วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๒)


มีแต่รูปให้ดู

คัมภีร์ห่วงโซ่จักรวาล (๒)

แสงจันทราข้างขึ้นดูงดงามแจ่มใส….สงบเย็น

เมืองราลโป ในยามค่ำคืนยิ่งดู ยิ่งสงบเงียบ
มีเสียงจิ้งหรีดและเสียงลมวิกาลดังคละเคล้ากันเป็นระยะ
ภูเขาหิมะสลับซับซ้อนล้อมรอบเมืองดุจกำแพงใหญ่ป้องกันผู้รุกราน และอีกทางก็คล้ายดั่งเป็นการคุ้มกันมิให้ผู้คนหลบหนี

เงาร่างสายหนึ่งปรากฏขึ้นท่ามกลางแสงจันทร์ มุ่งไปที่เชิงเขากาญชุ เงาร่างสายนั้นเร่งฝีเท้ายิ่งขึ้น
จิตใจที่มุ่งมั่นเป็นพลังขับเคลื่อนที่ดีที่สุด เพียงสองชั่วยาม เขาก็ขึ้นถึงกลางภูเขา
ก่อนที่มันจะขยับกายไป พลันรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกจ้องมอง พลังที่เพ่งมองนั้นตรึงมันให้หยุดนิ่ง
ไม่มีรังสีอำมหิต!
แต่กลับเป็นรังสีเมตตา!

ในขณะที่มันกำลังจะทำอะไรต่อไป เสียงหนึ่งจึงดังขึ้นแทรกความเงียบ
“จิตใจเจ้าเปี่ยมไปด้วยความหวัง แต่ใช่ว่าเจ้าจะได้มาอย่างง่ายดาย
บางครั้งเจ้าต้องแลกมาด้วยชีวิต เจ้ายอม!?”
“ผู้อื่นอาจไม่แน่ใจ แต่ย่อมไม่ใช่ข้าแน่นอน”
ทินเล่ เอ่ยตอบไปทั้งที่ยังไม่ทราบว่าผู้ที่เอ่ยคำเป็นผู้ใด
อาศัยเพียงเสียงที่เปล่งออกมาจากใจ
ปราชญ์ย่อมคาดคะเนถึงความจริงใจได้

บางครั้งคำกล่าว
ก็สามารถวัดตื้นลึกหนาบางของผู้คน
คนยิ่งกล่าวมากความ
ยิ่งทำให้ผู้อื่นทราบธาตุแท้ของตน

ลมวิกาลเริ่มพัดรุนแรง….
ร่างชายผู้หนึ่งปรากฏขึ้นฝ่าแนวขอบวิกาลเข้ามา ผ้าที่เขาคลุมร่างเป็นสีแดงคล้ำจนเกือบเป็นสีดำ กลิ่นอายแห่งธรรมชาติจากตัวของท่านปลิวมากระทบจมูก เป็นกลิ่นอายแห่งศานติที่อบอุ่นแม้อยู่บนเทือกเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ ชายผู้นี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ท่านโยคีมาราเรปะ
ทุกสัดส่วนของร่างกายท่าน คล้ายเบาสบายดุจปุยนุ่น แต่การเคลื่อนไหวกลับเต็มไปด้วยพลัง การเคลื่อนไหวไร้ความบกพร่อง ทั้งยังเปี่ยมไปด้วยขุมพลังแห่งศรัทธา
ทินเล่รู้สึกอบอุ่นคล้ายดั่งกับเด็กที่นอนอยู่ในอ้อมแขนของมารดา
ใบหน้าที่สลัวเลือนในความมืด ยังเปล่งประกายแห่งความสดใส ผมที่ดำสนิท ดวงตาที่ลุ่มลึกยากที่จะหาที่สุดพบ มันพลันคุกเข่าลงแล้วจึงเอ่ยวาจา

“วิถีชีวิตบนโลกนี้คับแคบยิ่งนัก วันนี้ได้พบกับวิถีแห่งชีวิตที่เป็นอิสระและยิ่งใหญ่ ก่อนนั้นข้าพเจ้าคิดว่า เป็นแต่เพียงคำเล่าลือ ตอนนี้จึงประจักษ์ว่ามีอยู่จริง ขอท่านได้โปรดช่วยชี้แนะทางสว่างให้ด้วยเถิด”

มันกล่าวเสร็จจึงก้มศีรษะทำความเคารพคารวะ
“บุรุษควรมีปณิธาณอันยิ่งใหญ่และแน่วแน่เสมอ ขอเพียงรักษาปณิธานยิ่งชีวิต จะมีสิ่งใดขัดขวางได้เล่า ?”
“บิดา มารดานั้นมีพระคุณดุจขุนเขา อีกทั้งยังมีความหวังของสตรีอีกนางหนึ่ง ความรู้สึกของคนทั้งหลาย ข้าจึงจะก้าวล่วงได้?!”
“หากปณิธานเจ้ายิ่งใหญ่ดั่งจักรวาล มีหรือท่านเหล่านั้นจะไม่สรรเสริญ” ท่านมาราเรปะเน้นคำ “ปณิธาน” ให้ดิ่งลงภายในจิตใจของมัน ก่อนที่จะตอกย้ำคำว่า “ยิ่งใหญ่” ให้ฝังแน่นลง
“ในทุกวิถีชีวิตย่อมมีทางของตน มีศิลปะที่ต้องฝึกฝนเดินทางไป ต้องเคี่ยวกรำกายและจิตเพื่อดำรงอยู่บนโลก

วิถีชีวิตที่เจ้ากำลังจะเลือกเป็นวิถีชีวิตอัน “โดดเดี่ยว”

แท้จริงแล้วชีวิตมนุษย์เป็นเอกีภาวะ
เขาเพียงผู้เดียวที่ต้องจัดการกับชีวิตของตน มนุษย์มากมายล้วนพยายามหลีกหนีภาวะแห่งสัจธรรมนี้
โดยแสวงหาใครต่อใครมากมายมาอยู่ร่วมด้วย ท้ายที่สุดมีเพียงตนเองเท่านั้นที่ต้องเลือกทางของตน
การอยู่ร่วมกันเฉกเช่นคนพบกันบนหนทาง มีหรือที่จะไม่แยกจากกัน

วิถีอันโดดเดี่ยวเป็นวิถีอันบริสุทธิ์
แต่กลับทำได้อยากที่สุด
อย่าได้กลัวความโดดเดี่ยว
แต่จงเรียนรู้จากมัน
การเดินบนวิถีที่โดดเดี่ยว
มิใช่ไม่เกี่ยวข้องกับสังคม
แต่กลับเป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคม
อย่างเป็นอิสระทั้งกายและใจ….

….ไปเถิด…หากเจ้ามั่นใจในปณิธานของตน สักวันเจ้าจะเป็นที่พึ่งของคนทั้งมวล เจ้ากำลังเดินตามทางที่องค์ศากยพุทธเคยกระทำไว้เมื่อพันสองร้อยปีก่อน….”
เสียงถ้อยคำสุดท้ายเลือนลางไปพร้อมกับร่างของท่านที่ลางเลือนลับไปสู่วิกาลเช่นเดิม

ความเงียบสงบกลับมาปกคลุมอีกครั้ง
พันธนาการใจมากมายถูกฟันกระจุยด้วยวาจาอันเฉียบคม
แสงสว่างเริ่มก่อขึ้นภายในใจของบุรุษหนุ่ม แม้จะเป็นจุดประกายแสงเล็ก ๆ แต่เขาก็พร้อมที่จะทำให้มันรุ่งโรจน์โชติช่วงต่อไป
เขาย่อมทราบดี การจะได้สิ่งใดมา ใยจะไม่ยอมสูญเสียอะไรไปได้??!
ต่อไปคือบทพิสูจน์ความมั่นคงของปณิธานผู้คน
ประตูแห่งบทเรียนกำลังเริ่ม

ความจริง : ความแตกต่างแบ่งขั้ว



ความจริง : ความแตกต่างแบ่งขั้ว





การดำรงชีวิตของมนุษย์ท่ามกลางความสัมพันธ์ กับสิ่งแวดล้อม นั้นเริ่มมีความยุ่งยากมากขึ้น ซับซ้อน มากขึ้น มนุษย์เริ่มมองสภาพแวดล้อมเหล่านี้ เป็น ความแตกต่าง (Differentiation) จึงกลายเป็นว่า มนุษย์อยู่ท่ามกลางความแตกต่าง เป็นความแตกต่าง ที่เป็นความจริงอันไม่อาจจะขจัดออกไปได้ ภายใต้ ความแตกต่างนี้การดำรงอยู่ของมนุษย์จึงมีแต่ความ ขัดแย้ง และเดือดร้อนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องจาก มนุษย์แต่ละคนมองความแตกต่างนั้นต่างกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะยินยอมสูญเสียอย่างไร พอพบว่าเป็นความ แตกต่างแล้วก็ยินยอมไม่ได้ เช่น ความแตกต่าง ทางอารมณ์ ความต้องการ ภาษา ภูมิอากาศ สถานที่ เผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ความเชื่อ ล้วนแล้วแต่เป็นความ แตกต่าง ที่นำมาสู่ชนวนแห่งความขัดแย้งทั้งสิ้น นักปรัชญาเรียกสภาวะเหล่านี้ว่า ภาวะแห่งการแบ่งขั้ว (Dichotomy) ในยุคก่อนความแตกต่างนั้นยังไม่ชัดเจน จึงทำให้มนุษย์ยังคงยินยอมให้แก่กันและอยู่ร่วมกันได้ แต่พอ มาในยุคนี้สภาวะเช่นนี้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเมื่อโลกแห่ง จิตวิญญาณกับโลกแห่งวัตถุถูกแบ่งกันชัดเจน ถ้าจะ พูดให้ชัดก็เมื่อโลกแห่งวิทยาศาสตร์ (วัตถุ) กำลังเข้ามา รุกล้ำโลกแห่งจิตวิญญาณ โลกแห่งการบริโภคเข้ามา มีบทบาทมากกว่าโลกแห่งความสันโดษพอเพียง มนุษย์จึง มองสิ่งแวดล้อมเป็นความแตกต่างโดยมีภาษา แห่งเหตุผลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยก

ทางออกที่มืดมน



การคิดหาทางแก้ไขปัญหาการดำรงชีวิตของมนุษย์ ในฐานะปัจเจกท่ามกลางความขัดแย้ง นี้จะทำได้ อย่างไร หนทางหนึ่งที่นักปรัชญาให้ความสนใจต่อการ ดำรงชีวิตภายใต้โลกแห่งความขัดแย้ง คือ ใช้ปรัชญาที่ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรง ชีวิตบนพื้นฐานของความรู้ (Knowledge Based life) สังคมบนพื้นฐานของความรู้ (Knowledge Based Society) การเมืองบนพื้นฐานของความรู้ (Knowledge Based Policy) เศรษฐกิจบนพื้นฐานของความรู้ (Knowledge Based Economy) เป็นต้น การมีชีวิตที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้นี้จะทำให้ภาวะ แห่งความขัดแย้งเบาลง อย่างน้อยก็สามารถแก้ ปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง
เมื่อพิจารณาอย่างแท้จริง ปรัชญาบนพื้น ฐานของความรู้ที่กำลังใช้กันอยู่ในขณะนี้ ยังเป็น ปรัชญาอันตรายสำหรับมนุษยชาติ แม้จะมีแนวคิด ทางปรัชญาที่ว่า “ศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน ของความรู้” (-Logy based on Knowledge) แต่หาก เป็นความรู้ที่ไม่ตั้งอยู่พื้นฐานแห่งปัญญาที่สมบูรณ์ (Knowledge without Insight) นั่นก็ยังมิใช่ทางออก ร่วมกันที่ปลอดภัย จะเห็นได้จากความรู้ที่กำลัง นำมาเป็นที่ตั้งนั้นอยู่บนพื้นฐานของความโลภ ความโกรธ และความหลง ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ความรู้อย่างนี้ก็แสดงผลออกมาเป็น กำไร /ขาดทุน มี/ไม่มี ได้/ไม่ได้ พวกเรา / พวกเขา ดี / ไม่ดี ทำลายล้าง /ดำรงอยู่ โกรธ/รัก เหมือนเดิม แน่นอนในระดับโลกีย์นี้ ไม่มุ่งหวังให้หลุดพ้นดั่งเช่นพระอริยะทั้งหลาย แต่สำหรับความรู้ที่นำมาเป็นพื้นฐานนั้นต้องเป็นความรู้ ระดับโลกียวิญญุฐานวิชชา คือ การดำรงอยู่บนโลก อย่างผู้รู้ (Enlightened Mundane)



ถามว่า ปรัชญาบนพื้นฐานของความรู้ (Knowledge Based Philosophy) ที่ใช้อยู่ นี้เป็น แนวทางที่ตั้งอยู่ บนโลกียวิญญุฐานวิชชาแล้วหรือไม่ ที่เห็นกันอยู่ยังเป็นความรู้แบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก ความรู้ ของผู้มีฐานะต่อรองกับผู้ไม่อยู่ในฐานะต่อรองได้ นั่น ก็เท่ากับว่าไม่สามารถอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง นั้นได้ อีกเช่นเดิม ที่ยังไม่เกิดปัญหาเพราะถูกบีบให้ยินยอม ถูกกำหนดให้ยินยอมอยู่ภายใต้ความขัดแย้งที่ไม่ สามารถโต้แย้งได้ เมื่อใดที่แรงบีบนั้นเบาบางลง สถานการณ์ก็คง กลับไปเป็นเช่นเดิม
(อ่านต่อวารสารบัณฑิตศาส์น มมร.เล่ม ๔)