
โศลกที่สิบหก "จังหวะ โอกาส"
นักวิจัยจิตต้องเป็นนักสังเกต
ช่วงเวลาไหนจิตสดชื่น ร่าเริง
จิตพร้อมต่อการปฏิบัติ
จิตควรแก่การพิจารณา
ไม่มีความคิดรีรอ
ใช้จังหวะและโอกาสนั้นให้ดี
ใช้ให้ถูกที่ ถูกเวลา
หากพ้นผ่านเวลาที่เหมาะสมไป
ก็สูญเสียขณะทองไปอย่างน่าเสียดาย
ต้องละเอียดและเนียนกว่าที่เป็น
รู้จักวางใจและอารมณ์มากกว่าที่เป็น
จึงชื่อว่าผู้ฉลาดในการบำเพ็ญธรรม

ไม่ว่าการกระทำอะไรๆ ก็ตามในโลกนี้ ช่วงจังหวะหนึ่งที่เหมาะสมนั้นมีไม่มากนัก ผู้ที่เข้าใจจังหวะและโอกาสนั้นเท่านั้นจึงจะฉวยโอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อการงานนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จังหวะและโอกาสที่รอคอยนั้นไม่ใช่เกิดขึ้นง่ายๆ บางทีต้องรอกาลนั้น บางทีต้องสร้างขึ้นด้วยความยากเย็น ด้วยเวลาอันยาวนาน

มีคำกล่าวของนักบริหารว่า การรอโอกาสเป็นกลยุทธ์ชั้นต่ำ การฉวยโอกาสเป็นกลยุทธ์ชั้นกลาง แต่การสร้างโอกาส เป็นกลยุทธ์ชั้นสูง แต่เมื่อโอกาสมาถึงแล้วต้องใช้โอกาสนั้นทันทีไม่ให้เสียไปเด็ดขาด สังเกตให้ดีจังหวะของการที่ใครคนหนึ่งจะร้องไห้ ใครคนหนึ่งจะเกิดปีติที่ท่วมท้น ใครคนหนึ่งจะตื้นตันใจอย่างเต็มที่ ใครคนหนึ่งจะรอดหวุดหวิดจากอุบัติเหตุ ทุกจังหวะนั้นมีเวลาน้อยนิดจริง เพราะมันคือเสี้ยววินาทีเท่านั้นเอง คนที่ตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด ก็เป็นช่วงจังหวะเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าพ้นจังหวะนั้นไปก็ไม่ใช่กาลอันเหมาะสมที่จะเกิดผลอันน่าประหลาดใจได้

