วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ปัญหาภาษา






โศลกที่สิบเอ็ด ปัญหาภาษา
เนื้อหาในภาษาหนึ่งใด
ย่อมมีระดับความลึกซึ้งแคบกว้างต่างกัน
ดังคำ ย่อมศึกษา (สิกขติ) ในเชิงปฏิบัติ
มิใช่เรียนรู้ สั่งสมข้อมูลตามโลกเข้าใจ
แต่เป็นการพิจารณาด้วยสติ
รู้ตัวทั่วพร้อม เห็นแจ้งทั่วถึง
น้อมใจประคอง ตั้งมั่นรู้ยิ่งรู้ชัดหยั่งรู้ (ญาณ)
อีกทั้งต้องผ่านขั้นกำหนดรู้ (ปชานาติ) ก่อน
สิกขติอยู่ในบริบทเหลือแต่ลมหายใจ
บริบทลมหายใจแผ่วเบาและสงบระงับ
เป็นต้นไปจวบจนถึงการปล่อยวาง


สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่สุดสำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั่นก็คือการสื่อสาร สิ่งที่รู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องการถ่ายทอดออกไปให้ใครๆ ได้รับรู้ แต่สื่อที่จะส่งไปให้เขาผู้นั้นเข้าใจได้ตามที่ตนต้องการทุกความรู้สึกที่มีอยู่ภายในนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ ภาษาที่มีอยู่ ที่ใช้อยู่ในเผ่าพันธุ์ของคนจำกัดเหลือเกินที่จะแสดงความรู้สึกนั้นให้ผู้อื่นเข้าใจได้อย่างหมดจด แจ่มแจ้งทุกแง่มุม ทุกความรู้สึกที่มีอยู่ภายในตน


ระบบภาษาเป็นกฎเกณฑ์ เป็นกรอบแห่งคำและเสียงที่สมมติขึ้นเรียกปรากฏการณ์ อารมณ์ ความรู้สึกของคนในเผ่าของตน เฉพาะเผ่าเดียวกันฟังภาษาเดียวกันก็ยากพอแล้วที่จะเข้าใจทุกเจตจำนงที่ต้องการแสดงให้ผู้อื่นทราบ ไม่ต้องพูดถึงหากมีการนำภาษาของเผ่าพันธุ์หนึ่งไปใช้กับอีกเผ่าพันธุ์หนึ่งให้เข้าใจอย่างที่ความรู้สึกของเผ่าพันธุ์ตนเข้าใจ เป็นเรื่องยากจริงๆ กล่าวได้แต่ว่าให้ทำใจไว้ ความเข้าใจในภาษานั้นลดลงประมาณ ๑๕ เปอร์เซ็นต์


เช่นคำว่า ศาสนา โลกใช้คำภาษาอังกฤษว่า Religion ผู้ที่เป็นเจ้าของภาษาที่ใช้คำนี้ต่างเข้าใจไปตามฐานแห่งบริบทวัฒนธรรมของตนของตน ซึ่งไม่ตรงกับความเข้าใจเดียวกัน แม้จะอธิบายให้ทราบได้ว่า สมมติให้เรียกความเชื่อของใครของมันทั้งระบบ แต่เมื่อฟังคำนี้ระบบความเข้าใจที่เป็นรากเหง้าของตนก็จะแสดงความรู้สึกอย่างนั้นออกมา หากมีใครแสดงไปในทางอื่นตามรากเหง้าของเขาเอง ก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้นมาทันทีว่า Religion ไม่ใช่หมายความอย่างนั้น

ในพระพุทธศาสนา คำว่า “ศาสนา” มีความหมายว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ทางตะวันตก เจ้าของคำว่าว่า “Religion” หมายถึง วิวรณ์ที่ได้รับจากพระเจ้า แล้วอย่างนี้จะให้ความเข้าใจของคนสองเผ่านี้เข้าใจกันและกันที่ตรงกันภายในระบบความเชื่อของตนได้อย่างไร


ปัญหาที่ยากเข้าไปอีกระดับหนึ่งก็คือ ระบบภาษาเป็นความคุ้นเคยของเผ่าพันธุ์ที่ตนได้ผลิตคำขึ้นมาใช้ เป็นคำที่เป็นเสียงก่อน ก่อนที่จะกำหนดเป็นสัญลักษณ์ (อักษร) ขึ้นมาแทนเสียงที่พูดกัน อักขระที่ใช้กันนั้นก็จำกัดเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ทุกคนถูกกรอบแห่งอักขระนี้บังคับให้พูดตามที่ภาษากำหนด พูดเกินหรือน้อยกว่านั้นก็ไม่ได้ พูดสั้นหรือพูดยาวกว่านั้นก็ไม่ได้ สุดท้ายแล้วกรอบแห่งระบบอักขระที่เรียกกันว่า ภาษา นี้ก็บอนไซคนให้สื่อสารได้เพียงเท่าที่อักขระที่รัฐกำหนดไว้เท่านั้น ไว้อย่างนั้น เท่านั้นเอง มีหรือที่เราจะพูดหรือคิดได้นอกเหนือไปจากภาษาที่กำหนดไว้ ลองทำดูได้ เพราะเราไม่สามารถคิดได้เกินเลยจากระบบภาษาที่เขาระบุให้พูด (สังกัป) นี่คือการบอนไซคนไว้ให้อยู่แต่ภายในกรอบภาษาเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เมื่อมีใครก็ตามทำตามระบบภาษานี้อย่างเคร่งครัด ฝึกตามเกณฑ์ภาษาอย่างถูกต้อง ถ่ายทอดตามเกณฑ์ภาษาได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ยึดมั่นในกฎเหล็กแห่งภาษาได้อย่างสมบูรณ์แบบ เขาผู้นั้นจะได้รับการยกย่องว่ามีความรู้ ฉลาด เป็นอัจฉริยะ เมื่อมองอีกแง่มุมหนึ่งเขาคือคนบอนไซที่ถูกตัด ถูกดัด ถูกตอน ถูกกระถางครอบได้อย่างไม่มีที่ติเท่านั้นเอง



ปัญหาที่ยากเข้าไปอีกระดับหนึ่งของภาษาก็คือ "การตีความ" แม้แต่เป็นคำของเผ่าพันธุ์เดียวกันซึ่งน่าจะเข้าใจกันได้ไม่ยาก แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะมีการตีความคำนั้นไปคนละอย่างตามความรู้สึก โดยเฉพาะความรู้สึกของชายหญิง ซึ่งมักตรงกันข้ามกับคำที่พูดออกไป ตามฐานแห่งความรู้และตามฐานแห่งศาสตร์ของคำ ปัจจุบันจึงมีคำว่า “วาทกรรม” ขึ้น วาทกรรมนี้เป็นองค์ความรู้ของคนที่ใช้ จะตื้นลึกแคบกว้างก็อยู่ที่ฐานข้อมูลที่มีอยู่ในตนของบุคคลผู้นั้น เช่น คำว่า ความตาย วาทกรรมของนักกฎหมาย ของตำรวจ ของแพทย์ ของนักสังคมสงเคราะห์ ของนักการศาสนา ของนักธุรกิจ ของนักจริยธรรม ของนักปกครอง นักภาษา ล้วนมองความตายไปคนละแง่มุม ทั้งที่เป็นภาษาเดียวกันและเผ่าพันธุ์เดียวกัน

ความตายของนักกฎหมายมองความตายเป็นมาตราตามกฎหมายอาญา ความตายของตำรวจมองไปที่ความเป็นอาชญากรรมหรือไม่ มีอะไรซ่อนเงื่อนอยู่ตรงนั้น นักธุรกิจมองความตายว่าเป็นการสูญเสียทางทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลคือคนที่ตาย และทรัพย์สินที่ต้องใช้ไปกับคนที่ต้องตาย นักการศาสนา มองความตายเป็นการสิ้นอายุ สิ้นบุญ สิ้นอายุและบุญ กรรมมาตัดรอน มองเห็นเป็นบาปบุญ นรกสวรรค์ นี่เป็นการตีความไปตามวาทกรรมของคนที่มีฐานใดก็ตีความไปตามบริบทของฐานนั้น สำหรับนักภาษาก็จะมองความตายอยู่ที่อักขระที่ใช้เรียกอาการและฐานะของคนตาย ไม่ว่าจะเป็นการเห็นเป็นภาษาว่า ตาย สิ้นลม อาสัญกรรม ทิวงคต มรณภาพ สวรรคต เป็นต้น การตีความเหล่านี้ถ้าหากไม่เข้าใจวาทกรรมของกันและกันตามฐานของบุคคลที่พูดก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้นเพราะมองคนละมุม คนละสังกัปแห่งวาทกรรม



ปัญหาความยากของภาษามีอีกชั้นหนึ่งก็คือ ความก้าวกระโดดระหว่างภาษาที่เกิดขึ้นกับสังคมที่เจริญเติบโตขึ้นโดยเฉพาะเครื่องมือถ่ายทอดภาษา ได้แก่ สื่ออิเลคโทรนิคและโลกไซเบอร์ทั้งหลาย เครื่องมือเหล่านี้ใช้ภาษาของตน ทำให้ภาษาที่เข้าใจกันแต่เดิมสำหรับคนยุคเดิมกับคนยุคใหม่มีความเหลื่อมล้ำ คนละมิติ ไม่ไปด้วยกัน จึงมีคนในครอบครัวระหว่างพ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่เข้าใจลูกหลาน ลูกหลานก็ไม่เข้าใจพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เนื่องจากสังกัปของภาษาเป็นคนละระบบ ระบบหนึ่งเป็นระบบแบบ Analog ส่วนระบบหนึ่งเป็นแบบ Digital อีกระบบหนึ่งเป็นแบบ 3G


ความเข้าใจภาษาของแต่ละระบบนั้นต่างกัน มีความลึกซึ้งต่างกัน มีแง่มุมที่ถ่ายทอดความรู้สึกต่างกัน ก่อนนั้นรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายต้องหนังสือเงียบๆ คนเดียวจะได้มีสมาธิจดจำได้ง่าย บัดนี้เด็กอ่านหนังสือเงียบๆ ไม่ได้ อ่านไปด้วยต้องเปิดทีวีไปด้วย ปัจจุบันอ่านไปด้วย ต้องเปิดทีวีไปด้วย Chat ไปด้วย และบางครั้งต้องคุยโทรศัพท์ไปด้วย โลก Digital ต้องทำพร้อมกันหลายระบบได้ ทำระบบเดียวทำให้เสียโอกาสและเวลา ดังนั้นภาษาโลก Analog และ Digital จึงไม่สามารถเข้าใจกันตามที่คนพูดและคนฟังจะรับรู้ได้ทุกความรู้สึก ทุกแง่มุมและสมบูรณ์ตามเนื้อหาและบริบทที่ต้องการสื่อได้



โศลกว่า “ดังคำ ย่อมศึกษา (สิกขติ) ในเชิงปฏิบัติ” ภาษาแห่งการปฏิบัตินั้นเป็นภาษาที่ไร้กฎเกณฑ์ของระบบภาษาศาสตร์ที่โลกสมมติขึ้นใช้ คำว่า ศึกษาของชาวโลกนั้นเป็นเพียงระดับปริยัติ แต่ศึกษาในที่นี้เป็นภาษาของโลกประสบการณ์ โลกแห่งการปฏิบัติ โลกประสบการณ์นี้ไม่จำเป็นที่ใครๆ ต้องมาเรียนภาษาของกันและกัน
ถ้าหากเป็นคนด้วยกันก็ย่อมเข้าใจภาษาประสบการณ์ของกันและกันได้ เป็นภาษาแห่งความรู้สึกภายใน เสียงแห่งความทุกข์ เสียงแห่งความสุข เสียงแห่งความยินดี เสียงแห่งความโกรธ เสียงแห่งความรัก เสียงแห่งความขบขัน หัวเราะ ล้วนแล้วแต่รับรู้ของกันและกันได้ภายในความรู้สึกของตนทันที เป็นภาษาที่ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ทางอักขระไวยากรณ์มากำกับ ไม่ต้องเป็นไปตามฐานวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ ไม่ต้องมีวาทกรรม ภาษาแห่งการปฏิบัติมุ่งหมายไปที่ความรู้สึกแห่งประสบการณ์ของตนของตน

อุปสรรคของการปฏิบัติก็คือการนำภาษาแห่งโลกบัญญัติที่รวบรวมข้อมูลไว้ในระบบความจำมาใช้ โดยแบ่งความคิดไว้กับภาษาเหล่านั้น ความสุข ปีติ อุเบกขา ทุกขเวทนา ความรัก ไม่มีภาษาที่บ่งบอกแสดงความรู้สึกนั้นได้ อักษรที่เขียนลงไปก็ไม่ได้บ่งบอกถึงความรัก เพราะยิ่งบ่งบอกอธิบายความรักออกเป็นภาษาให้คนรู้ได้ ความรักนั้นก็ไม่ใช่ความรักที่มีในความรู้สึกอีก แต่เป็นแค่เมนูความรักเท่านั้นเอง เพราะความรักนั้นเป็นรสแห่งประสบการณ์ มิใช่เมนูที่เขียนไว้

เราไม่อาจแสดงรสหวานออกมาเป็นตัวอักษรได้ แต่ทุกคนรู้จักความหวานว่ามีรสอย่างไร ในการปฏิบัติมุ่งเน้นไปที่ประสบการณ์นั้น ถ้าใครนำประสบการณ์นั้นแปลงเป็นภาษาอีกละก็นั่นแหละคืออุปสรรคหละ จะเห็นได้ว่าคนในยุคนี้พยายามอ่านแต่เมนูความรักเท่านั้น ไม่ได้มีประสบการณ์แห่งความรัก


คนที่อ่านเมนูความรักเสียจนขึ้นใจก็เข้าใจว่าตนมีความรักแล้ว เหมือนกับคนอ่านวิธีทำอาหารเสียจนขึ้นใจ ก็เข้าใจว่า ตนเป็นพ่อครัวไปทันทีอย่างนั้น เหมือนกับนักศึกษาเรียนวิธีทำนาในคอมพิวเตอร์แยกแยะกระบวนการทำนาได้อย่างช่ำชอง ก็นึกว่าตนเป็นชาวนาไปแล้วฉะนั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สังคมเป็นสังคมที่เขาเรียกว่า สังคมเรียนแบบความจริง (Hyper Reality Society) แต่มิใช่เป็นประสบการณ์จริง
div>
ย่อมศึกษาว่า ลมหายใจเข้าออกสั้นหรือยาว จึงเป็นคำที่ลึกซึ้งบ่งบอกถึงประสบการณ์ที่ชัดเจนในความรู้สึก ดังกับคนรักที่มีความรักอย่างล้ำลึก บอกออกมาเป็นถ้อยคำไม่ได้ ย่อมศึกษาในที่นี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นความรู้ตัวทั่วพร้อม เห็นแจ้งทั่วถึง น้อมใจประคอง ตั้งมั่นรู้ยิ่ง รู้ชัด หยั่งรู้ (ญาณ) ในลมหายใจนั้น ย่อมศึกษาคำเดียวประกอบพร้อมด้วยสำรวมระวัง ความตั้งมั่นและความรู้แจ้งอยู่ภายในคำนั้นแล้วใช้คำแห่งประสบการณ์นั้นตระหนักรู้ลมหายใจเข้าออกสั้นยาวที่บางเบา สงบระงับ
จะเห็นได้ว่า คำว่าศึกษา ในความหมายเชิงปฏิบัตินั้นไม่ใช่ศึกษาตามความหมายที่โลกภายนอกใช้ แต่เป็นความหมายแห่งประสบการณ์ภายใน ประสบการณ์แห่งการศึกษาภายในนี้เป็นโลกที่ไร้ขอบเขต ไร้การบอนไซ ไร้ไวยากรณ์ภาษา ไร้ข้อมูล ไร้การตีความ แต่เป็นประสบการณ์อย่างเดียว


ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนพระเถระที่ทรงภูมิความรู้ในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าเป็นเพียง “พระใบลานเปล่า” เพราะการรวบรวมข้อมูลไว้ในความทรงจำมาก แทนที่จะได้รับประทานอาหารจริงๆ แต่กลับหลงไปอ่านเมนูอาหารด้วยเข้าใจว่า รับประทานอาหารเข้าไปแล้ว ไม่ว่าไปที่ไหนก็ไปอ่านเมนูอาหารให้ผู้อื่นฟัง แม้กระทั่งในอยู่ในภายการปฏิบัติก็ยังอดไม่ได้ที่จะอ่านเมนูอาหาร เป็นเพียงการใช้ปริยัติในการปฏิบัติเท่านั้น กล่าวคือ ไปปฏิบัติธรรมด้วยการท่องตำราในความคิดเท่านั้น นี่เองจึงเป็นอุปสรรคในการบรรลุผลแห่งการปฏิบัติที่แท้จริง

เปรียบเหมือนการฝึกว่ายน้ำ ในการฝึกว่ายน้ำนั้นคือการลงไปว่ายน้ำ มีแต่น้ำกับการว่าย ไม่มีตัวหนังสือว่าด้วยเรื่องการฝึกว่ายน้ำ ใครที่มาคำนึงถึงตัวหนังสือว่ายน้ำที่เป็นปริยัติอยู่ในขณะว่ายน้ำ ทำให้การว่ายน้ำนั้นไม่ถูกต้อง ไม่มีพลัง ไม่มีความก้าวหน้า สุดท้ายก็จมน้ำ การว่ายน้ำเป็นประสบการณ์ที่ใช้แรงทุกส่วนของร่างกายเข้าไปว่ายน้ำ มีความเหนื่อยปรากฏ มีพลังงานปรากฏ สติกับแรงกายใช้ไปกับการว่ายน้ำ ยกเว้นความคิดว่ายน้ำ เมื่อใดที่ใช้ความคิดว่ายน้ำท่านกำลังจะจม


โศลกว่า “อีกทั้งต้องผ่านขั้นกำหนดรู้ (ปชานาติ) ก่อน” แน่นอนว่า ไม่ว่าจะทำอะไรจะต้องเข้าใจในเรื่องนั้นๆ เสียก่อน เพราะความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ทำให้มีทิศทางและความถูกต้องในเรื่องนั้น ไม่เว้นแม้กระทั่งการกำหนดรู้ลมหายใจ การกำหนดรู้ลมหายใจเป็นขั้นตอนของการทำความเข้าใจ เป็นเรื่องของการนำแนวคิดมาประกอบ เมื่อหายใจยาวก็รู้ว่ายาว เมื่อหายใจสั้นก็รู้ว่าสั้น เป็นเพียงขั้นตอนของการทำความเข้าใจรู้ในความสั้นยาวของลมหายใจเข้าออก

แม้ว่าจะเป็นการกระโดดลงไปว่ายน้ำแล้ว แม้ว่าจะนั่งขัดสมาธิแล้ว แต่เบื้องต้นต้องทำความคุ้นเคยกับน้ำและร่างกายก่อน น้ำและร่างกายเริ่มสัมผัสสัมพันธ์กันได้แล้ว กายกับใจเริ่มสัมผัสสัมพันธ์กันได้แล้ว ขั้นต่อไปนี้ต้องสลัดความเข้าใจระหว่างน้ำกับกายเสีย แต่ให้เป็นการว่ายกับสติที่กำกับการว่ายเท่านั้น เช่นเดียวกับการมีสติกับลมหายใจ (กาย) เท่านั้น อย่าให้ความคิดเข้ามาแทรกไม่ว่าจะเป็นการว่ายหรือการฝึกปฏิบัติธรรม ขั้นตอนนี้เองจึงเป็นภาระหน้าที่ของการศึกษา (สิกขติ) ไม่ใช่กำหนดรู้ (ปชานาติ)

โศลกว่า “บริบทลมหายใจแผ่วเบาและสงบระงับ” ประสบการณ์ของการปฏิบัติธรรมย่อมเป็นเช่นเดียวกันสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ประสบการณ์ของลมหายใจที่ผ่านขั้นตอนของการกำหนดรู้มาชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว ภาษาอาจเรียกว่า วิตก วิจาร ก็แล้วแต่ แต่ประสบการณ์ของทุกคนที่อยู่ในสภาวะนี้ล้วนแล้วแต่เข้าใจเหมือนกัน เช่นเดียวกัน ดุจดังคนที่มีความรักและเข้าใจความรัก คนที่ทานน้ำผึ้ง ลิ้มรสน้ำผึ้ง ก็ย่อมเข้าใจคนทานน้ำผึ้ง จะเรียกว่าหวานหรือไม่ ไม่สำคัญอีกต่อไป แต่เป็นประสบการณ์ของรสน้ำผึ้งเช่นเดียวกัน



ขณะนี้เป็นขณะแห่งความแผ่วเบาของลมหายใจ ความแผ่วเบานี้เป็นประสบการณ์ที่รับรู้ร่วมกันของผู้ปฏิบัติ ไม่มีคำร้องเรียก รสของความแผ่วเบานี้เป็นความเย็น (สัพพกายปฏิสังเวที) ดุจดังรสของความรักของคนรักคือความดื่มด่ำ เป็นประสบการณ์เช่นนั้น ไม่มีคำร้องเรียกได้ถูกต้อง เมื่อใดก็ตามความแผ่วเบาเข้าถึงแดนแห่งความสงบระงับลมหายใจ ไม่ใช่ไม่หายใจแต่เป็นญาณที่เข้าไปสลายลมหายใจซึ่งเป็นรูปให้เหลือแต่เพียงความว่างเท่านั้น เมื่อนั้นคำว่าลมหายใจก็หายไป เหลือแต่ความว่าง รสแห่งความว่างนี้เป็นประสบการณ์แห่งความสงบเย็น (ปัสสัมภยัง กายสังขาร) มีแต่ความว่างเข้าออก เป็นสติที่รู้อัสสาสะ ปัสสาสะเท่านั้น เพราะกายสังขารคือความเป็นลมหายใจได้สงบระงับไปแล้ว

คำที่ใช้ในภาษาไทยที่แปลคำว่า “ปัสสัมภยัง” ยังหาคำที่ตรงกับประสบการณ์ที่ปรากฏในการปฏิบัติแห่งขั้นตอนนี้ไม่ได้ ไม่ครอบคลุมสภาวะนี้ ก็ได้แต่เรียกว่า สงบระงับบ้าง รำงับบ้าง สงบเย็นบ้าง ก็เท่านั้นเอง ดุจดังการเรียกว่า “ลดความเปรี้ยว”



ไม่รู้จะบอกอย่างไร เพราะเป็นภาษาแห่งความรู้สึกที่อยู่ภายใน ภาษาเป็นสังกัปคือความคิดที่แสดงออกมาภายนอก แต่เมื่อเป็นความรู้สึกภายในไม่มีภาษา ยิ่งเป็นเมื่อนำมาใส่เป็นภาษาของอีกเผ่าพันธุ์หนึ่ง ของอีกระบบภาษาหนึ่งก็ยิ่งไม่ตรงกับภาษาเดิม แม้แต่ภาษาเดิมก็ยังไม่ใช่ตัวความรู้สึกนั้นที่เรียกขณะนี้ว่า ปัสสัมภยัง กายสังขารัง เป็นอย่างไร

มีแต่ทดลองปฏิบัติตามให้ถึงขั้นนั้นเท่านั้นจึงจะกระจ่างแจ้ง ไม่ต้องพูดอีก ไม่ต้องอธิบายอีก ไม่ต้องตีความอีก ไม่ต้องสงสัยอีกต่อไป

นี่คือ โศลกที่สิบเอ็ดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา