วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552

พุทธยานมรรค : วิถีโปรดเวไนย์









ดร.สุวิญ รักสัตย์
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย
(ป.ธ.๗, พธ.บ., M.A., Ph.D.)



เกริ่นนำ



คำว่า “ชาวพุทธ” เป็นคำเรียกทุกคนที่นับถือพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะนับถือพระพุทธศาสนานิกายอะไร ไม่ว่าจะอยู่ที่ประเทศไหน ก็เป็นชาวพุทธได้ทั้งนั้น แต่การจะเป็นชาวพุทธได้อย่างสมบูรณ์ถูกต้องและประพฤติปฏิบัติตนเป็นพุทธได้อย่างไรบ้างนั้น ไม่แน่ว่าชาวพุทธทุกคนจะทราบ และไม่แน่ว่าจะทำได้ เมื่อพิจารณาดูความหมายของคำนี้ ชาวพุทธนอกเหนือจากคำเรียกผู้นับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ความหมายหนึ่งได้แก่การเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพียงสามคำนี้ก็แทบจะเลิกบอกใครต่อใครว่าตนเองเป็นชาวพุทธ แม้เป็นคำง่ายๆ แต่ปฏิบัติได้ไม่ง่ายนัก อีกความหมายหนึ่ง หมายถึงผู้ที่บำเพ็ญตนตามแนวแห่งพุทธะ ตามความหมายนี้อาจมีผู้เข้าใจต่างกันเป็นสองนัยได้ กล่าวคือ นัยแรกหมายถึง การดำเนินตามคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ดีแล้ว ส่วนอีกนัยหนึ่ง หมายถึง การดำเนินตามแนวทางที่จะเข้าถึงความเป็นพระพุทธเจ้า แต่ไม่ว่าจะเข้าใจและปฏิบัติตามนัยไหน ผลก็เป็นเช่นเดียวกัน เพราะทางทั้งสองก็จะไปบรรจบที่จุดเดียวกัน คือ จุดแห่งการสิ้นสุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวล

จะเห็นได้ว่า แนวคิดแรกนั้น เป็นแนวคิดของพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งมุ่งไปที่การปฏิบัติตามคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว (สฺวากขาโต) ส่วนแนวคิดหลัง เป็นแนวคิดของพระพุทธศาสนามหายาน ซึ่งมุ่งปฏิบัติตนเพื่อให้เข้าถึงความเป็นพระพุทธเจ้า (โพธิสัตโต) ความแตกต่างกันของแนวปฏิบัติทั้งสองนี้อยู่ที่เส้นคั่นของกาลเวลา กล่าวคือ พระพุทธศาสนาเถรวาทถือปฏิบัติตามกาลที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ส่วนพระพุทธศาสนามหายานนั้น ถือตามกาลก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ด้วยเหตุนี้ แนวคิดเรื่องการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ จึงเป็นเรื่องแปลกสำหรับชาวพุทธเถรวาท แม้จะอ่าน จะศึกษาชาดก ซึ่งเป็นมรรควิถีที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญตนจนมาเป็นพระพุทธเจ้า แต่ชาวพุทธเถรวาทก็เป็นเพียงรับทราบไว้ ไม่ได้มุ่งหมายปรารถนาบำเพ็ญตาม สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเป็นพุทธะนั้นยิ่งใหญ่ ตนไม่อาจเอื้อมไขว่คว้า และอาจคำนึงถึงความยากและความยาวนานในการปฏิบัติบำเพ็ญ แต่ตรงกันข้ามความคิดเรื่องการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์นี้กลับเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่สำหรับชาวพุทธมหายาน ก็ด้วยเหตุว่า เพราะความยิ่งใหญ่แห่งความเป็นพระพุทธเจ้านั่นแหละ สมควรอย่างยิ่งที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามต้องตั้งจิตปณิธาน ปรารถนาบำเพ็ญ ส่วนในเรื่องของความยากและความยาวนานในการปฏิบัติ มหายานมองว่า แท้ที่จริงแล้วการบำเพ็ญโพธิสัตว์นั้นมิได้ยากแต่อย่างใด ก็ในเมื่อทุกสรรพสัตว์ต่างมีโพธิจิต มีเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะอยู่ภายในแล้ว เพียงแต่ทำให้เมล็ดพันธุ์นี้งอกงามเท่านั้น ส่วนความยาวนานในการปฏิบัติบำเพ็ญ ก็ไม่ควรไปคำนึงถึง เพราะเส้นทางเดินแห่งชีวิตอันหาที่สุดเบื้องต้นไม่ได้นี้ เป็นเรื่องเกินวิสัยธรรมดาสามัญที่สัตว์โลกที่เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบจักสิ้นนี้จะเข้าใจได้ คาดคะเน คำนวณได้ ตามทรรศนะของพระพุทธศาสนาโดยทั่วไปแล้ว ไม่ควรสนใจอดีตซึ่งไม่สามารถย้อนกลับมาได้ ไม่ควรกังวลในอนาคตที่ยังไม่มาถึง แต่ให้พิจารณาดูปัจจุบันว่าตนปฏิบัติบำเพ็ญอยู่เช่นไรดีกว่า

บทความนี้จึงต้องการเสนอแนวคิดเรื่องพุทธยานมรรคซึ่งเป็นมรรควิถีโปรดเวไนยสัตว์ ก้าวแรกแห่งการเดินตามเส้นทางสู่พุทธยาน กระบวนการขั้นตอน มหาอุปสรรค กุศโลบายที่แฝงในปรัชญา เพื่อจะได้เข้าใจว่า การดำเนินตามพุทธยานมรรค เป็นมรรคาเพื่อเวไนย์ มิใช่เรื่องคิดค้นขึ้นใหม่ มิใช่เรื่องที่เหลือวิสัย มิใช่เรื่องนอกพุทธศาสน์ มิใช่เรื่องนำมาอวดอ้าง มิใช่เรื่องขีดเส้นแบ่งแยก มิใช่เรื่องความใจกว้างหรือคับแคบ แต่เป็นเรื่องของการสิ้นสุดแห่งทุกข์ เป็นเรื่องของการเผยแผ่พุทธธรรมไปทั่วสากล เป็นเรื่องของการบำเพ็ญฝึกฝน เป็นเรื่องแห่งการช่วยกันหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดีลงในจิตแห่งเวไนยสัตว์ ไม่ว่าจะดำเนินตามคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือดำเนินตามโพธิสัตวธรรมเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า ยิ่งบำเพ็ญเหล่าเวไนย์ย่อมเป็นสุขถ้วนหน้า



บ่อเกิดแห่งพุทธยาน


การบำเพ็ญตามพุทธยานมรรคเพื่อให้เข้าถึงพุทธะ เมื่อพิจารณาดูโพธิสัตวจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่โปรดสรรพสัตว์มาแล้วในอดีต ก่อนอื่นก็ต้องปรารถนาในใจก่อน จากนั้นก็เปล่งวาจาว่า “เราจักเป็นพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่งให้ได้ในอนาคตกาล” จุดเริ่มแรกอยู่ที่จิตอธิษฐานปรารถนา เรียกว่า บำเพ็ญธรรมสโมธาน ดังนั้น “ปณิธาน” หรือ“อธิษฐาน” จึงนับได้ว่าเป็นกระแสแห่งพลังเจตนา

พลังแห่งเจตนากลายเป็นปณิธานอันแรงกล้า ซึ่งจะเป็นชนวนพลิกผันชีวิตทำให้เลือกเป็นอะไรได้ ภาษาที่ใช้กันทั่วไปก็คือ ความใฝ่ฝัน อาศัยความใฝ่ฝันเป็นแรงผลักดันให้มนุษย์ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหวัง เช่น ใฝ่ฝันอยากเป็นครู ใฝ่ฝันอยากเป็นทหาร ใฝ่ฝันอยากเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ใฝ่ฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ใฝ่ฝันอยากเป็นบวช แต่ก่อนที่จะได้เป็นอะไรตามที่ใฝ่ฝันนั้น หรือกว่าที่ฝันจะเป็นจริงนั้น ก็ต้องแสวงหาหนทาง แนวทาง ขั้นตอนที่จะเป็นตามที่ใฝ่ฝันนั้น

ช่วงเวลาแห่งความใฝ่ฝันจึงแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง คือ ช่วงแห่งการแสวงหาหนทางอย่างไร้ความแน่นอนกับช่วงแห่งการแสวงหาที่มีความเป็นไปได้แน่นอน เกณฑ์ที่ระบุไว้ตามหลักฐานในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาได้กำหนดดังนี้คือ

ช่วงที่ ๑ อนิยตโพธิสัตว์ หมายเอาระยะที่ผู้ปรารถนาความเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง เพียงตั้งใจปรารถนาที่จะเป็นพระโพธิสัตว์ เริ่มต้นบำเพ็ญตนตามโพธิสัตวธรรม ซึ่งเป็นพุทธยานมรรค จากระดับธรรมดาไปจนถึงระดับเข้มข้น ตราบใดที่ยังไม่มีพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งมาพยากรณ์ตราบนั้นก็ยังคงดำรงอยู่ในช่วงระยะแห่งอนิยตโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่ยังไม่แน่ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ ในขณะนี้ก็จะต้องปรารถนาสโมธานธรรมอยู่มิได้ขาด กล่าวคือ ปรารถนาความเป็นมนุษย์ เป็นบุรุษเพศ มีอุปนิสัยใฝ่บรรลุ ปรารถนาเกิดมาพบพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ถือบวชหลีกเร้นจากเรือน มีความถึงพร้อมด้วยฌานสมาบัติ เคยบำเพ็ญอธิการ คือ กระทำมหาปริจาคะมาก่อน หรือกระทำปรมัตถบารมีมาก่อน และปรารถนาพุทธภูมิอย่างแรงกล้า เมื่อครบองค์ประกอบดังกล่าว จึงชื่อว่าพร้อมที่จะได้รับพยากรณ์

ยกตัวอย่างเช่น ท่านปรารถนาอยากเป็นครู แต่ก็ยังคงเรียนอยู่ระดับชั้นประถมศึกษา หรือชั้นมัธยมศึกษา ในขณะนี้จะต้องบำเพ็ญสโมธานธรรม เตรียมตัวให้พร้อม ได้แก่ รักษาสภาพร่างกายให้สมบูรณ์ แข็งแรง ไม่มีนิสัยทางเพศกลับกลาย มีอุปนิสัยชอบถ่ายทอดสั่งสอน สนทนากับนักปราชญ์ราชบัณฑิต แสวงหาครูในอุดมคติ ยอมตนเป็นศิษย์ท่าน ศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจัง จดจำหลักการและกฎเกณฑ์ได้ดี เคยอุทิศตนเพื่อการเรียนการสอนอย่างยิ่งมาก่อน และไม่เบื่อหน่ายที่จะสั่งสอน ถึงกระนั้นก็ยังไม่ได้เป็นครูเสียทีเดียว แต่กระทำตนพร้อมที่จะเป็นครู เมื่อได้รับการแต่งตั้ง ตำแหน่งครูนั้นยังอีกหลายขั้นตอน ไม่ทราบว่าจะเป็นได้หรือไม่ จะมีเหตุปัจจัย มีกุศลสัมพันธ์อะไรที่จะส่งเสริมหรือขัดขวางอย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาพิสูจน์ อย่างน้อยบุคคลรอบข้างย่อมทราบว่า ท่านมีอุปนิสัยอยากเป็นครู และท่านก็เคยบอกใครต่อใครไว้ว่าอยากเป็นครู

เฉกเช่นเดียวกันการปรารถนาความเป็นพุทธะ เพียงแต่อธิษฐานหรือตั้งปณิธานไว้ และเปล่งวาจาต่อหน้าบุคคลที่เคารพนับถือ เพื่อจะได้ให้ท่านเหล่านั้นเป็นพยานและคอยช่วยเหลือดูแลปณิธานของท่านไปด้วย ดังนั้นในพระพุทธศาสนามหายาน จึงมีพิธีกรรมเข้ารับศีลพระโพธิสัตว์ เพื่อให้ผู้ที่มีจิตใจฝักใฝ่ปรารถนาอยากเข้าถึงพุทธะมาตั้งสัจจะอธิษฐาน เพียงเท่านี้ก็เท่ากับว่า ท่านได้ชื่อว่า เป็นอนิยตโพธิสัตว์ ดุจดังพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ เพื่อย้ำถึงการตั้งมั่นในความเป็นชาวพุทธ โดยต้องเปล่งวาจาถือพระรัตนไตรเป็นสรณะ รักษาเบญจศีล บำเพ็ญเบญจธรรม เมื่อเปล่งวาจา ตั้งสัจอธิษฐานเป็นพระโพธิสัตว์ หลักสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติตามหลักแห่งโพธิสัตวธรรมอย่างเคร่งครัด กาลเวลาจะเป็นบทพิสูจน์ต่อไป

ช่วงที่ ๒ นิยตโพธิสัตว์ หมายเอาพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญมาจนกุศลกรรมนั้นส่งผลให้ไปเกิดพบพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ได้ฟังธรรมต่อเบื้องพระพักตร์ของพระองค์ พร้อมทั้งตั้งสัจอธิษฐานปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรวจดูด้วยอนาคตังสญาณแล้วตรัสพยากรณ์ว่า ความปรารถนาของท่านจักสำเร็จในอนาคตกาล นับตั้งบัดนั้นเป็นต้นมา ก็นับกาลไปเพื่อเข้าถึงความเป็นพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง

สำหรับกฎเกณฑ์เรื่องกาลเวลาสำหรับการจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ท่านกำหนดไว้ตามลักษณะของพระพุทธเจ้า กล่าวคือ ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าประเภทปัญญาธิกะ ต้องบำเพ็ญ ๒๐ อสงไขย กับอีกแสนมหากัป ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าประเภทสัทธาธิกะ ต้องบำเพ็ญ ๔๐ อสงไขย กับอีกแสนมหากัป และถ้าเป็นพระพุทธเจ้าประเภทวิริยาธิกะ ต้องบำเพ็ญ ๘๐ อสงไขย กับอีกแสนมหากัป เปรียบเหมือนระยะเวลาที่จะได้เป็นครูจริงๆ ก็ต่อเมื่อได้เรียนในระดับอุดมศึกษาในคณะที่จะเป็นครูได้ และมีคณาจารย์บอกว่า ท่านสามารถจะเป็นครูได้ถ้าหากเรียนอย่างนี้ต่อไป เมื่อถึงตอนนี้ ท่านก็มีความมั่นใจที่จะเป็นครูได้จริงๆ ท่านอาจต้องใช้ระยะเวลา ๔ หรือ ๕ ปี หรือมากกว่านั้นหากต้องเป็นการที่จะเป็นครูที่ดีมีความสามารถ

ในเรื่องระยะเวลานี้ ก็เป็นเรื่องที่ยากจะบอกได้ว่า เมื่อไรที่ได้รับพยากรณ์แล้วและเมื่อใดคือระยะเวลาที่กำหนด เพราะโดยทั่วไปท่านก็ไม่ทราบอยู่ดีว่าตนเคยได้รับพยากรณ์แล้วหรือไม่ และไม่รู้ว่า ท่านได้บำเพ็ญมาถึงกาลที่กำหนดแล้วหรือยัง นอกจากจะระลึกชาติได้ได้ยาวนานจนถึงชาติที่ได้รับพยากรณ์ ซึ่งต้องอาศัยบุพเพนิวาสานุสติญาณ ท่าทีที่ควรพิจารณาในประเด็นนี้ก็คือ ควรคิดเสียว่า บัดนี้มิใช่หรือที่ควรจะเป็นเวลาที่ใกล้จะถึงแล้ว ชีวิตที่เวียนว่ายตายเกิดมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนที่ผ่านมาก็เพียงพอที่จะเป็นเวลาที่กำหนดไว้ ดังนั้น มีแต่ต้องตั้งปณิธานในขณะนี้ บำเพ็ญพุทธยานมรรคเดี๋ยวนี้ ประเมินตนว่าตนบำเพ็ญอยู่ในระดับไหน ระดับธรรมดา (ปกติบารมี) หรือระดับกลาง (อุปบารมี) หรือระดับเข้มข้น (ปรมัตถบารมี)

(อ่านต่อหนังสือวัดโฝวกวงซาน ฉบับสร้างพระไภษัตยคุรุ)