วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

วัฒนธรรมขัดแย้ง

วาทกรรม : วัฒนธรรมขัดแย้ง
กระบวนทัศน์ยุคโพสต์ โมเดิร์น ให้ความสำคัญต่อปรากฏการณ์ที่เคลื่อนไหวอยู่บนเอกสารวิชาการของนักคิดทั้งหลาย จนพบว่า บัดนี้มีความเคลื่อนไหวประการหนึ่งที่กำลังได้รับการพูดถึงคือ (อะไรก็ได้) ตามหลักวิชาการ ในสายตาของนัก Post Modernists เห็นว่า สิ่งที่ทำให้มนุษย์ตกไปสู่อันตราย เป็นอัตราเร่งต่อความเสี่ยงก็คือ เหตุผลตามหลักวิชาการ หรือที่เรียกกันว่า “วาทกรรม” เป็นการกระโดดหนีจากความเสี่ยงอย่างหนึ่ง (เผด็จการ) ไปสู่ความเสี่ยงอีกประการหนึ่ง โดยที่มนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์นี้นึกว่าเป็นทางออกที่ดีแล้ว สมบูรณ์แล้ว ซึ่งก็ได้แก่ความมีเหตุผลตามหลักวิชาการ โดยไม่เข้าใจว่า นั่นคือกับดักที่รออยู่ข้างหน้า
“วาทกรรม” (Discourse) คืออะไร คำนี้ถูกนำมาใช้กันบ่อยมากขึ้นในแวดวงวิชาการไทย เป็นคำที่ใช้มากในงานของนักปรัชญาหลังนวยุค เช่น ฟูโกต์ โบดริยาร์ด และออลธุสเซอร์ สำหรับสื่อให้เห็นถึงทฤษฎีอำนาจ การวิเคราะห์สื่อ และการศึกษาวัฒนธรรม วาทกรรมมีความหมายสลับซับซ้อน บรรจุเอาความหมายที่เป็นไปได้หลายหลากเอาไว้ และสามารถได้รับการตีความได้ในหลายๆ ทาง เพราะวาทกรรมคือรูปแบบของความคิด หรือกรอบความคิด เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นสถาบันและมีการสืบทอดซึ่งแสดงออกผ่านทางการพูดและเขียนอย่างจริงจัง หรือประโยค หรือนิยามที่ใช้บ่อยๆ เพื่อที่จะคงไว้ซึ่งลักษณะของวาทกรรม และการปรับเปลี่ยนลักษณะของวาทกรรมนั้นๆ วาทกรรมแต่ละเรื่องจึงมีระบบความคิด และเหตุผลของตนในการอธิบาย หรือมองความจริง ในบางเรื่องจะมีหลายวาทกรรม เพราะมีการให้เหตุผลต่างระบบความคิดอยู่ภายในเรื่องนั้น ดังนั้น ในเรื่องเดียวกันจึงมีวาทกรรมหลายชุดที่เกี่ยวข้องและวาทกรรมแต่ละชุดก็มีความขัดแย้ง หรือปฏิเสธ "ความจริง" ของวาทกรรมอีกชุดหนึ่งได้ ความหมายซึ่งง่ายที่สุดของศัพท์คำนี้ก็คือ การพูดออกมาอย่างชัดเจน (Articulation) การกล่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำ ไม่คลุมเครือนั่นเอง
ลักษณะของวาทกรรมจึงแสดงออกมาในรูปของการนำเสนอเกี่ยวกับความคิดเห็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาหรือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในรูปแบบสัมมนาที่ต้องมีผู้พูดหลายคนในกลุ่ม "วาทกรรม" จึงเป็นกระบวนการหนึ่งของสังคมเกี่ยวกับการสร้างความหมายความหมาย ดังนั้น Colin MacCabe จึงได้แสดงความซับซ้อนของวาทกรรมไว้ในเรื่อง "ลำดับชั้นสูงต่ำของวาทกรรม" (Hierarchy of discourse) และ "วาทกรรมที่ครอบงำ" (Dominant discourse) (ติดตามในวารสารบัณฑิตศาส์น มมร เล่ม ๑๑)