วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ระวังตกลงด้านสุดขั้ว



ความตั้งใจเป็นเรื่องดี
แต่อย่าให้ความตั้งใจเป็นแรงผลัก
ให้จิตไหลไปสู่การยึดมั่นได้ง่าย
พอจิตยึดมั่นจะทำให้มีพลัง
ไหลเข้าไปสู่ภาวะไร้สติได้ง่าย
ด้วยเหตุนี้พึงตั้งใจอันประกอบด้วย
ความรู้ตัวทั่วพร้อมเถิด
แล้วจะเกิดพลังที่ดิ่งสู่ความสงบระงับ


เบื้องต้นต้องให้เข้าใจว่า ความตั้งใจเป็นเรื่องที่ดี ความตั้งใจนั่นแหละที่นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “กรรม” การกระทำที่มีความตั้งใจเป็นพื้นฐาน หรือที่เข้าใจกันในนามของคำว่า การกระทำที่มีเจตนา หรือมีความตั้งใจ ถ้าหากใครก็ตามกระทำทุกเรื่องราวประกอบไปด้วยความตั้งใจ ก็หมายถึงการกระทำที่เป็นกรรมทุกขณะจิต

โปรดทราบไว้ว่า การกระทำที่เป็นกรรมนั้นย่อมมีผลแห่งกรรมที่เรียกว่า “วิบาก” ผลแห่งกรรมนี้ก็นำไปสู่การกระทำกรรมอีก กลายเป็นวงจรที่ทำให้ชีวิตนี้วนไปมา เวียนว่ายไปมาตามวัฏจักรนี้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเป็นเรื่องดี หรือชั่ว หรือกลางๆ การกระทำที่จะดีหรือชั่ว หรือกลางๆ นี้ก็ขึ้นอยู่กับเจตนา ที่เรียกว่ากรรมนี้ทั้งนั้น การกระทำที่ตั้งใจกระทำไม่แสดงออกถึงความดีหรือชั่ว แต่เป็นการการกระทำที่เป็นกลางๆ เช่น ตั้งใจตื่นนอน ตั้งใจเดินไปซื้ออาหาร เป็นการกระทำที่เป็นกลางๆ แต่กลางๆ อย่างนี้ก็ประกอบไปด้วยอวิชชา มีโมหะเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงไม่อาจหลุดจากวงจรแห่งวัฏฏะไปได้


ความเข้าใจกับคำว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว หรือ คำที่พระนิยมกล่าว คือ ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นหัวหน้า ใจเป็นประธาน ไม่ว่าจะทำอะไร ดีหรือชั่ว ล้วนแล้วแต่สำเร็จจากใจ จะต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ ถ้าไม่เข้าใจถ่องแท้อาจตกไปสู่วังวน หาทางออกไม่ได้ คำนี้มีนัยลึกซึ้งแฝงอยู่ภายใน การกระทำที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของใจ ล้วนแล้วแต่ถูกใจบงการทั้งนั้น ผู้คนทั้งหลายไม่อาจคิดย้อนกลับได้ว่า การกระทำที่ไม่เป็นไปตามอำนาจของใจได้หรือไม่ ต่างถูกข้อความข้างต้นสรุปไว้ให้แล้วว่า ไม่ได้ เพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน แต่ความจริงแล้ว นั่นเป็นเล่ห์กลของจิตที่สรุปให้ไม่ต้องตระหนักต่อไปอย่างไร เรียกว่าให้ยอมจำนนต่อใจที่บงการให้กระทำทุกสิ่งอย่างต่อไป


ความจริงก็มีอยู่ว่า โดยปกติของคนทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษาการกระทำงานของจิต ไม่ทราบความเล่ห์กลของจิต ไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนา แม้จะศึกษาก็ศึกษาเฉพาะตัวหนังสือเท่านั้นจึงไม่อาจเข้าใจได้ว่า คนที่ไม่ปกติ คือ คนที่ศึกษาพระพุทธศาสนาย่อมทราบว่า การกระทำที่ไม่ตกอยู่ในอำนาจของจิตนั้นมีอยู่ ก็คือ การกระทำที่เรียกว่า การกระทำแบบไม่ดำไม่ขาว การกระทำอย่างนี้นั้นมีอยู่ การกระทำอย่างนี้ไม่ตกไปในอำนาจของจิต ในการปฏิบัติเรียกว่า การกระทำที่มีสติกำหนดรู้ทุกขณะนั่นเอง การกระทำที่กำหนดรู้ทุกขณะ เป็นการกระทำที่มีสติ สติจะควบคุมจิตไม่ให้ตกไปสู่ส่วนที่เรียกว่า ดำ หรือ ขาว หรือที่เรียกว่า ดีหรือชั่ว เป็นแต่การกระทำเท่านั้น

ดังนั้น โศลกนี้มุ่งแสดงให้เห็นว่า ความตั้งใจนั้นดีแล้ว แต่ยังไม่ดีพอ ถ้าจะให้ความตั้งใจนั้นถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาจะต้องมีสติกำกับ เมื่อความตั้งใจที่ประกอบด้วยสติแล้ว การกระทำนั้นจะไม่เรียกว่า กรรม แต่จะเรียกว่า กิริยา การกระทำที่เป็นเพียงกิริยาย่อมมีผลเป็นเพียงปฏิกิริยา ไม่นำไปสู่การวนอยู่ในการกระทำนั้น ไม่ตกอยู่ในอำนาจของใจที่บงการ



เพราะสตินั้นเป็นตัวกันและกั้นไม่ให้จิตมีอุปาทานเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในการกระทำ ไม่ให้หลงไปกับการกระทำ เป็นการกระทำที่มีสติกำกับ มีแต่ความตั้งใจที่ประกอบไปด้วยสติเท่านั้นจะไม่ทำให้จิตหลงใหลไปสู่การยึดมั่นถือมั่นในความตั้งใจนั้น เพราะเมื่อตั้งใจมากจิตก็จะพลัดตกไปสู่การไร้สติได้ง่าย เพราะความตั้งใจมากนั้นเข้าไปใกล้รากฐานแห่งตัวอยาก (Ego) ใครก็ตามที่ตั้งใจมากจะเห็นได้ว่า พลัดตกไปสู่การไร้สติได้ง่าย ใครแนะนำ ใครบอกกล่าว ใครตักเตือนจะไม่ได้ผล ด้วยเหตุนี้ให้ระมัดระวังความตั้งใจนี้ แต่ถ้าความตั้งใจประกอบไปด้วยสติ จะยับยั้งไม่ให้ตัวอยากทำงานได้ถนัด

เมื่อตั้งใจอันประกอบด้วยสติแล้วปฏิบัติธรรม ความสมบูรณ์แห่งอินทรีย์จะเกิดขึ้นและจะกลายเป็นกำลังนำไปสู่ความสงบและการรู้แจ้งได้ง่าย อินทรีย์ที่กลายเป็นพลังก็คือ ความมั่นใจ ความตั้งใจ ความรู้ตัวทั่วพร้อม ความกำหนด ความตระหนักรู้


เมื่อความเต็มเปี่ยมแห่งพลังทั้ง ๕ ประการนี้ อัศจรรย์แห่งปัญญาแนวพุทธก็เกิดขึ้น ที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญานั่นเอง อย่าได้รีบเร่งอยากได้ แต่ให้รีบเร่งช้าๆ ผลเป็นเรื่องของเหตุ ทำเหตุให้สมบูรณ์ ผลย่อมตามมาเอง การปฏิบัติเป็นหน้าที่ของเรา ความสงบสุขเป็นเรื่องของผลพลอยได้
นี่คือโศลกที่สองของคัมภีร์สุวิญมาลา