทราบซึ้งใจต่อครอบครัวของ มัณนิธา ที่ช่วยเหลือและให้อาหารประทังชีวิต
มันคงได้แต่เก็บความซาบซึ้งนี้ไว้ในใจ มัณนิธา ขอร้องให้มันอยู่ต่ออีกสักหลายวัน แต่มันย่อมทราบว่า

บ่อเกิดแห่งความรัก
ประการหนึ่งย่อมมาจากความสงสาร
ยิ่งผู้อื่นดีต่อตนเท่าไร
ความสงสารก็ยิ่งเกิดขึ้นมากเท่านั้น
และความรักย่อมแตกดอกออกผล
เป็นทวีคูณ…

“เดินตามทางเส้นนี้ไป ข้ามภูเขาหิมะเบื้องหน้า” นางกล่าวพลางชี้ไปเบื้องหน้า “ก็จะเข้าเขตแดนเมืองกาศมีระแล้ว”

คำอำลาของนางยังคงดังอยู่ภายในสมอง “เมื่อท่านบรรลุจุดหมายแล้ว หวังว่าคงจำทางเส้นนี้ได้!”
เสียงนั้นมีสำเนียงสั่นเครืออยู่ภายใน มันไม่อาจรอให้นางกล่าวมากความ มิใช่มันไม่ชอบการกล่าวอำลา แต่ที่มันไม่ปรารถนาจะเห็นคือ “น้ำตาสตรี”

มีบุรุษไม่น้อยที่ต้องพ่ายแพ้แก่น้ำตาสตรี
มีกี่มากน้อยที่สังเวยชีวิต
เพราะน้ำตาสตรีเช่นกัน

….น้ำตา….เป็นอาวุธประการหนึ่ง !
และยังคงเป็นอาวุธที่ใช้ได้ผลเสมอมา
โดยเฉพาะน้ำตาที่เอ่อนองบนใบหน้าของสตรีที่งามสะคราญ





