วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

ก้าวเดินเป็นธรรม








โศลกที่สามสิบสอง "ก้าวเดินเป็นธรรม"


หัวใจของธรรมอยู่ที่รู้ตัว
เป็นกิริยาอาการนั้นเต็มที่
ไม่เหลือช่องว่างให้ได้คิด
เดินคือเดินเต็มที่
ทุกฝ่าเท้าที่เหยียบคือเหยียบ
ทุกเท้าที่ยกคือยกเท้า
ทุกเดินก้าวคือก้าวเดิน
ไม่เหลือให้ได้คิดเดิน
ไม่เหลือช่องให้เดินคิด
ไม่เหลือช่องบริกรรมเดิน
เดินด้วยใจรัก งดงาม บำเพ็ญ
ทุกองคาพยพที่เคลื่อนไหว
ทุกกิริยาอาการที่เดินไป
มีแต่ความเป็นหนึ่งเดียว
คือก้าวเดินเป็นธรรม





อาการสองสิ่งในกิริยานั้นจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน ในขณะเดินก็ไม่ยืน ในขณะยืนก็ไม่นั่ง ในขณะนั่งก็ไม่นอน แต่จะเกิดขึ้นไล่ลำดับกันอย่างรวดเร็วทำให้ไม่สามารถแยกแยะได้เลยว่า อาการนั้นเกิดก่อนหรือหลัง ต้องระมัดระวังไม่ให้เข้าไปในวังวนเดิม ไม่ให้ถูกจิตใช้เป็นเครื่องมือเหมือนเดิม ให้เข้าใจคำว่า “เป็นเพียงผู้เฝ้าดู เป็นพยาน (Witness)” และคำว่า “เป็นผู้ตื่นตัว (Awareness)” คำทั้งสองคำนี้มีความหมายอย่างยิ่งในการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นทันทีที่มีคำว่า เป็นผู้ตื่นตัว (สติมา) นี้อยู่ และมีคำว่า เป็นผู้เฝ้าดูรู้ตัวทั่วพร้อม (สัมปชาโน) ถ้าหากไม่มีคำนี้ก็ไม่ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติธรรม เพราะสัมปชาโน สติมา คือธรรมที่แท้จริง มีความหมายมาก มีอานิสงส์มากเหลือเกิน คำ ๒ คำนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นลอยๆ ต้องบำเพ็ญ ต้องมีความเพียร ต้องมีความต่อเนื่องที่เรียกว่า “อาตาปี”

ความตื่นตัวและเป็นเพียงผู้เฝ้าดูนั้นเป็นด่านสกัดไม่ให้มีความคิดอะไรเข้ามาแทรกแซงกิริยาอาการที่เคลื่อนไหวทุกขณะ ทุกระยะ ทุกรายละเอียด เห็นหมด เห็นทุกอย่างชัดแจ้ง ไม่เหลือช่องให้มีความคิดเข้ามาแทรก ไม่ให้โอกาสการปรุงแต่งเข้ามาแทรก ไม่ให้เกิดความพึงพอใจ (อภิชฌา) ในอาการนั้นๆ ไม่ให้เกิดความอึดอัดขัดข้อง (โทมนัสและอนภิชฌา) ในอาการนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ตาม ทุกอิริยาบถนั้นมีความเต็มเปี่ยมแห่งอาการนั้นเท่านั้น มีความสมบูรณ์พร้อมแห่งอาการนั้นเท่านั้น

โศลกว่า “ไม่เหลือช่องว่างให้ได้คิด เดินคือเดินเต็มที่”

ในการปฏิบัติธรรมสิ่งที่ขัดขวางมากที่สุดก็คือ “ความคิด” กระบวนการแห่งความคิดเป็นกระบวนการแห่งความทุกข์ ตามลำดับแห่งปฏิจจสมุปบาท เพราะในความคิดนั้นประกอบไปด้วยอวิชชา “ความคิด” ที่มีอวิชชาเป็นพื้นฐานก็ย่อมประกอบไปด้วยตัณหาและอุปาทาน เป็นปกติของจิตที่ไม่รู้แจ้ง เมื่อไรที่รู้แจ้ง จักษุคือปัญญาเห็นธรรมก็เกิด ญาณกำหนดรู้ก็เกิด ปัญญาหยั่งรู้เหตุผลก็เกิด วิชชารู้แจ้งก็เกิด อาโลโกความสว่างในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็เกิด กระบวนการทางดับแห่งทุกข์ก็ปรากฏขึ้นทันที ความคิดโดยปกติตัวของมันเองนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิเพราะไม่เห็นแจ้งในอริยสัจจ์ พอไม่เห็นแจ้งในอริยสัจจ์ก็ดำริสะเปะสะปะเป็นเหตุให้กล่าวออกมาทางวาจา


เมื่อใดที่เห็นแจ้งในอริยสัจจ์เมื่อนั้นก็เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเป็นสัมมาทิฏฐินั้นเกิดมาพร้อมกับสติสัมปชัญญะที่เต็มรอบ สติสัมปชัญญะไม่ให้มีความดำริสะเปะสะปะอีกต่อไป กระบวนการแห่งธรรมก็เกิด ด้วยเหตุนี้กระบวนการแห่งสติปัฏฐานและอานาปานสติจึงเป็นกระบวนการปฏิบัติเพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิโดยแท้ ความคิดตามความเข้าใจของชาวโลกนั้นไม่ถูกต้องตรงกันกับชาวธรรม การกินแบบโลกกับการกินแบบธรรมนั้นต่างกัน ไม่ต้องนำมาคิดเข้าหากัน เพียงแค่คิดก็ตกหล่นหลุดออกไปจากเส้นทางทันที ต้องไม่คิดเท่านั้นจึงจะอยู่บนเส้นทางได้


โศลกว่า “เดินด้วยใจรัก งดงาม บำเพ็ญ”

เฝ้าดูจิตที่ประกอบไปด้วยความเชื่อมั่นในการก้าวเดิน ความเป็นทั้งหมดแห่งการก้าวเดิน การก้าวย่างที่ขยับเขยื้อนก้าวไปนั้นเต็มเปี่ยมด้วยความต่อเนื่องเป็นลำดับ ความสมบูรณ์พร้อมเกิดขึ้นเต็มที่ ไม่เหลือช่องให้สิ่งใดหลุดรอดเข้ามาได้ ต้นสายปลายเหตุทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป อาการเดินเช่นนี้คือการเดินที่งดงาม จึงไม่แปลกใจที่อุปติสสมานพพอพบกับพระอัสสชิ พอเฝ้าสังเกตเห็นการเดินของพระอริยอัสสชิ ก็พบเห็นความงดงามนั้นเห็นอากัปกิริยาอาการที่ก้าวเดินทุกก้าวอย่างสมบูรณ์ ไม่หลงเหลือสิ่งใดให้ต้องกังวล ความงดงามแห่งการก้าวเดินของผู้มีสติสัมปชัญญะนั้นสื่อออกมาภายนอก เป็นความสงบกายที่เคลื่อนไหว เป็นความงดงามของท่าร่างที่ก้าวเดิน

อาการเช่นนี้จะปรากฏขึ้นอย่างไรเล่า จะมีก็แต่เฉพาะผู้มีความเต็มเปี่ยมจากภายในเท่านั้น อุปติสสมานพไม่เคยเห็นผู้ที่เดินด้วยความงดงามเช่นนี้มาก่อนจึงได้ติดตามไประยะหนึ่ง เพื่อให้เกิดความแน่ใจในสายตาของตนว่า นี่เป็นของจริง นี่คือบุคคลที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ในที่สุดท่านจึงได้รับรสแห่งอมตวาจาที่สมบูรณ์พร้อมอีกเช่นกันในยามที่สนทนา


“เย ธัมมา เหตุปภวา เตสัง เหตุง ตถาคโต
เตสัญจ โย นิโรโธ จ เอวัง วาที มหาสมโณ”


โศลกเพียงเท่านี้ยังกระแสแห่งความสว่างในอริยสัจจ์ปรากฏขึ้นในปัญญาญาณของอุปติสสมานพ กาลภายหลังท่านก็คือพระสารีบุตรเถระ ธรรมเสนาบดีในพระพุทธศาสนานี่เอง


สำหรับเราท่านแล้ว การก้าวเดินไปยังคงเป็นไปเพื่อบำเพ็ญบารมี เดินไปเพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น เดินไปเพื่อให้วิชชาเกิดขึ้น เดินไปเพื่อเห็นแจ้งการเกิดดับ เดินไปเพื่อให้ญาณเกิดขึ้น การเดินเช่นนี้จึงเป็นการเดินที่เป็นธรรม เดินไปด้วยความพากเพียรพยายาม เดินไปด้วยความงดงามแห่งสติสัมปชัญญะ และเดินไปด้วยการยังความเต็มเปี่ยมแห่งการเดินแต่ละก้าวให้ปรากฏ



โศลกว่า “มีแต่ความเป็นหนึ่งเดียว”



ผู้เข้าใจความเป็นเอกภาวะย่อมเข้าใจสรรพสิ่งได้ดีขึ้น ความเป็นเอกภาวะนั้น คือ ความว่าง คือนิพพาน คือความดับ คือความเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งนั้น ทุกกิริยาอาการ ความเป็นหนึ่งเดียวนี้ไม่เกี่ยวกับเอกัคคตารมณ์ (One Pointedness) เพราะเอกัคคตารมณ์นั้นเป็นเรื่องของจิตที่มีปกติวุ่นอยู่ตลอดเวลา จิตจะมีความสงบลงได้ก็ต่อเมื่อจิตทำหน้าที่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอย่างเดียว การที่จิตอยู่กับอารมณ์จนเป็นเอกัคคตาจิตนั้นจิตไม่สามารถเข้าใจตัวของมันเองได้ มันได้แต่เข้าใจตัวของสิ่งอื่นเท่านั้น ก็ยังเป็นการเข้าใจสิ่งที่เป็นภายนอก


แต่เอกภาวะในที่นี้เป็นความเต็มเปี่ยมแห่งสติกับทุกกิริยาอาการ สติสัมปชัญญะนั้นรู้ตัวจิตเองได้ เป็นการเข้าใจภายใน มีแต่สติสัมปชัญญะเท่านั้นที่สามารถปราบความคิดที่ยึดอารมณ์ให้กลายเป็นเอกภาวะได้ การที่จะเข้าถึงการรู้แจ้งภายในนั้นต้องอาศัยสติสัมปชัญญะ ไม่อาจใช้ความคิดได้ เมื่อใดที่ใช้ความคิด เมื่อนั้นเอกภาวะก็ไม่เกิดขึ้น ความสมบูรณ์แห่งสติที่เต็มเปี่ยมมีเมื่อใด เอกภาวะก็ปรากฏเมื่อนั้น

ความยากที่จะเข้าใจเรื่องนี้ก็เพราะคนโดยมากแล้วตกอยู่ภายใต้การทำงานของจิต โดยเฉพาะโลกตะวันตกที่ไม่เคยทราบว่า จิตไม่คิดเป็นอย่างไร เอกภาวะเป็นอย่างไร การเข้าถึงเอกภาวะจึงต้องนำมาคิดก่อนว่า มันเข้าถึงได้อย่างไร จะเป็นเช่นนี้เสมอ ด้วยเหตุนี้คำว่า สัมมาสมาธิ ภาษาอังกฤษจึงใช้คำว่า “Right Concentration” และยังสื่อให้เห็นอีกว่า หัวใจของสมาธิในที่นี้ก็คือ “เอกัคคตาจิต” หรือ “One Pointedness” ผู้ที่ไม่เข้าถึงอรรถะแห่งคำว่า “สัมมาสมาธิ” ในที่นี้ก็เข้าใจตามไปกับภาษาอังกฤษที่เขาใช้จึงทำให้หลงประเด็นกันไปใหญ่


Right Concentration ไม่ใช่สัมมาสมาธิตามที่พระพุทธศาสนามุ่งหมาย การใช้คำว่า Right Meditation ยังจะใกล้เคียงกว่าเสียอีก เพราะคำว่า สมาธิในพระพุทธศาสนานั้น เป็นหนึ่งในองค์แห่งพละ ๕ ที่มีหน้าที่กรองสิ่งที่ขุ่นมัวทั้งหมดให้ใสสะอาด สติมีหน้าที่เฝ้าดู ส่วนสมาธิมีหน้าที่ทำให้ใสสะอาด เมื่อนั้นปัญญาจึงเห็นแจ้งในความเป็นจริงของสรรพสิ่ง สมาธิจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะคิดเอาได้ตามตรรกะ อธิบายด้วยเหตุผล เพราะเหตุผลนั้นอยู่ในระดับของความคิด โดยเฉพาะการแปลคำนี้เป็นภาษาอังกฤษจึงไม่ใช่ความหมายของสมาธิ

ความยากอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้ที่เขียนคำนี้ก็ไม่เคยรับรู้ถึงสภาวะแห่งสมาธิเช่นนั้น ก็เข้าใจเอาเองว่า สมาธินั้นคือการที่จิตอยู่ในเอกัคคตา นั่นเป็นการตรองเอาตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การที่จิตดิ่งนิ่งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็หมายเอาว่านั่นแหละคือสมาธิ ถือว่าเป็นกับดักใหญ่ หลุมพรางใหญ่ในการปฏิบัติเท่านั้น นั่นเป็นเพียงการใช้จิตเข้าสะกดจิตเท่านั้น


การกระทำที่เป็นหนึ่งเดียวจึงเป็นการกระทำที่มีสติสัมปชัญญะกำกับดูแลอยู่อย่างสมบูรณ์ ความคิดเกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นก็เกิดทวิภาวะทันที ความเป็นทวิภาวะนี้อยู่ในระดับความคิด ความคิดมีสภาพเป็นทวิภาวะเสมอ เมื่อใดที่มีสติเมื่อนั้นก็เข้าถึงเอกภาวะ การเดินอย่างมีสติเต็มเปี่ยมก็ชื่อว่า เป็นการเดินที่เป็นเอกภาวะ ความเป็นเอกภาวะนี้เท่านั้นจึงเป็นการปฏิบัติธรรมโดยแท้ ความเพียรเพื่อให้ดำรงอยู่ในเอกภาวะ ในความว่าง ด้วยสติเสมอจึงนับได้ว่าเป็นอิสระอย่างแท้จริง


นี่คือ โศลกที่สามสิบสองแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา