
โศลกที่สิบเก้า "เดินสมาธิ"
เดินคือเดิน
ก้าวย่างเต็มย่างก้าว
เดินสมบูรณ์ภาวะการเดิน
เดินไม่ต้องคิดเดิน
เดินคือทั้งหมดการเดิน
มีสติแล้วเดิน
เดินมีสติเป็นการเดินสมาธิ
เดินสมาธิย่อมเกิดปัญญา
ทำให้เราเห็นความงดงาม
ของการเดินที่เคลื่อนไป
การเดินมีเพียงหนึ่ง
หนึ่งนั้นคือก้าวเดิน
เดินคือเดิน
ก้าวย่างเต็มย่างก้าว
เดินสมบูรณ์ภาวะการเดิน
เดินไม่ต้องคิดเดิน
เดินคือทั้งหมดการเดิน

มีสติแล้วเดิน
เดินมีสติเป็นการเดินสมาธิ
เดินสมาธิย่อมเกิดปัญญา
ทำให้เราเห็นความงดงาม
ของการเดินที่เคลื่อนไป
การเดินมีเพียงหนึ่ง
หนึ่งนั้นคือก้าวเดิน
การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้นต่างไปจากการฝึกฝนแบบอื่นๆ การฝึกฝนอื่นๆ ฝึกเพื่อใช้ในยามที่ต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นวิ่ง เดิน ร้องเพลง กีฬา การแข่งขัน การทำอาชีพ การฝีมือ ศิลปะป้องกันตัว ล้วนแล้วแต่นำมาใช้ในขณะที่ต้องใช้ นอกเหนือจากนั้นก็เก็บไว้ไม่ต้องใช้ ใช้ในยามจำเป็น ใช้ในยามต้องแสดงออกว่ามีความสามารถ แต่การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้นเป็นการฝึกเพื่อให้มีอยู่กับตนเองตลอดไป


นักปฏิบัติหลายคนทำตัวเหมือนคนเข้าฌาน ในยามเข้าฌานดูเหมือนสงบนิ่ง เรียบร้อย สำรวม เป็นพุทธบริษัทที่ดี แต่พอออกจากฌานก็วุ่นวาย ฟุ้งเหมือนเดิม บางทีหนักกว่าผู้ที่ยังไม่ได้ปฏิบัติเสียอีก หรือทำตนเหมือนรับศีลต่อหน้าพระ พ้นจากหน้าพระก็ลืมศีล นักปฏิบัติที่สงบนิ่งเฉพาะแต่ในยามอยู่ภายในห้องปฏิบัติ แต่พอออกจากห้องปฏิบัติก็ฟุ้งเหมือนเดิม นี่แสดงว่ามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากแนวทางพระพุทธศาสนาที่แท้จริง จึงไม่สงสัยเลยว่า ฤาษีทั้งหลายทำไมจึงโกรธ เมื่อมีใครมายั่ว หรือมาทำให้ไม่พอใจ หรือมาแย่งของรักของหวง ทั้งที่ฤาษีเหล่านี้บำเพ็ญเพียรจนได้ฌานในระดับต่างๆ นั่นก็แปลว่า ความสงบนั้นมีเฉพาะในยามปฏิบัติเท่านั้น พอไม่ปฏิบัติก็หายไป เหมือนดั่งช่างฝีมือ จะมีฝีมือก็ตอนที่ทำงานเท่านั้น พอไม่ได้ทำงานก็ไม่มีฝีมือ แสดงว่า การปฏิบัติธรรมก็เหมือนเป็นงานฝีมืออย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งไม่ถูกต้องตามแนวพระพุทธศาสนา
จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าตอนที่บำเพ็ญตนเป็นสิทธัตถะดาบสอยู่กับอาจารย์ทั้งสอง ได้ปฏิบัติจนกระทั่งถึงระดับสูงสุดของสมาบัติ แต่พอออกจากสมาบัติก็กลับเข้าสู่อารมณ์เดิมๆ คือ มีความอยาก มีความไม่พอใจ มีความยินดี ไม่ยินดี มีรัก มีโหยหา มีอึดอัดขัดข้องอยู่อีก นั่นแสดงว่ามีอะไรไม่ถูกต้องตามแนวทางแน่ ท่านจึงได้หลีกไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเป็นปกติทุกลมหายใจเข้าออก ทุกขณะในการดำเนินชีวิตไป การอยู่ในการปฏิบัติเป็นเช่นไร การดำเนินชีวิตก็ต้องเป็นเช่นนั้น ความสงบในขณะอยู่ในสมาธิเป็นเช่นใด การทำงานก็ต้องสงบเช่นนั้น มิใช่ปฏิบัติเพียงหนึ่งชั่วโมง นอกนั้นไม่ได้ปฏิบัติ แล้วชีวิตที่นอกการปฏิบัติเป็นอะไร ชีวิตที่เป็นชีวิตก็ต่อเมื่ออยู่ในขณะปฏิบัติธรรมแล้วชีวิตนอกเหนือจากนั้นเล่าเป็นชีวิตที่ไร้ชีวิตหรือไร

คำว่า การปฏิบัติที่ใช้ในที่นี้มีความหมาย คือ การมีสติอยู่ทุกขณะ เมื่อมีสติอยู่ทุกขณะ ก็แสดงให้เห็นถึงการทำตนเป็นผู้สังเกต เมื่อใดสังเกตอิริยาบถที่ตนปฏิบัติ เมื่อนั้นความเป็นตัวตนจะสิ้นลง ทวิภาวะจะสิ้นลง จะเหลือแต่อิริยาบถที่มีสติสังเกตเฝ้าดูอยู่เท่านั้น มีเพียงหนึ่งเดียวคือสิ่งนั้น อย่ากล่าวไปมากกว่านี้เลย แม้กระทั่งคิดว่า ฉันกำลังปฏิบัติสมาธิ ก็ไม่ใช่สมาธิแล้ว นั่นเป็นเพียงความคิดปฏิบัติเท่านั้น เป็นการอ่านเมนูเรื่องปฏิบัติเท่านั้น เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจเรื่องสมาธิให้ถูกต้อง สมาธิมิได้หมายถึง อุปจารสมาธิ อัปนาสมาธิ อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิตอะไรนั่นเลย นั่นเป็นเพียงขั้นตอนที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการที่จิตกำลังทำงาน สมาธิคือความรู้สึกตัว ความตื่นตัวทั่วพร้อมของสติเท่านั้นเอง เป็นการเฝ้าสังเกตมองดูทุกอากัปกิริยาที่สมบูรณ์ เพราะสมาธิมาจากสติที่แรงกล้า พลังแห่งสติย่อมทำให้จิตหายไป สมาธิมิใช่การเพ่ง สมาธิมิใช่การเข้าไปยึดเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอารมณ์ อารมณ์นั้นเป็นเพียงเครื่องมือทำให้สติได้สังเกตจิตได้ง่ายเท่านั้น สติที่สังเกตได้อย่างสมบูรณ์พร้อม นั่นแหละคือ สมาธิในความหมายนี้ มีแต่ความเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นหายใจ การนั่ง การยืน การทาน การอุจจาระ ปัสสาวะ อย่าได้นำเอาคำว่า “สมาธิ” ไปแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Meditation” แล้วแปล Meditation ไปเป็น “Concentration” อีกที ซึ่งทำให้ไกลออกไปจากความหมายของคำว่า สมาธิในพระพุทธศาสนามากขึ้นๆ

เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราเข้าใจเรื่องสมาธิผิด ก็ทำให้ระบบการปฏิบัติสมาธิผิดตามไปด้วย เมื่อไรก็ตามที่เราเข้าใจ “การทำสมาธิ” เป็นเหมือนต้องทำอะไร กับอะไรสักอย่าง นั่นเท่ากับการเข้าสู่ระบบที่ผิด เมื่อเดินตามระบบที่ผิดพลาด ผลที่ออกมาก็เป็นอีกส่วนหนึ่งทั้งที่เกี่ยวข้องกัน การทำสมาธิก็คือ การอบรมสติให้เข้มแข็งในการเป็นเพียงผู้เฝ้าดูเท่านั้น เฝ้าดูทุกอย่างที่เคลื่อนไหว แต่จุดใหญ่ที่นักปฏิบัติทั้งหลายนิยมเฝ้าดูก็คือ ลมหายใจ เพราะลมหายใจเป็นสิ่งที่มีกับเราอยู่ตลอดเวลา เฝ้าดูก็คือเฝ้าดูเท่านั้น นั่นแหละคือการทำสมาธิ ถ้าหากเปลี่ยนจากการเฝ้าดูมาเป็นการเพ่งแล้ว นั่นเท่ากับเป็นวิทยาศาสตร์ทันที เพราะจิตเพ่งย่อมจับอารมณ์ขึ้นมา เมื่อนั้นจิตก็ทำงาน แล้วเมื่อนั้นจิตก็มีพลัง กลายเป็นผู้มีพลังจิตไปในที่สุด เมื่อนั้นก็เข้าสู่ขอบเขตของการมีจิต (อัตตา) แต่เมื่อใดมีสติ จิตก็หายไป (อนัตตา) เป็นแต่เพียงอาการเท่านั้น นี่เป็นขีดเส้นบางๆ ที่แสดงให้เห็นถึงสมาธิกับไม่ใช่สมาธิในพระพุทธศาสนา อยู่ที่ความมีอยู่ของอัตตาและอนัตตานี่เอง

เชื่อกันว่า มีอยู่คราวหนึ่งพระอานนท์พุทธอุปัฏฐากสังเกตการณ์การบรรทมสีหไสยาสน์ของพระพุทธเจ้า เกิดความสงสัยว่า เหตุใดพระองค์ประทับนอนท่าใดก็รักษาท่านั้นไว้ตลอดเวลาที่ทรงประทับนอน หลังจากที่ได้โอกาสจึงได้ทูลถามความสงสัยนั้นกับพระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสว่า การประทับนอนของพระองค์นั้นเป็นอาการนอนที่สมบูรณ์พร้อมแห่งสติ พระองค์ปฏิบัติบรรทมสีหไสยาสน์จึงมีความสมบูรณ์เช่นนั้น นี่จึงเป็นการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง ต้องปฏิบัติธรรมทุกขณะจิต ไม่เว้นแม้กระทั่งที่นอน (หลับ) ยืน เดิน หรือนั่ง กายเท่านั้นหลับพักผ่อน แต่สติไม่ได้หลับตาม
โศลกว่า “เดินสมบูรณ์ภาวะการเดิน” การมีสติเฝ้าดูการเดิน กับการคิดเดินนั้นมีลักษณะต่างกัน การมีสติเดินนั้นมีแต่การเดินเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น แต่การคิดเดิน เป็นการแสดงให้เห็นตัวตนที่กำลังเดิน เรากำลังเดิน เรากำลังก้าวย่างไป การเดินยังประกอบไปด้วย เรากับการเดิน เมื่อใดที่มีเราเดิน ก็เป็นการแยกเป็น ๒ ภาวะ หนึ่งคือความคิดว่าเป็นเรา หนึ่งคือการเดิน การเดินเช่นนี้มีผลทำให้เกิดอาการตัวลอยบ้าง เกิดอาการเดินไม่หยุดบ้าง การอาการพึงพอใจกับการเดินบ้าง ก็เพราะใจนั้นได้สั่งให้เดิน เมื่อใจสั่งให้เดินใจย่อมเสพผลของการเดินนั้น ถ้าหากมีสติเฝ้าดูการเดิน การเดินก็เพียงการเดินหนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่มีอยากเดิน ไม่อยากเดิน ชอบเดิน ไม่ชอบเดิน พอใจเดิน ไม่พอใจเดิน ความเป็นธรรมดาที่ธรรมดาสมบูรณ์แบบนี้ ต้องฝึกฝน เมื่อฝึกฝนแล้วทุกการเดินต่อไปก็เป็นการเดินสมาธิ การเดินสมาธิไม่มีคิดเดินอยู่ภายในนั้น
เป็นเรื่องยากต่อการที่จะทำให้ผู้ที่ไม่สามารถแยกแยะกายออกจากใจให้มีเข้าใจเรื่องไม่คิดแล้วทำได้อย่างไร เพราะโดยทั่วไปย่อมเข้าใจแต่มิติเดียวก็คือ การคิดเสียก่อนถึงจะทำได้ คนทั้งหลายจะเข้าใจได้อย่างไรว่า ยังมีสิ่งที่เกินความคิดที่ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือที่ตนรับรู้อยู่นั้นจริง มีมนุษย์ต่างดาวคนหนึ่งมาเยี่ยมโลกมนุษย์ เขาบอกให้ทราบถึงภาษาและบรรยากาศดาวของเขาให้แก่มนุษย์ฟังว่า ภาษาที่มีอยู่ในโลกมนุษย์นี้ทั้งหมดไม่เหมือนภาษาของเขาได้เลย และบรรยากาศก็ต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง มนุษย์ในโลกนี้ย่อมคิดไม่ได้แน่ว่า มันเป็นอย่างไร เพราะมนุษย์ไม่มีประสบการณ์อย่างนั้นมาก่อน ที่ทำได้ก็คือ นำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ตนสัมผัสและรับรู้เท่านั้น การที่จะเข้าใจถึงการเดินโดยไม่คิด มีความยากอย่างนั้น ต้องเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งนั้นก่อนจึงจะเข้าใจว่า มีภาวะแห่งความสมบูรณ์ในกิริยานั้นโดยไม่คิดได้ วิธีก็เพียงมีสติอย่างสมบูรณ์กับกิริยานั้น
สังเกตทุกวันนี้ผู้คนทั้งหลายที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างไร้จิตวิญญาณ ทุกลมหายใจของเขาถูกตัณหาชักนำให้ดำเนินชีวิตไปตามแต่ที่บัญชา ตัณหานั้นอยู่ได้ก็เฉพาะที่จิตบงการเท่านั้น แต่เมื่อใดก็ตามมีสติเฝ้าสังเกตแล้ว ช่องว่างระหว่างจิตกับกายจะหายไปทันที จะกลายเป็นสิ่งเดียว ไม่มีทวิภาวะ ไม่มีอัตตาหลงเหลืออยู่ภายใน เป็นแต่อาการที่แสดงออกที่สมบูรณ์เท่านั้น
ภิกษุคณะหนึ่งออกไปบำเพ็ญเพียรสมณธรรม แต่ในขณะปฏิบัติธรรมไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง นอน ก็มีแต่ความคิดประกอบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอยากได้นั้น อยากได้นี่ อยากฉันสิ่งนั้น อยากฉันสิ่งนี้ ใช้เงื่อนไขในการปฏิบัติธรรมคือ ถ้า.....ก็จะ.....ทุกเรื่องไป เช่น ถ้าได้อาหารดี ก็จะทำให้ปฏิบัติธรรมได้ดี ถ้าได้ที่นั่งดี ก็จะทำให้ปฏิบัติธรรมได้ดี ในที่สุดก็มีถ้า...ก็จะตลอดไป ใกล้สถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนั้นมีอุบาสิกาผู้บรรลุโสดาบันผู้หนึ่ง คอยอุปัฏฐากพระภิกษุคณะนี้อยู่ นางทราบวาระจิตของพระภิกษุเหล่านั้นด้วย ก็เพราะทุกคนส่งจิตออกไปในขณะปฏิบัติธรรม ไม่ว่าภิกษุเหล่านั้นคิดอยากได้อะไร นางก็หาสิ่งนั้นมาให้ตรงกับความต้องการ เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ภิกษุคณะนั้นไม่สามารถอยู่ปฏิบัติธรรมที่แห่งนั้นได้อีก ก็เพราะจิตที่ส่งไปนั้นประกอบไปด้วยกุศล อกุศล แส่ซัดส่ายไปกับทุกเรื่อง นางย่อมรู้หมดแน่ จึงเกิดความละอายที่จะอยู่ปฏิบัติได้อีกต่อไป เมื่อใดก็ตามไม่ปฏิบัติธรรมด้วยความคิด เมื่อนั้นก็ไม่มีอะไรที่ส่งออกไป เมื่อนั้นทุกอย่างเป็นเพียงอาการที่มีสติกำกับเท่านั้น สติที่กำกับอยู่กับอากัปกิริยาทำให้เหลือแต่ความเป็นหนึ่งเดียว เดินก็คือ เดิน นั่งก็คือนั่ง นอนก็คือนอน กินก็คือกิน ไม่คิดกิน ไม่คิดนอน ไม่คิดนั่ง
โศลกว่า “เดินสมาธิย่อมเกิดปัญญา ทำให้เราเห็นความงดงาม” คนทั้งหลายบนโลกน้อยคนนักจะเข้าใจถึงความงามแห่งว่าง เพราะความว่างนั้นไม่สามารถเข้าใจได้ของคนที่มีแต่ความคิดอยู่ตลอด บอกไปเขาก็ไม่สามารถรับรู้ได้ สิ่งที่เขารับรู้ได้ก็ต่อเมื่อเห็นสิ่งเหล่านั้นเสียก่อน เห็นแล้วก็ต้องผ่านกระบวนการคิดเสียก่อนว่างามหรือไม่งาม กระบวนการที่เขาคิดนั้นก็คือปรีชาญาณ หรือความรู้ที่เขาสั่งสมมานั่นเอง ดูว่าเข้าได้กับคำพูดของใคร ตำราเล่มไหน คัมภีร์เล่มใด จึงไม่แปลกเลยที่คนที่วุ่นทั้งวันจึงเห็นคนที่อยู่นิ่งๆ เป็นคนเกียจคร้านในสายตา พวกสายตานักธุรกิจที่มองคนเป็นต้นทุนกำไรคำนวณเป็นเงินทองหมด ที่เห็นได้ชัดกว่านั้นก็คือ ความคิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มองเห็นพระสงฆ์เป็นขยะของสังคม เป็นกากของสังคม เพราะพระสงฆ์ไม่ทำอะไร แต่ทำนาบนหลังคน เอาแต่นั่งนิ่งๆ

เรื่องเล่าว่า ชาวเยอรมันคนหนึ่งตายไปขึ้นสวรรค์ พระเจ้าถามว่า เจ้าเสียชีวิตตอนมีอายุเท่าไร เขาตอบว่า ๗๐ ปี พระเจ้าไม่แน่ใจจึงถามเขาว่า ใช่จริงหรือเปล่า เขายืนยันว่าจริง พระเจ้าจึงบอกเขาว่า งานที่เจ้าทำนั้นมันเทียบเท่าคนมีอายุ ๒๓๐ ปีเลยทีเดียว เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ชาวเยอรมันเป็นตัวแทนของชาวตะวันตกทั้งหลายและตัวแทนของลัทธิคอมมิวนิสต์ในวิญญาณที่หลงเหลืออยู่ เขาไม่เข้าใจหรอกว่า การอยู่อย่างไม่คิดนั้นอยู่อย่างไร การอยู่นิ่งๆ นั้นงดงามอย่างไร สายตาของเขาไม่สามารถเข้าใจได้ถึงสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากวัฒนธรรมที่หล่อหลอมให้เขาเป็นนั้นไม่เอื้อต่อการให้เห็นด้วยสายตาอื่น คนที่อยู่นิ่งๆ คือ คนไร้ประโยชน์ในสายตาของเขาเท่านั้น

ผู้หญิงชาวอเมริกันคนหนึ่ง ตะโกนถามลูกชายที่นั่งเงียบใต้ต้นไม้ในสวนที่บ้านว่า ลูกกำลังทำอะไรอยู่ ลูกชายตอบว่า ไม่ได้ทำอะไร เธอถามย้ำอีก แน่ใจนะว่าไม่ได้ทำอะไร แล้วที่นั่งอยู่นะนั่งทำอะไร ลูกชายก็ตอบอีกว่า ไม่ได้ทำอะไร เธอจึงถามอย่างกังวลอีกว่า บอกมาเถอะว่าลูกกำลังทำอะไร ลูกชายก็เลยใช้เท้าเขี่ยก้อนหินก้อนหนึ่งแล้วบอกว่า เขี่ยก้อนหิน เธอจึงโล่งใจ บอกออกไปว่า แม่ว่าแล้ว เธอต้องทำอะไรอยู่แน่ๆ ลูกชายได้เคยผ่านการปฏิบัติธรรมมา รู้ถึงความงดงามแห่งความว่าง รู้ถึงความยากของการไม่ทำอะไร เพราะคนอเมริกันก็ไม่เข้าใจว่า นั่งนิ่งๆ รอให้ดอกไม้บานนั้นงดงามอย่างไร นักธุรกิจทั้งหลายก็ไม่เข้าใจว่า การอยู่อย่างไม่คิดนั้นงดงามได้อย่างไร

ความงดงามของความว่าง (no+thing = nothingness) คือ ความไม่มีอะไรนั้นเป็นความงามที่สมบูรณ์ เป็นความงามที่ไม่ได้เกิดผ่านความคิด เป็นความงามที่ไม่ได้เกิดผ่านความรู้สึก แต่เป็นความงามที่ดำรงอยู่ตามความเป็นจริงของมัน เป็นความงามที่สติเฝ้าดู เป็นความงามที่เกิดจากปัญญา ปัญญาที่มองเห็นสรรพสิ่งสวยงาม
นี่คือ โศลกที่สิบเก้าแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา