วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

พุทธประวัติในอาณาจักร



ในศตวรรษที่ ๖ ถือได้ว่า เป็นช่วงสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศาสนาของอินเดีย
พุทธศาสนาเกิดขึ้นในยุคนี้เช่นเดียวกันและอาจกำหนดว่าเป็นยุคสุดท้ายของศาสนาพราหมณ์ก็ว่าได้
พระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของพระพุทธศาสนาเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นใหญ่ในตระกูลศาสกยะ
พระองค์ครองกรุงกบิลพัสดุ์มีอาณาเขตขยายไปทางตอนเหนือ และบางส่วนทางตอนใต้ของเนปาล

มเหสีของพระองค์พระนามว่ามหามายา ในคืนหนึ่งพระนางทรงพระสุบินเห็นช้างเผือกโพธิสัตว์มาจากทางตอนเหนือ หลังจากกระทำปทักษินพระนางครบ ๓ รอบแล้วจึงเข้าสู่พระครรภ์ในเดือนอาสาฬหะวันประเพณีวันสุดท้ายในเมืองกบิลพัสดุ์ ต่อมาพระนางก็ทรงพระครรภ์ หลังจากนั้น ๑๐ เดือน
พระนางก็ปรารถนาไปเยี่ยมพระบิดาและพระมารดา ณ กรุงเทวทหะ จนกระทั่งถึงระหว่างทางก็ประสูติพระโอรสใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินี หลังจากนั้น ๗ วันพระนางมหามายาก็ทิวงคต
พระราชโอรสได้รับการเลี้ยงดูจากพระน้านางมหาปชาบดีโคตรมี พระองค์ได้พระนามว่าสิทธัตถะ
เมื่อพระองค์มีพระชนม์มายุได้ ๕ วัน บ้างก็เรียกพระองค์ว่าโคตมะถือเอาตามชื่อโคตร
เนื่องจากพระองค์ประสูติในตระกูลศากยะจึงได้พระนามว่าศากยสิงหะด้วย
อาจารย์ของพระองค์ชื่อว่าวิศวามิตร ภายใต้การแนะนำพร่ำสอนของอาจารย์ เจ้าชายสิทธัตถะได้เรียนศิลปวิทยาต่างๆ (ศิลปวิทยา ๑๘ แขนง) จบภายในเวลาอันสั้น

ต่อมาพระองค์ก็ได้อภิเษกสมรสกับพระนางยโสธรา ผู้เป็นพระธิดาของทัณฑปาณิแห่งโกลิยวงค์ พระองค์และพระมเหสีทรงประทับอยู่อย่างสะดวกสบายอย่างยิ่งด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ จนกระทั่งต่อมาพระองค์ก็ให้กำเนิดพระราชโอรสพระองค์หนึ่งพระนามว่า ราหุล เจ้าชายสิทธัตถะประทับในพระราชวังจนถึงพระชนม์มายุได้ ๒๙ พรรษา
พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้สร้างปราสาท ๓ หลังประจำ ๓ ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว เพื่อที่จะให้พระโอรสไม่ประสบพบเห็นสิ่งไม่สวยไม่งามทั้งคนแก่คนเจ็บ คนตาย และสมณะด้วยเกรงว่าจะเป็นดั่งคำพยากรณ์ของโหรหลวง
พระราชบิดาจึงจัดแจงทุกสิ่งทุกอย่างล้ำเลิศพิสดารด้วยสิ่งสวยงามในโลกพึงมีเพื่อให้พระโอรสหลงไหล วันหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะปรารถนาที่จะเสด็จประพาสอุทยาน พระเจ้าสุทโธทนะให้จัดแต่งสวนให้เห็นแต่สิ่งสวยงามไว้ดั่งเช่นกาลก่อน แต่แล้วระหว่างทางพระองค์ก็ได้พบเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ที่มีผมหงอกขาว, คนเจ็บ,คนตาย และสมณะ

ด้วยอาศัยภาพที่ปรากฏจากเทวทูตทั้ง ๔ ยังความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นภายในจิตใจของพระองค์ ทรงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแท้ถาวรของสิ่งที่เป็นอย่างโลก พระองค์ตัดสินพระทัยแน่วแน่ที่จะออกจากโลกนี้และต้องการที่เข้าไปสู่ป่าเพื่อจะแสวงหาทางหลุดพ้นจากความไม่เที่ยงแท้เหล่านี้ ในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะเมื่อพระองค์พระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ทรงเสด็จออกจากพระราชวังในตอนกลางคืนโดยทรงม้ากัณฑกะ และมีนายฉันนะติดตามไปด้วย เมื่อข้ามเขตแดนของศากยะโกลิยะและมัลละ พระองค์ได้เสด็จถึงอนุเวลาเสนานิคม ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมาในตอนรุ่งเช้า ณ ที่นี้นี่เองพระองค์ตรัสบอกให้ฉันนะกลับไป แล้วพระองค์จึงเสด็จไปพระองค์เดียว และได้พบกับนายพรานที่นุ่งผ้าสีเหลือง พระองค์จึงได้แลกฉลองพระองค์กับเสื้อผ้าของนายพรานผู้นั้น

สิทธัตถะดาบสไปสู่เมืองไพศาลี เพื่อพบกับอาฬาระกาลามะนักปรัชญาผู้มีชื่อเสียง และสมัครเป็นลูกศิษย์ศึกษาอยู่ที่นี่ระยะหนึ่ง แต่ว่าพระองค์ยังไม่ทรงพอพระทัยในคำสอนและหลักการของท่าน จึงลาอาจารย์ท่านนี้เดินทางไปสู่เมืองราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ ณ ที่นี้พระองค์พบกับพระเจ้าพิมพิสาร และได้ให้สัญญาว่าจะกลับมาแสวงธรรมแก่ท่านเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว

จากนั้นพระองค์ได้พบกับนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งชื่อว่าอุททกดาบสรามบุตร และพระองค์ก็ยังไม่พอพระทัยยังไม่พบทางตรัสรู้ด้วยวิธีการของท่านดาบส จากที่นี้พระองค์เสด็จไปสู่อุรุเวลาก็พบกับปัญวัคคีย์ ได้แก่ อัญญาโกณฑัญญะ, วัปปะ, ภัททิยะ, มหานามะ และอัสสชิ ณ ตำบลอุราเวลาเสนานิคมแห่งนี้ที่พระองค์ประทับนั่งลงบำเพ็ญทุกกรกิริยา

จนกระทั่งพระองค์พบว่าการทรมานตนนั้นไม่ใช่หนทางนำไปสู่การหลุดพ้นแต่อย่างใด หลังจากที่พระทรงอดอาหารได้ ๔๙ วัน พระองค์จึงเปลี่ยนมาทานอาหารเช่นเดิม โดยการนำมาถวายของนางสุชาดา ลูกสาวของเจ้าของที่บริเวณนั้น และแล้วพระองค์จึงประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์ด้วยการตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะต้องบรรลุธรรมให้ได้ โดยการเปล่งพระวาจาว่า “ไม่ว่าเอ็นกระดูกของเราจะสิ้นไป แม้ว่าเลือดในกายของเราจะสิ้นไป เราจะไม่ลุกจากที่นี้ไปไหน ถ้ายังไม่ตรัสรู้”

ในราตรีนั้นเองพระองค์ได้ปฏิบัติสมาธิ และได้ญาณ ๓ ประการคือ ปุพเพนิวาสนุสติญาณในยามแรก ต่อมาก็ตรัสรู้ธรรมชาติการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย (จุตูปปาตญาณ) ในยามที่สอง และในยามที่สาม พระองค์ได้ตรัสรู้ความความเกี่ยวเนื่องกันของสรรพสิ่ง (ปฏิจสมุปบาท) และกันพร้อมทั้งอริยสัจ ๔ และความสิ้นไปแห่งกิเลสทั้งปวง (อาสวักขยญาณ)
พระองค์จึงกลายเป็นพระสัมมาสัมพุทธ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

คิดนอกกรอบกับประวัติพระพุทธศาสนา




คิดนอกกรอบกับประวัติพระพุทธศาสนา
โดย ยศพล สัจจะธีระกุล


การศึกษาประวัติพระพุทธศาสนาอาจเป็นยาขมและเรื่องเหลือเชื่อสำหรับคนรุ่น
ใหม่เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องของเหตุการณ์ในอดีตไกลตัวนับพันๆปีแล้ว เรื่องราวที่ได้ร้อยเรียงเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและพระอัครสาวกองค์สำคัญๆยังสอดแทรกปรากฏการณ์ที่มนุษย์โลกยุคใหม่เข้าถึงผ่านจินตนาการของตนได้ยากหรืออาจถึงขั้นมองว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้(อธิบายด้วยหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้) ทำให้ความเคลือบแคลงสงสัยที่เกิดขึ้นนั้นมีผลต่อทัศนคติและความเชื่อที่นำไปสู่การไม่ยอมรับในความอยู่จริงของพระพุทธเจ้าหรือมองไม่เห็นประโยชน์จากประวัติศาสตร์นั้นไม่มากก็น้อย ในทางตรงกันข้ามหากประวัติพระพุทธศาสนาสามารถสื่อสารให้ผู้ศึกษาคล้อยตามได้อย่างสนิทใจและเกิดทัศนคติที่ดีก็ย่อมถือว่าเหตุการณ์ในอดีตนั้นเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานเพื่อขยายผลต่อยอดต่อๆไป

การเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนานี้ผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นเรื่อง
ละเอียดอ่อนที่ผู้เรียบเรียงประวัติจะต้องนำเสนอเหตุการณ์สำคัญๆตามความเป็นจริงจากหลักฐานในพระไตรปิฎกหรือคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาที่ไม่ขัดแย้งกันเอง หรืออ้างอิงจากศิลาจารึกรวมถึงโบราณสถานต่างๆที่ได้ขุดค้นพบและผ่านกระบวนการศึกษาวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่อาจไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาเป็นการส่วนตัว แต่สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการเรียบเรียงเนื้อหาที่จะนำเสนอจะต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในแง่มุมขององค์ความรู้ของโลกปัจจุบันหรือผู้สนใจใฝ่รู้ทั่วไป(Outside - in)

อย่างไรก็ดี ประวัติเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาตามทัศนะของผู้เขียนนี้ควรผ่านการ
ตรวจรับรองจากองค์กร สถาบันหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการโดยตรงมากกว่าจะเปิดกว้างแก่ผู้คนทั่วไปซึ่งสนใจจะนำเสนอด้วยวัตถุประสงค์ต่างกันไปทั้งที่เปิดเผยและแฝงเร้นอยู่เบื้องหลัง นอกจากนั้นยังจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าประวัติพระพุทธศาสนานั้นจะต้องสามารถเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อพระศาสดาและพุทธศาสนาได้มากขึ้นโดยยึดกลุ่มผู้ศึกษาเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นผู้เขียนจึงมีความคิดเห็น(นอกกรอบ)ว่าสารัตถะเกี่ยวกับประวัติ

พระพุทธศาสนานั้นควรจัดทำหลาย version ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ศึกษาเรียนรู้(อายุ เพศ อาชีพ คติความเชื่อทางศาสนาเดิม)แล้วควรมีการจัดจำแนกให้เป็นแนวทางคล้ายกับพระไตรปิฎกกล่าวคือ ควรจำแนกเนื้อหาสาระออกเป็น 3 ส่วนที่มีความเชื่อมโยงกัน ได้แก่

1.ส่วนแรกเป็นการมุ่งสร้างศรัทธาในพระบรมศาสดาจึงควรเป็นสารัตถะทางโลกหรือสมมติสัจจะที่สามารถสื่อสารให้เข้าถึงผู้ศึกษาเพื่อป้องกันข้อสงสัยตามองค์ความรู้และสอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน เช่น ประวัติพระบรมศาสดาตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงปัจฉิมวัยแบ่งเป็น 3 ภาคคือ
ภาคมนุษย์(เจ้าชายสิทธัตถะ) ภาคอนาคาริกหรือพระโพธิสัตว์ และ ภาคพระพุทธเจ้า
โดยเฉพาะควรเน้นการนำเสนอให้เห็นถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้แต่ละภาคนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ประวัติการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคพุทธกาลทั้งที่ประสบผลสำเร็จ
และไม่ประสบความสำเร็จอันเป็นที่มาของพระสูตรต่างๆที่เกี่ยวข้อง(ความจริงที่ต้องยอมรับตามกฎธรรมชาติแต่ต้องมีสาเหตุประกอบ) โดยเฉพาะกรณีของพระอานนท์พุทธอนุชา ที่ถือว่าเป็นผู้ทรงจำพระพระธรรมคำสอน(พระสูตร)ของพระพุทธเจ้าได้มากที่สุดจนเป็นที่มาของการปฐมสังคายนารวบรวมเป็นพระสุตตันตปิฎกเนื่องจากได้ถวายการรับใช้พุทธอุปัฏฐากพระบรมศาสดาอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องมานับสิบปีแต่กว่าจะบรรลุอรหัตผลได้ต่อเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว 3 เดือน หรือสาเหตุที่ทำให้สามารถบรรลุอรหัตผลอย่างรวดเร็วเพียงการตรึกธรรมครั้งแรกจากพระพุทธองค์ของพระภิกษุบางรูป เป็นต้น

2.ส่วนที่สองควรเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสถานภาพของพระพุทธศาสนาหลังยุค
พุทธกาลทั้งยุครุ่งเรือง ยุคเสื่อม ยุคฟื้นฟู และยุคล่มสลายจากชมพูทวีปตามหลักฐานข้อเท็จจริง เป็นต้น สำหรับประวัติศาสตร์ในส่วนนี้ถือเป็นบทเรียนและประสบการณ์ที่มีคุณค่าแก่การสืบทอดพระพุทธศาสนาที่คนรุ่นใหม่พึงเรียนรู้ถึงความสำเร็จและความล้มเหลว รวมถึงการปรับตัวตามสถานการณ์เพื่อการดำรง

อยู่ของพระพุทธศาสนาในสถานการณ์ต่างๆจนเป็นที่มาของความเสื่อม เป็นต้นซึ่งความจริงที่เกิดขึ้นในอดีตนี้นอกจากจะเป็นการเรียนรู้ถึงเหตุการณ์ต่างๆแล้วยัง
เป็นสิ่งเตือนสติแก่พุทธศาสนิกได้อย่างดีว่าความสำเร็จและความเสื่อมของพระพุทธศาสนานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร? และจะใช้เป็นบทเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อีก(Preventive Action) ต่อไปได้อย่างไร?

3.ส่วนที่สามควรนำเสนอเกี่ยวกับวิธีการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนและพระศาสนา
ในยุคพุทธกาลและหลังพุทธกาลซึ่งเป็นส่วนที่นำเสนอเกี่ยวกับความจริงตามนัยของพุทธศาสนา(ปรมัตถสัจจะ) รวมถึงที่มาของการแตกแขนงออกเป็นฝ่ายเถรวาทและมหายาน โดยเนื้อหาในส่วนนี้ควรประมวลหลักธรรมคำสอนที่ถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่แตกต่างไปจากลัทธิศาสนาอื่นให้ชัดเจนเพื่อให้คนรุ่นใหม่ทั้งในและนอกพระพุทธศาสนาได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของหลักธรรมคำสอนที่ต้องใช้ปัญญากำกับศรัทธา ได้รับรู้ถึงจุดยืนที่ไม่เป็นพิษภัยแก่ลัทธิศาสนาใดๆนอกจากนี้ ควรสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงคติความเชื่อของลัทธิเทวนิยม และอเทวนิยมเพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถแยกแยะได้ว่าหลักพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร? และลัทธิความเชื่อนอกพระพุทธศาสนาที่นำมาปนเปื้อนหรือแปลกปลอมเข้ามาในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไรและเป็นภัยแก่พระศาสนาได้อย่างไร ? เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประวัติพระพุทธศาสนาจะเป็นเพียงข้อมูลหลักฐานทาง
ประวัติศาสตร์ที่ไม่ต่างจากประวัติศาสตร์สาขาอื่นๆ แต่สำหรับชาวพุทธแล้วควรถือว่าการเรียนรู้ประวัติพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องนั้นเปรียบเป็นบันไดขั้นแรกของการทำความเข้าใจที่ถูกต้องอันจะนำไปสู่การเสริมสร้างศรัทธาที่มีต่อพระบรมศาสดาและสถาบันพระศาสนาก่อนที่จะศึกษาเรียนรู้ต่อยอดให้เกิดปัญญาในขั้นสูงขึ้นไปเป็นลำดับตามกระบวนการปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ และประเด็นสำคัญที่ไม่ควรละเลยก็คือ จะต้องเป็นการนำเสนอเฉพาะความจริงแท้ มีประโยชน์ และเหมาะสมกับกาลเทศะให้สอดคล้องกับหลักการสอนของพระพุทธเจ้าในอภยราชกุมารสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์(พระวาจาที่พระตถาคตตรัสและไม่ตรัส)

ดังนั้น เรื่องราวใดและเหตุการณ์ใดที่จะนำไปสู่ความเคลือบแคลงสงสัยหรือไม่
เกิดประโยชน์แม้จะเป็นความจริง หรือเพียงต้องการสร้างความพึงพอใจให้ผู้อื่นก็พึงพิจารณาทบทวนหรือแยกนำเสนอในส่วนที่เหมาะสมกับผู้มีปัญญาที่สามารถตรึกธรรมระดับนั้นให้เกิดประโยชน์แก่ตนได้ และด้วยความคิดนอกกรอบข้างต้นนี้ผู้เขียนจึงคาดหวังว่าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจะได้รับการชำระเช่นเดียวกับการสังคายนาพระไตรปิฎกเพื่อให้พระพุทธศาสนามีความบริสุทธิ์ตรงตามความเป็นจริงและเกิดคุณค่าแก่ผู้ศึกษาเรียนรู้สมกับที่มีผู้กล่าวว่า ‘ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งสันติภาพและนำสู่ความสุขอย่างยั่งยืน ’ ที่ชาวพุทธทุกคนควรภูมิใจและร่วมกันพิทักษ์ปกป้องให้คงอยู่กับสังคมโลกโดยไม่นิ่งดูดาย.