วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555


โศลกที่สามสิบสี่ "ข้ามไปอีกขั้น"


ความสำเร็จทุกอย่าง
มีจุดเริ่มต้น มีด่านทดสอบ
การบำเพ็ญเพียรสมณธรรมก็เช่นกัน
ด่านแรกคือระยะเวลา
หนึ่งชั่วโมงเป็นขีดขั้นกำหนด
ด่านสองคือเวทนากล้า
ผู้บำเพ็ญเพียรผ่านสองชั่วโมง
จึงสำเร็จผ่านด่านกายเวทนาไปได้
สาระสำคัญมิใช่ได้เวลามากน้อย
แต่ได้เวลาบำเพ็ญตบะที่นานพอ
พอชื่อว่ากระทำให้มาก เจริญให้มาก
บำเพ็ญสมณธรรมมีแก่นแท้เท่านี้

“เวลา” เป็นสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ยังไม่อาจเข้าใจได้กระจ่าง เป็นที่สงสัยอยู่เสมอมา ต่างพากันตั้งคำถามว่า แท้จริงเวลามีอยู่จริงหรือไม่ ถ้ามี แล้วเวลาเป็นอะไร และเวลาจะมีวันหมดไปหรือไม่ นักปราชญ์ราชบัณฑิตต่างพากันแสวงหาคำตอบเรื่อยมา บ้างก็ได้คำตอบ บ้างก็ยังไม่พึงพอใจกับคำตอบที่ได้ กล่าวตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายเวลาว่า “ชั่วขณะความยาวนานที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ โดยนิยมกำหนดขึ้นเป็นครู่ คราว วัน เดือน ปี เป็นต้น” นิยามนี้ก็ไม่ได้บอกอะไรมากเกี่ยวกับตัวเวลา แต่บอกอาการที่เวลาแสดงออกเท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์อย่างไอน์สไตน์ให้ความคิดเกี่ยวกับเวลาว่า “เวลามีความสัมพัทธ์กับความเร็วแสง หากแสงเดินทางช้าลงก็จะไปดึงเวลาให้เดินเร็วขึ้น เพื่อชดเชยกับความเร็วแสงที่สูญเสียไป ทำให้แสงเดินทางด้วยความเร็วคงที่อยู่ตลอดเวลา โดยปัจจัยที่ทำให้แสงเดินทางช้าลง เช่น แรงโน้มถ่วง กล่าวคือ ในที่ ๆ ไม่มีแรงโน้มถ่วงเวลาจะเดินเร็วกว่าในที่ที่มีแรงโน้มถ่วง” ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเวลาในมุมมองนี้แสดงถึงกาลอวกาศ สสาร พลังงานที่ทำหน้าที่แสดงออกมาเป็นลักษณะเวลา แต่ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า เวลาคืออะไรกันแน่ เวลาตั้งอยู่อย่างไร เวลาเป็นสสารหรือพลังงาน หรือเวลาไม่ใช่ทั้งสสารและพลังงาน แต่เป็นอีกมิติหนึ่งที่มนุษย์ยังไม่ทราบ ถ้าหากสามารถหยุดเวลาได้ก็สามารถหยุดสิ่งต่าง ๆ ได้หรือไม่

ในส่วนของพระพุทธศาสนา ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับเวลาไว้ว่า “เวลาเป็นกฎแห่งไตรลักษณ์ที่เรียกว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป” ไม่ว่าอะไรก็ตามหากเกิดขึ้นก็ตกอยู่ภายใต้กฎนี้ทั้งนั้นจะเรียกว่า เวลาหรือกาล หรืออะไรก็แล้วแต่ เมื่อมีเกิดขึ้น ก็จะดำรงอยู่ และก็จะดับไปในที่สุด เวลาก็คือช่วงของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปนั้นเอง การเกิดขึ้นนับจากเวลานั้นไปก็จะกลายเป็นอดีต ขณะที่ดำรงอยู่ก็เป็นปัจจุบัน การจะดับไปในกาลข้างหน้าก็เป็นอนาคต และก็จะหมุนเวียนอย่างนี้ไปไม่มีวันจบสิ้น จึงเรียกว่า “สังสารวัฏ”

พระพุทธศาสนาเมื่อกล่าวถึงเวลา ไม่ได้ให้ใส่ใจในความเป็นเวลาว่ามันจะเป็นอะไร ไม่ใช่หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องไปสนใจ ดังนั้น ในคำถาม ๑๐ ประการที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ก็บวกเรื่องเวลาไว้แล้ว นั่นคือ “สังสารวัฏ (โลก) มีที่สิ้นสุดหรือไม่ หรือว่า โลก (เวลา สังสารวัฏ) ไม่มีที่สิ้นสุด” ปัญหาเหล่านี้จัดเป็นอัพยากตปัญหา พระพุทธเจ้าไม่ใช่ไม่แสดงเรื่องนี้ไว้ แต่ไม่ทรงตอบกับใคร ๆ ที่เข้ามาถามเพื่ออยากรู้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอุปมาไว้ว่า หากมีชายคนหนึ่งถูกลูกศรยิงเข้าทรวงอก เมื่อมีหมอมารักษา เขากับตั้งคำถามมากมายว่า ลูกศรยิงมาจากทางไหน ทำด้วยอะไร ใครยิง ฯลฯ ถ้ายังไม่รู้คำตอบก็ยังไม่ให้รักษา ชายผู้นี้จัดเป็นคนโง่หรือฉลาด พระพุทธเจ้าทรงเป็นนายแพทย์ผู้รักษาโรคทุกข์ของมนุษย์ มนุษย์ทุกคนที่ยังไม่หลุดพ้นต่างจมอยู่ในทะเลทุกข์ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงมาช่วย แต่มนุษย์ทั้งหลายพยายามไม่ให้พระองค์ช่วย กลับพากันตั้งคำถามต่าง ๆ นานา ถึงแม้ว่า พระพุทธองค์จะตอบให้ทราบ เขาทั้งหลายรู้คำตอบแล้ว ก็หาได้ช่วยเหลือให้พ้นจากทุกข์ไม่ ก็เพียงแค่ประดับความรู้เท่านั้น ไม่ได้ลดการเกิดในภพชาติ กิเลสตัณหาก็หาได้ลดลงแต่อย่างใด

ท่าทีของพระพุทธศาสนาที่มองเรื่องเวลามี ๒ ลักษณะ คือ เวลาภายนอกและเวลาภายใน เวลาภายนอกนั้นได้แก่ สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นมาแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่วนมนุษย์และสัตว์ก็ไหลไปตามกรรม หมุนเวียนตามกิเลส รับผลแห่งวิบาก จึงเป็นกิเลส กรรม วิบาก ในส่วนนี้ก็เป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งที่มีการเกิดขึ้น ก็ต้องสลายไปตามกาล ไม่ใช่เรื่องน่าวิตกหรือพิเศษอะไร ส่วนเวลาภายในก็คือความรู้สึกที่มีต่อเวลา หากมีความสุขมาก ก็อยากให้เวลานั้นอยู่ไปนาน ๆ หากมีความทุกข์ ก็อยากให้เวลานั้นหมดไปเร็ว ๆ เป็นเรื่องของเวทนา ตัณหาและอุปาทาน คือ ความรู้สึก ความอยากและความยึด

เมื่อพิจารณาจากมุมมองในพระพุทธศาสนาแล้วก็สามารถเห็นวิธีการหลุดพ้นจากกาลเวลาได้ อยู่เหนือกาลเวลาได้ ไม่จำกัดอยู่ในกาลเวลาได้ ตามทฤษฎีก็คือ หากไม่ต้องเกิดก็ไม่ต้องตั้งอยู่และดับไป หากไม่มีกรรม กิเลส และวิบาก ก็ไม่ต้องหมุนวนอยู่ในวัฏฏะ หากไม่มีอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็ไม่ต้องมีกาลเวลา กาลเวลามี เพราะมีเรา มีที่ตั้งแห่งเรา หากไม่มีเรา ไม่มีที่ตั้งแห่งเรา ก็ไม่มีเวลา ก็ในสังสารวัฏนี้มี ๓๑ ภูมิ หากไม่ตกอยู่ในขอบเขตแห่งภูมิใดภูมิหนึ่ง ก็ไร้กาลเวลา ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าแล้วจะทำอย่างไร นี่คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง นี่คือสิ่งที่พระพุทธศาสนาให้ความใส่ใจ นี่คือคำสอนทั้งหมดของพระพุทธศาสนาเพื่อให้สรรพสัตว์พ้นจากทุกข์ หรือพ้นจากกาลเวลา เพราะกาลเวลาก็คือ ความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปร ก็สิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ และสิ่งที่เป็นทุกข์ เพราะสิ่งนั้นเป็นอนัตตา

โศลกว่า “ด่านแรกคือระยะเวลา หนึ่งชั่วโมงเป็นขีดขั้นกำหนด”
 การบำเพ็ญสมณธรรม เป็นการสงบเพื่อรอคอยอย่างอดทน เพื่อรอกาลเวลาเบ่งบาน ดุจดังการรอคอยการเบ่งบานของพืชพันธุ์ดอกไม้ที่มีต่อแสงอาทิตย์ หน้าที่ของดอกไม้ก็คือรอคอยด้วยความอดทน สงบอยู่ นิ่งอยู่ ว่างอยู่ ไม่แกว่งไกว สั่นไหว ด่วนบาน หากไม่มีความอดทน การเบ่งบานก็ไม่ปรากฏ ระยะเวลาแห่งการอดทนนั้นเป็นด่านทดสอบการปฏิบัติ คำว่า “ปฏิบัติ” ในที่นี้ก็คือการเจริญภาวนา การเจริญภาวนาก็คือ “การรักษาสติให้ดำรงอยู่ต่อเนื่องตลอด” การทำให้สติเจริญขึ้น มากขึ้น ชื่อว่าปฏิบัติธรรม สติเพิ่มพูนขึ้นมากเท่าใด ความแจ่มชัดแห่งปัญญาก็จะเพิ่มพูนตามเมื่อนั้น ในช่วงนี้เป็นระยะเวลาแห่งการใช้ความเพียร คือ ความอดทน เป็นตบะธรรมเครื่องเผากิเลส หากไม่มีความอดทน สติก็ไม่เจริญ ปัญญาก็ไม่ปรากฏ ทุกอย่างต้องอาศัยเวลาแห่งการเบ่งบาน ดอกไม้ก็ต้องอาศัยเวลา รอกาลเบ่งบาน การปฏิบัติเจริญภาวนาบำเพ็ญสมณธรรมก็ต้องอาศัยเวลา รอกาลเต็มเปี่ยมเช่นกัน ไม่อาจคาดคิดด่วนได้เป็นอันขาด เพราะการคาดคิดด่วนได้ทำให้พลาดโอกาสไปทันที หน้าที่ของการปฏิบัติเจริญภาวนาบำเพ็ญสมณธรรมก็คือ ดำเนินต่อไป บำเพ็ญต่อไป ต่อเนื่องไม่ขาดสาย ส่วนปัญญาที่จะเบ่งบานนั้นเป็นเรื่องของความเต็มเปี่ยมแห่งอินทรีย์เอง

ความงดงามนั้นต้องอาศัยเวลาของมัน ระยะเวลาระหว่างเมล็ดไปเป็นดอกผลนั้นมีความละเอียดอ่อนมาก มีความซับซ้อนมาก ต้องรู้จักอดทนรอคอย หน้าที่รดน้ำพรวนดินเป็นหน้าที่ของเรา หน้าที่เจริญงอกงามให้ดอกผล เป็นเรื่องของต้นไม้พืชพันธุ์ แต่จุดสำคัญอยู่ที่การรู้จักวิธีปลูกเมล็ดพืชพันธุ์ รู้จักวิธีรดน้ำให้ถูกเวลา รู้จักกาลใส่ปุ๋ยพรวนดิน รู้จักกำจัดวัชพืชที่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโต รู้จักระยะเวลาที่พืชพันธุ์แต่ละชนิดจะให้ดอกผล รู้จักเก็บเกี่ยวช่วงระยะเวลาที่พืชพันธุ์ให้ผล ไม่ใช่รอคอยอย่างเดียว ไม่ใช่อดทนอย่างเดียว ทุกอย่างต้องมีระบบและการบริหารจัดการที่ดีและถูกต้อง

ระยะเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง เป็นระยะเวลาเริ่มแรกของการปฏิบัติเจริญภาวนาบำเพ็ญสมณธรรม ระยะเวลาแห่งการเริ่มจนไปถึงกาลที่ผลจะปรากฏ หรือที่เรียกในภาษาธรรมว่า ในระยะ “ปฏิบัติไปสู่ปฏิเวธ” นั้นมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน แน่นอนระยะเวลาที่ระบุไว้นั้นเป็นเรื่องไม่ใช่กฎเกณฑ์ตายตัวสำหรับทุกคน ทุกคนเป็นพืชพันธุ์แต่ละชนิดที่ต่างกัน บ้างใช้เวลามาก บ้างใช้เวลาน้อย แต่เพื่อให้เห็นเป็นแนวทางกลาง ๆ ในการพิสูจน์กระบวนการที่จะเกิดขึ้นตามมาสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติทุกคน นั่นก็คือ เวทนาอันเกิดจากความบีบคั้นทางกายที่ต้องนั่งหรือเดินประมาณ ๑ ชั่วโมง คำ ๆ หนึ่งที่มักได้ยินเป็นประจำในขณะที่จะต้องรับมือกับเวทนาก็คือ “ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม” เนื่องจากเวทนาอันเกิดจากแรงบีบคั้นนี้กำลังเป็นขั้นตอนเปลี่ยนถ่ายระดับ พิจารณาดูขั้นตอนการทำอะไรทุกอย่างจะมีจุดเปลี่ยนอยู่ช่วงหนึ่ง จุดเปลี่ยนตรงนี้สำคัญมาก ถ้าหากผ่านจุดเปลี่ยนตรงนี้ไปได้ก็จะขึ้นไปสู่อีกระดับหนึ่งทันที ซึ่งจะรู้สึกง่ายยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างการยกตัวของเครื่องบินที่กำลังบินขึ้น ช่วงของการบินขึ้นและช่วงของการไต่ระดับขึ้นไปนั้นต้องใช้กำลังอย่างมาก จุดที่ฝึกขี่จักรยานกำลังจะเป็นนั้นต้องใช้พลังอย่างมากเช่นกัน แต่เมื่อผ่านจุดผันผวนตรงนี้ไปก็จะผ่านด่านทดสอบความตั้งใจ

(อ่านต่อในหนังสือคัมภีร์สุวิญญมาลา วางแผงเร็วๆ นี้)