วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การตีความตามกระบวนทัศน์

การตีความเป็นศาสตร์ที่กำลังได้รับความสนใจในยุคปัจจุบัน กล่าวกันว่า ที่โลกมีความสับสนและยุ่งเหยิงอยู่ในขณะนี้ก็เพราะไม่เข้าใจในเรื่องเดียวกัน บางครั้งเป็นความเข้าใจคนละด้าน บางครั้งเป็นฐานความเข้าใจคนละฐานจึงไม่สามารถมาบรรจบกันได้ ดังนั้นการตีความจึงเป็นศาสตร์ (hermeneutics) ที่มีการศึกษากันในระดับอุดมศึกษา

(กล้วยเสาเอก บ้านบำเพ็ญ)


ในที่นี้ลองมาศึกษาการตีความตามกระบวนทัศน์ (Paradigm) ของแต่ละยุคดูบ้าง

ก่อนอื่นต้องแสดงให้ทราบก่อนว่า ยุคตามกระบวนทัศน์ทางปรัชญานั้น แสดงไว้ ๕ กระบวนทัศน์ คือ

๑. กระบวนทัศน์แบบดึกดำบรรพ์ กระบวนทัศน์ในยุคนี้นั้น มองเห็นความที่โลกไม่มีกฎเกณฑ์ การเกิดสิ่งใดขึ้นก็จะคิดว่า สิ่งนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ สิ่งที่จะช่วยได้ก็เพียงแต่บนบานมิให้สิ่งลี้ลับเหล่านั้นเกิดขึ้นเป็นภัยแก่ตนเท่านั้น หากยังมีสิ่งที่เป็นภัยแก่ตนอยู่ก็คิดว่า เป็นเพราะตนยังไม่สามารถทำให้อำนาจลี้ลับนั้นพอใจ

๒. กระบวนทัศน์แบบโบราณ กระบวนทัศน์ในยุคนี้เชื่อว่า โลกมีกฏเกณฑ์ แต่เทพทั้งหลายเป็นผู้รู้กฎเกณฑ์และเป็นผู้ควบคุมกฏเกณฑ์เหล่านั้น แนวทางปฏิบัติที่มนุษย์จะพึงทำได้มี ๒ แนวทาง คือ ๑) อ้อนวอนขอให้เทพเจ้าให้พร และขออย่าให้ท่านลงโทษ ๒) ปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงกฎเกณฑ์นั้นเสียเอง

๓. กระบวนทัศน์ยุคกลาง กระบวนทัศน์ในยุคนี้เชื่อว่า การจะถึงความสุขได้ก็เมื่อได้ปฏิบัติตนตามคำสอนของศาสดา ปฏิบัติตนเป็นนักบวช การใช้ชีวิตอย่างชาวโลกนั้นไม่อาจเข้าถึงกฎเกณฑ์ได้ นอกเหนือจากนั้น การกระทำใดที่ผิดไปจากคำสอนที่ระบุไว้ในคัมภีร์ถือว่าเป็นการกระทำที่มีความผิด ดังนั้นในยุคนี้จึงตกอยู่ในการควบคุมของนักบวชทั้งหลาย จนมีชื่อเรียกยุคนี้ว่า ยุคมืด เนื่องจากนักบวชที่มีอำนาจสามารถกำจัดผู้ไม่เชื่อฟังได้

๔. กระบวนทัศน์ยุคใหม่ กระบวนทัศน์ในยุคนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กระบวนทัศน์ยุครู้แจ้ง หรือกระบวนทัศน์ยุควิทยาศาสตร์ ในยุคนี้เชื่อว่า ทุกอย่างต้องสามารถพิสูจน์ได้ด้วยเหตุผล สิ่งใดที่พิสูจน์ไม่ได้ ไม่มีเหตุผลเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ยุคนี้เกิดขึ้นจากผลแห่งการกดดันของยุคมืดนั่นเอง เพราะบุคคลที่มีความรู้ความสามารถไม่อาจแสดงความคิดได้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามคัมภีร์ และเชื่อในความคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง อีกทั้งจะสร้างความสุขให้มนุษย์ด้วยวิทยาศาสตร์

๕. กระบวนทัศน์ยุคหลังนวยุค กระบวนทัศน์ในยุคนี้เกิดขึ้นจากผลแห่งหายนภัยอันมาจากวิทยาศาสตร์ กระบวนทัศน์หลังนวยุคเชื่อว่า ความคิดของมนุษย์ในยุคที่ผ่านมานั้นบกพร่องอันมีสาเหตุมาจากภาษา นักคิดหลังนวยุคค้นพบว่า มนุษย์ในยุคใดๆ ได้ใช้ภาษาอยู่ ๒ ภาษา คือ ภาษาตรรกะและภาษาคณิตศาสตร์ โดยแยกให้เห็นว่า ยุคดึกดำบรรพ์ ยุคโบราณ และยุคกลางนั้นใช้ภาษาตรรกะเป็นหลัก ส่วนยุคใหม่นั้นใช้ภาษาคณิตศาสตร์เป็นหลัก ภาษาตรรกะนั้นมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ส่วนภาษาคณิตศาสตร์นั้นแน่นอนจนไม่ใช่ภาษาของมนุษย์ที่มีจิตใจ ดังนั้น นักหลังนวยุคจึงพบว่า ภาษาที่เหมาะกับมนุษย์ก็คือ ภาษาการตีความ (Hermeneutics) สามารถกล่าวได้ว่า ภาษาการตีความ

จากแนวทางการใช้วิธีตีความตามกระบวนทัศน์ทั้ง ๕ นั้น มีหลักคิดหรือที่เรียกว่า วิจารณญาณ อยู่ ๕ วิธี ดังนี้
๑. ตีความตามพยัญชนะ (Literal Interpretation)
๒. ตีความตามสัญลักษณ์ (Symbolical Interpretation)
๓. ตีความตามสำนวนภาษา หรือ อรรถะ (Idiomatic Interpretation)
๔. ตีความตามเหตุผล (Rational Interpretation)
๕. ตีความตามประเภทวรรณกรรม (Literal-form Interpretation)

สมมติตัวอย่างในการศึกษาการตีความตามนัยของกระบวนทัศน์โดยผ่านการตีความทั้ง ๕ วิธี ยกตัวอย่างว่า การประสูติแล้วเดินได้ ๗ ก้าวของพระพุทธเจ้า มองผ่านการตีความดังนี้

กระบวนทัศน์ที่ ๑ มองการตีความตามพยัญชนะ คำว่า ๗ ก้าวคือ ๗ ก้าวจริงๆ เนื่องจากพระพุทธเจ้าไม่ใช่บุคคลธรรมดา เป็นบุคคลที่เทพยดาอารักษ์ดูแล

กระบวนทัศน์ที่ ๒ มองการตีความตามสัญลักษณ์ คำว่า ๗ ก้าวนั้น แท้จริงเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า พระพุทธเจ้านั้นสามารถก้าวไปเผยแผ่คำสอนถึง ๗ แคว้น

กระบวนทัศน์ที่ ๓ มองการตีความตามสำนวนภาษา หรือ อรรถะ การเดินได้ ๗ ก้าวของพระพุทธเจ้า หมายถึง หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน เช่น โพชฌงค์ ๗ เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ เป็นวิสุทธิ ๗

กระบวนทัศน์ที่ ๔ มองการตีความตามเหตุผล การเดินได้ ๗ ก้าวของพระพุทธเจ้าเป็นความสามารถของพระพุทธเจ้า บุคคลที่มาเป็นพระพุทธเจ้าสามารถทำได้อย่างนี้ นอกจากนั้นยังยกตัวอย่างประกอบว่า ลูกกวาง ลูกวัว เกิดมาแล้วยังเดินได้ พระพุทธเจ้าจะเดินไม่ได้ยังไง บุคคลที่มีความสามารถพิเศษในโลกนี้มีจำนวนมาก เช่น มนุษย์แม่เหล็ก มนุษย์ไฟฟ้า มนุษย์พลังจิต

กระบวนทัศน์ที่ ๕ มองการตีความตามวรรณกรรม การเดินได้ ๗ ก้าวของพระพุทธเจ้าเป็นข้อความที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถา เป็นประเภทของบริบทในคัมภีร์ ไม่สามารถเข้าถึงเจตนาของผู้เขียนในขณะนั้นได้ ก็เข้าใจว่า การที่ผู้เขียนเช่นนี้คงมีความมุ่งหวังอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เข้าใจตามบริบทคัมภีร์นี้

เหมือนดังการได้ยินคำ “เค็ม” ถ้าไม่มีบริบทก็ยากที่จะเข้าใจได้ว่า ผู้กล่าวหมายถึงอะไร เพราะอาจตีความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เช่น เป็นคนขี้เหนียว ใส่เกลือมาก ใส่ปูนมาก ก็ได้ ในที่นี้เดินได้ ๗ ก้าว บริบทเป็นการกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ประสูติที่มีประกอบไปด้วยความมหัศจรรย์ ก็น่าเชื่อได้ว่า นี่เป็นการเขียนถึงความน่าอัศจรรย์ของพระพุทธเจ้า

การที่คนใดคนหนึ่งยึดมั่นกระบวนทัศน์ใดกระบวนทัศน์หนึ่งย่อมเกิดความกระทบกับกระบวนทัศน์อื่นเป็นแน่ ดังนี้จึงเสนอให้เข้าใจตามกระบวนทัศน์ที่ ๕ คือ เข้าใจบริบทนั้นเสีย ไม่มีความสงสัยเป็นอื่น แต่เชื่อตามบริบท เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดการยืดหยุ่น และไม่หักล้าง ไม่ทำลาย ทำความเข้าใจผู้อื่น เป็นความดีของกระบวนทัศน์ที่ ๕

(อ่านต่อในบทความวารสารบัณฑิตศาส์น มมร)

หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะทั่วสากล



















ภาระหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นถือเป็นภาระหลักของศาสนทายาทในพระพุทธศาสนา
โดยยึดพระดำรัสที่ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ อย่าไปโดยทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ที่พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ครบถ้วน สัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีในตาน้อย มีอยู่ ย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม จักมีผู้รู้ธรรม”

ก็หมายความว่าให้จาริกไปเพื่อประกาศพระสัจธรรม หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะ (ความรู้แจ้ง) ลงในจิตของเหล่าเวไนยสัตว์ที่พร้อมจะรองรับเมล็ดพันธุ์นี้ การสร้างเครื่องมือในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นกระทำได้ด้วยกิจกรรมอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาล โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และสถานสงเคราะห์อื่นๆ หรือแม้แต่กิจกรรมที่เรียกว่า “จิตอาสา” (Service Mind)

ลักษณะการทำงานในรูปแบบขององค์กรจิตอาสานี้กระทำกันมากในประเทศฝ่ายมหายาน เขาจะใช้ตัวกิจกรรมสาธารณะนี้เป็นเกณฑ์ในการวัดความอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือเหล่าเวไนยสัตว์ ถือปณิธานตามองค์พระอวโลกิเตศวร คือ โปรดสัตว์ทั่วสากล ทำให้โลกนี้เป็นแดนสุขาวดี คือแดนที่มีแต่ความสงบร่มเย็น เป็นการสร้างสวรรค์บนพื้นพิภพ

อย่างไรก็ตาม ผลสัมฤทธิ์ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ ย่อมมีเบื้องหลัง คำกล่าวที่ว่า “อย่าดูที่ผล จงดูที่เหตุ” เป็นคำเตือนสติผู้ทำงาน เพราะกว่าที่จะมีวันนี้ได้ มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้ท่านเผยแผ่พุทธธรรมสู่สากล ปลูกหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะลงจิตแห่งเวไนย์ ผูกบุญสัมพันธ์ไปทั่วหล้า นอกเหนือจากความมุ่งมั่นจิตปณิธานแล้ว สถานการณ์ก็สร้างโพธิบุรุษเช่นกัน ให้ถือปณิธานที่ว่า “อาศัยความสงสารปณิธานเป็นคันไถ อาศัยความอดทนพากเพียรเป็นจอบเสียม คราดไถทะเลทรายที่แห้งแล้งให้กลายเป็นดินแดนสุขาวดีที่ต้นโพธิออกดอกผล” เป็นคำปณิธานของท่านภิกษุชิงหวิน ทุกขณะของการปฏิบัติงานคือ การบำเพ็ญจิต

ดังที่หลวงพ่อพุทธทาสกล่าวว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ธรรมคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ การปฏิบัติธรรมมิใช่ต้องเข้าไปสู่ห้องเงียบๆ เข้าไปหลีกเร้นในวัด จึงจะปฏิบัติธรรมได้ ก็หน้าที่ที่ตนเองกระทำนั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม การเผยแผ่ธรรมะคือการปฏิบัติธรรม อย่าถือโลกธรรมเป็นตัวสกัดกั้นการทำความดี ลบเลือนปณิธาน เพราะในไม่ช้าต่างคนก็ต่างไป คำครหานินทาเป็นของคู่โลก ชั่วก็ไม่ดี ดีก็ไม่ได้ นี่คือนิสัยมนุษย์สามัญ ผู้คนทั่วไปเคยชินการวอนขอ ต่อว่า ระแวงสงสัย ผู้ประสบความสำเร็จในประวัติศาสตร์มีใครบ้างไม่ถูกกล่าวหา มีใครบ้างรอดพ้นการนินทา ในไม่ช้าต่างคนก็ต่างไป เมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะที่หว่านปลูกลงในใจของเหล่าเวไนย์ต่างหากที่คงอยู่ชั่วนิรันดร์

การเผยแผ่พระพุทธศาสนามาถึงปัจจุบันบางครั้งรูปแบบควรเปลี่ยนไป แต่หลักการต้องเป็นเช่นเดิม องค์ทะไลลามะได้ตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้สรุปความได้ว่า “พระพุทธศาสนาเมื่อจะแผ่ไปสู่ที่ไหน ก็ต้องเคารพสิทธิ์ของบุคคลในประเทศนั้น หลักธรรมในพระพุทธศาสนาสามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาย่อมได้ประโยชน์ทวีคูณ และยังทำให้พระพุทธศาสนาได้รับการยอมรับจากสังคมนั้นๆ ง่ายขึ้น ขอเพียงหลักธรรมพื้นฐานของพระพุทธศาสนาคงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง การหลอมรวมเช่นนี้มีแต่ประโยชน์ถ่ายเดียว เมื่อยึดถือพุทธธรรม ควรเรียนรู้เคารพศรัทธาของผู้อื่นด้วย การบำเพ็ญเพียรและการพัฒนาเป็นเรื่องของภายใน สำคัญกว่าภาพลักษณ์ภายนอกมากนัก”

ขอเพียงมุ่งมั่นรักษาโพธิจิตนี้ไว้ กุศลธรรมทั้งหลายก็จะไพบูลย์งอกงาม
โลกเป็นเวทีให้สรรพสัตว์ได้มาบำเพ็ญเพื่อเพิ่มพูนบุญกุศล
อย่าได้ใช้โลกนี้เป็นสถานที่ก่อกรรมทำเข็ญ
ผู้ที่มองเห็นสรรพสัตว์ด้วยใจกรุณาปราณี เอื้อเฟื้อ อนุเคราะห์
เมล็ดพันธุ์แห่งโพธินี้จะงดงามเบ่งบาน

(อ่านฉบับเต็มในเอกสารมหายานวัดโฟวกวงซาน)