วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Dilemma on Pali and True Life

Dilemma on Pali and True Life
ผศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์






เกริ่นนำ

เริ่มมีผู้ตั้งข้อสังเกตมากขึ้นระหว่าง สิ่งที่ปรากฏในพระไตรปิฎก กับสิ่งที่ประชาชนไทยปฏิบัติ ถูกต้อง หรือบิดเบือน กลายเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับพระไตรปิฎกบาลีพระพุทธศาสนาเถรวาทกำลังได้รับความสนใจในวงการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย เนื่องจากเริ่มมีการอ้างถึงพระไตรปิฎกเพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในคำสอนของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนามากขึ้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่พระไตรปิฎกบาลีเชื่อถือได้หรือไม่ แต่อยู่ที่ผู้ที่อ้างพุทธพจน์นั้นเชื่อถือได้หรือไม่ และที่นำมาอ้างประกอบความคิดเห็นของตนนั้นถูกต้องตามพุทธเจตนาหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้กำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก นอกเหนือจากนั้นก็เป็นประเด็นที่ถกกันระหว่างฝ่ายนักสังคมวิทยากับนักศาสนวิทยาถึงปรากฏการณ์ในสังคม ด้านหนึ่งมองทางด้านประโยชน์ทางสังคมอีกด้านหนึ่งมองความผิดเพี้ยนไปจากคัมภีร์พระไตรปิฎก จุดร่วมควรจะอยู่ที่ไหน



วิถีชีวิตไทย
วิถีชีวิตของชาวพุทธในประเทศไทยได้ดำเนินชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาโดยเชื่อมโยงไปที่คัมภีร์พระพุทธศาสนา แต่เมื่อเข้าไปศึกษาก็พบว่า มีหลายส่วนไม่ได้ปรากฏในหลักฐานคัมภีร์พระพุทธศาสนา ตกลงควรเลิกการยึดถือ หรือว่าจะทำต่อไป ถ้าทำต่อไปควรจะมีแนวทางอย่างไรดีเพื่อไม่ให้เสียหลักพระพุทธศาสนา



ให้ทำความชัดเจน


เป็นความพิเศษในพระพุทธศาสนาที่ขึ้นอยู่กับผู้ศึกษา ถ้าปัญญามีน้อยก็มองมุมหนึ่ง ถ้าปัญญามีมากก็มองได้หลายมุม และลึกซึ้งยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ที่สำคัญก็คือ จะต้องมีหลักการเดิมไว้แล้วปฏิบัติกันไปอย่างไรก็ถือว่า ขึ้นอยู่กับตนเอง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับหลักการในพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎกเป็นสรรพวิชาที่สามารถเข้าไปศึกษาได้อย่างไม่รู้จักจบสิ้น เพราะได้บันทึกไว้ซึ่งแง่มุมทางการศึกษาและการนำไปใช้เหมาะสมสำหรับคนทุกระดับ ทุกสาขาอาชีพ บ้างใช้หลักธรรมโดยตรง บ้างได้จากการตีความ การเข้าไปศึกษาวิถีชีวิตคนไทยเพื่อนำมาตรวจสอบความจริงในพระไตรปิฎกนั้นเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังในการเผยแผ่ จำเป็นต้องพิจารณาเป็นกรอบในการแสดงออก นั่นก็คือ กรอบพิธีกรรม กรอบสังคม กรอบพระไตรปิฎก และกรอบการปฏิบัติ จากนั้นก็ให้แง่มุมในแต่ละกรอบไปมิฉะนั้นกำลังจะใช้กรอบของแต่ละส่วนเข้าไปตัดสินกรอบอื่นซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เป็นธรรม สมมติเรื่องการบวชหน้าไฟ ไม่ได้ปรากฏในพระไตรปิฎก แต่เป็นกรอบสังคมที่กลายเป็นวัฒนธรรมอันดีงามของคนไทย จะต้องเคารพในกรอบนี้ แต่ให้แสดงไว้ว่า เรื่องนี้ไม่ได้ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกบาลี


การตีความพระไตรปิฎก


ปัญหาการตีความพระไตรปิฎก ได้กลายเป็นปัญหาสำหรับประเทศไทยไปแล้ว ตีความไปก็เข้าข่ายผิดหลัก ไม่ตีความก็กลายเป็นติดกรอบ แล้วจะทำไงดี ต่อปัญหาข้อนี้ที่ผู้เขียนพยายามจะชี้ให้เห็นว่า พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) นั้น คือบุคคลที่กลายเป็นมาตรฐานทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ไปเสียแล้ว คือถ้ามีเรื่องอะไรก็ต้องอาศัยท่านเป็นผู้วินิจฉัย ผู้ชอบก็ชื่นชม ผู้ไม่ชอบก็เห็นแย้ง ทำให้จะกลายเป็นปัญหายืดเยื้อและไม่เป็นหลักการ


ปัจจุบันมีพระภิกษุหลายรูปกำลังทำการหันมาศึกษาพระไตรปิฎก แต่ก็ไม่หลุดพ้นการใช้อัตโนมติเข้าไปตีความเอง หลวงพ่อพุทธทาสเป็นตัวอย่างในสังคมที่ท่านตีความให้เป็นลักษณะของท่านเองหลายเรื่องก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จนถึงทุกวันนี้ แต่ท่านก็กลายเป็นบุคคลของโลกไปแล้ว แปลว่า การศึกษาพระไตรปิฎกทำให้เข้าถึงธรรมได้หลายแง่มุม


อันตรายที่ต้องป้องกัน


๑. การที่เกิดเหตุการณ์ใดแล้วมีพระภิกษุรูปหนึ่งออกมาให้ความเห็นโดยอ้างเอาพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ สังคมก็ยอมรับในความสามารถเฉพาะตนและยอมรับในการตัดสินของปัจเจกบุคคล อันตรายที่จะเกิดขึ้นก็คือ สังคมสงฆ์ไทยให้ความไว้วางใจในความปัจเจกมากเกินไป ถ้าหากกรณีที่ไม่มีท่านอยู่ หรือกรณีที่ท่านมองมิติเดียว พระพุทธศาสนาในประเทศไทยก็จะสูญเสียโอกาสดีๆ อื่นๆ ไป ความน่าจะเป็นตามความคิดควรจัดตั้งองค์กรในการตัดสิน โดยให้ท่านเป็นประธาน การจะตัดสินอะไรก็ตัดสินวินิจฉัยเป็นพื้นฐานขององค์กรทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย แม้ว่า ท่านจะไม่อยู่ก็มีผู้ทรงความรู้อยู่ต่อไปปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และกระทำในนามขององค์กรทางพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ก็จะไร้ข้อตำหนิส่วนบุคคล


๒. การตีความทางพระพุทธศาสนานั้นมิใช่เป็นเรื่องที่กระทำได้โดยง่าย เนื่องจากเป็นแง่มุมทางระดับจิตด้วย ถ้าหากระดับจิตไม่ถึงขึ้นการตีความอาจผิดสภาวธรรมไปได้ แน่นอนถ้าทุกคนถือตามพุทธวจนะก็ไม่มีปัญหาแต่ปัญหาก็คือ สภาวธรรมเหล่านั้นเกิดกับบุคคลแตกต่างกันไป การตีความจึงยาก ทางที่ดีไม่ต้องตีความความ แม้ว่าจะตีความก็ต้องวางมาตรฐานในพระไตรปิฎกไว้ ไม่ควรใช้คำว่า “คำนี้หมายความว่า” เพราะนั่นเป็นความหมายของตน แต่ควรบอกว่า “พระไตรปิฎกแสดงไว้อย่างนี้” คำที่เกินออกไปจากพระไตรปิฎกต้องให้เป็นความเห็นของตน ผู้อื่นไม่เชื่อก็ให้ไม่เชื่อคำของตน ไม่ใช่ไม่เชื่อในพระไตรปิฎก ดังปัญหาเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา


(อ่านต่อในบทความวิชาการต่อไป)

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สารนิเทศ : สารแห่งธรรม

นิเทศแห่งรัก
ผศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์

ยิ่งนับวันความรักที่มีอยู่ในหัวใจของมนุษย์จะยิ่งลดน้อยถอยลงไป ด้วยเหตุปัจจัยที่บีบคั้นมนุษย์หลายทาง โดยเฉพาะสังคมที่มีภาวะแห่งการแข่งขันกันสูงก็จะพบแต่ความแข็งกระด้างแห่งจิตใจของผู้คน ภาวะทางสังคมกำลังหล่อหลอมให้มนุษย์กลายเป็นหุ่นยนต์ที่ทำตามคำสั่ง ทำตามอำนาจพลังด้านลบ มนุษย์กำลังเข้าใจผิดในคำว่า เหตุผล คือกำลังใช้เหตุผลไปเสียทุกเรื่องโดยเข้าใจว่า การทำด้วยเหตุผลเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

เหตุผลเป็นความสมคล้อยกันแห่งตรรกะ ลงตัวกันได้ เข้ากันได้ ไม่แย้งกัน สมเหตุสมผล นี่เป็นเหตุผลในความบริบทแห่งสังคมทั่วไป เหตุผลนี้เองที่เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ความรักหายไปจากชีวิตมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ยิ่งกว่าเหตุผลประเภทนี้ เนื่องจากเหตุผลไม่สามารถเข้าถึงธาตุแห่งรักได้ เข้าถึงได้เฉพาะเปลือกแห่งรักเท่านั้น อารมณ์ความรู้สึกเป็นสิ่งที่บอกไม่ได้ด้วยเหตุผล สิ่งที่บอกด้วยเหตุผลยังไม่ใช่ความรักที่แท้ เป็นแต่เพียงรูปแบบแห่งความรัก ใครบ้างอธิบายเรื่องความร้อน ความเจ็บปวด ความดีใจ ความอิ่มใจได้ เหตุผลไม่สามารถบอกออกมาได้ เฉกเช่นเดียวกับความรัก การที่ใครพยายามใช้เหตุผลกับความรักก็เปรียบดังเช่นการอธิบายความอร่อยด้วยวัสดุทำอาหารให้คนได้อิ่ม อธิบายอย่างไรก็ไม่สามารถเข้าถึงความอร่อยได้ และไม่สามารถอิ่มได้



อีกสาเหตุหนึ่งของความหายไปแห่งความรักก็คือ การเน้นกฎหมาย สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน ปัจจุบันมีการอ้างถึงนิติรัฐและสิทธิเสรีภาพ สังคมภายใต้บริบทนี้เป็นสังคมที่ขาดความรัก แต่เป็นสังคมที่เคารพสิทธิเสรีภาพและการไม่ล่วงเกินเอาเปรียบกัน เมื่อใดที่มีการประพฤติละเมิด เมื่อนั้นคุณจะถูกจัดการทันที กล่าวกันว่า สังคมตะวันตกนั้นอยู่ภายใต้บริบทนี้ ไม่ใช่บริบทแห่งรัก แต่เป็นบริบทแห่งความเคารพสิทธิเสรีภาพ ความรักที่อยู่ภายใต้เงาแห่งสิทธิเสรีภาพนี้ เป็นความรักที่อยู่บนเส้นขอบอันบอบบาง พร้อมที่จะพลัดตกทุกเมื่อที่มีการล้ำเส้นกันและกัน ส่วนสังคมประเทศไทยนั้น ตั้งอยู่บนสังคมอุปถัมภ์พึ่งพา ความรักที่อยู่ภายใต้เงาแห่งความอุปถัมภ์พึ่งพา เป็นความรักที่อยู่บนพื้นที่แน่นหนาแต่อยู่ในความมืด เป็นความรักหลงงมงาย ไม่พลัดตกง่าย แต่ก็ไม่มีทิศทางที่จะเดิน



ดังนั้น ความรักที่แท้ต้องตั้งอยู่บนฐานแห่งรัก ไม่ใช่เหตุผลตามตรรกะ (Logic) แต่เป็นเหตุผลตามกรรมและวิบาก (Cause and Effect) คือ กรรม=รัก วิบาก=ได้ความรัก นี่เป็นความรักที่เป็นธาตุรัก ใช้ความรู้สึกที่รักและได้รักก็พอ เพราะความรักเช่นนี้จะเป็นเหตุปัจจัยส่งต่อไปถึงความกรุณา พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ซึ่งกลายเป็นนิยามของความรักประการหนึ่ง “ความรักคือการให้” จากนั้นก็จะส่งทอดไปถึงความชื่นชมต่อคนรัก และส่งทอดต่อไปถึงสิทธิเสรีภาพในรัก รวมความแล้วนิเทศแห่งรักก็คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขานั่นเอง ที่สำคัญต้องใช้เป็นเชิงบูรณาการทั้ง ๔ มิติด้วย จึงจะเป็นนิเทศแห่งรักตามแนวพุทธ

นิเทศแห่งชีวิต
ชีวิตเป็นสิ่งที่งดงาม เป็นสิ่งที่พร้อมจะเบิกบาน พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพที่เปลี่ยนไป มีแต่สิ่งที่ตายแล้วเท่านั้นที่ไม่ยอมเปลี่ยน แต่สุดท้ายแล้วชีวิตที่แท้ความความโดดเดี่ยว ดังข้อความของท่านอิคคิวที่ว่า
“พวกเรามาสู่โลกนี้เพียงลำพัง
พวกเราก็ต้องจากโลกนี้ไปเพียงลำพัง”
นี่เป็นนิเทศแห่งชีวิตที่งดงาม เปี่ยมด้วยพลัง การอยู่ร่วมกันนั้นเป็นเพียงมายา ก็ความคิดอยู่ร่วมกันนี้เกิดขึ้นก็เพราะผู้คนกลัวความโดดเดี่ยว ถูกความโดดเดี่ยวทำร้าย มนุษย์ต่างพากันขจัดความโดดเดี่ยวออกไปด้วยการหาที่พึ่งอื่น โดยเฉพาะความรักของชายหญิงที่เห็นได้ชัด
มนุษย์เข้าใจผิดว่า ตนเองไม่สามารถอยู่ได้ถ้าหากปราศจากชายหรือหญิงคนที่รัก กลายเป็นการตกหลุมรัก (Falling in Love) นั่นหาใช่ความจริงไม่ ความจริงก็คือ มนุษย์ไม่อาจทนทานต่อความโดดเดี่ยวที่ทำร้ายเอาได้ มันโหดร้าย รุนแรง ความสวย ความหล่อไม่ได้เป็นอุปสรรคอีกต่อไปเมื่อถึงจุดที่คุณต้องอยู่ มนุษย์ไม่ยอมอยู่อย่างโดดเดี่ยวแน่นอนแม้จะต้องอยู่กับคนขี้เหร่
ยิ่งไปกว่านั้นชายหญิงไม่ใช่ประเด็นสำคัญด้วย หากแม้โลกนี้ไม่มีบุรุษ สตรีก็ต้องเลือกสตรี หากแม้โลกนี้ไม่มีสตรี บุรุษก็ต้องเลือกบุรุษ ถึงแม้ไม่มีบุรุษสตรีให้ตกหลุมรัก มนุษย์ก็ต้องหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เช่นรักเงินตรา รักอำนาจ รักกวี รักศาสนา รักศิลปะ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องประกันมนุษย์ไม่ให้รู้สึกว่า ตนโดดเดี่ยว กิจกรรมอะไรๆ เหล่านั้นเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้นเอง ความจริงก็คือมนุษย์กลัวความโดดเดี่ยวเท่านั้น

การอยู่อย่างโดดเดี่ยวนั้นเป็นความทุกข์ ชีวิตไร้ค่าขึ้นมาทันที ไม่มีที่ไป ไม่มีที่ๆ จะอยู่ ไม่มีใครที่จะเกี่ยวข้องด้วย ในช่วงนี้กวีจึงเข้ามามีบทบาท เพลงจึงเข้ามามีบทบาท เพศจึงมีบทบาท แอลกอฮอล์จึงมีบทบาท ช่างวาดภาพก็รักอยู่กับการวาดภาพ และสิ่งนี้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญที่ว่า ชายผู้หนึ่งหลงใหลอยู่กับกวีของตนเขาจะหลีกเลี่ยงจากสตรี เขาไม่มีสตรีได้ เพราะสตรีเหล่านั้นจะเป็นตัวขัดขวางระหว่างเขากับกวี ด้วยเหตุนี้จึงมีคนที่เรียกตัวเองว่า เป็นนักแสวงหา นักวิจัย นักกวี หรือนักวาดภาพ คนพวกนี้มักเป็นคนโสด ที่เขาอยู่ได้เพราะเขามีสิ่งอื่นที่รักอยู่แล้ว เขาจึงไม่ต้องการสตรีใดๆ อีก เธอก็ไม่ต้องการชายใดอีก คนโสดกับคนโดดเดี่ยวไม่ใช่คนเดียวกัน คนโสดอยู่ได้เพราะเขาไม่ได้โดดเดี่ยว แต่คนโดดเดี่ยวอยู่ไม่ได้ เพราะชีวิตเขาจะไร้ค่าขึ้นมาทันที สิ่งที่เขาสามารถทำได้ คือ ฆ่าตัวตายหรือไม่ก็เป็นสัญยาสีที่แท้ การฆ่าตัวตายเป็นความโง่งมประเภทหนึ่งที่เกิดจากอาการไร้ที่พึ่ง เป็นความทุกข์จากความโดดเดี่ยว ส่วนอีกทางคือ การเป็นสัญยาสีที่แท้ หมายความว่า การยอมรับความโดดเดี่ยวแล้วอยู่ร่วมกับความโดดเดี่ยวเสีย ความโดดเดี่ยวจึงหายไป นี่คือนิเทศแห่งชีวิต

นิเทศแห่งปัญญา
เหตุใดเมื่อเกิดพระอริยบุคคลในโลกจึงเป็นความโศกเศร้าแห่งมาร ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระอริยบุคคลทั้งหลายคือ บุคคลผู้มีความรักที่เต็มเปี่ยม เป็นความรักที่ไม่อิงอาศัยอะไรอีก ไม่ตกอยู่ภายใต้ภัยแห่งความโดดเดี่ยว ก็พระอริยบุคคลเหล่านั้นไม่เหลือพื้นที่ให้ความโดดเดี่ยวทำงานได้อีก เมื่อใดที่ปัญญาตามเห็นขันธ์ ๕ ทำงานอย่างกระจ่างชัด เมื่อนั้นโลกคือขันธ์นี้ก็ไม่หลงเหลืออะไรให้ต้องเยื่อใยอีกต่อไป ขันธ์นี้ก็คือส่วนหนึ่งของจักรวาล จักรวาลก็คือขันธ์ จะมีสิ่งใดให้ต้องหลงรักอีก

คำสอนในพระพุทธศาสนามุ่งกระตุกให้ได้คิด ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิต ให้เลิกสนใจสิ่งอื่น ให้เลิกพึ่งพาสิ่งอื่น พยายามทำตนให้เข้าถึงความโดดเดี่ยว ไม่หลีกหนีความโดดเดี่ยว คำสอนในพระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องของการแจ้งให้ทราบ แต่เป็นการกระเทือนให้รู้สึก การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าได้กระเทือนต่อสังคม เพราะสังคมนั้นชอบความหลอกลวง ชอบมายา ชอบพึ่งพา ไม่อาจโดดเดี่ยว แต่พระอริยบุคคลทั้งหลายนั้นไม่หลอกลวง ไม่มีมายา ไม่พึ่งพา และอยู่กับความโดดเดี่ยวได้ ปัญญาที่ตามเห็นมายาเหล่านั้นทำงาน ภายใต้เงื่อนไขแห่งการหลีกหนีจากความโดดเดี่ยว สละได้อย่างหนึ่งแต่กลับไปยึดอีกสิ่งหนึ่ง การตามเห็นเช่นนี้จึงชื่อว่า ไม่กระทำผิดพลาดอีกต่อไป นี่คือ นิเทศแห่งปัญญา

สารนิเทศ
ขอให้นิเทศทั้ง ๓ และสาระในทุกๆ บทความจงเป็นสาระที่มีคุณค่าในใจของทุกท่านที่ได้อ่านวารสารฉบับนี้ ทุกสาระพร้อมที่จะเบ่งบานเป็นสารธรรมให้ผู้ได้พบเห็นกระเทือนต่อความรู้สึก อารมณ์ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตที่มีสาระมากยิ่งขึ้น


(ติดตามอ่านในวารสารศาส์นสัมพันธ์ มมร)

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สิบสองปันนา : ธุรกิจวัฒนธรรม

สิบสองปันนา : มิติธุรกิจวัฒนธรรม
ผศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์
ประธานสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา



ทางเลือกที่รอดยาก

เมื่อยุคสมัยผ่านไป ระบอบคอมมิวนิสต์คลายความเข้มงวดลง ศาสนาและวิถีวัฒนธรรมของชาวไทลื้อสิบสองปันนาก็กลับฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง สิบสองปันนาเปิดตัวให้กับโลกภายนอกมากขึ้น คนไทยเชื้อสายไทยลื้อจากเมืองไทยก็ไปมาหาสู่ชาวไทลื้อสิบสองปันนาในฐานะที่เป็นเสมือนชนร่วมสายบรรพบุรุษเดียวกัน หลังจากที่จีนและประเทศโลกได้รับวัฒนธรรมแนวใหม่คือ ระบอบทุนนิยมมาใช้ วัฒนธรรมของชาวไทลื้อสิบสองปันนาเริ่มถูกกระทบและถูกทำลายไปเรื่อยๆ เป็นภัยเงียบทางวัฒนธรรมที่ไม่มีผู้ใดคำนึงถึง เพราะทุกฝ่ายอ้าแขนรับและนำเข้ามาเองอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความเจริญแบบทุนนิยมได้รับการยอมรับว่าเป็นความเจริญของคุณภาพชีวิต คือ การอยู่ดี กินดี มีเงินใช้ จึงไม่มีผู้ใดต่อต้านขัดขืน

วัฒนธรรมใหม่ทะลักเข้าสู่สิบสองปันนา


ปัจจุบันเชียงรุ่ง รุ่งเรืองทันสมัยสมชื่อ มีถนนตัดใหม่ ทันสมัย บนถนนเต็มไปด้วยรถมากมาย อาคารร้านค้าสองข้างทางล้วนทันสมัย มีโรงแรมระดับสี่ดาว มีความสะดวกสบายกว้างขวางไว้บริการ สาวเชียงรุ่งรุ่นใหม่เดินกันขวักไขว่มีทั้งสายเดี่ยว กระโปรงสั้น จนแทบจะมองไม่เห็นคนนุ่งซิ่นตามแบบฉบับของชาวไทลื้อ เมืองศูนย์กลางแห่งสิบสองปันนาในวันนี้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วไม่ต่างอะไรกับเมืองอื่นๆ ในประเทศจีน อาคารพานิชย์น้อยใหญ่ผุดขึ้นหลายแห่ง บริเวณในเมืองเป็นที่อยู่ของชาวจีนที่เข้ามาค้าขายสินค้า บางแห่งริมทางเท้าจะเห็นหญิงสาวในชุดไทลื้อ นุ่งผ้าถุงยาวสวมเสื้อแขนกระบอกเดินสวนกับสาวชาวจีนในชุดกระโปร่งสั้น สวมถุงน่องและรองเท้าส้นสูง การผสมผสานระหว่าง "ความใหม่" กับ "ความเก่า" อันนำไปสู่การเปรียบเทียบถึงความทันสมัยกับล้าสมัยในที่สุด


การดำรงอยู่ของกลุ่มชนชาว "ไทลื้อ" ในท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมของชนชาวจีนที่เน้นเรื่องความเจริญทางด้านเศรษฐกิจในเมืองสิบสองปันนาที่ผสมผสานปนเปกับวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ยิ่งนับวันชาวไทลื้อก็กำลังจะกลายเป็นชนชาติส่วนน้อยในจีนและบ้างก็เป็นผู้พลัดถิ่นในดินแดนไทยและพม่า หรือแม้แต่ความเป็นชาวไทลื้อก็เป็นชาวไทลื้อที่มองไม่ออกอีกต่อไป กล่าวคือไม่หลงเหลือสัญลักษณ์ให้ภาคภูมิใจได้อีกต่อไป แม้กระทั่งภาษาที่เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่สามารถสื่อกับคนไทยได้ แต่ต่อไปภาษาจะถูกภาษาจีนเข้ามามีอิทธิพลเหนือกว่าอันเนื่องมาจากการค้าและการท่องเที่ยวนั่นเอง ดูจากป้ายร้านค้าและป้ายถนนหนทาง บอกด้วยภาษาจีนเกือบทั้งหมดแล้ว ยกเว้นแต่ผู้นำของสิบสองปันนาจะพยายามรักษาไว้โดยเป็นกฎของแคว้นปกครองพิเศษของสิบสองปันนาเท่านั้น

การกลืนทางวัฒนธรรม


ลักษณะของการหลอมสลายทางวัฒนธรรมเช่นนี้เกิดขึ้นกับทิเบต จิตวิญญาณแห่งความเป็นทิเบตกำลังจะหายไปเมื่อมีการสร้างทางรถไฟและกำลังสร้างความเจริญเข้าไปเพื่อให้ทุกคนหลั่งไหลเข้าไปท่องเที่ยวทิเบต ที่สำคัญได้มีการยักย้ายถ่ายเทนักธุรกิจเข้าไปลงทุนด้านต่างๆ ในทิเบตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยว มองไปทางไหนก็พบกับตึก อาคาร สถานที่ที่ให้บริการเกี่ยวกับความสะดวก การค้า การเงิน และแห่งสำหรับดึงเงินจากกระเป๋านักท่องเที่ยวให้ได้ การได้มาซึ่งเงินทองกลายเป็นปัจจัยหลักสำหรับการคิดของผู้บริหารทิเบต แต่ลืมไปถึงจิตวิญญาณแห่งทิเบตที่สั่งสมมานานนับพันปีกำลังหายไป จิตวิญญาณที่เกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เกิดจากการบำเพ็ญเพียรปฏิบัติของชาวพุทธทั้งหลายกำลังจะหายไป สิ่งที่เกิดขึ้นมาก็คือ การแสดงโชว์ให้ชาวต่างชาติเห็นถึงวิถีชีวิต พระลามะออกมาทำสังฆกรรมเพื่อให้ชาวต่างชาติได้เห็น การแสดงของพระลามะที่มีรอบในแต่ละวัน จิตวิญญาณที่แท้จริงกำลังจะหายไป มองไปทางไหนก็จะเห็นแต่ผู้อยู่เบื้องหลังที่กำลังใช้วัฒนธรรมอันดีงามตามความเป็นจริงมาเป็นเครื่องมาแสวงหากำไรทางธุรกิจ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเชิงพุทธภายใต้ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ธุรกิจการแพทย์


อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นประสบการณ์ในการไปสิบสองปันนาครั้งนี้ นั่นก็คือการค้าบนสุขภาพของมนุษย์ เรียกง่ายๆ ว่า “ธุรกิจการแพทย์” สิ่งนี้กำลังระบาดในประเทศจีนโดยทั่วไป ธุรกิจนี้ใช้จุดอ่อนของมนุษย์เข้ามาเป็นข้อต่อรองทางจิตวิทยา สมมติมีคนที่เข้ารับการตรวจโรค ๑๐ คน ทุกคนต้องเป็นโรคหมด เพราะอย่างน้อยก็ต้องเคยเป็น เช่นเป็นหวัด ไอ ภูมิแพ้ เจ็บเนื้อเจ็บตัว เลือด กระเพาะ ความดัน หัวใจ ฯลฯ ไม่โรคใดก็โรคหนึ่ง แม้กระทั่งหมอที่ตรวจก็เป็น ยิ่งเป็นการตรวจโรคแบบภูมิปัญญาจีน คือ ตรวจสอบการทำงานของธาตุ ๔ ผ่านทางชีพจร ก็ยิ่งไม่รอดพ้นไปได้ คนๆ หนึ่งเป็นไม่น้อยกว่า ๓ โรค แล้วหมอก็จะตั้งคำถามว่า คุณจะรักษาโรคไหนบ้าง โรคละประมาณ ๑๕๐๐ บาท เป็นอย่างต่ำ จิตวิทยานี้ได้ผลมาก เพราะทุกคนก็ต้องการให้ตนเองไร้โรคภัยไข้เจ็บ ก็ต้องซื้อยาสมุนไพรจีนทานตามใบคำสั่งยา บางคนไม่ได้เตรียมเงินไปมาก ก็ต้องตัดใจรักษา เนื่องจากเป็นเหมือนบรรยากาศถูกล๊อบบี้ทางจิตวิทยาการแพทย์ รอบข้างจะมีหมออยู่ถึง ๓ – ๔ คน ไม่เลือกเอาสักโรคก็คล้ายกับไม่ให้เกียรติหมอที่ทำการตรวจโรคให้แล้ว และเชื่อแน่ว่า ถ้าหากมีการบอกกันไว้ว่า ให้ศึกษาอย่างเดียวยังไม่ต้องรักษา ก็คงได้รับคำตำหนิจากหน่วยแพทย์ที่นั่นที่คงต้องการเงินจากนักท่องเที่ยวแน่นอน นี่แหละคือ วัฒนธรรมธุรกิจการแพทย์ ซึ่งเป็นอิทธิพลของแนวคิดภายใต้ระบบทุนนิยม

ไตลื้อฤาเป็นเหยื่อ

การบริหารพัฒนาประเทศเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง มิฉะนั้นรากฐานภูมิปัญญาต่างๆ ที่บรรพบุรุษเคยสั่งสมมาจะถูกแปรเปลี่ยนไปด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งที่ล้าหลัง ไม่ทันสมัย แล้ววัฒนธรรมทุกอย่างจะถูกทดแทนด้วยแนวคิดระบบทุนนิยม นำสิ่งที่เรียกว่า ความใหม่เข้ามาโดยไม่คำนึงถึงมิติวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณ บางครั้งความสูญเสียทางจิตวิญญาณนี้ไม่สามารถวัดเป็นมูลค่าได้ จากที่ได้ไปเห็นดินแดนสิบสองปันนา ลองนึกย้อนไปถึงวิถีชีวิตที่มีความเป็นชาวบ้านไทลื้อ มีความเอื้ออาทร มีระบบวัฒนธรรมแบบชนเผ่าหนึ่งที่อาศัยกันและกันอยู่ ตามสำนวนภาษาทางเหนือว่า “พิกบ้านเหนือ เกือบ้านใต้” หมายความว่า อยากได้พริกก็ได้จากบ้านทางเหนือ อยากได้เกลือก็ได้จากคนที่อยู่บ้านทางใต้ แบ่งปันกันโดยไม่คิดว่านั่นต้องคิดเป็นเงินเป็นทองทุกอย่าง แต่มาบัดนี้ สภาพความเป็นชาวบ้านไทลื้อกำลังจะหายไป จะเห็นแต่นักธุรกิจมีหน้าตาที่บ่งบอกถึงเรื่องของเงินทอง กำไร ขาดทุนเท่านั้น

ระวังพุทธทุนนิยม

สำหรับพระพุทธศาสนาก็เป็นพระพุทธศาสนารูปแบบใหม่ตาม เริ่มเป็นพระพุทธศาสนาเถรวาทที่อยู่ภายใต้ความคิดแบบระบบทุนนิยม ไม่เพียงแต่พระพุทธศาสนาเท่านั้น วัฒนธรรมทุกประเภทจะถูกนำมาวางไว้แล้วคิดบนฐานทุนนิยม คิดเป็นกำไร ขาดทุนทั้งหมด แม้แต่เรื่องของสุขภาพของมนุษย์ก็จะกลายเป็นระบบการค้า ด้วยคำพูดที่อาจเป็นได้ว่า “คุณมีเงินเท่าไร ฉันก็จะมอบโรคให้คุณเท่านั้น” บุคคลที่เดินเข้าไปศึกษาจะถูกคิดเป็นราคา เป็นทุนทรัพยากรทางเศรษฐกิจหมดนี่คือ ระบบวัฒนธรรมทุนนิยม

พุทธปัญญา
การจะรับมือกับระบบนี้ก็ต้องทำการศึกษาก่อน คือการรู้ทันวัฒนธรรมทุนนิยม ใช้พุทธปัญญาที่เกิดจากสัมมาทิฏฐิ แน่นอนไม่มีอะไรดี อะไรไม่ดีไปเสียทั้งหมด ให้ใช้ระบบปฏิวัติ (Revolution) ปฏิรูป (Reformation) และบูรณาการ (Integration) ตามแนวที่พระพุทธศาสนาเคยใช้มาแล้ว เมื่อครั้งเกิดขึ้นใหม่ในสังคมอินเดีย เมื่อครั้งเข้าไปเจริญในจีน และเข้าไปเผยแผ่ในประเทศตะวันตก เมื่อฐานคิดเป็นสัมมาทิฏฐิก่อนแล้วจากนั้นก็สามารถดำเนินต่อไปได้ แต่ถ้าฐานคิดไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อนั้นก็จะทำให้วัฒนธรรมที่สร้างขึ้นเป็นวัฒนธรรมที่บิดเบี้ยว (Twisted Culture) และจะได้รับการปกป้องด้วยบุคคลที่มีสายตาบิดเบี้ยวเหล่านั้นซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ดุจดังการวัดความงอ ด้วยความงอ ก็จะไม่มีวันตรงได้