วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

ลมใจหาย










โศลกที่สิบเจ็ด "ลมใจหาย"


กำหนดรู้ลมหายใจ
รู้สั้นยาวเข้าออก
รู้ชัดลมหายใจใสสะอาด
ใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์
มีลมหายใจเป็นเครื่องมือ
เริ่มแรกแจ่มชัด ภายหลังขาดหาย
ลมหายไป ลมใจหาย
แม้แต่หายใจให้ยาวลึก
ก็ทำได้ไม่สะดวก
นั่นแหละคือไร้สั้นยาว
เหลือแต่ลมเข้าออก
แต่ไม่ใช่ไม่หายใจ






ความอัศจรรย์แห่งลมหายใจ เป็นสิ่งเดียวที่มนุษย์อาศัยมันดำรงอยู่ แต่น้อยคนนักที่จะให้ความสำคัญและใส่ใจกับลมหายใจ ทั้งที่ลมหายใจนั้นเป็นปราณรักษาชีวิตของมนุษย์ให้ดำรงอยู่ได้ หรือสิ้นสุดลง ไม่ใช่ไม่ให้ความสนใจอย่างเดียวเท่านั้น แม้กระทั่งการหายใจที่สูดเข้าออกนั้นก็ยังไม่เคยรู้ว่า การหายใจอย่างไรที่ถูกต้อง กล่าวคือ หายใจได้ก็เท่านั้น น้อยนักที่จะหายใจเป็น เหมือนกับคำกล่าวว่า เกิดเป็นคนกับเขาเท่านั้น แต่เป็นคนที่ถูกต้องนั้นไม่รู้เป็นอย่างไร เกิดมาก็หายใจได้เท่านั้น แต่การหายใจเป็นนั้นไม่แน่ว่าจะทำได้ เพราะการหายใจเป็นต้องได้รับการฝึก ไม่ใช่ทำกันได้โดยทั่วไป




ศิลปะต่างๆ ที่ใช้แรงกายล้วนแล้วแต่ต้องผ่านการฝึกลมหายใจทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง การชกมวย คาราเต้ การร้องเพลง การว่ายน้ำ เป็นต้น ถ้าหายใจไม่ถูกต้องก็ไม่สามารถที่จะรังสรรค์ศิลปะนั้นๆ ให้ถึงขีดขั้นสูงสุดได้ บ้างหายใจที่คอ ที่อก ที่ลิ้นปี่ ที่ท้อง ที่ท้องน้อย บ้างหายใจไม่เต็มที่ หายใจขาดเป็นห้วงๆ หายใจสั้น หายใจยาว แต่ละลักษณะของการหายใจนั้นนำมาซึ่งผลอันแตกต่างกันต่อระบบสรีรศาสตร์ทั้งสิ้น



พลังลมปราณนั้นเป็นลมหายใจ เป็นพลังภายในที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายและมีจุดศูนย์กลางในการเก็บรักษาอยู่ที่ท้องน้อย พลังลมปราณนี้ก็คือ พลังชีวิต เป็นพลังที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ และจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ นับจากอายุ ๑๖ ปีถอยหลัง จนหมด แต่ถ้าหายใจถูกต้องก็สามารถที่จะสะสมพลังชีวิตได้ ทำให้มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ไม่ป่วยไข้ง่าย แม้ยามสูงอายุก็ยังมีร่างกายที่แข็งแรง มีอนามัยสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ศึกษาเรื่องการหายใจจึงเน้นไปที่ให้หายใจไปให้ถึงท้องน้อยเพื่อเก็บพลังชีวิตสะสมไปด้วย และไม่ควรให้มีการกระทบกระเทือนที่บริเวณท้องน้อยมาก การที่ท้องน้อยกระทบกระเทือนมากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หรือไม่ก็ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก อุดตัน เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

โบราณาจารย์จึงศึกษาวิธีการใช้ปราณศาสตร์เพื่อประโยชน์มากมาย นับตั้งแต่การดำรงชีวิต ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ การแพทย์ การต่อสู้ ใช้ไปกับอาชีพต่างๆ จนกระทั่งรวมไปถึงการใช้เพื่อการเข้าถึงธรรม คือ ความสิ้นไปแห่งทุกข์ ยกตัวอย่างการฝึกลมหายใจเพื่อการต่อสู้ แต่ละสำนักก็ฝึกลมหายใจที่แตกต่างกันเพื่อผลทางฝีมือที่ต่างกัน บางสำนักฝึกหายใจ เข้าช้า ออกช้า บางสำนักหายใจเข้าเร็ว ออกเร็ว บางสำนักหายใจเข้าช้า ออกเร็ว บางสำนักหายใจเข้าไปเต็มที่แล้วระเบิดลมหายใจ บางสำนักหายใจผ่อนช้าลึกยาว บางสำนักใช้การเกรงท้องช่วยเค้นลมหายใจเพื่อให้หายใจช้าและลึก เป็นต้น ลมหายใจทำให้ร่างกายสมดุล ทำให้การดำเนินชีวิตมีชีวิตชีวา มีพลังชีวิตเต็มเปี่ยม ทุกวันนี้ผู้คนมีชีวิตก็เหมือนไร้ชีวิต ก็เพราะไม่สนใจลมหายใจคือชีวิตของตน ชีวิตจึงเคลื่อนไหวที่ไร้พลัง ไร้จิตวิญญาณ


ลมหายใจเป็นเหมือนตัวจุดระเบิดให้ชีวะนี้ดำเนินไปได้ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า “ลมปราณ” เป็นเหมือนตัวจุดระเบิดน้ำมันในขณะสตาร์ทรถให้น้ำมันที่บรรจุอยู่ภายในซึ่งหยดลงในกระบอกสูบเป็นประกายไฟนำไปสู่ความมีพลังขับเคลื่อน ลมหายใจนี้ก็เช่นเดียวกันจุดประกายพลังงาน Calorie ภายในร่างกายให้หล่อเลี้ยงชีพนี้ให้ดำเนินไปได้ เป็นตัวสันดาปพลังงานให้กลายเป็นพลังนั่นเอง

ไม่เพียงแต่กิจกรรมธรรมดาสำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์เท่านั้นที่ใช้ลมหายใจเป็นตัวบ่งบอกความสามารถนำไปสู่ความสำเร็จ แม้แต่การปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อเข้าถึงการบรรลุธรรมก็อาศัยลมหายใจนี้ได้เหมือนกัน เนื่องจากลมหายใจเป็นปราณที่รักษาชีวิตนี้ไว้ เป็นอุปกรณ์เดียวที่ไม่ต้องแสวงหา มีอยู่กับทุกคน และแฝงไว้ซึ่งพลังที่ยิ่งใหญ่หากนำมาใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ในพระพุทธศาสนาได้ใช้ลมหายใจนี้ฝึกฝนปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมเป็นหลัก พระพุทธเจ้าได้สรรเสริญการฝึกบำเพ็ญสมณธรรมด้วยลมหายใจนี้ว่ามีผลมาก มีอานิสงส์มาก อีกทั้งยังทำให้โพธิปักขิยธรรมเจริญตามอีกด้วย

โศลกว่า “ใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์” ภาษาไทยใช้คำว่า “ลมหายใจ” ภาษาบาลีว่า อัสสาสะ ปัสสาสะ ภาษาสันสกฤตว่า “ปราณ” ภาษาอังกฤษว่า “Breath” เป็นคำที่ใช้ในความหมายที่ตรงกันก็คือ การสูดลมหายใจ มาสังเกตคำภาษาไทยใช้คำว่า “ลมหายใจ” เป็นคำที่แฝงความรู้เกี่ยวกับลมหายใจไว้อย่างลึกซึ้ง เพียงแต่ไม่ทราบว่าจะมีผู้สนใจหรือไม่ ลมหายใจ


ถ้าแบ่งเป็นคำก็ได้ ๓ คำ คือ ลม+หาย+ใจ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะลมชนิดนี้เป็นลมที่ทำให้ชีวิตยังอยู่ ถ้าลมอยู่ชีวิตอยู่ ถ้าลมหาย ชีวิตก็จบสิ้น นี่ความหมายหนึ่ง แต่ความหมายในเชิงปฏิบัติ ในยามใดก็ตามที่มีสติอยู่กับลม ลมจะมีอยู่ ใจจะหายไป แต่ยามใดที่ไม่มีสติ ลมจะหาย ใจจะอยู่ หมายความว่า เมื่อมีสติอยู่กับลมหายใจ ความคิดก็ไม่มี เท่ากับใจหายไป ก็จะเหลือแต่สติอยู่กับลมเท่านั้น โบราณจึงใช้คำนี้เพื่อเตือนสติให้คนไทยรู้จักดูลมเพื่อให้ใจหายไป เมื่อใจหายไป ความคิดหายไป ก็จะเป็นการฝึกบำเพ็ญสมณธรรมโดยแท้ เป็นภูมิปัญญาไทยที่น่าทึ่ง

โศลกว่า “ลมหายไปหรือลมใจหาย” ในศาสตร์แห่งโยคะ การฝึกฝนโยคะก็คือศาสตร์ว่าด้วยการประสานสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจ กายก็คือสรีระและลมหายใจ ใจก็คือความคิด ดังนั้น โยคะจึงให้ความสำคัญกับลมหายใจและการหายใจอย่างมาก ถึงกับยกให้เป็นอีกส่วนหนึ่งของโยคะศาสตร์เลยทีเดียว เรียกว่า “ปราณยาม” (pranayama) “การขยายหรือยืดพลังชีวิต” เป็นการฝึกลมหายใจ โดยมองลมหายใจในมิติความเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจ


ถ้าลมหายใจสั้นทั้งเข้าและออก เรียกว่า “รู้แต่โลกไม่เคยรู้ตน” รู้โลกก็คือ รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่ ไม่สิ้นลม ไม่ตายเท่านั้น แต่ไม่ได้รู้ตน คือไม่รู้จักชีวิตว่า ชีวิตนี้อยู่เพื่ออะไร จุดหมายสูงสุดของชีวิตอยู่ที่ใด ไม่รู้ว่า ตนที่แท้นั้นเป็นอย่างไร เมื่อไรก็ตาม มีการกำหนดลมหายใจเข้าออกยาวขึ้น ชื่อว่า มีสติอยู่กับลมหายใจทำให้เข้าใจชีวิตได้ยิ่งขึ้น โดยธรรมชาติผู้ชายจะหายใจเข้ายาว แต่หายใจออกสั้น ส่วนผู้หญิงนั้นหายใจเข้าสั้น หายใจออกยาว



การฝึกลมปราณ ก็คือการฝึกบริหารลมหายใจ สำหรับในพระพุทธศาสนา การฝึกลมหายใจใช้กับการบำเพ็ญเพียรสมณธรรม เรียกเป็นภาษาทางการว่า อานาปานสติ ก็คือ การฝึกให้มีสติ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่กับลมหายใจเข้าออก เริ่มปฏิบัตินั้นลมหายใจยังหยาบ ยังรู้ว่าเข้ายาว ออกยาว เข้าสั้น ออกสั้น สลับกันไปมา ไม่มีปัญหาในการกำหนดรู้


ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะที่กำหนดนี้ก็คือ ใจจะหาย และใจจะกลับมา สลับไปมาๆ ไม่มีใครยอมใคร ระหว่างมีสติกับไร้สติ เมื่อมีสติรู้ทันลมหายใจ ใจก็หายไป แต่พอไร้สติกำหนดรู้ลม ใจก็จะกลับมา ใจในที่นี้ก็คือความคิดที่จับเอาอดีตและอนาคตเป็นอารมณ์ เมื่อมีไร้สติ ลมก็หายไป เหลือแต่ความคิดที่แล่นเข้ามาแทนที่ แต่เมื่อมีสติอยู่กับลม ลมก็อยู่ ใจก็หายไปแทน

จนกระทั่งเวลาผ่านไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ลมหายใจที่เข้าออกสั้นยาว เริ่มกำหนดยากยิ่งขึ้นเพราะลมหายใจนี้จะละเอียดลง ในขณะนี้จึงยากที่จะกำหนดรู้ถึงความสั้นยาวของลมหายใจ แต่เหลือเพียงลมหายใจ (กายสังขาร) เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติหลายคนจะรู้สึกตกใจอยู่บ้าง เป็นกังวลบ้าง สงสัยบ้าง เมื่อไม่สามารถจับลมหายใจได้อย่างที่เคยทำในตอนเริ่มแรกกำหนดลม ไม่ต้องสนใจกับความสั้นยาวของลมอีกต่อไป แต่กำหนดรู้เฉพาะเข้าออกของลมก็พอ


จนกระทั่งมาถึงช่วงสำคัญของการบำเพ็ญเพียรสมณธรรมซึ่งมีลมหายใจเป็นอารมณ์ นั่นก็คือ เห็นความสงบระงับลมหายใจ คำว่าเห็นในที่นี้คือ สติเห็น ลมหายใจสงบระงับก็คือ ความเย็นนิ่ง ความว่าง ของลมหายใจนั่นเอง ในขณะนี้เป็นช่วงสำคัญมากในการยกลมหายใจขึ้นสู่กระบวนการแห่งธรรม ซึ่งได้แก่ การพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความจางคลาย ความดับ และการปล่อยวางแห่งกายหรือลมหายใจนั้น



อานิสงส์แห่งการบำเพ็ญเพียรสมณธรรมตามแนวอานาปานสตินี้มีอยู่มาก เริ่มปฏิบัติก็ไม่ทำให้กายลำบาก ตาก็ไม่ปวดเมื่อยเหมือนการบำเพ็ญสมณธรรมด้วยวิธีอื่น จิตก็ไม่ถูกอาสวะทั้งหลายเข้าครอบงำ เพราะการไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำให้ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขสงบ หรือแม้แต่ใช้วิธีอื่นเป็นอารมณ์ในการปฏิบัติบำเพ็ญเพียรสมณธรรมในเบื้องต้น แต่สุดท้ายต้องมีจิตกำหนดในลมหายใจเข้าออกนี้ไว้ เมื่อเจริญอานาปานสติสมาธิเต็มที่สมบูรณ์ดีแล้ว ไม่ว่าจะเสวยเวทนาสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ พึงพิจารณาเวทนาเหล่านี้ไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน ไม่พัวพัน ไม่ว่าทางกายหรือทางใจ เมื่อนั้นย่อมถึงความดับทุกข์ได้ ดุจดังประทีปดับไปเพราะสิ้นเชื้อ ฉะนั้น



ลมหายใจในธรรมและลมหายใจเป็นธรรม ก็คือลมหายใจที่ประกอบด้วยสติ ต่างกับลมหายใจที่เป็นเพียงลมหายใจของผู้หายใจธรรมดาและหายใจทิ้ง อุปกรณ์ในการปฏิบัติบำเพ็ญเพียรสมณธรรมที่ง่ายที่สุด ได้ผลมากที่สุดก็คือ ลมหายใจ อานาปานสติไม่หลงทางได้ง่าย ไม่นำไปสู่ทางอื่น ผลอื่นนอกพระพุทธศาสนา


นี่คือ โศลกที่สิบเจ็ดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา