วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กะเทาะตถาทัศนะมหายาน











บทความนี้อยู่ในหนังสือ ตถาทัศนมหายาน กำลังจะวางแผงเร็วๆ นี้






กะเทาะตถาทัศนะมหายาน

ข้อพึงระวัง
พระพุทธศาสนามหายานเป็นการใส่ยี่ห้อลงไป การใส่ยี่ห้อลงไปในแนวทางปฏิบัติเช่นนี้ต้องระมัดระวังเพราะจะนำมาซึ่งการยึดติดในยี่ห้อ เมื่อนานวันเข้าผู้ที่มีสติปัญญาอันน้อยก็ไม่สามารถแยกแยะออกได้ว่า แท้จริงคืออะไร ไม่เพียงเฉพาะพระพุทธศาสนามหายาน แม้แต่พระพุทธศาสนาเถรวาทเองก็ตาม การใส่คำว่า เถรวาทเข้าไปตามหลังคำพระพุทธศาสนาก็เป็นเหตุให้สงสัยว่า เหตุใดต้องเถรวาท บุคคลที่ไม่เข้าใจและมีสติปัญญาตามไม่ทันก็จะยึดติดในคำ “เถรวาท” ถ้าไม่ใช่เถรวาทก็จะไม่ยอมรับ อาการยึดติดยี่ห้อนี้มีมานานนับพันปี ทำให้พระพุทธศาสนาทั้งเถรวาทและมหายานนั้นไม่สามารถที่จะทำงานร่วมกันได้ เพราะต่างฝ่ายต่างมองเห็นความบกพร่องของกันและกัน จวบจนกระทั่งไม่นานมานี้เอง ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายานเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นในการทำงานร่วมกันได้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความรู้สึกไม่แยกแยะกันและกันออกได้ก็คือ การรู้สึกลืมยี่ห้อของตนออกไป มีแต่เพียงความรู้สึกว่า “เราคือพระพุทธศาสนา”
พระพุทธศาสนาย่อมมีหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา หลักการสำคัญนั้นก็คือ การละความชั่ว การทำความดี และการชำระจิตของตนให้ผ่องใส งดงาม ไม่ว่าจะเป็นนิกายไหน สำนักอะไรถ้าเป็นพระพุทธศาสนาแล้วหลักการนี้จำเป็นต้องมีอยู่เสมอ จะเห็นได้จากพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้าทุกคนต่างบำเพ็ญเพียรกระทำคุณงามความดีทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่นอยู่เสมอ ก็เมื่อมีวิถีเดียวกันก็ไม่ต้องไปสนใจอะไรประการอื่นเพราะเพียงเท่านั้นก็เท่ากับได้ตั้งตนไว้ชอบตามหลักการในพระพุทธศาสนาแล้ว




อุดมคติ

ปัญหาเรื่องอุดมคติก็กลายเป็นเรื่องที่คอยจะรบกวนความรู้สึกของชาวพุทธทั้งหลายเหมือนกัน เพราะเพียงอุดมคติไม่เหมือนกันก็พลอยทำให้ไม่เข้าใจกันและพลอยทำให้มองเห็นความบกพร่องในอุดมคติของกันและกันขึ้นมาทันที ให้พิจารณาตัวอย่างนี้ดูว่า สมควรที่จะมองให้เป็นปัญหาหรือไม่ สมมติว่า ครอบครัวนายพุทธซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด มีลูก ๒ คน คือ นายวาท และนางสาวโพธิ์ นายพุทธบอกแนวทางแห่งความเป็นคนดีที่สุดไว้ ๓ ทาง คือ

๑. เป็นผู้ใหญ่บ้าน
๒. เป็นนายกองค์กรอิสระ
๓. เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
พร้อมกับบอกเงื่อนไขไว้พร้อมว่า การเป็นผู้ใหญ่บ้านนั้นเป็นได้ทันที เพราะพ่อจะคอยอบรมให้ และให้ยึดแนวทางที่พ่อสอนตลอดไป แต่ว่าการทำคุณประโยชน์ต่อสังคมอาจมีจำกัด คือต้องช่วยเหลือพ่อทำประโยชน์ต่อไป ส่วนการเป็นนายกองค์กรอิสระนั้น เป็นได้โดยการทำความดีไว้ให้มากๆ ขึ้นก็จะเป็นได้เองต่อไป และเป็นเพียงผู้เดียว ไม่ต้องคอยช่วยเหลือใคร และไม่ต้องคอยใครช่วยเหลือ ข้อจำกัดคือ ไม่สามารถวางนโยบายช่วยเหลือสังคมได้ แต่ก็เป็นตัวแทนชักนำสังคมทำความดีได้ ส่วนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเหมือนพ่อนั้นต้องทำความดีให้มากๆ ยิ่งขึ้น ก็จะเป็นได้เอง และต่มีสิทธิพิเศษ คือสามารถสร้างองค์การช่วยเหลือสังคมได้มาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้ง ๓ เส้นทางนี้ ผู้จะเป็นได้ต้องผ่านการตรวจปลอดเชื้อโรค ๑๐ ประการก่อนทั้งนั้น ถ้ามีเชื้อโรคอยู่ก็ไม่สามารถเป็นได้ทั้ง ๓ ตำแหน่ง

ลูกชายนายวาทบอกกับพ่อว่า ขอเป็นผู้ช่วยเหลือพ่อดีกว่า พร้อมที่จะได้รับการอบรมพร่ำสอนจากพ่อ เพื่อความสะดวกต่อการดำรงชีวิตที่เหลืออยู่ เหลือชีวิตเท่าไรก็ทำเท่านั้นไม่ต้องการที่จะขวนขวายสิ่งอื่นใดอีก สิ่งที่สำคัญคือ พยายามให้ปลอดเชื้อโรค ๑๐ ประการแล้วก็พอ ด้วยวิธีการตามมัชฌิมาปฏิปทาและมัชเฌนธรรม
ส่วนลูกสาวโพธิ์บอกกับพ่อว่า จะดำเนินรอยตามพ่อที่เป็นผู้ว่า จะขอปรารถนาตั้งใจเป็นผู้ว่าคนต่อไป จะได้ช่วยเหลือคนได้มากๆ ดังที่พ่อทำอยู่ขณะนี้ แม้ว่าจะยังไม่ปลอดเชื้อโรคตอนนี้ แต่ก็จะพยายามขจัดเชื้อโรคนี้ต่อไปในกาลข้างหน้า ขอเพียงพ่อบอกวิธีขจัดโรคไว้ก็พอ นั่นก็คือ การบำเพ็ญบารมี ๖ ประการ

อยู่ต่อมา เมื่อพ่อสิ้นไปแล้ว ลูกชายกับลูกสาวเริ่มมีปากเสียงกันเรื่องสถานะใดดีกว่ากัน นายวาทบอกกับน้องว่า เธอนี้โง่ เชื้อโรคติดอยู่ก็ไม่ยอมขจัดให้หมดไปโดยเร็ว แถมยังหวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะเป็นผู้ว่าอีก ทำตัววัดรอยเท้าพ่อคิดเกินตัวไปหน่อยนะ นางสาวโพธิ์ก็ตอกกลับพี่ว่า ก็ความคิดแคบๆ ได้แค่นี้ ขอแค่ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านช่วยพ่อเท่านั้น มันจะสักเท่าไหร่เชียว ไม่เห็นจะใช้ความพยายามอะไร ดีแต่กลัวว่าตนเองจะไม่ปลอดเชื้อถึงกับยอมหลบลี้หนีหน้าไปรักษาตัว อาศัยเพื่อนๆ ช่วยกันประคองหมู่บ้านให้ ทั้งที่พ่อเราทำเป็นตัวอย่างไว้แล้วแทนที่จะทำตามกลับไม่มีใครจะรักษาอุดมการณ์ไว้บ้างเลย แล้วอย่างนี้ประชาชน สรรพสัตว์จะสงบสุขอย่างไร

ลูกทั้งสองคนของผู้ว่าราชการจังหวัดพุทธยิ่งนับวันก็ยิ่งไม่ลงรอยกันมากขึ้น ฝ่ายลูกชายก็พยายามรักษาคำสอนที่พ่อพร่ำสอนไว้ไม่ให้ผิดเพี้ยนสูญหาย ฝ่ายลูกสาวพยายามเข้าถึงชาวบ้านช่วยเหลืออะไรก็ทำทุกอย่าง เพื่อทำตนให้เหมือนที่พ่อเคยทำมาก่อนจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ในที่สุดครอบครัวของนายพุทธก็ต่างคนต่างทำ ไม่ร่วมมือกันทั้งที่ทำงานลักษณะเดียวกันคือ ช่วยเหลือสารทุกข์ของชาวบ้าน ทำไปก็วิพากษ์วิจารณ์กันไปในทีว่า สิ่งที่แต่ละคนทำนั้นไม่ถูกต้อง

จากเหตุการณ์สมมตินี้พอจะมองออกถึงลักษณะของพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายานที่มีมาตลอดระยะเวลานับ ๒๐๐๐ ปี คือไม่สามารถจะร่วมมือกันได้ เพียงเพราะอุดมคติไม่ใช่อันเดียวกัน ทั้งที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้วางแนวทางไว้ อยู่ที่ใครจะเลือกแนวทางไหนเท่านั้น แต่ไม่ว่าแนวทางไหนต่างก็ต้องขจัดโรค ๑๐ ประการออกไปให้หมด ซึ่งก็ได้แก่สังโยชน์ทั้ง ๑๐ นั่นเอง

เพียงแค่ปรับทัศนคติเพียงนิดเดียวก็สามารถช่วยเหลือกันและกันอย่างกลมกลืน คือ ยึดการช่วยเหลือผู้อื่นเป็นที่ตั้ง และเพียรพยายามรักษาโรคของตนให้เบาบางและให้หมด ส่วนใครปรารถนาจะเป็นผู้ใหญ่บ้านช่วยพ่อหรือใครจะเดินตามรอยพ่อนั้นเป็นสิทธิของใครของมันไม่ควรนำมาเป็นข้อเปรียบเทียบ เพราะไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ไม่สำคัญสำคัญอยู่ที่อุทิศตนช่วยเหลือสรรพสัตว์และรักษาตนให้พ้นโรคเท่านั้น ส่วนใครจะปลอดโรคตอนไหนเมื่อไหร่ไม่สามารถพยากรณ์ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องเหลือวิสัย สำหรับสถานะตำแหน่งนั้นเป็นได้ทันทีที่ปรารถนา ส่วนจะมีใครรับรองว่าเป็นจริงนั้นเป็นเรื่องของอนาคตกาล อยู่ที่ปลอดโรคทั้ง ๑๐ เมื่อใดก็เมื่อนั้น ถ้าหากปรับทัศนคติกันเท่านี้ก็จะทำให้ครอบครัวนี้กลับมาสร้างสรรค์โลกนี้ให้เกิดความสงบสุข ช่วยเหลือกันและกันมากขึ้น

หรืออาจจะเปรียบเป็นศิลปินในค่าย ศิลปินอิสระ และเจ้าของค่ายศิลปะ ต่างก็มีความเด่นเฉพาะตนคือ ความเป็นศิลปินทั้งนั้น เพียงแต่เงื่อนไขอาจจำกัดต่างกัน ไม่ควรนำข้อจำกัดนั้นมาเป็นเงื่อนไขพัฒนางานศิลป์ เพียงแต่ใครที่ปรารถนาจะเป็นอะไรก็เป็นไปได้และพร้อมจะชื่นชมความตั้งใจนั้น ศิลปินในค่ายก็คือ สาวกยาน ศิลปินอิสระก็คือ ปัจเจกโพธิยาน ส่วนผู้ตั้งค่ายศิลปะก็คือ โพธิสัตวยาน สิ่งที่สำคัญอยู่ที่การพัฒนางานศิลป์และการได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปิน ก็เท่านั้น


การดำรงอยู่ร่วมกัน
สิ่งที่พระพุทธศาสนายังคงเป็นศาสนาที่รักสันติและไม่เคยมีความรุนแรงเกิดขึ้นมา แม้ว่าจะไม่เข้าใจกันก็ตาม ก็เพราะพระพุทธศาสนายึดมั่นในหลักสาราณียธรรม ซึ่งเป็นหลักที่สามารถสร้างสังคมให้เป็นสังคมอุดมปัญญาที่แท้จริง นั่นก็คือ
๑. ทำอะไรก็ทำด้วยเมตตา
๒. พูดอะไรก็พูดด้วยเมตตา
๓. คิดอะไรก็คิดด้วยเมตตา
๔. มีอะไรก็เอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน
๕. ประพฤติตนไปในทิศทางเดียวกัน (ขจัดโรค)
๖. คิดไปในทิศทางเดียวกัน (ช่วยเหลือสรรพสัตว์)
นี่เป็นจุดหมายสูงสุดในการจะสร้างสังคมให้สงบสุข ไม่มีทางอื่นอีกแล้ว และปัจจุบันความคิดสากลกำลังจะกลับมาถึงแนวทางนี้ เพราะโลกกำลังถูกบีบคั้นจากหลายๆ ด้าน ทั้งภัยธรรมชาติ ภัยอันเกิดจากมนุษย์ ภัยอันเกิดจากโรค สมควรแล้วที่ทุกฝ่ายต้องดำเนินตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้