วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปรับสมดุลอินทรีย์



โศลกที่สิบห้า "ปรับสมดุลอินทรีย์"

ไม่มุ่งมั่นมากเกินไป
ไม่เอาจริงเอาจังเกินไป
ไม่จดจ่อมากเกินไป
ไม่เข้าใจมากเกินไป
แต่ให้ตั้งสติให้ดีทุกส่วน
ให้บริหารอินทรีย์ให้ดี
ทุกอินทรีย์มีส่วนขัดขวาง
มีส่วนสนับสนุนการปฏิบัติทั้งสิ้น
ความเพลีย ง่วง กรดทำงาน
ล้วนทำให้การปฏิบัติมีปัญหา
อย่าได้อึดอัดขัดข้อง รันทดท้อแท้
ผ่อนปรนบ้าง ลดถอยลงบ้าง
ไม่ต้องตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ค่อยปรับระดับอินทรีย์ใหม่
ค่อยเข้าเกียร์อินทรีย์ใหม่
มุ่งมั่น พยายาม ตั้งใจ เข้าใจ
ตื่นตัวประคองทุกขั้นตอน


โยคาวจร ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจระบบของการปฏิบัติที่ครบวงจร มิฉะนั้นอาจเป็นปัญหาในขณะปฏิบัติธรรมได้ เนื่องจากวงจรแห่งการปฏิบัติธรรมนั้นก็มีองค์ประกอบในตัวที่สมบูรณ์ ผู้ปฏิบัติต้องใช้ธรรมชุดนี้ในการขับเคลื่อนการปฏิบัติธรรมเพื่อให้การปฏิบัติธรรมนั้นลุผลสมควรแก่ธรรมปฏิบัติ


ดุจดังการจะขับรถ จำเป็นต้องเรียนวิธีการขับรถเสียก่อน อย่างน้อยก็ต้องรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ตรงไหนเกียร์ ตรงไหนครัช ตรงไหนเบรก ตรงไหนพวงมาลัย ตรงไหนน้ำมัน เป็นต้น เมื่อรู้ว่าทุกอย่างมีพร้อม รถจะไปได้ก็ต่อเมื่อมีการติดเครื่องแล้วมีคนขับไป อุปกรณ์แห่งการปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน เมื่อทุกอย่างมีพร้อมหมดแล้วก็ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะพาพาหนะที่เรียกการปฏิบัติธรรมนี้ไปถึงจุดหมายที่พระพุทธศาสนาระบุไว้ ไม่ไปสู่จุดหมายอื่น เนื่องจากพอเริ่มติดเครื่องเดินทาง เข้าสู่การบำเพ็ญสมณธรรมแล้วก็ต้องมีทิศทางที่ถูกต้อง


กิจของการบำเพ็ญสมณธรรมในพระพุทธศาสนานั้นคือ กำหนดรู้ทุกข์ ดับเหตุให้เกิดทุกข์ กระทำให้แจ้งการดับทุกข์ และบำเพ็ญเพียรทางที่นำไปสู่การทุกข์เพื่อไปสู่จุดหมายสูงสุด คือ ความสิ้นไปแห่งอาสวกิเลสทั้งหลาย

ความพร้อมส่วนบุคคล ด้านปัจจัยภายนอกคือ ตัดความกังวลทั้งหลาย ด้านปัจจัยภายใน คือ การทรงไว้ซึ่งอินทรีย์ทั้ง ๕ ได้แก่ ความเชื่อมั่น ความพยายาม ความตื่นตัว การทรงความใสไว้และการพิจารณา



ความพร้อมส่วนสถานที่ ต้องมีความเหมาะสมกับการบำเพ็ญ ไม่ว่าจะเป็นถ้ำ เรือนว่าง โคนไม้ ร่มไม้ ภูเขา ลำธาร ที่อันสงัดวิเวก ความพร้อมส่วนกัลยาณมิตร ต้องมีผู้มีประสบการณ์แนะนำช่วยเหลือในการบำเพ็ญสมณธรรม กุญแจในการจุดเครื่องยนต์แห่งการปฏิบัติ ได้แก่ อานาปานสติ


โศลกว่า “ให้บริหารอินทรีย์ให้ดี” ในขณะปฏิบัติธรรม ธรรมหมวดที่ชื่อว่า อินทรีย์จะถูกดึงออกมาใช้โดยอัตโนมัติ ถ้าหากธรรมหมวดนี้ยังไม่เข้มแข็งพอต้องมีการปลูกฝังให้เข้มแข็ง ดังที่จะศึกษาได้จากในครั้งพุทธกาลเรียกว่า “อินทรีย์เต็มเปี่ยม” หรือ “อินทรีย์ไม่เต็มเปี่ยม” ผู้ใดอินทรีย์เต็มเปี่ยมจึงจะบรรลุธรรมได้ไว ผู้ใดอินทรีย์ไม่เต็มเปี่ยมก็ต้องรอกาลอันเหมาะสมก่อน


ดังเช่นพระวังคีสะเถระ การที่ท่านเข้ามาบวชไม่ได้มีศรัทธาในการเห็นคุณค่าของการบำเพ็ญเพียร แต่หวังที่จะได้มนต์ทำนายจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น เมื่ออินทรีย์ส่วนนี้ยังไม่พร้อมก็ต้องปรับอินทรีย์ไปก่อน โดยให้ศึกษาอาการ ๓๒ ไปก่อน จนกระทั่งมีความเข้าใจในขันธ์ ๕ เท่าที่ควรแล้ว พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมและนำปฏิบัติไปในขณะนั้นไปด้วย


เปรียบเทียบอินทรีย์นี้กับรถยนต์คันหนึ่งที่ประกอบไปด้วย ล้อ ๔ ล้อ และคนขับหนึ่งคน เมื่อรถคนนี้วิ่งไปได้ด้วยความราบรื่น เร่งความเร็วได้ตามลำดับ รถจะมีพลังในการขับเคลื่อนไป จากรถยนต์ก็จะกลายเป็นพาหนะเคลื่อนที่เร็วทันที เช่นเดียวกันกับอินทรีย์ เมื่ออินทรีย์มีความสมดุล อินทรีย์จะกลายเป็นพาหนะอันมีกำลังขับเคลื่อนทันที


ข้อควรระวังในการบำเพ็ญสมณธรรม อย่าได้เข้าใจตามตัวหนังสือที่เขียนไว้ที่เรียงลำดับกันอยู่เด็ดขาด เพราะในขณะปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมนั้นทุกอย่างต้องเป็นธรรมสมังคี มรรคสมังคี หมายถึงการใช้งานร่วมกัน ไม่แยกจากกัน ดุจดังการขับรถไม่ใช่เริ่มที่ล้อ เริ่มที่พวงมาลัย เริ่มที่คนขับ แต่เริ่มพร้อมกันทุกอย่าง ทำงานไปด้วยกันทุกอย่างในวงจรของการขับเคลื่อนนั้น แม้ว่าจะมีการเรียงลำดับไว้ ก็เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า แต่ละอย่างนั้นมีลำดับการใช้ตามขั้นตอนนั้น

สัทธินทรีย์ ความเชื่อมั่นในระบบการปฏิบัติตามแนวพระพุทธศาสนาว่า สามารถนำไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพานได้จริง ความเชื่อมั่นในพระปัญญาของพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ไว้ดีแล้ว เชื่อมั่นในความสามารถของตน ก็คือการบำเพ็ญเพียรเช่นนี้นั้นเป็นการกระทำตามกระบวนการของการพ้นทุกข์ได้จริง เป็นกรรมไม่ดำ ไม่ขาว


เมื่อมีความเชื่อมั่นเช่นนี้ก็ทำให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติอย่างเต็มกำลังความสามารถ ขอเปรียบเทียบการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเล่นก็คือ ความมั่นใจ ถ้าหากมีความมั่นใจจะเรียกฟอร์มการเล่นที่สุดยอดออกมาได้ แต่ถ้าสูญเสียความมั่นใจแล้วก็ไม่สามารถเค้นฟอร์มที่สุดยอดของตนออกมาได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีกระบวนการเรียกความมั่นใจคืนมาให้ได้


ในการปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน ต้องเรียกความมั่นใจให้มีในตนให้ได้ ศรัทธาเป็นศักยภาพ สมรรถภาพ ประสิทธิภาพของผู้ปฏิบัติ เมื่อมีศรัทธาแล้วย่อมสามารถกระทำในสิ่งที่อัศจรรย์ออกมาได้ จึงไม่แปลกที่มีสุภาษิตของชาวต่างประเทศที่ว่า “ศรัทธาสามารถย้ายภูเขาได้” ผู้มีศรัทธาในการปฏิบัติก็เช่นกันสามารถเข้าถึงการบรรลุธรรมได้

วิริยินทรีย์ ความเพียรพยายามในการปฏิบัติ มีความต่อเนื่อง มีความอดทน มีความมุ่งมั่น ไม่หยุดหย่อน เป็นการกระทำตามกระบวนการที่มีอยู่ให้ตลอดจนจบ อาจเป็นหนึ่งบัลลังก์หรือสองบัลลังก์ ก็แล้วแต่ แต่ต้องกระทำไปจนถึงที่สุด ไม่ยอมท้อถอย ดุจดังการวิ่งมาราธอน ที่ไม่ยินยอมออกกลางคัน ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อการปฏิบัติโดยมีความเชื่อมั่นว่าตนทำได้เป็นเบื้องหน้า มีความเชื่อมั่นต่อตัวอย่างว่ามีพระอริยบุคคลทั้งหลายก็เคยดำเนินตามเส้นทางนี้มามากแล้ว เราเพียงแต่เดินตามเส้นทางนี้ให้ถึงที่สุดเท่านั้นก็จะถึงที่หมายตามที่พระอริยบุคคลทั้งหลายถึงเช่นกัน

สตินทรีย์ ความตื่นตัวอยู่เสมอ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม การปรับอินทรีย์อื่นๆ ให้ทำงานได้เต็มที่ การรักษาความสม่ำเสมอของอินทรีย์อื่นๆ ดุจดังการจับพวงมาลัยให้เลี้ยวไปตามถนนที่มีทางโค้งบ้าง ทางตรงบ้าง ทางเบี่ยงบ้าง หลุมบ้าง สิ่งกีดขวางบ้าง เมื่อมีเหตุการณ์ใดเกิดระหว่างทางก็พร้อมที่จะชะลอความเร็ว พร้อมที่จะทดเกียร์ พร้อมที่จะพิจารณา สติจึงเป็นเหมือนตัวกำกับให้รถแล่นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ดับ ไปถึงเป้าหมายอย่างปลอดภัย


สมาธินทรีย์ การทำหน้าที่ทรงความใสสะอาด ความเที่ยงตรง ความสม่ำเสมอ ความเสถียร การรักษาระดับ ความนิ่ง การคงไว้ของสติ ความแจ่มกระจ่าง สมาธิเป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้ง แปลเป็นภาษาไทยได้ไม่ตรงกับอรรถของการปฏิบัติ ภาษาไทยแปลว่า ความตั้งใจมั่น ตามศัพท์แปลว่า การทรงไว้ให้สม่ำเสมอ แต่อรรถของการปฏิบัติก็คือ การรักษาระดับความนิ่งของจิตที่มีความตื่นตัวนั้นไว้

ถ้าจะเปรียบกับการใช้ไฟเผาแก้วให้เป็นรูปต่างๆ ไฟต้องนิ่ง ไฟต้องได้ระดับ ความร้อนต้องได้พอเหมาะพอดี เมื่อความร้อนต้องพอดี แก้วจึงจะออกมาเป็นรูปตามที่ต้องการ ถ้าไฟร้อนมากไปก็ละลายไป น้อยไปก็ไม่พอกับการขึ้นรูป หรือเปรียบกับการสีไฟจุดไฟโบราณ ต้องรักษาความเที่ยงของการสีไม้ให้ร้อนสม่ำเสมอ ความร้อนจึงจะได้ที่ทำให้ไฟลุกได้ นี่เรียกว่า สมาธิ สมาธิมิใช่ฌาน ฌานมิใช่สมาธิ สมาธิมิใช่สงบใจ สงบใจมิใช่สมาธิ สมาธินทรีย์คือความเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่รักษาสภาพสมดุลไว้อย่างเต็มที่ พอเหมาะพอดี


ปัญญินทรีย์ การเห็นแจ้งในสัจธรรม การเข้าใจธรรมชาติ การเห็นอริยสัจ อันได้แก่ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางนำไปสู่ความดับทุกข์ การเห็นแจ้งในไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตา เปรียบดังเช่น การเปิดไฟในห้องที่มืด หงายของที่คว่ำ คลี่ออกซึ่งม้วนภาพ เป็นต้น ไม่สงสัย ไม่มีคำถาม แจ่มแจ้งด้วยปัญญาของตน ปัญญาในที่นี้มิใช่ความเข้าใจที่ตรองเอาตามตรรกะ ไม่ใช่ปัญญาที่รู้แบบนักปรัชญา นักวิชาการ แต่เป็นปัญญาในองค์ธรรมแห่งอินทรีย์ที่สามารถทำลายความมืด คือ อวิชชา

โศลกว่า “ทุกอินทรีย์มีส่วนขัดขวาง มีส่วนสนับสนุนการปฏิบัติทั้งสิ้น” องค์ธรรมแห่งการปฏิบัตินี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ละอินทรีย์ก็เป็นใหญ่ในการทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติธรรมของพระโยคาวจรทั้งหลาย แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าหากการทำงานของอินทรีย์ข้อใดข้อหนึ่งมากเกินไป ก็ทำให้เกิดข้อเสียได้ เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติได้ ดุจดังการรับประทานตัวยาที่ดี แต่รับประทานไม่เหมาะสมกับธาตุภายในร่างกาย ก็ทำให้เป็นโทษต่อร่างกายได้


ความมั่นใจถ้ามากเกินไปก็ทำให้กระทำโดยไม่ดูกำลัง ไม่ดูความพร้อมของจังหวะและเวลา ดุจดังการทำงานของคนที่มั่นใจตนเองเกินไป ก็ทำให้องคาพยพเดินตามไม่ได้ ถ้าหากมีความเพียรมากเกินไปก็ทำให้เกิดความเพลีย การอาการง่วง เกิดอาการรวนได้ ถ้าหากมีความมุ่งมั่นมากเกินไปก็ทำให้เกิดความเครียดได้ เส้นประสาททั้งหลายตึงได้ ประสาทชะงักได้ ถ้าหากมีปัญญามากไปก็ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านได้


แต่สตินั้นยิ่งมีมากกลับยิ่งดี เพราะสติเป็นตัวทำให้อินทรีย์ตัวอื่นทำงานได้อย่างพอเหมาะ พอดี ถ้าสติอ่อน อินทรีย์แต่ละตัวจะทำหน้าที่ได้ไม่เต็มกำลัง เหมือนกับคนขับรถ ถ้าคนขับไม่มีสติเสียแล้วก็ทำให้รถเสียหลักได้ง่าย พลาดตกทางได้ง่าย เพราะฉะนั้นพึงรักษาสติไว้ให้ดี พึงตื่นตัวอยู่เสมอ พึงรู้สึกตัวทั่วพร้อมตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้อินทรีย์ก็จะกลับกายเป็นพลังขึ้นมาได้ง่าย


โศลกว่า “ค่อยปรับระดับอินทรีย์ใหม่” เป็นปกติสำหรับการบำเพ็ญเพียรสมณธรรมกับการเกิดอาการเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวมีสติแจ่มใส เดี๋ยวพร่ามัว เดี๋ยวสงบเย็น เดี๋ยวอึดอัดขัดข้อง อันเกิดจากความไม่ชำนาญในการปรับอินทรีย์ ผู้ชำนาญในการปรับอินทรีย์จึงสามารถบำเพ็ญเพียรสมณธรรมได้ดั่งที่ประสงค์ แม้จะมีเหตุปัญหาในการทำหน้าที่ของอินทรีย์ก็สามารถมีวิธีปรับอินทรีย์ได้อย่างรวดเร็ว ดุจดังคนที่ขับรถชำนาญ แม้รถเกิดอุปสรรค์ในการขับขี่ก็ไม่ตกใจ ไม่ท้อแท้ ไม่หงุดหงิด พร้อมที่จะไล่เกียร์ขึ้นไปใหม่ เป็นปกติของการขับรถ เร่งไปอย่างเดียวมีหวังเครื่องพัง ในที่สุดก็ต้องซ่อมและยกเครื่องใหม่

การบำเพ็ญเพียรสมณธรรมก็เช่นกัน ต้องรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว รู้จักให้กำลังใจตน รู้จักประคองในกาลอันควรประคองจิตให้มีกำลัง รู้จักเร่งในขณะที่พึงเร่งบำเพ็ญ หลายคนตั้งใจมากเกินไปจนทำให้บรรยากาศในการบำเพ็ญเพียรสมณธรรมไม่เป็นธรรมชาติ ความตั้งใจมากเกินไปก็ทำให้เร่งเร้าความเครียดขึ้นได้ พอไม่สามารถทำได้ตามที่ตั้งใจก็ทำให้เลิกล้มความตั้งใจได้ง่าย อีกทั้งความตั้งใจมาก จากฉันทะก็จะกลับกลายเป็นความอยากได้ ด่วนได้ตามใจ บารมีต้องรองรับเอาทีละเล็กทีละน้อยค่อยๆ สะสมจนกว่าจะเต็มเปี่ยมในที่สุด




นี่คือ โศลกที่สิบห้าแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เล่นเกมกับจิต






โศลกที่สิบสี่ "เล่นเกมกับจิต"

เก็บไปทีละจังหวะ
เน้นทุกลมหายใจเข้าออก
อย่าได้มั่นใจ หลงใหล ได้ปลื้ม
วันนี้ทำได้ มีสติเท่าทัน
ก็อย่าหมายว่าจะรักษาอารมณ์นั้นได้อีก
อย่าได้มั่นใจเอาอะไรแน่นอนกับจิต
จิตจะซัดส่าย กวัดแกว่งหาที่เกาะเกี่ยว
หาอะไรไม่ได้ ก็เข้าไปยึดอดีตและอนาคต
นี่คือธาตุแท้ของจิต ไม่ใช่เรื่องแปลก
ดังนั้นต้องพร้อมเสมอ รู้เท่า รู้ทัน รู้กัน รู้แก้
ฉลาดในการเล่นเกมกับจิต
เกมแห่งการดูจิต เห็นจิต ทุกขณะจิต
จนกว่าจะถึงวันที่ไม่หวั่นไหวอีก



การที่จิตกวัดแกว่ง ซัดส่ายเข้าไปเกาะเกี่ยวอดีตบ้าง อนาคตบ้าง อารมณ์ที่ปรากฏเฉพาะหน้าบ้าง เป็นเรื่องปกติของจิต เนื่องจากจิตดำรงอยู่ได้ด้วยการอาศัยอารมณ์เหล่านี้นี่เอง อารมณ์เหล่านี้เป็นอาหารของจิต ผู้คนทานอาหารเข้าไปเพื่อใช้เป็นพลังงานให้ร่างกายนี้ดำเนินไปได้ฉันใด จิตก็ต้องการอาหารเพื่อให้จิตดำรงอยู่ได้ฉันนั้นเหมือนกัน ชีวิตจะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยการทานอาหารกายและอาหารใจ แต่จะมีใครบ้างสนใจอาหารใจ มีแต่สนใจอาหารกาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารครบ ๕ หมู่ อาหารเสริม อาหารบำรุง อาหารอร่อยๆ ล้วนแล้วแต่เป็นอาหารทางกายทั้งสิ้น เนื่องจากไม่สนใจกับอาหารใจ ดังนั้นใจจึงทานอาหารสะเปะสะปะ ล้วนแล้วแต่เป็นอาหารพิษต่อชีวิต เป็นพิษต่อความว่าง แต่กลับบำรุงอัตตาทั้งนั้น



ถ้าหากดูแลอาหารใจให้มากกว่านี้ ความเข้าใจว่า เป็นเรา (เอตํ มม) เป็นของเรา (เอโสหมสฺมิ) เป็นตัวตนของเรา (เอโส เม อตฺตา) ก็คงไม่เจริญงอกงามอย่างนี้ พึงเข้าใจว่า อัตตาที่แท้นั้นไม่มี แต่เป็นเพราะการปล่อยจิตให้ทานอาหารโดยไม่เลือก ไม่ได้รับการดูแลนี่เองจึงทำให้อวิชชา ตัณหา และอุปาทานมีกำลังเข้าไปยึดขันธ์นี้เป็นอัตตา และมีกำลังแก่กล้าขึ้นไปเรื่อยๆ

อาหารแห่งอัตตาที่อร่อยมากก็คือ อดีตและอนาคต จิตเข้าไปทานอดีตและอนาคตหล่อเลี้ยงอัตตาให้อุดมสมบูรณ์ สารอาหารของอดีตและอนาคตก็คือ ตัณหา เมื่อจิตเสพสารอาหารคือตัณหา ผลที่ปรากฏก็คือ ความปั่นป่วน สับสน วุ่นวาย ห้ำหั่น เข่นฆ่า ทำร้าย ทำลายกันและกันของมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ ช่องทางเสพอาหารทางกายนั้นมีปากเป็นทางเข้า หรือไม่ก็ใช้สายยางสอดเข้าไป แต่การทานอาหารทางจิตนั้นมีช่องทางถึง ๓ ช่อง บ่งบอกถึงจิตทานอาหารมากเหลือเกิน ทานทุกขณะจิต ทานทุกลมหายใจ

ช่องที่หนึ่ง ผัสสาหาร อาหารคือสัมผัส ได้แก่ อาหารที่เกิดจากการกระทบระหว่างอายตนะภายในและอายตนะภายนอก จุดกระทบเป็นจุดที่กำลังกิน กินทางตาเรียกว่า จักขวาหาร กินทางหู เรียก โสตาหาร กินทางจมูก เรียก ฆานาหาร กินทางลิ้น เรียกชิวหาหาร กินทางใจเรียกว่า มนาหาร การกระทบทำให้ชีวิตมนุษย์ดำเนินไป โดยมากจิตเสพผัสสาหารที่มีตัณหาเป็นสารอาหารล้วน

ช่องทางที่สอง มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือเจตจำนง ได้แก่ การปรุงแต่งของจิตที่เรียกว่า สังขาร จิตก็เสพเจตจำนงที่ประกอบด้วยตัณหาเข้าไป

ช่องทางที่สาม วิญญาณาหาร อาหารคือการรับรู้ ได้แก่ การรับรู้ที่ประกอบด้วยตัณหา จิตก็เสพการรับรู้ที่มีสารอาหารคือตัณหาเข้าไป

คนเราไม่สนใจอาหารใจที่เป็นพิษนี่เลย ปล่อยจิตเสพอาหารไปตามชอบใจ จนอัตตา (Ego) อ้วนพี ยับยั้งไม่อยู่ กล้าแกร่ง ใครไปแตะต้อง เพียงแค่ใช้สายตามองนิดเดียว อัตตาจะแผลงฤทธิ์ออกมาทันที พิษของอัตตาก็คือ โลกที่เต็มไปด้วยสารพิษทุกวันนี้ แต่มนุษย์ไม่สามารถเห็นได้ เพราะเป็นวิบากกรรมของมนุษย์ ดุจดังหนอนที่เกิดในของเน่าเหม็น บอกให้หนอนทราบอย่างไร ก็ไม่มีทางเข้าใจ รู้ได้เลย

โศลกว่า “ฉลาดในการเล่นเกมกับจิต” หันกลับมาใส่ใจกับอาหารใจกันเถิด หันมาใส่ใจกับวิธีที่ใจทานอาหารเถิด ไม่ว่าจะเป็นอาหารและวิธีทานอาหารล้วนสำคัญมาก เกมที่จะไม่ให้จิตทานสารอาหารแห่งตัณหา ก็คือ เกมการอยู่กับปัจจุบัน ให้จิตทานปัจจุปันนาหาร สารอาหารที่อยู่ในปัจจุบันนี้มีผลต่อการทำลายพิษที่มีในจิต คือ ตัณหา มีผลทำให้อัตตาห่อเหี่ยว ทำให้อัตตาไร้พลัง ทำให้อัตตาสูญสลายไปในที่สุด นี่เป็นการดำรงอยู่ของพระอริยะ พระโยคาวจรพึงเลือกทานแต่ปัจจุปันนาหาร ไม่ทานอตีตาหารและอนาคตาหาร เกมอยู่ที่นี่ เป็นเกมการเลือกทานอาหาร ต้องเล่นเกมกับจิต หลอกล่อจิตให้ทานปัจจุปันนาหารให้ได้ เพื่อผลแห่งความบริสุทธิ์แห่งจิตเอง


ปัจจุบันขณะจึงเป็นกุญแจแห่งอิสรภาพ พูดง่ายแต่ทำยาก ผู้ที่ปฏิบัติกัมมัฏฐานจึงจะทราบว่า การดำรงตนอยู่ในอารมณ์ปัจจุบันนั้นยากอย่างไร จิตไม่คุ้นกับการอยู่ในปัจจุบัน จิตคุ้นกับการอยู่กับอดีตกับอนาคต เพราะในอดีตกับอนาคตนั้นมีที่ที่ให้จิตเล่นได้ เคลื่อนไหวได้อิสระ แต่ในปัจจุบันนั้นจิตไม่มีที่ให้เล่น ยิ่งไปกว่านั้นตัวมันเองทำท่าจะหายไปด้วย เพราะปัจจุบันนั้นเป็นเพียงขณะที่ไม่เหลือที่ให้จิตได้ดำรงอยู่ได้เลย

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะอัตตานั้นถ่ายทอดความเป็นใหญ่ลงในความคิด อาศัยความคิดเป็นทางเดินอาหารหล่อเลี้ยง ความคิดนั่นแหละเป็นอดีตและเป็นอนาคตเรียบร้อยแล้ว มันจึงอาศัยช่องทางนี้เสพอาหาร เกมของเราก็คือ ทำอย่างไรจึงจะอยู่ในปัจจุบันขณะได้ ก็ต้องอาศัยสติเท่านั้นไม่มีทางอื่น สติเป็นท่อหล่อเลี้ยงปัจจุปันนาหาร เมื่อสติเกิดขึ้นเมื่อใด ปัญญาก็เกิดเมื่อนั้น ปัญญาเกิดเมื่อใดปัจจุบันขณะก็เกิดเมื่อนั้น ปัญญาเกิดเมื่อใด อนัตตาก็เกิดเมื่อนั้น อนัตตาปรากฏเมื่อใด อัตตาก็สลายไปเมื่อนั้น


เกมของเราจึงอยู่ที่ไม่ให้จิตได้คิด คนทั่วไปย่อมไม่เข้าใจว่า คนไม่คิดจะอยู่ได้หรือ เป็นไปได้หรือ เพราะธรรมชาติของจิตนั้นต้องคิด เกมของเราอยู่ที่ว่า ให้จิตอยู่ในปัจจุบันขณะ ไม่สนใจมันจะคิดหรือไม่คิด แต่เกมอยู่ที่ทำอย่างไรจะให้อยู่กับปัจจุบันเท่านี้พอ ขอเพียงแต่มีสติเห็นปัจจุบันขณะ นั่นแหละจึงจะได้คำตอบว่า จิตไม่คิดมีความหมายอย่างไร ขออย่าได้นำความหมายในศัพท์ว่าจิตมาอธิบายไว้ตรงนี้ เมื่อนั้นท่านจะพลาดโอกาสเล่นเกมทันที

ปัจจุบันมิใช่กาลเวลา แต่เป็นขณะที่ไร้กาล กาลเวลามีได้เฉพาะในอดีตและอนาคตเท่านั้น ปัจจุบันเป็นศูนยตา เป็นอนัตตา ไม่มีสภาวะแห่งสวลักษณะอยู่ภายใน ปัจจุบันมีแต่สภาวะที่เป็นจริง ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากผัสสะ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการปรุงแต่ง ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการเข้าไปรับรู้ ผัสสะสักว่าผัสสะ เจตจำนงเป็นเพียงเจตจำนง รับรู้สักว่ารับรู้ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสแก่พาหิยะว่า


“ดูกรพาหิยะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเธอเห็น จักเป็นสักแต่ว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าแต่ฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักแต่ว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักแต่ว่ารู้แจ้ง...เมื่อนั้นเธอย่อมไม่มี ในกาลใด เมื่อเธอไม่มี ในกาลนั้นเธอย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์”

มาพิจารณาพระพุทธดำรัสนี้จะเห็นว่า การไม่เข้าไปปรุงแต่ง ไม่ให้อาหารของอัตตา กินก็สักแต่ว่ากิน สัมผัสก็สักว่าสัมผัส เจตจำนงก็สักแต่เจตจำนง รับรู้สักว่าแต่รับรู้ เมื่อนั้นจิตก็ไม่อาจเสพสารอาหารตัณหาได้อีก ก็ไม่อาจได้ช่องเลี้ยงอัตตาได้อีก

โศลกว่า “เก็บไปทีละจังหวะ เน้นทุกลมหายใจเข้าออก” อย่าได้รีบเร่ง คาดคิด กังวล เมื่อใดที่เกิดความคิด เมื่อนั้นก็แพ้ในเกมทันที ความคิดเป็นอันตราย เพราะความคิดเป็นเหยื่อล่อของอัตตา เมื่อมีความคิดอดีตและอนาคตก็เกิด ความคิดที่อยากคืออนาคต อยากได้อยากเป็นเหมือนวันก่อน ก็เป็นอนาคต พลังแห่งฉันทะถ้าเกินเส้น ล้ำแดนไปเพียงนิดก็จะกลายเป็นตัณหา คือสารอาหารทันที

พยายามเน้นทีละจังหวะ ไม่มาก ไม่น้อย ไม่ก่อน ไม่หลัง มีแต่ลมหายใจเข้าออก ไม่คาดหวังผล ไม่ใส่ใจผลข้างเคียง มีแต่ลมหายใจ ถ้าหากพิจารณาเปรียบเทียบกับการจุดไฟแบบโบราณก็จะเข้าใจยิ่งกว่าเดิมว่า ให้เน้นทุกจังหวะ เน้นทุกขณะอย่างไร เมื่ออุปกรณ์มีพร้อม วิธีการถูกต้อง ให้เริ่มลงมือทันที ใช้ไม้สีกระบอกจุดไฟ สีจนกว่าจะเกิดความร้อน สีจนกว่าจะเกิดควัน สีจนกว่าจะเกิดประกายไฟ และสีจนกว่าไฟจะติดเชื้อที่อยู่ในกระบอก ความต่อเนื่องตรงนี้คือปัจจุบัน ไม่มีระหว่างให้เว้น ไม่มีเส้นคั่นอดีต อนาคต เป็นแต่ปัจจุบันคือการสีไฟเท่านั้น ไม่มีความคิดใดเข้าไปช่วยให้ร้อน ช่วยให้ควันเกิด ช่วยให้ไฟลุก นั่นแหละเกมการสีไฟทางจิตหละ

ปัจจุบันมิใช่เป็นเรื่องเหลือวิสัยที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ เริ่มต้นด้วยวิธีการสังเกตตนเอง เมื่อใดที่เข้าไปตามรู้ความคิด เมื่อนั้นสติก็จะเกิดขึ้น ปัจจุบันมิใช่สิ่งทำให้เกิดขึ้น แต่เป็นขณะที่ดำรงอยู่ในความเป็นจริง เพียงแค่รู้สึกตัว ปัจจุบันก็ปรากฏ ปัจจุบันเป็นเหมือนศูนยตาที่เป็นความจริง แต่ที่ไม่เห็นศูนยตาหรืออนัตตา ก็เพราะไม่อาจอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง



โศลกว่า “อย่าได้มั่นใจเอาอะไรแน่นอนกับจิต” ตราบใดที่ไฟยังไม่ลุก ตราบใดที่ไฟแห่งปัญญายังไม่คงที่ ตราบใดที่สติยังไม่คงมั่น ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งด้วยปัญญาญาณ ตราบนั้นก็อย่าได้มั่นใจกับจิตที่เราเล่นเกมไป เพราะจิตจะยินยอมเมื่อถูกสติแจ่มชัดในขณะนี้ แต่ในขณะอื่นไม่แน่ว่าจะเป็นเหมือนเดิม วันนี้ดูเหมือนสงบระงับ เหมือนกับว่าตนได้ลิ้มรสแห่งความสุขอันเกิดจากสงบนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า มื้อหน้าจะเป็นเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นเกมกับจิตนี้เป็นเกมตลอดเวลา ไม่ใช่เกมในขณะเฉพาะขณะที่อยู่ในรูปแบบเท่านั้น จึงพบเห็นเสมอว่า ผู้ปฏิบัติธรรมหลายต่อหลายคนแพ้ต่อเกมดูจิต เกมทานอาหารปัจจุบัน ทั้งที่เคยเล่นชนะมาบ้างแล้วในบางครั้ง แต่นั่นเป็นการผ่อนปรนของอัตตาในบางขณะเท่านั้น

พระเถระผู้หนึ่งเข้าใจว่าตนนั้นเอาชนะอัตตาแล้ว เข้าใจว่า ตนดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะแล้ว ตนเองบริสุทธิ์แล้ว เป็นผู้ชนะในเกมแล้ว แต่หารู้ไม่ว่า อัตตาได้ซ้อนมิติเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ซ้อนเข้าไปให้หลงคิดและหลงยึดว่า ตนนั้นบรรลุแล้ว ตนนั้นเป็นอิสระแล้ว ตนนั้นได้ไม่ได้เสพอาหารแห่งตัณหาแล้ว อยู่มาวันหนึ่งมีสามเณรที่เป็นผู้หลุดพ้นแล้วอย่างแท้จริงทราบถึงการถูกอัตตาลวงพระเถระอยู่อย่างนั้น ครั้นจะบอกโดยตรงก็ไม่เป็นผลแน่ และยิ่งจะทำให้พระเถระนั้นอาจล่วงเกินทางความคิด เป็นจิตอกุศล ผูกพันกลายเป็นเวรกรรมต่อไป สามเณรจึงได้เล่นเกมซ้อนเกม เพื่อให้เผยอัตตาที่หลบอยู่ด้านหลังฉากให้ออกมาปรากฏต่อพระเถระให้ได้


พอได้จังหวะและเวลา สามเณรจึงประลองฤทธิ์กับพระเถระ โดยพระเถระแปลงการเป็นกวาง สามเณรแปลงเป็นเก้ง พระเถระแปลงร่างเป็นนก สามเณรแปลงร่างเป็นกระรอก พระเถระแปลงร่างเป็นสิงห์โต สามเณรแปลงร่างเป็นงู พระเถระแปลงร่างเป็นช้าง สามเณรแปลงร่างเป็นเสือ ทันใดนั้นเสือได้ทำทีกระโจนเข้าหาช้าง ช้างตกใจร้องลั่นวิ่งกระเจิง สามเณรจึงเตือนสติว่า ก็เมื่อบรรลุแล้วยังจะตกใจกลัวตายอยู่หรือ เพียงเท่านั้นพระเถระจึงได้สติทันทีว่า ตนนั้นถูกอัตตาลวงเข้าให้ หลงผิดคิดว่าตนนั้นเป็นผู้บรรลุแล้ว

อย่าได้ประมาทดูเบาในการเล่นเกมกับจิต ในที่นี้ใช้คำว่าเล่นเกม ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า การเล่นเกมนั้นมีความพิเศษในเกม ที่มีกฎกติกา มีผลแพ้ชนะ มีลักษณะของกรอบของเกมที่ชัด แท้ที่จริงแล้วการเล่นเกมนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง มีความสำคัญถึงขั้นเวียนว่ายตายเกิด และถึงขั้นหลุดพ้นจากสังสารวัฏเป็นเดิมพันเลยทีเดียว


นี่คือ โศลกที่สิบสี่แห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วาจาหยั่งตื้นลึก



โศลกที่สิบสาม "วาจาหยั่งตื้นลึก"

“ปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องยาก”
ดูเหมือนผู้กล่าวจะลึกซึ้งในธรรม
ผู้กล่าวธรรมต่างกับผู้ปฏิบัติธรรม
คนติดตามพระวิปัสสนาจารย์
ย่อมได้ฟังคำบรรยายในที่ทุกหนแห่ง
การฟังรู้กับการปฏิบัติรู้
รู้ในวิถีสุตตะกับรู้ในวิถีวิปัสสนา
มีลักษณะต่างกันเป็นมุมทแยง

ทักษะอะไรทุกอย่างที่เกิดจากการกระทำที่ช่ำชองย่อมกลายเป็นความสามารถที่น่าตะลึง น่าอัศจรรย์ แม้แต่เรื่องง่ายๆ เช่น การขี่จักรยาน การเล่นกีตาร์ การเล่นยิมนาสติก จะเห็นได้ว่า การฝึกฝนกว่าจะเป็นแต่ละอย่างนั้นต้องผ่านขั้นตอนที่ใช้เวลา และค่าตอบแทนทางร่างกายก่อน การฝึกขี่จักรยาน ใครบ้างฝึกได้โดยไม่เคยล้มเลย ใครบ้างฝึกเล่นกีตาร์โดยไม่เคยแกะหนังนิ้วมือออก ใครบ้างฝึกกายกรรมยิมนาสติกโดยไม่หกล้มบาดเจ็บเลย เพราะกว่าจะเป็นผู้มีทักษะเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ต้องผ่านการทรงตัวให้ได้ ผ่านการยกนิ้วจับคอร์ดไวให้ทัน ผ่านการดีด (spring) ตัวให้ได้ ทักษะเหล่านี้ผู้ฝึกฝนถึงทราบว่ามันยากเพียงไหน ยากอย่างไร ใช้เวลานานเพียงไร

การฝึกฝนทางจิตที่เรียกว่า การปฏิบัติธรรมมีความยากกว่านั้นอีก การฝึกกายเป็นเรื่องทำได้ง่ายกว่าถ้าหากทำถูกวิธี และกระทำติดต่อกัน เห็นผลตามกำหนดเวลาที่เรียน อาจเป็นหนึ่งสัปดาห์บ้าง หนึ่งเดือนบ้าง หรือหนึ่งปีบ้าง แต่การฝึกฝนทางจิตนั้นไม่อาจกำหนดอย่างนั้นได้ เพราะจิตนั้นไม่เคยเชื่อฟังตามที่เคยได้ฝึกมา วันนี้อาจฝึกได้ประมาณเท่านี้ ดูเหมือนมีความก้าวหน้า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะฝึกต่อได้จากวันนี้ไปอีก ก็ต้องมาเริ่มใหม่ ฝึกใหม่ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นก็เพราะจิตเป็นธรรมชาติคิด รับและรู้อารมณ์ เมื่อเกิดมีผัสสะกับอะไร อย่างไรในวันหนึ่งจิตก็จะแสดงอาการอย่างหนึ่งอย่างใดออกไป อาจเป็นทั้งคุณและเป็นทั้งอุปสรรคต่อการฝึกได้ การฝึกจิตจึงเป็นงานที่ยากและละเอียดอ่อนมาก


ที่สำคัญมากไปกว่านั้น การประเมินผลการฝึกจิตไม่ใช่อยู่ที่ต้องการฝึกให้จิตช่ำชองและเชี่ยวชาญในสมาธิตามที่เราเข้าใจ สมาธิตามที่คนทั้งหลายเข้าใจก็คือ ทำให้จิตมีพลัง ทำให้จิตมีอำนาจ ทำให้จิตสงบ ทำให้เกิดความสุข ทำให้ลืมเรื่องราวในชีวิต ทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ นั่นไม่ใช่การฝึกจิตตามแนวพระพุทธศาสนา การฝึกจิตตามแนวพระพุทธศาสนานั้นอยู่ที่ว่า กิเลสลดลงหรือไม่ กิเลสเบาบางไปหรือไม่ กิเลสสะเทือนบ้างหรือไม่ ถ้าจะให้เห็นเป็นกระบวนการปฏิบัติก็คือ สติรู้เท่าทันบ่อเชื่อมต่ออารมณ์ภายนอก บ่อเชื่อมต่ออารมณ์ภายใน ณ จุดกระทบที่เรียกว่า ผัสสะ ได้ทันทีหรือไม่


จุดกระทบนี้เป็นจุดฐานที่ตั้งแห่งวิญญาณ สติได้เข้าไปรู้เท่าทันหรือไม่ ถ้ารู้เท่าทัน ผัสสะก็เป็นสักว่าผัสสะ ฐานที่ตั้งแห่งวิญญาณ ก็เป็นเพียงสักว่าฐานที่ตั้งแห่งวิญญาณ ไม่มีผลสืบต่อไปที่ไหนอีก กล่าวคือ ไม่ส่งผลไปสู่อารมณ์ความรู้สึกอะไรอีก เมื่อสติรู้เท่าทันจุดกระทบเช่นนี้ กิเลสก็ลด กิเลสก็ระงับ กิเลสก็เบาบางลง และสิ้นลงในที่สุดอันเป็นผลมาจากการไม่มีฐานให้กิเลสได้ตั้งอยู่สืบต่อไปนั่นเอง ถ้าสติรู้เท่าทันได้มาก ได้เร็ว ได้นาน ได้ตลอด ก็ย่อมทำให้กิเลสสงบระงับไปคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้เท่านั้น นี่คือผลแห่งการฝึกจิตตามแนวพุทธ

โศลกว่า “ผู้กล่าวธรรมต่างกับผู้ปฏิบัติธรรม” ประเทศไทยของเราจึงมีแต่ผู้ใช้ความรู้สึกวัดผู้อื่น เห็นคนอื่นมีทักษะอะไร ก็กล่าวไปโดยง่ายว่า ตนก็สามารถทำได้อย่างนั้น เห็นใครขี่จักรยานปล่อยมือได้ ก็เข้าใจว่าตนสามารถทำได้อย่างนั้น เห็นคนอื่นเขาเล่นกีตาร์ได้ ก็เข้าใจเอาเองว่าตนเองก็สามารถทำได้อย่างนั้น เห็นคนอื่นพูดภาษาอังกฤษได้ ก็เข้าใจว่าตนเองก็สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ จึงทำให้คนไทยเรามีคนประเภทนี้เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ไม่เว้นแม้กระทั่งในวงการปฏิบัติธรรม ก็เห็นผู้อื่นปฏิบัติธรรม ก็เข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมไม่เห็นยากอะไร ตนก็ทำได้ แค่นั่งสมาธิ บ้างกล่าวว่าไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิด้วยซ้ำ แค่มองเห็นก็เข้าใจว่า ปฏิบัติธรรมแล้ว แน่นอน ถ้าเป็นวาจาที่กล่าวถึงการปฏิบัติธรรมแล้วไม่ยากจริงๆ ด้วยเหตุนี้ คนโดยส่วนมากปฏิบัติธรรมเฉพาะทางวาจา นั่งบรรยาย ยืนบรรยาย กล่าววาจาให้คนสงบ กล่าววาจาให้คนหมดกิเลส กล่าวให้คนระงับความโกรธ กล่าวให้คนมีเมตตา กล่าวให้คนมีความรัก กล่าวให้คนได้ฌาน กล่าวให้คนมีสมาธิ กล่าวให้คนฟังตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงบรรลุธรรม พูดให้เป็นถึงระดับพระอริยบุคคล แต่ทั้งผู้กล่าวและผู้ฟังก็หาได้เคยลิ้มรสแห่งการปฏิบัติตามที่กล่าวนั้นเลย
ดุจดังการอธิบายประเทศสหรัฐอเมริกาให้นักศึกษาในชั้นเรียนในประเทศไทยฟัง โดยที่ทั้งครูและนักศึกษาในห้องก็ไม่เคยได้ไปประเทศสหรัฐเลย พอฟังแล้วก็เข้าใจเอาว่าตนเคยได้ถึงอเมริกาแล้ว เข้าใจอเมริกาแล้ว เคยได้สัมผัสบรรยากาศที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาแล้ว ฉะนั้น


ผู้กล่าวธรรมย่อมพูดได้ ตรองเอาได้ สำคัญเอาได้ ยึดถือเอาได้ด้วยเพียงวาจา แม้กระทั่งกิเลสมาก น้อย ลด เพิ่ม สงบ ระงับ ก็พูดเอาด้วยวาจา วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา อุเบกขา ก็พูดเอาด้วยวาจา นี่จึงแตกต่างกันระหว่างผู้ปฏิบัติธรรมกับผู้เพียงกล่าวธรรม จึงนับเป็นอันตรายที่ต้องเตือน ไม่ใช่เฉพาะกาลปัจจุบันเท่านั้น ในครั้งพุทธกาล พระอานนท์แม้กระทั่งท่านได้บรรลุพระโสดาบันแล้ว ได้ลิ้มรสแห่งธรรมบ้างแล้ว หยั่งรู้และเห็นกระแสแห่งนิพพานบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้อยู่ในแดนแห่งธรรมอย่างสมบูรณ์ ท่านก็เข้าใจว่า การปฏิบัติธรรม (ปฏิจจสมุปบาท) นั้นไม่ใช่เรื่องยากอะไร เป็นเรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องตื้นๆ เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็คงทำได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสเตือนพระอานนท์ว่า




“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม”

เป็นพุทธพจน์ที่พระองค์ทรงแสดง สื่อให้ทราบว่า คำว่า เห็น มิได้เห็นด้วยรูปคือตา เห็นด้วยสัญญาคือความจำ เห็นด้วยสังขารคือปรุงแต่ง เห็นด้วยวิญญาณคือคิดเอา แต่เป็นเห็นด้วยยถาภูตญาณทัสสนะ นั่นคือ ปัญญาญาณ อันเกิดจากการปฏิบัติ เพราะการเห็นเช่นนี้เท่านั้นจึงทำให้กิเลสลดลง กิเลสระงับลง กิเลสหมดสิ้นไปได้จริง
นอกจากนั้น ปัจจุบัน ไม่เพียงแต่นิยมบรรลุธรรมกันทางโวหาร ทางวาจา และการตรองเอาแล้ว ยังชอบบรรลุธรรมกันทางภาษาศาสตร์ โสดาบันคืออะไร สกิทาคามีคืออะไร อนาคามีคืออะไร อรหันต์คืออะไร นิพพานคืออะไร ก็ถกกันให้เห็นถึงรากศัพท์ แยกศัพท์ ตัดต่อศัพท์ สร้างประโยค เห็นถึงรูปประโยค เห็นถึงแก่นภาษา ยกพุทธพจน์มาอ้างกันอย่างเอาจริงเอาจัง บอกได้ด้วยว่า ถ้าจะบรรลุโสดาบันต้องขจัดกิเลสตัวใดได้บ้าง สักกายทิฏฐิเป็นอย่างไร วิจิกิจฉาเป็นอย่างไร สีลพัตตปรามาสเป็นอย่างไร ดุจดังว่า ตนเองเป็นผู้บรรลุธรรมแล้ว เข้าถึงธรรมแล้ว
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ลองไปในสำนักเรียนบาลี เข้าไปในสำนักเรียนอภิธรรม เข้าไปในสำนักปฏิบัติธรรมดู ท่านจะเข้าใจถึงการบรรลุธรรมทางโวหารและทางภาษาศาสตร์กันอย่างมากมาย เพียงแค่แปลไม่ถูกตามหนังสือที่กำหนดก็มีอาการหงุดหงิดทั้งคนสอนและคนเรียน ถ้าจำจำนวนจิตไม่ได้ตามที่ระบุไว้ในหนังสือ ผู้เรียนอภิธรรมก็จะถกเถียงกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียดอย่างไม่มีใครยอมใคร ถ้าคุณลองนั่งที่เจ้าประจำเคยนั่งในสถานปฏิบัติธรรม คุณจะเข้าใจสายตาของผู้บรรลุธรรมแบบโวหารได้ดี
ถ้าหากพระโพธิธรรม (ตั๊กม้อ) มาเยือนประเทศไทยในขณะนี้ ท่านก็คงต้องใช้วิธีเดียวกันกับที่เคยใช้ในประเทศจีน เพราะสถานการณ์ในประวัติศาสตร์ช่างเหมือนกันมาก ไม่ว่าจะเป็นการนิยมสร้างศาลา กุฏิ เจดีย์ วิหาร อุโบสถ นิยมสร้างพระพุทธรูปเช่าบูชา นิยมหล่อรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์ นิยมเช่าบูชาและปล่อยเก็งกำไรเหรียญปลุกเสกพิมพ์ต่างๆ นิยมพิมพ์หนังสือธรรมขาย นิยมทำอัลบั้ม VCD DVD จำหน่ายจ่ายแจก นิยมจับกระแสโลกวัยรุ่น

พระโพธิธรรมเมื่อต้องการจะเผยแผ่ธรรมที่แท้จึงได้เข้าไปสู่ถ้ำแล้วปฏิบัติธรรมให้เห็น จนทำให้ชาวพุทธจีนรับพระพุทธศาสนาแห่งการปฏิบัติ มิใช่แบบโวหาร พระโพธิธรรมอาจแปลกใจก็ได้ถ้ามาในประเทศไทย เพราะผลที่ได้อาจไม่เป็นไปดั่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีน เพราะอาจถูกตั้งข้อหา ปฏิบัติธรรมมากเกินไป ปฏิบัติธรรมเข้าข่ายทุกกรกิริยาตามความเข้าใจแบบภาษาศาสตร์ของคนไทยได้ และจะถูกประท้วง ถูกขับไล่ไปในที่สุด

โศลกว่า “รู้ในวิถีสุตตะกับรู้ในวิถีวิปัสสนา” ในระดับของการรับรู้จนเป็นปัญญาของคนนั้นมีการระดับของการรับรู้ที่เรียกว่า ทางแห่งปัญญานั้นมี ๓ ทาง

ช่องทางที่หนึ่ง ความรู้ที่เรียกว่า ปัญญา นั้นได้มาจากการอ่าน การเห็น การฟัง ปัญญาหรือความรู้ที่ได้ในช่องทางนี้เป็นระดับข้อมูล เป็นระบบการรวบรวมข้อมูล ผู้ใดรวบรวมข้อมูลได้มาก ทรงจำไว้มาก ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่า มีปัญญามาก จึงเรียกว่ามี สุตตมยปัญญา คนที่มีปัญญาในช่องทางนี้ส่วนมาก เป็นพวกนักวิจัย เป็นพวกนักประวัติศาสตร์ เป็นพวกหนอนตำรา นักวิชาการทั้งหลาย พวกนี้จดจำแม่น อ้างเล่ม ข้อ หน้า วัน เดือน ปี ได้แม่น

ช่องทางที่สอง ความรู้ที่เรียกว่า ปัญญา นั้นได้มาจากการคิด พิจารณา การจินตนาการ การนึกมโนภาพ ความรู้ในช่องทางนี้เป็นระดับความคิดแยกแยะข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล ผู้ใดคิดได้รอบคอบ คิดได้เก่ง จินตนาการได้บรรเจิด ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่า มีปัญญามาก จึงเรียกว่า จินตามยปัญญา คนที่มีปัญญาในช่องทางนี้ส่วนมาก ก็คือ นักออกแบบ นักสร้างภาพยนตร์ นักเขียนนิยาย นักศิลปะ นักกวี นักประดิษฐ์ นักเพ้อฝันทั้งหลาย พวกนี้จินตนาการได้อย่างกว้างไกล ไร้ขอบเขต ไอน์สไตน์ชื่นชมคนจำพวกนี้
ช่องทางที่สาม ความรู้ที่เรียกว่า ปัญญา นั้นได้มาจากการเห็นแจ้งตามความเป็นจริง เป็นความลุกโพลงขึ้นจากความเต็มเปี่ยมแห่งสติ ความรู้ในช่องทางนี้เป็นระดับแปรเปลี่ยนฐานจิตจากปุถุชนเป็นกัลยาณชน จากกัลยาณชนเป็นอริยชน ผู้ใดเข้าถึงความเป็นสมมติปรมัตถ์ได้ สลายขันธ์ ธาตุ อายตนะได้ ละความพึงพอใจ ถอนความอยาก ดับอวิชชา สลัดคืนอุปาทาน ผู้นั้นชื่อว่า มีปัญญาตามแนวพุทธ จึงเรียกว่า ภาวนามยปัญญา ผู้ที่มีปัญญาในช่องทางนี้ก็คือ ผู้อยู่เหนือโลก ผู้พ้นจากบ่วงแห่งมาร เป็นอเสขบุคคล พระพุทธศาสนาชื่นชมคนจำพวกนี้

ความรู้ระดับปัญญาญาณนี้เท่านั้นสามารถแปรเปลี่ยนฐานจิตจากคนหนึ่งให้เป็นอีกคนหนึ่งได้ เป็นปัญญาเกิดจากการอบรมภาวนา เป็นความรู้ที่ต่างกันแบบทแยงมุมระหว่างสุตตมยปัญญา และต่างกันคนละมิติกับความรู้แบบจินตามยปัญญา การรู้แบบสุตตะนั้นที่เราเรียกว่า พวกพจนานุกรมเคลื่อนที่ พวก Encyclopedia เคลื่อนที่ ปัจจุบันจึงมีคนเปรียบเทียบว่า พวกนี้ไม่ต่างอะไรกับการได้ Computer แบบพกพาสักเครื่องเท่านั้นเอง ถ้าหากจะจ้างหรือให้เงินเดือนกับคนพวกนี้ก็ให้เท่ากับหรือน้อยกว่า Computer แบบพกพาก็พอ

วิปัสสนาเป็นเครื่องมือในการได้มาซึ่งความรู้หรือปัญญานั้นมา เป็นตบะ เป็นความร้อน เป็นเครื่องเผา เปรียบเทียบกับการกลั่นน้ำมัน น้ำมันเตาหรือน้ำมันดิบก็มีคุณสมบัติคล้ายกับคน คือมีศักยภาพที่จะแปรเปลี่ยนได้ขอเพียงให้มีการกลั่น
เมื่อใช้ความร้อนเผาในโรงกลั่นที่มีองศาประมาณหนึ่ง น้ำมันดิบก็จะแปรเปลี่ยนคุณลักษณะไปเป็นน้ำมันอีกประเภทหนึ่งอาจเรียกว่า น้ำมันยางมะตอย แต่เมื่อเผาด้วยองศามากขึ้นประมาณ ๒๐๐ องศาเชียลเซียส น้ำมันก็จะแปรเป็นน้ำมันก๊าด หากกลั่นด้วยองศาที่มากขึ้นประมาณ ๓๗๐ ก็จะได้น้ำมันดีเซล หากกลั่นด้วยองศาประมาณ ๕๐๐ องศา ก็จะแปรเปลี่ยนเป็นน้ำมันเบนซิน แต่ถ้ากลั่นด้วยองศาที่มากกว่านี้ ก็จะเป็นน้ำมันที่ใช้กับเครื่องบินธรรมดา และถ้ามากขึ้นไปอีกก็จะเป็นน้ำมันเครื่องบินไอพ่น (Aviation Turbine Fuels) ซึ่งมีความบริสุทธิ์สะอาดสูง มีประสิทธิภาพสูง
เช่นเดียวกับคนที่ได้ฝึกวิปัสสนาอันหมายถึงเผาด้วยไฟคือตบะที่มีความร้อนมากขึ้น ฐานจิตก็จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นลำดับ จากปุถุชนก็จะแปรเปลี่ยนเป็นกัลยาณชน จากกัลยาณชนก็จะเป็นอริยชนชั้นต้น ชั้นกลางและชั้นสูงตามลำดับ น้ำมันที่ถูกกลั่นแล้วไม่กลับกลายแปรเปลี่ยนเป็นอย่างเดิมอีกฉันใด บุคคลที่บำเพ็ญวิปัสสนาด้วยไฟตบะแล้วก็ไม่กลับกลายได้ฉะนั้น ขอให้อย่าได้ดูเบาการเผาด้วยไฟแห่งตบะ ด้วยวิธีวิปัสสนา ด้วยภาวนา มีแต่การเผาอย่างนี้เท่านั้นจึงจะเปลี่ยนแปลงได้ ฐานจิตจึงจะเปลี่ยนได้ อัตตาจึงกระเทือนได้

นี่คือ โศลกที่สิบสามแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

1 ความคิดเห็น:

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

My favorite

Now, nothing is better than the Eagle.








ชีวิตบำเพ็ญ


โศลกที่สิบสอง "ชีวิตบำเพ็ญ"

อย่าได้แยกธรรมออกจากภาระหน้าที่
การดำเนินชีวิตคือการเดินตามธรรม
วิถีแห่งพุทธะที่แท้คือการอยู่ในธรรม
จิตจะเข้าถึงธรรมได้
ก็ต่อเมื่อจิตมีแต่เมตตาต่อสรรพสัตว์
การนั่งสมาธิเป็นเพียงการฝึกธรรม

และเป็นการพักผ่อนทางจิตเท่านั้น
ลมหายใจคือธรรม
การกระทำคือธรรม
จิตที่งดงามคือธรรม
ความอ่อนน้อมถ่อมตน
การเอื้อเฟื้อเสียสละ
ชีวิตที่บำเพ็ญ
และรอยยิ้มแห่งเมตตา
นั่นต่างหากที่สื่อถึงธรรม




ความเป็นธรรมดาเป็นเรื่องที่กระทำได้ยาก เนื่องจากอัตตานั้นไม่ต้องการให้มนุษย์อยู่อย่างธรรมดา เพราะเมื่อมนุษย์อยู่อย่างธรรมดา อยู่อย่างธรรมชาติเมื่อใด อัตตาก็ไร้อาภรณ์เมื่อนั้น อัตตาที่ไร้อาภรณ์ตกแต่งเป็นอัตตาที่ไร้อำนาจ ไหนเลยจะยินยอมให้มนุษย์ทำเช่นนั้นได้ อาภรณ์ของอัตตาก็คือเงื่อนไขทั้งหลายในชีวิตนั่นเอง อาหารต้องไม่ธรรมดา เสื้อผ้าต้องไม่ธรรมดา แฟนต้องไม่ธรรมดา เพื่อนต้องไม่ธรรมดา บ้านต้องไม่ธรรมดา การเดินทางต้องไม่ธรรมดา เงื่อนไขเหล่านี้จะทำให้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องจริง เรื่องจริงๆ ต้องไม่ธรรมดา



ความเป็นธรรมชาตินั้นเปลือยเปล่าเกินไป อย่างน้อยต้องเป็นธรรมชาติที่ไม่ธรรมดาจึงจะเป็นธรรมชาติที่แท้จริง ชีวิตของคนตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งความคิด ความดำริและการปรุงแต่ง เงื่อนไขเหล่านี้เองทำให้ชีวิตของมนุษย์มีแต่สิ่งแปลกปลอมเข้ามา อัตตาก็จะใส่ความไม่ธรรมดาเข้าไป อัตตาจะบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่ชีวิตนี้จะเป็นเพียงแค่ชีวิตธรรมดา ต้องไม่ธรรมดา ธรรมชาติธรรมดานั้นคิดทำอะไรไม่ได้ นี่คือเงื่อนไข



ต้องระมัดระวัง ความอยากที่จะเป็น เพราะความอยากที่จะเป็นนี่คือสาเหตุนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมชาติที่ธรรมดา ลองตั้งคำถามดูสิ ชีวิตที่เป็นธรรมชาติธรรมดาเป็นอย่างไร ในที่สุดก็ต้องหาคำตอบ เพราะมีความอยากก็ต้องมีการสนองความอยาก ผู้คนชอบหาคำตอบจากผู้อื่น และดูเหมือนทุกคนก็ชอบที่จะให้คำตอบ เนื่องจากทุกคนต้องการแสดงให้ใครต่อใครเห็นถึงความเป็นผู้ฉลาดของตน ยิ่งแสวงหาก็จะยิ่งไม่พบ เพราะความเป็นธรรมชาติของธรรมดานั้นไม่อาจหาได้ด้วยการนำมาเติมใส่ สิ่งที่เติมใส่นั้นเป็นของปลอมทั้งสิ้น เป็นอาภรณ์ของอัตตาทั้งนั้น


อัตตาจะยิ่งพอใจหากได้คำตอบที่ถูกใจ ยกตัวอย่างเช่น การจะกินอาหารอย่างธรรมดาทำอย่างไร คำตอบของคนไม่ทานอาหารเย็นก็จะบอกว่า ต้องไม่ทานอาหารเย็น คนที่ชอบอาหารเจ ก็บอกว่า ต้องทานอาหารเจบ้าง ต้องมังสะวิรัตบ้าง ต้องจืดๆ บ้าง ซึ่งล้วนแล้วแต่จะได้คำตอบมา ยิ่งคำตอบที่ได้มาจากศาสตราจารย์ ท่านจะได้รับคำตอบที่น่าพอใจกับการทานอาหารที่เป็นธรรมดา เพราะเขาจะสรรหาถ้อยคำที่ไพเราะเพราะพริ้ง เคลิบเคลิ้ม น่าฟัง ทำให้น่าเชื่อว่าอาหารที่เขาบอกนั่นแหละเป็นอาหารที่ธรรมดาที่สุด แท้ที่จริงเพียงแค่การตั้งคำถามก็ทำให้ผิดทางแล้ว เป็นเล่ห์กลของอัตตาต่างหากที่ทำให้คนไม่สามารถอยู่อย่างธรรมดาได้ จึงได้ใส่ความอยากไว้ในความสงสัยเสียตั้งแต่ต้น


อย่าว่าแต่มนุษย์เลย แม้กระทั่งสัตว์ก็สูญเสียความเป็นธรรมชาติไปแล้ว ดังคำที่เรากล่าวกันแบบเสียดสีหมาว่า “เสียหมา” ก็แปลว่า แม้แต่หมาก็ถูกความไม่ธรรมดานี้ครอบงำไปแล้ว หมาเริ่มมีท่าทีฉลาดแกมโกง และเริ่มเป็นหมาการเมืองมากขึ้น ลองไม่ให้มันนั่งในห้องรับแขกเมื่อแขกมาเยี่ยมบ้านคุณสิ มันจะทำหน้าไม่พอใจ แต่ถ้าหากมันทำอย่างนั้นมันจะไม่ได้รับความเห็นใจจากเจ้าของทันที มันจึงเก็บความไม่พอใจไว้ แต่ทำทีเป็นพะเน้าพะนอ กระดิกหาง ทำหน้าเจี๋ยมเปี้ยมใส่คุณ ทำให้คุณยินยอม นี่เริ่มเสียหมาแล้ว ไม่ใช่ธรรมชาติของหมาแล้ว หมาเริ่มเลียนแบบคนแล้ว

มีเรื่องเล่าว่า มีหญิงวัยชราคนหนึ่งชอบนั่งและนอนบนโซฟาตัวโปรดอย่างมาก เธอมักจะนั่งและนอนหลับอยู่ที่โซฟาตัวโปรดนี้เสมอ เธอมีสุนัขอยู่ตัวหนึ่งที่ชอบขึ้นมานั่งที่โซฟาตัวนั้นเมื่อเธอลุกไป เธอรู้สึกเคืองเมื่อมีมันมาครอบครองที่นั่งที่นอนของเธออย่างนั้น แต่เธอก็ไม่กล้าที่จะไปลากมันลงจากโซฟา เธอได้แต่ไปยืนที่หน้าต่างพร้อมกับตะโกนดังๆ ว่า แมวมาแล้วๆๆ สุนัขได้ยินเสียงก็กระโดดลงจากโซฟาวิ่งไปเห่าที่นอกหน้าต่าง อยู่มาวันหนึ่งมันเข้ามาในห้องเห็นหญิงวัยกลางคนนอนโซฟาตัวนั้นอยู่ มันก็ไปยืนที่หน้าต่างแล้วก็เห่าอย่างเอาจริงเอาจังเหมือนดังว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นที่นั่น สตรีวัยกลางคนจึงพรวดลุกขึ้นมาที่หน้าต่าง เจ้าสุนัขก็เดินหลบไปเงียบๆ ขึ้นไปนอนแทนเธอ

เห็นไหมว่าแม้แต่หมาก็เริ่มสูญเสียความเป็นธรรมชาติ มันเริ่มสร้างเงื่อนไขเป็น เริ่มเสริมอาภรณ์แห่งอัตตาของมันเป็น เนื่องจากการเลียนแบบคนนั่นเอง ทุกวันนี้คนได้กลายเป็นคนพลาสติกไปทุกวันแล้ว เป็นคนที่ไม่เป็นธรรมชาติไปเกือบค่อนโลก คนได้เข้าไปอยู่ภายในห้องรวมคนบ้าที่เรียกกันเสียไพเราะว่า “ตลาดหลักทรัพย์”

ไม่ว่าจะเป็น ดาวน์ โจนส์ (Dow Jones) แนสแด็ก (NASDAQ) ฟุตซี่ (FTSE) นิคเคอิ (Nikkei) ล้วนแล้วแต่เป็นที่รวมคนบ้าอยู่ จะเห็นได้ว่าวันๆ หนึ่งพวกนี้จะยกไม้ยกมือกันวุ่นเพื่อแสดงให้เห็นถึงการเล่นหุ้น ซื้อหุ้น ขายหุ้น นั่นคืออาภรณ์ของอัตตาขนานแท้ อัตตาตัวแม่เลยทีเดียว
สิ่งที่เขากระทำกันก็เพื่อเติมแต่งอัตตากันอย่างเอาจริงเอาจัง นั่นคือโรงละครแห่งคนบ้าที่แท้ เขาเหล่านั้นได้สูญเสียความเป็นธรรมชาติของคนไปแล้ว ชีวิตของเขาขึ้นลงไปตามตัวเลขที่ขึ้นๆ ลงๆ อารมณ์ของเขาก็ผันผวนตามดัชนีหุ้นที่ผันผวน สิ่งที่เขาต้องการก็คือตัวเลขที่ขึ้นๆ ลงๆ ชีวิตของเขาก็สูญสิ้นไปตามตัวเลขที่ขึ้นๆ ลงๆ ตัวเลขเหล่านั้นเขาสมมติกันว่าเป็นคุณค่าของชีวิต เป็นความร่ำรวยของชีวิต นี่คือความไม่เป็นธรรมชาติที่ไม่ธรรมดาของชีวิต ชีวิตที่ไม่เป็นธรรมชาติ

โศลกว่า “ลมหายใจคือธรรม” คนทั้งหลายไม่ได้สนใจลมหายใจเข้าออกที่แสดงถึงปราณ ที่แสดงถึงความมีชีวิตอยู่ ลมหายใจนี้หล่อเลี้ยงชีวิตนี้ให้เป็นไป น้อยคนนักจะเฝ้าพิจารณาลมหายใจ ลมหายใจนี่แหละเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องทำอะไร เป็นความบริสุทธิ์ เป็นธรรมดา ธรรมชาติ ชีวิตนี้เป็นธรรมชาติอย่างนี้ ธรรมชาติที่เป็นธรรมของลมหายใจ ผู้ใดเข้าถึงลมหายใจก็เข้าถึงธรรมชาติ ผู้เข้าถึงธรรมชาติก็เข้าถึงลมหายใจ ไม่ต้องมุ่งหวังอาภรณ์ตกแต่งใด เป็นความหมดจด สะอาด ธรรมชาติ ไม่ต้องทำอะไร เพียงแค่หายใจเข้าและออก ชีวิตนี้ก็เต็มเปี่ยมด้วยความเป็นธรรมดา ไม่ต้องคิดให้พิเศษอะไรอีก


ความเป็นพุทธะก็คือการเข้าถึงลมหายใจนี้ บริหารลมหายใจนี้ไปด้วยความบริสุทธิ์ ปราณนี้มีพลังยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่พอจะทำให้อัตตาเหี่ยวแห้งสลายไป ในลมหายใจไม่มีที่ให้อัตตาได้ประดับตกแต่งอาภรณ์ ให้ปรุงแต่ง ให้ประดับประดา ให้ไม่เป็นธรรมชาติได้ง่าย ดังนั้น ลมหายใจนี้จึงเป็นธรรมชาติ ธรรมดา และเป็นธรรมสภาวะ

แน่นอนว่า ในขณะที่หายใจก็เป็นวิถีชีวิต เป็นกิจกรรมของชีวิต เป็นความรับผิดชอบ เป็นภาระหน้าที่ เป็นการดำเนินชีวิต ทุกกิจกรรมที่อยู่ภายใต้ลมหายใจนี้จึงเป็นธรรม ไม่ต้องไปใส่ยี่ห้อว่า ลมหายใจพุทธ ลมหายใจคริสต์ ลมหายใจยิว ลมหายใจอิสลาม ลมหายใจพ่อค้า ลมหายใจประชาชน ลมหายใจนักการเมือง นายก ฝ่ายค้าน รัฐบาล เพราะลมหายใจนั้นเป็นธรรมชาติไม่ประดับประดา ไม่มีอาภรณ์ของอัตตา ผู้เข้าถึงธรรมชาติของลมหายใจย่อมเป็นธรรมชาติเดียวกัน ลมหายใจไม่ได้แบ่งชั้นวรรณะ ลมหายใจไม่มีเล่ห์กล


นักปฏิบัติธรรมหนุ่มผู้หนึ่งต้องการแสวงหาอาจารย์ที่คู่ควรในการเป็นอาจารย์ของตน เพราะอาจารย์ที่พบเห็นทั่วไปนั้นธรรมดาเกินไป เขาจึงแสวงหาอาจารย์ไปทั่วประเทศ ในที่สุดเขาก็พบอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับคนหนึ่ง เขาจึงขอสมัครเป็นศิษย์ศึกษาอยู่ที่นั่น จนแล้วจนรอดเขาไม่เห็นได้รับอะไรที่เรียกว่า พิเศษจากอาจารย์ท่านนี้เลย เขาปรารถนาที่จะได้รับอะไรที่พิเศษๆ จากอาจารย์ จนเวลาผ่านไปเกือบสองปี เขาจึงได้ไปลาอาจารย์ อาจารย์ถามว่า ทำไมไปเสียละ ไม่ศึกษาแล้วหรือ เขาจึงสารภาพว่า รู้สึกผิดหวังที่อยู่ที่นี่เป็นเวลานาน แต่ไม่เห็นได้รับฟังคำสอนอะไรที่พิเศษใดๆ เลย เป็นแต่คำสอนพื้นๆ ทั้งนั้น อาจารย์จึงได้บอกแก่เขาว่า


พุทธศาสนานั้นไม่มีอะไรที่พิเศษ ทุกอย่างมีแต่ความเป็นธรรมดาเท่านั้น ในขณะที่เธอทำความเคารพมา ฉันก็รับความเคารพเธอตอบ เมื่อเธอยื่นน้ำชามา ฉันก็รับน้ำชานั้นไว้ เมื่อเธอหิว ก็ทาน เมื่อเธอง่วง ก็หลับ นี่แหละพุทธปรัชญาหละ

นักปฏิบัติหนุ่มผู้นั้นอุทานออกมาด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า นั่นไง เป็นเพราะมีความนัยแฝงแห่งปรัชญานี้เองจึงทำให้ผมไม่เข้าใจ อาจารย์จึงรีบห้ามทันทีว่า หยุดความคิดว่าเป็นปรัชญาลงเสียบัดนี้ มิฉะนั้นก็จะไม่ใช่คำสอนของพระพุทธศาสนาอีกต่อไป

โศลกว่า “การนั่งสมาธิเป็นเพียงการฝึกธรรม” คนในโลกอดไม่ได้ที่จะตกแต่งลมหายใจให้มีความพิเศษ เกินธรรมดาอยู่เสมอ อัตตาจะไม่ยอมให้คุณเข้าถึงธรรมชาติและความเป็นธรรมดาได้ง่ายๆ แม้กระทั่งในขณะนั่งสมาธิ ก็อดไม่ได้ว่าที่จะเข้าใจว่า นี่แหละที่เรียกว่า “ลมหายใจแห่งธรรม” หมายความว่า หากไม่นั่งสมาธิก็ “ไม่ใช่ลมหายใจแห่งธรรม” ด้วยเหตุนี้คนทั้งหลายจึงเข้าใจผิดว่า ชีวิตที่อยู่ในรูปแบบเท่านั้นที่เรียกว่า ชีวิต ชีวิตที่ไม่อยู่ในรูปแบบนั้นไม่ใช่ชีวิต


ชาวพุทธคือคนที่ระบุตนว่าเป็นพุทธในที่ใดที่หนึ่ง เป็นชาวพุทธในวัด ในขณะที่นั่งสมาธิ ในสำนักปฏิบัติธรรม พอออกจากสถานที่ตรงนั้นหรือสำนักนั้นไปแล้ว ความเป็นชาวพุทธก็หายไป เขาได้แยกลมหายใจออกจากธรรม แยกการดำเนินชีวิตออกจากธรรม แยกความเป็นพุทธออกจากการดำเนินชีวิต แยกภาระหน้าที่ออกจากการปฏิบัติธรรม จึงทำให้ความเป็นพุทธะมีได้ในขณะที่อยู่สถานที่ปฏิบัติธรรมเท่านั้น

แท้จริงการนั่งสมาธินั้นมีนัย ๒ ประการ ก็คือ


หนึ่งเป็นการฝึกฝนให้หยุดประกอบอาภรณ์ให้อัตตา ฝึกฝนให้ปล่อยวาง ฝึกฝนให้เป็นธรรมชาติ เนื่องจากชีวิตไม่ได้เป็นธรรมชาติไปแล้วเพราะธรรมเนียม ประเพณี คำสอน การศึกษา จริยธรรม วัฒนธรรมได้ประดับประดาชีวิตนี้ให้อลังการไปด้วยอาภรณ์ของอัตตา การจะสลัดหลุดจากสิ่งเหล่านั้นต้องฝึกฝน

อีกนัยหนึ่ง การนั่งสมาธิก็เพื่อทำให้จิตได้พักผ่อน จิตที่เคลื่อนไหวไปกับสิ่งที่ปรากฏนับไม่ถ้วน จิตเคลื่อนไหวไปกับอายตนะภายในและอายตนะภายนอก จับเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นฐานที่ตั้งให้วิญญาณเกิดขึ้น การเกิดขึ้นของวิญญาณนั่นแหละคือการทำงานของจิตอย่างไม่เวลาได้พักผ่อน ยิ่งวุ่นมาก ยิ่งกังวลมาก ยิ่งเครียดมาก จิตก็ทำงานมาก จิตเริ่มเป็นโรคแล้ว แม้บางครั้ง ผู้เข้าถึงธรรมแล้ว ชีวิตกับธรรมเป็นสิ่งเดียวกันแล้ว ไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งใดอีกแล้ว แต่การให้จิตพักผ่อนด้วยการนั่งสมาธิก็จำเป็น นั่นเป็นการให้พลังงานต่อจิต การพักผ่อนกายและใจเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ เป็นเงื่อนไขแห่งขันธ์นี้ เรียกว่า การบริหารขันธ์


โศลกว่า “รอยยิ้มแห่งเมตตา” การที่ผู้ใดก็ตามมีธรรมอยู่แต่ในขณะอยู่ในรูปแบบ อยู่ในเครื่องแบบ อยู่ในพิธี อยู่ในสัญลักษณ์ พอพ้นรูปแบบก็ไม่ประกอบด้วยธรรม นั่นแสดงว่า เป็นการหลอกลวงของอัตตาที่ต้องการแสดงถึงความพิเศษขึ้น เพราะแท้ที่จริงชีวิตทั้งชีวิต ลมหายใจทุกลมหายใจต้องประกอบด้วยธรรม สื่อที่แสดงออกแห่งชีวิตที่ประกอบด้วยธรรมคือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเอื้อเฟื้อ เสียสละ รอยยิ้มแห่งเมตตา และสุดท้ายการกระทำทุกการกระทำมีแต่ช่วยเหลือผู้คน นี่แหละที่สื่อถึงชีวิตที่เป็นธรรม เป็นชีวิตที่บำเพ็ญ



ชาวพุทธคนหนึ่ง ได้เข้ามาถามหลวงพ่อในขณะที่บรรยายธรรมให้ฟังว่า อยากจะมาฟังบรรยาย แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะภาระหน้าที่รัดตัวไม่สามารถปลีกตัวมาฟังบรรยายได้ ยิ่งมาเห็นทุกคนนั่งฟังธรรมบรรยายอย่างสงบเรียบร้อยก็ยิ่งอยากจะทำให้ได้อย่างนั้น ดูเหมือนว่าการทำเช่นนั้นเป็นชาวพุทธที่แท้


หลวงพ่อได้ชี้แจงให้ทราบว่า คงมีความเข้าใจผิดเป็นแน่ ธรรมะที่หลวงพ่อบรรยายนั้นไม่ใช่มีเอาไว้เพื่อมาฟังที่วัด แต่เป็นนำไปใช้กับชีวิต ตราบใดที่มีลมหายใจ ตราบใดที่มีชีวิต ตราบใดที่ทำภาระหน้าที่ ตราบนั้นก็ได้ชื่อว่า ปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมมิได้หมายถึงการเข้ามาภายในวัด ชีวิตในวัดกับนอกวัดต้องเป็นอย่างเดียวกัน ถ้าเข้ามาวัดจึงเป็นชาวพุทธ แต่พอออกนอกวัดเป็นชาวพุทธไม่ได้ นั่นแสดงว่ามีอะไรที่ผิดพลาดทางความเข้าใจ



อีกตัวอย่างในพุทธกาล คนรับใช้ของพระนางสามาวดี ชื่อว่า ขุชชุตตราเป็นหญิงสาวพิการหลังค่อม มีหน้าที่จัดหาดอกไม้ จัดซื้อดอกไม้บูชาพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก โดยได้รับค่าชื้อดอกไม้วันละ ๘ กหาปณะ แต่นางเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งหมด ก็ซื้อดอกไม้เพียง ๔ กหาปนะ อีก ๔ กหาปนะ ก็เก็บไว้เสียเท่านี้ก็พอ ชื่อว่าได้ทำแล้วเหมือนกัน การที่แอบเก็บเงินหลวงไว้อย่างนี้ เรียกว่า “บังหลวง” ดังที่เราเปรียบเทียบสมัยปัจจุบัน รัฐมนตรีได้งบประมาณมา ๘๐ ล้านจัดงานวันวิสาขบูชา แต่ไม่ต้องใช้หมด ใช้เพียง ๔๐ ล้านก็พอ นอกนั้นก็เก็บไว้เสีย

อยู่มาวันหนึ่งคนขายดอกไม้ ได้นิมนต์พระพุทธเจ้ามาถวายเพลที่บ้าน คนขายดอกไม้ได้ขอร้องให้นางขุชชุตตราช่วยจัดแจงแต่งภัตตาหารในวันนั้นด้วย หลังภัตตาหารพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้ทราบถึงโทษของการฉ้อราษฎร์ บังหลวง โทษของการทุจริตในหน้าที่ นางพอได้ฟังธรรมนั้นก็บรรลุธรรมด้วยปัญญาอันแจ่มแจ้งของตน

ในวันนั้นนางได้ซื้อดอกไม้กลับไปครบตามจำนวนเงินที่ได้เบิกมา คือ ๘ กหาปนะ ทำให้ได้ดอกไม้มากเป็นพิเศษ พระนางสามาวดีสังเกตเห็นดอกไม้มากจึงได้ถามว่า วันนี้เธอซื้อดอกไม้ ๑๖ กหาปนะหรือ นางขุชชุตตราจึงได้รับสารภาพว่า ที่ผ่านมานั้นนางได้แอบยักยอกเงินไว้ ๔ กหาปนะ แต่วันนี้ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว เห็นโทษของการทุจริต ยักยอกเงิน ไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ แม้ไม่มีใครรู้ใครเห็น แต่ดิฉันก็รู้อยู่แก่ใจเสมอ


พระนางสามาวดีแทนที่จะดุด่าว่ากล่าว แต่กลับบอกให้นางช่วยแสดงธรรมที่นางได้ฟังมานั้นให้ทราบด้วย นางขุชชุตตรามีความเคารพในธรรมของพระพุทธเจ้าขออาบน้ำชำระร่างกายก่อนแสดงธรรม พระนางสามาวดีจึงได้ให้คนช่วยอาบน้ำแต่งตัวให้กับนางอย่างดี จัดที่นั่งให้เหมาะสมที่จะแสดงธรรมให้แก่นาง หลังจากฟังธรรมแล้ว พระนางสามาวดีและบริวารอีกมากได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
การปฏิบัติธรรมนั้นต้องปฏิบัติธรรมทุกลมหายใจ ชีวิตนี้ต้องเป็นธรรม ไม่มีช่องว่างระหว่างชาวพุทธกับสถานที่ เพราะความเป็นชาวพุทธนั้นมิได้เป็นความพิเศษใด แต่คือความเป็นคนธรรมดาที่ธรรมชาติที่สุด มีจิตใจที่งดงาม มีความเอื้ออารี มีความเย็นภายในจิตเสมอ ความเป็นธรรมชาตินี้ต้องได้รับการฝึกฝน เพราะถ้าไม่ฝึก อัตตาก็ไม่ปล่อยให้เป็นไปได้
นี่คือ โศลกที่สิบสองแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

ไม่มีความคิดเห็น:
บทความที่ใหม่กว่า บทความที่เก่ากว่า หน้าแรก