วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Dilemma on Pali and True Life

Dilemma on Pali and True Life
ผศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์






เกริ่นนำ

เริ่มมีผู้ตั้งข้อสังเกตมากขึ้นระหว่าง สิ่งที่ปรากฏในพระไตรปิฎก กับสิ่งที่ประชาชนไทยปฏิบัติ ถูกต้อง หรือบิดเบือน กลายเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับพระไตรปิฎกบาลีพระพุทธศาสนาเถรวาทกำลังได้รับความสนใจในวงการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย เนื่องจากเริ่มมีการอ้างถึงพระไตรปิฎกเพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในคำสอนของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนามากขึ้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่พระไตรปิฎกบาลีเชื่อถือได้หรือไม่ แต่อยู่ที่ผู้ที่อ้างพุทธพจน์นั้นเชื่อถือได้หรือไม่ และที่นำมาอ้างประกอบความคิดเห็นของตนนั้นถูกต้องตามพุทธเจตนาหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้กำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก นอกเหนือจากนั้นก็เป็นประเด็นที่ถกกันระหว่างฝ่ายนักสังคมวิทยากับนักศาสนวิทยาถึงปรากฏการณ์ในสังคม ด้านหนึ่งมองทางด้านประโยชน์ทางสังคมอีกด้านหนึ่งมองความผิดเพี้ยนไปจากคัมภีร์พระไตรปิฎก จุดร่วมควรจะอยู่ที่ไหน



วิถีชีวิตไทย
วิถีชีวิตของชาวพุทธในประเทศไทยได้ดำเนินชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาโดยเชื่อมโยงไปที่คัมภีร์พระพุทธศาสนา แต่เมื่อเข้าไปศึกษาก็พบว่า มีหลายส่วนไม่ได้ปรากฏในหลักฐานคัมภีร์พระพุทธศาสนา ตกลงควรเลิกการยึดถือ หรือว่าจะทำต่อไป ถ้าทำต่อไปควรจะมีแนวทางอย่างไรดีเพื่อไม่ให้เสียหลักพระพุทธศาสนา



ให้ทำความชัดเจน


เป็นความพิเศษในพระพุทธศาสนาที่ขึ้นอยู่กับผู้ศึกษา ถ้าปัญญามีน้อยก็มองมุมหนึ่ง ถ้าปัญญามีมากก็มองได้หลายมุม และลึกซึ้งยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ที่สำคัญก็คือ จะต้องมีหลักการเดิมไว้แล้วปฏิบัติกันไปอย่างไรก็ถือว่า ขึ้นอยู่กับตนเอง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับหลักการในพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎกเป็นสรรพวิชาที่สามารถเข้าไปศึกษาได้อย่างไม่รู้จักจบสิ้น เพราะได้บันทึกไว้ซึ่งแง่มุมทางการศึกษาและการนำไปใช้เหมาะสมสำหรับคนทุกระดับ ทุกสาขาอาชีพ บ้างใช้หลักธรรมโดยตรง บ้างได้จากการตีความ การเข้าไปศึกษาวิถีชีวิตคนไทยเพื่อนำมาตรวจสอบความจริงในพระไตรปิฎกนั้นเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังในการเผยแผ่ จำเป็นต้องพิจารณาเป็นกรอบในการแสดงออก นั่นก็คือ กรอบพิธีกรรม กรอบสังคม กรอบพระไตรปิฎก และกรอบการปฏิบัติ จากนั้นก็ให้แง่มุมในแต่ละกรอบไปมิฉะนั้นกำลังจะใช้กรอบของแต่ละส่วนเข้าไปตัดสินกรอบอื่นซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เป็นธรรม สมมติเรื่องการบวชหน้าไฟ ไม่ได้ปรากฏในพระไตรปิฎก แต่เป็นกรอบสังคมที่กลายเป็นวัฒนธรรมอันดีงามของคนไทย จะต้องเคารพในกรอบนี้ แต่ให้แสดงไว้ว่า เรื่องนี้ไม่ได้ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกบาลี


การตีความพระไตรปิฎก


ปัญหาการตีความพระไตรปิฎก ได้กลายเป็นปัญหาสำหรับประเทศไทยไปแล้ว ตีความไปก็เข้าข่ายผิดหลัก ไม่ตีความก็กลายเป็นติดกรอบ แล้วจะทำไงดี ต่อปัญหาข้อนี้ที่ผู้เขียนพยายามจะชี้ให้เห็นว่า พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) นั้น คือบุคคลที่กลายเป็นมาตรฐานทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ไปเสียแล้ว คือถ้ามีเรื่องอะไรก็ต้องอาศัยท่านเป็นผู้วินิจฉัย ผู้ชอบก็ชื่นชม ผู้ไม่ชอบก็เห็นแย้ง ทำให้จะกลายเป็นปัญหายืดเยื้อและไม่เป็นหลักการ


ปัจจุบันมีพระภิกษุหลายรูปกำลังทำการหันมาศึกษาพระไตรปิฎก แต่ก็ไม่หลุดพ้นการใช้อัตโนมติเข้าไปตีความเอง หลวงพ่อพุทธทาสเป็นตัวอย่างในสังคมที่ท่านตีความให้เป็นลักษณะของท่านเองหลายเรื่องก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จนถึงทุกวันนี้ แต่ท่านก็กลายเป็นบุคคลของโลกไปแล้ว แปลว่า การศึกษาพระไตรปิฎกทำให้เข้าถึงธรรมได้หลายแง่มุม


อันตรายที่ต้องป้องกัน


๑. การที่เกิดเหตุการณ์ใดแล้วมีพระภิกษุรูปหนึ่งออกมาให้ความเห็นโดยอ้างเอาพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ สังคมก็ยอมรับในความสามารถเฉพาะตนและยอมรับในการตัดสินของปัจเจกบุคคล อันตรายที่จะเกิดขึ้นก็คือ สังคมสงฆ์ไทยให้ความไว้วางใจในความปัจเจกมากเกินไป ถ้าหากกรณีที่ไม่มีท่านอยู่ หรือกรณีที่ท่านมองมิติเดียว พระพุทธศาสนาในประเทศไทยก็จะสูญเสียโอกาสดีๆ อื่นๆ ไป ความน่าจะเป็นตามความคิดควรจัดตั้งองค์กรในการตัดสิน โดยให้ท่านเป็นประธาน การจะตัดสินอะไรก็ตัดสินวินิจฉัยเป็นพื้นฐานขององค์กรทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย แม้ว่า ท่านจะไม่อยู่ก็มีผู้ทรงความรู้อยู่ต่อไปปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และกระทำในนามขององค์กรทางพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ก็จะไร้ข้อตำหนิส่วนบุคคล


๒. การตีความทางพระพุทธศาสนานั้นมิใช่เป็นเรื่องที่กระทำได้โดยง่าย เนื่องจากเป็นแง่มุมทางระดับจิตด้วย ถ้าหากระดับจิตไม่ถึงขึ้นการตีความอาจผิดสภาวธรรมไปได้ แน่นอนถ้าทุกคนถือตามพุทธวจนะก็ไม่มีปัญหาแต่ปัญหาก็คือ สภาวธรรมเหล่านั้นเกิดกับบุคคลแตกต่างกันไป การตีความจึงยาก ทางที่ดีไม่ต้องตีความความ แม้ว่าจะตีความก็ต้องวางมาตรฐานในพระไตรปิฎกไว้ ไม่ควรใช้คำว่า “คำนี้หมายความว่า” เพราะนั่นเป็นความหมายของตน แต่ควรบอกว่า “พระไตรปิฎกแสดงไว้อย่างนี้” คำที่เกินออกไปจากพระไตรปิฎกต้องให้เป็นความเห็นของตน ผู้อื่นไม่เชื่อก็ให้ไม่เชื่อคำของตน ไม่ใช่ไม่เชื่อในพระไตรปิฎก ดังปัญหาเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา


(อ่านต่อในบทความวิชาการต่อไป)