วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554
หนึ่งบัลลังก์
จะมากจะน้อยก็ต้องเร่งบำเพ็ญเพียร
ศึกษาแผนที่และวิธีการที่สั่งสมตลอดมา
รู้หลักควรทำอย่างไร จังหวะไหน
ทั้งต่อกลุ่มและต่อตนเอง
เวลาช่วงรุ่งเช้าพลังชีวิตกำลังก่อตัว
เหมาะสมกับช่วงเวลาบำเพ็ญ
ทั้งหมดหนึ่งบัลลังก์
การศึกษาข้อมูลเป็นเรื่องจำเป็นต่อการทำทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าหากข้อมูลมีพร้อมก็ทำให้เข้าใจแง่มุมของเรื่องที่ทำอย่างมีทิศทาง มีเป้าหมาย มีหลักวิชา มีความถูกต้อง ข้อมูลที่เรียกว่า Information เป็นฐานทำให้ตัดสินใจกระทำได้อย่างมั่นใจ ข้อมูลนี้เทียบเท่าได้กับหลักปริยัติ ได้แก่การศึกษาเล่าเรียน ข้อมูลเหล่านี้ไม่มีอะไรมากไปกว่า ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ความรู้เช่นนี้ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ เป็นการเติมเรื่องราวเข้าไปสู่หน่วยความจำอีกหนึ่งชุดเท่านั้น ใครที่มีความจำเกี่ยวกับข้อมูลนี้มากเท่าใด ก็เรียกผู้นั้นว่า ผู้มีความรู้ (Knowledge) มากเท่านั้น
กระบวนการเสริมความรู้ตรงนี้ สัญญาทำงานขึ้นตรงต่อวิญญาณ คือการรับรู้ ความรู้ตรงนี้อยู่ในระดับสุตตมยปัญญา เป็นความรู้ที่อยู่ในระดับผิวเผินมาก เป็นระดับรวบรวมข้อมูลเท่านั้นเอง (Data Collection) ความรู้ชั้นนี้ก่อให้เกิดความเชื่อมากมาย เมื่อเขามีข้อมูลต่อสิ่งใดมากก็เชื่อต่อสิ่งนั้นมาก ดุจดังใครที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์มาก ก็เชื่อต่อคอมพิวเตอร์มาก เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ในที่สุดก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของคอมพิวเตอร์ ตกอยู่ภายใต้อำนาจของความรู้ที่ตั้งอยู่บนข้อมูลทั้งหมดของคอมพิวเตอร์ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้มีความเชื่อเช่นนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ถมทับความหนาของอวิชชาเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ในทางโลกมองดูว่าเขาเป็นผู้มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ แต่ในทางธรรม ถือว่าเขาถูกข้อมูลที่มีในสัญญาแฝงเข้ามาผูกมัดเขาเข้าให้แล้ว ความรู้ในชั้นนี้เปรียบได้กับคนทำเมนูอาหารเท่านั้นเอง
ลึกเข้าไปอีกระดับหนึ่ง การได้ข้อมูลมาแล้วนำมาพิจารณา ใคร่ครวญ การพิจารณาใคร่ครวญนี้เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่จำเป็นต้องทำ ข้อมูลที่ไม่ได้พิจารณาแยกแยะ วิเคราะห์ ก็ยังคงเป็นข้อมูลดิบยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้มาก ได้แต่รวบรวมข้อมูลได้มากหรือน้อยเท่านั้นเอง ดังนั้นจำเป็นต้องนำข้อมูลเข้าไปสู่กระบวนการวิเคราะห์แยกแยะ การวิเคราะห์แยกแยะทำให้เห็นองค์ประกอบของข้อมูลนั้นอย่างแจ่มชัด เข้าใจได้ว่าข้อมูลไหนจำเป็นและไม่จำเป็น ใช้ได้เหมาะกับงาน หรือไม่เหมาะกับงาน ความรู้ชั้นนี้ลึกลงอีกหนึ่งระดับอยู่ในขั้นจินตามยปัญญา
ความรู้ในระดับนี้อยู่ภายใต้การทำงานของความคิด (Thinking) ความรู้ที่ได้จากการทำงานขึ้นตอนนี้เรียกว่า ทฤษฎี (Theory) เป็นชุดความรู้ที่ได้มาจากการวิเคราะห์ แยกแยะ แจกแจงให้เห็นองค์ประกอบภายใน ขั้นตอนของหลักการและวิธีการ และสังเคราะห์ให้เป็นชุดความรู้ ความรู้ในขั้นนี้ทำให้คนนั้นกลายเป็นนักปรัชญาขึ้นมาได้ แต่ก็ยังตกอยู่ภายใต้อำนาจของจิตที่ทำหน้าที่ไปตามฐานกิเลสตัวหลักคือ อวิชชา ตัณหา และอุปาทานที่นอนเนื่องอยู่ภายใน ความรู้ระดับนี้เปรียบได้กับคนทำเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือทำอาหารและส่วนผสมของอาหารเท่านั้น แต่ก็ยังอยู่ในขั้นของปริยัติ
ลึกเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง เป็นขั้นของการปฏิบัติที่เรียกว่า ประสบการณ์ ประสบการณ์ในที่นี้คือ สมาธิ (Meditation) ความรู้ระดับนี้เป็นความรู้ในระดับทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ (Transformation) สิ่งที่เกิดขึ้นได้ในแต่ละด้านจนสามารถปรากฏขึ้นมาได้ย่อมเกิดมาจากความรู้ระดับประสบการณ์นี้ทั้งนั้น เปรียบได้กับคนที่ปรุงอาหารตั้งแต่ต้นจนสำเร็จเป็นอาหารจานหนึ่งขึ้นมา โดยอาหารนั้นมีรสกลมกล่อม อร่อย หรือเปรียบได้กับการช่างทำบ้าน ที่มีแปลน มีอุปกรณ์การสร้างบ้าน และก็สร้างบ้านจนสำเร็จขึ้นมาสวยงามตามพิมพ์เขียวนั้น เป็นความเปลี่ยนแปลงจากพิมพ์เขียว กระดาษแผ่นหนึ่ง จากอิฐ หิน ปูน ทราย กระเบื้อง เป็นต้น กลายมาเป็นบ้าน เป็นการ Transform สิ่งหนึ่งมาเป็นอีกสิ่งหนึ่งได้ นี่เป็นขั้นของการปฏิบัติ
ในขณะที่การกระทำเรื่องนั้นสิ้นสุดลง สำเร็จลง ถึงเป้าหมาย ปรากฏความเปลี่ยนแปลงขึ้นจากปริยัติและปฏิบัตินั้น เรียกว่า ปฏิเวธ ก็คือ การลุถึงความสำเร็จ เช่น การสร้างบ้าน ทุกขั้นตอนของการสร้างสำเร็จลงแล้วเมื่อใด เมื่อนั้นจึงเรียกว่า บ้าน ชื่อว่า ปฏิเวธแล้ว ส่วนตัวบ้านและการได้อยู่สุขสบายภายในบ้านนั้นจึงเป็นผลของการกระทำบ้านนั้น
โศลกว่า ศึกษาแผนที่และวิธีการที่สั่งสมตลอดมา
รู้หลักควรทำอย่างไร จังหวะไหน จึงเป็นข้อมูลและการเตรียมอุปกรณ์ในการปฏิบัติเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติที่เป็นประสบการณ์นั้นเป็นเรื่องต่อจากนี้ ต้องใช้เวลา ต้องใช้กำลังทั้ง ๕ ส่วนตลอดการบำเพ็ญ ได้แก่ การมั่นใจในการปฏิบัติ การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง การกำหนดหมายในการปฏิบัติ การปฏิบัติอย่างสมดุล การพิจารณาสภาวะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ในกระบวนการปฏิบัติทั้ง ๕ องค์ประกอบนี้ใช้ฐานปรากฏการณ์ ความรู้สึก อาการเคลื่อนไหวของจิต และการพิจารณาธรรมเป็นอุปกรณ์ ความเป็นผู้ฉลาดในการปฏิบัติจำเป็นต้องมี คือเป็นคนสังเกตทุกขณะเพื่อให้ทราบถึงพลังทั้ง ๕ ประการนั้นมีความสมดุล เหมาะสม ไม่มาก ไม่น้อย ตัวกำกับทุกขณะปฏิบัตินี้ก็คือการกำหนดหมายทุกสภาวะที่เคลื่อนไหวในขณะปฏิบัตินี้
โศลกว่า “เวลาช่วงรุ่งเช้าพลังชีวิตกำลังก่อตัว” หมายความว่า ร่างกายกับจักรวาลเป็นสิ่งที่ประสานสัมพันธ์กัน สรรพสิ่งสัมพันธ์กับจักรวาล การเริ่มต้นแห่งวันเป็นจังหวะที่เหมาะแก่การเริ่มการงาน ดอกไม้ผลิบานในยามที่เช้า สรรพสัตว์ตื่นตัวและตื่นนอนในตอนเช้า ดังนั้น ช่วงเช้าประมาณตี ๔ เป็นช่วงเวลาที่นาฬิกาในร่างกายกำลังประสานกับนาฬิกาจักรวาล ความตื่นตัวจะเกิดขึ้นในช่วงเช้าเช่นนี้ ความสดชื่น การหลั่งสารรับแสงของร่างกาย การเตรียมพร้อมจะเบิกบานของยีนส์ในอณูต่างๆ ภายในร่างกายจะพร้อมกันในช่วงเช้า ด้วยเหตุนี้เวลาเช้าตรู่เป็นเวลาที่เหมาะสำหรับการบำเพ็ญเพียรเป็นอย่างยิ่ง
คำว่า ทั้งหมดหนึ่งบัลลังก์ คำนี้มีความหมายสำหรับการปฏิบัติ หนึ่งบัลลังก์ เป็นการปฏิบัติที่ครบหนึ่งรอบของการปฏิบัติ หนึ่งรอบในการปฏิบัติมีอะไรบ้าง
๑. รอบแห่งกระบวนการหายใจทั้ง ๔ ขั้น (กาย)
๒. รอบแห่งกระบวนการรู้สึกทั้ง ๔ ขั้น (เวทนา)
๓. รอบแห่งกระบวนการทางสภาวะจิตทั้ง ๔ ขั้น (จิต)
๔. รอบแห่งกระบวนการปัญญาพิจารณาธรรมทั้ง ๔ ขั้น (ธรรม)
แต่ละกระบวนการของแต่ละขั้นต้องประกอบไปด้วยหน้าที่ทั้ง ๕ ได้แก่ ความมุ่งมั่น พยายาม รู้ตัว กำหนด รู้แจ้ง กระทำหน้าที่สำคัญเหล่านี้ (อินทรีย์) ให้มากจนเปลี่ยนจากหน้าที่เป็นกำลัง (พละ) โดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ ดังนี้
๑. รอบกระบวนการหายใจทั้ง ๔ ขั้นใช้เวลา ๔๕ นาที
๒. รอบกระบวนการรู้สึก ๔ ขั้นใช้เวลา ๓๐ นาที
๓. รอบกระบวนการทางจิตทั้ง ๔ ขั้นใช้เวลา ๓๐ นาที
๔. รอบกระบวนการพิจารณาธรรมทั้ง ๔ ขั้นใช้เวลา ๒๐ นาที
ส่วนเวลาที่เหลือให้เป็นการใช้ไปเพื่อการอยู่ในสุขวิหารธรรมอีกประมาณ ๔๐ นาที รวมแล้ว ในการปฏิบัติทั้งหมด ๑ บัลลังก์ ควรใช้ประมาณ ๓ ชั่วโมง หากใช้เวลาช่วงเช้าจากเวลาตี ๔ ถึงเวลา ๗ นาฬิกา จะได้หนึ่งบัลลังก์ อย่างไรก็ตามประมาณเวลาตลอดหนึ่งบัลลังก์นี้จะไว จะช้าก็ขึ้นอยู่กับวสี คือ ความเชี่ยวชาญของผู้ปฏิบัติไปตามลำดับ
นี่คือ โศลกที่ห้าของคัมภีร์สุวิญญมาลา
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)