วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561




๘. สมุปปาท-สมุปปันนปกาสินี

นี่คือกฎจักรวาลผ่านปัจจัย
อิงอาศัยกันและกันคอยปั้นแต่ง
ไม่เป็นอื่นเคลื่อนคลาดใครดัดแปลง
เป็นกฎแห่งชีวิตลิขิตคน
ที่ว่ามีก็มีเพียงไม่เที่ยงแท้
มีเพียงแค่เกิดเสื่อมดับอย่าสับสน
กุญแจฟ้าหยิบยื่นให้เพื่อไขกล
เส้นทางพ้นต้นตอทุกข์ทรงปลุกแจง
หมดสงสัยในอดีตชีวิตก่อน
หรือว่าตอนอนาคตหมดจดแหล่ง
ปัจจุบันตัวสรรหามาแสดง
จงรู้แจ้งในกฎธรรมเกิดดับมี


          ความสงสัยในชีวิตนั้นเป็นเรื่องที่มนุษย์มีมาอย่างต่อเนื่องนับแต่อดีตกาล จนมาถึงปัจจุบันและก็จะมีต่อเนื่องไปในอนาคต ผู้คนเฝ้าแต่สืบค้นหาว่า เราและผู้อื่นมาได้อย่างไร มนุษย์คนแรกเกิดมาจากไหน หลายคนพยายามแสวงหาต้นตอ ส่วนนักวิทยาศาสตร์ก็พอจะมีคำตอบอยู่บ้าง เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ส่วนหนึ่งได้สร้างชีวิตขึ้นมาด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการโคลนนิ่ง (Cloning) คือ กระบวนสืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศเพื่อคัดลอกลักษณะทางพันธุกรรมให้เหมือนต้นแบบ การทำเด็กหลอดแก้ว หรือการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF : in vitro fertilization) หรือ การทำ Gift (Gamete Intra Fallopian Transfer) เป็นต้น แต่นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ต่างล้วนกระทำไปแบบสำนวนจีนว่า “นกซุ่ม เกาทัณฑ์ซ่อน” คือ มุ่งแต่จะทำไปเบื้องหน้า แต่หารู้ไม่ว่าตนเองกำลังจะถูกกลืนกินอีกที
          ในเรื่องเกี่ยวกับโลกและชีวิตต้นเดิมนี้ จัดอยู่ในคำถาม ๑๐ ประการที่ไม่ควรไปใช้ชีวิตทั้งชีวิตไปมุ่งแสวงหาคำตอบ เนื่องจากเป็นความประมาทในชีวิตโดยแท้ คำถาม ๑๐ ประการได้แก่ (๑) โลกเที่ยง  (๒) โลกไม่เที่ยง (๓) โลกมีที่สุด (๔) โลกไม่มีที่สุด (๕) สรีระ (ร่างกาย) และชีพ (วิญญาณ) เป็นอันเดียวกัน (๖) สรีระ (ร่างกาย) และชีพ (วิญญาณ) เป็นคนละอย่างกัน (๗) ตถาคตจะเกิดใหม่อีกเมื่อตายไป (๘) ตถาคตจะไม่เกิดใหม่อีกเมื่อตายไป (๙) ตถาคตทั้งจะเกิดใหม่และไม่เกิดอีกหลังจากตายไป (๑๐) ตถาคตไม่ใช่ทั้งจะเกิดใหม่และไม่เกิดอีกหลังจากตายไป (ที.ปาฏิ.๑๑/๒๒๕/๒๔๑.) ที่พระพุทธศาสนาไม่ให้เสียเวลาในการไปสนใจวุ่นวายกับเรื่องเหล่านี้เพราะชีวิตนี้สั้นนัก ไม่มีเวลาพอที่จะสืบค้นปัญหาอันยิ่งใหญ่อย่างนี้ เปรียบเหมือนเด็กอนุบาลที่มีความสงสัยความสุขของผู้ใหญ่ อย่างไรก็ไม่อาจรู้ได้เพราะวุฒิภาวะทางร่างกายและสติปัญญายังไม่ถึง มนุษย์ปุถุชนก็เช่นกันไม่อาจรู้ในเรื่องเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน รอตนเองมีวุฒิภาวะที่เข้าสู่กระแส หรือสามารถเปิดกุญแจจักรวาลได้ก่อนจึงจะพอรู้ได้ เข้าใจได้
          จะกล่าวว่า เรื่องโลกและต้นกัปชีวิตนี้ไม่มีในพระพุทธศาสนาหรือ ก็ไม่ใช่ ดังเช่นข้อความในอัคคัญญสูตร พระพุทธเจ้าตรัสถึงกาลเสื่อมสลายไปของโลกและการพัฒนาการของโลกและชีวิตว่า “ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลยืดยาวช้านานที่โลกนี้จะพินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหารมีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน
ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยระยะกาลยืดยาวช้านาน ที่โลกนี้จะกลับเจริญ เมื่อโลกกำลังเจริญอยู่โดยมาก เหล่าสัตว์พากันจุติจากชั้นอาภัสสรพรหมลงมาเป็นอย่างนี้ และสัตว์นั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน ก็แหละสมัยนั้นจักรวาลทั้งสิ้นนี้แลเป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนแลไม่เห็นอะไร ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ยังไม่ปรากฏ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ยังไม่ปรากฏ กลางวันกลางคืนก็ยังไม่ปรากฏ” (ที.ปาฏิ.๑๑/๑๑๙/๘๘-๘๙)
จากจุดนี้แสดงให้เห็นต้นกำเนิดของโลกที่ล่มสลายไปและเริ่มวิวัฒนาการขึ้นมาใหม่ กลุ่มสัตว์ที่มาอุบัติบนโลกนี้กลุ่มแรกคือ อาภัสสรพรหมที่ลงมากินง้วนดินจนทำให้มีสภาพร่างกายและจิตใจเปลี่ยนแปลงไป ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรนี้เช่นกันว่า “สัตว์ทั้งหลาย ปรากฏชื่อแต่เพียงว่า สัตว์เท่านั้น...เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำทั่วไป...เหมือนนมสดที่บุคคลเคี่ยวให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็นจับเป็นฝาอยู่ข้างบน...แล้วเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดู เมื่อเขาเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดูอยู่ ง้วนดินได้ซาบซ่านไปแล้ว เขาจึงเกิดความอยากขึ้น” จากวิวัฒนาการนี้ทำให้เกิดร่างกาย เกิดวิวัฒนาการของโลกติดตามมาดังที่เห็นในปัจจุบัน
ที่นำเรื่องนี้มาไว้ประกอบในเรื่องปฏิจจสมุปาทและปฏิจจสมุปปันนธรรม ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงเหตุและปัจจัยที่เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด ผูกเงื่อนกันจนไม่อาจจะหาต้น หาปลายได้อีกสำหรับชีวิตของมนุษย์ที่เกี่ยวกันกันและกัน จนพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ไม่มีมนุษย์คนใดที่ไม่เป็นญาติกัน” ในวัฏฏสงสารอันยาวนานที่หาเบื้องต้นและสิ้นสุดไม่ได้นี้ เราเวียนว่ายตายเกิดกันมานับไม่ถ้วน ถึงขนาดที่ว่าทุกชีวิตในโลกนี้ที่เกิดมานั้น ไม่มีใครเลยที่ไม่เคยเกิดมาเป็นญาติกัน ภพใดภพหนึ่งในอดีตเราเคยเกิดมาเป็นญาติกันแล้วทั้งนั้น อาจเป็นสามีภรรยา พ่อแม่ ลูก พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา เคยมีความเกี่ยวข้องกันมาแล้วทั้งนั้น การหาชีวิตที่เป็นต้นตอว่าใครเคยเป็นอะไรกับใครในวัฏฏะนี้เป็นเรื่องที่ยากยิ่ง ไม่ควรเสียเวลาไปกับเรื่องอย่างนั้น
การหมุนวนไปมาของกฎวัฏจักรนี้ไม่ใช่ของง่ายที่ใครจะเข้าไปล่วงรู้ถึงกฎเกณฑ์ เหตุปัจจัยของการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกระแสวังวนแห่งทุกข์ แต่บัดนี้ประตูกลนี้มีกุญแจแล้ว เป็นกุญแจไขปริศนาความซับซ้อนของชีวิตที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ได้ตรัสรู้นำมาเปิดเผย นำมาแสดง ดังข้อความในปัจจยสูตรว่า “อุปฺปาทา วา ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ ฐิตาว สา ธาตุ ธมฺมฏฺฐิตตา ธมฺมนิยามตา อิทปฺปจฺจยตา ตถาคโต อภิสมฺพุชฺฌติ อภิสเมติ อภิสมฺพุชฺฌิตฺวา อภิสเมตฺวา อาจิกฺขติ เทเสติ ปญฺญเปติ ปฏฺฐเปติ วิวรติ วิภชติ อุตฺตานีกโรติ ปสฺสถาติ จาห” (๑๖/๖๑/๒๕) โดยใจความว่า “ตถาคต เกิดขึ้นก็ตาม ไม่เกิดขึ้นก็ตาม ธาตุอันนั้น คือ ความตั้งอยู่ธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ความที่มีสิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้ ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้น ตถาคตรู้ บรรลุธาตุนั้น ครั้นรู้ บรรลุแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย และกล่าวว่า ‘เธอทั้งหลายจงดูเถิด’” พระสูตรนี้ตรงกับธรรมนิยามสูตร คือ พระสูตรว่าด้วยกฎแห่งชีวิต โดยที่ธรรมนิยามนั้นแสดงไว้ส่วนสุดที่เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม คือ ธรรมที่เป็นกฎไตรลักษณ์ ได้แก่ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สำหรับพระสูตรนี้นั้นเป็นกุญแจที่ไขทั้งในเบื้องต้นและเบื้องปลาย เบื้องต้นคือ ปฏิจจสุมปบาทส่วนเบื้องปลายคือปฏิจจสมุปปันนธรรม
ความที่กระบวนธรรมส่งต่อกันและกันที่เรียกว่า “ปฏิจจะ” หรือ “อิงอาศัย” (Dependent) เป็นกระบวนธรรมที่เป็นอยู่อย่างนั้น (ตถตา) ไม่คลาดเคลื่อน (อวิตถตา) ไม่เป็นอย่างอื่น (อนัญญถตา) และเป็นปัจจัยแห่งสิ่งนี้ (สิ่งนี้จึงมี) (อิทัปปัจจยตา) กฎที่ลึกซึ้งนี้ต้องอาศัยพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเท่านั้นจึงจะเป็นและนำมาแสดงได้ อะไรเป็นปัจจัยของอะไร และทำให้อะไรมีขึ้น ดุจดังการแปรสภาพไปของวัตถุธาตุบางอย่างด้วยไฟ เช่น น้ำมันละหุ่ง น้ำมันงา เป็นต้น เพราะอาศัยปัจจัยคือความร้อนจึงทำให้เกิดเป็นวัตถุธาตุอีกอย่างหนึ่ง ในที่นี้ เพราะอาศัยชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี เพราะอาศัยภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะอาศัยอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะอาศัยตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี...เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ความเป็นปัจจัยกันอย่างนี้นับเป็นกฎที่สำคัญอย่างยิ่ง เป็นกุญแจดอกสำคัญในจักรวาลที่จะไขออกจากทุกข์ได้

         


จบสมุปปาท-สมุปปันนปกาสินี