วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552

ปรัชญาการศึกษาโลกาภิวัฒน์





ดร.สุวิญ รักสัตย์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย


“โลภาภิวัฒน์” คือ อะไร การศึกษาที่เหมาะสมกับโลกแห่งความอภิวัฒน์นั้นควรเป็นอย่างไร เราควรทำความเข้าใจในคำทั้งสองนี้ให้กระจ่างชัดเพื่อที่จะได้ตั้งหลักให้ถูกต้อง จะได้ไม่หลงทางและเป็นการศึกษาที่ยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขอันยั่งยืน ฉบับก่อนเราได้แสดงให้เห็นถึงความผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวไปของการศึกษา ความบิดเบี้ยวนี้เกิดจากความไม่สมดุลของการเน้นไปข้างใดข้างหนึ่งทำให้เกิดความไม่สมดุล หากเน้นไปทางกาย ก็จะกลายเป็นบริโภคนิยม (Consumerism) คือ ถือทุกสิ่งเป็นเพียงสิ่งที่ต้องบริโภคเพื่อสนองเนื้อหนังมังสา สนองผัสสะทั้งห้า แม้แต่มนุษย์ด้วยกันเองก็กลายเป็นเพียงสิ่งสนองเท่านั้นไม่มีความหมายมากไปกว่านั้น แต่หากเน้นไปทางจิต (Idealism) ก็จะทำให้ละเลยความสำคัญทางกาย ถือเรื่องของกายเป็นเรื่องหยาบช้า ต่ำ เกิดการเหยียดหยาม ถือการสนองจิตวิญญาณเป็นเรื่องใหญ่ สิ่งสนองจิตวิญญาณก็คือ ทิฏฐิที่หยาบ แข็งกระด้าง นำไปสู่การล้มล้าง

“ความสมดุล” จึงกลายมาเป็นปรัชญาที่เหมาะกับโลกาภิวัฒน์ (Globalization Flow) แต่ความสมดุลมิใช่เรื่องที่จะปฏิบัติได้ง่าย เพราะมีองค์ประกอบจำนวนมากที่จะต้องรอบรู้ จึงกลายเป็นว่า การจะเข้าถึงปรัชญาความสมดุล (Middlelogy) ได้ต้องอาศัยเครื่องมือเพียงหนึ่งเดียวคือ ความรอบรู้ อันเกิดจากการพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) อันเป็นผลมาจากสัมมาปัญญา (Right Wisdom)

ความรอบด้านของทุกเรื่องโดยมากก็สรุปรวมอยู่ ๔ มิติ ได้แก่
๑. มิติมืด (Negative Dimension)
๒. มิติสว่าง (Positive Dimension)
๓. มิติเกือบมืด (Trend Negative Dimension)
๔. มิติเกือบสว่าง (Trend Positive Dimension)

ทุกเรื่องราวล้วนอยู่ในมิติทั้ง ๔ นี้ เมื่อจะมองอะไรก็ขอให้พิจารณาว่า สิ่งนั้นมีมิติใดและกำลังโน้มเอียงไปสู่มิติใด หลักการที่สามารถนำมาประกอบการพิจารณาในความโน้มเอียงนี้มีหลักดังนี้ การปฏิบัติหรือการคิดหรือสิ่งใดนำไปสู่ความไม่ลุ่มหลง ไม่มัวเมา ไม่ผูกมัด ไม่ละโมบ ไม่หยิ่งผยอง รู้จักเพียงพอ รู้จักประมาณ เพิ่มฉันทะ มีอิสระ ให้ถือว่า เป็นมิติสว่าง ให้ดำเนินการต่อไป สิ่งใดตรงกันข้ามคือ มิติมืด ให้ลด ละ เลิก หากทำได้ไม่ครบก็ค่อนข้างสว่าง และค่อนข้างมืด

ปรัชญาการศึกษาที่เหมาะสมกับโลกยุคโลกาภิวัตน์ต้องคำนึงถึงจุดสมดุลให้มาก และพยายามใช้วิจารณญาณให้มาก โลกยุคโลกาภิวัตน์เป็นยุคที่มีความไวสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันโดยการฉีดวัคซีน PHC (Proper Hermeneutic Contemplation) ได้แก่ การพิจารณาแยกแยะโดยแยบคายให้ทราบระดับมิติและจุดมุ่งหมายในข้อความ โดยตรวจทานกับหลักการที่นำไปสู่มิติดังกล่าวแล้ว เลือกปฏิบัติ หาทฤษฎีเสริมสร้างในมิติที่พึงประสงค์

ปรัชญาแห่งความสมดุลนี้ เป็นปรัชญาที่เหมาะสำหรับโลกยุคใหม่ และอยากจะบอกต่อไปว่า ความสมดุล มีถ้อยคำเรียกที่เหมือนกันอยู่หลายคำ ได้แก่ สายกลาง พอเพียง เหมาะสม พอดี ได้สัดส่วน พอประมาณ เป็นต้น หวังว่า ผู้ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศจะร่วมกันผลักดันปรัชญาการศึกษาแนวนี้ให้เป็นที่ประจักษ์ และเข้มแข็ง ไม่เพียงแต่จะช่วยให้คนในประเทศเข้มแข็งอย่างมีทิศทางเท่านั้น แต่ยังเป็นการศึกษาที่ตั้งอยู่บนปัญญาสากล (Universal Knowledge Based Education) เพียงหนทางนี้เท่านั้นที่จะทำให้การศึกษาไทยอยู่รอด และโลกก็อยู่รอด



(อ่านในหนังสือพิมพ์เพื่อนครู)

ไม่มีความคิดเห็น: