วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

๓. อาหารปกาสินี

ทั้งสามภูมิสัตว์หาแต่อาหาร
เป็นอาการตัณหาความกระหาย
เพื่อเติมเต็มชีวะก่อนจะตาย
แต่เมื่อได้เสริมสารชีวันคง
กวฬิงการะผัสสาหาร
อีกวิญญาณเจตนาก็มาส่ง
อนุเคราะห์หมู่สัตว์ตามชั้นลง
จนใหลหลงภาวะอัตตาตน


          อาหารชื่อว่าหนึ่ง” ที่ชื่อว่า หนึ่ง เพราะสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงดำรงอยู่ด้วยอาหาร “สพฺเพ สตฺตา    อาหารฏฺฐิติกา” (ที.ปาฏิ.๑๑/๒๒๖/๑๙๕) ที่นำข้อความนี้ขึ้นต้นก็เพราะอาหารเป็นเรื่องสำคัญในกาลทุกเมื่อ โดยเฉพาะโลกยุคปัจจุบัน ปัญหาเกิดขึ้นทั้งทรัพยากรเกี่ยวกับอาหารจะไม่เพียงพอเนื่องจากประชากรของโลกเพิ่มขึ้น ปัญหาวัสดุสารปนเปื้อนอาหาร การใช้วัสดุเติมแต่งสีสัน บรรจุภัณฑ์ การใช้สารในการเก็บรักษาอาหาร การอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟ การสร้างอาหารขึ้นด้วยสารเคมี รวมทั้งอาหารเสริมต่าง ๆ ล้วนเป็นปัญหาเกี่ยวกับอาหารทั้งสิ้น นอกจากนั้น ยังเป็นปัญหาเกี่ยวกับนิสัยการทานอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย นิสัยการทานอาหารเพื่อสังคม และเป็นสารตั้งต้นให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บประการต่าง ๆ ด้วย จำเป็นอย่างยิ่งต้องสนใจอาหารให้มากขึ้นจริงๆ มิฉะนั้นก็กลายเป็นโรค “โอษฐภัย” คือภัยอันเกิดจากการกินหรือรับประทาน
          สำหรับอาหารในทัศนะของพระพุทธศาสนานั้นได้รับการจัดให้เป็นหนึ่ง เพราะสรรพสัตว์ทั้งหลายที่วนเวียนอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ทั้ง ๓๑ ภูมินี้ล้วนต้องอาศัยอาหารทั้งสิ้น แต่อาหารสำหรับแต่ละภูมินั้นแตกต่างกันไปตามประเภทของอาหารที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในสังยุตนิกาย อาหารสูตรว่า “จตฺตาโรเม ภิกฺขเว อาหารา ภูตานํ วา สตฺตานํ ฐิติยา สมฺภเวสีนํ วา อนุคฺคหาย...กวฬีกาโร อาหาโร โอฬาริโก วา สุขุโม วา ผสฺโส ทุติโย มโนสญฺเจตนา ตติยา วิญฺญาณํ จตุตฺถํ” ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างนี้ เป็นไปเพื่อการดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้วหรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด...คือ
๑. กวฬิงการาหาร (อาหาร คือ คำข้าว) ทั้งหยาบและละเอียด
๒. ผัสสาหาร (อาหาร คือ ผัสสะ)
๓. มโนสัญเจตนาหาร (อาหาร คือ มโนสัญเจตนา)
๔. วิญญาณาหาร (อาหาร คือ วิญญาณ) (สํ.นิ.๑๖/๒๘/๑๒)
          สัตว์ที่เกิดในกามภพมีอาหารครบทั้ง ๔ ประการนี้ เทพและพรหมทั้งหลายมีอาหาร ๓ ประการ ขาดแต่กวฬิงการาหาร ส่วนพรหมอสัญญสัตตะเป็นอเหตุกะไม่มีอาหารไม่มีผัสสะ มีฌานเป็นอาหาร ดุจดังสัตว์นรกมีปาปกรรมเป็นอาหาร
กล่าวถึงเฉพาะมนุษย์ที่มีอาหารทั้ง ๔ เป็นอาหาร แต่มนุษย์ให้ความสนใจแต่อาหารที่หยาบประเภทเดียว ได้แก่ อาหารที่ให้สารอาหารทุกประการ ซึ่งเป็นเหตุให้มนุษย์ได้รับพิษจากอาหารที่เหลืออีก ๓ ประการ ได้แก่ อาหารที่ตก ณ จุดกระทบทำให้เกิดปฏิกิริยาเชิงการดำรงชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส ใจรับอารมณ์ นี่คือผัสสาหาร ความตั้งใจทุกประการเป็นมโนสัญเจตนาหาร ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อไปได้ การรับรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นทางอายตนะเป็นวิญญาณาหารทำให้ชีวิตดำเนินไปได้ สังเกตได้จากคนที่ไม่ได้ทานข้าวปลาอาหารเพราะตั้งใจทำอะไรสักอย่างหนึ่งอย่างมุ่งมั่น แสดงถึงกำลังทานมโนสัญเจตนาหาร หรือคนที่รู้สึกเพลิดเพลินไปกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ไม่ทานอาหารได้ กำลังเสพผัสสาหาร หรือคนที่รับรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ทั้งสุข หรือทุกข์ ก็ไม่อาจทานข้าวปลาอาหารได้ เพราะได้ทานวิญญาณาหารเข้าไปแล้ว อย่างนี้เป็นต้น ประเด็นอยู่ที่ว่าเฉพาะช่องทางเดียวคือ ต้องแสวงหาอาหารคือ โภชนาการทั้งหลาย มนุษย์ก็ตกเป็นทาสอาหารอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว แต่นี่เป็นทาสของอาหารอีก ๓ ช่องทาง จึงทำให้ยากต่อการเป็นอิสระจากผู้บงการให้มนุษย์ต้องทานอาหาร และเป็นทาสอย่างสมบูรณ์
          พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องอาหารไว้เพื่อแสดงให้เห็นสาเหตุแห่งอาหารทุกประการ โดยมีจุดมุ่งหมายให้หาทางออกจากผู้บงการอาหารเสียได้ มิฉะนั้น ก็ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งผู้บงการนี้ แล้วผู้บงการที่ให้สัตว์ทั้งหลายต้องทานและเสพอาหารคืออะไร ในเนื้อหาพระสูตร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “อิเม จตฺตาโร อาหารา ตณฺหานิทานา ตณฺหาสมุทยา ตณฺหาชาติกา ตณฺหาปภวา” (สํ.นิ.๑๖/๒๙/๑๒) อาหาร ๔ อย่างนี้มีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นเหตุเกิด มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด”
จากข้อความนี้ก็ทำให้เห็นว่า เมื่อจับต้นตอของผู้บังคับบัญชาผลักดันให้สัตว์ทานอาหารได้แล้วก็สืบหาต้นตาของผู้บงการอีกทีว่าอะไรเป็นต้นตอของตัณหาอีกที ก็พบว่า คือ เวทนา คือ ผัสสะ คือ สฬายตนะ สืบเนื่องขึ้นไปจนถึงต้นตอใหญ่คือ อวิชชา เมื่อพบสาเหตุและต้นตออย่างนี้ก็ทำให้มีหนทางในการออกจากวงจรแห่งทุกข์ได้ด้วยการเข้าสู่กระบวนการสายดับ พระพุทธศาสนามุ่งหมายให้ชีวิตพ้นจากทุกข์ ไม่มีจุดมุ่งหมายอื่นอีก เพราะทั้งหมดของพระพุทธศาสนาคือ เรื่องทุกข์ กับการดับทุกข์ หรือเรียกว่า สายเกิด กับสายดับเท่านั้น
พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เห็นถึง ๔ สิ่งที่ประเสริฐไว้มรรควรรคแห่งขุททกนิกาย ธรรมบทว่า
มคฺคานฏฺฐงฺคิโก มคฺโค     สจฺจานํ จตุโร ปทา
วิราโค เสฏฺโฐ ธมฺมานํ      ทิปทานญฺจ จกฺขุมา. (ขุ.ธ.๒๕/๓๐/๔๖)
บรรดาทางทั้งหลาย ทางมีองค์ ๘ ประเสริฐ, บรรดาสัจจะทั้งหลาย บท ๔ ประเสริฐ,
บรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคะประเสริฐ, บรรดาสัตว์ ๒ เท้าทั้งหลาย พระตถาคตผู้มีจักษุประเสริฐ
          ในที่สุดแห่งการแสดงสาเหตุแห่งอาหารจากนั้นพระพุทธเจ้าตรัสความเป็นเลิศแห่งธรรม คือ วิราคะไว้ในอาหารสูตร ในฐานะธรรมที่เป็นความไม่เหลือแห่งอวิชชาด้วยวิราคะธรรม สังขารจึงดับ “อวิชฺชาย เต̣วว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ...” (สํ.นิ.๑๖/๒๙/๑๒) เหตุใดวิราคะธรรมจึงเป็นสำคัญ เพราะวิราคะธรรมเป็นมรรค มีวิมุติเป็นผล ในขณะที่ผู้เข้ากระแสแห่งพระนิพพานนั้นมีความเห็นชอบในอริยสัจ ๔ ย่อมคลายออกจากมิจฉาทิฏฐิทั้งปวง คลายออกจากกิเลสที่เป็นไปตามมิจฉาทิฐินั้น คลายออกจากการยึดมั่นในขันธ์ และคลายออกจากสรรพนิมิตภายนอก มีวิราคะ (มรรค) มีวิราคะ (นิพพาน) เป็นอารมณ์ มีวิราคะเป็นโคจร เข้ามาประชุมในวิราคะ ตั้งอยู่ในวิราคะ ประดิษฐานอยู่ในวิราคะ คือทั้งนิพพานและธรรมที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ (ขุ.ปฏิ.๓๑/๕๘๘/๓๙๒)
          เมื่อใดก็ตามพระโยคาวจรเข้าไปพิจารณาเห็นความเป็นหนึ่งแห่งอาหาร ทั้งที่เป็นตัวอาหารและปัจจัยแห่งอาหารก็ดี พิจารณาสัตว์ต้องอาศัยอาหารเป็นไปก็ดี ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ในความหน่าย (นิพพิทา) ได้ เพราะผู้พิจารณาย่อมเห็นเหตุแห่งอนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยงในอาหารและเห็นอนิจจตาในสังขารทั้งหลายที่เข้าใจกันว่าสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น ย่อมจะเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้โดยลำดับและบรรลุความบริสุทธิ์ในปรมัตถธรรมในที่สุด
          ด้วยเหตุนี้ในพระพุทธศาสนานั้นมุ่งเน้นให้บริโภคและเสพอาหารด้วยสติ ด้วยอาการแห่งปฏิกูลของอาหาร “อาหาเร ปฏิกูลสัญญา” ไม่เข้าไปหลงใหลในอาหารทั้ง ๔ ประเภท ความเป็นปฏิกูลแห่งอาหารที่พอกระทบกับอัตภาพนี้เท่านั้นก็กลายเป็นของไม่น่าหลงใหล น่าใคร่ น่าพอใจ ไม่ว่าจะกลายเป็นสารอาหาร หรือมีกระบวนการย่อย รวมถึงกระบวนการแห่งอาหารอื่น ๆ แต่การบริโภคอาหารทั้งมวลนั้นเพื่อความยังอัตภาพให้เป็นไป เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ก็เมื่อไม่เข้าไปหลงใหลในอาหาร เวทนาที่เป็นแดนเกิดของตัณหาก็ดับลง ตัณหาก็ส่งเชื้อไปสู่ความอยากอาหารไม่ได้อีกต่อไป เมื่อนั้นวงจรสายดับจึงปรากฏ เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์
  

จบอาหารปกาสินี




๒. ปฏิจจสมุปปาทปกาสินี

เห็นการแตกตัวของวัฏฏะ
เห็นสาระปัจจัยเคลื่อนไหวอยู่
เห็นการเกิดดับกับอณู
จึงรู้รหัสปัจจยา
ผัสสะกระทบมิจบสิ้น
ได้ยินวนเวียนแล้วเปลี่ยนค่า
กลายเป็นสาเหตุเวทนา
รองอกตัณหาอุปาทาน

         

          การดำรงชีวิตของมนุษย์ในโลกนี้เป็นการมีชีวิตแบบปลาถูกโยนขึ้นบก แล้วกั้นรั้วล้อมรอบตนเองด้วยเกรงว่า ปลาตัวอื่นจะล้ำเส้นเข้ามาในแดนของตนเอง ลองนึกดูเถิดว่าเป็นการดำรงชีวิตอยู่อย่างไร ปลาที่ถูกโยนขึ้นบนบกก็รอวันตายอยู่แล้ว พยายามตะเกียกตะกายหาที่ลงสู่น้ำให้ได้ แต่พอต่างก็พยายามดิ้นลงหาแหล่งน้ำ ปลาก็มองเห็นว่า ปลาตัวอื่นจะมาแย่งที่ดิ้นของตนเอง จึงทำรั้วล้อมรอบด้วยคิดว่าจะป้องกันปลาตัวอื่น และปลาทุกตัวก็คิดอย่างนั้น เกิดอะไรขึ้น ก็คือการล้อมรั้วเพื่อฆ่าตนเองก็เท่านั้น เช่นเดียวกับมนุษย์ที่คิดว่าเป็นสัตว์ฉลาดกว่าสัตว์ประเภทอื่น ในที่สุดมนุษย์ก็ติดกับดักความคิดของตนทั้งสิ้น ทุกคนต่างแสวงหาความสุขเช่นเดียวกันหมด เพราะความสุขคือน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ มนุษย์ทุกคนพยายามทำมาหากินแสวงหาทุกสิ่งเพื่อจะได้นำมาซึ่งความสุข แต่ไม่น่าเชื่อว่า มนุษย์กลับเกรงกลัวว่าคนอื่น ๆ จะมาแย่งพื้นที่ดิ้นรนลงสู่น้ำของตน จึงได้กั้นรั้วบ้านแบบมิดชิด ล้อมด้วยกฎเกณฑ์กติกา กฎหมาย สัญญา ฯลฯ จนทำให้มนุษย์ทุกคนต้องตกอยู่ภายใต้พันธะที่ผูกมือ ขา คอ กันทุกคน แต่กลับภาคภูมิใจว่า เป็นของสวยงาม เป็นของป้องกันตนเอง เป็นเครื่องแสดงความร่ำรวย มนุษย์ที่เห็นอย่างนั้นก็หลงผิดคิดไปกับความเชื่ออย่างนั้นจึงเป็นกันทั้งโลก รอวันตายกันทั้งนั้น เมื่อไรจึงจะได้ลงท่าน้ำแห่งความสุขเล่า ก็ในเมื่อทุกคนปิดกั้นตนเองเสียขนาดนั้น
          เป็นเพราะอะไร ก็เพราะความเข้าใจผิด เป็นความเข้าใจผิดในสาระสำคัญอันยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า “มิจฉาปฏิปทา” คือ การดำรงชีวิตที่ผิด เป็นความเข้าใจว่า หากสนองความต้องการทุกอย่างแล้วจะทำให้ตนเองได้รับความสุข แต่หารู้ไม่ว่า นั่นคือการสร้างกำแพงหลายชั้นกั้นตนเองจากการเข้าถึงความสุขมากยิ่งขึ้น เพราะเส้นทางนี้นำไปสู่ความทุกข์ ปลายทางนั้นมีแต่ความแห้งผาก ดุจปลาที่ดิ้นตายบนดินร้อน ยิ่งนานก็ไม่เหลือความชุ่มชื้นให้พอประทังตนได้อีกเลย ความเข้าใจผิดในการดำเนินชีวิตนี้เป็นอย่างไร ก็คือ ความดิ้นรนไปตามกระแสแห่งความอยากอันเกิดจากตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ที่เสพอาหารประจำเฉพาะชนิด คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์
          เอาที่หยาบที่สุด คือ ตา เห็น รูป ถ้าน่ารัก น่าปรารถนา น่าพอใจ มนุษย์ไหนเลยจะยับยั้งกระแสความอยากนี้ได้ สงครามในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเพราะเรื่องนี้มีให้เห็นจนนับไม่ถ้วน ขอยกตัวอย่างที่กลายเป็นระดับตำนาน ก็คือ สงครามรามเกียรติ์ ศึกแย่งพระนางสีดานั่นเอง หรือศึกแย่งพระนางเทราปที แห่งสงครามมหาภารตะ รวมถึงสงครามแย่งนางคลีโอพัตราแห่งอียิปต์ รวมถึงการเห็นทรัพย์สิน เงิน ทอง ของใช้ของผู้อื่นแล้วอยากได้ ก็หาวิธีแย่งชิงกันทั้งทางตรงและทางอ้อม หากรูปนั้นไม่น่ารัก ไม่น่าปรารถนา หรือไม่น่าพอใจ ก็จะพยายามหาทางขจัด เรื่องนี้ก็คือ สงครามที่เกิดจากความโกรธทั้งหลาย หรือเล็กลงมาก็คือ การทำร้าย ทำลาย เข่นฆ่ากันเพราะไม่ชอบ อิจฉา เกลียดขี้หน้า โดยรวมแล้วนี่ก็คือ แย่งอาหารกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันครอง แล้วผลสุดท้ายของการทำตามกระแสความอยากจะนำไปสู่ความสุขได้อย่างไร ยิ่งในระดับที่ละเอียด คือ ธรรมารมณ์ที่เกิดกับใจ เป็นระดับเจตสิกที่มักห่อหุ้มจิต กลุ้มรุมจิต ผลักดันจิตให้ชอบ ไม่ชอบ อยากได้ ไม่อยากได้ สลับไปมา ระยะหนึ่งพอใจ อีกระยะหนึ่งไม่พอใจ เวลาหนึ่งหงุดหงิด รำคาญ แต่อีกระยะหนึ่งหายไป อันเนื่องจากความคิดที่ไหลไปกับกระแสต่าง ๆ นานา กระแสความคิดนี่เองที่น่ากลัวยิ่งกว่า เพราะถ้าหากความคิดนี้จับกระแสที่ร้ายแรง เหนียวแน่น ก็เป็นดั่งเช่น ฮิตเลอร์ หรือ พล พต หรือ พวกญี่ปุ่นที่ทำคะมิกะเซะ ล้วนมาจากความคิดทั้งสิ้น ความคิดที่ผิดห่อหุ้มจิตให้เกิดการตายด้าน ไม่รับทราบถึงชีวิตผู้คน แต่เพื่ออุดมการณ์อะไรบางอย่างมนุษย์ยินยอมทำเช่นนั้น ทั้งที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้รู้จัก ไม่ได้อยากได้ครอบครองตัวบุคคล แต่เพื่อความเป็นใหญ่แห่งจิตที่ท่วมทับด้วยพลังตัณหาในจิตเท่านั้น มนุษย์ก็ยินยอมฆ่าหมู่ผู้อื่น สังเวยชีวิตตนเอง นี่คือเส้นทางนำไปสู่ความทุกข์ทั้งมวล
          ในทางตรงกันข้ามที่เรียกว่า “สัมมาปฏิปทา” เป็นทางสายดับพลังอำนาจแห่งอกุศลทั้งหลาย เป็นสายปฏิโลมที่มีผลมวลรวมแห่งความสุข ได้แก่ การทำลายรั้วที่ล้อมรอบตนเองออกเสีย ต่างพยายามช่วยเหลือกันว่ายลงสู่แม่น้ำคือ ความสุข ร่วมกัน แม้ว่าจะยังไม่ถึง แต่เพราะในตัวปลาทุกตัวนั้นมีเมือกเย็นอยู่ก็พอช่วยให้ชุ่มชื่นพักระยะไปจนกว่าจะถึงแม่น้ำใหญ่ คือ นิพพาน ในที่สุดได้ ต่างเข้าใจตรงกันว่า การพยายามดับกระแสแห่งความอยากอันเกิดจากตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ที่กำลังเสพอาหารประจำเฉพาะชนิด คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ โดยใช้อาตาปะ ความเพียรเครื่องเผาความอยาก สติจับตัวความอยากที่เกิดในที่นั้น ๆ และในขณะนั้น ๆ ไว้ จากนั้นก็สลายลงเสียด้วยสัมปชัญญะ คือ ความรู้แจ้ง
ทั้งมิจฉาปฏิปทาคือ การดำเนินชีวิตที่ผิด และสัมมาปฏิปทา คือ การดำเนินชีวิตที่ถูก นี้หมายเอาสายเกิดและสายดับแห่งปฏิจจสมุปบาทเป็นตัวบ่งชี้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “มิจฺฉาปฏิปทญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ สมฺมาปฏิปทญฺจ ตํ สุณาถ สาธุกํ มนสิกโรถ ภาสิสฺสามิ...อวิชฺชาปจฺจยา ภิกฺขเว สงฺขารา สงฺขารา ปจฺจยา วิญฺญาณํ...อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว มิจฺฉาปฏิปทา...อวิชฺชาย เต̣วว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ...อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว มิจฺฉาปฏิปทา” (สํ.นิ. ๑๖/๑๙-๒๐/๔-๕)
           เพื่อให้เกิดความเห็นแจ้งถึงทั้งสายเกิดและสายดับดังกล่าว จึงยกตัวอย่างบุคคลที่ทำหน้าที่ประจำวันให้เห็นว่า เป็นสายเกิดอย่างไร เช่น นายพาล (นามสมมติ) คิดค้ายาเสพติด (จิตสังขารอันมีอวิชชาเป็นปัจจัย) จึงได้รับรู้ในเรื่องยาเสพติดว่าเป็นทางทำให้รวย (วิญญาณปรากฏ) จากนั้นก็รู้ถึงลักษณะและวิธีการว่าจะทำอย่างไรต่อไป (นามและรูปปรากฏ) จากนั้นก็หาช่องทางไหนดีจึงติดต่อกับเครือข่ายค้ายาเสพติด (สฬายตนะปรากฏ) เมื่อพบกับพ่อค้ายาเสพติดจึงเจรจา (ผัสสะปรากฏ) จึงรู้ว่า ยาจำนวนเท่าไรเป็นเงินเท่าไร บวก ลบ คูณ หาร เรียบร้อยรู้สึกเห็นภาพว่า ตนเองจะรวยแล้ว (เวทนาปรากฏ) จากนั้นจึงได้รับยาจำนวนเท่าที่ตนอยากจะได้เงิน (ตัณหาปรากฏ) เมื่อรับของมาแล้วก็ต้องรับผิดชอบ ไม่ให้หาย ต้องส่งถึงมือลูกค้าให้ได้ (อุปาทานปรากฏ) พอนัดพบลูกค้าเพื่อจะส่งมอบยาเสพติดให้ (ภพปรากฏ) การนำของไปส่งมอบตามวันและสถานที่ที่นัดหมายเป็นที่เรียบร้อย (ชาติปรากฏ) จนกระทั่งการส่งมอบผ่านไป ได้เงินเป็นค่าตอบแทน เงินเริ่มหมดไป (ชราปรากฏ) ความกลัวว่าตนจะถูกหักหลัง ถูกเก็บ ถูกจับ ถูกเอาเปรียบ ฯลฯ (มรณะปรากฏ) การไม่อาจหยุดยั้งจากการค้ายาเพราะเข้าไปในวงจรของเขาแล้วออกไม่ได้ ความทุกข์อันมีประการต่าง ๆ ก็เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง เพื่อน คนค้ายาด้วยกัน ตำรวจ คุก ได้ไหลเข้าสู่คลองแห่งความนึกคิด หวาดผวา มีแต่ความทุกข์ทั้งกายและใจ ต้องป้องกันตัว ในที่สุดชีวิตก็จบอยู่ ๒ ทาง คือ ถูกจับจำคุกตลอดชีวิตหรือถูกประหารชีวิต นี่คือชีวิตที่เดินตามทางของมิจฉาปฏิปทา
          ในทางกลับกัน กรณีของนางสาวบัณฑิต (นามสมมติ) ที่ได้รับการอบรมมาดี เข้าใจถึงการมีสติดำรงชีวิตอยู่ เริ่มต้นที่ตื่นนอนก็คิดว่า ชีวิตนี้ประกอบด้วยขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ทุกองค์ประกอบก็ทำหน้าที่ของแต่ละขันธ์เอง สติเราต้องตามให้ทันในการทำงานของขันธ์เหล่านั้น ไม่เข้าไปยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา (วิชชาก็ปรากฏ) จากนั้นขึ้นรถไปมหาวิทยาลัยเห็นผู้คนบนรถที่แตกต่างกัน ก็เข้าใจในความเป็นมนุษย์ที่มีองค์ประกอบเหมือนกัน และเข้าใจอีกว่า แต่ละคนนั้นมีกรรมเป็นของๆ ตน มีความรู้และไม่รู้ในขันธ์แตกต่างกันไป พอได้ยินเสียงพูดจาของวัยรุ่นสมัยปัจจุบันที่เริ่มต้นด้วยคำว่า “แม่งแดกหมด” “เหี้ยเอ้ยไม่เหลือเลย” ก็เข้าใจถึงการทำงานของขันธ์ผู้อื่น พอกระทบกับขันธ์ตนเองทางรูป กล่าวคือ หูและเสียง สลายคำพูดเหล่านั้นให้เป็นเพียงรูป ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นเพียงหูและเสียง ที่เป็นสักว่า “ได้ยิน” แล้วการได้ยินก็หายไป ทุกอย่างไหลเข้าสู่กระบวนแห่งการดับเป็นลำดับ ผัสสะกระทบก็เป็นเพียงผัสสะ ชื่อว่า ผัสสะนั้นดับลง เนื่องจากไม่มีเชื้อไหลไปสู่ความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ พอใจ ไม่พอใจ ในเสียงที่ได้ยิน เช่นนี้ชื่อว่า เวทนานั้นดับลง เพราะการดับลงของกระบวนการในวงจรหนึ่งย่อมนำไปสู่การดับของวงจรอื่น ๆ เช่นเดียวกับไฟฟ้าที่ขาดไป ณ ที่ใดที่หนึ่ง ก็ไม่อาจส่งผลต่อไปหลังจากนั้นได้ ไม่ว่าจะขาดที่หม้อแปลง ขาดที่สายไฟ หรือขาดที่ต้นกำเนิดแหล่งผลิตไฟ ที่สุดแห่งสายดับนี้ก็นำไปสู่ความสุขที่ไร้เงื่อนไข เป็นความสุขแห่งธรรมชาติเพราะความเข้าใจธรรมชาติ
          ปัญหาอยู่ที่ว่าจะเดินทางถูกและเดินทางผิดนั้นมีอะไรเป็นปัจจัยสำคัญ ปัจจัยสำคัญก็อยู่ที่การได้ยินได้ฟัง (ปรโตโฆสะ) เกี่ยวกับเส้นทางที่ถูกและทางที่ผิด ถ้าหากไม่ได้ยินได้ฟัง ไม่รู้ ไม่ทราบ ก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่าอย่างไร เรียกว่า ถูก อย่างไรเรียกว่า ผิด เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วต้องนำมาปฏิบัติ คือการพิจารณาใคร่ครวญ ไตร่ตรองด้วยโยนิโสมนสิการปัญญา เพื่อความเข้าใจในเส้นทางดังกล่าว จากนั้นก็ปฏิบัติตาม กล่าวคือ ฝึกเห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักว่า ได้ยิน ได้กลิ่น สักว่า ได้กลิ่น ลิ้มรส สักว่า ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส สักว่าถูกต้องสัมผัส อารมณ์ปรากฏ สักว่าอารมณ์ปรากฏเท่านั้น ด้วยอาศัยเครื่องมือ คือ “อาตาปี สัมปชาโน สติมา” ฝึกฝนอยู่เช่นนี้ไปอย่างสม่ำเสมอ กระทำอะไรก็ให้สักว่า เป็นการกระทำ คือไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัว เป็นตนของเรา เช่นนี้ชื่อว่า ดำรงชีวิตที่ถูกต้อง
          ข้อสำคัญอย่าเข้าใจผิดว่า ผู้ที่ทำอย่างนี้แล้วจะทำให้เป็นคนไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ผู้ที่มีใจจืดชืด ไม่สนใจใคร ปล่อยวางให้เป็นไปตามยถากรรม ละทิ้งหน้าที่ แต่ความจริงแล้ว บุคคลที่ดำเนินชีวิตที่ถูกต้องอย่างนี้จะเป็นคนที่ทำอะไรอย่างมีความสุขที่สุดในโลก ทำอย่างเต็มความสามารถ ทำเพราะเห็นถึงประโยชน์ที่แท้จริงคือ ความสุขในทางที่ถูกจึงได้ทำ ไม่ได้ทำเพราะถูกผลักดันด้วยกระแสอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ใช้ขันธ์ได้อย่างคุ้มค่า ดังการทำงานของพระอริยะทั้งหลายที่ทำอยู่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน


จบปฏิจจสมุปปาทปกาสินี