วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553


การศึกษาหลักปรัชญาเพื่อการตีความทางพระพุทธศาสนา

นายยศพล สัจจะธีระกุล


-----------------------------------------------------------------------------

การศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจในพระธรรมคำสอนของพระพุทธบรม
ศาสดาที่ได้จารึกไว้ในพระไตรปิฎกคือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกนั้นมักเกิดปัญหาอย่างน้อย 2 ประเด็นที่เป็นอุปสรรคแก่ผู้สนใจใคร่รู้หรือเข้าถึงความจริงตามนัยทั้งจากการศึกษาด้วยตัวเองและฟังการถ่ายทอดจากผู้รู้คือ

1. อุปสรรคจากภาษาและวิธีการสื่อสารที่ให้ความหมายได้หลายนัยหรือไม่
แจ่มแจ้งเพราะพระธรรมคำสอนในพระไตรปิฎกที่ฝ่ายเถรวาทยึดถือเป็นคัมภีร์ถูกจารึกด้วยภาษาบาลีซึ่งถือเป็นภาษาทางธรรมก่อน แล้วจึงถูกแปลไปเป็นภาษาท้องถิ่นหรือภาษาทางโลก(เช่น ภาษาไทย เป็นต้น) แบบคำต่อคำ จึงมีโอกาสเกิดความผิดเพี้ยนด้วยข้อจำกัดของธรรมชาติภาษาหรืออักขระที่ไม่สามารถแสดงความหมาย ความรู้สึกได้แม่นตรงตามนัยได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้ต้องอาศัยการอธิบายแจกแจงขยายความจากอรรถกถาจารย์หรือผู้รู้เพิ่มเติมแสดงไว้เป็นอรรถกถาประกอบพุทธวจนะซึ่งมักจะเป็นภาษาบาลีรวมถึงโยชนาเพื่อขยายความอรรถกถาต่อๆไปอีก ปัญหานี้ได้ก่อให้เกิดผลใน 2 ลักษณะคือ

ด้านบวก เป็นการช่วยทำให้เกิดความกระจ่างถูกต้องตามนัยพระธรรมยิ่งขึ้น หรือ
ด้านลบ เป็นการเพิ่มความสับสนหรือเข้าใจผิดเพี้ยนจากการตีความพระไตรปิฎกของอรรถกถาจารย์ หรือผู้ศึกษาเองตีความคำอธิบายของอรรถกถาจารย์คลาดเคลื่อนเพราะเหตุจากภาษา โดยเฉพาะการศึกษาที่ยึดอรรถกถาเป็นคัมภีร์หลัก


อย่างไรก็ตาม การถ่ายทอดพระธรรมคำสอนเป็นภาษาบาลี
เองก็เกิดจากการบันทึกตามความทรงจำ(มุขปาฐะ)ของพระอริยบุคคลในครั้งสังคายนาหลังพุทธกาล จึงมีโอกาสเกิดความความคลาดเคลื่อนหรือความไม่สมบูรณ์ครบถ้วนผ่านกระบวนการถ่ายทอดสื่อสารได้เช่นกัน

2. อุปสรรคจากความศรัทธาที่มากกว่าปัญญาจนทำให้กลายเป็นความงมงาย
ขาดความยืดหยุ่นต่อการสร้างความสมดุลทำให้เกิดวิปลาส [1] เพราะเหตุความยึดมั่นถือมั่นในความคิดหรือความรู้ของตน กรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่าหลักปรัชญาตะวันตกยังอยู่ในข่ายของความวิปลาสนี้ด้วยเพราะองค์ความรู้ที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าถึงความจริงตามความเป็นจริงได้อย่างสัมบูรณ์และอย่างสัมพันธ์ ทำให้การนำความรู้ที่มีอยู่มาทำความเข้าใจให้ตรงกับความเป็นจริงจึงยังมีความต่างกันและส่งผลให้เกิดความแปลกแยกทางความคิดความเชื่อต่อไป

การตีความหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาด้วยกระบวนทัศน์ที่ 5 หรือ Postmodernism ตามหลักปรัชญาที่จะช่วยให้เข้าถึงนัยหรือแก่นกระพี้ของหลักธรรมนั้น จึงต้องอยู่บนฐานคติของการใช้ปัญญาอันเกิดจากการเปิดใจกว้าง ยึดหลักกาลามสูตร ไม่ติดกับดักในภาษาวาทกรรมหรือปทัสถานทางสังคมจนทำให้หลงทิศทางที่ถูกต้อง เห็นความสวยงามและโอกาสพัฒนาปัญญาจากความแตกต่าง และยึดผลลัพธ์ให้เป็นไปตามเป้าหมายสูงสุดอย่างแน่วแน่(End - result Oriented)

ดังนั้นผู้เขียนจึงมีความเห็นว่ากระบวนทัศน์ที่ 5 ซึ่งเป็นผลิตผลทาง
ความคิดแบบนอกกรอบหรือสังเคราะห์องค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม(Reject None, React All) มาเป็นเครื่องมือทำความเข้าใจในความจริงแท้ของเหตุการณ์สำคัญๆที่มีอิทธิพลต่อความสงบสันติของประชาคมโลกในอดีต(กระบวนทัศน์ที่ 1 – 4 ) แล้วนำมาแสวงหา Core Values เพื่อลดช่องว่างของความแปลกแยกทางความคิดความเชื่อเหล่านั้นให้เหลือแคบลงๆแบบ Win – win Solution

จนในที่สุดความแตกต่างที่เหลืออยู่นั้นไม่มีนัยสำคัญที่จะนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งได้อีกต่อไป นั่นคือการยอมรับในความแตกต่างของกันและกันที่คงต้องมีอยู่ตามความเป็นจริงได้อย่างเข้าใจ ซึ่งแนวคิดนี้ผู้เขียนมองว่าเป็นวิธีการที่จะทำให้เส้นคู่ขนานมีโอกาสมาบรรจบพบกันได้จริงในโลกปฏิบัติตามสมมติฐานทางคณิตศาสตร์สมัยใหม่

เหตุผลที่ผู้เขียนมีมุมมองดังกล่าวก็เนื่องมาจากฐานคติของกระบวนทัศน์
ที่ 5 และการนำเทคนิคการจัดการปัญหาแบบบูรณาการที่มุ่งสัมฤทธิผลแบบ win – win เช่นกันนั่นคือหลักการ ‘แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง สมานจุดอ่อน สะท้อนจุดยืน และสลายอัตตา’ ด้วยการขจัดความคิดเห็นที่แตกต่างแบบสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็จะต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างที่มีอยู่นั้นโดยไม่ถือว่าเป็นความแปลกแยกหรือเป็นศัตรู แล้วมุ่งมั่นเสริมสร้างให้มีการเรียนรู้อย่างรอบด้าน(Knowledge) พร้อมกับแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันเพื่อให้รู้ตามจริง(Insight) ตามกลยุทธ์ ‘รู้เขา รู้เรา’ เพื่อลดความหวาดระแวงและความกลัวอันเกิดจากความไม่รู้จริงของกันและกัน ซึ่งการสร้างเครือข่ายสังคมแห่งการเรียนรู้หรือ Learning Society Network ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งโลกจะถือว่าเป็นผลิตผลของกระบวนทัศน์ที่ 5ได้หรือไม่ ?


----------------------------------------------------------------------------------------


[1] วิปลาส หรือ วิปัลลาส 4 หมายถึง ความรู้ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง(distortion ) มี 3 ระดับ คือ
สัญญาวิปลาส(สัญญาหมายรู้ผิดพลาดจากความเป็นจริงหรือเข้าใจผิด) จิตตวิปลาส(ความคิดที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง) และ ทิฏฐิวิปลาส(ความเชื่อ ความเห็นที่เกิดต่อเนื่องขยายวงตามสัญญาวิปลาสหรือจิตตวิปลาส กล่าวคือเป็นวิปลาสใน 4 ด้านคือ วิปลาสในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง วิปลาสในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข วิปลาสในสิ่งที่ไม่เป็นตัวตนว่าเป็นตัวตน และวิปลาสในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ) มาในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เล่มที่ 21 ข้อ 49 หน้า 66