วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ปัญหาภาษา






โศลกที่สิบเอ็ด ปัญหาภาษา
เนื้อหาในภาษาหนึ่งใด
ย่อมมีระดับความลึกซึ้งแคบกว้างต่างกัน
ดังคำ ย่อมศึกษา (สิกขติ) ในเชิงปฏิบัติ
มิใช่เรียนรู้ สั่งสมข้อมูลตามโลกเข้าใจ
แต่เป็นการพิจารณาด้วยสติ
รู้ตัวทั่วพร้อม เห็นแจ้งทั่วถึง
น้อมใจประคอง ตั้งมั่นรู้ยิ่งรู้ชัดหยั่งรู้ (ญาณ)
อีกทั้งต้องผ่านขั้นกำหนดรู้ (ปชานาติ) ก่อน
สิกขติอยู่ในบริบทเหลือแต่ลมหายใจ
บริบทลมหายใจแผ่วเบาและสงบระงับ
เป็นต้นไปจวบจนถึงการปล่อยวาง


สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่สุดสำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั่นก็คือการสื่อสาร สิ่งที่รู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องการถ่ายทอดออกไปให้ใครๆ ได้รับรู้ แต่สื่อที่จะส่งไปให้เขาผู้นั้นเข้าใจได้ตามที่ตนต้องการทุกความรู้สึกที่มีอยู่ภายในนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ ภาษาที่มีอยู่ ที่ใช้อยู่ในเผ่าพันธุ์ของคนจำกัดเหลือเกินที่จะแสดงความรู้สึกนั้นให้ผู้อื่นเข้าใจได้อย่างหมดจด แจ่มแจ้งทุกแง่มุม ทุกความรู้สึกที่มีอยู่ภายในตน


ระบบภาษาเป็นกฎเกณฑ์ เป็นกรอบแห่งคำและเสียงที่สมมติขึ้นเรียกปรากฏการณ์ อารมณ์ ความรู้สึกของคนในเผ่าของตน เฉพาะเผ่าเดียวกันฟังภาษาเดียวกันก็ยากพอแล้วที่จะเข้าใจทุกเจตจำนงที่ต้องการแสดงให้ผู้อื่นทราบ ไม่ต้องพูดถึงหากมีการนำภาษาของเผ่าพันธุ์หนึ่งไปใช้กับอีกเผ่าพันธุ์หนึ่งให้เข้าใจอย่างที่ความรู้สึกของเผ่าพันธุ์ตนเข้าใจ เป็นเรื่องยากจริงๆ กล่าวได้แต่ว่าให้ทำใจไว้ ความเข้าใจในภาษานั้นลดลงประมาณ ๑๕ เปอร์เซ็นต์


เช่นคำว่า ศาสนา โลกใช้คำภาษาอังกฤษว่า Religion ผู้ที่เป็นเจ้าของภาษาที่ใช้คำนี้ต่างเข้าใจไปตามฐานแห่งบริบทวัฒนธรรมของตนของตน ซึ่งไม่ตรงกับความเข้าใจเดียวกัน แม้จะอธิบายให้ทราบได้ว่า สมมติให้เรียกความเชื่อของใครของมันทั้งระบบ แต่เมื่อฟังคำนี้ระบบความเข้าใจที่เป็นรากเหง้าของตนก็จะแสดงความรู้สึกอย่างนั้นออกมา หากมีใครแสดงไปในทางอื่นตามรากเหง้าของเขาเอง ก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้นมาทันทีว่า Religion ไม่ใช่หมายความอย่างนั้น

ในพระพุทธศาสนา คำว่า “ศาสนา” มีความหมายว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ทางตะวันตก เจ้าของคำว่าว่า “Religion” หมายถึง วิวรณ์ที่ได้รับจากพระเจ้า แล้วอย่างนี้จะให้ความเข้าใจของคนสองเผ่านี้เข้าใจกันและกันที่ตรงกันภายในระบบความเชื่อของตนได้อย่างไร


ปัญหาที่ยากเข้าไปอีกระดับหนึ่งก็คือ ระบบภาษาเป็นความคุ้นเคยของเผ่าพันธุ์ที่ตนได้ผลิตคำขึ้นมาใช้ เป็นคำที่เป็นเสียงก่อน ก่อนที่จะกำหนดเป็นสัญลักษณ์ (อักษร) ขึ้นมาแทนเสียงที่พูดกัน อักขระที่ใช้กันนั้นก็จำกัดเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ทุกคนถูกกรอบแห่งอักขระนี้บังคับให้พูดตามที่ภาษากำหนด พูดเกินหรือน้อยกว่านั้นก็ไม่ได้ พูดสั้นหรือพูดยาวกว่านั้นก็ไม่ได้ สุดท้ายแล้วกรอบแห่งระบบอักขระที่เรียกกันว่า ภาษา นี้ก็บอนไซคนให้สื่อสารได้เพียงเท่าที่อักขระที่รัฐกำหนดไว้เท่านั้น ไว้อย่างนั้น เท่านั้นเอง มีหรือที่เราจะพูดหรือคิดได้นอกเหนือไปจากภาษาที่กำหนดไว้ ลองทำดูได้ เพราะเราไม่สามารถคิดได้เกินเลยจากระบบภาษาที่เขาระบุให้พูด (สังกัป) นี่คือการบอนไซคนไว้ให้อยู่แต่ภายในกรอบภาษาเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เมื่อมีใครก็ตามทำตามระบบภาษานี้อย่างเคร่งครัด ฝึกตามเกณฑ์ภาษาอย่างถูกต้อง ถ่ายทอดตามเกณฑ์ภาษาได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ยึดมั่นในกฎเหล็กแห่งภาษาได้อย่างสมบูรณ์แบบ เขาผู้นั้นจะได้รับการยกย่องว่ามีความรู้ ฉลาด เป็นอัจฉริยะ เมื่อมองอีกแง่มุมหนึ่งเขาคือคนบอนไซที่ถูกตัด ถูกดัด ถูกตอน ถูกกระถางครอบได้อย่างไม่มีที่ติเท่านั้นเอง



ปัญหาที่ยากเข้าไปอีกระดับหนึ่งของภาษาก็คือ "การตีความ" แม้แต่เป็นคำของเผ่าพันธุ์เดียวกันซึ่งน่าจะเข้าใจกันได้ไม่ยาก แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะมีการตีความคำนั้นไปคนละอย่างตามความรู้สึก โดยเฉพาะความรู้สึกของชายหญิง ซึ่งมักตรงกันข้ามกับคำที่พูดออกไป ตามฐานแห่งความรู้และตามฐานแห่งศาสตร์ของคำ ปัจจุบันจึงมีคำว่า “วาทกรรม” ขึ้น วาทกรรมนี้เป็นองค์ความรู้ของคนที่ใช้ จะตื้นลึกแคบกว้างก็อยู่ที่ฐานข้อมูลที่มีอยู่ในตนของบุคคลผู้นั้น เช่น คำว่า ความตาย วาทกรรมของนักกฎหมาย ของตำรวจ ของแพทย์ ของนักสังคมสงเคราะห์ ของนักการศาสนา ของนักธุรกิจ ของนักจริยธรรม ของนักปกครอง นักภาษา ล้วนมองความตายไปคนละแง่มุม ทั้งที่เป็นภาษาเดียวกันและเผ่าพันธุ์เดียวกัน

ความตายของนักกฎหมายมองความตายเป็นมาตราตามกฎหมายอาญา ความตายของตำรวจมองไปที่ความเป็นอาชญากรรมหรือไม่ มีอะไรซ่อนเงื่อนอยู่ตรงนั้น นักธุรกิจมองความตายว่าเป็นการสูญเสียทางทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลคือคนที่ตาย และทรัพย์สินที่ต้องใช้ไปกับคนที่ต้องตาย นักการศาสนา มองความตายเป็นการสิ้นอายุ สิ้นบุญ สิ้นอายุและบุญ กรรมมาตัดรอน มองเห็นเป็นบาปบุญ นรกสวรรค์ นี่เป็นการตีความไปตามวาทกรรมของคนที่มีฐานใดก็ตีความไปตามบริบทของฐานนั้น สำหรับนักภาษาก็จะมองความตายอยู่ที่อักขระที่ใช้เรียกอาการและฐานะของคนตาย ไม่ว่าจะเป็นการเห็นเป็นภาษาว่า ตาย สิ้นลม อาสัญกรรม ทิวงคต มรณภาพ สวรรคต เป็นต้น การตีความเหล่านี้ถ้าหากไม่เข้าใจวาทกรรมของกันและกันตามฐานของบุคคลที่พูดก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้นเพราะมองคนละมุม คนละสังกัปแห่งวาทกรรม



ปัญหาความยากของภาษามีอีกชั้นหนึ่งก็คือ ความก้าวกระโดดระหว่างภาษาที่เกิดขึ้นกับสังคมที่เจริญเติบโตขึ้นโดยเฉพาะเครื่องมือถ่ายทอดภาษา ได้แก่ สื่ออิเลคโทรนิคและโลกไซเบอร์ทั้งหลาย เครื่องมือเหล่านี้ใช้ภาษาของตน ทำให้ภาษาที่เข้าใจกันแต่เดิมสำหรับคนยุคเดิมกับคนยุคใหม่มีความเหลื่อมล้ำ คนละมิติ ไม่ไปด้วยกัน จึงมีคนในครอบครัวระหว่างพ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่เข้าใจลูกหลาน ลูกหลานก็ไม่เข้าใจพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เนื่องจากสังกัปของภาษาเป็นคนละระบบ ระบบหนึ่งเป็นระบบแบบ Analog ส่วนระบบหนึ่งเป็นแบบ Digital อีกระบบหนึ่งเป็นแบบ 3G


ความเข้าใจภาษาของแต่ละระบบนั้นต่างกัน มีความลึกซึ้งต่างกัน มีแง่มุมที่ถ่ายทอดความรู้สึกต่างกัน ก่อนนั้นรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายต้องหนังสือเงียบๆ คนเดียวจะได้มีสมาธิจดจำได้ง่าย บัดนี้เด็กอ่านหนังสือเงียบๆ ไม่ได้ อ่านไปด้วยต้องเปิดทีวีไปด้วย ปัจจุบันอ่านไปด้วย ต้องเปิดทีวีไปด้วย Chat ไปด้วย และบางครั้งต้องคุยโทรศัพท์ไปด้วย โลก Digital ต้องทำพร้อมกันหลายระบบได้ ทำระบบเดียวทำให้เสียโอกาสและเวลา ดังนั้นภาษาโลก Analog และ Digital จึงไม่สามารถเข้าใจกันตามที่คนพูดและคนฟังจะรับรู้ได้ทุกความรู้สึก ทุกแง่มุมและสมบูรณ์ตามเนื้อหาและบริบทที่ต้องการสื่อได้



โศลกว่า “ดังคำ ย่อมศึกษา (สิกขติ) ในเชิงปฏิบัติ” ภาษาแห่งการปฏิบัตินั้นเป็นภาษาที่ไร้กฎเกณฑ์ของระบบภาษาศาสตร์ที่โลกสมมติขึ้นใช้ คำว่า ศึกษาของชาวโลกนั้นเป็นเพียงระดับปริยัติ แต่ศึกษาในที่นี้เป็นภาษาของโลกประสบการณ์ โลกแห่งการปฏิบัติ โลกประสบการณ์นี้ไม่จำเป็นที่ใครๆ ต้องมาเรียนภาษาของกันและกัน
ถ้าหากเป็นคนด้วยกันก็ย่อมเข้าใจภาษาประสบการณ์ของกันและกันได้ เป็นภาษาแห่งความรู้สึกภายใน เสียงแห่งความทุกข์ เสียงแห่งความสุข เสียงแห่งความยินดี เสียงแห่งความโกรธ เสียงแห่งความรัก เสียงแห่งความขบขัน หัวเราะ ล้วนแล้วแต่รับรู้ของกันและกันได้ภายในความรู้สึกของตนทันที เป็นภาษาที่ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ทางอักขระไวยากรณ์มากำกับ ไม่ต้องเป็นไปตามฐานวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ ไม่ต้องมีวาทกรรม ภาษาแห่งการปฏิบัติมุ่งหมายไปที่ความรู้สึกแห่งประสบการณ์ของตนของตน

อุปสรรคของการปฏิบัติก็คือการนำภาษาแห่งโลกบัญญัติที่รวบรวมข้อมูลไว้ในระบบความจำมาใช้ โดยแบ่งความคิดไว้กับภาษาเหล่านั้น ความสุข ปีติ อุเบกขา ทุกขเวทนา ความรัก ไม่มีภาษาที่บ่งบอกแสดงความรู้สึกนั้นได้ อักษรที่เขียนลงไปก็ไม่ได้บ่งบอกถึงความรัก เพราะยิ่งบ่งบอกอธิบายความรักออกเป็นภาษาให้คนรู้ได้ ความรักนั้นก็ไม่ใช่ความรักที่มีในความรู้สึกอีก แต่เป็นแค่เมนูความรักเท่านั้นเอง เพราะความรักนั้นเป็นรสแห่งประสบการณ์ มิใช่เมนูที่เขียนไว้

เราไม่อาจแสดงรสหวานออกมาเป็นตัวอักษรได้ แต่ทุกคนรู้จักความหวานว่ามีรสอย่างไร ในการปฏิบัติมุ่งเน้นไปที่ประสบการณ์นั้น ถ้าใครนำประสบการณ์นั้นแปลงเป็นภาษาอีกละก็นั่นแหละคืออุปสรรคหละ จะเห็นได้ว่าคนในยุคนี้พยายามอ่านแต่เมนูความรักเท่านั้น ไม่ได้มีประสบการณ์แห่งความรัก


คนที่อ่านเมนูความรักเสียจนขึ้นใจก็เข้าใจว่าตนมีความรักแล้ว เหมือนกับคนอ่านวิธีทำอาหารเสียจนขึ้นใจ ก็เข้าใจว่า ตนเป็นพ่อครัวไปทันทีอย่างนั้น เหมือนกับนักศึกษาเรียนวิธีทำนาในคอมพิวเตอร์แยกแยะกระบวนการทำนาได้อย่างช่ำชอง ก็นึกว่าตนเป็นชาวนาไปแล้วฉะนั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สังคมเป็นสังคมที่เขาเรียกว่า สังคมเรียนแบบความจริง (Hyper Reality Society) แต่มิใช่เป็นประสบการณ์จริง
div>
ย่อมศึกษาว่า ลมหายใจเข้าออกสั้นหรือยาว จึงเป็นคำที่ลึกซึ้งบ่งบอกถึงประสบการณ์ที่ชัดเจนในความรู้สึก ดังกับคนรักที่มีความรักอย่างล้ำลึก บอกออกมาเป็นถ้อยคำไม่ได้ ย่อมศึกษาในที่นี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นความรู้ตัวทั่วพร้อม เห็นแจ้งทั่วถึง น้อมใจประคอง ตั้งมั่นรู้ยิ่ง รู้ชัด หยั่งรู้ (ญาณ) ในลมหายใจนั้น ย่อมศึกษาคำเดียวประกอบพร้อมด้วยสำรวมระวัง ความตั้งมั่นและความรู้แจ้งอยู่ภายในคำนั้นแล้วใช้คำแห่งประสบการณ์นั้นตระหนักรู้ลมหายใจเข้าออกสั้นยาวที่บางเบา สงบระงับ
จะเห็นได้ว่า คำว่าศึกษา ในความหมายเชิงปฏิบัตินั้นไม่ใช่ศึกษาตามความหมายที่โลกภายนอกใช้ แต่เป็นความหมายแห่งประสบการณ์ภายใน ประสบการณ์แห่งการศึกษาภายในนี้เป็นโลกที่ไร้ขอบเขต ไร้การบอนไซ ไร้ไวยากรณ์ภาษา ไร้ข้อมูล ไร้การตีความ แต่เป็นประสบการณ์อย่างเดียว


ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนพระเถระที่ทรงภูมิความรู้ในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าเป็นเพียง “พระใบลานเปล่า” เพราะการรวบรวมข้อมูลไว้ในความทรงจำมาก แทนที่จะได้รับประทานอาหารจริงๆ แต่กลับหลงไปอ่านเมนูอาหารด้วยเข้าใจว่า รับประทานอาหารเข้าไปแล้ว ไม่ว่าไปที่ไหนก็ไปอ่านเมนูอาหารให้ผู้อื่นฟัง แม้กระทั่งในอยู่ในภายการปฏิบัติก็ยังอดไม่ได้ที่จะอ่านเมนูอาหาร เป็นเพียงการใช้ปริยัติในการปฏิบัติเท่านั้น กล่าวคือ ไปปฏิบัติธรรมด้วยการท่องตำราในความคิดเท่านั้น นี่เองจึงเป็นอุปสรรคในการบรรลุผลแห่งการปฏิบัติที่แท้จริง

เปรียบเหมือนการฝึกว่ายน้ำ ในการฝึกว่ายน้ำนั้นคือการลงไปว่ายน้ำ มีแต่น้ำกับการว่าย ไม่มีตัวหนังสือว่าด้วยเรื่องการฝึกว่ายน้ำ ใครที่มาคำนึงถึงตัวหนังสือว่ายน้ำที่เป็นปริยัติอยู่ในขณะว่ายน้ำ ทำให้การว่ายน้ำนั้นไม่ถูกต้อง ไม่มีพลัง ไม่มีความก้าวหน้า สุดท้ายก็จมน้ำ การว่ายน้ำเป็นประสบการณ์ที่ใช้แรงทุกส่วนของร่างกายเข้าไปว่ายน้ำ มีความเหนื่อยปรากฏ มีพลังงานปรากฏ สติกับแรงกายใช้ไปกับการว่ายน้ำ ยกเว้นความคิดว่ายน้ำ เมื่อใดที่ใช้ความคิดว่ายน้ำท่านกำลังจะจม


โศลกว่า “อีกทั้งต้องผ่านขั้นกำหนดรู้ (ปชานาติ) ก่อน” แน่นอนว่า ไม่ว่าจะทำอะไรจะต้องเข้าใจในเรื่องนั้นๆ เสียก่อน เพราะความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ทำให้มีทิศทางและความถูกต้องในเรื่องนั้น ไม่เว้นแม้กระทั่งการกำหนดรู้ลมหายใจ การกำหนดรู้ลมหายใจเป็นขั้นตอนของการทำความเข้าใจ เป็นเรื่องของการนำแนวคิดมาประกอบ เมื่อหายใจยาวก็รู้ว่ายาว เมื่อหายใจสั้นก็รู้ว่าสั้น เป็นเพียงขั้นตอนของการทำความเข้าใจรู้ในความสั้นยาวของลมหายใจเข้าออก

แม้ว่าจะเป็นการกระโดดลงไปว่ายน้ำแล้ว แม้ว่าจะนั่งขัดสมาธิแล้ว แต่เบื้องต้นต้องทำความคุ้นเคยกับน้ำและร่างกายก่อน น้ำและร่างกายเริ่มสัมผัสสัมพันธ์กันได้แล้ว กายกับใจเริ่มสัมผัสสัมพันธ์กันได้แล้ว ขั้นต่อไปนี้ต้องสลัดความเข้าใจระหว่างน้ำกับกายเสีย แต่ให้เป็นการว่ายกับสติที่กำกับการว่ายเท่านั้น เช่นเดียวกับการมีสติกับลมหายใจ (กาย) เท่านั้น อย่าให้ความคิดเข้ามาแทรกไม่ว่าจะเป็นการว่ายหรือการฝึกปฏิบัติธรรม ขั้นตอนนี้เองจึงเป็นภาระหน้าที่ของการศึกษา (สิกขติ) ไม่ใช่กำหนดรู้ (ปชานาติ)

โศลกว่า “บริบทลมหายใจแผ่วเบาและสงบระงับ” ประสบการณ์ของการปฏิบัติธรรมย่อมเป็นเช่นเดียวกันสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ประสบการณ์ของลมหายใจที่ผ่านขั้นตอนของการกำหนดรู้มาชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว ภาษาอาจเรียกว่า วิตก วิจาร ก็แล้วแต่ แต่ประสบการณ์ของทุกคนที่อยู่ในสภาวะนี้ล้วนแล้วแต่เข้าใจเหมือนกัน เช่นเดียวกัน ดุจดังคนที่มีความรักและเข้าใจความรัก คนที่ทานน้ำผึ้ง ลิ้มรสน้ำผึ้ง ก็ย่อมเข้าใจคนทานน้ำผึ้ง จะเรียกว่าหวานหรือไม่ ไม่สำคัญอีกต่อไป แต่เป็นประสบการณ์ของรสน้ำผึ้งเช่นเดียวกัน



ขณะนี้เป็นขณะแห่งความแผ่วเบาของลมหายใจ ความแผ่วเบานี้เป็นประสบการณ์ที่รับรู้ร่วมกันของผู้ปฏิบัติ ไม่มีคำร้องเรียก รสของความแผ่วเบานี้เป็นความเย็น (สัพพกายปฏิสังเวที) ดุจดังรสของความรักของคนรักคือความดื่มด่ำ เป็นประสบการณ์เช่นนั้น ไม่มีคำร้องเรียกได้ถูกต้อง เมื่อใดก็ตามความแผ่วเบาเข้าถึงแดนแห่งความสงบระงับลมหายใจ ไม่ใช่ไม่หายใจแต่เป็นญาณที่เข้าไปสลายลมหายใจซึ่งเป็นรูปให้เหลือแต่เพียงความว่างเท่านั้น เมื่อนั้นคำว่าลมหายใจก็หายไป เหลือแต่ความว่าง รสแห่งความว่างนี้เป็นประสบการณ์แห่งความสงบเย็น (ปัสสัมภยัง กายสังขาร) มีแต่ความว่างเข้าออก เป็นสติที่รู้อัสสาสะ ปัสสาสะเท่านั้น เพราะกายสังขารคือความเป็นลมหายใจได้สงบระงับไปแล้ว

คำที่ใช้ในภาษาไทยที่แปลคำว่า “ปัสสัมภยัง” ยังหาคำที่ตรงกับประสบการณ์ที่ปรากฏในการปฏิบัติแห่งขั้นตอนนี้ไม่ได้ ไม่ครอบคลุมสภาวะนี้ ก็ได้แต่เรียกว่า สงบระงับบ้าง รำงับบ้าง สงบเย็นบ้าง ก็เท่านั้นเอง ดุจดังการเรียกว่า “ลดความเปรี้ยว”



ไม่รู้จะบอกอย่างไร เพราะเป็นภาษาแห่งความรู้สึกที่อยู่ภายใน ภาษาเป็นสังกัปคือความคิดที่แสดงออกมาภายนอก แต่เมื่อเป็นความรู้สึกภายในไม่มีภาษา ยิ่งเป็นเมื่อนำมาใส่เป็นภาษาของอีกเผ่าพันธุ์หนึ่ง ของอีกระบบภาษาหนึ่งก็ยิ่งไม่ตรงกับภาษาเดิม แม้แต่ภาษาเดิมก็ยังไม่ใช่ตัวความรู้สึกนั้นที่เรียกขณะนี้ว่า ปัสสัมภยัง กายสังขารัง เป็นอย่างไร

มีแต่ทดลองปฏิบัติตามให้ถึงขั้นนั้นเท่านั้นจึงจะกระจ่างแจ้ง ไม่ต้องพูดอีก ไม่ต้องอธิบายอีก ไม่ต้องตีความอีก ไม่ต้องสงสัยอีกต่อไป

นี่คือ โศลกที่สิบเอ็ดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เล่ห์กลของจิต




โศลกที่สิบ เล่ห์กลของจิต

อันตรายกับคำกำกับภาวนา
ไม่ว่าจะเป็นคำบริกรรม การนับหรือใช้คำอื่นใด
เพราะในขณะที่ใช้คำบริกรรมหรือนับภาวนา
จิตจะเริ่มทำงานทันที
จิตที่ถูกฝึกไปเพื่อมีพลัง
จิตจะเข้าสู่ระบบฤทธิ์
กลายเป็นผู้มีพลังจิต
ยากนักที่จะรู้ทันจิต
เพราะเขาคือจิต จิตคือเขา
นี่คือการซ่อนเล่ห์ของจิต
ป้องกันอันตรายเสียตั้งแต่ต้น
ให้เพียงกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น
อย่าให้จิตได้ทำงาน
ให้แต่สติทำงาน






ฤาษีชีไพรทั้งหลายในอดีตและในปัจจุบันล้วนแล้วแต่อาศัยวิธีแห่งการปฏิบัติบำเพ็ญเพียรตบะตามแนวการได้พลังจิตทั้งสิ้น เพราะพลังจิตนั้นทำให้ผู้ปฏิบัติมีอำนาจขึ้นมาได้ มีฤทธิ์ขึ้นมาได้ ดำรงอยู่ได้ท่ามกลางอันตราย มีความสำคัญตนวิเศษขึ้นมาได้ ได้รับการยกย่องจากผู้อื่นทั้งบุคคลและเทพยดา อำนาจจิตที่เป็นผลแห่งการปฏิบัตินั้นจะเกิดขึ้นทันทีที่มีการใช้จิตให้รวมเป็นหนึ่ง จิตที่รวมเป็นหนึ่งจะมีพลังเพราะอาศัยการเพ่งและบริกรรม


การเพ่งและบริกรรมเป็นอุปกรณ์รวมศูนย์จิตให้แก่กล้า เข้มแข็ง ร้อนแรง ดุจดังการรวมศูนย์ของแสงไว้ที่แว่นขยาย แสงตามปกติก็มีพลังในตัวของมันเองอยู่แล้ว เช่นทำให้เกิดความร้อน ทำให้พืชและสัตว์ดำรงชีวิตอยู่ได้ เปรียบเทียบกับจิตที่มีอานุภาพในตัวของมันอยู่แล้วทำให้คนและสัตว์ทั้งหลายดำรงชีวิตอยู่ได้ พัฒนาสังคม และทำลายสังคมได้ การศึกษาท่องบ่นจดจำเป็นแนวทางฝึกจิตให้ชำนาญกว่าธรรมดา การคิดใคร่ครวญเป็นการฝึกจิตให้ชำนาญกว่าธรรมดา การมีจิตวิทยาให้ผู้อื่นเชื่อถือเป็นการฝึกจิตมากกว่าธรรม การใช้กระจกรับแสงส่องลงในจุดเดียวก็มีความร้อนมากกว่าธรรมดา



ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการใช้กระจกพิเศษที่มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการรับแสงให้มากกว่าเดิมเพื่อจะได้นำแสงไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ระบบ Solar System มีการนำแผงวงจรเปลี่ยนพลังแสงเป็นพลังไฟฟ้า การใช้อุปกรณ์เช่นนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับการนำอุปกรณ์การเพ่งและคำบริกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มให้จิตมีพลัง เปลี่ยนพลังจิตธรรมดาเป็นพลังอิทธิฤทธิ์ นี่คือความอัศจรรย์แห่งจิตที่มีพลัง มีมานับแต่อดีต ปัจจุบันจนถึงอนาคต


คำว่า อิทธิฤทธิ์ นี่ก็เป็นผลผลิตของจิตที่มีพลัง อิทธิฤทธิ์นี้เป็นที่ต้องการและมุ่งหวังของนักปฏิบัติทั้งหลายทั้งในและนอกศาสนา ถ้าเป็นนอกศาสนาก็พบได้จากฤาษี นักพรต โยคี ชีประขาว โหรแนวจิตทำนาย พวกไสยเวทย์ นักสะกดจิตทั้งหลาย ถ้าเป็นในพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระเกจิ พระเวทย์มนต์อาคมขลัง พระเมตตามหานิยม พระสักเสกเลขยันต์ ผู้มีพลังจิตทั้งหลายเหล่านี้ยากนักที่จะแยกแยะได้ว่า อิทธิฤทธิ์กับจิตมีพลังนั้นต่างกันอย่างไร ดุจดังการแยกไม่ได้ระหว่างพลังแสงแดดกับพลังไฟฟ้าจากแสงแดดนั้นเป็นอย่างไร เพราะสุดท้ายก็จะกลายเป็นสิ่งเดียวกันเมื่อมันแสดงผลออกมา



สิ่งสำคัญในขั้นตอนนี้ก็คืออุปกรณ์การรับแสงนั่นเองที่เป็นตัวปรับเปลี่ยนพลังงานอย่างหนึ่งให้กลายเป็นพลังงานอีกอย่างหนึ่งได้ เฉกเช่นอุปกรณ์การเพ่งและบริกรรมนั่นเองที่เป็นตัวแปลงจิตจากพลังจิตให้เป็นอิทธิฤทธิ์ได้ เนื่องจากความอัศจรรย์แห่งพลังจิตนี้เองจึงทำให้ผู้ปฏิบัติทั้งหลายตกลงในหลุมพรางที่จิตได้ขุดดักล่อไว้ เป็นเล่ห์กลของจิต ต่างพากันเกิดความพึงพอใจในความพิเศษที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรู้อดีต รู้อนาคต ทำนายจิตผู้อื่นได้ เปลี่ยนแปลงโมเลกุลธาตุอย่างหนึ่งให้เป็นอย่างหนึ่งได้ เป็นต้น

จึงไม่แปลกเลยว่า เหตุใดพระพุทธศาสนาในประเทศไทยจึงไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมตามแนวพระพุทธศาสนาที่แท้จริง สิ่งที่เป็นตัวบ่งชี้ความไม่ประสบความสำเร็จนี้ก็คือ


คุณภาพชีวิตตามแนวพุทธของคนไทยหายไป หายไปอย่างมาก มีความโลภมีโทสันมากขึ้น มีการใช้ความรุนแรงกันมากขึ้น โกรธกันมากขึ้น โหดเหี้ยมมากขึ้น จิตอิจฉา ริษยา ตำหนิติฉินนินทา พูดให้ร้าย รังเกียจกันมากขึ้น ศีล ๕ ซึ่งเป็นเกณฑ์การปฏิบัติตนขั้นต้นนั้นถูกละเมิดมากขึ้น


ไม่เว้นแม้กระทั่งในสำนักปฏิบัติธรรม นั่นก็ไม่ต้องพูดถึงนอกสถานที่ปฏิบัติธรรม เช่นในโรงเรียน ในสถานที่อันน่าเคารพอย่างรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล หรือสถานที่ราชการทั้งหลาย เมื่อมองภาพรวมแล้วจึงสรุปได้ว่า เป็นความผิดพลาดในการเผยแผ่และการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธไทย ถามว่าทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น

โศลกว่า “อันตรายกับคำกำกับภาวนา” พระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้นได้รับอิทธิพลของการปฏิบัติสมาธิตามแนวมันตรยานมาในอดีตและสืบทอดต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่รู้สึกตัว พึงทราบว่า พระพุทธศาสนาในประเทศไทยนี้ผ่านยุคสมัยที่มีการผสมผสานกันระหว่างกระแสพระพุทธศาสนา ๒ สาย ได้แก่ พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานและพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท


ร่องรอยที่สามารถย้อนไปให้นึกได้ก็คือ พระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้นมีแต่เรื่องของไสยเวทย์ พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงทั้งหลายในประเทศล้วนแล้วแต่เป็นพระที่มีคาถาอาคม เป็นพระเกจิมีพลังจิตหยั่งรู้อดีตและอนาคต เป็นพระที่สามารถปราบภูตผีปีศาจ เป็นพระสักเสกเลขยันต์ ลงวิชาอาคมในเหรียญ ประเจียด

ตะกุดให้ชาวบ้าน ทหาร ตำรวจ รูปแบบพระสงฆ์ไทยนั้นเป็นแบบเถรวาท แต่แนวทางปฏิบัตินั้นเป็นมหายาน แต่เป็นมหายานที่ได้กลายพันธุ์มาเป็นเถรวาทไปแล้ว สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงแนวทางปฏิบัติเป็นแบบมหายานนั้นก็คือ แนวทางแห่งการได้มาซึ่งพลังจิตนี่เอง ซึ่งเป็นแนวทางเดิมตามที่ก่อนจะมีพระพุทธศาสนา การได้มาซึ่งพลังจิตนี้ก็มาจากอุปกรณ์ในการฝึกจิตนั่นเอง อุปกรณ์ในการฝึกจิต ก็คือการเพ่งและการบริกรรม




ก็การเพ่งและบริกรรมนั้นเป็นเรื่องของการรวมศูนย์จิต (สมถะ) แนวทางแห่งสมถะนั้นไม่ใช่เรื่องเสียหายในตัวของมันเอง เปรียบเหมือนผู้ได้อาวุธวิเศษอยู่ในมือ อันตรายย่อมเกิดขึ้นโดยง่ายอย่างน้อยที่สุดก็เกิดความภูมิใจในอาวุธวิเศษที่อยู่ในมือของตน เพียงแค่ภูมิใจ พอใจ ยินดีในอาวุธวิเศษได้แก่พลังจิตนั้นเท่านั้นก็ทำให้พลาดแนวทางของพระพุทธศาสนาไปทันที ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการนำไปใช้เลย การนำอาวุธวิเศษไปใช้โดยมากก็นำไปใช้ที่ออกจากนอกตัว ไม่ใช่ใช้เข้าไปในตัว การใช้อาวุธวิเศษนอกตัวเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์อยู่แล้ว เช่น การทำให้ได้ลาภสักการะ ได้ยศถาบรรดาศักดิ์ ได้รับคำสรรเสริญเยินยอ ได้ทรัพย์สินเงินทอง น้อยนักที่จะใช้เข้าไปภายในตัวเพื่อนำไปสู่การลด ละ เลิก ปล่อยวางและเข้าถึงความว่าง



ปรากฏการณ์ที่เกิดจากการใช้อุปกรณ์ผิดนั้นทำให้เพิ่มตัวอัตตาขึ้นมาอย่างไม่รู้สึกตัว คำกล่าวเชิงเสียดสีของสังคมที่มีต่อผู้ปฏิบัติธรรมจึงมีว่า “นักปฏิบัติขี้โกรธ พวกสันโดษขี้ขอ” ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอัตตาที่แฝงอยู่ในคำบริกรรมและการเพ่งนั้นมีพลังเหลือเกิน เกินที่ผู้นั้นจะทันและยับยั้งมันได้ หลายคนถึงกับโพล่งวาจาด่าผู้อื่นแม้กระทั่งในยามปฏิบัติธรรม

นั่นก็เพราะอัตตานั้นสั่งสมลงในอุปกรณ์นั้นมาก มากจนทำให้อัตตานั้นกลายเป็นพลังจิตขึ้นมาได้ ยิ่งพลังจิตมากเท่าใดอัตตาจะเติบโตตามมากเท่านั้น อัตตานั้นจะแสดงท่าทีออกมาในหลากหลายรูปแบบตามฐานจริตของผู้นั้นอย่างแนบเนียน แนบเนียนเสียจนเจ้าตัวไม่ทราบด้วยซ้ำว่า นั่นเป็นอัตตาของตน เพราะจิตได้รวบรวมเข้ากับอัตตาที่ยึดมั่นจิตว่าเป็นเราเป็นเขาอย่างแนบแน่น นี่เองที่เป็นเหตุให้ชาวพุทธในประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมเท่าที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับสำนักปฏิบัติธรรม วัดวาอาราม และชาวพุทธในประเทศไทยที่มีอยู่

โศลกว่า “อย่าให้จิตได้ทำงาน ให้แต่สติทำงาน” การใช้สติกำหนดไปที่ลมหายใจเข้าออก รู้ลมหลายสั้นหรือยาวธรรมดาเท่านี้ก็เพียงพอแล้วในการเริ่มให้จิตมีพลัง อุปกรณ์คือลมหายใจ เครื่องมือคือสติ ลมหายใจไม่สามารถก่อเป็นรูปร่างขึ้นมาได้ จิตไม่สามารถปรุงแต่ลมหายใจได้ จึงเป็นการป้องกันอันตรายได้ส่วนหนึ่ง เมื่อสติดูลมหายใจเข้าออกได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน แสดงให้เห็นถึงความสงบเกิดขึ้นแล้วในจิต จิตในขณะนี้มีความเหมาะสมในการนำไปพิจารณาให้เห็นความว่างที่ปรากฏอยู่ในลมหายใจ ซึ่งถือเป็นกายตามฐานแห่งสติขึ้นต้น จิตถูกสติกำกับอยู่จนไม่สามารถออกนอกลู่นอกทางได้ ไม่สามารถยึดสิ่งใดได้ มีแต่ความว่างที่จิตพิจารณาเห็นอยู่

การพิจารณาเห็นความว่างของจิตนี้เองเป็นแนวทางแห่งพระพุทธศาสนาที่แท้ เพราะเป็นการใช้จิตที่มีพลังย้อนกลับไปทำงานภายใน (วิปัสสนา) เมื่อจิตถูกสติกำหนดให้เห็นแต่ความว่างอย่างนี้แล้ว จิตก็ไม่มีอะไรให้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นได้ การที่จิตยึดมั่นในความว่างไม่ได้ เพราะตัวของมันเองไม่ได้ทำงาน แต่ถูกใช้งานด้วยพลังแห่งสติ สติที่คมกล้าและเข้มแข็งมากเท่าใด จิตก็ถูกใช้งานได้ดีมากเท่านั้น การบำเพ็ญภาวนาก็คือการบำเพ็ญสตินี่เอง สติที่เห็นจิตเคลื่อนไหว ก็เท่ากับการเห็นอัตตาที่เคลื่อนไหว



เปรียบกับแสงแดดที่แรง มีพลัง ถูกควบคุมกำหนดให้ส่องลงในความว่างเปล่า ส่องลงในนภากาศที่เวิ้งว้าง แสงยิ่งแรงเท่าไร ก็จะยิ่งเห็นความว่างมากขึ้นและชัดขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกับจิตที่ถูกกำหนดเบื้องต้นที่ลมหายใจทำให้มีพลัง แล้วใช้จิตนั้นพิจารณาความว่างของลมหายใจนั้น สติควบคุมดูแลจิตให้ทำงาน มิใช่ตัวของมันเองทำงาน จิตที่ถูกกำหนดให้พิจารณาความว่าง ก็จะทำให้เห็นเส้นสายที่โยงใยผูกสิ่งต่างๆ ให้เป็นตัวเป็นตน เป็นรูปร่าง เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นมานะ เป็นทิฏฐิ ขึ้นมา แท้จริงมันคือความว่างเท่านั้น เมื่อนั้นจิตก็จะเข้าใจสัจธรรมของสรรพสิ่งที่มีแต่ความว่าง แม้กระทั่งตัวของมันเองก็ว่าง สติก็กำหนดให้จิตมองมันเอง เพราะจิตมีพลังจึงจะเห็นความว่างของจิตเองได้ มิฉะนั้นไม่สามารถพิจารณาเห็นได้




เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางสายการปฏิบัติที่ไม่เสี่ยงอันตราย ไม่นำไปสู่การเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ไม่นำไปสู่การมีพลังจิตที่เป็นอิทธิฤทธิ์ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของอัตตา การปฏิบัติตามเส้นทางสายนี้จะมีอาการลด ละ เลิก และปล่อยวางในที่สุด ก็ในเมื่อสรรพสิ่งเป็นแต่ความว่างแล้วจะมีอะไรให้ต้องยึดมั่นถือมั่นอีก เพียงแค่การพิจารณาเห็นความว่างเช่นนี้ ก็เท่ากับได้จุดเทียนปัญญาสว่างขึ้น ความมืดคืออัตตาลดลงไปได้ระดับหนึ่ง ถ้ายิ่งสว่างมากก็ลดลงมาก จนสว่างอยู่ตลอดเวลา คือมีปัญญาได้แก่สติทุกลมหายใจ อัตตาซึ่งเป็นที่ฝังตัวของกิเลสทั้งหลายมิใช่ให้เข้าไปไล่ทำลาย เพียงแต่มีแสงสว่างคือปัญญานี่แหละมากขึ้น กิเลสคือความมืดนั้นก็ลดลงโดยปริยาย







มีพระราชาหนุ่มของเมืองๆ หนึ่ง ก่อนที่พระราชบิดาที่สิ้นพระชนม์ไปได้กำชับพระโอรสไว้ว่า มีห้องที่อันตรายห้องหนึ่งที่ไม่อาจเปิดได้ ห้องมืดนี้ถูกปิดตายมานาน มีซาตานและปีศาจชั่วร้ายอยู่ภายใน มีเรื่องเล่ากันว่า คนที่เคยเข้าไปห้องนี้มีแต่เสียชีวิตทั้งนั้น นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปอีกเลย




พระราชาหนุ่มปรึกษากับเสนาอำมาตย์ทั้งหลายว่าจะปราบปีศาจตนนี้ให้ได้ จึงได้รวบรวมพ่อมดหมอผีที่มีอาคมทั่วทั้งแผ่นดินมาปราบ แต่ก็ไม่มีใครกล้าเปิดประตูนี้เพียงแต่ยืนทำพิธีอยู่ภายนอก ต่างก็ให้ความเห็นกันต่างๆ นานาว่า ปีศาจตนนี้ร้ายกาจเกินที่จะต่อสู้ได้ สุดท้ายมีชายหนุ่มผู้หนึ่งบอกว่า เขาจะปราบปีศาจตนนี้เอง โดยขอให้พระราชาตกลงก่อนว่า จะต้องทำตาม พระราชาจึงทำตาม ชายหนุ่มคนนี้เพียงแต่ให้พระราชากระซิบต่ออำมาตย์ผู้หนึ่งว่า ห้องนี้มีสมบัติมหาศาลที่พระราชาปกปิดไว้ แต่อย่าบอกให้ใครทราบ หลังจากนั้นไม่นาน ห้องมืดที่ปกปิดมิดชิดนั้นก็ได้ถูกกลุ่มนักล่าสมบัติงัดแงะทำลายเสียสิ้น



ความมืดเป็นเพียงกิเลสที่ปกปิดจิตไม่ให้รับรับรู้ความจริง ทางที่จะกำจัดกิเลสนั้นมิใช่การไล่จับกิเลสที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ปราบโลภ ปราบโกรธ หลง อิจฉา ถีนะ มิทธะ มักขะ อุปนาหะ ปลาสะ ถัมภะ อติมานะ เป็นต้น กิเลสเหล่านี้ถูกขังอยู่ในห้องมืดนั้น ทางที่จะปราบกิเลสเหล่านี้ก็คือ ทำห้องให้สว่าง ทำความมืดให้หายไป เพียงเท่านี้กิเลสก็ไม่สามารถแฝงตัวอยู่ได้ เพียงแค่เปลี่ยนทัศนคติจากการไล่ล่า มาเป็นการเพิ่มดวงไฟปัญญา




อย่าได้ให้อาวุธกับจิตโดยเด็ดขาด เพราะจิตนั้นเจ้าเล่ห์ มันจะพลิกผันจากตามเป็นนำโดยท่านไม่รู้ตัว และเมื่อจิตครอบครองได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็เท่ากับท่านตกอยู่ในอำนาจของมารคืออัตตา (กิเลสมาร) ในที่สุด




นี่คือ โศลกที่สิบแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วางกาย วางใจ





โศลกที่เก้า วางกาย วางใจ
กายลักษณะเป็นกายภายนอก
กายที่แสดงผ่านตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบ
ให้วางไว้ ไม่วุ่นวาย ไม่ยึดมั่น
กายสภาวะเป็นกายภายใน
กายที่แสดงผ่านความเป็นสัตว์
เป็นความดิบ ความคิด และอารมณ์
ให้วางไว้ ไม่ต่อต้าน ไม่ปล่อยตาม
กายภูตะเป็นกายธรรม
เป็นกายที่แท้ เป็นความว่าง
ไร้รูป ไร้ลักษณ์ ดำรงอยู่อย่างนั้น
ให้รู้แจ้ง ให้เห็นประจักษ์ชัด
เพียงผ่านการกำหนดรู้ลมหายใจสั้นยาว
ผ่านการกำหนดรู้ลมหายใจบางเบาเข้าออก
เมื่อนั้นจักเห็นกายลักษณะ กายสภาวะและกายภูตะ
พึงรักษาความเป็นเช่นนั้นไว้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
พระอริยเจ้าทั้งหลาย
ต่างพากันสละยศถาบรรดาศักดิ์
สละบ้านเมือง ทรัพย์สิน บ้านเรือนและคนรัก
เราท่านมีอะไรที่น่าหวงแหนเล่า!


ในยามที่อยู่ร่วมกับผู้คนที่หลากหลายในสังคม อดไม่ได้ที่จะเข้าใจและแลเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับบุคคลอื่นขึ้นมาทันที ความสัมพันธ์นั้นมีความสำคัญมาก เพราะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนี่เองที่เป็นตัวบดบังความเข้าใจที่แท้จริงให้หายไป เนื่องจากคำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนี่แหละเป็นสาเหตุทำให้ตัวตนสำคัญขึ้นมาได้ เป็นเหตุให้ตัวตนแสดงบทบาทออกมาได้ หากไม่มีความสัมพันธ์นี้ ตัวตนจะเหลือความเป็นธรรมชาติที่สุด เหลือความเป็นเอกภาวะที่สุด ไม่อาจโยงใยตนกับใคร ใครกับตนได้ บทบาทที่ตัวตนจะแสดงออกมาก็ไม่มีช่องทาง


เราจะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่เริ่มกำเนิดในครอบครัว เราต้องกลายเป็นลูกสัมพันธ์กับพ่อแม่ สัมพันธ์กับญาติพี่น้อง กลายเป็นเด็กสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ กลายเป็นลูกบ้านกับผู้ใหญ่บ้าน กลายเป็นนักเรียนสัมพันธ์กับครู กลายเป็นนักศึกษาสัมพันธ์กับอาจารย์ กลายเป็นคนรักสัมพันธ์กับคนรักและเพื่อนฝูง กลายเป็นประชากรสัมพันธ์กับรัฐและพวกนักวิจัย กลายเป็นนักการเมืองสัมพันธ์กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง กลายเป็นผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครอง กลายเป็นทรัพยากรมนุษย์สัมพันธ์กับนักบริหารจัดการ นายจ้าง และผู้ค้าแรงงาน กลายเป็นศาสนิกสัมพันธ์กับผู้สอนศาสนา เมื่อพิจารณาแล้ว อัตตาที่แฝงอยู่ในตัวเรานั้น อาศัยความสัมพันธ์เล่นบทบาททำให้เรากลายเป็นอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่คน กลายเป็นชื่อที่เขาใช้เรียกตามเส้นแห่งสัมพันธ์นั้นเท่านั้นเอง และเราทั้งหลายก็หลงลืมความเป็นคนไปอย่างสิ้นเชิง


สถาบันการศึกษานี่แหละที่เป็นแหล่งหล่อหลอมให้ทุกคนลืมความเป็นคนเสีย แต่ให้ความสำคัญและปลูกฝังไปที่ความสัมพันธ์นั้นหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เน้นให้ทุกคนให้ความสำคัญมุ่งไปที่หน้ากากที่ทุกคนสวมใส่ ในที่สุดมนุษย์ทุกคนก็กลายเป็นเพียงคำร้องเรียกในเส้นใยแห่งความสัมพันธ์นั้น ก็คือเรียกตามหน้ากากที่แสดงนั้นนั่นเอง เช่น ลูก พ่อแม่ ญาติ เด็ก เพื่อน คนรัก ครู นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ นักการเมือง นักการศาสนา นายจ้าง ลูกจ้าง นักธุรกิจ โสเภณี ตำรวจ ทหาร ฯลฯ เป็นต้น ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในสังคมโลกไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม
เราจึงไม่เข้าใจได้เลยว่า เหตุใดผู้คนจึงได้แสดงความโหดร้าย โหดเหี้ยม ทำร้าย และทำลายกันและกันได้ ก็เพราะอัตตานี้ไม่ได้ทำร้ายคนๆ นั้น แต่ที่มีการทำร้ายใครๆ ทั้งหลายได้ เพราะเขาทำร้ายและทำลายเส้นสัมพันธ์นี้ให้สิ้นไปต่างหาก เช่น นักการเมืองเอาเปรียบประชาชน เขารู้สึกตัวเขาเองคือ นักการเมือง และมองผู้อื่นเป็นผู้ถูกปกครอง ได้แก่ประชาชน เขากำลังครอบครองเส้นสายสัมพันธ์นั้นอยู่
อัตตาแสดงอำนาจผ่านเส้นสายสัมพันธ์นั้นอยู่ นักธุรกิจทำร้ายนักธุรกิจด้วยกันเอง นายจ้างทำร้ายลูกจ้าง สามีทำร้ายภรรยา ทหารทำร้ายประชาชน ตัวตนที่มองเห็นออกไปเห็นเพียงเส้นสายที่เรียกชื่อสัมพันธ์นั้นว่าเรามีอำนาจเหนือกว่า เรามีสิทธิที่จะทำลายเส้นสายสัมพันธ์นั้นได้ จึงไม่สงสัยที่นักการเมืองทั้งหลายพูดได้ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องจริง ทหารทำร้ายประชาชนได้ เพราะอัตตาที่แฝงอยู่ในคำว่าทหารนั้นแสดงอำนาจออกมาตามเส้นสัมพันธ์นั้นจึงสามารถทำร้ายเส้นสัมพันธ์นั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่ากี่คนก็ตาม แต่ก็มีความหมายเพียงหนึ่งเดียวคือเส้นสัมพันธ์ของคำว่าประชาชนเท่านั้น ความเป็นคนจึงถูกหลงลืมลบหายไปจากสารระบบแห่งความรู้สึกของความเป็นคนด้วยกัน เป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่อย่างน่าสลดใจ

โศลกว่า “กายลักษณะเป็นกายภายนอก” ปรากฏการณ์ที่เราท่านสัมผัสอยู่นี้เป็นกายลักษณะ เส้นสายสัมพันธ์นี้เป็นกายลักษณะ เป็นนิรมาณกาย หน้ากากตัวละครที่ทุกคนสวมใส่นี้เป็นกายลักษณะ เป็นกายที่มีลักษณะแตกต่างกันไปตามภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบ บางคนติดอยู่กับกายภายนอกนี้อย่างไม่ลืมหู ลืมตา ไม่ว่าไปที่ไหน อยู่อย่างไร ก็เข้าใจว่ากายภายนอกนี้เป็นกายที่แท้จริง ไม่สามารถขจัดออกไปได้ เพราะกายภายนอกนี้ถูกสังคมปลูกฝังไว้เสียจนแน่นหนา

เข้าไปสู่สถานที่ใดก็นำพากายภายนอกนี้ไปเสมอ นอกจากนั้นยังแสดงให้ผู้อื่นเห็นแต่กายลักษณะนี้อย่างเด่นชัด หากผู้ใดมองข้ามกายลักษณะนี้ไป อัตตาตัวตนที่แฝงอยู่ภายในจะแสดงอาการไม่พอใจออกมาให้เห็นทันที และพร้อมที่จะทำลายผู้นั้นได้ แรกเริ่มจะเริ่มตั้งปัญหาก่อนว่า “เราเป็นใคร มันเป็นใคร” ถ้าหากเห็นกายลักษณะของผู้นั้นเด่นกว่า ก็จะยินยอมให้ได้ แต่ถ้ากายลักษณะของผู้นั้นด้อยกว่า ก็จะหาวิธีทำให้คนนั้นได้รับรู้ว่า กายลักษณะของตนนั้นเป็นอย่างไร การไม่มองเห็นกายลักษณะของตนอยู่ในสายตานั้นมีจะได้รับบทเรียนอย่างไร มีผลเสียอย่างไร นี่คือผลลัพธ์ที่หน้ากากกระทำต่อหน้ากากด้วยกัน

ในครั้งหนึ่งสมัยพุทธกาล ท่านกาฬุทายีอำมาตย์ ซึ่งเป็นสหชาติเกิดวันเดียวกันกับพระพุทธเจ้า ภายหลังได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา สืบเนื่องมาจากพระราชบิดาของพระพุทธเจ้าทรงส่งท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วให้อาราธนากับเยือนกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อท่านเข้ามาบวช ท่านเห็นอัตตานั้นดิ้นรนแสดงอาการ เพราะในพระพุทธศาสนานั้นได้สอนให้ทุกคนวางความเป็นกายลักษณะนั้นเสีย ท่านรำพึงกับตนเองว่า
“แต่ก่อนนั้นไม่ว่าจะไปไหนมีแต่คนรายลอบ ห้อมล้อม ชื่นชม สรรเสริญเยินยอ มีแต่คนเอาใจในฐานะอำมาตย์ผู้ใหญ่ ในฐานะคนสนิทของพระราชา ในฐานะผู้ทรงภูมิความรู้ ในฐานะสหชาติของพระพุทธเจ้า มาบัดนี้ไม่มีผู้ใดแสดงอาการอย่างนั้นกับเราเลย”

กายลักษณะเหล่านั้นได้ฝังเข้าไปในความรู้สึกของท่าน ก็ในพระพุทธศาสนา กายลักษณะนั้นไม่มีผู้ใดมองเห็นอีก ไม่มีผู้ใดให้ความสำคัญอีก อัตตาจึงรับไม่ได้ ตราบเมื่อท่านได้เข้าถึงและผ่านพ้นกายลักษณะนี้เข้าไปเห็นกายที่ลึกอยู่อีกชั้นหนึ่ง จึงเห็นอัตตานั้นทำงานอย่างสุดกำลังของมัน

อีกตัวอย่าง มีศาสตราจารย์ที่ทรงภูมิความรู้ มีชื่อเสียงกระฉ่อนในสังคมคนหนึ่ง เข้าไปปฏิบัติธรรมในสำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง เขาได้พกเอากายลักษณะนี้ไปอย่างเต็มที่ สวมใส่หน้ากากศาสตราจารย์นั้นอย่างแนบเนียน แนบแน่น สดใสและเด่นชัด ไม่ว่าจะย่าง จะเดิน จะสนทนา จะนั่ง จะทานก็มีความรู้สึกเสมอว่า ตนเป็นศาสตราจารย์มาปฏิบัติธรรม พอเห็นใครต่อใครไม่สนใจตนก็เริ่มรู้สึกว่า เขาเหล่านั้นไม่ให้เกียรติตน ยิ่งสนทนากับพระวิปัสสนาจารย์ ก็รู้สึกว่า พระวิปัสสนาจารย์ท่านนี้พูดภาษาบาลีก็ไม่ถูกต้อง ไม่อ้างตำรา ไม่แสดงขั้นตอนของการปฏิบัติธรรม ไม่มีความรู้เอาเสียเลยจึงรู้สึกว่า ไม่คู่ควรต่อการจะมาเป็นสอนตน

เมื่อหน้ากากแสดงออกอย่างชัดเจนเช่นนั้น พระอาจารย์จึงถามว่า ท่านเป็นใคร เขาไม่สามารถตอบได้ว่า ตนเองเป็นใครกัน การจะตอบที่ว่า เขาเป็นศาสตราจารย์นั้นช่างเป็นคำตอบที่น่าละอาย ไม่ใช่คำตอบที่พระอาจารย์ต้องการทราบแน่ นั่นเป็นคำถามและคำตอบของเด็กๆ ที่เห็นหน้ากากหรือตุ๊กตาแล้วถามว่า นั่นเป็นอะไร ไม่มีความหมายใดต่อการปฏิบัติธรรม จนในที่สุดเขาเริ่มวางกายลักษณะไว้ ผ่านเข้าไปถึงกายสภาวะ
อีกตัวอย่างหนึ่ง ในการสอบปลายภาควิชาปรัชญา นักเรียนที่ลงเรียนในรายวิชานี้ต่างนั่งเตรียมพร้อมอยู่ที่ที่นั่งของตน ศาสตราจารย์ผู้ปราดเปรื่องได้ยกเก้าอี้ที่ตัวเองนั่งขึ้นวางไว้บนโต๊ะแล้วตั้งคำถามเพียงข้อเดียวเพื่อเป็นข้อสอบปลายภาคว่า จงใช้ความรู้ทั้งหมดที่ได้เรียนในเทอมนี้อ้างเหตุผลเพื่อพิสูจน์ว่าเก้าอี้ที่อยู่ตรงหน้านี้ไม่มีอยู่จริง นักศึกษาต่างก้มหน้าก้มตาตอบคำถามอย่างเอาจริงเอาจัง นักศึกษาบางคนเขียนคำตอบยาวถึง ๓๐ หน้า ใช้เวลาเขียนเป็นชั่วโมง เพื่ออ้างเหตุผลพิสูจน์ว่าเก้าอี้ที่ตนนั่งอยู่ไม่ได้มีอยู่จริง แต่มีนักศึกษาอยู่คนหนึ่งใช้เวลาเพียง ๓๐ วินาทีในการตอบข้อสอบข้อนี้ แล้วก็ลุกออกจากห้องสอบไปเป็นคนแรก

หนึ่งสัปดาห์ผ่านไปเป็นวันที่ประกาศผลการสอบ ผลสอบที่ออกมานั้นปรากฏว่านักศึกษาที่ใช้เวลาในการตอบข้อสอบไม่ถึง ๑ นาที เป็นคนเดียวในชั้นที่ได้เกรด A ในรายวิชานี้ ทำให้ทุกคนสงสัยว่าทำไมเขาถึงได้ A ในรายวิชานี้ เขาตอบคำถามเพียงแค่ ๒ คำ คือ เก้าอี้คืออะไร “What's chair?” คำตอบของนักศึกษาคนนี้ก็เหมือนกับคำถามของพระวิปัสสนาจารย์ที่ถามศาสตราจารย์คนนั้นว่า “ท่านเป็นใคร” “Who are you?”

โศลกว่า “กายสภาวะเป็นกายภายใน” สภาวะแห่งความรู้สึกถึงความเป็นกลุ่มก้อนที่เรียกว่า คน มนุษย์ หรือสัตว์ กลุ่มก้อนแห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะ (สัมโภคกาย) เมื่อถอดหน้ากากออกแล้ว ก็จะเหลือแต่ความเปลือยเปล่า เหลือแต่สภาวะที่เรียกว่า คน มนุษย์ หรือสัตว์ เหลือแต่ความอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่ติดอยู่กับความเป็นคนหรือสัตว์นั้น เหลือแต่สภาวะก้อนแห่ง ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก้อนแห่งสภาวะนี้ทำหน้าที่ของมันจนกลายเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขาขึ้นมาได้ กายสภาวะนี้ซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากนั้น

ผู้ใดที่เข้าถึง เข้าใจ และเห็นกายสภาวะนี้ได้ ก็สามารถล่วงพ้นเขตอำนาจของเส้นสายสัมพันธ์ที่อัตตาแสดงผ่านได้ แต่กระนั้นอัตตาก็ได้วางกับดักไว้อีกชั้นหนึ่งเป็นเส้นสายสัมพันธ์ที่ผูกโยงขันธ์ ๕ นั้นไว้ อัตตาก็ทำงานผ่านเส้นสายสัมพันธ์ที่เป็นความรู้สึกนึกคิดว่า มีอยู่ เป็นอยู่ ดำรงอยู่ เพียงเท่านี้ก็ยังรักษาความเป็นเรา (เอตํ มม) ความเป็นของของเรา (เอโสหมสฺมิ) และความเป็นตัวเป็นตนของเรา (เอโส เม อตฺตา) เป็นกับดักที่ละเอียดอ่อนมาก เป็นกรงขังที่แยบยลมาก เป็นตาข่ายที่ถี่มาก


จึงไม่แปลกเลยที่นักปรัชญาตะวันตกคนสำคัญ ได้แก่ เดการ์ดส์ (Descartes นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส) ถึงได้ทิ้งวลีทองไว้ให้ชนชาวตะวันตกทั้งหลายว่า “I Think, Therefore I am” ก็เพราะเราคิดได้ ฉะนั้นจึงมีเราอยู่ เพราะเราคิดอย่างไร เราก็จะเป็นอย่างนั้น ตัวตนเราไม่ได้หายไปไหน นี่จึงกลายเป็นกรงขังชาวตะวันตกทั้งหมด ชาวตะวันตกทั้งหลายถูกวลีนี้หล่อหลอมให้เข้าใจอย่างนั้นจนไม่สามารถหลุดพ้นไปได้

เดการ์ดส์เข้าถึงกายสภาวะแล้ว และเห็นกายสภาวะนี้ช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน มันเป็นเหมือนมรดกแห่งพระเจ้าฉะนั้น ใครก็ตามที่เห็นกายสภาวะนี้แทบจะกล่าวได้ว่า เห็นพระเจ้าแล้ว เข้าถึงพระเจ้าแล้ว ก็เพราะเขาเห็นความเป็นตัวตนที่อยู่ข้างใน ตัวตนนี้ทำหน้าที่ผ่านความคิด การปรุงแต่ง อารมณ์ ความรู้สึกนั่นเอง นี่เป็นเพียงกายสภาวะหรือกายภายใน เมื่อเห็นกายสภาวะนี้อยู่ ผู้ปฏิบัติต้องไม่เข้าไปยึด ไม่ต่อต้าน ไม่ขัดขืน และไม่ปล่อยไปตามความคิดและอารมณ์นั้นๆ ใช้สติดูกายสภาวะนี้ไว้

โศลกว่า “กายภูตะเป็นกายธรรม” กายธรรมหรือธรรมกายเป็นกายแห่งสัจธรรม เป็นการสลายเส้นสายทั้งมวลที่ร้อยรัดให้กายสภาวะเป็นกลุ่มก้อนขึ้นมาให้เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เมื่อเส้นสายที่ร้อยรัดขันธ์นี้ถูกสลายไป ก็จะเห็นกายภูตะซึ่งไม่หลงเหลืออะไรที่อัตตาจะเข้าไปยึดถือได้อีก เป็นเพียงความว่าง เป็นเพียงอาการที่แสดงออกเท่านั้น ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา อยู่ภายในนั้น เป็นความสงบนิ่ง เป็นยถาภูตญาณทัสสนะ คือการเห็นแจ้งซึ่งความเป็นเช่นนั้นด้วยปัญญาญาณ ความเป็นเช่นนั้นที่ว่านี้ก็คือ ความว่างนั่นเอง การผ่านทะลุกายสภาวะที่เป็นขันธ์ภายใน ก็จะลุถึงกายภูตะ อันเป็นความว่างที่ไร้อะไรเข้าไปร้อยรัดได้ ก็เพราะไม่มีอะไรเหลือให้อัตตาเข้าไปยึดถือ ไม่เหลืออะไรให้อัตตาแสดงออกมาได้ อัตตาก็สูญสลายไปในที่สุด

โศลกว่า “พึงรักษาความเป็นเช่นนั้นไว้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง” ความร้อนที่จะทำให้เกิดเป็นไฟได้ก็ต้องรักษาสภาวะแห่งความร้อนนั้นไว้จนได้อุณหภูมิที่เหมาะสม ในที่สุดจากความร้อนก็จะกลายเป็นไฟขึ้นมาได้ ขอเพียงให้รักษาความร้อนนั้นไว้ให้ได้จังหวะ รอการเปลี่ยนแปลงให้ไฟปรากฏ ด้วยเหตุนี้ผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายก็พึงรักษาตบะนั้นให้ต่อเนื่อง รักษาสตินั้นไว้ให้ต่อเนื่อง ยาวนาน รอกาลแห่งการเปลี่ยนแปลงทางจิตให้ปรากฏขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางจิตนี้ก็คือปัญญาที่จะเห็นแจ้งนั่นเอง เป็นไฟอย่างหนึ่งที่จะลุกโพลงขึ้นมาเมื่อสมาธิได้ที่ ดังนั้นเมื่อเห็นกายภูตะนี้แล้วก็พึงรักษาสภาวะนี้ไว้ให้ยาวนานจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง


โศลกว่า “เพียงผ่านการกำหนดรู้ลมหายใจสั้นยาว ผ่านการกำหนดรู้ลมหายใจบางเบาเข้าออก” วิธีการที่จะผ่านจากกายลักษณะเข้าไปก็ด้วยการกำหนดลมหายใจสั้นยาว ความสั้นยาวของลมหายใจนั้นเป็นกายลักษณะที่รักษาหน้ากากเอาไว้ จนกระทั่งถึงระดับกำหนดรู้ลมหายใจบางเบา ลมหายใจที่บางเบานี้อยู่ในขั้นของกายสภาวะ เพราะความบางเบาของลมหายใจนั้นออกมาจากเส้นสายที่รักษาขันธ์ไว้ จนในที่สุดก็จะเข้าถึงกายภูตะ อันได้แก่ความสงบระงับความบางเบานั้น เมื่อเข้าถึงจุดนี้ได้แล้วพึงรักษาสภาวะแห่งความว่างนี้ให้ยาวนานจนกว่าจะมีความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความสงบระงับกายระดับที่ ๓ นี้ เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาญาณ ความรู้แจ้งที่ไม่กลับกลาย การเห็นแจ้งซึ่งสัจธรรมทั้งหลายทั้งมวล สัจธรรมที่มีแต่ความว่างเท่านั้น

โศลกว่า “เราท่านมีอะไรที่น่าหวงแหนเล่า!” ไม่ว่ากายลักษณะ อันได้แก่หน้ากากทั้งหลาย เส้นสัมพันธ์ของโลก ไม่ว่ากายสภาวะ ได้แก่ขันธ์ทั้งหลาย เส้นสายสัมพันธ์ในขันธ์ ไม่ว่ากายภูตะ ได้แก่ ความว่างที่ดำรงอยู่อย่างนั้น ความเคลื่อนไหวแห่งธรรมชาติ ไม่มีอะไรให้ต้องเข้าไปยึดถือ ไม่มีอะไรให้ต้องเป็นห่วงกังวล ไม่มีอะไรที่ต้องลุ่มหลง พระอริยเจ้าทั้งหลายจึงได้สละหน้ากาก ไม่ว่าจะหน้ากากกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร์ หรือหน้ากากอื่นใด เส้นสัมพันธ์ที่ผูกโยงให้ยึดมั่น ถือมั่น ตัดขาดเสียซึ่งอวิชชาที่ห่อหุ้มในกายทั้ง ๓ เราท่านทั้งหลายยังจะมีอะไรให้ต้องห่วงกังวลอีก พึงดำเนินตามรอยพระอริยะเถิด




นี่คือ โศลกที่เก้าแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา

วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ดอกไม้คนที่งดงาม




โศลกที่แปด ดอกไม้คนที่งดงาม

ก่อนนี้สายตาที่มองผู้คน
ที่มาปฏิบัติธรรมแต่ไม่ใส่ใจปฏิบัติ
คือคนขยะที่เกะกะเหลือเกิน
แม้วาจาไม่เอ่ยคำ
แต่ใจกลับพร่ำพรั่งพรูแสดง
บัดนี้กลับเห็นทุกคน
เป็นดอกไม้ที่งดงาม
งามแต่ละกอ แต่ละช่อ แต่ละชนิด
สลับสี กลิ่น ปะปนกันไป
เป็นความงดงามตามธรรมชาติ


ความบกพร่องภายในจิตใจของมนุษย์นั้นเป็นธรรมชาติของจิตที่มีอัตตา เพราะอัตตาตัวนี้เองที่ห่อหุ้มด้วยอวิชชาอันแน่นหนาจึงไม่สามารถที่จะมองอะไรได้ตามความเป็นจริง แต่จะมองให้เป็นไปตามที่ตนต้องการจะให้เป็น เพราะการที่ต้องการให้ทุกสิ่งอยู่ภายใต้อำนาจของอัตตานั้นเป็นธรรมชาติของมัน หากมีสิ่งใดไม่อยู่ภายใต้อำนาจ อัตตาจะแสดงอาการทันที หากใช้อำนาจที่มีอยู่นี้โดยตรงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจที่มีต่อลูก คือความเป็นพ่อแม่ ต่อภรรยา คือความเป็นสามี ต่อหมู่บ้าน คือผู้ใหญ่บ้านกำนัน ต่อสังคมคือตำรวจทหาร ต่อประเทศ คือผู้นำประเทศ อัตตาก็จะใช้อำนาจผ่านเครื่องมือทางสังคม คือ ประเพณี คุณธรรม จริยธรรม คำสอนและกฎหมายเข้ามาช่วย แต่ละด่านที่อัตตาวางกับดักไว้แล้วนี้น้อยนักที่ใครจะหลุดรอดไปได้

ยิ่งใครก็ตามที่ได้เป็นใหญ่โดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถ้าหากเป็นแบบผู้ดี ก็จะใช้ผ่านกฎหมายอย่างนิ่มนวล ทำให้ใครที่อยู่ภายใต้กฎหมายนั้นไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า กำลังถูกตัดต่อพันธุกรรมทางความคิดและจิตวิญญาณ (Genetically Modified Organism of Humanity or GMOH) ของมนุษย์ให้เป็นไปตามที่มุ่งหวังให้เป็น ตัดกิ่งแห่งความเป็นอิสระ ต่อตาแห่งมิจฉาทิฏฐิ ให้เป็นไปตามที่เขาประสงค์และต้องการ แต่ถ้าหากเป็นการกระทำแบบผู้ร้าย ก็จะใช้กำลังบังคับข่มเหงบีบให้ปฏิบัติตามคำสั่ง ตัวอย่างของการใช้อำนาจแบบผู้ดีก็คือ การทำตัวเป็นผู้ดีตะวันตกทั้งหลาย ใส่สูท แต่งตัวดี มีวาจาแนบเนียน มียศถาบรรดาศักดิ์ แต่งชุดเข้าคิวรับปริญญา แต่งชุดเข้าคิวทำงานในโรงงาน ส่วนตัวอย่างของการใช้อำนาจอย่างผู้ร้ายก็คือ การเข้าสนามฝึกแบบนาซี การฝึกของลัทธิคอมมิวนิสต์ การฝึกของเหล่าผู้ก่อการร้ายสากล การใช้กำลังบังคับของเหล่านายจ้าง จนมาถึงแม่เล้าและแมงดาทั้งหลาย เป็นต้น

เมื่อใครก็ตามได้รับการล้างสมองให้เดินตามคลองปฏิบัตินั้นแล้ว เขาจะไม่เข้าใจคำว่า อิสระที่แท้ ได้เลย เขาย่อมพร้อมจะเป็นกระบอกเสียงปกป้อง กล่าวแก้แย้งให้กับบุคคล สถาบัน องค์กร และสถานที่นั้นอย่างมีเหตุผล น่าฟัง บางครั้งถ้าหากจำเป็นต้องทำลายกลุ่มอื่นด้วยอาวุธก็ต้องทำ เท่าที่ผ่านมาโดยมาก ก็มีเพียงสองกลุ่มนี้เท่านั้นที่ผลัดกันทำลายกันและกัน ฝ่ายที่เป็นเผด็จการแบบผู้ดีก็กล่าวหาพวกเผด็จการแบบผู้ร้ายว่า เป็นพวกป่าเถื่อน ส่วนพวกเผด็จการแบบผู้ร้ายก็กล่าวหาเผด็จการแบบผู้ดีว่า เป็นพวกซาตานใส่สูท ถ้าจะมองให้ชัดก็คือ ซาตานใส่สูทกับซาตานไม่ใส่สูทกล่าวหากันและกันว่า อีกฝ่ายทำไม่ถูกต้อง หรือถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นอีกมิติหนึ่งก็คือ นกแก้วถูกตัดปีกตั้งแต่แรกหัดบิน กับสุนัขถูกตัดหาง อ้างว่า การถูกตัดปีกของตนดีกว่าถูกตัดหาง ตามสำนวนภาษิตจีนกล่าวไว้ว่า “ห้าสิบก้าวหัวเราะเยาะร้อยก้าว” ต่างฝ่ายต่างอวดความอัปลักษณ์ของตนว่าเป็นสิ่งที่น่าเอาอย่าง


โศลกว่า “ขยะคนที่เกะกะเหลือเกิน” มีถ้อยคำสนทนาระหว่างท่านวิมลเกียรติอุบาสกกับพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ตอนหนึ่งมีใจความว่า “ผู้ที่แสดงตนว่าเป็นคนดี แต่กลับรังเกียจคนอื่น ไหนเลยจะเป็นคนดีได้” เมื่อพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของเนื้อแท้สรรพสัตว์ ทุกคนก็ล้วนมีโพธิจิต เป็นโพธิสัตว์ด้วยกันทั้งนั้น การที่พระโพธิสัตว์คนหนึ่งรังเกียจพระโพธิสัตว์อีกคนหนึ่ง ยังจะได้ชื่อว่า เป็นพระโพธิสัตว์อยู่อีกได้หรือ สายตาของคนที่ถูกอัตตาห่อหุ้มนั้นย่อมไม่สามารถเข้าใจจุดนี้ได้ มีแต่ผู้ที่บำเพ็ญเพียรย่อมเข้าใจได้ การที่ผู้ใดใช้สายตาแบบอัตตา (ซาตาน) มองคนอื่นนั้น นั่นไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่ทางแห่งการบำเพ็ญ


ก็บุคคลที่ยังไม่ได้รับการแนะวิธีเปิดตาปัญญา เขาเหล่านั้นยังคงเดินสะเปะสะปะ ไม่เข้าใจแนวทางปฏิบัติ ไม่เข้าใจการวางจิต ไม่รู้ทันอัตตา ก็ย่อมเป็นเช่นนั้น ยังเป็นผู้มืดบอดคลำทางอยู่ การที่ใครก็ตามเห็นคนที่มีตามืดบอดคลำทางอยู่ สิ่งที่พึงทำได้ก็คือช่วยเหลือ ประคับประคอง มีจิตกรุณาต่อบุคคลผู้นั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การช่วยเหลือผู้อื่นเป็นการตอบแทนบุญคุณของครูอาจารย์ที่เคยช่วยเหลือเราผู้ที่เป็นเช่นนั้นมาก่อนเช่นกัน ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองผู้ไม่สนใจในการกระทำความดีด้วยสายตาที่เหยียดหยาม ประณาม ดูหมิ่น และรังเกียจ

ในสังสารวัฏอันไม่มีที่สุดและเบื้องต้นนี้มีเส้นสายที่มองไม่เห็นอยู่มาก ใครเล่าจะเข้าใจและสามารถโยงใยไปเห็นต้นเงื่อนแห่งเส้นสายที่ชักโยงให้เขาเป็นเช่นนั้นได้เล่า เราอย่าได้ตกเข้าไปในวังวนแห่งเส้นสายนั้น เส้นสายที่ว่าก็คือ สายตาที่รังเกียจสรรพสัตว์ด้วยกันเอง สายตานี้นั่นแหละที่จะเข้าไปเกี่ยวพันผูกมัดเข้าไปกับเส้นสายของเขากับเราให้พัวพัน รัดแน่น ยิ่งนานยิ่งขมวดปม ยิ่งดึงยิ่งแน่นเข้าไปอีก ตัวอย่างของชัมพุกาชีวกเป็นอุทาหรณ์

ชัมพุกะนั้นเกิดในตระกูลมีชื่อที่กรุงราชคฤห์ มีพฤติกรรมไม่นุ่งผ้าและทานอุจจาระของตนตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่ พ่อแม่ของเขาเห็นว่า ลูกเราควรไปเป็นอาชีวกดีกว่า เขาเข้าไปบวชเป็นอาชีวกแล้วไม่ยอมไปบิณฑบาต ในยามที่คนอื่นเขาออกไปบิณฑบาตกันหมด ตนเองก็แอบไปที่ส้วมแล้วปั้นอุจจาระทานเป็นอาหาร จนกระทั่งคนอื่นเขารู้ก็ถูกขับออกจากสำนัก ชัมพุกาชีวกไปยืนอยู่ใกล้ๆ ที่เชิงหน้าผาที่ชาวบ้านถ่ายอุจจาระ กลางวันก็ทำท่ายืนขาเดียว ยกแขนยันหน้าผา อ้าปากอยู่ พอชาวบ้านถาม ก็บอกว่าตนทานลมเป็นอาหาร ที่ตนยกเท้าขึ้นข้างหนึ่งเพราะมีตบะมาก เกรงว่า แผ่นดินจะไหวเพราะรับน้ำหนักไม่ได้ ไม่นั่งไม่นอน ชาวบ้านพอฟังอย่างนั้นก็ศรัทธาและนับถือชัมพุกาชีวกเป็นจำนวนมาก นำของสักการะอันประณีตมาให้ เขาบอกปัดแล้วบอกปัดอีกว่า การทานของทั้งหลายเหล่านี้ทำให้ตบะเสื่อม หนักเข้าก็เพียงเอาลิ้นแตะน้ำอ้อยแล้วคายออกเสียเพื่อให้ชาวบ้านสบายใจ แต่พอกลางคืนก็แอบไปทานอุจจาระที่ชาวบ้านมาถ่ายไว้ที่หน้าผานั่นเอง เขาเลี้ยงชีพอยู่อย่างนั้นนานถึง ๔๕ ปี


จนกระทั่งพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า ชัมพุกาชีวกนั้นมีบุญอันกระทำไว้ก่อนหน้านั้นสามารถบรรลุธรรมได้ พระองค์จึงได้เสด็จไปพบเขา ณ ที่แห่งนั้นในเวลาเย็น พอเสด็จไปถึงจึงตรัสเรียกชื่อเขา แล้วขออยู่ในที่นั้นด้วย ชัมพุกาชีวกไม่อยากให้พระพุทธเจ้าอยู่แต่ก็ไม่สามารถขับไล่ไปได้ ในค่ำคืนนั้นยามต้น เทพจาตุโลกบาลลงมาเฝ้า ยามท่ามกลางพระอินทร์ลงมาเฝ้า ในยามสุดท้ายท้าวมหาพรหมลงมาเฝ้า จนทำให้สถานที่แห่งนั้นสว่างไสวไปทั่ว ชัมพุกาชีวกเห็นเหตุการณ์นั้นตลอดทั้งคืน รุ่งเช้าจึงเข้าไปถามพระพุทธเจ้าว่าใครกันมาจนสว่างไสวดุจกลางวัน พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกว่า เทพทั้งหลายมาเฝ้าบำรุงพระองค์ดุจดังสามเณรรับใช้พระเถระฉะนั้น

ชัมพุกาชีวกจึงกล่าวบอกว่า เขาบำเพ็ญตบะอยู่ที่นี่เป็นเวลาถึง ๔๕ ปี ยังไม่เคยมีเทพตนใดมาหาบ้างเลย พระพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนว่า ชัมพุกาชีวกท่านไม่ต้องมาหลอกเราหรอก ท่านทนทุกข์ทรมานด้วยการนอนบนหินแข็ง ถอนผมด้วยใบตาล เปลือยกาย และทานอุจจาระชาวบ้านเป็นอาหาร เธอได้รับบาปกรรมนี้ก็เพราะคิดชั่วนั้นมา บัดนี้ยังจะคิดชั่วอย่างนั้นอยู่อีกหรือ

พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้ทราบถึงอดีตของเขาให้ฟังว่า ในอดีตชาติท่านเป็นพระภิกษุรูปหนึ่ง เกิดความไม่พอใจ อิจฉา ริษยา คิดชั่วเพียงเพราะเห็นการกระทำของโยมอุปัฏฐากของตนปฏิบัติต่อพระภิกษุอีกรูปหนึ่งซึ่งเป็นพระขีณาสพด้วยการถวายวัตถุสิ่งของที่ประณีต เธอเข้าไปกล่าววาจาไม่ดีต่อพระภิกษุขีณาสพรูปนั้นอย่างรุนแรงด้วยคำว่า “การฉันอุจจาระ การถอนผมด้วยใบตาล การนอนบนพื้นที่แข็ง และการเปลือยกายเที่ยวไปน่าจะดีกว่าสำหรับท่าน”

ด้วยผลแห่งการเข้าไปเกี่ยวพันกับผู้อื่นด้วยความคิดชั่ว มีจิตอิจฉา ริษยา อันไม่ถูกต้องเช่นนั้นจึงทำให้ท่านต้องไปตกนรกขุมอเวจีนานนับกาลไม่ถ้วน จนกระทั่งมาถึงชาตินี้ ท่านต้องใช้ชีวิตทนทุกข์ทรมานอยู่ด้วยการทานอุจจาระของตน ถอนผมด้วยใบตาล นอนบนพื้นหินที่แข็งกระด้างและเปลือยกาย อันเป็นผลแห่งบาปกรรมที่เหลือที่ตนทำลงไป แต่เนื่องท่านเคยบำเพ็ญเพียรมานานนับได้สองหมื่นปีบุญกุศลนั้นของเธอยังมีอยู่ จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้เขาฟัง ชัมพุกาชีวกจึงได้บรรลุพระอรหันต์พร้อมปฏิสัมภิทา

นี่เป็นอุทาหรณ์ในการใช้สายตาที่เหยียดหยามผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่บำเพ็ญเพียรบารมี มีบุญญาธิการ บุคคลที่เขาไม่ได้ทำอะไรให้ บุคคลที่เขาไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่ด้วย บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ไม่รู้อะไรด้วย แต่กลับถูกสายตาที่ไม่เป็นมิตรมองไป นั่นเท่ากับการได้นำโซ่กรรมเข้าไปคล้องเข้ามาใส่ตน ผูกพันแน่นหนา กลายเป็นภัยมหันต์ต่อชีวิตอย่างไม่ควรอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังมิให้สายตาที่เต็มเปี่ยมด้วยอัตตาทำหน้าที่อย่างนั้น แม้เพียงสายตาที่มองไม่เป็นมิตรยังไม่ควรทำ ไม่ต้องกล่าวถึงการเข้าไปกล่าววาจาว่าร้าย ประณาม ดูถูก เหยียดหยามเขา ซึ่งเป็นการตอกย้ำจิตใจอันชั่วที่แสดงออกมา ก็ยิ่งต้องไม่กระทำเป็นอันขาด

โศลกว่า “บัดนี้กลับเห็นทุกคน เป็นดอกไม้ที่งดงาม” การที่รู้จักปรับสายตาที่มองสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ข้างนอกให้ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน เป็นการปรับระดับจิตให้เข้าใจสภาวะที่แท้จริง พึงเข้าใจว่า การที่ผู้ใดก็ตามมักใช้ระบบการเปรียบเทียบในการประโลมอัตตาให้กระหยิ่มพอใจ ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง โดยมากแล้ว นักจิตวิทยาและนักพัฒนาบุคลากรตะวันตกมักใช้วิธีนี้เป็นหลัก กล่าวคือ ชอบเปรียบเทียบผู้อื่นที่ด้อยกว่าตน

ด้วยเหตุผลว่า “การมองสิ่งที่เขามี เรายังขาด การมองสิ่งที่เขาขาด เรายังมี” ด้วยเหตุนี้นักจิตวิทยาเหล่านั้นจึงได้เสนอให้ทุกคนต้องมองสิ่งที่เขาขาดจึงจะพอทำใจให้มีกำลังใจได้ เช่น มองคนที่เขาพิการ เราไม่พิการ ตรรกะตรงนี้เป็นคำตอบให้อัตตาพอใจว่า เรายังดีกว่าเขาเยอะ มองคนที่เขาจนเก็บขยะกิน เรายังมีอยู่มีกิน ก็มีกำลังใจขึ้นเยอะ นี่เป็นวิธีเติมเต็มอัตตาให้มีกำลังใจ ประโลมอัตตาให้ฮึกเหิม ตะวันตกนั้นไม่ทราบหรอกว่า การใช้สายตาเช่นนั้นมอง เป็นสายตาที่ดูเหมือนจะดี เพราะทำให้ตนได้กำลังใจ แต่หาทราบไม่ว่านั่นเป็นการให้ท้ายอัตตาไปเรื่อยๆ อัตตานี้จะเพิ่มดีกรีขึ้นจนกลายเป็นเหยียบย่ำคนจนไปเป็นลำดับ มองเห็นคนจนเป็นคนไร้ค่า ไร้ประโยชน์ มองเห็นคนไม่มีความรู้เป็นคนไม่มีความหมายในสายตา

ในพระพุทธศาสนานั้น การมองคนให้มองไปที่ความเป็นคน การมองไปที่ความเป็นคนด้วยกันนั้นทำให้เห็นคุณค่าของความเป็นคน ไม่นำหน้ากากเข้ามากำหนดความเป็นคน คำว่า จนก็ดี ไม่มีความรู้ก็ดี พิการก็ดี ฉลาดหรือโง่ก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นหน้ากากที่เข้าสวมทับความเป็นคนเข้าไปชั้นหนึ่ง ชั้นที่สองก็คือฐานะ ตำแหน่ง หน้าที่ เกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นหน้ากากสวมทับเข้าไปอีก หน้ากากเหล่านี้จะกลายเป็นคุณค่าของความเป็นคนไป สายตาของผู้คนทั้งหลายโดยทั่วไปไม่อาจหยั่งทะลุเข้าไปสู่ความเป็นคนที่แท้จริงได้ โดยมากล้วนแล้วแต่สะท้อนได้เพียงหน้ากากชั้นที่หนึ่งหรือชั้นที่สองเท่านั้น

พึงเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า ทุกคนนั้นมีสภาวะแห่งความเป็นจริงอยู่ ๓ ชั้น
ชั้นที่หนึ่ง คือ ความเป็นจริงของหน้ากาก
ชั้นที่สอง คือ ความเป็นจริงของความเป็นคน
ชั้นที่สาม คือ ความเป็นจริงแห่งสภาวธรรม


ยิ่งนับวันสังคมหล่อหลอมให้ทุกคนมองคนที่หน้ากากเท่านั้น ด้วยเหตุนี้คนที่เข้าใจบริบทนี้จึงได้อาศัยหน้ากากเป็นเครื่องหลอกล่อให้คนเคารพนับถือ ผู้ที่ทำได้เนียนที่สุดก็คือ นักการเมือง รองลงมาก็คือนักการศาสนา การพัฒนาตนของเขาก็คือ การขัดหน้ากากให้เงางาม ได้แก่ การปรับปรุงตัวตนให้ดี ในที่นี้ก็คือการปรับปรุงหน้าที่ของเขาให้ดี เพราะหน้าที่เหล่านั้นเป็นเงาสะท้อนของหน้ากากของเขา
สายตาที่มองทะลุเข้าไปสู่ความจริงชั้นที่สองเป็นสิ่งที่โลกไม่คุ้นเคย การปรับสายตาให้มองทะลุเข้าไปถึงความจริงชั้นที่สองย่อมทำให้เข้าใจว่า ทุกคนก็เป็นคนเหมือนกัน มีการดำรงชีวิตเหมือนกัน กล่าวคือ มีการกิน นอน สืบพันธุ์ ป้องกันภัย เหมือนกัน สุดท้ายทุกคนก็เป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ และตายเหมือนกัน

การใช้สายตาเช่นนี้มองจึงเห็นเนื้อแท้ของทุกว่า มีความงดงามของแต่ละบุคคล ผู้หญิงก็งามอย่างผู้หญิง ผู้ชายก็งามอย่างผู้ชาย ความเป็นชายและหญิงเป็นเพียงพันธุ์ดอกไม้เท่านั้น แท้จริงดอกไม้ก็คือดอกไม้ คนก็คือคน การที่ชื่นชมดอกไม้พันธุ์หนึ่ง แล้วประณามดอกไม้พันธุ์อื่นนั้นไม่สมควรอย่างยิ่ง ความงามของดอกไม้เหล่านั้นจะมีขึ้นได้ก็ด้วยสายตาที่มองไปอย่างเท่าเทียมในความจริงขั้นที่สอง คือ ความเป็นพฤกษชาติ ดุจดังการมองคนทั้งหลายเป็นมนุษยชาติ

ความจริงในขั้นนี้นั้นยังไม่เข้าถึงความจริงที่แท้ เพราะแท้จริงผู้คนทั้งหลายนั้นหาได้มีจริงไม่ เป็นแต่เพียงสภาวธรรมที่ประกอบกันเข้าแห่งกองขันธ์เท่านั้นเอง การทำหน้าที่ของขันธ์เหล่านั้นจนกลายเป็นความเข้าใจผิดว่า มีตัวตนอยู่ นี่แหละที่เรียกว่า อวิชชา คือความไม่รู้ ถ้าหากได้ใช้สายตามองทะลุผ่านชั้นที่สองแล้ว ก็เป็นการง่ายที่จะมองเข้าไปถึงชั้นที่สามได้ ชั้นนี้นั้นไม่ใช่เรื่องที่กระทำได้ง่าย เพราะอัตตานั้นจะไม่ยินยอมให้เห็นอย่างนั้นเป็นอันขาด เพราะเมื่อใดที่เข้าถึงความจริงขั้นนี้ อัตตาจะสลายไปทันที เมื่อนั้นผู้คนจึงเข้าถึงอิสระที่แท้ เข้าถึงการหลุดพ้นที่แท้

นี่คือ โศลกที่แปดแห่งคัมภีร์สุวิญญมาลา