วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ผลิดอก ออกผล



โศลกที่ยี่สิบเอ็ด "ผลิดอก ออกผล"

ก่อนรุ่งอรุณอากาศสดชื่น
เป็นช่วงเวลาเหมาะสมปฏิบัติ
บ่ออารมณ์ยังไม่กระทบมาก
ตั้งจิตเข้าสู่สนามฝึก
บำเพ็ญเพียรสมณธรรม
เป็นงานเฝ้าดูรู้ลมหายใจ
เวลาสัปปายะอย่างนี้มีน้อย
จงใช้อย่างคุ้มค่าเต็มที่
อานิสงส์แห่งจิตภาวนา
มีคุณค่าเกินคณานับ
ความสุขที่เราสัมผัสได้
ก้าวหน้าดีทั้งจิตและธรรม






งานของผู้บำเพ็ญเพียรสมณธรรม เป็นงานง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เพียงแต่เข้าไปกำหนดตั้งสติไว้ที่ลมหายใจรู้สั้น ยาว เข้า ออก รู้ความสงบเย็นแห่งลม ก็เท่านั้น เริ่มต้นตามภาษาบาลีว่า ปลฺลงฺกํ อาภุชิตฺวา, อุชุกายํ ปณิธาย ปริมุขํ สตึ อุปฏฺฐเปตฺวา นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายให้ตรง เข้าไปตั้งสติไว้ก่อน ก็หมายความว่า ตั้งสติไว้ที่ลมหายใจ สั้น ยาว เข้า ออก รู้อาการที่ลมหายใจเท่านี้เอง งานมีอยู่เท่านี้เองจริงๆ ทำไปให้ตลอด ทำไปอย่างต่อเนื่อง ทำไปอย่างไม่ลดละ ทำไปไม่หยุด นี่เองที่เป็นการอบรมจิตภาวนา ความง่ายนี้มันง่ายในวิธีการ แต่ความยากมันอยู่ที่สตินั้นไม่อาจตั้งมั่นยาวนานให้อยู่กับลมหายใจ เพราะใจนั้นจะซัดส่ายกวัดแกว่งไปตามที่ที่มันอยากจะไปอดีตบ้าง อนาคตบ้าง เมื่อซัดส่ายไปสามารถเกาะเกี่ยวอะไรได้ก็จะเข้าไปปรุงสิ่งนั้น นี่แหละความยากอยู่ที่นี่ อาศัยความไวแห่งจิตนี้เองจึงทำให้งานง่ายๆ กลายเป็นงานยากขึ้นมาได้



หลักการสำคัญของการทำงานนี้ก็คือ ไม่ไหลไปกับจิตที่มันกวัดแกว่งไปมา มันจะไปมาก็เรื่องของมันไม่ต้องไปใส่ใจ กลับมาอยู่ที่ลมหายใจสั้น ยาว เข้า ออก อย่างนี้ตลอด จนกระทั่งกาลเวลาผ่านไป เวลาผ่านไปตรงนี้ไม่สามารถบอกได้ว่า ประมาณเท่าใดขึ้นอยู่กับความสามารถ (วสี) ของผู้ฝึก บุญบารมีของผู้ฝึก อินทรีย์ของผู้ฝึก ในขณะที่ทำงานนี้อยู่ สติก็จะเริ่มมีวิวัฒนาการก่อตัวเป็นพลังขึ้นมา ตามหลักแห่งอินทรีย์ที่กลายเป็นพลัง เรียกว่า “ภาวนา” แล้ว ก็คือ สติเจริญแล้ว เมื่อสติเจริญ โอกาสที่จะให้จิตกวัดแกว่งไปก็ทำได้ยากขึ้น จิตไม่กวัดแกว่งไป จิตก็สลายไป เหลือแต่สติอยู่กับลมหายใจ ต้องระมัดระวังอยู่ตามกำหนดไปที่จิต (ความคิด) ที่กวัดแกว่งไป เพราะความไวของจิตที่เคลื่อนที่นั้น เกินกว่ากำลังสติจะเข้าไปจับได้ทัน มันกระโจนจากสิ่งนี้ไปสิ่งนั้น จากที่นั้นไปที่โน้น จากอดีต สู่อนาคต อย่างนี้จึงไม่ควรนำสติไปไล่กำหนดตาม




หน้าที่หลักก็คือ กลับมาที่ลมหายใจนั่นแหละดีที่สุด จิตจะไปไหนก็ปล่อยมันไป แต่เราไม่ใส่ใจ สติเราจะอยู่กับลมหายใจสั้นยาว เข้าออก เท่านั้น เมื่อผ่านช่วงเวลาปรับตัวไปแล้ว เข้าสู่ช่วงภาวนาเต็มที่ เมื่อนั้นความแจ่มกระจ่างในการทำงานจะปรากฏขึ้น อะไรกันที่แจ่มกระจ่าง ก็ลมหายใจยังไงที่แจ่มกระจ่าง เมื่อลมแจ่มกระจ่าง ลมหายใจก็เป็นเพียงลมหายใจเท่านั้นที่เข้าออก ไม่เหลือความสั้นยาวอีกต่อไป เมื่อกาลเวลาแห่งความแจ่มกระจ่างของลมหายใจนี้ผ่านไป จนเหมาะแก่กาลเปลี่ยนแปลง ลมหายใจก็เข้าสู่ภาวะสงบเย็น เรียกว่า สงบระงับ (กายสังขารัง ปัสสัมภยัง)




รอกาลเปลี่ยนแปลง คำนี้มีความหมายมาก ไม่เพียงเฉพาะการทำงานอะไรก็แล้วแต่ รอกาลสุกงอมของแต่ละสิ่ง ทุกสิ่งนั้นมีจังหวะและช่วงเวลาของมันอยู่ เปรียบเหมือนการเปิดหน้าหนังสือจากหน้าหนึ่งไปสู่อีกหน้าหนึ่ง เปรียบเหมือนการรอกาลเปลี่ยนแปลงของคน ช่วงเช้าแจ่มใส พอสายขุ่นมัวสับสน กาลเบ่งบานแห่งบัวที่รอแสงตะวัน คำว่ารอไม่ใช่หมายถึงไม่ทำอะไร แล้วรอ นั่นไม่ถูกต้อง การรอในที่นี้ไม่ได้หมายถึงจิตใจเฝ้ารอ แต่เป็นการก่ออิฐซ้อนไปมาจนกลายเป็นผนังบ้าน ความเป็นอิฐก็หายไปในขณะนั้น ผนังบ้านเกิดขึ้นมาแทนที่ นั่นคือกาลเปลี่ยนแปลง เมื่ออิฐเปลี่ยนเป็นผนังบ้าน ผนังบ้านจะมีลักษณะของผนังบ้านไม่ใช่
ลักษณะของอิฐ มีความสามารถ หน้าที่ และภาวะต่างไปจากอิฐ เช่นเดียวกันกับลมหายใจที่แปรเปลี่ยนเป็นสงบระงับเย็น ลมหายใจก็มีภาวะอีกต่างหากของลมหายใจ มิใช่ลมหายใจตอนต้น ตอนนี้ลมหายใจผ่านกาลเปลี่ยนแปลงมาแล้ว สติพึงโน้มนำยกขึ้นสู่ภาวะแห่งพิจารณา ขณะนี้เองเรียกว่า “กายอันเหมาะแก่การงาน”



โศลกว่า “บ่ออารมณ์ยังไม่กระทบมาก” ตามปกติพลังแห่งความรู้สึก (Sensibility) ของทุกคนนั้นมีความฉับไวมาก และเป็นพลังความรู้สึกที่เป็นไปกับธรรมชาติที่ดำรงอยู่ในสรรพสิ่ง สัมผัสได้ทั้งสายลม แสงแดด ดินฟ้าอากาศ พืช ไม้ ใบหญ้า สิงสาลาสัตว์ แต่พอพลังแห่งสัมผัสนี้ถูกกระทบมากๆ เข้า พลังแห่งความรู้สึกนี้ก็สิ้นสุดความเป็นธรรมชาติไป กลายเป็นพลังความรู้สึกที่ถูกตัณหาผลักดันเสียสิ้น พลังแห่งความอยากนี้ได้ทำลายจิตสัมผัสนั้นไป ด้วยเหตุนี้การฝึกปฏิบัติของพระโยคาวจรทั้งหลายจึงต้องฝึกปฏิบัติในที่อันสงบ สงัด วิเวก เพราะต้องการทำให้จิตสัมผัสนี้กลับมาเป็นธรรมชาติอีกครั้ง กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง กลับมามีจิตวิญญาณอีกครั้ง เมื่อใดที่มีแต่พลังของตัณหาเต็มพื้นที่ จิตสัมผัสนั้นก็รับเอาพลังตัณหานั้นเข้ามาหล่อเลี้ยง พลังตัณหานั้นได้ทำลายพลังแห่งผัสสะนั้นไป สังเกตดูได้ในป่าคนในเมือง จิตสัมผัสของคนเมืองนั้นไม่หลงเหลือจิตสัมผัสนั้นอีกแล้ว กลายเป็นวัตถุเดินได้ไปแล้วทั้งสิ้น ความรู้สึกที่มีต่อธรรมชาติไม่หลงเหลืออยู่อีกเลย ผู้คนไม่รับรู้ถึงความหิวโหยของคน ไม่รับรู้ถึงความรักของคน ไม่รับรู้ถึงความเดือดร้อนของธรรมชาติใดๆ อีกต่อไป นี่คือความสูญสิ้นไปและตายไปของจิตสัมผัส เหมือนคำที่ใช้กันในโลกของคนเสพกามว่า “พวกกามตายด้าน” เช่นเดียวกันกับ “พวกสัมผัสตายด้าน”


มีแต่ช่วงเวลาที่บ่อสัมผัสทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่กับธรรมชาติ ไม่ถูกกระทบด้วยพลังทำลายผัสสะเหล่านั้น จึงจะทำให้ผัสสะเหล่านี้ทำงานได้อย่างเต็มที่ ตามธรรมชาติ บ่อสัมผัสของแต่ละบ่อนั้นมีพลังแห่งผัสสะที่เป็นธรรมชาติ มีความไวต่อธรรมชาติ จึงไม่แปลกที่ในโบราณมีแต่เรื่องเล่าว่า มนุษย์สื่อสารพูดคุยกับสิงสาลาสัตว์ ต้นไม้ใบหญ้าได้ ก็เพราะทุกสิ่งใช้ผัสสะแห่งธรรมชาตินั้นสื่อสารกัน ตราบเมื่อผัสสะนี้ของมนุษย์ถูกทำลายไปด้วยพลังอำนาจตัณหา พลังแห่งผัสสะนั้นก็ถูกทำลายไปพร้อมด้วย

ในยามที่ความเงียบสงบแห่งธรรมชาติดำรงอยู่ บ่อพลังผัสสะทั้ง ๖ ยังไม่กระทบด้วยพลังแห่งตัณหามากนัก เมื่อนั้นจึงเป็นเวลาที่เหมาะแก่การสร้างความสามารถแห่งผัสสะนั้นให้กลับคืนมา เพื่ออะไร ก็เพื่อให้สติกำหนดได้อย่างชัดเจน เมื่อสติกำหนดบ่อแห่งผัสสะนั้นชัดเจน เห็นจุดกระทบแห่งผัสสะนั้น เห็นความเป็นธรรมชาติแห่งผัสสะนั้น ปัญญาก็จะเกิดขึ้นเมื่อสติเห็นผัสสะนั้นชัด ปัญญาเกิดขึ้นก็ทำให้เข้าใจบ่อแห่งผัสสะนั้นว่า เป็นแต่เพียงผัสสะเท่านั้น ไม่มีสิ่งใดอื่นอีก ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา อยู่ในนั้น เมื่อนั้นย่อมเข้าถึงความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดขึ้น แต่เมื่อใดที่บ่อแห่งผัสสะนี้เริ่มถูกกระแสแห่งตัณหาเข้ามากระทบ เมื่อนั้นผัสสะนี้ก็เริ่มสูญเสียพลังผัสสะไป ผัสสะก็ไม่เป็นธรรมชาติอีก

ในยามก่อนรุ่งอรุณ ทุกสรรพสิ่งเงียบสงัด เป็นช่วงเวลาที่กระแสพลังตัณหาเบาบางที่สุด เป็นเวลาที่เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรสมณธรรม ต้นไม้ใบหญ้ากำลังจะเบ่งบานรับแสงตะวัน สิงสาลาสัตว์ทั้งหลายกำลังตื่นตัว ผัสสะกำลังตื่นตัว เป็นผัสสะที่บริสุทธิ์เป็นธรรมชาติมากที่สุดในยามนี้ สติที่จับผัสสะที่เป็นธรรมชาติได้ทำให้เห็นความเป็นธรรมชาติแห่งพลังผัสสะที่ยังไม่ถูกเจอปนนี้ได้ นั่นเท่ากับกำลังสร้างสมรรถภาพของผัสสะขึ้นมาอีกครั้ง ผัสสะที่ไร้ความขุ่นมัวของกระแสตัณหาเข้ามาเจือปนมาก จึงเป็นผัสสะที่ใสสะอาดในความสามารถแห่งจุดกระทบ กล่าวได้ว่าเป็นผู้ตอบสนองต่อความรู้สึกได้ไวและตรงไปตรงมา ไม่ถูกกระแสใดเข้าไปเจือจนให้ความไวแห่งความรู้สึกนี้ลดสมรรถภาพลง


โศลกว่า “ความสุขที่เราสัมผัสได้” ไร้เสียงที่เป็นพลังปั่นป่วน ไร้พลังจิตที่ส่งออกมาของผู้คนจำนวนมาก ไร้สิ่งรบกวนต่อการกระโดดเข้าไปโลกภายใน การก้าวเข้าไปสู่โลกภายในต้องการความสมบูรณ์แห่งความรู้สึก สมรรถภาพแห่งพลังผัสสะอย่างยิ่ง เพราะสมรรถภาพแห่งความรู้สึกจะทำให้เข้าไปสัมผัสได้กับความจริงที่ไม่ต้องคิด ดังที่แสดงไว้แล้วว่า ความคิดนั้นขัดขวางต่อพลังผัสสะที่แท้จริง เป็นแต่พลังผัสสะปลอมๆ และผัสสะปลอมเหล่านี้ล้วนผสมเจือปนด้วยตัณหาทั้งนั้น ตัณหานั้นมาจากการคิด
พึงทราบว่า ระดับของความจริงนั้นมี ๔ ระดับ




ความจริงระดับกายภาพ (Physical Truth) เป็นความจริงที่ผิวเผินที่สุด ไม่ต้องอาศัยอะไรเลย อาศัยแต่เพียงปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เป็นไปภายนอก นั่นแหละความเป็นจริงระดับกายภาพ คนส่วนมากก็ตกอยู่ภายใต้ความจริงระดับนี้ ถือเอาความจริงระดับนี้เป็นเครื่องยังชีพ สุขทุกข์ก็อาศัยความจริงระดับนี้เป็นเครื่องตัดสิน เช่น เห็นคนรวย ก็เข้าใจว่า นั่นแหละเป็นความสุข เห็นคนจนก็ตัดสินแล้วว่า นั่นแหละเป็นความทุกข์ คนค่อนโลกไม่เข้าใจความจริงของสุขทุกข์ เห็นคนของบางประเทศเขาอยู่อย่างธรรมชาติ ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ก็เข้าใจว่า คนเหล่านี้มีความทุกข์ ส่วนคนของบางประเทศที่เห็นคนเขาอยู่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย หรูหรา ก็เข้าใจว่าเขาเหล่านั้นมีความสุข เขาเหล่านี้ใช้ความจริงระดับนี้แสดงความสุขของตน


ความจริงระดับจิตภาพ (Headily Truth or Thoughtful Truth) เป็นความจริงที่สำคัญ เพราะเป็นความจริงที่กล่าวถึงกันที่สุด และครอบครองโลกมนุษย์นี้มากที่สุด ถึงกับในพุทธศาสนสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “จิตฺเตน นียติ โลโก โลกเป็นไปตามความคิด” เมื่อคิดอย่างไรโลกก็เป็นไปอย่างนั้น ผู้คนทั้งหลายยอมจำนนให้กับความคิดนี้ ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ใช้ความคิดนี่แหละตัดสิน ความจริงระดับนี้เป็นระดับสมอง เป็นความจริงระดับความคิด ระดับเหตุผล คนบางคนใช้ความคิดเป็นเครื่องตัดสินสุขทุกข์ ยินยอมให้ความเชื่อถือแก่คนที่มีความฉลาด (Intellectual Needs) รู้จักให้เหตุผลที่ดี มีความคิดหลายระดับ เห็นว่าคนที่เป็นนักคิดเหล่านี้แหละที่เป็นผู้มีความสุข คนที่ไม่มีความคิดอย่างนี้เป็นผู้มีความทุกข์


ความจริงระดับอารมณ์ (Sensible Truth or Heartful Truth) เป็นความจริงที่อยู่ลึกลงไปอีกระดับหนึ่ง เป็นความจริงที่น่ากลัวในสายตาของมนุษย์ แต่ผิดกับสัตว์อื่นๆ ที่เห็นความจริงระดับนี้แหละที่เป็นความจริงแท้ เพราะเป็นความจริงที่ไม่บิดเบี้ยว รู้สึกอย่างไรก็เป็นความจริงอย่างนั้น แสดงออกอย่างนั้น ตรงๆ ไม่เสแสร้ง ไม่มารยา เมื่อร้อน ก็ร้อน เมื่อง่วง ก็นอน เมื่อหิว ก็ทาน เมื่อมีความรัก ก็แสดงความรัก เมื่อต้องการมีเพศสัมพันธ์ ก็มีเพศสัมพันธ์ เมื่อโกรธ ก็โกรธ ทุกอย่างตรงไปตรงมา


ความสุขที่เกิดจากความรู้สึกนี้บริสุทธิ์ ไม่บิดเบี้ยว ไม่มีความคิดผสม สัตว์ทั้งหลายจะรู้สึกแปลกทันทีถ้ามนุษย์บอกว่า เวลานี้ไม่ควรหิวคนอยู่มาก เวลานี้ไม่ควรสืบพันธุ์ผิดธรรมเนียม สัตว์จะยิ่งแปลกใจเมื่อเห็นมนุษย์ผูกใจเจ็บ คิดเข่นฆ่าผู้อื่นเป็นร้อยเป็นพัน ทั้งที่โกรธคนๆ เดียว หรือบางทีก็ไม่ได้โกรธ แต่เป็นเพราะเขาขัดขวางผลประโยชน์ก็ต้องกำจัด ความรู้สึกของคนถูกความคิดข่มขืนจนเสียความบริสุทธิ์ไปเสียแล้ว




ความสุขอันเกิดจากความรู้สึกนี้สูญสิ้นไปแล้วนับตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีนักปรัชญา เริ่มมีนักคิด เริ่มมีนักจิตวิทยา เริ่มมีนักวิทยาศาสตร์ เพราะคนเหล่านี้จะอธิบายบอกว่า ความรู้สึกนั้นไม่จริง เชื่อไม่ได้ อันตราย แท้จริงสิ่งที่อันตรายที่สุดก็คือความคิดนั่นแหละ ความรู้สึกอย่างมากก็สนองความรู้สึกให้เพียงพอ ก็จบกัน แต่ความคิดสิ ไม่มีทางพอแน่นอน

การปฏิบัติธรรมก็เพื่อให้เข้าถึงความรู้สึกนี้ ไม่ต้องการให้อยู่ภายใต้ความคิด ความรู้สึกคือ เวทนา เวทนานั้นไม่ได้หลอกเรา เวทนานั้นแสดงออกตรงๆ ปวดเมื่อยก็ปวดเมื่อย เป็นทุกข์ก็ทุกข์ ปวดก้น ก็ปวดก้น เป็นสุขก็สุข เห็นทุกข์และเห็นทุกข์ตรงๆ งดงาม บริสุทธิ์ ไม่ต้องผ่านความคิด ความคิดนั่นแหละที่ทำให้ความจริงบิดเบี้ยว ความสุขที่เกิดจากความรู้สึกนี้เป็นความสุขที่ชัดเจน มีตัวแห่งความสุข น่าทะนุถนอม


ความจริงระดับความว่าง (Nothingness Truth or Spiritual Truth or Being Truth) ความจริงระดับนี้เป็นความจริงระดับสูงสุด เป็นความจริงที่หยั่งลงทะลุผ่านอารมณ์ที่เกิดขึ้น หยั่งลงภายในอารมณ์นั้น เห็นถึงความว่างที่ดำรงอยู่อย่างนั้น ไม่มีอะไรอยู่ภายในนั้น มีแต่การดำรงอยู่อย่างนั้นของเบญจขันธ์ มีแต่ความไม่มีอะไร เป็นความว่าง เป็นความบริสุทธิ์ ไร้ตัวแห่งความสุข ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการเห็นความจริงนี้ เป็นความเย็น ว่าง สงบ เป็นความสุขที่จะเกิดขึ้นหลังจากผ่านขั้นแห่งความรู้สึกนั้นมา ความสุขที่ว่านี้มีแต่ความว่างที่เห็นเท่านั้น ไม่มีอะไรให้ต้องเข้าไปหลงใหล ยึดมั่น ให้ความสุขนั้นดำรงอยู่ ก็เพราะทุกอย่างมันมีแต่สิ่งนี้เท่านั้นที่หลงเหลือในที่สุด


ประสบการณ์ที่เข้าถึงความสุขระดับนี้เท่านั้นที่จะทำให้เข้าใจจิตสัมผัสเช่นนี้ได้ และทำให้เข้าใจได้ว่า พระอริยะทั้งหลายเหตุใดจึงพร่ำสอนแต่เรื่อง “ความสุขในความสงบ” เพราะในความสงบนั้นไม่หลงเหลือสิ่งใดให้ต้องยึดถือเอาเป็นของๆ ตนอีก ทุกอย่างว่างเปล่า เป็นสัจธรรมที่ดำรงอยู่อย่างนั้น มีอยู่อย่างนั้น ก็ทุกอย่างมีแต่ความว่าง การที่ความว่างผสมผสานกับความว่างจึงกลายเป็นสัจธรรมที่ดำรงอยู่อย่างนั้น (ยถาภูตะ) นี่คือ ความสุขที่สัมผัสได้


นี่คือ โศลกที่ยี่สิบเอ็ดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา