วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552

การออกกำลังกายของพระสงฆ์

พระสงฆ์เป็นบุคคลที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้ เนื่องจากเป็นบุคคลที่ต้องดำรงอยู่ในกฎระเบียบที่เรียกว่า พระธรรมวินัย การกระทำใดแม้กระทั่งไม่ปรากฏในธรรมวินัย แต่เข้าข่ายเป็นโลกวัชชะ คือ โลกตำหนิติเตียนก็ทำไม่ได้ ไม่เหมาะสมกับสมณะสารรูป ก็ทำไม่ได้ ดังนั้นจึงทำให้พระสงฆ์ โดยเฉพาะพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทนั้นติดขัดด้วยกฎนอกจากที่เป็นกฎในพระธรรมวินัยแล้ว และยังมีกฎทางวัฒนธรรม ประเพณีด้วย
สำหรับพระสงฆ์ฝ่ายมหายานแล้ว การดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงนั้นเป็นกฎอย่างหนึ่งของพระสงฆ์ต้องปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ทั้งทางด้านการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บและเพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรมด้วย
กฎที่ว่าด้วยการปฏิบัติที่เรียกว่า ไม่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์ในการปฏิบัติตนนั้นอยู่ในหมวดสารูปแห่งเสขิยวัตร แต่โดยสรุปแล้วในหมวดนี้ ๒๖ ข้อนั้น จะเป็นมารยาทสำหรับพระสงฆ์ที่จะเข้าไปในบ้านของโยมและนั่งในบ้านของโยมทั้งสิ้น ไม่มีที่ระบุถึงการอยู่ในภายในกุฏิหรือภายในวัด ยกตัวอย่างเช่น ข้อ ๑๗ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่ไกวแขนไปในบ้าน
๑๘ ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่ไกวแขน ไปนั่งในบ้าน เป็นต้น จุดประสงค์ก็เพื่อไม่ให้ภาพของบุคคลที่ควรแก่การเคารพและของทักขิณา เป็นที่ตำหนิของผู้พบเห็นในที่สาธารณะ นอกจากนั้นในการพิจารณาปัจจัย ๔ ในข้อของอาหารบิณฑบาต นั้นกำหนดไว้ชัดว่า การบริโภคนี้ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อสดใส ไม่ใช่เพื่อความเปล่งปลั่ง จากข้อความนี้จึงเป็นเหมือนข้อห้ามของพระสงฆ์ที่ไม่สามารถจะกระทำการใดเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงที่ไม่เหมาะสม

คำถามมีอยู่ว่า พระภิกษุสงฆ์ออกกำลังกายได้ไหม
คำๆ นี้ต้องตีความคำว่า “ออกกำลังกาย” ให้ดีก่อน เพราะคำๆ นี้มีความหมายกว้างมาก การออกกำลังกายในความหมายของคนทั่วไปกับความหมายในพระพุทธศาสนานั้นใช้ต่างกัน ความหมายของการออกกำลังกายของคนทั่วไปนั้นเป็นไปเพื่อให้เกิดกำลังเพื่อให้ร่างกายเป็นประโยชน์ต่อการกระทำกิจของชาวโลก ท่าทางการออกกำลังกายจึงกระทำได้อย่างหลากหลายและกระทำได้ในที่ๆ เปิดเผยได้ บางครั้งการออกกำลังกายมีคำว่า เล่นออกกำลังกายด้วย แต่การออกกำลังกายสำหรับพระสงฆ์นั้นมีความหมายจำกัดเฉพาะ ทางพระพุทธศาสนาใช้คำว่า "บริหารขันธ์" หรือ การบริหารร่างกาย การออกกำลังกายของพระสงฆ์จึงแคบกว่า โดยต้องคำนึงถึงคำว่า ไม่ใช่เพื่อเล่น เพื่อเมามัน เพื่อความกำยำของร่างกาย แต่เพื่อให้ขันธ์นี้ดำเนินไปได้ ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ในพระพุทธศาสนาจึงถือว่า การบิณฑบาต กวาดวัด เป็นการบริหารขันธ์ไปด้วย นอกเหนือจากการกระทำกิจวัตรของพระสงฆ์แล้ว ท่าปฏิบัติแบบโยคะบางท่าก็เป็นการออกกำลังกายด้วย
เมื่อดูจากคำว่า การบริหารขันธ์ คือ ร่างกายนี้ ก็หมายความว่า พระสงฆ์สามารถจะออกกำลังกายคือบริหารขันธ์นี้ได้ แต่ต้องเป็นการออกกำลังกายด้วยความสำรวม ระวัง ไม่ยังให้ศรัทธาปสาทะของสาธุชนผู้ใฝ่ในธรรมเสื่อมไป ต้องทำด้วยความเหมาะสม พอดี ทำในที่อันควร ไม่แสดงไปตามวิสัยของชาวบ้าน
พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีออกกำลังกายที่เหมาะควรกับสมณเพศเป็นอย่างยิ่ง ทรงยึดหลักการปรับเปลี่ยนอิริยาบถทั้ง ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้มีความสมดุล โดยเฉพาะอิริยาบถเดิน ได้แก่ การเดินบิณฑบาต เช้าตรู่ของทุกวัน พระพุทธเจ้าและพระสาวก จะออกเดินบิณฑบาต ไปตามหมู่บ้านเป็นประจำ การบริหารกายนั้นต้องประกอบไปด้วยการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อน ส่วนการบริหารทางจิตนั้นต้องรู้จักปล่อยวาง รู้จักคิดให้ถูกทางให้เป็นประโยชน์ เมื่อสุขภาพทางกายและสุขภาพทางใจมีความสมดุลอย่างเหมาะสม ชีวิตจึงจะมีความสุข เมื่อร่างกายขาดความสมดุลกัน สิ่งใดสิ่งหนึ่งทำงานหนัก หรือหย่อนเกินไป การบริหารกายไม่สม่ำเสมอเป็นสาเหตุให้เกิดโรค
จากหลักฐานทางวิชาการที่มีการสำรวจกันพบว่า สภาวะอนามัยของพระภิกษุสามเณรโดยรวมแล้ว มักจะอาพาธด้วยโรคประจำตัวเรื้อรัง ถึงร้อยละ 36.8 โรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 11.3 และโรคเบาหวาน สาเหตุของการอาพาธ จากข้อมูลพบว่า มีความสลับซ้อนและมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับปัจจัยต่างๆ มากมาย เช่น ปัจจัยด้านปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ พฤติกรรม ความเชื่อ จิตวิญญาณ รวมทั้งปัจจัยด้านระบบบริการสุขภาพและสภาพแวดล้อม
มหาวิทยาลัยมหิดลสำรวจสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ กทม. พบจำนวน “พระอ้วน” เพิ่มขึ้น สาเหตุญาติโยมนำอาหารมาถวาย เลือกฉันไม่ได้ ซ้ำยังขาดการออกกำลังกาย มีการสัมมนาวิชาการเรื่อง “สุขภาวะของพระภิกษุสงฆ์ในเขตกรุงเทพมหานคร” จัดโดยภาควิชาอนามัยครอบครัว และฝ่ายวิจัยคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีการเสนอผลการวิจัยสุขภาวะพระภิกษุสงฆ์แบบองค์รวม ผู้วิจัยได้สำรวจจากการตรวจสุขภาพเบื้องต้นและสัมภาษณ์พระภิกษุสงฆ์จำนวน 417 รูป จาก 31 วัดในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 38 ปี ในจำนวนนี้ร้อยละ 60 เป็นกลุ่มอายุ 20-40 ปี เฉลี่ยบวชมาประมาณ 10 พรรษา โดยร้อยละ 42 บวชน้อย กว่า 5 พรรษา พบว่า พระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ปกติมาก สูงถึงร้อยละ 38.1 หรือ 159 รูป รองลงมาเป็นน้ำหนัก เกณฑ์ปกติ 37.6 หรือ 157 รูป และระดับต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 24.2 หรือ 101 รูป โดยในจำนวนนี้มีปัญหาความดันโลหิตสูงขั้นต้น ร้อยละ 23.4 หรือ 97 รูป และจากการสำรวจถึงพฤติกรรมส่งเสริมและดูแลสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ พบว่ามีปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากพระภิกษุสงฆ์เองไม่ได้ใส่ใจต่อเรื่องนี้เท่าที่ควร อย่างไรก็ดี ยังพบตัวเลขที่น่าสนใจ เพราะยังมีพระภิกษุสงฆ์ที่ต้องปรับปรุงพฤติกรรมออกกำลังกายถึง 51.8 หรือสูงถึง 216 รูป ดังนั้นเมื่อวิเคราะห์ในภาพรวมพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ในกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ จึงอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องปรับปรุงมากที่สุด โดยสูงถึงร้อยละ 90.9 อยู่ในเกณฑ์พอใช้เพียงร้อย 2.16
ดังนั้น การออกกำลังกายทุกวัน ก็เพื่อต้องการให้พระภิกษุ สามเณร มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีสภาวะจิตที่ดี จึงเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณา เพื่อกำหนดให้พระสงฆ์ได้ออกกำลังกายในท่าทางและสถานที่อันเหมาะสมได้
ประโยชน์อันจะได้จากการออกกำลังกายนั้นมีจำนวนมาก ทั้งเพื่อให้มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง เหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและเพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ เป็นการรักษาสุขภาพ และเพื่อรักษาโรคภัยที่เป็นอยู่แล้วให้หาย
สำหรับบางวัดได้กำหนดท่าทางการออกกำลังกายทั้งก่อนและหลังการปฏิบัติธรรม บำเพ็ญสมาธิภาวนา เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตและอวัยวะทั้งภายนอกและภายใน และเพื่อให้ข้อต่อและกล้ามเนื้อของอวัยวะส่วนต่างๆ มีการพับและหดตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยกำหนดอิริยาบถต่างๆ ผลแห่งการได้ออกกำลังกายที่เหมาะสม ทำให้พระสงฆ์มีสุขภาพดีขึ้น เจ็บป่วยน้อยลง ร่างกายต้องการอาหารดี หายใจเป็นปกติ อารมณ์จิตใจผ่องใส
สำหรับท่าบริหารขันธ์ของพระสงฆ์ที่สามารถทำได้ โดยการเคลื่อนไหวตามอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง และนอน แต่การบริหารขันธ์นี้มิใช่การบริหารธรรมดา แต่เป็นการกำหนดรู้เรียกว่า “การบริหารขันธ์ด้วยสติ” กล่าวคือ กำหนดรู้การเคลื่อนไหว ตามทันอิริยาบถ สามารถนำแนวการท่าโยคะที่เหมาะสมและซี่กงมาปรับใช้ได้ เพราะการออกกำลังกายทั้ง ๒ ประการนี้เป็นของเก่ามีมาแต่โบราณ ซึ่งฤาษีชีไพร ปฏิบัติให้ร่างกายปรับสมดุล จิตใจปลอดโปร่ง
ท่าต่างๆ ของโยคะและซี่กงนั้นศึกษาได้จากตำราที่มีอยู่แล้วโดยระบุถึงท่าไหนสามารถรักษาโรคอะไร ให้กำลังกายส่วนไหน ควรทำเป็นเอกสารเฉพาะไว้ได้ ถือเป็นคู่มือปฏิบัติการออกกำลังกายโดยมีสติกำหนดรู้ เป็นประโยชน์ทั้งกายและใจ
ในที่นี้ขอแนะนำสัก ๒ ท่า คือ
ท่าที่ ๑ การยืนแกว่งแขน โดยแกว่งขึ้นเบาๆ แต่สะบัดลงแรงๆ ให้กำหนดรู้ หายใจเข้าออกขณะยกขึ้น หายใจออกแรงๆ ขณะสะบัดลง ทำอย่างน้อย ๑๕ นาที หรือประมาณ ๕๐๐ ครั้ง ต่อวัน เป็นประโยชน์ต่อระบบทางเดินหายใจดียิ่ง
ท่าที่ ๒ ก้มลงช้าๆ จนมือแตะพื้น กำหนดรู้ด้วย และยกมือขึ้นหงายไปด้านหลังจนสุด ขณะก้มลงให้หายใจเข้า ขณะหงายหลังไปให้หายใจออก ทำอย่างนี้ประมาณ ๑๐๐ ครั้ง ต่อวัน ดีมากสำหรับระบบทางเดินอาหาร

ไม่มีความคิดเห็น: